01 เม.ย. 2566 | 15:38 น.
- ‘เฟื้อ หริพิทักษ์’ จิตรกรที่มีชีวิตราวนิยาย มีผลงานมากมายทั้งในแง่ส่งประกวดและในแง่การอนุรักษ์จนได้รับรางวัลแมกไซไซ
- ด้วยผลงานและคุณประโยชน์ที่ท่านทำมาตลอดชีวิต ทำให้เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับเรียกขานเป็นครูใหญ่แห่งวงการศิลปะไทย
มีเพียงยายเป็นที่พึ่ง
เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2453 ทารกนามว่า เฟื้อ นามสกุล ทองอยู่ ได้ถือกำเนิดในเรือนแพแถว ๆ ย่านราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ที่สมัยนี้ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปแล้ว นายเปล่ง บิดาของเฟื้อเป็นมหาดเล็กกรมช่างผู้มีฝีมือในการวาดภาพ แต่ไม่ได้อยู่สอนลูกชายเพราะท่านลาโลกไปก่อนตั้งแต่ตอนที่เฟื้อยังไม่ทันคลอด
ต่อมาไม่นาน นางเก็บ ผู้เป็นมารดาก็ถึงแก่กรรมตามกันไปอีก ยายทับทิม ผู้เป็นยายแท้ ๆ ของเฟื้อ จึงต้องรับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายเฟื้อผู้กำพร้าแต่เพียงลำพัง
เกือบจะเรียนจบโรงเรียนเพาะช่างแต่ลาออกก่อน
เมื่ออายุครบเกณฑ์ เฟื้อเข้าเรียนชั้นประถมที่วัดสุทัศน์ ที่นั่น ท่านได้เห็นผลงานจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างไทยโบราณเป็นครั้งแรกจนเกิดความรู้สึกประทับใจฝังรากลึกอยู่ภายในอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เฟื้อเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร พอจบก็ไปสมัครงานเป็นเสมียนรถไฟทำได้ 2 วันก็ลาออกเพราะไม่ถูกจริต เลยไปสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2472 หวังจะเอาดีทางด้านศิลปะ
เฟื้อเรียนอยู่ 5 ปี สอบผ่านหมดแล้วเกือบทุกวิชา แต่ตัดสินใจเลิกเรียนเอาดื้อ ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบ เพราะมีแนวคิดที่แตกต่างจากกรอบการเรียนการสอนที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ในขณะนั้น
หลังออกจากโรงเรียน เฟื้อไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์นอกชั้นเรียนของขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต นักเขียนการ์ตูนคนแรกของเมืองไทย และว่ากันว่าเป็นศิลปินไทยคนแรกที่เริ่มวาดภาพในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ เฟื้อก็เลยได้รับอิทธิพลศิลปะในรูปแบบนี้ติดตัวมาด้วย
ศิลปินหนุ่มไส้แห้งอินเลิฟกับหญิงผู้สูงศักดิ์
ต่อมา เฟื้อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้คอยดูแล ในช่วงเวลาที่เฟื้อเป็นนักเรียนศิลปะ ท่านได้พบกับหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร สตรีผู้สูงศักดิ์
ทั้งคู่ปลูกดอกรักกันท่ามกลางการกีดกันจากญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง แต่ก็ไม่มีอะไรจะมาหักห้ามความรักระหว่างเขาและเธอได้ สุดท้ายถึงกับต้องหนีตามกันไปอยู่ห้องเช่าเล็ก ๆ ทั้งคู่ต่างเป็นนักศึกษาศิลปะด้วยกัน ตอนเช้าก็ไปเรียน ตอนค่ำก็กลับมานั่งจู๋จี๋ นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งของบุคคลทั้งสอง โลกทั้งใบช่างสดใสเป็นสีชมพู ถึงแม้จะอัตคัดขัดสนเงินทองก็ไม่แคร์ เฟื้อ และภรรยาให้กำเนิดบุตรชายด้วยกัน 1 คน
เกือบจะเรียนจบโรงเรียนประณีตศิลปกรรมแต่ลาออกก่อน (อีกแล้ว)
พอเรียนไปเรียนมา เฟื้อเริ่มจะอึดอัดกับกรอบการสอนศิลปะของโรงเรียนประณีตศิลปกรรม เลยซ้ำรอยลาออกอีกทีให้รู้แล้วรู้รอด แล้วไปขอเป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์แบบตัวต่อตัว อาจารย์ศิลป์ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไรเพราะชื่นชมในฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของเฟื้อมาก ถึงแม้เฟื้อจะมีจิตวิญญาณอิสระคิดขัดแย้งกับหลักการเรียนการสอนก็เถอะ เฟื้อจึงเรียนนอกห้องเรียนไปด้วยช่วยงานอาจารย์ศิลป์ไปด้วย
ซวยซ้ำซ้อนจนต้องจัดแจงเปลี่ยนนามสกุล
จนเมื่อ พ.ศ. 2484 เฟื้อได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ศิลป์ และทุนทรัพย์จากภรรยา ที่อินเดีย เฟื้อได้เห็นการคัดลอก และอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมโบราณจากตามกำแพงโบสถ์ กำแพงถ้ำ เลยเกิดไอเดียขึ้นว่า บ้านเราน่าจะทำแบบนี้บ้าง
ช่วงแรก ๆ ที่ไปอยู่เมืองแขกก็มีความสุขดี แต่ไม่กี่เดือน ท่านก็ได้รับข่าวร้ายแบบสองต่อ ต่อแรกคือคุณยายทับทิมผู้ซึ่งเป็นบุพการีคนเดียวของเฟื้อถึงแก่กรรม ต่อที่สองคือว่ากันว่าภรรยาของท่านเกิดมีอาการทางสติครอบครัวจับย้ายไปรักษาถึงเมืองพระตะบองในเขมร จนทำให้ขาดการติดต่อและห่างหายกันไปในที่สุด
เฟื้อเสียใจแทบสิ้นสตินั่งเหม่อมองฟ้าท่ามกลางสายฝน หวังจะฝากชีวิตไว้กับเทพยดาในประเทศอินเดีย และตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ทองอยู่’ เป็น ‘หริพิทักษ์’ ที่แปลว่า ‘คุ้มครองโดยพระนารายณ์’ ในที่สุด
เป็นเชลยศึกโดนขังอยู่กลางทะเลทราย
เหมือนความวัวจะยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เฟื้อเรียนหนังสืออยู่ได้แค่ปีเดียว ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มแผ่ขยายเข้าไปในอินเดีย ครั้งนั้นอินเดียอยู่ฝั่งอังกฤษ ส่วนไทยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกัน
คนไทยในอินเดียเลยถูกจับเป็นเชลยศึก เฟื้อต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันที่แออัดท่ามกลางทะเลทราย สุขอนามัยก็ย่ำแย่ มีคนเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคติดต่อแทบทุกวัน เฟื้อที่ทั้งป่วยทั้งขาดอาหาร อยู่รอดมาได้โดยการทำสมาธิ ฝึกโยคะ ปล่อยอารมณ์ด้วยการวาดภาพจากวัสดุธรรมดา ๆ เท่าที่พอจะหาได้ วาดดีจนได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดศิลปะที่เขาจัดกันในค่าย ขลุกอยู่อย่างนั้น 5 ปีจนสงครามเลิกถึงถูกปล่อยตัวกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน
พอกลับมา เฟื้อไม่มีบ้านเพราะไฟไหม้วอดวายไปหมดในระหว่างสงคราม พินาศไปพร้อม ๆ กับผลงานศิลปะที่เคยวาดเก็บเอาไว้ เฟื้อไม่มีเงินติดตัว ไม่มีญาติให้พึ่งพิง โชคยังดีที่ท่านมีครูบาอาจารย์ผู้เมตตา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชวนให้เฟื้อมาช่วยงานและรับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นรุ่นแรก ท่านเลยรอดชีวิตมาได้
