18 ส.ค. 2565 | 15:30 น.
- ซัมซุง เป็นหนึ่งในกลุ่ม 'แชโบล' องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้
- ปัจจุบันมี 'ลี แจยอง' เป็นทายาทรุ่น 3 ของซัมซุง และไม่นานมานี้ได้รับการอภัยโทษจากคดีติดสินบน
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา การถ่ายอำนาจภายในบริษัทซัมซุงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยทายาทรุ่นที่ 3 'ลี แจยอง' ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง 'ประธานบริหารคนใหม่' แทน 'อี คุนฮี' ผู้เป็นพ่อซึ่งเสียชีวิตในเดือนตุลาคมปี 2020
แม้ว่าลี แจยอง จะอยู่ในบทบาทประธานบริหารฯ มาตั้งแต่ปี 2014 แต่การขึ้นสู่ตำแหน่งหัวเรือครั้งนี้ ค่อนข้างน่าสนใจเพราะว่าเขาต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ทั่วโลก และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ซัมซุง ต้องสะดุดกับปัญหาการขาดแคลนวัสดุเพื่อการผลิตชิป และส่วนประกอบอื่น ๆ ของสมาร์ทโฟน
ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาซัมซุงได้แถลงผลประกอบการไตรมาส 3/2565 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะกำไรดิ่งลงถึง 31% ครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี
หมายความว่า ลี แจยอง ต้องรับบทผู้ฟื้นฟูผลกำไรของบริษัทโดยเร็ว รวมทั้งปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่อต้านซัมซุง หลังจากที่มีการอภัยโทษจากประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล
ย้อนกลับไปในปี 1961 เกาหลีใต้เคยตกอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการอย่าง ‘ปาร์ค จุงฮี’ ชายผู้พรากประชาธิปไตยไปจากมือประชาชน แต่ในทางกลับกัน ชายคนนี้กลับนำพาความเจริญมาสู่เกาหลีใต้ยุคใหม่...ยุคที่ช่องว่างระหว่างชนชั้นเพิ่มมากขึ้นจนไม่อาจผสานเป็นเนื้อเดียวกัน
ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่พยายามดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อให้หลุดพ้นออกจากกับดักความยากจน กลับมีอีกกลุ่มหนึ่งค่อย ๆ กำเนิดขึ้นมาอย่างช้า ๆ คอยเหยียบย่ำฐานพีระมิดที่มีร่างประชาชนเกาหลีรองรับอยู่ด้านล่าง จนสามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของประเทศ
กลุ่มนั้นคือ ‘แชโบล’ (Chaebol – 재벌) องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันครอบครอง GDP ของประเทศสูงถึง 84% ทำให้อำนาจต่อรองของกลุ่มแชโบลยิ่งสูงขึ้นไปอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมข่าวการอภัยโทษ ‘ลี แจยอง’ (Lee Jae-yong) หรือที่ตะวันตกรู้จักกันในชื่อ เจย์ วาย. ลี (Jay Y. Lee) ทายาทซัมซุง (Samsung) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่คอยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงถูกจับจ้องจากสายตาคนทั่วโลกมากเป็นพิเศษ
เพราะหากทายาทซัมซุงรายนี้รอดพ้นจากอำนาจตุลาการ แม้จะมีข้อหาติดสินบนประธานาธิบดีหญิงปาร์ค กึนฮเย และคนสนิทเป็นเงิน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 281 ล้านบาท) และยักยอกทรัพย์ในปี 2017 ติดตัวมา ความยุติธรรมในประเทศนี้คงถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากคนในประเทศ และแน่นอนว่าความเชื่อมั่นในเวทีโลกของเกาหลีใต้เองก็คงสั่นคลอนอยู่ไม่น้อย
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลี แจยอง ทายาทรุ่น 3 ของ ‘ซัมซุง’ ถึงได้รับการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ คงต้องย้อนกลับไปในช่วงที่มีการก่อตั้งบริษัท จนกลายเป็นกลุ่มแชโบลที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน
ดวงดาวสามดวงที่ลอยค้างฟ้า
หลังจากสงครามแบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วนยุติลงในปี 1953 เกาหลีใต้ต้องเร่งฟื้นตัวและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนัก พวกเขาต่างดิ้นรนเพื่อให้หลุดออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ต่อจากนั้นเศรษฐกิจของเกาหลีใต้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แซงหน้าหลายประเทศในเอเชียไปไกลหลายขุม
ซัมซุงถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่เกิดและเติบโตมาจากบาดแผลของสงคราม ซึ่งคำว่า ‘ซัมซุง’ มีความหมายในภาษาเกาหลีว่า ดวงดาวสามดวง ชื่อนี้ถูกเลือกโดย ‘ลี บย็องช็อล’ (Lee Byung-chull) ผู้ก่อตั้งบริษัทในปี 1930 โดยเขาหมายมั่นว่าซัมซุงจะต้องเป็นบริษัทที่มีอายุยืนยาวและส่องประกายเจิดจรัสอยู่เคียงคู่เกาหลีใต้ไปตราบนานเท่านาน
