Cherry Pink : เสียงทรัมเป็ตสุดเซ็กซี่ประกอบทำนอง ‘ระบำโป๊’ สู่บทเพลง ‘ใต้ร่มเชอรี่’

Cherry Pink : เสียงทรัมเป็ตสุดเซ็กซี่ประกอบทำนอง ‘ระบำโป๊’ สู่บทเพลง ‘ใต้ร่มเชอรี่’

“แด่ แด แด แด๊” ที่เดียวในโลก แปลงเพลงแจ๊ส เป็นเพลงจ้ำบ๊ะ กับ ‘ใต้ร่มเชอรี่’ ที่สืบรากมาจากต้นฉบับอย่าง ‘Cherry Pink and Apple Blossom White’ ก่อนจะกลายมาเป็นเสียงทรัมเป็ตสุดเซ็กซี่ในความทรงจำเพราะได้ไปบรรเลงในโรงระบำโป๊

ในยุคที่กฎหมายลิขสิทธิ์เพลงยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างรุนแรงเฉกเช่นในปัจจุบัน บทเพลงมากมายในวงการดนตรีไทยได้ใช้ทำนองตะวันตก เช่น อังกฤษหรืออเมริกา และตะวันออกคือจีน ญี่ปุ่น โดยใส่เนื้อไทยเข้าไป หลายเพลงตรงตามต้นฉบับ บางเพลงก็บิดพลิ้วไปเสียไกล

นอกจากวงการเพลง ดูเหมือนแวดวงโฆษณาก็ได้นำท่อนอินโทร ไม่ก็ท่อนโซโล่ของเพลงฝรั่งมาเป็นเพลงโฆษณาสินค้า ที่โดดเด่นเป็นภาพจำที่สุดก็เห็นจะเป็นโฆษณาสวนสยาม ที่นำเอาเพลง Hawaii Five-O มาเป็นเพลงธีมในโฆษณาทางโทรทัศน์ และวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการอีเวนต์ในยุคหนึ่ง ก่อนจะถึงขั้นตอนตัดริบบิ้นเปิดงาน จะมีการบรรเลง The Final Countdown เพลงฮิตของวงร็อคนามว่า ‘ยุโรป’ (Europe) ซึ่งกรณีนี้ถือว่าตรงตามคอนเซปต์เพลง คือการนับถอยหลัง เพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง นั่นคือการเปิดงาน

ตราบที่โลกเข้าสู่ยุคลิขสิทธิ์เพลงอย่างเต็มรูปแบบ การนำท่อนฮุค หรือท่อนโซโล่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่อนอินโทรเพลงฝรั่งมาประกอบเป็นเพลงโฆษณามีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง หลายเพลงเป็นเพลงดังเพลงฮิต หลายเพลงเป็นเพลงใหม่ที่ทำให้โฆษณาเฉพาะ

มีบทเพลงหนึ่งซึ่งมีความพิเศษที่แตกต่างจากกรณีอื่น เพราะการนำเพลงนี้มาใช้ที่ต่อมากลายเป็นการลงลึกถึงวัฒนธรรม ที่กลายเป็นว่า บทเพลงธรรมดาจากต่างประเทศ กลายเป็นเพลงประกอบกิจกรรมทะลึ่งตึงตัง ชนิดที่เรียกว่าฝรั่งผู้แต่งเพลงคงไม่คาดคิด

เรากำลังพูดถึง ‘Cherry Pink and Apple Blossom White

ก่อนเพลงจ้ำบ๊ะ ต้องเพลงมายากล

ต้นฉบับ Cherry Pink and Apple Blossom White คือ ‘Cerisier Rose et Pommier Blanc’ ในภาษาฝรั่งเศส ผลงานการประพันธ์ของ ‘หลุยส์ กูเกลิเอลมี’ (Louis Guglielmi) นักแต่งเพลงชาวสเปนเชื้อสายอิตาเลียน

