ดูอาณาจักรหมื่นล้าน ‘ตระกูลพรประภา’ จาก ดร.ถาวร แห่ง ‘สยามกลการ’ สู่รุ่น ‘พก-ประธานวงศ์’

ดูอาณาจักรหมื่นล้าน ‘ตระกูลพรประภา’ จาก ดร.ถาวร แห่ง ‘สยามกลการ’ สู่รุ่น ‘พก-ประธานวงศ์’

ตระกูลพรประภา ในรุ่นบุกเบิกมีบุคคลที่ชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงธุรกิจคือ ดร. ถาวร พรประภา กระทั่งมาสู่รุ่นทายาทที่ผู้คนคุ้นชื่ออย่าง ‘พก - ประธานวงศ์ พรประภา’ นี่คือ ‘สยามกลการ’ อาณาจักรธุรกิจสารพัดประเภทมูลค่าหลักหมื่นล้าน

  • นามสกุล ‘พรประภา’ มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจในฐานะอาณาจักรธุรกิจหลากหลายประเภทมูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาท
  • จุดเริ่มต้นความมั่งคั่งของ ‘ตระกูลพรประภา’ ในสายหนึ่ง (สยามกลการ) มาจาก ‘ดร.ถาวร พระประภา’ สืบทอดมาสู่รุ่นทายาทในเวลาต่อมา
  • พก - ประธานวงศ์ พรประภา ถือเป็นอีกหนึ่งทายาทในรุ่นที่ 3 ของสยามกลการ

ถ้าหากไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจหรือสนใจเรื่องราวของเหล่า ‘มหาเศรษฐี’ เป็นพิเศษ อาจจะคุ้นเคยกับนามสกุล ‘พรประภา’ จากนามสกุลของ ‘พก - ประธานวงศ์ พรประภา’ อดีตแฟนนักแสดงสาว อั้ม - พัชราภา ไชยเชื้อ แต่จริง ๆ แล้ว สำหรับคนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจ คงจะรู้กันดีว่า ‘ตระกูลพรประภา’ คือ หนึ่งในเศรษฐีหมื่นล้านที่ทำธุรกิจในหลากหลายวงการ

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จัก ‘ตระกูลพรประภา’ ตระกูลอันดับ 40 ของมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2565 จากการจัดอันดับของ นิตยสารฟอร์บส์ประเทศไทย เจ้าของอาณาจักรหมื่นล้านอย่าง ‘สยามกลการ’ ที่ทำธุรกิจมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ อะไหล่ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และดนตรี

 

ต้นตระกูลค้าของเก่า ธุรกิจเลหลังรถยนต์ จุดเริ่มต้นสยามกลการ

แม้ว่าปัจจุบัน บุคคลจาก ‘ตระกูลพรประภา’ ที่นิตยสารฟอร์บส์ประเทศไทยรายงานว่า เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 40 ของประเทศไทยที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.87 หมื่นล้านบาท คือ ‘พรเทพ พรประภา’ ผู้เป็นบุตรชายในตระกูล แต่จริง ๆ จุดเริ่มต้นความมั่งคั่งของ ‘ตระกูลพรประภา’ ในสายหนึ่ง (สยามกลการ) มาจาก ‘ดร.ถาวร พระประภา’ ผู้เป็นพ่อ

‘ดร.ถาวร พระประภา’ เกิดในช่วงปลายปี 2459 เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องจำนวนกว่า 8 คนในบ้านที่ทำธุรกิจ ‘ค้าของเก่า’ ใต้ชื่อ ‘ตั้งท่งฮวด’ ในเชียงกงใกล้โรงภาพยนตร์โอเดียน

ชีวิตของ ดร.ถาวร ในวัย 10 ปี มีหน้าที่ช่วยทำงานบ้านและเลี้ยงน้องในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนเรียนหนังสือ ทำให้ช่วงยังเป็นเด็กได้เข้าออกโรงเรียนหลายแห่ง ก่อนจะมีโอกาสได้ตามคุณพ่อไปติดต่อธุรกิจการค้าทั่วไทยจนเริ่มเป็นพ่อค้าเต็มตัวตอนอายุ 15 ปี

ธุรกิจแรกที่ ‘ดร.ถาวร’ เริ่มทำในฐานะพ่อค้า คือ ธุรกิจเลหลังสินค้าเก่า ประมูลสินค้า ซื้อรถเก่ามาขายทำกำไร จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

เปลี่ยนมุมมอง ปรับวิธีคิด จากขายของเก่าสู่ขายของใหม่

เมื่อ ดร.ถาวร อายุได้ 20 ปีมีโอกาสได้เดินทางไปเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก ทำให้มุมมองการค้าเปลี่ยนแปลงไป จาก ‘ขายของเก่า’ สู่ ‘ขายของใหม่’ เพราะมองว่า

“สินค้าใหม่เปรียบเสมือนน้ำในบ่อที่ไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อขายหมดแล้วก็สั่งมาขายได้เรื่อย ๆ  ซึ่งผิดกับของเก่า ถ้าขายหมดแล้วไม่รู้ว่าจะหามาขายได้อีกหรือไม่ ถ้าแม้หาได้ แต่ราคาของเก่านั้นขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้าโชคดีก็ขายได้กำไร  โชคไม่ดีก็ซื้อแพง เมื่อขายไปบางทีก็ขาดทุน”

