เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

ย่านโคลัมโบแหล่งท่องเที่ยวสุดชิลที่มาแรงของขอนแก่น ด้วยความที่ย่านนี้เป็นศูนย์รวมของเหล่าศิลปินคนรุ่นใหม่ผู้รักในศิลปะ จุดเริ่มความฮิปของย่านนี้หลายคนอาจเข้าใจว่ามาจาก Columbo Craft Village แต่ความเป็นจริงแล้วที่มาของย่านโคลัมโบนี้อาจย้อนกลับไปไกลถึงยุค 50s

สมัยที่การเมืองโลกยังตกอยู่ในช่วงสงครามเย็น จากการแบ่งขั้วอำนาจของสองประเทศมหาอำนาจ ความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อหกทศวรรษที่แล้ว ส่งผลให้ย่านโคลัมโบแห่งนี้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ที่เป็นหมุดหมายใหม่ของคนรักงานคราฟท์และศิลปะอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร เราไปค้นหาคำตอบนี้ไปพร้อมกัน

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community ภาพ : Isan Creative Festival

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ผ่านบริบทของยุคสมัย และการเมืองในช่วงปี 2500 ที่มีความแตกต่างจากปัจจุบันนี้พอสมควร โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ได้ปูพื้นประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นให้ฟังว่า 

“ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษกำลังจะให้เอกราชกับประเทศที่เป็นอาณานิคมต่าง ๆ จนเกิดเป็นเครือจักรภพขึ้น โดยอังกฤษยังคงให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ กับประเทศเหล่านี้ หนึ่งในความช่วยเหลือนั้นคือ โครงการพัฒนาที่ชื่อแผนโคลัมโบ ที่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทางสังคม ซึ่งได้ชื่อจากการที่ไปประชุมกันที่เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ตอนแรกโครงการนี้เน้นให้ความช่วยเหลือประเทศในเครือจักรภพเป็นหลัก แต่ต่อมาทางอเมริกาเข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือด้วย จึงขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศอื่น ๆ ใกล้เคียง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งการให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อ และการส่งนักวิชาการให้ความรู้ เพราะเราเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากมีภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทั้งลาวและสามารถเชื่อมต่อไปจีนได้”

“ขอนแก่นที่เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานเลยได้รับอานิสงค์จากแผนโคลัมโบไปด้วย อย่างการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากถนนมิตรภาพที่อเมริกาสร้างไว้ ระหว่างนั้นเป็นช่วงเดียวกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นมา นักวิชาการที่เข้ามาส่วนหนึ่งเลยพักอยู่ละแวกหลังมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่าโคลัมโบมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่าการเติบโตของขอนแก่นอาจเริ่มจากการเข้ามาของแผนโคลัมโบ คู่ไปกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ว่าได้”

อาจไม่ผิดที่จะเรียก แผนโคลัมโบ (Colombo Plan) ว่าเป็น soft power ยุคสงครามเย็นของฝ่ายประเทศโลกเสรี ที่ใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น เป็นเครื่องมือป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ผลจากความช่วยเหลือของแผนโคลัมโบจึงมีส่วนสำคัญในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของขอนแก่นในช่วงปี 2500 เป็นต้นมา ทำให้ขอนแก่นพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในหัวเมืองสำคัญในภูมิภาคอีสานโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดหลายทศวรรษการพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเกิดกระแสคนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนหรือทำงานที่กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดอื่น ๆ ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ขอนแก่นเพื่อมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งศูนย์กลางของคนรุ่นใหม่มารวมตัวกันอยู่ที่ Columbo Craft Village ชุมชนศิลปินที่ตั้งอยู่ในย่านโคลัมโบนี่เอง 

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

ภาพ : Isan Creative Festival

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เล่าว่ามีโอกาสเข้าร่วมเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567 ที่ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 จัดภายใต้ธีม สะออนเด้ Proud of Isan 'ผสมอีสาน ต่อยอด เติบโต' โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2567 โดยมีการสนับสนุนพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 3 ย่านครีเอทีฟหลัก หนึ่งในนั้นคือย่านโคลัมโบ (Columbo District) ย่านใหม่มาแรง ที่เป็นพื้นที่ชุมนุมของนักสร้างสรรค์ที่มีทั้งสายอาร์ท สายคราฟท์ และสายดนตรี อย่างหมู่บ้าน Columbo Craft Village , Khontemporary Artist Residency , Kanesorn International Gallery and Studio สตูดิโอศิลปินที่เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการไปในตัว ไปจนถึง Mody Studio เป็นสตูดิโอที่ออกแบบและผลิตพิณร่วมสมัยที่มีลูกค้าจากทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นห้องเช่าสำหรับซ้อมดนตรีอีกด้วย

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

ภาพ : Isan Creative Festival

“ผมว่าย่านโคลัมโบน่าสนใจเรื่องการเป็นศูนย์กลางของคนที่สนใจทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม มีการเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสทํางานร่วมกัน มีการเปิดบ้านให้คนเข้ามาแสดงผลงาน มีห้องพักสําหรับศิลปินรับเชิญที่มาทำงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ย่านนี้มีชีวิตชีวาขึ้น และช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ยั่งยืนได้”

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

ภาพ : Columbo Creative Community


เรียกว่าตอนนี้ย่านโคลัมโบเป็นเหมือนจุดหมายใหม่สำหรับนักสร้างสรรค์ของภาคอีสาน จากการผลักดันให้เป็น Columbo Creative Community ที่ดึงดูดผู้คนที่รักศิลปะทั้งในภาคอีสาน หรือจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ ไปจนถึงศิลปินต่างชาติ ให้เข้ามาแสดงศักยภาพ และแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกัน โดยเฉพาะการเอาสินทรัพย์อันมีค่าของอีสาน มาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อผลักดันเศรษฐกิจอีสานให้เติบโตไปพร้อมกัน 

เส้นทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของอีสานที่มีจุดเริ่มในยุคสงครามเย็น สู่ Columbo Creative Community

ภาพ : เพจ ชุมชนบ้านสาวะถี

“ผมว่าความเป็นอีสานมันคือ soft power เอารากเหง้ามาพัฒนาปรับปรุงสร้างมูลค่าสําหรับยุคปัจจุบัน แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นอีสานอย่าง บริษัทสินไซโมเดล จำกัด ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เขาเอาฮูปแต้มสินไซ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังตำนานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย มาถ่ายทอดใหม่เป็นกางเกง กระเป๋าสะพาย หรือของใช้ประจำวันอื่น ๆ ต้องดูแนวโน้มว่าเขาจะพัฒนา soft power ตรงนี้ให้เป็นจุดแข็งต่อไปในอนาคตได้อย่างไร”

จากแผนโคลัมโบในยุคสงครามเย็น สู่การเป็น Columbo Creative Community ของย่านโคลัมโบ เส้นทางการเติบโตของขอนแก่นมีจุดเริ่มต้นจากการที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ในช่วงเริ่มต้นขอนแก่นได้รับการช่วยเหลือจากทั้งสหรัฐอเมริกา เครือจักรภพ และรัฐบาลไทย จนก้าวขึ้นมาเป็นจังหวัดสำคัญในภาคอีสานได้ภายในเวลาไม่กี่สิบปี 

เป้าหมายต่อไปของขอนแก่นในตอนนี้คือ การเดินหน้าเป็นศูนย์กลางทางความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้รากฐานทางวัฒนธรรมอีสานที่สั่งสมนำมาพัฒนาปรับเปลี่ยนต่อยอด เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โจทย์ในครั้งนี้กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การสนับสนุนจากภายนอกเหมือนก่อน แต่ต้องเกิดขึ้นจากภายในขอนแก่นเอง โดยเริ่มต้นจากผู้คนในพื้นที่ที่ต้องมีส่วนร่วมช่วยกันใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์พัฒนาขับเคลื่อนอีสาน เพื่อทำให้อีสานน่าอยู่ และภูมิใจที่ได้มาเยือน หากทำสำเร็จ Columbo Creative Community จะสามารถเป็นต้นแบบในการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคอีสานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป