‘ดา วินชี’ และสัมพันธ์กับตระกูลเมดีชี ผู้อุปถัมภ์ที่ทั้งสร้างและทำลายศิลปินเอกของโลก

‘ดา วินชี’ และสัมพันธ์กับตระกูลเมดีชี ผู้อุปถัมภ์ที่ทั้งสร้างและทำลายศิลปินเอกของโลก

ตระกูลเมดีชี ซึ่งให้การอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินมากมาย สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับ ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ เป็นอย่างมาก จนเป็นแรงผลักดันให้เขากอบกู้ชื่อเสียงของตนเอง กระทั่งกลายเป็นศิลปินเอกผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์และของโลก

  • สมาชิกของตระกูลเมดีชีได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สนับสนุนความก้าวหน้าอย่างสูงในด้านศิลปะ, การธนาคาร และงานสถาปัตยกรรมที่ยังคงส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
  • 'เลโอนาร์โด ดา วินชี' ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เอกบุรุษแห่งยุคเรอเนสซองส์’ และเป็นหนึ่งในสามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์’ (Holy trinity) แห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ 
  • ดา วินชี เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวในปี 1515 ว่า “ตระกูลเมดีชี สร้างฉันขึ้นมา และทำลายฉันจนย่อยยับในภายหลัง”

ถ้าจะพูดถึงยุคสมัยอันรุ่งเรืองที่สุดของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง ‘ยุคเรอเนสซองส์’ (Renaissance) หรือ ‘ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ’ ที่เริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 17 

ศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าได้อย่างสุดขีด อันเป็นผลจากการขุดพบซากเมืองโบราณของกรีกและโรมัน ซึ่งถือเป็นยุคทองของศิลปะและอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยศิลปินและนักสร้างสรรค์ในยุคนั้นนำศิลปวิทยาการที่ค้นพบมาปรับปรุง ดัดแปลง ตีความใหม่ จนทำให้ยุโรปในยุคนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในด้านศิลปะและศาสตร์ทุก ๆ สาขาเป็นอย่างมาก

แต่การเจริญก้าวหน้าของยุคเรอเนสซองส์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเหล่าบรรดาศิลปินแต่เพียงลำพัง เพราะนอกจากศิลปินจะต้องกินต้องอยู่เหมือนคนทั่ว ๆ ไป การทำงานศิลปะเองก็เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทรัพยากรและเงินทองอยู่ไม่ใช่น้อย ไหนจะค่าวัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบอย่าง สี, กระดาษ, ผ้าใบ, หินอ่อนชั้นดี 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ร่วงหล่นมาเองจากฟ้า หรือผลิดอกออกผลจากต้นไม้ให้ศิลปินได้หยิบฉวยไปใช้สอยกันตามใจชอบเสียเมื่อไหร่ หากไม่มีคนคอยอุปถัมภ์ค้ำชู, เลี้ยงดู, จ้างวาน หรือให้อามิสสินจ้าง ศิลปินเหล่านี้ก็คงไม่มีโอกาสได้ทำงานสร้างสรรค์กับเขา หนักเข้าก็อาจอดอยากปากแห้งกันเลยด้วยซ้ำ มิพักต้องพูดถึงว่าผลงานของศิลปินเหล่านั้นจะได้กลายเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมและกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของโลกจวบจนทุกวันนี้หรือเปล่าน่ะนะ?

การอุปถัมภ์ค้ำชูเหล่านี้เอง ที่เป็นส่วนช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการและความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมในยุโรปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งการอุปถัมภ์ค้ำชูจากเหล่าบรรดาผู้มีอำนาจอย่างศาสนจักร, พระสันตะปาปา, ขุนนาง, พ่อค้า, คหบดี, ชนชั้นสูง และเหล่าเศรษฐีตระกูลใหญ่ ผู้มีกำลังทรัพย์และอิทธิพลอย่างสูงในยุคนั้น ที่คอยให้การสนับสนุนเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย อาทิเช่น ตระกูลวิสคอนตี, ตระกูลสฟอร์ซา แห่งมิลาน, ตระกูลกอนซากา แห่งแมนทัว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อุปถัมภ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดอย่าง ตระกูลเมดีชี (House of Medici) แห่งฟลอเรนซ์

สมาชิกของตระกูลเมดีชี เป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลสำคัญแห่งยุคเรอเนสซองส์ จากการที่พวกเขาได้วางรากฐานให้แก่ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของฟลอเรนซ์ สมาชิกของตระกูลเมดีชีได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สนับสนุนความก้าวหน้าอย่างสูงในด้านศิลปะ, การธนาคาร และงานสถาปัตยกรรมที่ยังคงส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน 

หนึ่งในสมาชิกของตระกูลคนสำคัญอย่าง ‘โลเรนโซ เดอ เมดีชี’ (Lorenzo de’ Medici) นั้น เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของฟลอเรนซ์ในยุคเรอเนสซองส์ เขาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่าบรรดาปัญญาชน ศิลปิน และกวี จนกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการสร้างยุคสมัยที่รุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมที่สุดแห่งยุคเรอเนสซองส์

เขาให้การสนับสนุนและชุบเลี้ยงศิลปินอย่าง บรูเนลเลสกี (Brunelleschi), บอตตีเชลลี (Botticelli),  ไมเคิลแองเจโล (หรือ ‘มีเกลันเจโล’) (Michelangelo), ราฟาเอล (Raphael) หรือแม้แต่นักปรัชญาอย่าง มาคิอาเวลลี (Nicolo Machiavelli) และนักวิทยาศาสตร์อย่าง กาลิเลโอ (Galileo) และหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคเรอเนสซองส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลเมดีชีก็คือ ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ (Leonardo da Vinci) นั่นเอง

เลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นศิลปินเอกแห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาการหลากสาขา ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, เขียนแบบ, สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์และทฤษฎีต่าง ๆ 

มีเพียงศิลปินไม่กี่คนเท่านั้นในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเทียบเคียงเลโอนาร์โด ดา วินชี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เอกบุรุษแห่งยุคเรอเนสซองส์’ เขาเป็นหนึ่งในสามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์’ (Holy trinity) แห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ ร่วมกับ ไมเคิลแองเจโล และราฟาเอล 

ดา วินชียังเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของผลงานชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Mona Lisa, The Last Supper และภาพกายวิภาคมนุษย์อันลือลั่นอย่าง Vitruvian Man ที่ต่างก็เป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกตลอดกาล

ผลงานชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังในโลกศิลปะอย่าง Mona Lisa (1503 - 1505) หรือ La Gioconda นั้น เป็นภาพเหมือนของ ‘ลิซา เกอราร์ดีนี’ ภรรยาของ ‘ฟรานเชสโก เดล โจกนโด’ ขุนนางใหญ่แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ภาพวาดนี้ครองใจนักวิจารณ์และผู้รักศิลปะทั่วโลก ด้วยรอยยิ้มอันเป็นปริศนา และการใช้เทคนิคการวาดภาพที่เรียกว่า ‘สฟูมาโต’ (Sfumato) หรือ ‘การใส่ควัน’ ซึ่งเป็นการเกลี่ยขอบและองค์ประกอบของบุคคลและวัตถุให้พร่าเลือนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้างและธรรมชาติเบื้องหลัง เพื่อสร้างความสมจริงเช่นเดียวกับที่ตามนุษย์มองเห็น ซึ่งเทคนิคสฟูมาโตนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญในการถือกำเนิดของยุคทองของเรอเนสซองส์

Mona Lisa หรือ La Gioconda (1503 -1505/07) ผลงานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี
หรือผลงานชิ้นเอกที่เป็นที่เลื่องลืออีกชิ้นของเขาอย่าง The Last Supper (1495 - 1498) ภาพวาดฝาผนัง พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ ท่ามกลางอัครสาวกทั้งสิบสอง ก่อนที่จะทรงถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ถือเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก

The Last Supper (1498) ผลงานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี
เดิมทีภาพวาดนี้ ดา วินชี ได้รับการว่าจ้างจาก ‘ลูโดวีโก สฟอร์ซา’ ดยุคแห่งมิลาน ซึ่งเป็นผู้อุปภัมถ์ของเขา ให้วาดภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ ซานตา มาริอา เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน ดา วินชี เริ่มต้นวาดภาพนี้ในปี 1495 และแล้วเสร็จในปี 1498 โดยไม่ได้วาดอย่างต่อเนื่อง 

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าผลงานชิ้นนี้ของดา วินชี เป็นภาพจิตรกรรมแบบปูนเปียก (Fresco) (ที่ใช้สีฝุ่นผสมน้ำแล้ววาดลงบนปูนปลาสเตอร์ที่ยังไม่แห้งซึ่งทาไว้บาง ๆ บนผนัง เมื่อปูนแห้งก็จะทำให้สีซึมลงในเนื้อปูนและติดผนังอย่างถาวรโดยไม่ต้องเคลือบสี) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพวาด The Last Supper ของ ดา วินชี เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง (Fresco-secco หรือ a secco) ซึ่งเป็นวิธีวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตรงกันข้ามกับเทคนิคการวาดแบบปูนเปียก

เทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง จะทำโดยการผสมสีกับสารที่ทำให้ติดผนัง เช่น ปูนขาว, ไข่, กาว, น้ำนม หรือน้ำมัน เพื่อให้สียึดติดกับผนังปูนที่แห้งแล้ว

