เทียม โชควัฒนา: เจ้าสัวแสนล้าน เริ่มที่จับกัง ก่อนที่คนทั้งประเทศจะรู้จัก "มาม่า"

เทียม โชควัฒนา: เจ้าสัวแสนล้าน เริ่มที่จับกัง ก่อนที่คนทั้งประเทศจะรู้จัก "มาม่า"

เจ้าสัวแสนล้าน เริ่มที่จับกัง ก่อนที่คนทั้งประเทศจะรู้จัก "มาม่า"

“เตี่ยของเจ้าสัวเทียมเคยบอกว่า หากลูกหลานคนใด สามารถแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ ถือว่าเรียนจบปริญญา จะขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 22 บาท อันเป็นค่าเงินเดือนสูงสุดของคนทำงานจับกังพึงจะได้รับ” กว่าที่อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง “สหพัฒน์” สยายปีกธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รับผิดชอบการกระจายสินค้า 90 แบรนด์ กว่า 600 รายการทั่วประเทศ มีสินค้าสำคัญอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ชุดชั้นใน “วาโก้” และ ผงซักฟอก “เปา” ซึ่งเป็นสินค้าที่คนไทยรู้จักกันดี ก่อนที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจไทย จุดเริ่มต้นของ “สหพัฒน์” นั้นเริ่มต้นด้วยการเป็นห้างร้านเล็กในตรอกอาเนียเก็ง ที่ถนนทรงวาด ด้วยเงินทุนเพียง 10,000 บาท ผู้ก่อตั้ง “สหพัฒน์” ก็คือ เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ตำนานเศรษฐีของไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเจ้าสัวก็ยังเป็นที่จดจำอยู่จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เรียนรู้ในโลก “จับกัง” ก็คงเหมือนกับชาวจีนในยุคเสื่อผืนหมอนใบในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คุณพ่อหรือเตี่ยของเจ้าสัวเทียม ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อมาฝากความฝันไว้กับแผ่นดินไทย โดยอาชีพเริ่มแรกของเตี่ยก็คือ การเป็นนายห้างขายน้ำตาล นม และแป้งหมี่ ร่วมกันคุณอาภายใต้ชื่อร้าน “เปียวฮะ” เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา เกิดในปี พ.ศ.2459 เขาเกิดมาในช่วงที่เตี่ยทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างตัว ทุกลมหายใจของเตี่ยจึงเท่ากับการทำงาน และคำสอนของเตี่ยก็ล้วนแล้วแต่ขัดเกลาให้เจ้าสัวเทียมในวัยเด็กได้เรียนรู้และเข้าใจในโลกของการค้าขาย ซึ่งเตี่ยมักจะสอนเจ้าสัวเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำมาหากิน ส่วนเรื่องการเล่นหัวแบบเด็กอื่นเป็นเรื่องที่มาทีหลัง ถ้าอยากวิ่งเล่นออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรง สู้มาแบกน้ำตาลจากโกดังไปขายให้กับลูกค้าจะดีกว่าไหม? “จับกัง” จึงกลายเป็นอาชีพแรกของเจ้าสัวเทียมตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนในวัย 15 ปี ในหนังสือ “เฮง ‘เทียม’ ผู้เยี่ยมวรยุทธ์” ของเสถียร จันทิมาธร (สำนักพิมพ์มติชน) ได้บรรยายหลักคิดในการใช้ชีวิตของเจ้าสัวเทียมในช่วงนั้นไว้ว่า “เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนมีความรู้น้อย เมื่อออกจากโรงเรียนมาช่วยคุณพ่อค้าขายในภาวะที่ตลาดซบ จึงต้องทำงานทุกอย่างตั้งแต่พนักงานขายไปจนถึงกุลีและจับกัง ต้องทำงานแต่ละอย่างด้วยความทรหดอดทน ทั้งยังต้องคอยปลุกปลอบให้กำลังใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยว่า ‘ในเมื่อเราเป็นคนมีความรู้น้อย เราจะต้องไม่ย่อท้อ’ ‘ในเมื่อเราไม่มีพื้นฐานทางการเงิน เราก็มิอาจเกี่ยงงานในทุกหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย’ ดังนั้น สำหรับชีวิตในวัย 15 ของข้าพเจ้า วันทั้งวัน สัปดาห์ทั้งสัปดาห์ และเดือนทั้งเดือน จึงมีแต่การมุมานะทำงานหนัก ตรากตรำอยู่กับงาน และครุ่นคิดเสมือนเป็นการเตือนใจของตนว่า ‘วันนี้ เราทำงานอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็จะต้องทำอย่างเต็มที่’ ” ความอดทน เหนื่อยยากจากการทำงานจึงกลายเป็นเรื่องแรกๆ ที่เจ้าสัวเทียมได้เรียนรู้ในการทำการค้าขาย ในปีแรกๆของการทำงาน เจ้าสัวเทียมทำงานหนักระดับที่ว่า ต้องทำงานทุกวัน วันละ 12 ชั่วโมง และมีวันหยุดในวันตรุษจีนเพียง 3 วันเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วในวันตรุษจีน เจ้าสัวเทียมก็ยังต้องมาเช็คสต็อกและเช็คบัญชีสินค้า จนเหลือวันหยุดจริงๆเพียง 1 วัน! เตี่ยของเจ้าสัวเทียมเคยบอกว่า หากลูกหลานคนใด สามารถแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ ถือว่าเรียนจบปริญญา จะขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 22 บาท อันเป็นค่าเงินเดือนสูงสุดของคนทำงานจับกังพึงจะได้รับ ในบรรดาลูกๆหลานๆ มีเจ้าสัวเทียมเพียงคนเดียวที่รับปริญญาชีวิตใบนี้จากการแบกน้ำตาลหนักถึง 100 กิโลกรัม เป็นปริญญาที่รับรองว่า แม้ว่าเจ้าสัวจะไม่ได้เรียนในระบบการศึกษา แต่ปริญญาชีวิตใบนี้ก็มีคุณค่าต่อเขาไม่แพ้กัน นอกจากการทำงานจับกังแล้ว ในการทำงานที่ร้าน “เปียวฮะ” ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้เจ้าสัวเทียมได้เรียนรู้ อย่างเช่น จังหวะการขึ้นลงของราคาสินค้าอย่าง น้ำตาล, นม และแป้งหมี่ เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทำธุรกิจของเจ้าสัวเองในอนาคตอย่างมากมาย กลยุทธ์ทางการค้าขายหนึ่งที่เจ้าสัวเทียมได้สร้างขึ้นมาจากการสังเกตลูกค้าในร้านก็คือ ก่อนหน้านี้ รูปแบบการค้าขายในร้านจะเป็นการรอลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อสินค้าในร้าน แต่เจ้าสัวกลับเสนอให้ทางร้าน ออกมาหาลูกค้าเองบ้าง ซึ่งความคิดนี้ส่งผลดีต่อธุรกิจของร้าน “เปียวฮะ” เป็นอย่างมาก และทำให้เห็นแววของการทำธุรกิจใน “เชิงรุก” ของเจ้าสัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากที่ทำงานในเวลากลางวันอย่างเหน็ดเหนื่อย ด้วยนิสัยใฝ่รู้ ในตอนกลางคืน เจ้าสัวก็ยังไปเรียนแบบกวดวิชาเพิ่มเติม ซึ่งมีหลักการสอนหนึ่งที่คุณครูได้สอนและเจ้าสัวนำมาใช้ในการทำงานและสอนพนักงานเสมอมา หลักการที่ว่าคือหลักการ “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” เป็นหลักการที่ใช้พิจารณางานที่ทำ ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้คือ 1.งานนั้นๆ จะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปภายในเวลาอันรวด “เร็ว” ได้หรือไม่? 2.หรือว่างานนั้นๆทำแล้วเสร็จ “ช้า”? 3.งานนั้นๆ เป็นงานที่ “หนัก” หรือไม่? 3.งานนั้นๆ เป็นงานที่ “เบา” หรือไม่? เมื่อพิจารณาตามหลักเหล่านี้แล้ว งานจะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของหลักการพิจารณางานแบบ “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” งานใดที่เร็วไป ช้าไป หนักไป เบาไป ต้องเลือกใช้คนให้เหมาะกับสถานการณ์ ... ด้วยความที่เตี่ยของเจ้าสัวเทียมและคุณอา มีความคิดเห็นทางการทำงานที่ไม่ตรงกัน เตี่ยของเจ้าสัวได้แยกตัวออกมาค้าขายเองโดยตั้งร้าน “เฮียบฮะ” ขึ้นมาเพื่อขายนม, น้ำตาล, ข้าวสาร, ถั่ว และแป้งหมี่ เป็นสินค้าหลัก ซึ่งเจ้าสัวได้แยกออกมาค้าขายอยู่กับร้านของพ่อด้วย แต่ใช่ว่าหนทางของร้าน “เฮียบฮะ” จะเต็มไปด้วยความราบรื่น ในจังหวะที่ร้านดำเนินกิจการ เป็นช่วงสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2484-2485) ทำให้การค้าขายเกิดความฝืดเคือง ห้างโอเรียนเต็ลสโตร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ “เฮียบฮะ” ทำการค้าขายด้วย ได้ออกคำสั่งให้ “เฮียบฮะ” ขนสินค้าพวกนม, น้ำตาล และแป้งหมี่ ออกจากโกดังให้หมดภายใน 3 วัน ปัญหาก็คือ ทางร้าน “เฮียบฮะ” จะเก็บสินค้าเหล่านี้ไว้ที่ไหน? แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ จะมีเงินจากไหนไปชำระสินค้า? เจ้าสัวเทียม เลยใช้วิธีการออกเช็คโดยไม่มีเงินให้นายห้างชาวเดนมาร์กเจ้าของห้างโอเรียนเต็ลสโตร์ไปก่อน ซึ่งเมื่อนายห้างชาวเดนมาร์กทราบเรื่องก็รู้สึกไม่พอใจ แต่เจ้าสัวเทียมอธิบายความจำเป็นที่เกิดขึ้นให้นายห้างฟัง ซึ่งด้วยความที่ทำธุรกิจกันด้วยความซื่อสัตย์มาสิบกว่าปี ทำให้นายห้างชาวเดนมาร์กเข้าใจเหตุผลของเจ้าสัวเทียม จนยอมรับข้อเสนอที่ว่า เจ้าสัวเทียมจะทยอยชำระค่าสินค้าจนครบ ทาง “เฮียบฮะ” จึงจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ได้สำเร็จ เมื่อทำธุรกิจได้ระยะหนึ่ง เจ้าสัวเทียมเริ่มมองเห็นว่า สินค้าที่ร้าน “เฮียบฮะ” ทำธุรกิจค้าขายอยู่ มีความผันผวนสูงและบางครั้งก็เสี่ยงที่จะขาดทุน อย่างเช่น น้ำตาล มีราคาขึ้นลงในตลาดที่ทางร้านควบคุมไม่ได้ เจ้าสัวเทียมจึงคิดหาทางออกด้วยการแยกตัวออกมาเปิดร้าน “เฮียบ เซ่ง เซียง” ที่ตรอกอาเนียเก็ง ขึ้นมาในปี พ.ศ.2485 ด้วยทุนตั้งต้น 10,000 บาท นี่คือจุดเริ่มต้นของ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) อาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ... การเรียนรู้ผ่านธุรกิจ ยาสีฟัน และผงซักฟอก ในช่วงแรกของการทำกิจการของร้าน “เฮียบ เซ่ง เชียง” เริ่มต้นจากการขายของเบ็ดเตล็ดที่สั่งซื้อจากฮ่องกง ด้วยความที่เป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ ทำให้การเลือกสินค้า ทำให้ “เฮียบ เซ่ง เชียง” สามารถมองหาสินค้าใหม่ๆ อย่างเช่น เสื้อยืด มานำเสนอลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยการทำงานหนักและการเรียนรู้แนวทางธุรกิจของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ทำให้ “เฮียบ เซ่ง เชียง” ผันตัวเองมาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย จนในที่สุดมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเองตามนโยบายอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าของรัฐบาลในยุคนั้น แม้ว่าช่วงเวลานั้น จะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2484-2485) ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม แต่สายตาของเจ้าสัวเทียมมองว่า ญี่ปุ่นกำลังก่อร่างสร้างธุรกิจในประเทศครั้งใหญ่และการคบค้าสมาคมกับทางฝั่งเอเชียซึ่งมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของตนเองมากกว่า “เฮียบ เซ่ง เชียง” จึงจับมือทำการค้าขายกับญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2495 ร้าน “เฮียบ เซ่ง เซียง” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และได้จับมือกับ บริษัทไลอ้อน ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อเป็นพันธมิตรการค้ากัน ในช่วงเวลาหลังจากนี้ เราจะเห็นสินค้าอุปโภค-บริโภค ของเครือ “สหพัฒน์” ออกมามากมาย ซึ่งสินค้าบางตัวประสบความสำเร็จอย่างสูง สินค้าบางตัวประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงแรกแต่กลับล้มเหลวในเวลาต่อมา และสินค้าหลายตัวก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านี้ ได้ถูกเจ้าสัวเทียมนำมาบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในเครือ “สหพัฒน์” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กรณีทางธุรกิจของ “สหพัฒน์” ที่น่าสนใจทั้ง ก็ได้แก่ กรณีของ ยาสีฟัน และผงซักฟอก เริ่มต้นที่ ยาสีฟัน ทางเจ้าสัวเทียม ได้ชิมลางธุรกิจนี้ด้วยการนำเข้ายาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” ในปี พ.