ชีวิตของเฟื้อค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับจนได้พบรักใหม่กับหญิงสาวนามว่า สมถวิล เฟื้อที่เคยว้าเหว่ก็กลับมากระชุ่มกระชวยด้วยความรักอีกหน
ชนะเลิศเหรียญทองงานศิลปกรรมแห่งชาติทุกรอบ
ระหว่างนั้นประเทศไทยมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 เฟื้อก็ไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ผลงานที่ว่าเป็นภาพทิวทัศน์ที่ท่านวาดเมื่อครั้งไปเที่ยวภูเขาแล้วมองลงมาเห็นต้นไม้ใบหญ้าเรือกสวนไร่นาสุดลูกหูลูกตา จนเกิดความประทับใจวาดภาพขึ้นมาแบบเร็ว ๆ และตั้งชื่อว่า ‘เพชรบุรี’
ภาพนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ปีต่อมาในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เฟื้อก็ร่วมส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดอีก
คราวนี้เป็นภาพเหมือนภรรยาของ ชิต เหรียญประชา ศิลปินนักแกะสลักคนสำคัญของไทย เฟื้อตั้งชื่อภาพว่า ‘ประกายเพชร’ ด้วยสีสะอาดสดใสเป็นประกายดุจอัญมณีและสีหน้าท่าทางที่ให้อารมณ์สมจริงของบุคคลในภาพ ท่านก็เลยได้รับรางวัลเหรียญทองไปครองอีกรอบ
เรียนต่ออิตาลีโดยมีแค่จดหมายรับรอง
ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2497 เฟื้อได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีเพื่อเดินทางไปเรียนศิลปะที่ ราชบัณฑิตยสถาน ณ กรุงโรม เฟื้อในวัย 44 ปีมีเพียงจดหมายรับรองของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ฉบับเดียวแทนใบปริญญาซึ่งเฟื้อไม่เคยมี
ข้อความในจดหมายสั้น ๆ นี้ไม่ได้มีอะไรวิลิศมาหรา เพียงระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ‘เฟื้อเป็นหนึ่งในศิลปินที่เก่งที่สุดในสยาม’ แค่นี้ก็พอที่จะทำให้สถาบันศิลปะอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลกแห่งนี้ยอมรับเฟื้อเข้าเป็นนักศึกษา
ช่วงที่ไปอยู่ต่างประเทศ เฟื้อพัฒนาฝีมือที่ว่าเก่งที่สุดในประเทศแล้ว ให้ยิ่งก้าวล้ำขึ้นไปอีกจนมีมาตรฐานอยู่ในระดับโลก ในบรรยากาศอันแปลกตาที่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของศิลปะ ผนวกกับความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมา
เฟื้อระบายความประทับใจในเมืองมักกะโรนีลงบนผืนผ้าใบตามแบบฉบับของท่านด้วยฝีแปรงที่รวดเร็วฉุบฉับในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ เฟื้อใช้สีสด ๆ ที่บีบออกจากหลอดปาดขวับลงไปเป็นปื้น ๆ ให้สีต่าง ๆ ผสมกันเองในภาพท่านเลือกใช้สีอย่างอิสระ ไม่ยึดติดกับหลักธรรมชาติ แต่ใช้ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านออกมาจากความรู้สึกภายในล้วน ๆ เราเลยได้เห็นภาพตึกสีแสด ทุ่งหญ้าสีชมพู ผู้หญิงสีฟ้า มะเลืองมะลัง อร้าอร่ามไม่เหมือนที่ตาเห็น
นอกจากภาพวาดแนวอิมเพรสชั่นนิสม์แล้ว เฟื้อยังริเริ่มสร้างผลงานในสไตล์คิวบิสม์ที่เป็นเหลี่ยมเป็นสัน นับว่าท่านเป็นศิลปินไทยคนแรก ๆ ที่นำเทคนิคศิลปะของตะวันตกเหล่านี้มาใช้จนเก่งกาจช่ำชอง