ที่ ดา วินชี เลือกใช้เทคนิคปูนแห้งวาดภาพแทนที่จะใช้เทคนิคปูนเปียก เหตุเพราะบางสีไม่สามารถทำได้สวยจากการวาดภาพแบบปูนเปียก ด้วยความที่ปฏิกิริยาเคมีที่เป็นด่างของปูนจะทำให้สีหมอง ไม่สดใส โดยเฉพาะสีน้ำเงิน จิตรกรสมัยเรอเนสซองส์ตอนต้นหลายคนจึงมักจะใช้เทคนิคปูนแห้ง เพื่อให้ได้สีสันที่สดใสและหลากหลายกว่าเทคนิคปูนเปียก

ดา วินชีเองก็ไม่ใช้เทคนิคปูนเปียกวาดภาพ The Last Supper เพราะอยากให้ภาพนี้มีสีสันสดใสเรืองรองกว่า ที่สำคัญ เขาไม่ชอบเทคนิคปูนเปียก เพราะเขามองว่ามันทำให้เขาต้องรีบเร่งวาดภาพให้เสร็จก่อนที่ปูนจะแห้งนั่นเอง ซึ่ง ดา วินชี เป็นจิตรกรที่ขึ้นชื่อว่าทำงานเชื่องช้าอ้อยอิ่งที่สุดในยุคเรอเนสซองส์เลยก็ว่าได้

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับภาพนี้ว่า ในขณะกำลังวาดภาพ รองเจ้าอาวาสของโบสถ์ที่ ดา วินชี วาดภาพอยู่ ได้ตำหนิเขาเกี่ยวกับความล่าช้าในการวาดภาพนี้ จนทำให้เขาฉุนขาด เลยร่อนจดหมายไปหาเจ้าอาวาส ใจความว่า “เขากำลังกลุ้มใจ เพราะว่ายังหาใบหน้าเหมาะ ๆ สำหรับเป็นแบบให้ ยูดาส อิสคาริโอท อัครสาวกผู้ทรยศด้วยการขายพระเยซูคริสต์ไม่ได้ ถ้ามาเร่งเขามากนัก เขาจะเอาหน้าของรองเจ้าอาวาสมาเป็นแบบเสียเลยดีไหม?”

สุดท้ายเสียงบ่นก็เงียบหายไปโดยปริยาย...

แต่การใช้เทคนิคปูนแห้งนี่เอง ก็ส่งผลให้ภาพวาด The Last Supper เสื่อมสภาพและสูญหายไปเกือบหมดจากผลกระทบจากกาลเวลา, สภาพแวดล้อม และศัตรูที่สำคัญที่สุดอย่าง ความชื้น เพราะสีไม่ได้ซึมลงไปอยู่ในเนื้อปูน แต่เกาะอยู่แค่บนพื้นผิวปูนเท่านั้น ทำให้เกิดความเสียหายกับภาพ จนองค์ประกอบดั้งเดิมของภาพวาดภาพนี้ เช่น ฝีแปรง หรือรายละเอียดที่ ดา วินชี วาดไว้ เหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีความพยายามบูรณะอย่างมากมายจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายในปี 1999 

อย่างไรก็ดี ภาพวาดชิ้นนี้ก็ถือเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก เทียบเคียงได้กับภาพวาดปูนเปียกบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า ผลงานชิ้นเอกของศิลปินยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อีกคนอย่าง ไมเคิลแองเจโล เลยก็ว่าได้

ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของ ดา วินชี ที่เพิ่งค้นพบหลักฐานว่าเป็นผลงานของเขาในปี 2012 อย่าง Salvator Mundi (1500) (เป็นภาษาละตินแปลว่า ‘Savior of the World’ หรือ ‘พระผู้ช่วยให้รอดของโลก’ ซึ่งหมายถึง พระเยซู นั่นเอง) 

Salvator Mundi (1500) ผลงานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี

ภาพวาดนี้นอกจากจะแสดงภาพพระเยซูคริสต์ชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนแบบที่ปรากฏบ่อยครั้งในภาพวาดของพระเยซูคริสต์ทั่ว ๆ ไปแล้ว รายละเอียดอันโดดเด่นอีกประการในภาพนี้ก็คือ มืออีกข้างของพระองค์ยังถือลูกแก้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทรงกลมแห่งสรวงสวรรค์ (Celestial sphere) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้นั่นเอง

ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้วอลนัตภาพนี้ ถูกประมูลขายไปโดยสถาบันประมูลคริสตี้ส์ นิวยอร์ก ในราคา 450.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 13,608 ล้านบาท ซึ่งถูกซื้อไปโดย ‘มุฮัมมัด บิน ซัลมาน’ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทำให้กลายเป็นภาพวาดราคาแพงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการขายมา

ภาพวาดนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดจำนวนน้อยกว่า 20 ชิ้น ที่คาดว่าเป็นผลงานของ ดา วินชี ถึงแม้จะมีปริศนาและข้อโต้แย้งบางอย่างเกี่ยวกับหลักฐานและที่มาที่ไปของภาพก็ตามที

นอกจากงานศิลปะแล้ว ความสงสัยใคร่รู้ทางปัญญาและจินตนาการของ ดา วินชี ก็ยังทำให้เกิดไอเดียและสิ่งประดิษฐ์มากมาย ที่จดและร่างภาพเอาไว้ในสมุดบันทึกจำนวนมหาศาลของเขา ทั้งแผนภาพทางวิทยาศาสตร์ (ที่เป็นเหมือนต้นธารของสิ่งประดิษฐ์ในอนาคตอย่าง ร่มชูชีพ, เฮลิคอปเตอร์ และรถถังทหาร) ภาพร่างและภาพวาดทางกายวิภาค, พฤกษศาสตร์ และทฤษฎีเกี่ยวกับการวาดภาพ ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อดังอย่าง อี. เอช. กอมบริช (E. H. Gombrich) กล่าวเอาไว้ว่า “ยิ่งเราได้อ่านบันทึกเหล่านี้มากเท่าไร เราก็ยิ่งไม่เข้าใจว่ามนุษย์คนหนึ่งสามารถเป็นเลิศในศิลปวิทยาการอันยิ่งใหญ่และแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ทั้งหมดได้อย่างไร”

ดา วินชี ยังออกแบบงานสถาปัตยกรรมอันเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมากมาย ทั้งทางส่งน้ำระยะทาง 32 ไมล์ ที่เชื่อมเมืองมิลานกับทะเลสาบโคโม ได้อย่างชาญฉลาด หรือการออกแบบบันไดเวียนเกลียวคู่อันงดงาม เปี่ยมทักษะทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ด้วยความสามารถของเขาในการผสมผสานวิสัยทัศน์แห่งการสร้างสรรค์เข้ากับทักษะการแก้ปัญหาที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ใช้งานได้จริง ดา วินชีช่วยสร้างหลักการทางสถาปัตยกรรมที่ส่งอิทธิพลสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ

ถึงแม้ เลโอนาร์โด ดา วินชี จะได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากตระกูลเมดีชีเช่นเดียวกับศิลปินคนอื่น ๆ ในยุคเรอเนสซองส์ โดยเขาได้รับการศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นผ่านเครือข่ายของตระกูลเมดีชี โดย ‘อันเดรอา เดล แวร์รอกกีโอ’ (Andrea del Verrocchio) ศิลปินชั้นครูผู้อยู่ในอุปถัมภ์ของตระกูลเมดีชี รับดา วินชีเป็นเด็กฝึกงานตั้งแต่เขายังเป็นวัยรุ่นในช่วงปี 1460 - 1470 

โดยแวร์รอกกีโอทำงานเป็นช่างแกะสลักและศิลปินผู้สร้างสุสานให้ ‘เปียโร ดิ โคสิโม เดอ เมดีชี’ (Piero di Cosimo de’ Medici) และหนุ่มน้อย ดา วินชีก็ได้ฝึกฝนเรียนรู้การแกะสลัก การวาดภาพ งานโลหะ และงานวิศวกรรมจากศิลปินชั้นครูผู้นี้เป็นเวลาสิบปี แต่ ดา วินชี กลับไม่ถูกรวมอยู่ในลิสต์รายชื่อของศิลปินผู้โดดเด่นของ ‘โลเรนโซ เด เมดีชี’ ที่นำไปเสนอตัวถวายงานให้พระสันตะปาปา ในปี 1481 ซึ่งทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจอย่างมาก ดังที่เขาเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวในปี 1515 ว่า “ตระกูลเมดีชี สร้างฉันขึ้นมา และทำลายฉันจนย่อยยับในภายหลัง”

แต่ในภายหลัง เลโอนาร์โด ดา วินชี ก็กอบกู้ชื่อเสียงและสถานภาพของตัวเองจนกลายเป็นศิลปินเอกผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์และของโลกได้ในท้ายที่สุด

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพ: (ซ้าย) ภาพวาด ดาวินชี (ขวา) ภาพวาด โลเรนโซ เด เมดีชี โดย บรอนซิโน (Bronzino) ประกอบกับ ตราประจำตระกูลเมดีชี

 

อ้างอิง: 

หนังสือ Leonardo’s legacy: how Da Vinci reimagined the world โดย Stefan Klein

หนังสือ Leonardo da Vinci: Renaissance man โดย Alessandro Vezzosi 

เว็บไซต์ theartstory.org

เว็บไซต์ artincontext