01 ก.ย. 2566 | 13:29 น.
- เดิมทีซาเรียและแม่ของเธอวางแผนจะไปบันทึกการเปลี่ยนแปลงของภูเขาน้ำแข็ง แต่แม่เกิดเสียชีวิต ซาเรียจึงนำความฝันและเถ้ากระดูกของแม่ออกเดินทางไปพร้อมกับเธอ และฝากอัฐินั้นไว้กับทัศนียภาพที่แม่ของเธอรักเป็นที่สุดตลอดกาล
- ซาเรียถ่ายทอดภาพเหมือนจริงจากภาพถ่ายนับพันและเส้นสายในความทรงจำลงบนกระดาษขนาดใหญ่โต เธอจะใช้เพียงปลายนิ้วและฝ่ามือในการประทับรอยสีบนหน้ากระดาษ จนถูกขนานนามว่า ‘finger painter’
- เธอเลือกถ่ายทอดความงดงามที่ตรงข้ามกับหายนะ ด้วยหวังว่าผู้ชมจะเกิดความรู้สึกหวงแหนและปรารถนาที่จะรักษาความงดงามของธรรมชาตินี้ไว้แม้ไม่เคยไปเยือน
จากขั้วโลกเหนือที่ภูเขาน้ำแข็งกำลังละลาย สู่เส้นศูนย์สูตรที่น้ำทะเลหนุนท่วมท้นผืนดิน ‘ซาเรีย ฟอร์แมน’ (Zaria Forman) เดินทางไกลเพื่อบันทึกภาพถ่ายและความทรงจำจากทั่วโลก บนดินแดนที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำรายละเอียดนั้นมาสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนบนพื้นที่ที่ผลกระทบจากโลกรวนยังไม่ประจักษ์ชัดเจน
ความหลงใหลในการแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ
ซาเรียเติบโตในครอบครัวศิลปะ เธอเริ่มชีวิตในงานศิลปะตั้งแต่เด็ก โดยมีแม่เป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจ บ่อยครั้งที่ชีวิตวัยเด็กของเธอต้องเดินทางห่างจากบ้านในนิวยอร์กติดตามครอบครัวไปยังดินแดนห่างไกลที่มีภูมิทัศน์แปลกตา เพื่อให้ผู้เป็นแม่ได้บันทึกภาพเพื่อสร้างงานภาพถ่ายวิจิตรศิลป์
ณ ดินแดนไกลโพ้นนี้ ซาเรียได้เห็นความงดงามและความกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของธรรมชาติ เห็นพายุทรายบนผืนทะเลทรายเวิ้งว้าง เห็นลำแสงส่องสว่างกลางมหาสมุทรอาร์กติกที่กรีนแลนด์ เห็นสายฝนสาดกระหน่ำในประเทศอินเดีย เธอหลงรักความแปรปรวนและความสงบนิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในการเปลี่ยนแปลงของทัศนียภาพ และตระหนักว่าพละกำลังของมนุษย์นั้นแสนเล็กกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับพลังของธรรมชาติ
ประสบการณ์วัยเด็กทำให้เธอลุ่มหลงในมนต์เสน่ห์ของทัศนียภาพ โดยเฉพาะผืนฟ้าและผืนน้ำ และแม่ของเธอได้สอนเกี่ยวกับการใช้แสงบนภาพเขียน ทำให้งานศิลปะของเธอนั้นสมจริงราวกับวัตถุในรูปเปล่งแสงออกมาได้จริง
จุดเริ่มต้นของการสะท้อนปัญหาโลกรวนบนงานศิลปะ
“ภูเขาน้ำแข็งนั้นดูราวกับมีชีวิต มีการเคลื่อนไหว และส่งเสียงแบบที่ฉันไม่เคยคิดว่าจะเจอ”
ตั้งตระหง่าน ใหญ่โต และเย็นยะเยือก เบื้องหน้าซาเรียนั้นคือภูเขาน้ำแข็ง พร้อมสายน้ำที่หยดย้อยไหลรินแม้ยามเยียบเย็น เผยความอ่อนแอและเปราะบางที่เป็นผลพวงจากวิกฤตการณ์โลกรวนบนพื้นที่หน้าด่านใกล้ขั้วโลกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์
เดิมทีซาเรียและแม่ของเธอวางแผนจะนำคณะสำรวจไปยังชายฝั่งแห่งนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2012 เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของภูเขาน้ำแข็ง แต่เพียงช่วงต้นของการวางแผน แม่ของเธอก็ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในสมอง ซึ่งกัดกินทั้งร่างกายและจิตใจจนเสียชีวิตลงในอีก 6 เดือนต่อมา
แต่ตลอดช่วงเวลาที่ล้มป่วย แม่ไม่เคยถอดใจจากการเดินทางครั้งนี้ ซาเรียจึงนำความฝันและเถ้ากระดูกของแม่ออกเดินทางไปพร้อมกับเธอ และฝากอัฐินั้นไว้กับทัศนียภาพที่แม่ของเธอรักเป็นที่สุดตลอดกาล
และความใหญ่โตของทัศนียภาพเบื้องหน้า ทำให้ซาเรียเริ่มขยายขนาดงานศิลปะของเธอให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่อย่างที่เธอประสบพบเจอมาจริง
