29 มี.ค. 2566 | 22:33 น.
- ‘วินเซนต์ แวน โก๊ะ’ ถูกจดจำในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกคนของโลก แต่ขณะที่เขามีชีวิต กลับมีชะตาอาภัย ขายภาพได้ชิ้นเดียวในชีวิต มีอาการป่วยทางจิต และเคยเฉือนใบหูตัวเอง
- ‘แวน โก๊ะ’ โด่งดังหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ภาพต่าง ๆ ของเขามีมูลค่ามหาศาล
ถ้าเราจะพูดถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ระดับตำนานที่มีชีวิตสุดแสนอาภัพในโลกศิลปะ เราคงจะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจาก ‘วินเซนต์ แวน โก๊ะ’ (Vincent van Gogh) จิตรกรชาวดัตช์ในยุคหลังอิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) ผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะสมัยใหม่แห่งโลกตะวันตก
ตลอดชีวิตการทำงาน แวน โก๊ะ ดิ้นรนที่จะถ่ายทอดสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณลงในผลงานแต่ละชิ้นของเขาอย่างเต็มเปี่ยม ภาพวาดของเขาเต็มไปด้วยฝีแปรงอันหนักหน่วงจากการใช้เทคนิค Impasto (การใช้สีหนาหนักป้ายลงไปบนผืนผ้าใบจนเห็นเป็นรอยฝีแปรงหรือรอยเกรียงปาดสีจนหนานูนขึ้นมา เพื่อมุ่งแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของศิลปินมากกว่าจะนำเสนอความเหมือนจริงอย่างที่ตาเห็น) ถ่ายทอดสีสันสว่างสดใสเจิดจ้า เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวาลงบนผืนผ้าใบ
ในขณะเดียวกัน ตลอดชีวิตการเป็นศิลปิน เขาเป็นศิลปินผู้ยากไร้ ไม่ประสบความสำเร็จในการแสวงหาชื่อเสียง ไม่สมหวังในความรัก มีอาการป่วยทางจิต หนำซ้ำตลอดอาชีพการเป็นศิลปิน เขาขายภาพวาดได้แค่เพียงภาพเดียวเท่านั้น ท้ายที่สุดเขายังจบชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถ
ถึงแม้ต้นตอแห่งแรงบันดาลใจของ แวน โก๊ะ จะมีที่มาจากความทุกข์ยากในชีวิต และความไม่มั่นคงทางจิตใจของเขา แต่สภาวะทางอารมณ์อันคุ้มดีคุ้มร้ายเช่นนี้นี่เอง ที่ส่งผลให้ภาพวาดของเขาสะท้อนสภาวะภายในจิตใจออกมาได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลังอย่างยิ่ง
บุคลิกภาพทางอารมณ์อันคลุ้มคลั่งของเขากลายเป็นภาพลักษณ์อันสุดแสนโรแมนติกของศิลปินผู้ทนทุกข์ ผู้เผาผลาญตัวเองเป็นเชื้อไฟแห่งศิลปะ อันเป็นภาพสะท้อนของชีวิตเหล่าบรรดาศิลปินแห่งศตวรรษที่ 20 ทั้งหลาย
ต้นกำเนิดของวินเซนต์ แวนโก๊ะ
‘วินเซนต์ วิลเลิม แวน โก๊ะ’ (Vincent Willem van Gogh) (หรืออ่านในภาษาดัตช์ว่า ‘ฟัน โคค’) เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมืองบราบังท์ ตำบลซันเดิร์ต เนเธอร์แลนด์ เขาเป็นบุตรชายคนโตในครอบครัวของบาทหลวงในลัทธิคาลวิน (ในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่แต่งงานมีครอบครัวได้) วินเซนต์สนใจในศิลปะมาตั้งแต่สมัยเด็ก ไม่ใช่ในฐานะคนวาดภาพ แต่เป็นคนขายมากกว่า
เมื่ออายุได้ 15 ปี เขาเริ่มต้นอาชีพการงานด้วยการเป็นลูกจ้างในหอศิลป์ค้างานศิลปะของลุงของเขา แต่ด้วยความที่เป็นคนซื่อ เถรตรง จึงมักมีปัญหากับการที่แกลเลอรีมักจะเอางานชั้นเลวมาหลอกขายให้ลูกค้าที่ไม่รู้จักงานศิลปะ เขาถึงกับบอกให้ลูกค้าไม่ซื้อภาพวาดเหล่านั้นหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้เขาถูกไล่ออกจากงานในที่สุด