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ ลี บย็องช็อล ลูกชายคนสุดท้องจากพี่น้อง 4 คน ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เขาเป็นลูกชายเจ้าของที่ดิน ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ได้ยากจนข้นแค้นเหมือนชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ที่เน้นทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นเด็กใฝ่เรียน เขาเข้าเรียนในโรงเรียนในกรุงโซล และต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั้นจึงกลับมาก่อตั้งบริษัท Mitsubishi Trading Company ในปี 1938 เริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ จนขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
ขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้ด้วยดี ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง บย็องช็อลย้ายฐานที่ตั้งบริษัทไปยังกรุงโซลในปี 1947 ซึ่งหากเปิดตำราย้อนดูประวัติศาสตร์ เราก็คงเห็นแล้วว่าอีกไม่กี่อึดใจสงครามแบ่งแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำลังจะเปิดฉากขึ้นในไม่ช้า
บย็องช็อลไม่รอให้สงครามทำลายบริษัท เขาเลือกกระจายความเสี่ยงโดยสร้างโรงกลั่นน้ำตาลและโรงงานสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีขึ้นมา ความกล้าได้กล้าเสียของบย็องช็อลทำให้ซัมซุงกลายเป็นกลุ่มบริษัทแชโบลเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ
นอกจากนี้ เขายังมุ่งมั่นขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วเกาหลี ตั้งแต่เปิดบริษัทประกันภัย หลักทรัพย์ และการค้าปลีก ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ช่วยพยุงไม่ให้เกาหลีต้องล่มสลายจากความบอบช้ำของสงคราม
ส่วนสินค้าชิ้นแรกของซัมซุงที่หันมาจับตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กลุ่ม Samsung Electronics Devices และ Samsung Semiconductor & Telecommunications ในปี 1969 คือ โทรทัศน์จอขาว-ดำ ที่วางจำหน่ายในอีกหนึ่งปีต่อมา ก่อนจะผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น มอนิเตอร์ เครื่องพิมพ์ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า รวมไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ตพีซี
แต่สินค้าที่ผลิตออกมากลับไม่น่าพึงพอใจนัก เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ บย็องช็อลจึงตัดสินใจเปิดแผนกผลิตชิ้นส่วนของตัวเองขึ้นมาในปี 1974 เป็นการแก้เกมที่ทำให้ซัมซุงยังคงเป็นดาวค้างฟ้ามาจนถึงปัจจุบัน
ชายผู้เปลี่ยนซัมซุงให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก
หลังจาก บย็องช็อล เสียชีวิตลงในปี 1987 ‘ลี คุนฮี’ (Lee Kun-Hee) ทายาทรุ่นสองก็เข้ารับตำแหน่งประธานของบริษัทแทนผู้เป็นพ่อ ในฐานะแม่ทัพคนใหม่ของซัมซุง คุนฮีเลือกที่จะหันหัวเรือไปทางสายอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จากนั้นจึงแบ่งซัมซุง กรุ๊ป ออกเป็น 5 ส่วน คือ Samsung, CJ Group, Hansol Group, JooAng Group และ Shinsegae Group
ซัมซุงภายใต้การนำของคุนฮี แตกต่างจากผู้เป็นพ่ออย่างสิ้นเชิง เขาให้ความสำคัญเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ทำทุกอย่างให้ซัมซุงล้ำหน้ากว่าแบรนด์ท้องตลาดทั่วไป เริ่มตั้งแต่เปิดฝ่ายพัฒนาทรัพยากรของซัมซุง ออกหลักสูตรพัฒนาบุคลากร 64 คอร์ส เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้
นอกจากนี้ยังได้ส่งพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้คนในแต่ละภูมิภาคเข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุง เปลี่ยนจากบริษัทในประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นบริษัทระดับแนวหน้าที่ไม่ว่าใครก็ต้องนึกถึง
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ซัมซุงกลายเป็นแบรนด์ที่คนทั่วโลกให้ความไว้วางใจ จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 1992
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้มาตรฐานของซัมซุงถูกยกระดับให้สูงขึ้นอีกขั้น เกิดขึ้นในปี 1995 หลังจากคุนฮีตรวจพบว่าคุณภาพของสินค้าตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาเรียกพนักงานในบริษัทให้ช่วยกันรวบรวมโทรศัพท์ เครื่องส่งแฟกซ์ และสินค้าค้างสต๊อกที่ไม่ได้มาตรฐานมากองรวมกัน (มูลค่ารวมกันกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจุดไฟเผาทำลายทิ้งต่อหน้าพนักงาน 2,000 คน ที่กำลังคาดศีรษะโดยมีข้อความเขียนไว้บนผ้าว่า ‘คุณภาพต้องมาก่อน’
พร้อมทั้งประกาศว่า ต่อจากนี้จะเป็นยุคใหม่ของซัมซุง เขาจะยกระดับคุณภาพสินค้า ด้วยการทุ่มเททุกอย่างลงไปที่การวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้า นับจากนั้นซัมซุงก็ได้แซงหน้าโซนี่ขึ้นมาเป็นแบรนด์โทรทัศน์ยอดขายสูงสุดในปี 2006