แรกเริ่มเดิมที เฟื้อได้ทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้มาเรียนต่อแค่ปีเดียว แต่พอครูบาอาจารย์ที่โรมเห็นฝีมือของท่าน เลยมีมติมอบทุนให้อยู่ต่ออีกปี ช่วงเวลาที่กินนอนอยู่ที่นั่น เฟื้อขยันสรรค์สร้างผลงานศิลปะที่ท่านรักอย่างมีความสุขโดยไม่เหน็ดไม่เหนื่อย เงินทองที่มีอยู่ไม่มากก็ใช้ลงทุนไปกับอุปกรณ์วาดภาพที่ดีที่สุดก่อน ส่วนตัวก็ประทังชีวิตอยู่ด้วยการต้มแป้งแล้วเอามาคลุกเกลือกินให้พออิ่มไปวัน ๆ อยู่อย่างนี้เฟื้อก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเพราะจิตวิญญาณของท่านคืองานศิลปะ
ชนะเลิศงานศิลปกรรมแห่งชาติซ้ำ ๆ จนได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม
เมื่อเฟื้อกลับมาเมืองไทยในอีก 2 ปีให้หลัง ท่านก็ส่งผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ในอิตาลีเข้าประกวดอีกครั้งในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2500 ภาพที่ส่งไปเป็นภาพวาดสีน้ำมัน ภาพนางแบบฝรั่งปาดด้วยสีเร็ว ๆ หนา ๆ ในแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ปน ๆ ไปกับการมีเหลี่ยมมีสันในแนวคิวบิสม์
ผลงานเหล่านี้สร้างความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจให้กับวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก เฟื้อได้รับเหรียญทองอีก นับเป็นเหรียญที่ 3 เข้าเกณฑ์ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติโดยอัตโนมัติ
เลิกวาดภาพแบบฝรั่ง หันมาคัดลอกจิตรกรรมไทยโบราณ
แทนที่เฟื้อจะมุ่งเอาดีทางการวาดภาพรูปแบบสมัยใหม่ที่กำลังไปได้สวย วาดไปเรื่อย ๆ มีหวังได้ร่ำรวย และมีชื่อเสียง เฟื้อกลับหันหลังให้โอกาสที่กำลังเข้ามาและมุ่งไปเอาดีทางด้านการคัดลอก และอนุรักษ์จิตรกรรมไทยฝีมือบูรพศิลปินที่กำลังผุพังเสียหายแทน
เดิมทีอาจารย์ศิลป์ไม่เห็นด้วย เพราะเสียดายฝีมือการวาดภาพของเฟื้อ แต่พอท่านได้เห็นสิ่งที่เฟื้อลงมือทำ อาจารย์ศิลป์ก็เห็นดีเห็นงามไปด้วยและนำไอเดียเรื่องความสำคัญที่ต้องเร่งอนุรักษ์ผลงานจิตรกรรมไทยก่อนจะสูญหายไปมาเขียนเป็นบทความที่มีชื่อว่า ‘พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว’
หนทางที่เฟื้อเลือกเดินนั้นแสนจะลำบากยากเข็ญและไม่ได้สร้างรายได้อะไรแต่ท่านก็ทำไปโดยไม่หวังลาภยศอะไรด้วยใจรักศิลปะโดยแท้
ในการทำงาน เฟื้อไม่ได้สักแต่ว่าก๊อปปี้ลวดลาย แต่ด้วยฝีมือที่สูงส่ง ท่านจึงสามารถลอกเอาความรู้สึก และจิตวิญญาณของภาพออกมาได้ด้วย เฟื้อตะลอนไปทั่วอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ภาพบนกำแพงวัดนับหมื่นนับแสนภาพทั่วประเทศนั้นจึงเคยสำผัสไอเหงื่อของเฟื้อมาแล้วทั้งนั้น
ถูกเรียกว่า ‘ผีหอไตร’
ผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่เฟื้อฝากไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้ชื่นชมภูมิใจ คือหอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม ที่บูรณะเสร็จสิ้นอย่างสวยงามทั้งหลัง
หอไตรแห่งนี้เดิมทีใช้เก็บของ และโลงศพรอเผา ตั้งอยู่ในบึงน้ำเน่า และกำลังจะถูกรื้อ วันดีคืนดี เฟื้อมาสำรวจและพบว่าในหอไตรแห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝีมือศิลปินคนสำคัญอย่าง อาจารย์นาค รวมถึงศิลปินนิรนามจากสกุลช่างอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขียนไว้เต็มไปหมด นับเป็นแหล่งชุมนุมศิลปินเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยอายุและฝุ่นจับหนาจึงเลือนไปมากไม่มีใครมองเห็น
เฟื้อเห็นดังนั้นก็ร้องไห้ร้องห่มอย่างกับตอนญาติเสีย โทรหาทั้งเพื่อนฝูง ทั้งกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องอ้อนวอนของบมาอนุรักษ์ไว้ไม่ให้รื้อทิ้ง พอได้เงินได้ทองพอเป็นค่าใช้จ่ายมาท่านก็ค่อย ๆ ลงมือบูรณะเองกับมืออย่างพิถีพิถีนที่สุด กินนอนอยู่ที่นั่นเป็นเวลานับทศวรรษจนคนในละแวกนั้นเรียกเฟื้อว่า ‘ผีหอไตร’
จิตรกรรางวัลแมกไซไซ
ผลงานการบูรณะหอไตรจากซากปรักหักพังจนเสร็จสมบูรณ์นี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศจนคณะกรรมการพิจารณารางวัลแมกไซไซ รางวัลที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดในภูมิภาค หรือเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของเอเชีย มีมติมอบรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2526 ให้กับเฟื้อ นับเป็นจิตรกรไทยรายแรกและรายเดียวที่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะไทย
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2528 ท่านก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์อีก
เฟื้อทำงานอนุรักษ์ร่วมกับการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนวัยทะลุเกษียณจวนเจียนจะ 80 แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาให้ความรู้และปลูกฝังความรักและหวงแหนศิลปะไทยให้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่
และแล้วเฟื้อก็เริ่มล้มป่วยในปี พ.ศ. 2533 โดยการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านป่วยอยู่ 3 ปี อาการไม่ดีขึ้น มีแต่แย่ลงจนท่านเป็นอัมพาตกลับกลายเป็นเจ้าชายนิทรา และถึงแก่กรรมในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536
เรื่องราวของ เฟื้อ หริพิทักษ์ จะยังคงถูกกล่าวขานต่อไป เรื่องของศิลปินผู้มุ่งมั่นเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำงานศิลปะเพื่อศิลปะแท้ๆโดยไม่ได้คาดหวังเงินทองลาภยศ จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายที่อำลาจากโลกนี้ไป ดังอุดมการณ์ที่เฟื้อ หริพิทักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า
“ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใสและจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ใต้สภาวะธรรม”
ด้วยแรงกายแรงใจที่เฟื้ออุทิศไว้ให้กับวงการศิลปะและประเทศชาติอันแสนจะมากมายเหลือคณานับ ท่านจึงถูกยกย่องด้วยความเคารพรักให้เป็น ‘ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะไทย’
เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: เฟื้อ หริพิทักษ์ ไฟล์จากคุณธีระ วานิชธีระนนท์ ประกอบกับฉากหลังเป็นผลงานของเฟื้อ ไฟล์จาก The Art Auction Center