แม้ Cerisier Rose et Pommier Blanc โด่งดังในฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ทว่า ในเวอร์ชั่นภาษาสเปนกลับโด่งดังมากกว่า เมื่อมีการแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาสเปนในเวลาต่อมา เพราะนอกจากในสเปน ชาติละตินเกือบทั้งหมดชื่นชอบท่วงทำนอง และเนื้อร้องของ Cerisier Rose et Pommier Blanc เนื่องจากอเมริกาใต้ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการและภาษาพูดประจำวัน ทำให้เกิดการถามหาต้นฉบับ Cherry Pink and Apple Blossom White กันเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้น ยุค 50s เพลงก็ดังเปรี้ยงในหลายประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา มาจนถึงเอเชีย โดยแต่ละชาติจะแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมแปลงเพลงอย่าง ‘พี่ไทย’ แน่นอน ย่อมมีเนื้อภาษาไทยของ Cherry Pink and Apple Blossom White โดยใช้ชื่อเพลงว่า ‘ใต้ร่มเชอรี่’ มี 2 เวอร์ชั่นคือ ‘ศรีสอางค์ ตรีเนตร’ และ ‘สวลี ผกาพันธุ์

Cherry Pink and Apple Blossom White ขยับเข้าใกล้ความคลาสสิกอีกขั้น เมื่อ ‘เปเรซ ปราโด’ (Pérez Prado) ราชาเพลงแมมโบ้ชาวคิวบา ได้เรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ตัดเสียงร้องต้นฉบับออกไป ทำให้ Cherry Pink and Apple Blossom White กลายเป็นเพลงบรรเลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มเสียงทรัมเป็ตช่วงอินโทรและท่อนแยกจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในทุกวันนี้

Cherry Pink and Apple Blossom White เวอร์ชั่นของ เปเรซ ปราโด ถูกนำไปประกอบฉากนางเอกเต้นในตอนเปิดเรื่องของหนัง Underwater! ผลปรากฏว่า โด่งดังกว่าซาวน์แทร็กทั้งหมดในหนัง ปราโดได้นำ Cherry Pink and Apple Blossom White มาขยายให้ยาว เพื่อให้สอดคล้องกับยุคลีลาศ ยั่วสถานบันเทิงทั่วโลกให้เปิด และแน่นอน ‘โรงจ้ำบ๊ะ’ ของไทยเราก็ไม่มีพลาด

แต่ก่อนที่เปเรซ ปราโด จะนำ Cherry Pink and Apple Blossom White เข้าสู่โลกจ้ำบ๊ะไทย บทเพลง Mambo No. 5 ของเขาถูกนำไปใช้ประกอบการแสดงมายากลมาก่อนแล้วเป็นที่เรียบร้อย…

 

ที่เดียวในโลก แปลงเพลงแมมโบ้ เป็นเพลงจ้ำบ๊ะ 

แม้ท่วงทำนองของ ‘ใต้ร่มเชอรี่’ หรือ Cherry Pink and Apple Blossom White ฉบับพากย์ไทย จะออกแนวหวาน ทว่า ท่วงทำนองยั่วยวนของ Cherry Pink and Apple Blossom White เวอร์ชั่น เปเรซ ปราโด กลับเดินเข้าสู่โลกแห่งความทะลึ่งตึงตัง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นพ่ายแพ้กลับบ้านไป เข้าสู่ยุคสงครามเวียดนามที่สายลมของการถ่ายโอนวัฒนธรรมดนตรีกำลังจะเข้าถาโถมในวงการบันเทิงไทย สถานบันเทิงน้อยใหญ่เตรียมความพร้อมด้วยวงร็อคและลานเต้นรำ เมื่อทหาร GI ออกท่องราตรี นอกจากดนตรีร็อค เพลงเต้นรำอย่างแมมโบ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงสุดฮิตอย่าง Cherry Pink and Apple Blossom White ต้องถูกขอให้เล่นในบาร์ระบำโป๊อย่างแน่นอน

เมื่อถูกขอให้เล่นมากๆ เข้า ประกอบกับความเฟื่องฟูของจ้ำบ๊ะ Cherry Pink and Apple Blossom White จึงกลายเป็นภาพแสดงแทนลีลายั่วยวนเพื่อเปิดหัวระบำโป๊เปลื้องผ้าในบ้านเราไปในที่สุด จากดนตรีที่มีกลิ่นรัญจวนใจ ซาวน์ดสนุกสนานเย้ายวน ขี้เล่นนิดๆ ทะลึ่งตึงตังหน่อยๆ จึงเหมาะเจาะพอดีกับบรรยากาศโรงจ้ำบ๊ะ นี่จึงเป็นที่มาของการเข้าสู่วงการจ้ำบ๊ะของ Cherry Pink and Apple Blossom White ที่ฝังลึกในจินตนาการของคนไทยนับตั้งแต่ยุค 50 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

พลันเมื่อเสียงทรัมเป็ตโซโล่ฝีมือของ ‘บิลลี เรจิส’ (Billy Regis) ขึ้นมาแค่ท่อนอินโทร ความวาบหวามก็เข้าเกาะกุมจิตใจผู้ชมในทันที ประกอบกับท่วงทำนองสุดเย้ายวนของบทเพลง ทำให้หลายคนนึกภาพ ‘สาวเปลื้องผ้า’ ‘ระบำโป๊’ และ ‘จ้ำบ๊ะ’ ขึ้นมาทันที

บิลลี เรจิส กลายเป็นตำนานเคียงคู่กับ เปเรซ ปราโด ราชาแมมโบ้ ที่ส่ง Cherry Pink and Apple Blossom White โด่งดังในวงการดนตรีโลกตราบจนถึงปัจจุบัน

 

จาก ‘ใต้ร่มเชอรี่’ ถึง ‘โรงจ้ำบ๊ะ’ แบบไทยไทย

เพลง ‘ใต้ร่มเชอรี่’ ที่นำทำนอง Cherry Pink and Apple Blossom White มาใส่เนื้อไทย มี 2 เวอร์ชั่นคือของ ‘ศรีสอางค์ ตรีเนตร’ เจ้าแม่โซปราโนลูกทุ่ง และของ ‘สวลี ผกาพันธุ์’ นักร้องลูกกรุงศิลปินแห่งชาติ มีเนื้อเพลงว่า

...โอ้เชอรี่เอ๋ย เราเคยภิรมย์สุขสันต์ ท่ามกลางแสงจันทร์สกาวสดใส
ใต้เชอรี่นี้ยังมีสัญญาว่าไว้ หัวใจยังจำ
กลิ่นเชอรี่หอม ยังนำโน้มใจใฝ่หา คร่ำครวญถึงคราเราเคยสุขล้ำ
ถ้อยคำว่ารักเธอชวนชักเรากล่าวย้ำ ทุกคำไม่เลือน
ระรี้ระริกจังลอยลม ชีชีชมชมยังดวงเดือน
ริบริบลับลับจะแชเชือน แชแชเชือนเชือนยังอาวรณ์
แว่บแว่บวับวับตามเวลา วนวนเวียนพาดวงใจจร
คิดคิดแค้นแค้นใจรอนรอน อาวรณ์อาลัย
ร่มเชอรี่นี้ คงมีเหลือเพียงความหลัง เฝ้ารอรักดังสัญญาว่าไว้
โอ้เชอรี่จ๋า นำพารักไปอยู่ไหน หัวใจคงครวญ...

แต่เมื่อ Cherry Pink and Apple Blossom White กลายมาเป็นเพลงประจำการเต้นระบำเปลื้องผ้า หรือจ้ำบ๊ะ บรรยากาศของใต้ร่มเชอรี่จึงแทบไม่เหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ระบำตาหรั่ง’ ที่มีวิธีประชาสัมพันธ์แบบแปลกใหม่ คือการพาสาวจ้ำบ๊ะเดินเท้าจากบ้านฝั่งธนฯ ข้ามสะพานพุทธฯ มาฝั่งพระนคร แน่นอน ใครที่ได้เห็นก็เล่ากันปากต่อปาก จนอยากไปชมกับตา ทั้งทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม

ในยุคนั้น นอกจากระบำตาหรั่ง ยังมีคณะระบำใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ระบำจ้ำบ๊ะ’ ซึ่งเปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมแพงถึง 1 บาททีเดียว