ศ.2509 จากญี่ปุ่น แต่กำแพงที่ท้าทายในธุรกิจนี้มี 2 ประการก็คือ 1.การเป็นเจ้าตลาดโลกของยาสีฟัน “คอลเกต” 2.ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูไม่ค่อยจะดีเพราะถูกมองว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ “สหพัฒน์” ได้แก้จุดอ่อนในเรื่องนี้ด้วยการทำตลาดอย่างคึกโครม มีการนำ “อาภัสรา หงสกุล” ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลมาเป็นพรีเซนเตอร์ จัดให้มีการชิงโชค, แจกของแถม และนำเสนอสินค้าแบบเคาะประตูบ้าน ทั้งยังมีจุดขายที่เหนือคู่แข่งในเชิงปริมาณอย่าง “ราคาถูกกว่า กล่องใหญ่กว่า และน้ำหนักมากกว่า” แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้ในปีแรก ยาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่จุดอ่อนของผลิตภัณฑ์นี้คือรูปลักษณ์ของสินค้าที่ยังเปลี่ยนความคิดผู้บริโภคไม่ได้อยู่ดีว่ายาสีฟันจากญี่ปุ่นดูจะด้อยกว่า และเมื่อมีสงครามการทำโปรโมชั่นในการขายแข่งขัน ค่ายคู่แข่งที่มีสายป่านมากกว่า จึงมีแต้มต่อในการทำธุรกิจในระยะยาว ส่งผลให้ยาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” ต้องหายตัวไปจากตลาดในที่สุด แม้ว่าจะหายตัวไป แต่การเรียนรู้จากข้อด้อยในอดีต ทำให้ “สหพัฒน์” ได้ปรับจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ยาสีฟันของตนที่ไม่สามารถสู้ตลาดระดับวงกว้างกับ “คอลเกต” ได้ แต่ตลาดเฉพาะกลุ่ม “สหพัฒน์” ได้ปั้นแบรนด์ยาสีฟันอย่าง “ซิสเท็มม่า” ให้เป็นที่รู้จักอย่างในทุกวันนี้ได้ คราวนี้มาถึงกรณีของ ผงซักฟอก บ้าง... ในธุรกิจผงซักฟอก คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเรียนรู้ทางธุรกิจที่ชัดเจนมากๆของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา แรกเริ่มเดิมที ทาง “สหพัฒน์” ได้เปิดตัวผงซักฟอกยี่ห้อ “ท้อป” ในปี พ.ศ. 2504 อันเป็นผงซักฟอกจากญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกได้รับความนิยมจนทำให้เจ้าตลาดที่มีอยู่ก่อนอย่างผงซักฟอก “แฟ้บ” และ “บรีส” รู้สึกหนาวๆร้อนๆ ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดของเครือ “สหพัฒน์” ในตอนนั้นยังเป็นเรื่องของการลดราคาผงซักฟอกลง ซึ่งถูกอกถูกใจลูกค้าในระยะแรก แต่จุดอ่อนของผงซักฟอก จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ คือ วัฒนธรรมการซักผ้าที่แตกต่างกัน ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้เครื่องซักผ้าในการซักและคนญี่ปุ่นไม่ค่อยชอบกลิ่นหอมจากผงซักฟอก ทำให้ “ท้อป” มีฟองน้อยและไม่มีกลิ่น ซึ่งขัดกับความนิยมของคนไทยในช่วงนั้น ที่นิยมผงซักฟอกกลิ่นหอมและมีฟองเยอะ เมื่อช่วงโปรโมชั่นทางการตลาดหมด ความจริงนี้จึงปรากฏขึ้นมา ทำให้ “ท้อป” เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยตรงนี้ “สหพัฒน์” ได้นำมาปรับปรุงและส่งผงซักฟอกยี่ห้อใหม่เข้าสู่ตลาด ในเวลาต่อมาผงซักฟอกยี่ห้อกลายเป็นสินค้าขายดีในเครือสหพัฒน์จนถึงทุกวันนี้ ผงซักฟอกยี่ห้อดังกล่าวมีชื่อว่า “เปาบุ้นจิ้น” หรือ “เปา” นั่นเอง ผงซักฟอก “เปาบุ้นจิ้น” คือความพยายามของเจ้าสัวเทียม ที่จะทำให้สินค้าตัวนี้เข้าสู่ตลาดวงกว้างให้จงได้ด้วยวิธีที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการแจกกะละมัง, การโฆษณาทางวิทยุทรานซิสเตอร์ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย, การเคาะประตูแนะนำสินค้าหน้าบ้าน ไปจนถึงการจัดดิสเพลย์โดยนำกล่องผงซักฟอกมาเรียงตกแต่งหน้าร้านอย่างสวยงาม แต่สิ่งที่ทำให้ “เปาบุ้นจิ้น” ประสบความสำเร็จคือการสร้างแบรนด์ให้มีภาพสินค้า “คุณภาพซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม” เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ได้ซื้อภาพยนตร์ชุด “เปาบุ้นจิ้น” มาจากประเทศไต้หวัน เพื่อนำมาฉายเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นกับคนไทย โดยออกอากาศทางช่อง 3 ปรากฏว่า ภาพยนตร์ชุด “เปาบุ้นจิ้น” ได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าสัวเทียม กำลังมองว่า จะหาผงซักฟอกยี่ห้อใหม่มาแทนที่ “ท้อป” ในตลาด คำตอบจึงมาลงตัวที่ ผงซักฟอกยี่ห้อ “เปาบุ้นจิ้น” ที่มีหน้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของท่านเปาบุ้นจิ้นเด่นหราอยู่บนกล่อง ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกแหวกแนวในช่วงนั้น แต่ผลที่ออกมากลับดีเกินคาด หลังจากที่ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ถูกปล่อยออกมาในปี พ.ศ.2519 ด้วยราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่น พร้อมด้วยภาพลักษณ์สินค้าที่ว่า “คุณซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม” จึงทำให้ “เปาบุ้นจิ้น” ประสบความสำเร็จในตลาดผงซักฟอก ชิงส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาที่ไม่นานนัก การเรียนรู้จากการทำตลาดแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนมาถึงคำตอบที่ว่า ต้องสร้างตัวสินค้าให้เข้มแข็งก่อน ทำให้เรารู้จักกับผงซักฟอก “เปาบุ้นจิ้น” หรือผงซักฟอก “เปา” มาจนถึงวันนี้ในที่สุด ... มาม่า...แม่ให้มา แม้ว่าชีวิตของเจ้าสัวเทียมจะไม่ได้สำเร็จรูปแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลวกเส้นเพียงไม่กี่นาทีก็ประสบความสำเร็จได้ แต่การทำงานอย่างหนัก ฝึกฝนเรียนรู้ในชีวิตจริงแล้วมองหาโอกาสเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจของตนอยู่เสมอ ทำให้เจ้าสัวสามารถสร้างสินค้าคู่บุญของ “สหพัฒน์” อย่าง “มาม่า” ขึ้นมาได้ในที่สุด ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” มีส่วนแบ่งทางการตลาดในแต่ละปีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสินค้าที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคชาวไทยอย่างสูง ในระดับที่ว่า หากราคาของ “มาม่า” เพิ่มขึ้นเพียงบาทเดียว ก็สามารถขึ้นเป็นข่าวหน้า 1 ทางหนังสือพิมพ์ได้ทันที จุดกำเนิดของมาม่า เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันได้เปิดขึ้นมาในประเทศไทย โดยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “โคคา”, “ไวไว” และ “ยำยำ” ออกมาก่อนแล้ว แม้ว่า “มาม่า” จะถือกำเนิดตามมาทีหลัง แต่บะหมีกึ่งสำเร็จรูปเจ้านี้กลับเป็นสินค้าที่เข้มแข็งเพราะชื่อของมัน เบื้องหลังของชื่อนี้มาจากคมความคิดของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ที่อยากได้ชื่อง่ายๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงง่ายๆ เจ้าสัวจึงคิดชื่อ “มาม่า” ซึ่งแปลว่า แม่ จนผู้คนเรียกกันจนติดปากในที่สุด ชื่อ “มาม่า” จึงกลายเป็นชื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับคนทั่วไป และเข้าถึงได้ง่าย บวกกับกลยุทธทางการตลาดในการนำ “มาม่า” ไปให้ผู้คนในวงกว้างเป็นที่รู้จัก ด้วยการเปิดบูทให้ชิมมาม่าฟรีซึ่งเป็นของใหม่มากในยุคนั้น อีกทั้งการชูภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถทำทานเองได้สะดวกเพื่อแข่งกับร้านบะหมี่เกี๊ยวข้างถนน ทำให้ “มาม่า” กลายเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการในเครือ “สหพัฒนพิบูล” มาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นบทพิสูจน์การทำงานหนักและการเรียนอยู่ตลอดชีวิตของเศรษฐีไทยระดับตำนานที่มีชื่อว่า “เทียม โชควัฒนา” ภาพประกอบ : กฤติเดช อัครบุตร