‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’

‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’

เรื่องราวของ ‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินประเภทสมบูรณ์แบบนิยมขั้นรุนแรง ผลงานชิ้นไหนถ้าไม่เพอร์เฟกต์สุด ๆ ในสายตา อย่าได้หวังว่าจะยอมปล่อยผ่านให้เสียมาตรฐาน

  • ในบรรดาลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ศิลป์ สมโภชน์นี่น่าจะอินกับวิชาสุนทรียศาสตร์ และเพลงที่ได้ฟังมากที่สุด จนอาจารย์ศิลป์ไว้วางใจให้เป็นผู้ควบคุมเครื่องเล่นแผ่นเสียง และตั้งฉายาให้ว่า ‘นายโอเปอเรเตอร์’
  • เห็นภาพวาดสวย ๆ ฝีมือสมโภชน์จนคุ้นตา หลายคนเลยหลงคิดไปเองว่าสมโภชน์คงจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยวิชาเอกจิตรกรรม แต่จริง ๆ แล้วท่านเรียนจบวิชาเอกประติมากรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า เงินทองไม่ค่อยมี 
  • ในวันงาน สมโภชน์ก็ยังไม่มีเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองอะไรจะให้ว่าที่ศรีภรรยา มีแต่ภาพวาด 100 ภาพที่มอบให้เป็นของขวัญแทนใจ

‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูธารกำนัลซักเท่าไหร่ แต่สำหรับนักสะสมศิลปะมากประสบการณ์ และเหล่าภัณฑารักษ์สายเอเชียในพิพิธภัณฑ์ศิลปะใหญ่ ๆ ระดับโลก สมโภชน์นั้นคือตัวจริง พูดน้อย ต่อยหนัก ไม่เน้นโปรโมท แม้งานจะสุดล้ำ ว่ากันว่าฝีมืออย่างสมโภชน์นั้นอย่าว่าแต่ระดับชาติเลย จะขึ้นแท่นไปอยู่ระดับอินเตอร์ก็ยังไหว แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เป็นศิลปินจ๋า ผนวกกับแนวคิดขบถ ท่านเลยไม่เคยคิดจะคว้าดาว 

ในที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ครอบครัวหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ให้กำเนิดทารกเพศชายและตั้งชื่อให้ว่า สมโภชน์ อุปอินทร์ ชีวิตวัยเด็กของสมโภชน์ไม่ได้หวือหวาอะไร ได้เข้าเรียนในโรงเรียนละแวกบ้านจนชั้นมัธยม ก่อนจะบากหน้าเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ 3 ปีจนจบ และก็ย้ายไปเข้าคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่สด ๆ ร้อน ๆ โดยมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ดูแล 

ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สมโภชน์ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ได้เรียนรู้ถึงศิลปะในรูปแบบที่ไม่คุ้นตาเช่นแนวคิวบิสม์ และแอบสแตรกต์ จนสามารถสร้างสรรค์ศิลปะในสไตล์เหล่านั้นได้อย่างช่ำชองไม่เป็นรองใคร แต่ถึงจะเก่งยังไงอาจารย์ศิลป์ก็ยังจะคอยปราม ๆ ให้หมั่นฝึกฝนการวาดภาพตามหลักสูตรให้แม่นก่อน แล้วค่อยต่อยอดไปในแนวนำสมัย จบไปจะได้เป็นศิลปินที่มีทั้งแนวความคิดและฝีมือ ไม่ใช่มีแต่ไอเดียเลิศ แต่พอให้วาดหน้าตัวเองกลับออกมาเหมือนลิง

นายโอเปอเรเตอร์

ในสมัยที่สมโภชน์เป็นนักศึกษา นอกเหนือจากวิชา วาด ๆ ปั้น ๆ ถ้าหากใครมีความสามารถสอบผ่านมาถึงชั้นปี 4 และ ปี 5 ก็จะมีสิทธิ์ได้เรียนวิชาสุนทรียศาสตร์โดยมีอาจารย์ศิลป์เป็นผู้ลงมือสอนเอง เป้าหมายของวิชานี้คือขัดเกลาลูกศิษย์ให้มีความสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงามของศิลปะแขนงต่าง ๆ และเพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย 

อาจารย์ศิลป์มักเล่นแผ่นเสียงเพลงบรรเลงคลาสสิกให้ลูกศิษย์ฟัง ให้ลองเปรียบเทียบอารมณ์ของทำนองเพลงแต่ละเพลงกับภาพวาด และประติมากรรม เช่นการฟังเพลงของ ‘เบโธเฟน’ นั้น น่าจะได้รับความสุนทรีย์เฉกเช่นกับการที่ได้ดูผลงานประติมากรรมของ ‘ไมเคิลแองเจลโล’ อย่างไงอย่างงั้น 

ในบรรดาลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ศิลป์ สมโภชน์นี่น่าจะอินกับวิชาสุนทรียศาสตร์ และเพลงที่ได้ฟังมากที่สุด เพราะจำร่องแผ่นเสียงได้ทุกร่อง จำเพลงได้ทุกเพลง จนอาจารย์ศิลป์ไว้วางใจให้สมโภชน์เป็นผู้ควบคุมเครื่องเล่นแผ่นเสียง และตั้งฉายาให้ว่า ‘นายโอเปอเรเตอร์’

หมั้นหมายภรรยาด้วยภาพวาด 100 ภาพ

เห็นภาพวาดสวย ๆ ฝีมือสมโภชน์จนคุ้นตา หลายคนเลยหลงคิดไปเองว่าสมโภชน์คงจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยวิชาเอกจิตรกรรม แต่จริง ๆ แล้วท่านเรียนจบวิชาเอกประติมากรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า เงินทองไม่ค่อยมี เรียนจิตรรรมต้องคอยซื้อสีซื้อแคนวาส แต่เรียนประติมากรรมไม่ต้องซื้ออะไรเพราะมหาลัยฯมีดินให้ปั้นฟรี 

การเลือกเรียนปั้นยังทำให้สมโภชน์ได้พบรักกับนักศึกษาสาวสวยระดับนางเอกหนัง ‘ลาวัณย์ ดาวราย’ ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูมาเรียนปั้นอยู่พักหนึ่งตามคำแนะนำของอาจารย์ศิลป์ ลาวัณย์สมัยนั้นมีหนุ่มรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ตามจีบกันให้ควั่ก แต่สมโภชน์ศิลปินไส้แห้งกลับเป็นผู้พิชิตใจของเธอมาครองด้วยความสามารถทางศิลปะที่ฉกาจฉกรรจ์เหนือมนุษย์มนา จนลาวัณย์ศิลปินผู้เก่งกาจเช่นเดียวกันต้องยอมใจ 

ภายหลังทั้งคู่ก็ได้หมั้น และจัดพิธีแต่งงานกัน ซึ่งในวันงาน สมโภชน์ก็ยังไม่มีเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองอะไรจะให้ว่าที่ศรีภรรยา มีแต่ภาพวาด 100 ภาพที่มอบให้เป็นของขวัญแทนใจ

‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’

กวาดรางวัลจากงานระดับชาติ

หลังจากได้รับปริญญา สมโภชน์ก็ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อ ควบคู่ไปกับการเป็นศิลปินซึ่งในอดีตยังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้พอยาไส้ เพราะในเมืองไทยการซื้อหาผลงานศิลปะมาสะสมยังไม่ใช่เรื่องปกติอย่างปัจจุบัน 

ในสมัยนั้นอาจารย์ศิลป์ได้ริเริ่มจัดงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติประจำปีขึ้นมาเพื่อกระตุ้นวงการศิลปะให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางเหมือนอารยประเทศที่เขาเจริญแล้ว ศิษย์รักอย่างสมโภชน์ก็ไม่พลาดจะส่งผลงานเข้าประกวดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จนถึง พ.ศ. 2512 และกวาดเหรียญรางวัลมามากมาย รวม 3 เหรียญเงิน 6 เหรียญทองแดง บางปีสมโภชน์ยังได้รับเกียรติให้ออกแบบปกสูจิบัตรงานประกวดอีกต่างหาก 

สมโภชน์ตัดสินใจเลิกส่งงานเข้าประกวดศิลปกรรมแห่งชาติหลังจากที่อาจารย์ศิลป์ท่านสิ้นลมไปแล้ว เพราะมีความคิดว่ามาตรฐานของงานด้อยลง ด้วยเหตุที่ว่าสมโภชน์ได้ทดลองส่งผลงานชิ้นเดิมที่ถูกกรรมการคัดออกเมื่อปีก่อนไปประกวดในปีถัดไปโดยไม่ได้เพิ่มเติมหรือแก้ไขอะไร ปรากฎว่าท่านกลับได้เหรียญรางวัลจากภาพเดียวกันที่โดนคัดทิ้งเมื่อปีก่อน ทำเอาสมโภชน์เสียศรัทธา

‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’ ‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’