ชื่อเสียงของซัมซุงโด่งดังไปทั่วโลก ถึงขนาดที่คนเกาหลียังเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สาธารณรัฐซัมซุง’ (อ้างอิงจากบทความ ความสำเร็จของซัมซุงในเวลาคน 2 รุ่น เหมือนกับเกาหลีใต้ก้าวข้ามการถูกขนาบโดยไฮเทคญี่ปุ่น-จีนต้นทุนต่ำ เขียนโดย ปรีดี บุญซื่อ เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2020 ผ่านทางเว็บไซต์ ThaiPublica)
คุนฮีประกาศลาออกจากบริษัทซัมซุงในปี 2008 หลังจากถูกฟ้องร้องและพบว่ามีหลักฐานกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์และเลี่ยงภาษี อีกทั้งยังมีการติดสินบนอัยการและนักการเมืองให้เพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่มิชอบทางกฎหมายของบริษัท ข้อกล่าวหาดังกล่าวทำให้คุนฮีถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี และปรับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกไม่กี่เดือนต่อมา ‘อี มย็องบัก’ (Lee Myungbak) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ต่อมาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ในข้อหาทุจริต ติดสินบน ฉ้อโกง ใช้อำนาจในทางมิชอบระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่ง และถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 1.3 หมื่นล้านวอน หรือราว ๆ 12 ล้านบาท ก็ได้ ‘อภัยโทษ’ เป็นกรณีพิเศษให้แก่คุนฮี ผู้นำกลุ่มบริษัทที่ช่วยสร้างชาติให้รอดพ้นจากความยากจน ทำให้เขาไม่ต้องรับโทษจำคุกเลยแม้แต่วันเดียว ถึงจะได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนมากแค่ไหนก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเสียงของประชาชนจะส่งไปไม่ถึงหูของอดีตประธานาธิบดีรายนี้
แต่แล้วความยิ่งใหญ่ของซัมซุงกลับหยุดชะงักลงในปี 2014 หลังคุนฮีเกิดอาการหัวใจวาย ต้องนอนเป็นผู้ป่วยติดเตียงและไม่สามารถบริหารบริษัทต่อได้ และเสียชีวิตลงด้วยวัย 78 ปีในวันที่ 25 ตุลาคม 2020
ทายาทรุ่นสามกับการปล่อยตัวเพื่อชาติ(?)
ลี แจยอง ลูกชายคนโตของคุนฮี ขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อจากผู้เป็นพ่อ แม้จะไม่ได้ขึ้นเป็นประธานอย่างเต็มตัว แต่ในฐานะ ‘รองประธานบริหาร’ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เขาได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดี เพราะนับตั้งแต่พ่อต้องเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง แจยองก็ขึ้นมารับหน้าที่ดูแลบริษัทมาตลอด 6 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดินหน้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีกว่า 10 แห่ง
พร้อมทั้งได้ทุ่มเงินอีก 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซื้อกิจการ Herman International บริษัทกลุ่มเครื่องเสียงสัญชาติอเมริกันในปี 2017 แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าอำนาจและเงินตราที่มีอยู่ล้นเหลือนั้น กลับทำให้แจยองเลือกเดินตามรอยเท้าพ่อ โดยเข้าไปพัวพันกับการติดสินบนและยักยอกทรัพย์ รวมถึงเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน จนทำให้อดีตประธานาธิบดีหญิงเกาหลีใต้ ปาร์ค กึนฮเย ต้องตกจากอำนาจ
สำหรับคำกล่าวของแจยองหลังจากได้รับการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ จากยุน ซ็อกย็อล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา แจยองสวมชุดสูทดำ หน้าตาอิดโรยเล็กน้อย เขาเดินออกมาคำนับต่อหน้ากองทัพนักข่าวที่รออยู่ด้านนอกเรือนจำกรุงโซล พร้อมกล่าวแสดงความสำนึกผิดต่อประชาชนเกาหลีว่า “ผมรับรู้ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความกังวลที่ท่านมีต่อตัวผม ผมรับฟังอย่างตั้งใจ และผมรู้สึกเสียใจที่ทำให้ทุกท่านเกิดความวิตกกังวล ผมขอโทษ”
สิ้นเสียงคำขอโทษจากเจ้าชายซัมซุง เขาถูกนำตัวขึ้นรถลีมูซีนสีดำก่อนที่จะขับออกไป ทิ้งกองทัพนักข่าวและความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวไว้ด้านนอกเรือนจำกรุงโซล…
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-62501514
https://www.bbc.com/thai/articles/cq5v9yzp22xo
https://www.komchadluek.net/news/339740
https://www.prachachat.net/world-news/news-1012825
https://www.theverge.com/2022/8/12/23302676/samsung-heir-presidential-pardon-lee-jae-yong
https://thaipublica.org/2020/10/pridi212/
https://edition.cnn.com/2022/08/12/tech/samsung-lee-jae-yong-pardon-south-korea-hnk-intl/index.html
https://www.cnbc.com/2022/08/12/south-koreas-president-pardons-samsung-leader-jay-y-lee.htm