หลังจากนั้น แวน โก๊ะ หันไปสู่เส้นทางของการเป็นบาทหลวงอย่างจริงจัง แต่เขาก็สอบเข้าโรงเรียนสอนศาสนาไม่ได้ เพราะไม่ยอมเรียนภาษาละตินและภาษากรีก เพราะเขาไม่เห็นว่าภาษาโบราณเหล่านี้จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากตรงไหน เขายังถูกโรงเรียนสอนศาสนาอีกนิกายระบุว่า เป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงและจิตใจไม่มั่นคงหลังจากเข้าเรียนได้ไม่กี่เดือน แต่แวน โก๊ะ หาได้แยแสไม่
หลังจากนั้นเขาย้ายไปอยู่ในเหมืองถ่านหินในเมืองกันดารเพื่อเทศนาสั่งสอนช่วยเหลือคนทุกข์ยากในเหมืองนั้นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยมีความตั้งใจใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเทศน์ แต่ก็ประสบความล้มเหลวอีก ในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มสเกตช์และวาดภาพคนในเหมืองเอาไว้
สู่เส้นทางสายศิลปะ
หลังจากกลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ แวน โก๊ะ หวนกลับมาวาดรูปอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการวาดภาพคนและทิวทัศน์ด้วยการศึกษาเทคนิคการวาดภาพจากหนังสือกายวิภาคและทัศนียภาพ รวมถึงหนังสือศิลปะต่าง ๆ เขาวาดภาพชาวนาและทิวทัศน์ในละแวกบ้านด้วยปากกาและสีน้ำ ในช่วงแรกเขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปินชั้นครูอย่าง มีแลต์ (Jean-François Millet), โดเมียร์ (Honoré Daumier) และเรมบรันต์ (Rembrandt) เหตุผลที่แวน โก๊ะ เซ็นชื่อด้วยชื่อต้นอย่าง Vincent แทนที่จะเป็นชื่อสกุลของ แวน โก๊ะ ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากการเซ็นชื่อเรมบรันต์นั่นเอง
ในช่วงปี 1881 เขาได้เข้าเรียนศิลปะกับ อองตง มูฟ (Anton Mauve) จิตรกรเหมือนจริงชั้นครูแห่งสถาบัน Hague School of art ในกรุงเฮก ที่ไม่เพียงสอนพื้นฐานการวาดภาพและการใช้สีน้ำและสีน้ำมัน หากแต่ยังขยายขอบเขตของพื้นฐานการแสดงออกในฐานะศิลปินให้กับเขาด้วย ในช่วงนี้เองที่เขาวาดภาพหุ่นนิ่งรูปกะหล่ำปลีและรองเท้าไม้ หรือ Still Life with Cabbage and Clogs (1881) ออกมา ด้วยการใช้สีเอิร์ธโทนอันมืดหม่นในสไตล์ดัตช์ ผสมผสานกับการใช้แสงสว่างสดใส ซึ่งจะกลายเป็นสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาในภายหลัง
หลังจากประสบกับมรสุมในชีวิต ทั้งจากการเสียชีวิตของพ่อ และการผิดหวังในความรัก ในช่วงปลายปี 1883 - 1885 แวน โก๊ะ ใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านทางเหนือของเมืองนูนเอิน และมุ่งเน้นบันทึกภาพชีวิตของชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาและทอผ้า ในช่วงนี้นี่เองที่เขาวาดภาพ The Potato Eaters (1885) ที่นำเสนอภาพชีวิตของครอบครัวชาวนาล้อมวงกินอาหารมื้อค่ำอย่างสมถะ ภาพวาดนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลในการใช้แสงเงาอันจัดจ้านที่เขาได้รับจากเรมบรันต์ ผลงานชิ้นนี้นับเป็นงานชิ้นเอกชิ้นแรกของแวน โก๊ะ เลยก็ว่าได้
สัมผัสแห่งสีสันอันเจิดจ้าและอิทธิพลจากตะวันออกไกล
ในช่วงปี 1886 เขาย้ายไปอยู่อาศัยในปารีสกับธีโอ น้องชายของเขาซึ่งเป็นนายหน้าค้างานศิลปะผู้มีชื่อเสียง ที่นั่น เขาได้มีโอกาสชมนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังในยุคนั้นอย่าง โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet), ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) และ ฌอร์ฌ เซอรา (Georges Seurat) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการทำงานของเขาอย่างมาก
ในช่วงเวลานั้น แวน โก๊ะ ยังได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกับศิลปินหนุ่มอดีตนายหน้าค้าหุ้น ปอล โกแกง (Paul Gauguin)
ในช่วงปี 1887 แวน โก๊ะ เริ่มทดลองใช้เทคนิคการแต้มจุดสี (Pointillist) ที่ได้รับอิทธิพลจากเซอรา ในการภาพวาดใบหน้าตัวเองของเขาหลายภาพ อาทิ ภาพวาด Self-Portrait with Grey Felt Hat (1887) ที่ใช้ปื้นสีเล็ก ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนผสานตัวกันเป็นรูปเป็นร่างเมื่อมองในระยะไกล และเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกของความเคลื่อนไหวแห่งสีสันในภาพ
ในช่วงนั้นเองที่แวน โก๊ะ เริ่มสนใจในงานศิลปะญี่ปุ่นที่เรียกว่า อุกิโยเอะ (Ukiyo-e) อันเต็มไปด้วยสีสันสดใสฉูดฉาดบาดตา ซึ่งเขาและศิลปินในยุคสมัยนั้นอย่าง โมเนต์ และเอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) ต่างก็สะสมภาพเหล่านี้
แวน โก๊ะเองก็ซื้อภาพอุกิโยเอะ เอาไว้มากมาย และได้รับอิทธิพลของการใช้องค์ประกอบและสีสันมาอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความนิยมที่เรียกขานว่า Japonisme นั่นเอง โดยแวน โก๊ะ คัดลอกและดัดแปลงภาพอุกิโยเอะของศิลปินอุกิโยเอะชาวญี่ปุ่น คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) หรือ เคไซ เอเซ็น (Keisai Eisen) ออกมาเป็นแบบฉบับของเขาเอง อย่างเช่นภาพ Courtesan (after Eisen (1887)) ที่คัดลอกภาพนางคณิกาของเอเซ็น แต่เปลี่ยนฉากหลังจากดอกซากุระในภาพต้นฉบับให้เป็นดอกบัวในสระแทน
บ้านสีเหลือง
ในปี 1888 แวน โก๊ะ ย้ายออกจากบ้านของธีโอ ในปารีสไปอยู่ในเมืองอาร์ลส ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยไปเช่าบ้านที่เขาเรียกว่า ‘บ้านสีเหลือง’ และวาดภาพทิวทัศน์ท้องทุ่งดอกไม้ ท้องทะเล ทิวทัศน์เมือง และภาพวาดบุคคลกว่า 200 ภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพ The Yellow House (The street) (1888), The Bedroom (1888) และผลงานที่เพิ่งถูกค้นพบล่าสุดเมื่อปี 2013 อย่าง Sunset at Montmajour (1888)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพวาดชุด ‘ดอกทานตะวัน’ ที่เขาทำต่อเนื่องจากช่วงที่เขาอยู่กับน้องชายที่ปารีส ภาพวาดดอกทานตะวันดอกใหญ่สีเหลืองอร่ามท่ามกลางฉากหลากสไตล์ชุดนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของแวน โก๊ะ อันเป็นที่รักของเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิจารณ์ และคนรักศิลปะทั่วโลก จากการใช้ค่าสีเหลืองหลากหลายเฉด กับฝีแปรงอันหนาหนักจนกลีบและเกสรดอกไม้มีความนูนแลดูเป็นสามมิติ และการผสมผสานความเรียบง่ายซื่อตรงเข้ากับรายละเอียดอันรุ่มรวยเปี่ยมอารมณ์ ซึ่งเป็นแบบฉบับอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา
มิตรภาพและจุดแตกหัก
ในบ้านสีเหลืองแห่งนี้นี่เอง แวน โก๊ะ ตระเตรียมห้องหับเพื่อต้อนรับโกแกง ที่วางแผนมาเยี่ยมเยือนเขาในอาร์ลส (อันที่จริงโกแกงไม่ได้สนใจจะคบค้าสมาคมกับแวน โก๊ะ นัก แต่สนใจธีโอ น้องชายของเขาที่เป็นนายหน้าค้างานศิลปะชื่อดังมากกว่า นัยว่าอยากตีสนิทน้อง เลยเข้าทางพี่อะไรเทือกนั้น)
ถึงแม้ แวน โก๊ะ จะวาดหวังไว้อย่างสวยงามกับการมาเยือนของโกแกงว่าทั้งคู่จะได้ร่วมกันทำงานและสร้างชุมชนศิลปะกันในบ้านแห่งนี้ แต่ความฝันของเขาก็พังทลายอย่างไม่เป็นท่า เพราะถึงแม้ทั้งคู่จะตื่นเต้นและสนุกกับการทำงานในช่วงแรก และต่างวาดภาพที่เป็นตัวแทนของกันและกันออกมาหลายภาพ