การเดินทางครั้งนั้น เธอได้พูดคุยกับชาวเอสกิโมท้องถิ่นถึงน้ำแข็งที่หายไป การใช้ชีวิตโดยการล่าแมวน้ำ ตัววอลรัส และสัตว์อื่นตามแนวฟยอร์ดที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เดินทางด้วยสุนัขลากเลื่อนในฤดูหนาวอันยาวนานเกือบทั้งปีบนพื้นที่ที่ไม่มีทางรถไฟเข้าถึง น้ำแข็งที่หายไปจึงหมายถึงพื้นที่หากินที่ลดลง และการถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่งผลกระทบที่เป็นภัยคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่น
เรื่องราวเหล่านั้นได้จุดประกายให้ซาเรียลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยต้นทุนที่เธอมีคือทักษะในงานศิลปะ เธอจึงใช้ภาพวาดนี้เป็นกระบอกเสียงส่งต่อข้อความจากดินแดนชายขอบให้คนเมืองรับรู้ถึงหายนะที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาจากวิกฤตโลกรวน
อีกหนึ่งปีต่อมา เธอไปเยือนประเทศมัลดีฟส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรห่างไกลออกไป ผลกระทบจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายก็กำลังทำให้เกาะที่สวยงามนี้จมลง นำไปสู่งานศิลปะชุดใหม่ ภาพคลื่นซัดกัดเซาะชายฝั่ง ที่ช่วยนำความสนใจมาสู่ประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการหายไปจากภาวะน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น
บนเกาะมัลดีฟส์นี้ ซาเรียและทีมงานชวนเด็กพื้นเมืองมามีส่วนร่วมในการบันทึกการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิประเทศของแผ่นดินบ้านเกิด และเด็ก ๆ ยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน ไปพร้อมกับการประมวลผลการแปรเปลี่ยนทางนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นรอบตัวพวกเขา
ศิลปะกับการดำรงรักษาธรรมชาติ
“การวาดภาพเปรียบประหนึ่งการทำสมาธิ และฉันหวังว่าผู้ชมจะรับรู้ถึงความรู้สึกสงบนี้จากงานของฉัน”
เพราะความผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเยาว์ ซาเรียได้นำประสบการณ์อันยิ่งใหญ่นี้มาแบ่งปันให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงสิ่งอัศจรรย์ที่ธรรมชาติสรรสร้าง ถ่ายทอดภาพเหมือนจริงจากภาพถ่ายนับพันและเส้นสายในความทรงจำลงบนกระดาษขนาดใหญ่โตเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบางครั้งมีความกว้างถึง 3 เมตร โดยใช้อุปกรณ์คือสีฝุ่นและสองมือ เพราะเธอจะใช้เพียงปลายนิ้วและฝ่ามือในการประทับรอยสีบนหน้ากระดาษ จนถูกขนานนามว่า ‘finger painter’
“ฉันชอบทำงานกับความผิดพลาดของตัวเอง”
ต่างกับการวาดรูปด้วยดินสอ การลงสีด้วยสีฝุ่นนั้นมีที่ว่างให้ความผิดพลาดเพียงน้อยนิด เพราะข้อจำกัดของผิวกระดาษที่รองรับสีได้เพียงไม่กี่ชั้น ซาเรียจึงสร้างงานโดยไม่ใช้ยางลบ และสนุกกับความท้าทายที่แก้ไขได้เพียงจำกัด กระบวนการทำงานที่เรียบง่ายนี้ยังให้เธอได้ระลึกถึงการปล่อยวาง โดยงานชิ้นหนึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
ผลงานศิลปะของซาเรียออกเดินทางส่งสารมาแล้วทั่วโลก รวมถึงปรากฏบนฉากในซีรีส์ ‘House of Cards’ ที่ฉายทาง Netflix งานของเธอยังทำให้เธอได้ร่วมเดินทางเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ขั้วโลกร่วมกับทีม National Geographic Explorer และ NASA
“จงมีเมตตาต่อโลกใบนี้ เพราะท่านค้ำจุนเรา”
ซาเรียกล่าวถึงภารกิจในงานศิลปะของเธอ บนภาพธรรมชาติที่สมจริงราวเปล่งเสียงของคลื่นลมและสายน้ำออกมาได้นั้น เธอเลือกถ่ายทอดความงดงามที่ตรงข้ามกับหายนะ ด้วยหวังว่าผู้ชมจะเกิดความรู้สึกหวงแหนและปรารถนาที่จะรักษาความงดงามของธรรมชาตินี้ไว้แม้ไม่เคยไปเยือน หรือหากว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ การศึกษาจิตวิทยาพฤติกรรมทำให้รู้ว่ามนุษย์ตัดสินใจด้วยอารมณ์ และศิลปะนั้นก็มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากยิ่งกว่าข่าวสารน่ากลัว
ศิลปะของเธอจึงเป็นอีกวิธีที่นำสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งไปยังผู้รับชมอย่างนุ่มนวลแต่ตรงประเด็น
ภาพ : ภาพ ‘ซาเรีย ฟอร์แมน’ จาก Getty Images, ภาพผลงานของ ‘ซาเรีย ฟอร์แมน’ จากอินสตาแกรม zarialynn
อ้างอิง :