12 ก.ค. 2566 | 16:22 น.
- ทุกวันนี้ ‘แบร์นาร์ด อาร์โนลต์’ ไม่ยอมประกาศสักทีว่าจะให้ลูกคนไหนมารับไม้ต่อ แถมยังเสนอให้บริษัทขยายอายุเกษียณของประธานและซีอีโอเป็น 80 ปี จากเดิมกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงต้องลาออกเมื่ออายุครบ 75 ปี
- สำหรับลูก ๆ ทั้ง 5 คนของแบร์นาร์ด พวกเขาได้ผ่านการเคี่ยวเข็ญมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนต้องเรียนคณิตศาสตร์ชนิดเข้มข้น ทั้งยังต้องติดสอยห้อยตามผู้เป็นพ่อตามทริปธุรกิจ เพื่อเรียนรู้การเจรจาต่อรอง
- แบร์นาร์ดสอนลูก ๆ ตั้งแต่ยังเด็กว่า ‘ผลประโยชน์ของบริษัท’ มาก่อนความขัดแย้งส่วนตัวเสมอ
ใครว่าคนรวยล้นฟ้า ไม่มีเรื่องให้กลุ้ม
แม้แต่ ‘แบร์นาร์ด อาร์โนลต์’ อภิมหาเศรษฐีผู้อยู่เบื้องหลังอาณาจักรแบรนด์หรู ‘LVMH’ ซึ่งเป็น ‘บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก’ (ข้อมูลเมื่อ ก.ค. 2023) ครองทรัพย์สิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังมีเรื่องให้กลุ้ม ถึงขนาดคบคิดเรื่องนี้วนไปวนมาหลายทศวรรษ
แม้ปัญหาของเขาจะไม่ใช่เรื่อง ‘ปากท้อง’ ประมาณว่าสิ้นเดือนจะมี ‘เงิน’ พอจ่ายค่าบ้านค่ารถไหม? แต่ปัญหาที่เขากำลังเผชิญและต้องหาทางออกเพียงลำพังก็นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่ออาณาจักร LVMH และพนักงานนับแสนชีวิต
ปัญหาที่ว่าคือ “จะให้ลูกคนไหนมารับช่วงต่อดูแล LVMH?” เพื่อที่เขาจะได้วางมือจากธุรกิจอย่างสบายอกสบายใจแล้วไปพักผ่อนตามประสาคนแก่อายุ 74 ปี (ที่มีเงินมหาศาล)
ถ้าเป็นคนจีน ปัญหานี้จะจบลงโดยง่าย เพราะเจ้าสัวแบร์นาร์ดต้องยกมรดกและธุรกิจให้ ‘ลูกชายคนโต’ เป็นผู้ดูแลตามธรรมเนียม แต่เนื่องจากแบร์นาร์ดเป็น ‘ชาวฝรั่งเศส’ ที่มีลูกถึง 5 คน จากการแต่งงาน 2 ครั้ง การตัดสินใจในเรื่องนี้จึงไม่ง่าย ทำให้ทุกวันนี้เขายังคงไม่ปล่อยมือจากภาระงานที่หนักอึ้ง และไม่ยอมประกาศสักทีว่าจะให้ลูกคนไหนมารับไม้ต่อ แถมยังเสนอให้บริษัทขยายอายุเกษียณของประธานและซีอีโอเป็น 80 ปี จากเดิมกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงต้องลาออกเมื่ออายุครบ 75 ปี
มีเรื่องเล่าด้วยว่า เมื่อเพื่อนของแบร์นาร์ดถามเขาว่า จะให้ลูกคนไหนเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ชายผู้ได้ฉายาว่า ‘หมาป่าในเสื้อคลุมผ้าแคชเมียร์’ (The wolf in the cashmere coat) ตอบเพื่อนเพียงสั้น ๆ “ผมมีลูก 5 คน”
สำหรับลูก ๆ ทั้ง 5 คนของแบร์นาร์ด พวกเขาได้ผ่านการเคี่ยวเข็ญมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนต้องเรียนคณิตศาสตร์ชนิดเข้มข้น ทั้งยังต้องติดสอยห้อยตามผู้เป็นพ่อตามทริปธุรกิจ เพื่อเรียนรู้การเจรจาต่อรอง แทนที่จะได้ไปเที่ยวเล่นเหมือนลูกเศรษฐีทั่วไป
เมื่อลูก ๆ โตและมีประสบการณ์มากพอ แบร์นาร์ดก็ส่งพวกเขาไปดูแลแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ ไม่ว่าจะเป็น Christian Dior, Tiffany & Co., Louis Vuitton และ TAG Heuer โดยที่เขายังคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง
ทุก ๆ เดือน เขาจะเรียกลูกทั้ง 5 คนมากินอาหารกลางวันร่วมกันที่ห้องอาหารส่วนตัวในสำนักงานใหญ่ LVMH กรุงปารีส
แหล่งข่าวเผยกับ The Wall Street Journal ว่า จุดประสงค์ที่แบร์นาร์ดนัดกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาลูก ๆ ทุกเดือน ครั้งละประมาณ 90 นาที ก็เพื่อฝึกฝนกลยุทธ์ธุรกิจให้แก่เหล่าทายาท และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแบรนด์ในเครือ LVMH ที่มีมากกว่า 70 แบรนด์
ที่สำคัญ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกทุกคน สำหรับการบริหารงานบริษัทในวันที่ไม่มีเขาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ‘ซิดนีย์ โทเลดาโน’ ยืนยันกับ The Journal ว่า ยังไม่มีการการันตีว่าลูกคนไหนของแบร์นาร์ดจะเป็น ‘ผู้สืบทอดตำแหน่ง’ ต่อจากเขา
“แบร์นาร์ดยังไม่ได้บอกเรื่องนี้กับผม เขาพูดแค่ว่า เขาต้องเตรียมลูก ๆ ให้พร้อมสำหรับการสืบทอดตำแหน่ง”
แต่แบร์นาร์ดก็ไม่ต้องนอนหวาดผวากังวลว่าลูก ๆ จะรบราฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงมรดก ซิดนีย์เผยว่าแบร์นาร์ดได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้นานแล้ว เขาได้สอนลูก ๆ ตั้งแต่ยังเด็กว่า ‘ผลประโยชน์ของบริษัท’ มาก่อนความขัดแย้งส่วนตัวเสมอ และตอนนี้ทั้ง 5 คนก็ปฏิบัติตามคำสอนนี้เป็นอย่างดี พวกเขายังหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกันว่าใครเก่งกว่าใครด้วย โดยเฉพาะในที่สาธารณะ
นอกจากจะฝึกปรือลูก ๆ ด้วยตัวเองแล้ว แบร์นาร์ดยังส่งพี่เลี้ยงอย่าง ‘ซิดนีย์ โทเลดาโน’ และ ‘ไมเคิล เบิร์ค’ อดีตประธาน Louis Vuitton คอยให้คำปรึกษาแก่ลูก ๆ ของเขา
แบร์นาร์ดยังขอให้ซิดนีย์ช่วยประเมินลักษณะนิสัยลูกทั้ง 5 คนของเขา ซึ่งซิดนีย์ก็ตอบตามตรงว่า “ต้องมีการปรับแก้บ้าง”
ซิดนีย์แสดงความเห็นเรื่องการหาทายาทสืบทอดอาณาจักร LVMH ว่า แม้จะยังไม่มีประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ แต่แบร์นาร์ดเป็นคนจริงจัง เมื่อถึงเวลา เขาต้องเลือกลูกคนที่ ‘เก่งที่สุด’ เพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่บริษัทต้องเจอ เช่นเดียวกับตอนที่เขาเลือกผู้จัดการหรือที่ปรึกษา
ตอนนี้ดูเหมือนว่าการเชิญลูก ๆ มานั่งร่วมโต๊ะอาหารเดือนละครั้ง จะยกระดับจากการติวเข้มกลยุทธ์ธุรกิจ เป็นการ ‘ออดิชัน’ (audition) ว่า ลูกคนไหนเหมาะสมจะแทนที่เขามากที่สุด
คนใกล้ชิดครอบครัวเล่าว่า แบร์นาร์ดจะเริ่มต้นมื้อกลางวันนั้นด้วยการอ่านหัวข้อสนทนาจากไอแพด ก่อนจะเดินไปรอบ ๆ โต๊ะ เพื่อขอคำแนะนำจากลูกแต่ละคน
หัวข้อที่เขานำมาหยั่งเชิงลูก ๆ มีทั้งความเห็นเกี่ยวกับผู้จัดการของบริษัท สิ่งที่พวกเขาคิดจะทำกับบริษัท หรือแบรนด์หรูที่มีอยู่ในมือจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่
ในระหว่างที่แบร์นาร์ดพยายามเฟ้นหาลูกคนที่เหมาะสมและวางใจได้ เขาได้เสนอปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทโฮลดิงที่ชื่อว่า Agache เพื่อกระจายหุ้นของเขาแก่ลูกทั้ง 5 คนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน
จากการมอบสิทธิในการบริหารอย่างเท่าเทียม และการปิดปากเงียบไม่เฉลยสักทีว่าหวยจะออกที่ลูกคนไหน ทำให้ทุกครั้งที่เขามอบตำแหน่งใหม่ให้ลูกคนใด เรื่องนี้ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทุกครั้ง
‘เดลฟีน’ ลูกสาวที่ถูกจับตามากที่สุด
เช่น ตอนที่ ‘เดลฟีน’ อายุ 48 ปี ได้ขึ้นเป็นซีอีโอแบรนด์ใหญ่อันดับ 2 อย่าง Dior เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา งานนี้ทำเอาคนในวงการแฟชั่นต่างพากันคาดเดาว่า เธอคนนี้น่าจะมาแรงสุด ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากแบร์นาร์ด
เดลฟีนเกิดเมื่อปี 1975 เธอเป็นลูกคนโตในบรรดาลูกทั้ง 5 คนของแบร์นาร์ และเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของเขา
เดลฟีนเริ่มต้นอาชีพที่ McKinsey เธอทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่นี่เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะย้ายไปที่บริษัทของดีไซเนอร์ดังอย่าง ‘จอห์น กัลลิอาโน’
เดลฟีนทำงานที่ ‘Christian Dior Couture’ ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2008 - 2013 ก่อนจะใช้เวลาอีกหนึ่งทศวรรษในตำแหน่งรองประธานบริหารของ Louis Vuitton ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของ LVMH และก้าวไปเป็นซีอีโอและประธานของ Dior อย่างที่กล่าวไปตอนต้น
เดลฟีนยังอยู่ในบอร์ดบริหารของ LVMH โดยเธอเป็นผู้หญิง 1 ใน 2 คนเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมบอร์ด และเป็นสมาชิกบอร์ดที่อายุน้อยที่สุดตอนที่เธอเข้าร่วมเมื่ออายุ 43 ปี
‘อองตวน อาร์โนลต์’ ซีอีโอบริษัทแม่ของ LVMH
ลูกคนที่ 2 ของแบร์นาร์ดคือ ‘อองตวน’ อายุ 46 ปี เขาเป็นลูกชายคนแรกของแบร์นาร์ด เกิดเมื่อปี 1977 โดยเป็นลูกที่เกิดจาก ‘แอนน์ เดวาฟริน’ เช่นเดียวกับเดลฟีน
เขาเริ่มทำงานที่ LVMH ในปี 2005 ในแผนกโฆษณา เพียง 2 ปีต่อมา เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารที่ Louis Vuitton ระหว่างนั้นเขาได้เปิดตัวแคมเปญที่ทำร่วมกับคนดังอย่างแองเจลินา โจลี, โบโน่, มูฮัมหมัด อาลี และมิคาอิล กอร์บาชอฟ
เมื่อเดือนธันวาคม 2022 อองตวนได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของ ‘Christian Dior SE’ บริษัทโฮลดิงที่ครอบครัวใช้ในการควบคุม LVMH นอกจากนี้เขายังนั่งเก้าอี้ซีอีโอของแบรนด์รองเท้าและเครื่องหนังเก่าแก่อย่าง ‘Berluti’ และประธานที่ไม่ใช่ผู้บริหารของ ‘Loro Piana’ แบรนด์ผ้าชั้นนำจากอิตาลี
อองตวนเป็นสมาชิกบอร์ด LVMH ในปี 2006 และเป็นหัวหน้าฝ่ายภาพลักษณ์และสิ่งแวดล้อมของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2018
‘อเล็กซานเดอร์’ ผู้บริหาร Tiffany & Co.
อเล็กซานเดอร์เกิดในปี 1992 ปัจจุบันอายุ 31 ปี เขาเป็นลูกชายคนแรกที่เกิดจากภรรยาคนที่สองคือ ‘อีเลน เมอร์ซิเยร์’ และเป็นรองประธานบริหารของ Tiffany & Co.