ในหลวงโปรดปรานผลงาน

ในชีวิตการเป็นศิลปินสมโภชน์ไม่ค่อยได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวของตัวเองบ่อยนัก ครั้งที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจที่สุดคืองานแสดงที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม พ.ศ. 2514 ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ครั้งนั้นสมโภชน์ขนงานไปโชว์ถึง 225 ชิ้น มีหมดทั้งภาพวาด ทั้งรูปปั้น จนประสบความสำเร็จมีคนแห่แหนมาดูจากทั่วทุกสารทิศ ขายผลงานได้เป็นกอบเป็นกำ งานนี้นับว่าไม่ธรรมดาเพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ถึง 3 ชั่วโมง ทรงจองผลงานของสมโภชน์ อีกทั้งยังทรงชมว่าสมโภชน์เป็นศิลปินที่มีอนาคต งานของสมโภชน์เป็นมิวสิค

เพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ 

สมโภชน์สอนอยู่ที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรจน พ.ศ.  2516 ก็เกิดการไม่ลงรอยกันระหว่างอาจารย์ 2 กลุ่มที่มีความเห็นในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้สมโภชน์และอาจารย์อีกหลายท่านจึงถูกอีกฝ่ายซึ่งมีอำนาจบริหารถอดชื่อออกจากวิชาที่สอน วุ่นวายกันไปหมดจนในที่สุดก็มีการจัดตั้งคณะมัณฑนศิลป์ขึ้นมา สมโภชน์จึงได้กลับมาสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้งในคณะใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมานี้แทน โดยเป็นผู้สอนวิชาสุนทรียศาสตร์ วิชาโปรดของสมโภชน์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ศิลป์โดยตรง

เมื่อว่างเว้นจากการสอนสมโภชน์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานศิลปะอยู่กับบ้าน แต่ในทางกลับกันจำนวนผลงานศิลปะของสมโภชน์กลับมีออกมาน้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ไป เหตุเพราะท่านเป็นคนประเภทสมบูรณ์แบบนิยมขั้นรุนแรง ผลงานชิ้นไหนถ้าไม่เพอร์เฟกต์สุด ๆ ในสายตา อย่าได้หวังว่าจะยอมปล่อยผ่านให้เสียมาตรฐาน 

เวลามากมายในการทำงานศิลปะของสมโภชน์จึงมักหมดไปกับการเลือกเฟ้นวัสดุอุปกรณ์ทั้งสีทั้งผ้าใบว่าต้องเป็นเกรดดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะหาได้ ภาพที่ถึงแม้จะวาดเสร็จแล้ว แต่วันดีคืนดีภาพนั้นอาจะถูกวนเวียนเอามาเติมนู่นเติมนี่ หรือไม่ก็ถูกระบายทับวาดใหม่เป็นอีกรูปไปเลยก็มีอยู่บ่อย ๆ ขนาดว่ากรอบรูปทุกรูปสมโภชน์ก็เลื่อยไม้ ระบายสี ประกอบเอง เพราะไม่ถูกใจร้านไหนทั้งนั้น

ทวีความติสต์ขึ้นตามวัย

นอกเหนือจากการวาดภาพสมโภชน์ยังชอบดนตรีคลาสสิกเป็นชีวิตจิตใจ ท่านเล่นไวโอลินได้ตั้งแต่หนุ่ม ๆ ในเวลาเดียวกันก็เริ่มเก็บสะสมแผ่นเสียงและซีดีจนมีล้นบ้านมากมายยิ่งกว่าร้านขายเสียอีก เงินทองที่ขายภาพได้ยังหมดไปกับเครื่องเสียงขั้นเทพที่ต้องสั่งพิเศษมาจากเมืองนอก พร้อมลำโพงมาตรฐานระดับคอนเสิร์ต เปิดเพลงฟังแต่ละทีก็ดังกระหึ่มไปสามบ้านแปดบ้าน โชคดีที่เพื่อนบ้านในซอยเป็นญาติกันหมดเลยไม่โดนเอาก้อนอิฐปาหลังคาเอา

เมื่อวันเวลาผ่านไป อารมณ์ของสมโภชน์นั้นก็ยิ่งทวีความติสต์ขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัย ในช่วงบั้นปลายของชีวิตเป็นเวลากว่าสิบปีที่ท่านแทบจะเลิกสร้างผลงานศิลปะไปเลย สมโภชน์ใช้เวลาไปกับการฟังเพลงคลาสสิกซ้ำ ๆ แล้วนับจำนวนครั้งที่ฟัง สีไวโอลินตอนไก่โห่ เปิดทีวีดาวเทียมช่องการเมืองดูทั้งวัน ปลูกกล้วยไม้ทุกสายพันธุ์ ล้างและเรียงหินในสวนทีละก้อน และริเริ่มโปรเจกต์ทาสีบ้านใหม่ด้วยพู่กันอันเล็ก ๆ จนอยู่มาวันหนึ่งขณะที่สมโภชน์กำลังปีนบันไดเอื้อมเอาพู่กันทาสีกำแพงก็พลาดท่าร่วงตุ๊บลงมากองกับพื้น เดือดร้อนคนที่บ้านต้องรีบหามส่งโรงพยาบาล 

