21 ต.ค. 2567 | 08:31 น.
‘มาริลิน วอส ซาวองท์’ เป็นทั้งคอลัมน์นิสต์ นักธุรกิจ และนักเขียนบทละครชาวอเมริกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ‘สมอง’ เพราะเธอเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลที่มีไอคิวสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และมักถูกเรียกว่า ‘บุคคลที่ฉลาดที่สุดในโลก’
ตามบันทึกของ ‘Guinness Book of Records’ คะแนนไอคิวของมาริลิน วอส ซาวองท์ คือ 228
แม้จะมีไอคิวสูงขนาดนั้น แต่ชีวิตวัยเด็กของเธอกลับค่อนข้างธรรมดา เธอเกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 1946 ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เติบโตในครอบครัวคนงานเหมืองถ่านหินที่ยากจน พ่อแม่ของเธอเป็นผู้อพยพมาจากเยอรมนีและอิตาลี
อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ครอบครัวทั้งฝั่งพ่อและฝั่งแม่ของเธอมีคำว่า ‘ซาวองท์’ (Savant) อยู่ในนามสกุล และคำ ๆ นี้ หมายถึง ‘ผู้มีสติปัญญา’ ซึ่งนับเป็นนามสกุลที่เหมาะสมกับเธออย่างที่สุด
เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เธอมีความสามารถโดดเด่นในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กระทั่งอายุเข้า 10 ขวบ ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
เธอเข้ารับการทดสอบไอคิว และผลปรากฏว่าระดับไอคิวของเธออยู่ที่ 228 ทำให้เธอได้รับบรรจุชื่อในหอเกียรติยศ Guinness Book of World Records ในหมวดบุคคลที่มีไอคิวสูงสุด ตั้งแต่ปี 1986 ถึงปี 1989
ไม่เพียงแต่เก่งวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์เท่านั้น มาริลินยังมีความหลงใหลในการเขียนอีกด้วย ในช่วงวัยรุ่น เธอทั้งช่วยพ่อขายของในร้านค้า และเขียนงานส่งให้นิตยสารท้องถิ่นโดยใช้นามแฝง ต่อมาเธอจึงได้ประกอบอาชีพนักเขียน และกลายมาเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสาร ‘Parade’ โดยเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และตรรกศาสตร์ ที่ชื่อว่า ‘Ask Marilyn’
ทว่าบางครั้ง การเป็นบุคคลที่มีไอคิวสูงก็เป็นเหมือนคำสาป เพราะเธอมักถูกท้าทายสติปัญญาและโต้แย้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแบ่งแยกทางเพศอย่างเข้มข้น
ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เดวิด เลตเทอร์แมน’ พิธีกรรายการก็เริ่มต้นด้วยการถามเธอว่า “คุณทำอะไรที่ฉลาด ๆ บ้าง” และหลังจากหยอกล้อกันช่วงหนึ่ง เขาก็พูดกับเธอว่า “รู้ไหม ผมคิดว่าผมฉลาดกว่าคุณ” และ “นี่ไม่ใช่คนฉลาดที่สุดในโลก”
และมีบ้างที่การตอบคำถามผ่านคอลัมน์ ทำให้เธอถูกโจมตีเรื่องความผิดพลาดจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่มาริลินก็ยังคงใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่สนใจสื่อมากนัก
หนึ่งในคำพูดที่เราคิดว่า เป็นสิ่งที่เธอตกตะกอนจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอคือ “การแพ้นั้นเป็นเพียงสถานะชั่วคราว การยอมแพ้ต่างหากที่ทำให้มันถาวร”
เมื่อพูดถึงความ ‘พ่ายแพ้’ หลายคนมักไม่ใส่ใจในประโยชน์ของมัน เพราะโดยปกติแล้วเราก้มหน้าก้มตาที่จะมุ่งไปสู่ ‘ชัยชนะ’ เสียมากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้ว คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่รู้ดีว่า จุดเปลี่ยนในชีวิตของพวกเขามักมีจุดเริ่มต้นจาก ‘ความพ่ายแพ้’ หรือ ‘ความล้มเหลว’ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
หลักสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คุณจะยอมจมอยู่กับความรู้สึกผิดหวังจากการพ่ายแพ้ไปอีกนานแค่ไหน หรือจะใช้ความพ่ายแพ้เป็นแรงฮึดเช่นเดียวกับ ‘กล้ามเนื้อ’ ในร่างกายที่จะแข็งแรงขึ้นเมื่อเผชิญ ‘แรงต้านทาน’
หากคุณยอมแพ้อย่างง่ายดาย ก็คงไม่ต่างจากกล้ามเนื้อที่จะอ่อนแอลงเพราะยอมศิโรราบให้กับแรงต้าน
นอกจากมาริลินแล้ว ครั้งหนึ่งมีคนเขียนไว้ว่า “ความล้มเหลวและความเจ็บปวดเป็นภาษาเดียวที่ธรรมชาติใช้สื่อสารกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเพื่อชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดต่าง ๆ” ดังนั้นแล้ว หากคุณมองความพ่ายแพ้จากมุมนี้ คุณจะรู้ว่าความพ่ายแพ้เป็นเหตุการณ์เพียงชั่วคราวที่จะนำคุณไปสู่การเรียนรู้เพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้า
นอกจากนี้ ความพ่ายแพ้ยังทำให้เราได้เห็นถึงนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าต้องปรับปรุงนิสัยตัวเองยังไง ดังนั้น หากเราไม่เคยตระหนักถึงเหตุแห่งความพ่ายแพ้ เราก็จะไม่มีโอกาสแก้ไขนิสัยไม่ดีของตนเอง
และหลายครั้งที่ความพ่ายแพ้เข้าไปแทนที่ความเย่อหยิ่งด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน จนทำให้เราเกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกลมกลืนกับผู้อื่นยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว ทัศนคติของเราที่มีต่อความพ่ายแพ้นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอาชนะมัน หากเรามองความพ่ายแพ้เป็นความสูญเสีย เราจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ไปตลอดกาล กลับกัน หากเรามองความพ่ายแพ้เป็นโอกาสในการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เราก็พอมีทางที่จะเอาชนะมันได้ ด้วยความมั่นใจ มุ่งมั่น และพลังงานที่ฟื้นคืนมา
และอย่างที่มาริลินเปิดทางให้เราเลือก เราจะยอมอยู่กับความพ่ายแพ้เพียงประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้าในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม หรือปล่อยให้มันกัดกินเราไปตลอดชีวิต ยังไงก็ลองกลับไปคิดดู
สวัสดีวันจันทร์
พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง:
Marilyn Vos Savant: The ‘World’s Smartest Woman’ Who Has An IQ Of 228
Practical Psychology: Defeat is beneficial by giving us something to overcome