หลังฝึกงานที่ McKinsey และ KKR ที่นิวยอร์ก อเล็กซานเดอร์ไปทำงานเป็นซีอีโอแบรนด์กระเป๋าเดินทางสัญชาติเยอรมัน ‘Rimowa’ มีรายงานว่าเขาเป็นผู้โน้มน้าวให้พ่อซื้อหุ้น 80% ของ Rimowa ในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งที่นั่น
หลัง LVMH ซื้อ Tiffany & Co. ด้วยมูลค่า 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2020 อเล็กซานเดอร์กลายเป็นรองประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์และการสื่อสารของ Tiffany & Co. ด้วยวัยเพียง 28 ปี
อเล็กซานเดอร์เคยร่วมรับประทานอาหารมื้อค่ำกับอดีตประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และเขาได้สร้างความประทับใจให้กับโดนัลด์เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่โดนัลด์เขียนถึงเขาว่า “อเล็กซานเดอร์เป็นชายหนุ่มที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นบุตรชายของนักธุรกิจและผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในยุโรปและในโลก”
‘เฟรเดริก’ ซีอีโอ ‘TAG Heuer’
เฟรเดริกเกิดในปี 1995 ปัจจุบันอายุ 28 ปี ตอนนี้เขาเป็นซีอีโอของ TAG Heuer หลังจากไปฝึกงานที่เฟซบุ๊กและ McKinsey รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการชำระเงินผ่านมือถือ
เขากลับมาทำงานที่บริษัทในปี 2017 ในตำแหน่งหัวหน้าชั่วคราวฝ่ายเทคโนโลยีเชื่อมต่อนาฬิกา ‘Swiss’ และเพียง 1 ปีต่อมา เขาก็กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และดิจิทัลของนาฬิกา TAG Heuer กระทั่งปี 2020 เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นซีอีโอของ TAG Heuer ขณะมีอายุ 25 ปี
The New York Times รายงานว่า แบร์นาร์ดได้เข้ามาช่วยดูแลเฟรเดริกในช่วงเริ่มต้นการเป็นผู้บริหาร TAG Heuer แต่ก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก
‘สเตฟาน เบียงคี’ อดีตซีอีโอของ TAG Heuer ผู้ได้รับมอบหมายให้สอนงานเฟรเดริก ให้สัมภาษณ์ว่า พ่อลูกคู่นี้ปะทะกัน ‘ทุกที่’ ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น
ในช่วงที่บริหารงาน เฟรเดริกมุ่งเน้นไปที่นาฬิกาที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต การเปลี่ยนจากการค้าส่งไปสู่การค้าปลีก การเพิ่มยอดขายอีคอมเมิร์ซ และเจรจาความร่วมมือกับปอร์เช่
‘ฌอง’ ลูกชายคนเล็กสุดของแบร์นาร์ด
‘ฌอง อาร์โนลต์’ อายุ 24 ปี เป็นลูกชายคนสุดท้ายของแบร์นาร์ด เขาเข้าทำงานที่ LVMH หลังจบปริญญาด้านคณิตศาสตร์การเงินจาก MIT และปริญญาด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากราชวิทยาลัยลอนดอน
ระหว่างเป็นนักศึกษา เขาฝึกงานที่ Morgan Stanley และ McLaren Racing และทำงานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่ร้าน Louis Vuitton ในปารีส
.
ฌองกลายมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการพัฒนาแผนกนาฬิกาของ Louis Vuitton เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ขณะอายุ 23 ปี เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษา และตอนนี้เขาเป็นผู้อำนวยการแผนกนาฬิกาของ Louis Vuitton
เขาให้สัมภาษณ์ว่า งานของเฟรเดริกที่ TAG Heuer ได้จุดประกายให้เขาสนใจในการทำนาฬิกา
“เราสนิทกันมาก เขาคุยกับผมเรื่องนาฬิกาใหม่ และงานต่าง ๆ ที่เขากำลังทำอยู่ ผมรู้สึกทึ่ง และนั่นคือจุดเปลี่ยน”
ฌองให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เขายังขอคำแนะนำเรื่องการทำงานต่าง ๆ จากพี่ชายด้วย
จะเห็นได้ว่า ลูก ๆ ทั้ง 5 คนของแบร์นาร์ด ได้รับการมอบหมายงานและความรับผิดชอบที่แตกต่างกันตามอายุและประสบการณ์ และถึงแม้พวกเขาจะต้องแย่งชิงตำแหน่งสูงสุดกันอย่างสุดชีวิต พวกเขายังคงเข้ากันได้ดี ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งสอนของบิดา ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะ กว่าจะประกาศชื่อลูกที่ได้ตำแหน่ง ‘ผู้สืบทอด’ กุมชะตาอาณาจักร LVMH
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: