‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นร.ที่เคยถูกเชิญออก ชีวิตรันทด ก้าวสู่กวีเอกแห่งยุค และศิลปินแห่งชาติ

‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นร.ที่เคยถูกเชิญออก ชีวิตรันทด ก้าวสู่กวีเอกแห่งยุค และศิลปินแห่งชาติ

‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ ตำนานแห่งศิลปิน กวีเอกแห่งยุค ลูกศิษย์สายตรงของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ช่วงเรียนเคยถูกเชิญออก นอนตามวัด-สุสาน เก็บข้าวบูดกิน ก่อนใช้ฝีมือพิสูจน์ตัวเอง ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ และได้รางวัลซีไรต์

เดิมชื่อ ‘บุญส่ง’

อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นลูกกำนันในจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 แรกเริ่มเดิมทีบิดาตั้งชื่อให้ว่า ‘สมประสงค์’ แต่ไม่นาน ย่าก็จัดการเปลี่ยนชื่อหลานให้เป็น ‘บุญส่ง’ เพราะย่าชอบชื่อนี้มากกว่า

ตอนเล็ก ๆ อังคารเป็นเด็กขี้โรค ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่งป่วยเข้าขั้นโคม่าอาการหนัก ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ เอาแต่นอนมองฟ้าทำตาปริบ ๆ แทบจะซี้แหงแก๋ไปแล้ว โชคดีได้หมอเก่งมาช่วยไว้เลยรอดชีวิตมาได้ แต่ก็อยู่ในสภาพสะบักสะบอมจนต้องเริ่มหัดเดินเหินกันใหม่หมดอีกหน

 

ร่ายกาพย์กลอนได้ตั้งแต่เล็ก

อังคาร เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดจันทาราม กับโรงเรียนวัดใหญ่จนจบป.4 หลังจากนั้นย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใหญ่โตและเก่าแก่ ก่อตั้งกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พอเริ่มอ่านหนังสือออกอังคารหลงใหลในวรรณคดีไทยที่บรรพบุรุษของเรามักแต่งไว้ในรูปแบบของกาพย์กลอน อังคารท่องจำกลอนบทต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเอื้อนได้ไพเราะเสนาะหูจนมักจะถูกเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียนในการร่ายบทกลอนในงานต่าง ๆ นอกจากนั้น ในเวลาว่าง อังคารยังชอบวาดรูป และปั้นวัด ปั้นเจดีย์ทรายเล่นตามประสาเด็ก

รอดตายจากระเบิด

เพราะรักศิลปะมากกว่าจะมานั่งปวดกระหม่อมคิดเลข อังคารจึงเลือกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ที่นั่นท่านได้มีโอกาสเรียนศิลปะกับศิลปินชั้นนำของประเทศอย่างเฉลิม นาคีรักษ์ ช่วงที่อังคาร เรียนอยู่เพาะช่างเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี วันหนึ่งมีเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตร บินมาทิ้งระเบิดตั้งใจจะทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และสะพานพุทธ สถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้ ๆโรงเรียน แต่พลาดเป้า ลูกระเบิดลอยละล่องมาตกตูมตามที่เพาะช่างแทน ทั้งครูทั้งนักเรียนต่างเตลิดหนีตายกันวุ่นวาย คนที่หนีไม่ทันก็ล้มหายตายจากกันไป ส่วนอังคารที่ดวงยังไม่ถึงฆาต โชคช่วยอยู่ในกลุ่มที่หลบทัน

‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นร.ที่เคยถูกเชิญออก ชีวิตรันทด ก้าวสู่กวีเอกแห่งยุค และศิลปินแห่งชาติ

รันทดชีวิต จนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อังคาร’

จากเพาะช่าง อังคาร สอบเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2488 นับเป็นรุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับศิลปินที่ภายหลังมีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง ประยูร อุลุชาฎะ และไพบูลย์ สุวรรณกูฏ สมัยนั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังกำกับการสอนอยู่ อังคารจึงได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในลูกศิษย์สายตรงของอาจารย์ศิลป์ด้วยเลย

อังคาร เรียนอยู่ที่ศิลปากรได้ประมาณ 2 ปีก็ดันไปมีปัญหากับเพื่อนนักเรียนจนต้องถูกเชิญออก พอไม่ได้เรียนช่วงนั้นท่านหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานศิลปะเล็ก ๆ น้อย ๆ และแต่งกลอนขาย แต่ก็ไม่ได้รายได้อะไรเท่าไหร่ ทำให้มีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากสุด ๆ ต้องอาศัยนอนตามวัด ตามสุสาน และเก็บข้าวบูดมากิน อังคารมองสารรูปตัวเองแล้วคิดว่าดูไม่ต่างจากธุลีที่ไม่มีค่าอะไร จึงเซ็งจัดตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก ‘บุญส่ง’ ที่เหมือนว่าบุญจะไม่ค่อยส่งแล้ว เป็น ‘อังคาร’ ที่หมายความถึงผงเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพ ไม่ใช่อังคารที่เป็นชื่อวัน

คัดลอกจิตรกรรม กับ อ.เฟื้อ

ด้วยความปลง อังคารบวชเป็นพระอยู่ซักพักจนเฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของอังคาร ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมาชวนให้ไปช่วยโครงการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทยโบราณ โดยการตระเวนคัดลอกลวดลายจิตรกรรมฝาผนัง และรวบรวมข้อมูลของโบราณสถานทั่วประเทศ ทั้งที่สุโขทัย อยุธยาศรีสัชนาลัย เพชรบุรี กำแพงเพชร เอาไว้ให้ครบถ้วน เผื่อวันหน้าวันหลั งศิลปะของบรรพชนเหล่านี้เกิดผุพังหายไปจะได้มีหลักฐานบันทึกไว้

ทั้งคู่เดินทางไปยังโบราณสถานทั่วเมืองไทยนับพันแห่ง ใช้เวลาหลายปี ระหว่างนั้น ทั้งอังคาร ทั้งเฟื้อ ก็เกือบตายแต่เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิดหลายต่อหลายหน เช่นเมื่อครั้งที่ไปลอกลายจิตรกรรมของพระปรางค์องค์หนึ่งในบริเวณวัดราชบูรณะ จังหวัดนครศรีอยุธยา หลังจากที่เพิ่งเสร็จงานไม่นาน พระปรางค์ก็ถล่มลงมา ถ้าทำงานช้าไปอีกนิดคงได้เป็นผีอยู่เฝ้ากองพระปรางค์เก่านั่นไปแล้ว

นอกจากจิตรกรรมฝาผนัง อังคาร ยังได้รับความไว้วางใจโดยกรมศิลปากรให้เป็นผู้คัดลอกสมุดข่อยสมัยอยุธยาเรื่องไตรภูมิพระร่วง ร่วมกับเฟื้อ เพื่อส่งไปเผยแพร่และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี.

 

มือหนึ่งด้านการตวัดแท่งถ่าน

ด้วยประสบการณ์ในการอนุรักษ์ผลงานศิลปะไทยโบราณ และความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากเฟื้อ หริพิทักษ์ ปรมาจารย์ในด้านนี้ ทำให้อังคาร มีความเชี่ยวชาญในเรื่องจิตรกรรมไทยอย่างจัดจ้าน จนสามารถต่อยอดผลิตผลงานแนวสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเองได้สำเร็จ

อังคาร เป็นจิตรกรสมัยใหม่ของไทยที่ไม่ได้อินกับอิทธิพลทางศิลปะของฝรั่งอะไรทั้งนั้น แทนที่จะตามอย่างตะวันตก ท่านเลือกที่จะนำความอ่อนช้อยเป็นอิสระของลวดลายที่คิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษของพวกเราเอง สะท้อนออกมาให้เป็นผลงานศิลปะรูปแบบร่วมสมัยที่ดูสวยงามและเป็นสากลได้อย่างน่าทึ่ง อังคาร ถนัดในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมด้วยวัสดุโบราณ ๆ อย่างสีฝุ่น แผ่นทองคำเปลว และแท่งถ่าน หรือที่เรียกว่า ‘ชาร์โคล์’ โดยฝีมือปาดชาร์โคล์ของท่านนั้น ว่ากันว่าเป็นที่หนึ่งในปฐพี ตวัดยุกยิกขยุกขยิกแป๊บเดียวก็ออกมาเป็นภาพลายกนก พรรณพฤกษา สัตว์ป่าหิมพานต์ ที่ดูที่พลิ้วไหวได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นร.ที่เคยถูกเชิญออก ชีวิตรันทด ก้าวสู่กวีเอกแห่งยุค และศิลปินแห่งชาติ

กวีเอกแห่งยุคสมัย

ส่วนในด้านวรรณศิลป์ อังคาร เริ่มแต่งกาพย์กลอนได้เองแล้วตั้งแต่สมัยมัธยม ท่านนำบทประพันธ์ในอดีตอย่างของศรีปราชญ์ สุนทรภู่ เจ้าฟ้ากุ้ง มาใช้เป็นครู ก่อนจะต่อยอดไปในรูปแบบสมัยใหม่ที่เป็นเป็นอิสระไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ในสไตล์ของท่านเอง 

อังคาร พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับกวีร่วมสมัยท่านอื่น ๆ อยู่เสมอ ในสมัยก่อน สถานที่ที่มักใช้นัดกันคือ ‘บ่อนกวี’ ซึ่งก็คือโต๊ะประจำในร้านมิ่งหลี ติดกับรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในขาประจำของที่นั่นคือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี หรือ ‘ท่านจันทร์’ ที่สนิทชิดเชื้อกับอังคาร เป็นพิเศษ ผู้คนที่ผ่านไปมามักพบเห็นกวีคู่นี้ตั้งหัวข้อดวลกวีกันอยู่เสมอ เพราะเหตุนี้หลาย ๆ คนจึงเรียกอังคารว่า ‘ท่านอังคาร’ คู่กันไปด้วยเลย ทั้ง ๆ ที่อังคารไม่ได้มีเชื้อเจ้าขุนมูลนายมาจากที่ไหน

อังคาร เป็นที่รู้จักเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และในหมู่กวีด้วยกัน จนได้พบกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ‘ส. ศิวรักษ์’ จากคำแนะนำของ อวบ สาณะเสน จิตรกรชื่อดังที่เป็นเพื่อนของบุคคลทั้งคู่ อังคาร พาสุลักษณ์ เที่ยวชมอยุธยาพร้อมเล่าเก็ดความรู้นู่นนี่นั่นให้ฟังอย่างละเอียด ที่รู้เยอะก็เพราะได้อานิสงส์จากตอนที่มาขลุกตัวอยู่เป็นปี ๆ ตามโบราณสถานกับเฟื้อ อีกนั่นแหละ

เล่าเรื่องอย่างเดียวคงกลัวลูกทัวร์จะฟินไม่พอ อังคารเลยร่ายกลอนให้สุลักษณ์ ฟังซะชุดใหญ่ จนสุลักษณ์ ที่ก็ถือว่าเป็นนักคิดนักเขียนระดับสุดยอดของประเทศแล้วยังต้องยอมซูฮกให้ พอได้เจอกวีแท้ ๆ ที่มีความสามารถสูงส่งเทียบเคียงได้ยากอย่างนี้ สุลักษณ์ก็ถึงกับเอ่ยปากว่าอยากจะเลิกเขียนกลอนไปเลย

สุลักษณ์ ประทับใจในความสามารถของอังคารมาก จึงได้นำบทกวีของอังคาร ลงตีพิมพ์ในนิตยสารที่ท่านเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งที่มีชื่อว่า ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ที่ออกวางแผงราวพ.ศ. 2506 และเผยแพร่ต่อเนื่องในฉบับต่อ ๆ มาเป็นประจำ 

ผลงานของอังคาร เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นจนมีทั้งคนชมและคนด่า คนชมก็ชอบลีลากาพย์กลอนที่เป็นอิสระไม่มีรูปแบบตายตัว ใช้คำตรง ๆ แรง ๆ กระแทกอารมณ์ ส่วนคนด่าก็หาว่าอังคาร แต่งกลอนไม่เป็นฉันทลักษณ์เพี้ยน และใช้คำหยาบคาย อังคาร ก็ไม่ได้แยแสอะไร มุ่งแต่งกลอนจรรโลงโลกในรูปแบบของท่านเองต่อไป โดยมักมุ่งเน้นเนื้อหาสะท้อนสังคม เช่นความไม่ยุติธรรมของชนชั้นที่คนด้อยโอกาสยังไงก็อยู่อย่างยากลำบากวันยังค่ำ ในขณะที่อภิสิทธิ์ชนก็มีแต่จะสบายเอาสบายเอา

ความสามารถของอังคารนั้นสูงส่งล้นเส้นเขตแดน ไม่ได้ต้องตาต้องใจเฉพาะแต่นักปราชญ์ในเมืองไทย ครั้งหนึ่งเมื่ออลัน กินส์เบิร์ก หนึ่งในกวีสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้มาเข้าใจจินตนาการและเนื้อหาของบทกวีฝีมืออังคารก็ถึงกับอึ้ง จนขอนำไปแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษให้โลกรู้ 

ไม่นานต่อมา อังคาร ยังได้รับรางวัลซีไรต์ หรือรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ประจำปีพ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นรางวัลระดับสากล จากผลงานกวีนิพนธ์ที่ชื่อว่า ‘ปณิธานกวี’ และในปีพ.ศ. 2532 อังคารก็ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นร.ที่เคยถูกเชิญออก ชีวิตรันทด ก้าวสู่กวีเอกแห่งยุค และศิลปินแห่งชาติ

จะเกิดมาเป็นกวีอีกในทุกชาติไป

ด้วยรางวัลเกียรติยศประดับประดามากมาย อังคาร ไม่ได้ยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้สักเท่าไหร่ ท่านมองว่าคนเราเกิดมาต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สร้างคุณงามความดีและประโยชน์ทิ้งไว้ให้ส่วนรวม อย่าเอาแต่หาความสุขความสบายเข้าตัวให้คนอื่นนินทาว่าเกิดมารกโลก นั่นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่แล้ว

อังคารเปรียบเปรยว่า มนุษย์ชอบไปตั้งจุดหมายสูงสุดในชีวิตให้สิ่งอื่น เช่น ตั้งจุดหมายให้ฝูงเป็ดว่าสุดท้ายพวกมันจะได้กลายเป็นเป็ดพะโล้ แต่ไม่ค่อยคิดจะตั้งจุดหมายชีวิตให้กับตนเอง

สำหรับอังคารแล้ว จุดหมายสูงสุดของท่านทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป คือการได้เป็นกวีร้อยเรียงบทประพันธ์อันแฝงไว้ด้วยแง่คิดที่จะช่วยยกระดับจิตใจมนุษย์ให้ดีงามบริสุทธิ์ อังคาร ใช้เวลาทั้งชีวิตเดินตามเป้าหมายจวบจนวาระสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 

ถึงในวันนี้ ชีวิตของอังคาร จะดับสูญตามกาลเวลา ไปรอเกิดในภพภูมิใหม่เพื่อเป็นกวีในอีกทุกชาติตามที่ท่านมุ่งมั่นตั้งใจ แต่บทกวีจากชาตินี้ของอังคารจะยังคงอยู่เป็นนิรันด์ ดังบทกลอนของท่านที่กล่าวว่า

‘นิพนธ์กวีไว้เพื่อกู้ วิญญาณ

กลางคลื่นกระแสกาล เชี่ยวกล้า

ชีวีนี่มินาน เปลืองเปล่า

ใจเปล่งแววทิพย์ท้า ตราบฟ้าดินสลายฯ’

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: The Art Auction Center