ตั้งแต่นั้น ดร.ถาวร จึงเริ่มสั่งสินค้าจากญี่ปุ่นมาขายแทน โดยเริ่มต้นจากตลับลูกปืน สายพาน เครื่องเจาะ เครื่องกลึง ที่มีราคาถูกมากในเวลานั้น

จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 36 ปี (ปี 2495) ดร.ถาวร ก็ได้ก่อตั้ง ‘บริษัท สยามกลการ จำกัด’ ทำธุรกิจค้ารถยนต์ใหม่และเก่า เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ‘นิสสัน ดัทสัน’ แต่ผู้เดียวในประเทศไทย นับเป็นผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศรายแรกของนิสสัน มอเตอร์ประเทศญี่ปุ่น

และในอีก 10 ปีต่อมา ดร.ถาวร ได้ก่อตั้ง โรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแห่งแรกในประเทศไทย ใต้ชื่อ ‘บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด’ ที่มีกำลังการผลิตเพียงวันละ 4 คัน เพราะมีพนักงานอยู่แค่เพียง 120 คน ก่อนจะขยายขึ้นจนสามารถตั้งโรงงานประกอบรถกระบะแห่งใหม่อย่าง ‘บริษัท นิสสัน มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด’ เพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ

 

อาณาจักร 6 กลุ่มธุรกิจ เกินกว่า 50 บริษัท

หลังจากธุรกิจยานยนต์ประสบความสำเร็จอย่างมาก กลุ่มสยามกลการขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมหลากหลายวงการ โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์, อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์, อุตสาหกรรมและเครื่องจักรหนัก, การท่องเที่ยวและบริการ, การศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน

กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ประกอบด้วย นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย), นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย), นิสสัน เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์), นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย), สยามนิสสัน บอดี้, สยามนิสสันเซลส์ และเอส เอ็น เอ็น อุปกรณ์และแม่พิมพ์

กลุ่มอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ ประกอบด้วย นิตตั้น (ประเทศไทย), นิตตั้น เวียดนาม, บ๊อช ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย), มาห์เล สยาม ฟิลเตอร์ ซิสเต็มส์, มาห์เล สยาม อิเล็คทริค ไดรฟ์, ยีเอส ยัวซ่า สยาม อินดัสตรีส์, ยีเอส ยัวซ่า สยามเซลส์, ยีเอส ยัวซ่า แบตเตอรี่ (มาเลเซีย), วาลีโอสยาม เทอร์มอลซิสเต็มส์, สยาม ยีเอส แบตเตอรี่, สยาม ยีเอส แบตเตอรี่ เมียนมาร์, สยาม ริกเก้น อินดัสเตรี้ยล, สยาม เอ็น เอส เค สเตียริ่ง ซิสเต็มส์, สยามกลการอะไหล่, สยามคาลโซนิค, สยามชิตะ, สยามยีเอสเซลส์, สยามเอ็นจีเค สปาร์คปลั๊ก, ฮิตาชิ แอสเตโม ชลบุรี พาวเวอร์เทรน, เควายบี (ประเทศไทย), เอ็กเซดี้ (ประเทศไทย), เอ็น เอส เค แบริ่งส์ (ประเทศไทย), เอ็น เอส เค แบริ่งส์ (มาเลเซีย) และเอ็น เอส เค แบริ่งส์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)

กลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องจักรหนัก ประกอบด้วย ทีซีอาร์แอร์ซิสเต็ม, บางกอกโคมัตสุ, บางกอกโคมัตสุ ฟอร์คลิฟท์, บางกอกโคมัตสุเซลส์, สยาม ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์, สยามกลการอุตสาหกรรม, สยามไดกิ้นเซลส์, ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (กัมพูชา), ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย), ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ลาว), ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (เมียนมาร์), เอสเอ็มซีซี (ประเทศไทย), โคมัตสุ บางกอก ลีสซิ่ง, โคมัตสุ ลีสซิ่ง (กัมพูชา) และโคมัตสุ เซลส์ (กัมพูชา)

กลุ่มการท่องเที่ยวและบริการ ประกอบด้วย สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล พัทยา, สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ, สยามคันทรีคลับ พัทยา วอเตอร์ไซค์, สยามคันทรีคลับ พัทยา แพลนเทชั่น, สยามคันทรีคลับ พัทยา โอล์ดคอร์ส, สยามคันทรีคลับ แบงคอก, สยามปทุมวันเฮาส์ และเมอเวนพิค สยาม โฮเทล นาจอมเทียน พัทยา

กลุ่มการศึกษาและเครื่องดนตรี ได้แก่ สยามดนตรียามาฮ่า

กลุ่มการลงทุน ประกอบด้วย ทุนถาวร, บางกอกมอเตอร์เวอคส์, สยามกลการ และสยามออโต้พาร์ท

