โธมัส พิเก็ตตี้ ผู้เขียนหนังสือ ‘Capital ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’ ผ่าทุน รายได้ เหลื่อมล้ำ

โธมัส พิเก็ตตี้ ผู้เขียนหนังสือ ‘Capital ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’ ผ่าทุน รายได้ เหลื่อมล้ำ

หนังสือที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แนะนำ ชื่อ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’ - ‘Capital in the Twenty-First Century’ ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในอนาคตที่เกิดจากระยะห่างของ ‘ทุน’ และ ‘รายได้’ สังคมที่อาจเดินหน้าไปสู่ ‘ทุนนิยมมรดก’

  • หนังสือ ‘Capital in the Twenty-First Century’ หรือ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’ ถูกพูดถึงในฐานะหนังสือที่นายกฯ แนะนำให้อ่าน
  • คอนเซปต์หลักที่ถูกใช้ในหนังสือ ส่วนหนึ่งคือ ความหมายของ ‘r > g’
  • เนื้อหายังพูดถึงมุมมองว่า สังคมในอนาคตที่มีแนวโน้มพัฒนาสู่ ‘ระบบทุนนิยมมรดก’ (Patrimonial Capitalism)

ย้อนกลับไปในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ออกมาเผยว่า ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้แนะนำให้อ่านหนังสือ ‘Capital in the Twenty-First Century’ หรือ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21’ ที่เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนามว่า ‘โธมัส พิเก็ตตี้’ (Thomas Piketty) 

อะไรที่พิเก็ตตี้และหนังสือ Capital in the Twenty-First Century พยายามนำเสนอ? ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับสิ่งที่หนังสือพยายามจะนำเสนอแบบคร่าว ๆ 

/ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อสรุปแนวคิดสำคัญที่หนังสือพยายามจะนำเสนอ ซึ่งจะไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของ Capital in the Twenty-First Century /

นิยามของ ‘ทุน’ และ ‘รายได้’

คำว่า ‘ทุน’ ย่อมมีนิยามความแตกต่างหลากหลายกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่อง ก่อนจะดำดิ่งเข้าไปรู้จักแนวคิดที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะนำเสนอ เราต้องเข้าใจนิยามของคำคำนี้ อันเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหลักเสียก่อน 

นิยามของ ‘ทุน’ (Capital) ที่พิเก็ตตี้ใช้ใน Capital in the Twenty-First Century หมายถึงสินทรัพย์ที่สามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ผู้ถือครองหรือเป็นตัวที่เพิ่มปริมาณทุนของผู้ถือครองให้มากขึ้นไปอีก กล่าวคือ ทุนเป็นสิ่งที่ทำให้เรา ‘รวย’ ขึ้นนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หุ้น ทอง บ้าน ที่ดิน หรือแม้กระทั่งเงินสด เฉกเช่นเดียวกับ ‘รายได้’ (Income) ที่เป็น      อีกทางหนึ่งในการสะสมความมั่งคั่งผ่านการขายแรงงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งเช่นเดียวกัน 

ถึงกระนั้นทั้ง ‘ทุน’ และ ‘รายได้’ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะในด้านของความสามารถในการเพิ่มพูน ‘ความมั่งคั่ง’ (Wealth) ซึ่งก็เป็นแนวคิดหลักที่พิเก็ตตี้มุ่งนำเสนอผ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งความมั่งคั่งที่แต่ละคนมีอยู่ก็สามารถผันแปรเป็นทุนได้เช่นเดียวกัน

ทุนที่งอกไวกว่ารายได้

ใจความสำคัญที่พิเก็ตตี้พยายามนำเสนอคือการชี้ให้ผู้อ่านเห็นแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจจะซ้ำรอยเดิมเหมือนในอดีต แถมยังพิสูจน์ให้เราเห็นผ่านข้อมูลของแต่ละประเทศที่ถูกเก็บมาอย่างละเอียดว่า ความเหลื่อมล้ำประเภทที่สังคมควรกังวลอาจไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (Income Inequality) เสมอไป แต่เป็นความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน (Wealth Inequality) ต่างหาก

นี่จึงเป็นที่มาของ ‘r > g

r’ หรือ ‘Rate of Return of Capital’ คืออัตราค่าตอบแทนที่เราได้รับจากทุนที่เราครอบครองไปลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น หาก r มีค่าเป็น 10% ถ้าเราเอาเงิน 100 บาทไปลงทุน เงินที่เราจะได้กลับมาก็จะมีค่าเท่ากับ 10 บาท

g’ หรือ ‘The Economy’s Growth Rate’ คืออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตนี้ก็จะเกี่ยวโยงกับรายได้ของคนในประเทศ หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าเศรษฐกิจดีและเจริญเติบโตได้ดี เงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นตามกันไป

ดังนั้นหากจะมองแบบง่าย ๆ ตัวแปร r ก็คือความสามารถของทุนหรือความมั่งคั่งที่แต่ละคนมีในการที่จะสร้างเงินสร้างรายได้ สำหรับตัวแปร g ก็คือการเจริญเติบโตของรายได้

ทีนี้เมื่อเราย้อนกลับไปดูที่ความสัมพันธ์เดิมที่เราได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้อย่าง r > g คือการที่อัตราการเจริญเติบโตทางความมั่งคั่งจากการลงทุนมีค่าสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ถ้าคุณเอาทรัพย์สินไปลงทุน คุณก็จะสะสมความมั่งคั่งได้ง่ายดายกว่าการเพิ่มความมั่งคั่งด้วยการทำงานและเงินเดือน และจุดนี้คือปัญหาที่พิเก็ตตี้พบและพยายามนำเสนอในหนังสือเล่มนี้

Capital-Generated Wealth > Income-Generated Wealth

ด้วยความสัมพันธ์ที่กล่าวมาข้างต้นจึงนำไปสู่ปัญหาและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เหตุเพราะการเพิ่มพูนความมั่งคั่งหรือการรวยขึ้นนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าผ่านการลงทุน นี่จึงสร้างข้อได้เปรียบให้คนมีทุนรวยง่ายกว่าคนไม่มีทุน และช่องว่างระหว่างตัวแปรทั้งสองนี้เองที่จะเป็นปัจจัยหลักในการถ่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนให้กว้างไปมากกว่าเดิม

หากได้ยินคำว่าทุนนิยม คอนเซปต์ที่ตามมาในความคิดของใครหลายคนคือ ‘การแข่งขัน’ (Competition) การแข่งขันที่จะสะสมทุน การแข่งขันที่จะครอบครองส่วนแบ่งของตลาด การแข่งขันที่จะกอบโกยกำไรให้ได้มากที่สุด และผลพลอยได้จากการแข่งขันคือการพัฒนาตนเองและเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย แต่ด้วย r > g ภาพทุนนิยมอาจจะไม่ได้เป็นดังที่เราได้กล่าวมาอย่างสมบูรณ์ 

พิเก็ตตี้นำเอาตัวเลขและข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บมาสร้างเป็นอัตราส่วนของความมั่งคั่งต่อรายได้ (Wealth-Income Ratio) ซึ่งจะชี้ให้เราเห็นว่าความมั่งคั่งกับรายได้ สิ่งไหนโตไวกว่ากัน ซึ่งข้อมูลก็ชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อัตราส่วนดังกล่าวเป็นบวก นั่นหมายความว่าความมั่งคั่งมีพลังมากกว่ารายได้ดังความสัมพันธ์ r > g 

ทุนนิยม ‘มรดก’

โครงสร้างทำนองนี้อาจก่อให้เกิดแนวทางทางเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มคนที่ ‘มีมรดก’ (Inherited Wealth) ถือครองอำนาจนำทางเศรษฐกิจ จากการที่เอามรดกที่ส่งต่อมาจากรุ่นก่อน ๆ ทั้งหลายไปลงทุน ด้วยเหตุนี้ โอกาสของกลุ่มคนที่สะสมความมั่งคั่งจากรายได้เป็นหลักยิ่งริบหรี่ลง ดังนั้นสังคมก็มีแนวโน้มที่จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม - คนที่ครอบครองทุนและคนที่ทำงานหาเลี้ยงชีพ

ด้วยเหตุนี้ จากทุนนิยมที่มีโครงสร้างจากการแข่งขันที่เราคุ้นชิน อาจจะแปรเปลี่ยนรูปร่างเป็น ‘ทุนนิยมมรดก’ (Patrimonial Capitalism) แทน

แนวทางของความเหลื่อมล้ำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ของมนุษยชาติเลยแม้แต่น้อย เพราะหากย้อนกลับไปในยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเองก็ล้วนเป็นผู้ที่ครอบครองทุนและทรัพย์สินส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็ส่งต่อความมั่งคั่งเหล่านั้นให้ลูกหลานต่อไป

แต่แล้วโครงสร้างแบบนั้นก็มลายหายไปหลังจากเกิดวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1930 หรือสงครามโลกครั้งต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุนนิยมมรดกจางหายไป แต่ในมุมมองของพิเก็ตตี้ หลังจากที่ประเมินจากข้อมูลของหลากหลายประเทศ มันกำลังจะกลับมาอีกครั้ง (หากไม่เร่งแก้ไข)

นอกจากนั้น Capital in the Twenty-First Century ก็ยังชี้ให้เราเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในแบบที่เราควรให้ความสำคัญ อาจไม่ใช่ ‘ความเหลื่อมล้ำทางรายได้’ ที่คนบางกลุ่มได้เงินเดือนสูงกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเสมอไป แต่เป็น ‘ความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่ง’ เสียมากกว่า เพราะอย่างหลังอยู่ได้คงทนกว่าอย่างแรก

แม้ว่าหนังสือของโธมัส พิเก็ตตี้ อาจจะมีนักวิชาการหรือผู้อ่านบางคนมีความเห็นที่แตกต่างหรือไม่เห็นด้วยไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่พิเก็ตตี้ชี้ให้เห็นก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แถมคอนเซปต์เหล่านั้นก็หาใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัวจนยากที่จะจินตนาการ บางทีแค่มองไปรอบตัวเราก็อาจจะเห็นความสัมพันธ์ของ r > g อยู่แล้วก็เป็นได้…

 

ภาพ:

Eric Fougere / Contributor - Getty Images

ปกหนังสือ Capital in the Twenty-First Century

อ้างอิง:

The short guide to Capital in the 21st Century - VOX