สมโภชน์ ผู้ซึ่งเชื่อเสมอว่าตัวเองแข็งแรง และจะอายุยืน เพราะได้ยีนดีจากญาติ ๆ ซึ่งอายุเฉียดร้อยแทบทั้งนั้น เลยไม่เคยไปตรวจร่างกายสักหน ครั้งนั้นพอตกบันไดเข้าโรงพยาบาล หมอเลยได้ทีจับตรวจเช็คเสียถี่ยิบ จนพบว่าสมโภชน์นั้นอมโรคเอาไว้เพียบ ตั้งแต่โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หัวใจ ความดัน คลอเลสเตอรอล พาร์กินสัน น้ำในสมอง แถมยังมีอาการไบโพลาร์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอีก 

อาการป่วยของสมโภชน์นั้น ถึงแม้หมอและครอบครัวจะพยายามรักษาอย่างไรก็ไม่กระเตื้อง นับวันจะคอยทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงกับสมองเสื่อม พูดไม่ได้ และในที่สุดก็มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ไปเสียชีวิตที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557 สิริอายุ 79 ปี 

เก่งทุกสไตล์ วาดได้มีเอกลักษณ์

ในเรื่องของผลงานสมโภชน์นั้นไม่ได้เก่งแค่สไตล์คิวบิสม์ และแอบสแตรกต์เท่านั้น สไตล์อื่น ๆ อย่างเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ หรือแม้แต่ภาพเหมือนบุคคลท่านก็ทำออกมาได้ดี และไม่ใช่แค่ดีธรรมดา เพราะสมโภชน์ได้พัฒนาต่อยอดสไตล์และการเลือกสีจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาดของสมโภชน์จะดูมีมิติรอบด้านเหมือนประติมากรรม คน สัตว์ สิ่งของ จะดูยาว ๆ ยืด ๆ สีที่ใช้ถึงแม้จะดูสดใสแต่ก็เหมือนปกคลุมไปด้วยหมอก เนื้อหาภาพนั้นดูคล้าย ๆ จะเป็นภาพนึกคิดในอุดมคติ 

‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินเพอร์เฟกชันนิสต์ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ ศิษย์รัก ‘ศิลป์ พีระศรี’

เรื่องราวที่สมโภชน์มักเลือกเอามาสร้างสรรค์ผลงานก็มีทั้งที่ดูสบาย ๆ เช่นความรัก ครอบครัว ทิวทัศน์ บทเพลง และมีทั้งแบบที่โหด ๆ เช่น การเมือง ความอยุติธรรม ความตาย นรก เอาเป็นว่าถึงผลงานของสมโภชน์จะมีหน้าตาและเนื้อหาสุดแสนจะหลากหลายแค่ไหนแต่ถ้าเห็นงานของท่านผ่านตาบ่อย ๆ รับรองว่ามองปรู๊ดเดียวก็รู้ว่านี่คือฝีมือสมโภชน์ไม่ใช่ใครอื่น

ขึ้นประชันกับศิลปินระดับโลก

เป็นที่น่าชื่นชมว่าถึงแม้สมโภชน์จะจากไปพวกเราแล้วแต่ ครอบครัว ลูกศิษย์ลูกหา ภัณฑารักษ์ และนักสะสมศิลปะที่ชื่นชอบสมโภชน์ต่างยังคอยร่วมแรงร่วมใจโปรโมทผลงานของท่านจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนโด่งดังยิ่งกว่าสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่เสียอีก และที่สำคัญคือมีงานแสดงที่ยกระดับวงการศิลปะไทยขึ้นไปอีกขั้น เมื่อครั้งที่ผลงานของสมโภชน์ถูกจัดแสดงเคียงบ่าเคียงไหล่ศิลปินชื่อดังคับฟ้าอย่าง คานดินสกี, ปีกัสโซ, บราค, มาติส, ชากาล ในงานแสดงที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์แห่งชาติประเทศสิงคโปร์ 

ต้องบอกตามตรงแบบไม่ได้เข้าข้างใครว่า พลังของผลงานสมโภชน์นั้น เจิดจรัสสะกดสายตาผู้ชมได้ไม่น้อยกว่าผลงานฝีมือศิลปินรุ่นใหญ่ ๆ ของโลกเลย


ภาพ: The Art Auction Center