รวมทั้งหมดมากกว่า 50 บริษัทในเครือ ‘สยามกลการ’

 

‘พรประภา’ เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4

หากนับโดยมอง ‘ดร.ถาวร พรประภา’ ในฐานะสายผู้ก่อตั้ง ‘สยามกลการ’ เป็น ‘พรประภา’ รุ่นที่ 1 แล้ว ปัจจุบัน ตระกูลพรประภาเดินทางมาสู่รุ่นที่ 4 แล้ว

พรประภา รุ่น 2 คือลูก ๆ ของ ดร.ถาวรกับภรรยา รวม 13 คนที่ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘พร’ ทั้งหมด ได้แก่ พรพิมล, พรศักดิ์, พรพินิจ, พรทิวา, พรทิพย์, พรเทพ, พรเนตร, พรพงษ์, พรสรรค์, พรพรรณ, พรนิสา, พรชลิต และพรพิมพ์

พรประภา รุ่น 3 คือหลาน ๆ ของ ดร.ถาวร ทั้งหลานปู่และหลานตารวม 8 คน ที่ชื่อขึ้นต้นด้วย ‘ประ’ ทั้งหมด ได้แก่ ประนัปดา, ประณิธาน, ประกาสิทธิ์, ประภู, ประธานพร, ประธานวงศ์, ประณัย และประคุณ

พรประภา รุ่น 4 คือ เหล่าเหลน ๆ ของ ดร.ถาวรที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนที่ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ภา’ ทั้งหมด ได้แก่ ภาโรห์ ภาพร ภารีพร ภากร ภาริสา และภาริน

โดยมี ‘พรเทพ ประภาพร’ กุมบังเหียนในตำแหน่ง ‘กรรมการผู้จัดการใหญ่’ บริษัท สยามกลการ จำกัด ในขณะที่พี่น้องและลูกหลานคนอื่น ๆ แบ่งกันดูแลในส่วนต่าง ๆ ของอาณาจักร รวมถึงได้ขยายธุรกิจออกไปหลากหลายตามความสนใจ

อย่างเช่น ‘พก - ประธานวงศ์’ ที่ปัจจุบันควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ใน 5 บริษัท แล้วยังขยับไปรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเป็น CEO ของบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย รวมถึงยังมีความสนใจจนได้นำเข้าและจัดจำหน่าย Berluti แบรนด์รองเท้าหรูจากฝรั่งเศสเป็นรายแรกของไทยด้วย

เช่นเดียวกันกับที่ ‘พีท - ประณิธาน’ ที่นอกจากจะดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามกลการ จำกัด ผู้ดูแลธุรกิจกลุ่มแบรนด์ Komatsu และ Daikin ของสยามกลการ แล้วก็ยังเปิดบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด ผู้จัดงานเทศกาล Wonderfruit เทศกาลดนตรีสุดชิกตามความสนใจ

 

‘พรประภา’ ในสาย ‘เอส.พี.อินเตอร์แนชั่นแนล’

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูประวัติของ ดร.ถาวร พรประภา จะพบว่า บิดามารดา คือ ‘ไต้ล้ง พรประภา’ และ ‘เช็ง พรประภา’ เกิดในตำบลเก็กเอี้ย อำเภอเก็กเอี้ย จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนจะอพยพมาประเทศไทยในปี 2472 เพื่อมาเริ่มต้นทำงานรับจ้างแบกหาม ก่อนกลับเมืองจีนและมาไทยอีกครั้ง จนได้ก่อตั้ง บริษัท ตั้งท่งฮวด จำกัด ที่ทำธุรกิจรับซื้อขวด ค้าขายเศษเหล็ก นำเข้าเหล็กเส้น เครื่องจักร และนำเข้ารถใช้แล้วจากสงครามในยุโรปและเกาหลีเพื่อนำมาปรับสภาพขาย ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูล ‘พรประภา’

แม้ว่า ‘ดร.ถาวร’ จะตัดสินใจแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่พี่ชายคนโตของ ดร.ถาวร อย่าง ‘สินธุ์ พรประภา’ ได้ดำเนินบริษัท ตั้งท่งฮวด จำกัดต่อไป จนในเวลาถัดมาได้กลายเป็น ‘กลุ่ม เอส.พี.อินเตอร์แนชั่นแนล’ ที่มีธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ ไปจนถึงธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และยังคงใช้นามสกุล ‘พรประภา’ เช่นเดียวกัน

เรียกว่าเป็นอาณาจักรหมื่นล้านที่สามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งมาได้จนถึงรุ่นเหลนหลาน สมนามสกุล ‘พรประภา’ ที่แปลว่า รุ่งเรืองเป็นเลิศ

 

ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) ประธานวงศ์ พระประภา ถ่ายคู่กับ พรพินิจ บิดา ภาพจาก pokphornprapha/Instagram และ ดร. ถาวร พรประภา ภาพจาก siammotors.com 

อ้างอิง:

www.siammotors.com

www.acarnewsonline.com

Nation TV

Prachachat

mgronline.com

Forbes Thailand

Amarin TV

Thai PBS

Spinter

Yamaha Music Thailand/Facebook