แต่ด้วยทัศนคติในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุเพราะแวน โก๊ะ ชอบการทำงานกลางแจ้งที่ปะทะตอบโต้กับดินฟ้าอากาศ เผชิญหน้ากับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างตรงไปตรงมา และถ่ายทอดลงไปบนผืนผ้าใบอย่างฉับพลันทันใด ในขณะที่โกแกง เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว ชอบทำงานสบาย ๆ ในสตูดิโอ โดยวาดภาพจากความทรงจำและจินตนาการเสียมากกว่า
เมื่อความตึงเครียดระหว่างทั้งคู่พุ่งถึงขีดสุด พวกเขามีปากมีเสียงและลงไม้ลงมือกัน แวน โก๊ะ สติขาดจนฉวยมีดโกนขึ้นข่มขู่โกแกง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ใช้มีดโกนเฉือนส่วนหนึ่งของใบหูตัวเองออกแทน (ไม่ได้ตัดทั้งใบหูออกมาอย่างที่หลายคนเข้าใจ) จนทำให้โกแกงตัดสินใจกลับปารีส เป็นการสิ้นสุดมิตรภาพและการอยู่ร่วมชายคาเดียวกันของศิลปินทั้งคู่
ว่ากันว่า แวน โก๊ะ นำชิ้นส่วนของใบหูที่ถูกเฉือนออกไปมอบเป็นของขวัญให้แก่โสเภณีคนโปรดของเขาจนกลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวไปทั่ว วันรุ่งขึ้นมีคนพบแวน โก๊ะ นอนสิ้นสติอยู่บนเตียงห้องพัก เสียเลือดจนเกือบตาย
หลังจากเหตุการณ์นี้ แวน โก๊ะ ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยทางจิต เขาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชแซง-พอล ในเมืองแซง-เรมี-เดอ-โพรวอง (Saint-Rémy-de-Provence) แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น เขาก็ยังสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ทั้งภาพทิวทัศน์รอบโรงพยาบาลที่แวดล้อมด้วยต้นมะกอกและต้นสนไซเปรส ภาพวาดดอกไอริสในสวน และภาพวาด Starry Night Over the Rhône (1888) รวมถึงภาพวาด The Starry Night (1889) อันลือลั่น ที่วาดทิวทัศน์จากมุมมองของหน้าต่างห้องที่เขาพักในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งนี้นี่เอง ภาพวาดนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของเขาอันเป็นที่รักและจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกตะวันตก
วาระสุดท้ายของแวนโก๊ะ
ในช่วงปี 1890 เขาออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ใกล้ ๆ กับน้องชายในเมืองเล็ก ๆ ใกล้กรุงปารีสชื่อ โอแวร์ซูว์รวซ (Auvers-sur-Oise) ในช่วงนั้นแวน โก๊ะ สนิทสนมกับดอกเตอร์ปอล กาแช (Dr. Paul Gachet) นายแพทย์และจิตรกรสมัครเล่นผู้เข้ามาช่วยดูแลอาการและเป็นมิตรสหายที่ดีของเขา และยังเป็นนายแบบให้เขาวาดภาพออกมาหลายภาพอีกด้วย
ถึงแม้อาการป่วยทางจิตของเขาเริ่มย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ แต่เขาก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่หยุดหย่อน โดยเขาสร้างผลงานออกมากว่า 80 ชิ้น ที่ใช้สีสันสดใสเจิดจ้า เดือนสุดท้ายของชีวิตเขาหันมาใช้โทนสีเขียวและน้ำเงินและเส้นโค้งเป็นลอนลูกคลื่นบิดเบือนวัตถุและรูปทรงต่าง ๆ อย่างต้นไม้ ก้อนเมฆ ทุ่งหญ้า และท้องฟ้า เพื่อสร้างพลังความเคลื่อนไหวอันเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกในภาพ ลักษณะการทำงานเช่นนี้ของเขาก้าวล้ำไปไกลกว่าศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ในยุคก่อนหน้า และกลายเป็นหนึ่งในรากฐานของงานศิลปะ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ ในที่สุด
หลังจากวาดภาพ Wheatfield with Crows (1890) ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา (แต่ก็มีหลักฐานใหม่มาว่าจริง ๆ แล้วผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขาน่าจะเป็นภาพวาด Tree Roots (1890) มากกว่า โดยในจดหมายของ อันดรีส์ บองเกอร์ (Andries Bonger) น้องเขยของธีโอ น้องชายของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ได้บรรยายไว้ในจดหมายว่า “ในยามเช้าก่อนที่เขาจะเสียชีวิต วินเซนต์ แวน โก๊ะ วาดภาพฉากป่าไม้ที่เต็มไปด้วยแสงอาทิตย์และชีวิตชีวา)
ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1890 แวน โก๊ะ ถูกพบว่านอนจมกองเลือดในห้องพัก มีร่องรอยบาดแผลถูกยิงที่หน้าอกจนบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมาด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ในวัยเพียง 37 ปี มีการระบุอย่างเป็นทางการว่า เขาฆ่าตัวตาย แต่บางคนก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เขาน่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในยามที่มีปากเสียงกับเด็กหนุ่มผู้คึกคะนองในละแวกนั้นมากกว่า
ชื่อเสียงอันเรืองรองหลังความตาย
ในช่วงเวลาแค่เพียงสิบกว่าปีของอาชีพการทำงาน แวน โก๊ะ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะราว 2,100 ชิ้น โดยเป็นภาพวาดสีน้ำมันกว่า 900 ชิ้น และภาพวาดลายเส้น 1,100 ชิ้น ส่วนใหญ่ทำขึ้นในช่วงเวลา 2 ปีสุดท้ายในชีวิตเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์, หุ่นนิ่ง และภาพวาดบุคคลที่วาดด้วยสีสันสดใส ฝีแปรงที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง
ถึงแม้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ แวน โก๊ะ จะประสบความล้มเหลวด้านรายได้ในอาชีพศิลปิน และมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบากยากจน ตลอดชีวิตเขาขายภาพวาดได้เพียงภาพเดียวเท่านั้น ด้วยความที่ผลงานของเขานั้นแปลกใหม่ล้ำหน้า และเป็นอะไรที่มาก่อนกาลเอามาก ๆ
แต่ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต ภาพวาดของแวน โก๊ะ กลับกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างมาก จากการผลักดันของ โยฮันนา แวน โก๊ะ-บองเกอร์ (Johanna van Gogh-Bonger) ภรรยาม่ายของธีโอ น้องชายของเขา ทำให้ในปัจจุบัน ผลงานที่ไม่เคยมีใครแยแสตอนที่เขายังมีชีวิต กลับกลายเป็นของล้ำค่า ราคาพุ่งพรวด จนกลายเป็นภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก บางภาพมีราคาสูงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานและเรื่องราวการอุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขายังส่งอิทธิพลให้กับพัฒนาการกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะจำนวนนับไม่ถ้วนจวบจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะโฟวิสม์ (Fauvism) และแอบสแตร็กต์ เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) เป็นต้น ในภายหลัง วินเซนต์ แวน โก๊ะ ได้รับยกย่องให้เป็นจิตรกรเอกชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่เทียบเคียงเรมบรันต์ และถูกยกให้เป็น ‘บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่’ ในที่สุด
เรื่องราวชีวิตของแวน โก๊ะ ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นเชื้อไฟให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ว่าจะเป็นในรูปของงานเขียน อย่างนวนิยายชีวประวัติ Lust for Life (1934) โดยนักเขียนชาวอเมริกัน เออร์วิง สโตน (Irving Stone) ที่หยิบยกเอาเนื้อหามาจากจดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชาย ธีโอ ซึ่งต่อมาถูกนำมาทำเป็นหนังในชื่อ Lust for Life (1956) ที่นักแสดงเจ้าบทบาทอย่าง เคิร์ก ดักลาส รับบทเป็นแวน โก๊ะ อย่างถึงเลือดเนื้อ
ปริศนาเบื้องหลังอาการป่วยของแวน โก๊ะ
ในยุคศตวรรษที่ 19 เหล่าจิตรกรต่างได้รับอานิสงส์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมกันถ้วนหน้า ความก้าวหน้าของการค้นคว้าทางเคมีทำให้เกิดการผลิตสีชนิดใหม่ ๆ ขึ้นมาหลายสิบสี ที่มีความสดใสและทนทานกว่าเดิมอย่างมาก แวน โก๊ะเองก็เช่นกัน เขา (ขอเงินจากน้องชาย) ซื้อสีใหม่ ๆ เหล่านี้มาใช้มากมาย
แต่ในทางกลับกัน สีสันที่สดใสเหล่านี้ก็ซ่อนพิษร้ายที่ส่งผลต่อสุขภาพของเขาอย่างมาก ทั้งสีเขียวสดที่มีส่วนผสมของทองแดงและสารหนู ซึ่งปกติใช้เป็นยาเบื่อหนู หรือสีขาวที่มีส่วนผสมของตะกั่ว และสีแดงสดที่มีส่วนผสมของปรอท ซึ่งเชื่อกันว่าอาการป่วยทางระบบประสาทของแวน โก๊ะ เกิดจากผลกระทบของสารพิษเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่อาการป่วยทางจิตของเขากำเริบหนัก ๆ เขาบีบสีเหล่านี้สด ๆ จากหลอดเข้าปากกินเลยด้วยซ้ำ
นอกจากอาการป่วยทางระบบประสาทแล้ว เขายังมีอาการป่วยอีกหลายประการ ทั้งโรคจิตเภท, ซิฟิลิส (ที่ติดจากโสเภณีที่เขามักไปข้องแวะ), โรคเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง,
บางคนเชื่อว่าเขายังเป็นโรคไบโพลาร์ ที่ทำให้เขามีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก รวมถึงโรคลมชัก, สภาวะจิตหลอน และโรคขาดสารอาหาร จากการติดสุราเรื้อรัง ด้วยเหตุที่ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองอาร์ลส เขาดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหล้าแอบแซงธ์, กาแฟดำ และยาสูบเป็นหลัก โดยไม่ค่อยมีอาหารอะไรตกถึงท้องนัก
แต่ถึงแม้จะมีภาพจำว่าเป็น ‘ศิลปินบ้าคลั่งผู้ตัดหูตัวเอง’ ถูกบดบังอัจฉริยภาพทางศิลปะด้วยความเจ็บป่วยทางจิต และถูกคนส่วนใหญ่มองว่าผลงานของเขาเป็นผลพวงมาจากความวิปริตผิดเพี้ยนและความบิดเบี้ยวทางจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า อันที่จริงแล้ว แวน โก๊ะ อาจจะเป็นศิลปินผู้มีความรู้ และทักษะพื้นฐานในการทำงานศิลปะสูง ทั้งการใช้องค์ประกอบและสีสัน และทำงานด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบ มากกว่าจะทำไปตามสัญชาตญาณแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งล้มล้างความเชื่อที่ว่า เขาเป็นแค่ศิลปินอารมณ์รุนแรงที่ปาดป้ายสีสันลงบนผ้าใบไปตามความรู้สึกเท่านั้น
สไตล์การทำงานอันแปลกประหลาด รุนแรง และทรงพลัง และการใช้สีสันได้อย่างกล้าหาญ โดดเด่น เปี่ยมความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกภายในอย่างฉับพลัน เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงกระตุ้นเร้าอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือนของเขา ส่งอิทธิพลต่อศิลปินและกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่างมากมายนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงปัจจุบัน
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ภาพ: ภาพวาดเหมือนของตัวเองโดยแวน โก๊ะ, Self-portrait with bandaged ear (1889) ไฟล์ public domain