พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

สัมภาษณ์ ‘คุณต้อม-พงศ์สิริ เหตระกูล’ มิวสิคโปรโมเตอร์และผู้จัดเทศกาลดนตรี ร่วมกับ ‘คุณซัน’ จากวง ‘SUN DER’ นักดนตรีสายเลือดอีสานจากกาฬสินธุ์ที่มุ่งตีแผ่เนื้อแท้ของดนตรีอีสานสู่โลกทั้งใบ ถึงศักยภาพของดนตรีอีสานบนเวทีโลก

โลกในยุคที่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) หรือคลื่นพลังที่เกิดจากวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเป้าหมายที่นานาประเทศต่างก็พากันมุ่งเป้าพัฒนา การหยิบยกเอาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาขัดเกลา ผสมผสาน และส่งออก จึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กับการพัฒนาในมิติอื่น ๆ 

คุณค่าและความสำเร็จจากซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกสะท้อนผ่านตัวอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา มังงะจากญี่ปุ่น หรือแม้แต่ K-Pop จากเกาหลีใต้ ที่ได้ชี้ให้เราเห็นว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมนั้น ถือเป็นม้ามืดแห่งการพัฒนา ที่ไม่เพียงแต่จะนำพาโอกาสมาสู่ประเทศนั้น ๆ แต่ยังเป็นการหยิบเอาคุณค่าภายในมาสร้างให้เป็นจุดแข็งของตัวเอง

เมื่อกล่าวถึงซอฟต์พาวเวอร์ในกรณีของประเทศไทย ก็คงจะหนีไม่พ้นอาหาร วัฒนธรรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่นานาชาติก็น่าจะนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ ทว่าหากสืบลึกลงไปแล้ว ไทยเรายังมีขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมอีกมากมายที่สามารถหยิบมาพัฒนาให้กลายเป็นพลังได้อย่างน่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือ ‘ดนตรี

ท่ามกลางความหลากหลายและน่าสนใจของดนตรีในประเทศไทยดนตรีจาก ‘ภาคอีสาน’ ก็ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งยังเป็นที่นิยมกับผู้คนมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการที่ดนตรีอีสานถูกนำเอาไปผสมผสานกับดนตรีแขนงอื่น ๆ จนเกิดเป็นรสชาติใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนใครมากไปกว่าเดิม

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ

ดนตรีอีสานจะสามารถไปไกลกว่านี้ได้ไหม?

เพื่อที่จะระดมสมองไขข้อข้องใจนี้ The People ได้สัมภาษณ์กับผู้คนที่ได้คลุกคลีอยู่กับแวดวงดนตรีที่พอจะฉายภาพให้เราเห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจได้ เริ่มต้นจาก ‘คุณต้อม-พงศ์สิริ เหตระกูล’ มิวสิคโปรโมเตอร์และผู้จัดเทศกาลดนตรีที่ได้เห็นความเป็นไปของดนตรีจากต่างประเทศรวมถึงศักยภาพของดนตรีในประเทศไทย ก่อนจะต่อด้วย ‘คุณซัน’ จากวง ‘SUN DER’ นักดนตรีสายเลือดอีสานจากกาฬสินธุ์ที่มุ่งตีแผ่เนื้อแท้ของดนตรีอีสานสู่โลกทั้งใบ นอกจากนั้นเขาก็ยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ไปบรรเลงบทเพลงของตน ณ ต่างแดนจากการสนับสนุนของ ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น’ (CEA) 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่บทความนี้

ศักยภาพของดนตรีไทยและตลาดที่รออยู่

ผมว่ายังมีวงไทยอีกหลายวงที่ตลาดของพวกเขาไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทย

แต่ยังสามารถไปไกลได้ถึงต่างประเทศด้วย

ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี Siam Music Fest, Bangkok Music City ซึ่งจัดร่วมกับ Live Nation Tero และ Fungjai, หรืองานศิลปกรรมไฟอย่าง Awakening Bangkok Lighting Festival ก็ล้วนเป็นผลงานจากผู้จัดอย่าง ‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ หรือ ‘ต้อม’ ผู้จัดงานดนตรีในประเทศไทย ทว่าบทบาทของเขาอาจไม่ใช่การพาวงดนตรีต่าง ๆ ไปบรรเลงให้ผู้ฟังเท่านั้น แต่หน้าที่ของเขาที่สำคัญไปกว่านั้นเขาคือผู้เป็นสะพานเชื่อมให้ศิลปินได้พบปะกับ ‘ผู้ซื้อ’ มากมาย ที่อาจนำไปสู่การได้ร่วมงานกันระหว่างศิลปินกับผู้ซื้อเหล่านั้น และนำไปสู่การได้บรรเลงเพลงของพวกเขา ณ ต่างประเทศ 

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

ภาพ : เพจ Isan Creative Festival

 

ตัวเขาเองมองว่างานอีเวนต์แบบนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการทำให้วงดนตรีได้เติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะแม้ว่าวงดนตรีเหล่านั้นจะมีฐานผู้ติดตามในประเทศมากหรือน้อยเพียงไหน หรือแม้ว่าแทบจะไม่มีฐานในประเทศเลยก็ตาม การขยายความเป็นไปได้ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ก็ล้วนเป็นการไขว่คว้าความเป็นไปได้ในการเจาะกลุ่มตลาดที่มากขึ้น 

กรณีศึกษาของตัวอย่างนี้ก็น่าจะสามารถสะท้อนผ่านวงอย่าง ‘The Paradise Bangkok Molam International Band’ วงหมอลำสไตล์สากลที่พงศ์สิริได้ไปเป็นมือเพอร์คัชชันให้ กับการได้ไปตระเวนทัวร์ทั่วทั้งโลกตั้งแต่เอเชีย ยุโรป ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้ไปแสดงบนเวทีของเทศกาลดนตรีใหญ่ ๆ ระดับโลกมากมาย

 

พอคนฟังเขาในตลาดที่กว้างขึ้น เขาก็มีรายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะจากทัวร์หรือจำนวนสตรีมมิงที่เพิ่มมากขึ้น มันก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ศิลปินมีรายได้มากขึ้น รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

 

เราจะได้เห็นว่าการยกระดับศิลปินไทย ในวิธีหนึ่งที่เราเห็นกันอยู่นี้ก็คือการขยายตลาด ที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของผลงานที่ได้แผ่ขยายไปในวงกว้างมากขึ้น บทเพลงเหล่านั้นก็ยังทำหน้าที่เสมือนกับทูตทางวัฒนธรรมที่จะช่วยก่อคลื่นพลังของวัฒนธรรมไทยไปสู่ต่างประเทศอีกแรงหนึ่งอีกด้วย ทว่าคำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะขับเคลื่อนวงการให้ไปถึงจุดนั้นได้?

 

ยกตัวอย่างเช่นโครงการ Music Exchange ของ CEA ที่ได้มีการส่งวงดนตรีไปต่างประเทศก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนที่ดีมาก

 

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

ภาพ : เพจ Isan Creative Festival

 

แต่นอกจากนั้น อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะจากมุมมองของมิวสิคโปรโมเตอร์เองอย่าง ‘Isan Music Promoter’ จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ที่จะมีการดึงโปรโมเตอร์จากต่างประเทศให้มาชมเทศกาลดนตรีใหญ่ ๆ ของไทยที่ได้รวบรวมวงดนตรีต่าง ๆ เอาไว้หมดแล้ว แม้จะยังไม่ได้จัดงานโชว์เคส แต่เพียงแค่นำโปรโมเตอร์ให้มาชมเลยก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนที่น่าสนใจแล้ว และเมื่อผสานทั้งกลยุทธ์เชิงรุกที่มีการส่งศิลปินไปต่างประเทศรวมถึงกลยุทธ์เชิงรับที่ได้เชิญโปรโมเตอร์มาที่ประเทศไทย ก็น่าจะเป็นการสนับสนุนที่พาให้วงดนตรีไทยไปไกลกว่าเดิม

 

เนื้อแท้ของดนตรีอีสาน

ดนตรีของเราไม่ใช่แค่เสียงเพลง 
แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของคนอีสาน 
การเดินทางและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา

ในส่วนของการสร้างสรรค์ดนตรีนั้น เราได้พูดคุยกับ ‘ซัน’ นักร้องนำและผู้ก่อตั้งวง ‘SUN DER’ (ซัน เด้อ) ที่บรรเลงดนตรีอีสานที่มุ่งตีแผ่เนื้อแท้ของดนตรีอีสานไปสู่โลกทั้งใบ ผ่านการผสมผสาน ฟิวชั่น และการสร้างสรรค์ผ่านเครื่องดนตรีอีสานนานาชนิด โดยความหมายก็ชื่อวงเองก็แปลได้ว่า ‘แสงสว่างทางเสียงดนตรีของภาคอีสาน’ และ ‘ลูกของดนตรีอีสานในปัจจุบัน

ซันได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้มีโอกาสไปบรรเลงเพลงของเขาที่ต่างประเทศ รวมถึงความทรงจำทางดนตรีอันมีคุณค่าของเขากับการได้มีโอกาสไปแจมกับคนท้องที่ในบาร์ท้องถิ่น โดยซันบรรยายว่าเหมือนเป็นการนำเรื่องเล่าของแต่ละคน เรื่องเล่าของแต่ละที่มา มาแลกเปลี่ยนกันผ่านภาษาของดนตรี มันทำให้ตัวเขาได้ขนเอาเรื่องราวของภาคอีสานไปเล่าให้ต่างชาติฟัง ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ฟังเรื่องราวจากผู้คนที่นั่นมาเช่นเดียวกัน

นอกจากจะเป็นการส่งดนตรีอีสานไปบนเวทีสากลโลกแล้ว มันก็ยังชี้ให้เราเห็นว่าดนตรีของภาคอีสาน แม้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สูง แต่ก็สามารถผสมผสานเข้ากับดนตรีประเภทอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้โลกนี้ได้รู้จักกับทั้งสไตล์และเครื่องดนตรีจากภาคอีสานเลยทีเดียว

 

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน ภาพ : เพจ Isan Creative Festival

 

การสนับสนุนจาก CEA ทำให้เรามีโอกาสได้แสดงในเวทีนานาชาติ เราได้แบ่งปันวัฒนธรรมอีสานและดนตรีของเราให้กับผู้คนทั่วโลก ทำให้เรื่องเล่าของเราได้เดินทางไปสู่ต่างแดน

 

SUN DER ก็ถือเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ‘Isan Music Export’ โครงการที่ส่งเสริมให้ศิลปินท้องถิ่นอีสานได้ไปแสดงผลงานในต่างประเทศ โดยมี ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (CEA)  เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อน ด้วยความหวังที่จะขยายศักยภาพและสนับสนุนให้เกิดกระแส ‘อีสานฟีเวอร์’ ที่จะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยแข็งแกร่งกว่าเดิม

 

เราหวังว่าดนตรีอีสานจะไม่ใช่แค่ดนตรีที่

รู้จักเฉพาะในภาคอีสานหรือในไทย

แต่จะกลายเป็นดนตรีที่ทั่วโลกได้ฟังและเข้าใจ

 

 

ผสานพลังเพื่อผลักดันทางข้างหน้า

เครื่องไม้เครื่องมือสำคัญในการจะกรุยทางไปสู่ความสำเร็จได้ย่อมหนีไม่พ้นไอเดียและวิสัยทัศน์ของเส้นทางในการเดินไปข้างหน้า แต่ทุกสิ่งที่ว่ามานี้คงจะสัมฤทธิ์ผลได้ยากหากปราศจากหัวใจหลักของเส้นทางนี้ ซึ่งก็คือการร่วมมือและผสานพลังและก้าวไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน

จากที่เราได้เห็นมาตลอดบทความว่าดนตรีอีสานถือว่าเป็นแนวดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังสามารถเจาะกลุ่มผู้ฟังได้อย่างหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจะยกระดับพวกเขาให้ไปไกลได้กว่านี้ สิ่งสำคัญก็หนีไม่พ้นการสนับสนุนที่จะพาให้พวกเขาได้ต่อสู้อย่างเต็มศักยภาพ

 

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

ภาพ : เพจ Isan Creative Festival

 

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Music Export ที่สนับสนุนให้วงดนตรีอีสานได้ไปแสดงที่ต่างประเทศ และโครงการ Isan Music Business Networking   ที่ได้เชิญโปรโมเตอร์ต่างประเทศมาชมการแสดงสดและพูดคุยกับศิลปินอีสานในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสการแสดงดนตรีในเทศกาลนานาชาติ กับเครือข่าย จํานวน 6 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้

Isan Sound On Top’ ที่คัดสรรดนตรีอีสานจำนวน 12 วง ที่มีทั้ง The Paradise Bangkok Molam International Band, Desktop Error, SUN DER, IRENE, Kamonvish lawan, ส้มปลาน้อย, Rainytoast ThephaRoots No.5, Bluesriram,  Singnoy Dirtyboy, ดร บม, JARB DA BEAT และอีกมากมายที่จะฉายภาพดีเอ็นเอความเป็นอีสานทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ที่ถูกผสมผสานออกมาอย่างลงตัว

 

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน

ภาพ : เพจ Isan Creative Festival

 

ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็ล้วนเป็นโครงการการสนับสนุนที่สอดรับไปกับนโยบายของ ‘Thailand Creative  Culture Agency’ หรือ ‘THACCA’ ในนโยบายเพื่อ ‘ดนตรีและเฟสติวัลไทย’ ที่มุ่งเน้นจะส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีและการจัดแสดงดนตรีให้คึกคักกว่าที่เคยเป็น โดยหนึ่งในเป้าหมายก็คือการ ‘เพิ่มทุนสนับสนุนดนตรี’ ที่มุ่งหวังให้มีการสนับสนุนทุนในด้านการจัดแสดงดนตรีรวมถึงการทัวร์คอนเสิร์ต ณ ที่ต่าง ๆ และยังมุ่งหวังให้นักดนตรีสามารถเข้าถึงทุนเหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น เพื่อเป็นโอกาสให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่ที่สุด

ดังที่ได้กล่าวไป ณ จุดเริ่มต้นว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถือเป็นพลังที่สำคัญและทรงพลังอย่างมากตลอดมา โดยเฉพาะกับยุคนี้ แต่กว่าที่ซอฟต์พาวเวอร์นั้นจะก่อร่างสร้างตัวจนแข็งแรงพอที่จะแผ่ขยายไป ณ ที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นทูตทางวัฒนธรรมได้ การร่วมมือและมีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างสามัคคีก็ถือเป็นหนทางที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายได้

พงศ์สิริ เหตระกูล และ ซัน SUN DER : พลังที่ซ่อนเร้นของเนื้อแท้ดนตรีอีสาน ภาพ : เพจ Isan Creative Festival