read
politics
30 ต.ค. 2563 | 14:45 น.
อี มยอง-บัก อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้: ผู้นำที่ถูกตัดสินโทษย้อนหลังให้จำคุกเพราะคอร์รัปชัน
Play
Loading...
ในประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน การตรวจสอบคดีความและการกระทำผิดย้อนหลังสามารถเชื่อถือได้ ผู้คนที่ทำผิดกฎหมายจะต้องถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนธรรมดา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งอดีตผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีก็ตามที
เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีข่าวการดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดีย้อนหลังอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น
ชอน ดูฮวาน
ประธานาธิบดีจอมเผด็จการที่เป็นผู้นำนานถึง 7 ปี ปัจจุบันแม้จะแก่ชราใกล้ร่วงโรยก็ยังต้องเดินทางมาขึ้นศาลในคดีสังหารประชาชน รับสินบน และคอร์รัปชัน รวมถึงอดีตประธานาธิบดีหญิงปาร์ค กึนเฮ ที่ทำให้เกิดมวลชนจำนวนมหาศาลลงถนนมาประท้วงขับไล่ให้เธอออกจากตำแหน่ง และถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงด้วยการใช้อำนาจในทางมิชอบ ติดสินบน และคอร์รัปชัน
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือเรื่องราวของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้อีกคนอย่าง
อี มยอง-บัก
(Lee Myung-bak) ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะก้าวเป็นผู้นำของเกาหลีใต้ ชายคนนี้เติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจนเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาต้องรับจ้างทำงานต่าง ๆ อย่างไม่เกี่ยงแรงตั้งแต่เด็ก เดินขายขนม คิมบับ กับไม้ขีดไฟ ทว่าเคราะห์ยังซ้ำกรรมยังซัดหนักไปอีกเมื่อพ่อที่เป็นผู้นำครอบครัวเสียชีวิตลงเพราะผลจากสงครามกลางเมือง จากการบุกโจมตีของกองทัพเกาหลีเหนือ ในฐานะที่เป็นลูกชาย เขาจึงต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อเลี้ยงดูปากท้องของแม่และพี่น้องในครอบครัวอีก 6 คน
มยอง-บักที่เริ่มโตขึ้นตัดสินใจสมัครทุนการศึกษา ลงทะเบียนเรียนภาคค่ำในโรงเรียนพาณิชย์ เพราะในช่วงกลางวันเขาจะได้ทำงาน อย่างไรก็ตาม เด็กชายที่มีชีวิตลำเค็ญสามารถแบ่งเวลาให้กับการทำหลายสิ่งได้ยอดเยี่ยม เขาทำงาน เรียนหนังสือ หาเวลาอ่านหนังสือสอบ แม้จะเหนื่อย แต่สุดท้ายมยอง-บักก็สามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยชนชั้นของเกาหลีใต้อย่างโครยอ แทฮักกโย (Korea University) ได้สำเร็จตามหวัง
การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเปิดโลกทัศน์อีกมุมหนึ่งให้กับมยอง-บัก เขามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย จากเด็กชายยากจนที่ไม่มีบทบาทใด ๆ ไม่ว่ากับใคร เริ่มเป็นที่รู้จักในวงสังคมมากขึ้น ช่วงชั้นปีที่ 3 มยอง-บักถูกเลือกให้เป็นประธานสภานักศึกษา หันมาสนใจเรื่องสังคมการเมือง ร่วมเดินขบวนประท้วงประธานาธิบดีปาร์ค ชอนฮี จนถูกจับในข้อหากบฏ รับโทษจำคุก 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่มยอง-บักถูกจับ สังคมเกาหลีใต้กำลังตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย มีประชาชนผู้ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการจำนวนมากที่ลงถนนร่วมประท้วงไปกับเขา และพอเขาถูกจับ สังคมจึงได้รู้จักเด็กชายที่ออกจากชั้นเรียนมาเรียกร้องประชาธิปไตยและรวบเขาไว้เป็นหนึ่งใน ‘1
st
generation of democratization’
เมื่อเรียนจบ มยอง-บักทำงานกับบริษัทฮุนได (Hyundai Construction) ในปี 1965 ใคร ๆ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชายคนนี้เป็นคนมุ่งมั่นจริงจัง บ้างาน และขยันมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยเจอ การตั้งใจทำงานหนักของเขาทำให้มยอง-บักสามารถพาตัวเองไปถึงตำแหน่งผู้บริหารด้วยวัยเพียง 29 ปี จากนั้นอีกไม่กี่ปีก็ขึ้นแท่นนั่งในตำแหน่ง CEO เมื่ออายุ 35 ปี กลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงอายุน้อยที่สังคมเกาหลีใต้จับตามองอย่างรวดเร็ว
จากเด็กชายยากจนทำงานหนักมาทั้งชีวิต กลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่มาแรง การก้าวสู่ตำแหน่งสูงของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้มยอง-บักมีโอกาสได้รู้จักกับผู้นำประเทศแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายคนด้วยกัน เขาได้พบปะสังสรรค์กับนักการเมืองบ่อยครั้ง และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจกระโจนเข้าสู่โลกการเมืองในปี 1992 ด้วยการลงสมัครเป็นผู้ว่าการกรุงโซล และอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2002-2006
ผลงานเด่นที่ส่งให้โซลเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้คือป่าแห่งโซล (การทำสวนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เหมือนกับเซ็นทรัลปาร์คในกรุงนิวยอร์ก) รวมถึงการทำให้คลองสกปรกชื่อชองเกชอน ที่ไหลผ่านกลางเมือง กลายเป็นคลองน้ำสะอาดที่ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจริมคลองได้จริง ๆ จนถูกนิตยสาร Time ยกย่องให้เป็นฮีโร่ทางด้านสิ่งแวดล้อม
เขาสร้างผลงานกับการปฏิรูปพัฒนาเมืองหลวงไว้ให้เป็นที่จดจำหลายอย่าง ใคร ๆ ต่างนิยมชมชอบนักการเมืองและนักธุรกิจวิสัยทัศน์ไกล ในที่สุดมยอง-บักตัดสินใจลงสมัครเป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนพรรค Grand National Party กวาดคะแนนเสียงจากประชาชนได้จำนวนมาก แม้การเลือกตั้งในปีนั้นจะมีผู้มาลงคะแนนเสียงน้อยมากก็ตาม กลายเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่ 14 ที่ใคร ๆ ต่างก็อยากจะเห็นเขาพลิกโฉมเกาหลีใต้ได้อย่างที่เขาเคยทำกับเมืองโซล
ช่วงที่เขานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี มยอง-บักพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ ตีคู่มากับข่าวการคอร์รัปชันตั้งแต่เริ่มงานในฐานะผู้นำได้เพียงไม่นาน อันที่จริงมยอง-บักถูกวิจารณ์มาตั้งแต่การลงหาเสียงกรณีการปั่นที่ดินตัวเองให้ราคาสูง ซึ่งเขาก็แก้เกมด้วยการบริจาคทรัพย์สินจำนวนมากให้กับการกุศลไปแล้ว แต่ก็ยังโดนขุดคุ้ยเรื่องการรับสินบนและยักยอกทรัพย์ขณะเป็นประธานาธิบดี โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ที่อ้างว่าเป็นของน้องชาย
นอกจากประเด็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ ประธานาธิบดีมยอง-บักยังโดนโจมตีเรื่องการสร้างกองทุนการกุศลบังหน้า แต่จริง ๆ แล้วก่อตั้งขึ้นเพื่อฟอกเงินผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านวอน รวมถึงคำกล่าวหาที่เขารับเงินจากบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์กว่า 6 พันล้านวอน โดยแลกกับคำสั่งอภัยโทษแก่ประธานบริษัท ณ ขณะนั้นอย่าง ลี กุนฮี ที่ต้องโทษข้อหาเลี่ยงภาษี อย่างไรก็ตาม การฮั้วกันระหว่างประธานาธิบดีกับบริษัทซัมซุง ทั้งสองฝ่ายให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีมยอง-บักยังไม่โดนข้อหา จนกระทั่งเขาลงจากตำแหน่ง การพิจารณาคดีและตั้งข้อหาย้อนหลังได้เริ่มต้นขึ้น ในปี 2018 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายอี มยอง-บัก อดีตผู้นำเกาหลีใต้ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ในข้อหาทุจริต ติดสินบน ฉ้อโกง ใช้อำนาจในทางมิชอบระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่ง และถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 1.3 หมื่นล้านวอน หรือราว ๆ 12 ล้านบาท แต่เขาก็ไม่ได้ปรากฏตัวมาร่วมฟังคำตัดสิน โดยอ้างว่าเป็นเหตุผลด้านความเจ็บปวดทางสุขภาพ จึงไม่สะดวกเดินทางมาฟังคำพิจารณาคดี และขอสู้ต่อ
คดีความของเขายืดเยื้อยาวนานหลายปี เนื่องจากนายมยอง-บักยืนยันจะสู้คดีต่อ ช่วงต้นปี 2020 ศาลแขวงกลางโซลได้ตัดสินคดีอีกครั้ง โดยตัดสินให้มยอง-บัก วัย 78 ปี จำคุกเป็นเวลา 17 ปี และปรับเงินใหม่เป็น 1.3 ล้านวอน (ราว 360 ล้านบาท) รวมถึงการยึดทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในระหว่างนั้นศาลสั่งห้ามประกันตัว ทำให้เขาต้องอยู่ในห้องคุมขังพักใหญ่หลังการพิจารณาคดีจบลง โดยคดีความดังกล่าวยังไม่มีท่าทีว่าจะจบง่าย ๆ แต่ถึงอย่างนั้น กระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ก็ทำให้เราเห็นว่า หากทำผิด คุณก็จะต้องรับผลจากการกระทำตามกฎหมาย
ที่มา
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20201029000325
https://www.nytimes.com/2020/10/29/world/asia/south-korea-president-bribery.html
https://www.channelnewsasia.com/news/asia/south-korea-lee-myung-bak-prison-bribery-embezzlement-13403588
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Politics
The People
เกาหลีใต้
South Korea
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
คอร์รัปชัน