14 ก.ย. 2567 | 11:30 น.
“หมอลำคือของดีคนอีสาน”
ประโยคสำคัญของ ‘เฮียหน่อย’ สุชาติ อินทร์พรหม หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมอลำคณะ ‘อีสานนครศิลป์’ ที่เลือกทำฉากด้วยสีสันสดใส สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างประเทศ เล่นใหญ่เนรมิตเวทีหมอลำให้ไม่ต่างจากเวทีคอนเสิร์ต ทั้งยังสร้างหมอลำอีกคณะ ‘สาวน้อยลำเพลินโชว์’ ในปี 2567
นอกจากนี้เขายังเป็นผู้จัดรายการ ‘หมอลำไอดอล’ รายการที่เปิดรับคนรุ่นใหม่ที่หลงรักในหมอลำ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เขาคือหนึ่งในผู้ผลักดันหมอลำให้ออกนอกกรอบ ปลุกชีวิตของหมอลำให้ทันคนรุ่นใหม่ และเข้าถึงใจคนทุกภาค ทุกเพศ และทุกวัย
ถึงจะไม่ใช่คนอีสานตั้งแต่กำเนิด แต่เขาก็ยืนยันว่า หมอลำไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง แต่คือศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน และสังคม
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของเฮียหน่อยไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้นมาเพียงลำพัง แต่เป็นการร่วมมือกันจากหลายฝ่ายในการพาหมอลำไปสู่เวทีระดับนานาชาติ เป็นสะพานเชื่อมศิลปะดั้งเดิมจากแดนอีสานกับวัฒนธรรมโลก
ทำให้วันนี้ หมอลำไม่ได้ถูกจำกัดวงเพียงความบันเทิงของคนอีสานเท่านั้น แต่กลายเป็น Soft Power ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทุกคน และทำให้เห็นว่า ศิลปะไทยสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
ต่อจากนี้ คือ บทสนทนาของ ‘เฮียหน่อย’ ชายผู้พลิกโฉม และปลุกชีวิตใหม่ให้กับหมอลำอีสานบนเวทีโลก
เอ้า เว้าแล้วกะไป
แม้เฮียหน่อยจะไม่ใช่คนอีสานแต่กำเนิด ทว่าหลงรักในความเป็นอีสาน โดยเฉพาะ ‘หมอลำ’ ที่เสมือนเป็นตัวแทนความคิดถึงบ้าน ความสุข ความสนุก สร้างคน และสร้างงาน
จังหวะที่ทำให้เฮียหน่อยรักหมอลำ มาจาก 4 ปีก่อน เขารู้จักกับหมอลำจากงานแสดงของ นกน้อย อุไรพร ทั้งแสง-สี โปรดักชันสุดตระการตา และชุดแสนอลังการ ที่ขับกล่อมคนดูตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนถึง 6 โมงเช้า ทำให้เขาค้นพบว่า หมอลำนี่แหละเป็นศูนย์รวมความบันเทิงอย่างแท้จริง
“หมอลำเอาทุกอย่างที่เราชอบมารวมอยู่บนเวทีทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นโชว์วัฒนธรรม โชว์ดนตรี มีตลก มีลำเรื่อง เหมือนกับมิวสิคัลของคนภาคกลาง ที่เขาเอามาแสดงแล้ว จะทำเรื่องเป็นภาษาอีสาน ดูแล้วมันก็ได้คติสอนใจ เลยทำให้เราตกหลุมรักหมอลำ ตั้งแต่วันนั้น”
ด้วยความที่อยากจะพาหมอลำไปยืนสง่าบนเวทีโลก เฮียหน่อยก็เลือกที่จะปรุงหมอลำอีสานเป็นหมอลำสากล ที่ไม่ว่าคนภาคไหน ชาติไหนก็สามารถเข้าถึงได้ ผ่านวงหมอลำที่ชื่อว่า ‘อีสานนครศิลป์’
แม้แรก ๆ จะมีการตั้งคำถามอยู่บ้าง แต่เฮียหน่อย เลือกเดินหน้าไม่ถอย เพื่อประกาศให้โลกรู้จัก ‘หมอลำ’
“ปีแรกที่ผมทำวงก็ใช้คอนเซปต์ กรุงโรม ใช้ท้องพระโรงของอังกฤษเพื่อที่จะบอกทุกคนว่า หมอลำ คือ ส้มตำจานหนึ่ง แต่ผมอยากจะเสิร์ฟส้มตำจานนี้บนโต๊ะดินเนอร์ของฝรั่ง”
ตอนแรกก็กลัว เพราะมีกระแสว่า มันผ่าเหล่าผ่ากอนะ หมอลำมันไม่ใช่แบบนี้ แต่เราก็มีความหนักแน่นพอ เพราะเราอยากรู้ อย่างน้อยถ้ามัน fail ก็ยังได้ลองทำ และได้คำตอบว่ามันควรหรือไม่ควร
“กลับกัน เฮียรู้สึกว่าถ้าไม่ได้ลอง ก็จะไม่รู้เลยว่า การคิดนอกกรอบมันจะ success กับระบบนี้ไหม”
คณะหมอลำประกอบด้วยหลายคนที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักดนตรี นักทำฉาก แดนเซอร์ และอีกหลายๆ ตำแหน่งที่สำคัญ เพื่อสร้างการแสดงที่สนุก จับใจผู้ชม
นี่จึงบอกได้ว่า หมอลำสร้างคนและสร้างงาน ตามที่เฮียหน่อยบอกจริง ๆ
“ผมรู้สึกว่าหมอลำดีด้วยตัวเอง ดีอย่างไร ก็คือกลุ่มคนที่เป็นคนอีสานเองที่อยู่ในวงหมอลำ ไม่ว่าจะเป็นแดนเซอร์ คอนวอย หรือศิลปินเอง หรือนักดนตรีเขาได้งานที่มั่นคง เพราะวงหมอลำหนึ่ง จะมีกลุ่มคนที่ต้องมาเกี่ยวข้องในการทำงานอย่างน้อย 200 ชีวิต หมายความว่า 200 ชีวิตจะมีอาชีพที่ยั่งยืนในหนึ่งฤดูกาลที่วงออกงาน”
มากกว่านั้น หมอลำยังเป็นตัวแทนของ ‘บ้าน’ ของชาวอีสานที่ต้องไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง แค่เสียงพิณ เสียงแคนก็สามารถปลอบโยนหัวใจ และสร้างความสุขได้อย่างน่าประหลาด
“ความสุขจากการที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือปัญหาชีวิตที่เจอมา เพียงแค่เขามาหน้าฮ้านซัก 3 ชั่วโมง หรือสักช่วงเวลาหนึ่ง เขาก็จะมีความสุข มีความม่วนให้ผ่อนคลาย และที่สำคัญคือ กับคนที่ไกลบ้านไม่ว่าจะเป็นหน้าฮ้านจริงๆ หรือดูออนไลน์ ผมจะเห็นคอมเมนต์บอกว่า ขอบคุณนะครับ ที่มาทำให้พวกผม หรือทำให้พวกหนูหายคิดถึงบ้าน
“พอได้ยินเสียงพิณ เสียงแคนแล้ว หรือแม้แต่คนในกรุงเทพฯ เนาะ พอได้ยิน หรือพอมาดูแล้วเนี่ย ทำให้เขาคิดถึงสมัยเป็นเด็ก สมัยพ่อเขาเอาเขาขี่คอมาดูหมอลำ สมัยที่ยายเอาเขานั่งตะกร้าแล้วหาบมานั่งดูหมอลำ ปูสาด (ปูเสื่อ) มันทำให้เขานึกย้อนไปถึงความอบอุ่นสมัยตอนเขาเป็นเด็ก”
ที่สำคัญ การพาหมอลำไปเยือนหลาย ๆ เมืองทั่วโลก นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ระหว่างหมอลำกับคนต่างชาติได้ง่ายขึ้น เหมือนที่หลายครั้ง เราเจออาหารไทยประจำหัวเมืองทั่วโลก
“อีสานมี 20 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันชัดเจน และมีงานบุญทุกเดือน มีครบ 12 เดือน เราสามารถหยิบจับประเพณีทุกอย่างมานำเสนอเพื่อให้คนทั้งประเทศรู้จักอีสานได้ทุกซอกทุกมุมบนเวทีหมอลำ
“เพราะทุก ๆ ครั้งที่ทำการแสดงหรือดีไซน์การแแสดง เราจะต้องมีกฎเหล็กว่าจะต้องมีโชว์วัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนได้รู้จักอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการกิน ประเพณีแห่เทียน ประเพณีใด ๆ ของ 20 จังหวัดเพื่อให้คนต่างชาติเราได้รู้จักอีสานเพิ่มขึ้น”
ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ข้อจำกัดของหมอลำที่เฮียหน่อยมองเห็น คือ เสียงที่อาจไปรบกวนคนอื่น
ข้อเสนอของเขา ก็คือ เสนอให้รัฐบาลจัด Zoning คล้ายกับการจัดพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม แต่ละพื้นที่ใช้เสียงดังได้มากแค่ไหน เพื่อหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างความบันเทิงและชีวิตของผู้คน
“เหมือนโรงงานอุตสาหกรรม เวลาเขาบอกว่า อันนี้เป็นโรงงานหนักต้องอยู่เขตสีแดงนะ อันนี้อยู่ในเขตสีเหลืองนะ เอาโมเดลนี้มาใช้กับหมอลำได้เลย เช่น โซนนี้เล่นซอดแจ้ง (เล่นข้ามคืน) ได้ โซนนี้เสียงดังได้แค่ไหน ผู้ใหญ่กำหนดมา เราก็ทำงานตาม จะได้อยู่กันอย่างยั่งยืนโดยไม่มีการร้องเรียน”
“ถามว่าเรารอให้คนมาดูแลหรือซัพพอร์ตนไหม เราพร้อมที่จะดูแลตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่คุณใช้อำนาจที่คุณมี ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกอย่างมันไปด้วยกันได้ในสังคม คือการแสดงของเราไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อนแล้วมันจะชูความเป็นไทยของเราให้ชัดเจนมากขึ้น”
ทุกวันนี้ หมอลำอาจเป็นศิลปะการแสดงที่คนรุ่นใหม่รู้จัก ถูกนำมาใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง นับเป็นโอกาสที่จะทำให้หมอลำเติบโต และเป็นตัวแทนพลังวัฒนธรรมไทยบนเวทีโลกได้
จุดแข็งสำคัญ คือ หมอลำเป็นศาสตร์ และศิลป์ ที่ใครก็ยากจะเลียนแบบได้ ทั้งยังประยุกต์กับวัฒนธรรมภาคอื่นไปพร้อม ๆ กับการเป็นความหวังด้านวัฒนธรรมที่จะดึงนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ
“หมอลำไม่ใช่แค่เรื่องความสนุกหรือมึนเมาอย่างเดียว มันมีวัฒนธรรมที่เราสามารถใช้ความบันเทิงเนี่ยนำทางก่อนแล้วสอดแทรกได้ เช่น หมอลำขึ้นเล่น 21.00 น. ช่วง 16.00-17.00 น. คุณออกร้าน OTOP คุณทำขบวนแห่ วัฒนธรรมแห่เทียน แห่ผีตาโขน แห่บั้งไฟ
“คุณสามารถเอาวัฒนธรรม 4 ภาคมาผสม มาประยุกต์ใช้กับหมอลำ และส่งเสริมให้คนต่างชาติได้เห็น แล้วเวลาคนต่างชาติชอบอะไร เขาจะศึกษาลึกจนถึงจุดที่เอานวัตกรรมจากเมือง และประเทศเขามาใส่ในระบบ เอาวัฒนธรรมเราไปพูดต่อ ทำให้เราเก็บไว้ศึกษาต่อได้ยันรุ่นลูกหลานได้”
ถ้าจะถามว่าเสน่ห์ของหมอลำอยู่ตรงไหน ก็ต้องตอบว่าอยู่ตรงคนอีสานนั่นแหละ
เฮียหน่อยยืนยันว่า “คนอีสาน คือ Soft Power”
เนื่องจากคนอีสาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาจะพกความเป็นอีสานบ้านเฮาไปด้วยทุกที่ ผ่านอาหารการกิน รวมถึงดนตรีหมอลำ
“คนอีสานไปอยู่ไหน ก็คือ make friend สร้างเพื่อนอยู่แล้ว เขามีเพื่อนเป็นคนต่างชาติ ก็จะชวนมากินของอร่อยที่เขาทำ ฟังเพลงที่เขาชอบ
“เขาจะเอาวัฒนธรรมของความเป็นอีสานไปเผยแพร่โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน น้ำตก ลาบ ก้อยใด ๆ คุณจะเห็นส้มตำกระจายไปทั่วทุกประเทศทั่วโลก แล้วการฟังเพลง เขาจะเปิดผับเล็ก ๆ ของตัวเอง ก็จะเปิดแต่หมอลำ พอได้ฟังบ่อย ๆ ได้ชิม ได้กินบ่อย ๆ มันจะถูกรักไปโดยไม่รู้ตัว”
การคลุกคลีอยู่วงหมอลำมาทั้งชีวิต และภาคภูมิใจกับดนตรีแนวอีสาน แต่เมื่อยืนอยู่บนเวที สำหรับบางคน หมอลำอาจเป็นเพียงรูปแบบเพลงเฉพาะกลุ่ม อาจเป็นเพราะเรามักเห็นหมอลำจัดแสดงอยู่ในภาคอีสานเสมอ ๆ
จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพูดถึงหมอลำแล้ว คนอีสานจะเขิน ๆ พูดได้ไม่เต็มปากว่า เขาภูมิใจ
“หมอลำ คือ วัฒนธรรมและของดีของคนอีสาน แต่สมัยก่อนมันอาจจะยังไม่รู้สึกภูมิใจ ยังพูดไม่เต็มที่ ยังพูดไม่เต็มปาก แล้วเสียงมันดังพอที่จะบอกว่าฉันภูมิใจจังเลยที่ฟังหมอลำ ฉันภูมิใจจังเลยที่ฉันเป็นหมอลำ” เฮียหน่อยขยายความ
“ในช่วงเทศกาล งานใหญ่ๆ ไปอยู่ต่างภาค มันไม่เคยมีงานไหนที่สามารถเอาหมอลำวงใหญ่ๆ หรือที่มันดีจริงๆ ออกไปแสดงได้อย่างสม่ำเสมอสักที เพราะว่าอีสานถูกจองเต็มหมด เพราะฉะนั้นจะได้ดูก็คือต้องมาดูที่อีสาน เฮียเลยทำรายการหมอลำไอดอลให้ภาพหมอลำมันเทียบเท่าเพลงป็อบเองเพลงแจ๊สที่ทุกคนกำลังชื่นชม พอเกิดความภูมิใจมันจะส่งออกง่าย
“วันที่คนทั้งประเทศยังพูดคำว่าหมอลำด้วยความภูมิใจไม่ได้ฉันใด มันก็ไม่สามารถที่จะไปทำให้คนต่างชาติเขาภูมิใจหรืออยากจะซื้อเราได้ฉันนั้น”
แต่ถึงอย่างนั้น หมอลำก็ยังเป็นศิลปะการแสดงที่เฮียหน่อยย้ำว่า ‘คุ้มค่าที่จะลงทุน’
“หมอลำมีครบรส มีทั้งวัฒนธรรม วาไรตี้ คอนเสิร์ต มิวสิคัล คือ คุณอยู่ได้ทั้งวัน และได้ทุกกลุ่มคน ทั้งเด็ก วัยรุ่น คนเฒ่าคนแก่ ดูได้หมดหมายความว่าถ้าวันนี้มีกิจกรรมแบบนี้ทั่วประเทศ ครอบครัวทั้งครอบครัวสามารถไปดูกันได้หมดเลย”
เมื่อรู้ปัญหา เข้าใจ painpoint เฮียหน่อยก็ลงมือทำ พาหมอลำเดินทางเข้ากลางหัวใจคนรุ่นใหม่ เพื่อหาคนสืบสาน ไม่ให้หมอลำหายไปจากความเป็นไทย
แก่นของ ‘อีสานนครศิลป์’ คณะหมอลำที่เฮียหน่อยสร้างขึ้น คือ หมอลำมิติใหม่ของคนรุ่นใหม่
ไม่ต้องถึงกับรัก ไม่ต้องถึงกับชอบ แต่อยากให้เปิดใจมาดูหมอลำที่เฮียหน่อยบอกว่าต้องอัดแน่นด้วยคุณภาพ เพื่อให้เกิดการบอกต่อ เป็นกระบอกเสียงที่จะบอกว่าอีสานเรามีหมอลำ และประเทศไทยเองก็มีหมอลำที่ไม่เหมือนเดิม
และเพื่อแก้ปัญหาการพูดว่าภูมิใจได้ไม่เต็มปาก เฮียหน่อยจึงเริ่มรายการ ‘หมอลำไอดอล’ ที่จะเป็นตราประทับว่า หมอลำ คือ ของดีของคนอีสานจริง ๆ
“ผมรู้สึกว่าคนอีสานหรือทีมงานในหมอลำยังไม่รู้สึกภูมิใจเต็มร้อยกับความเป็นหมอลำของเขา เพราะฉะนั้นการภูมิใจมันไม่สามารถใช้แค่คำพูดได้ มันต้องใช้ตราประทับ”
หมอลำไอดอลซีซันแรกจึงเกิดขึ้นด้วยคอนเซปต์รายการที่จะมองหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ของอีสานที่รักในเพลงหมอลำ และอยากแสดงความสามารถของตัวเองให้โลกได้เห็น โดยหมอลำไอดอลออกอากาศผ่านทางช่อง workpoint ด้วยแรงผลักดันจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น (CEA) ที่มีเป้าหมายเพื่อพื่อสนับสนุนส่งเสริมนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมหมอลำ
“จุดประสงค์ที่ต้องการ คือ หมอลำฟิวชัน ก็เหมือนอาหารอีสาน หมอลำคือ ส้มตำ หมอลำแท้ๆ คือ ตำแบบถึงพริกถึงขิง ถูกปากคนอีสานทุกคน แต่ภาคอื่นอาจจะบอกว่าเผ็ดไป เค็มไป เราก็เอามาปรับให้มันฟิวชั่น รสชาติเข้าถึงได้ พอชิมแล้วชอบ เขาจะศึกษาต่อครับว่ามันเรียกส้มตำนะ มันเรียกหมอลำนะ มันก็จะเข้าถึงโดยที่เราไม่ต้องไปบังคับขู่เข็ญ
“เหมือนที่เราไปอยากศึกษาว่ากิมจิ มันดองยังไง หมักกี่ปี ฝึกพูดภาษาเกาหลี ฝึกร้องเกาหลี เฉกเช่นเดียวกัน คนภาคอื่นก็จะอยากฝึกพูดภาษาอีสาน อยากจะร้องหมอลำดู”
เฮียหน่อยบอกว่า เพียงแค่หมอลำอย่างเดียวคงจะไปแสดงต่างประเทศไม่ได้ หากขาดแรงสนับสนุน โดยลมใต้ปีกที่สำคัญ ก็คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น (CEA)
“จะให้ตัวหมอลำเองทำด้วยตัวเองคนเดียว มันเป็นไปได้ยาก เพราะมันเป็นเรื่องของระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการประสานงานการ เรื่องเอกสารหรือสถานทูตหรือการไปต่างประเทศแต่ละครั้ง วีซ่าหรือค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมหาศาลมาก
“พอมี CEA เข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ มันทำให้การทำงานของหมอลำที่จะไปต่างประเทศคล่องตัว และง่ายขึ้น สุดท้ายพอเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ มันจะยิ่งเป็นเรื่องที่เคยชิน และทำให้สามารถไปได้ทั่วโลกได้”
นอกจากนี้ ‘เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567’ ที่เพิ่งจัดไประหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2567 - 7 กรกฎาคม 2567 จัดโดย CEA ขอนแก่น ซึ่งงานนี้เฮียหน่อยก็ร่วมจัดออดิชันรายการหมอลำไอดอล เปิดพื้นที่ให้คนมาปล่อยของ และได้โอกาสเข้าร่วมรายการหมอลำไอดอลซีซันสอง โดยไม่ต้องเดินทางไปออดิชันที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากกว่าและตัดโอกาสคนที่มีศักยภาพหลายๆคนที่ไม่สามารถไปร่วมออดิชันที่กรุงเทพฯได้
“ธรรมชาติของหมอลำ ถ้าจะเป็นหมอลำต้องอยู่กับวงหมอลำจะไปไหนไม่ได้ เพราะคุณมีงานแสดงทั้งปี แต่ผมเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ทุกคน แต่เขามีศักยภาพมาก มันไม่มีพื้นที่เขาได้แสดงศักยภาพ
“เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดตรงนี้ขึ้นมาให้น้อง ๆ ที่รักหมอลำ แต่ว่าไม่สามารถไปกับหมอลำได้มีพื้นที่ในการที่จะได้ปล่อยของ ทำให้ทุกคนเห็นว่าถึงเขาไม่ได้ไปวงหมอลำ เขาก็รักหมอลำ และก็อยากจะสืบสานหมอลำของเขาในในรูปแบบที่เขาสามารถทำได้”
เสียงดนตรีสำเนียงอีสาน โปรดักชันตระการตา ชุดที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้หมอลำแพรวพราวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ในฐานะคนกรุงที่เข้ามาแดนอีสาน สิ่งที่เฮียหน่อยเห็น คือ คนอีสานมักม่วน สามารถหาความสนุก และความสุขได้จากเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน
และหน้าที่ของหมอลำ คือ องค์ประกอบที่ทำให้ชีวิตของเขาดูมีชีวิตชีวา มีแรงสู้กับชีวิตแต่ละวัน
“ผมคงไม่สามารถตอบแทนคนอีสานได้ แต่ผมรู้สึกว่า คนอีสานเขามีความสุขกับทุกสิ่งที่เขามี ก็คือ มักม่วน มักความสุข แม้แต่เพลงอกหักเขายังเต้นได้เลยครับ เขาสามารถที่จะมีความสุขกับทุก ๆ โมเมนต์”
และอาจบอกได้ว่าหมอลำ คือ ของดีของคนอีสานที่อยู่เคียงข้างชีวิตของพวกเขาในทุกย่างก้าวของชีวิต ไม่ว่าจะสุข ทุกข์ เสียใจ หรือร้องไห้ก็ตาม
“หมอลำนี่แหละ คือสิ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้กับทุกสถานการณ์ของคนอีสาน”