เกลาเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีหญิงรักหญิงคนแรกของกรุงโบโกตา

เกลาเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีหญิงรักหญิงคนแรกของกรุงโบโกตา

เกลาเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีหญิงรักหญิงคนแรกของกรุงโบโกตา

ปี 2019 หลายประเทศในอเมริกาใต้ต้องเผชิญวิกฤตและความวุ่นวายหลายอย่าง ทั้งไฟป่าในเขตแอมะซอนที่ลุกลามกินพื้นที่เป็นวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้ชนพื้นเมืองในเขตป่าผืนใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก การประท้วงในเอกวาดอร์ กระแสการต่อต้านเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในชิลีของกลุ่มคนหนุ่มสาว  หรือจะเกมการเมืองที่ยอมกันไม่ลงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโบลิเวีย ไหนจะกระแสต้านผู้อพยพชาวเวเนซูเอลาที่ต่างก็เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหนีปัญหาเศรษฐกิจและการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค จนเริ่มมีเสียงบ่นและต่อต้านกระแสการหลั่งไหลเข้าไปหางานทำของชาวเวเนฯ อย่างที่เปรู และเกาะแฝดอย่างตรินิแดดและโตเบโก  ท่ามกลางเรื่องร้าย ๆ ของความขัดแย้งในภูมิภาคลาตินอเมริกา อย่างน้อยช่วงปลายเดือนตุลาคม ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งจากประเทศโคลอมเบีย ก็ได้รับการเผยแพร่ออกไปตามสื่อแขนงต่าง ๆ ทั่วโลก เธอคนนี้มีชื่อว่า เกลาเดีย โลเปซ (Claudia Lopez) ผู้คว้าชัยจากการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย จนได้ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงโบโกตาที่มาจากการเลือกตั้ง และยังเป็นนายกเทศมนตรีผู้รักเพศเดียวกันคนแรกของกรุงโบโกตาอีกด้วย “เราไม่ได้แค่ชนะอย่างเดียว แต่เรากำลังเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ด้วย” เกลาเดีย ระบุไว้ในทวิตเตอร์ ผู้หญิงคนนี้มาจากครอบครัวสามัญชนคนเดินดิน แต่ใจสัตย์ซื่อและไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจมืดจากการคอร์รัปชัน เกลาเดีย นายิเบ โลเปซ เอร์นันเดซ คือชื่อเต็มของเธอตามวัฒนธรรมการตั้งชื่อในภาษาสเปน ที่ในเอกสารซึ่งใช้แสดงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็น บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง เจ้าตัวก็จะมีทั้งชื่อต้น ชื่อกลาง สกุลของฝ่ายพ่อและสกุลของฝ่ายแม่ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมฮิสแปนิกอย่างโคลอมเบีย หรือในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อย่างน้อยระบบการตั้งชื่อก็ก่อให้เกิดลักษณะทางสังคมที่เอื้อให้ผู้ชายและผู้หญิงมีความสำคัญเท่ากันในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ด้วยการให้เกียรติทั้งตระกูลฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่เช่นนี้ ทำให้บุตรไม่จำต้องทิ้งอัตลักษณ์ของฝ่ายแม่ไว้ข้างหลัง เกลาเดีย เกิดในปี 1970 มีแม่เป็นครูโรงเรียนประถม ส่วนพ่อเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เติบโตขึ้นในย่านที่เรียกได้ว่าเป็นย่านคนจนของเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ก็ไม่เคยให้สภาพแวดล้อมมาจำกัดความฝัน ลูกสาวคนโตของครอบครัวอย่างเธอจึงตั้งใจเรียนและสำเร็จการศึกษามาได้ด้วยทุนการศึกษาและการกู้ยืมเงินมาเล่าเรียน โดยมีวุฒิการศึกษาทั้งในระดับปริญญาโท สาขาการจัดการบริหารสาธารณะและนโยบายผังเมือง จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ของมลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย นอร์ท เวสเติร์นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน หลังจากประสบความสำเร็จในอาชีพสายนักวิจัยและสื่อมวลชน ที่ในบทบาทหลังเธอวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง เกลาเดียก็เลือกเดินบนเส้นทางสายการเมือง เธอเป็นสมาชิกพรรค Green Alliance และเคยลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2018 และวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม ปี 2019 ชีวิตของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงโบโกตา ด้วยคะแนนเสียง 35.2% เฉือนชนะคู่แข่งจากพรรคเสรีนิยมที่ได้คะแนนเสียง 32.5% ที่มาความสนใจด้านการเมืองของเกลาเดีย ต้องย้อนไปเมื่อราว 30 กว่าปีก่อน ขณะนั้นเธออายุ 18 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ยุคที่สังคมมีแต่การนองเลือดเนื่องจากเต็มไปด้วยความรุนแรงจากการค้ายาเสพติดในประเทศ เกลาเดียเผยในการให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า “ในปี 1990 ฉันออกจากบ้านไปลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิต และคนที่ฉันหมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือกสามคนก็โดนสังหารตายหมด ไม่ว่าจะเป็นหลุยส์ การ์โลส กาลัน, การ์โลส ปิซาโร และเบร์นาร์โด ฆารามิโย” นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้เกลาเดียตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ชื่อ “La Séptima Papeleta” ซึ่งเป็นการริเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดานักศึกษาที่ต้องการผลักดันให้เกิดกลุ่มสมัชชาแห่งชาติ ที่ต่อมาเกิดขึ้นจริงในที่สุดตามการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 1991 เกลาเดียร่วมกับกลุ่มก้อนทางการเมืองของเธอต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันในโคลอมเบียเรื่อยมา จนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำและสร้างชื่อให้เธอได้ นี่ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เกลาเดียชนะการเลือกตั้งที่เป็นสนามสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นรองก็แค่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น แม้ว่ากรุงโบโกตาจะเคยมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้หญิงมาแล้ว แต่พวกเธอเหล่านั้นก็มาจากการแต่งตั้งเฉพาะกิจ หาใช่มาจากการเลือกตั้งไม่ เกลาเดียคือผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของกรุงโบโกตา ที่ชาวเมืองหลวงแห่งนี้กว่าล้านคนหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกมาเองกับมือ ซึ่งคำมั่นสัญญาที่เธอได้ให้ไว้ในระหว่างที่หาเสียงก็คือ การยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพสินของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง พัฒนาการคมนาคมและการสัญจรไปมาในตัวเมือง โดยจะลงทุนกับสาธารณูปโภคอย่างรถระบบรางภายในพื้นที่เมือง รวมถึงทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่เข้าถึงสำหรับทุกกลุ่มคนในทุกชนชั้น โดยไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมการศึกษา ทว่าเน้นให้มีคุณภาพและผสมผสานกับวัฒนธรรมของเมืองอย่างลงตัว  ประเด็นหนึ่งที่สื่อต่างก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเกลาเดียก็คือเพศวิถีของเธอ เกลาเดียไม่เคยปิดบังว่าตัวเองเป็นหญิงรักหญิงหรือที่เรียกว่าเลสเบียน ถึงแม้ว่าประเด็นเพศวิถีจะเป็นอะไรที่หวือหวาและเป็นประเด็นที่สื่อหยิบมาเล่นข่าวได้ แต่หากมองให้ไกลกว่านั้น นี่หมายความว่าปัจจุบันพื้นที่ทางการเมืองของโคลอมเบียกำลังเปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกชนชั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน หากศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองร่วมสมัยของโคลอมเบีย เราจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่โคลอมเบียทำได้ดีมาโดยตลอดคือ การทำให้ประเทศมีพื้นฐานประชาธิปไตยที่แข็งแรง และนักการเมืองทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันเรื่องการสร้างบรรยากาศให้ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาแห่งนี้มีสันติภาพให้ได้มากที่สุด เห็นได้จากความพยายามของรัฐบาลโคลอมเบียแต่ละสมัย ที่ต้องการให้มีการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้ในรูปแบบกองโจรอย่างกลุ่ม FARC ตลอดมา และการผลักดันนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือเรียกได้ว่าทุกคนมีสิทธิและเสียงในฐานะพลเมืองของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน (Inclusive Society) ประเด็นดังกล่าวล้วนได้รับการถ่ายทอดสู่ผู้คนในสังคมวงกว้าง รวมถึงแวดวงนางงาม เพราะในช่วงหลายปีมานี้ นางงามโคลอมเบียก็เข้าใจวาระทางการเมืองเหล่านี้เป็นอย่างดี และตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองบนเวทีได้อย่างฉะฉาน ในการกล่าวสุนทรพจน์ฉลองชัยชนะครั้งนี้ ถ้อยแถลงของเกลาเดียเปี่ยมไปด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและทรงพลัง เธอกล่าวต่อหน้าธารกำนัลว่า  “ชาวโบโกตาได้ออกมาลงคะแนนเสียงใช่เพราะว่าเพื่อจะทำให้เมืองเปลี่ยนไปในอีกสี่ปีข้างหน้าเพียงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนรุ่นนี้ได้มีส่วนร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิม เราต่างก็ออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อให้ระบบการศึกษามีคุณภาพขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในสังคม เราออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อต่อสู้และจัดการเอาชนะอำนาจชายเป็นใหญ่ การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดชนชั้น การเกลียดกลัวผู้ที่รักเพศเดียวกันและคนต่างชาติให้จงได้”