เมื่อ 'ช้างไทย' ไปปรากฏอยู่ในกางเกงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อ 'ช้างไทย' ไปปรากฏอยู่ในกางเกงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เปิดที่มาของ 'กางเกงช้าง' กางเกงที่มีลดวลายอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เราจะเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สวมใส่ตามสถานที่คือวัดและวังสำคัญ

กางเกงในแบบที่เราจะเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสวมใส่ตามสถานที่คือวัดและวังสำคัญ  ซึ่งเป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า “กางเกงช้าง” นั้น 

ถามว่า “ถ้าไม่ใช้รูปช้าง ใช้รูปอื่น ๆ ได้ไหม?”   

คำตอบคือ “ได้”

แต่อาจจะไม่ปัง และไม่แมทช์เท่าช้าง!!!    

อย่างที่เคยมีการใช้รูปแมวโคราช ที่จังหวัดนครราชสีมาเคยทำ ก็ไม่ปังเท่ารูปช้าง  หรือที่มีการทำมีมล้อเป็นรูปหมีแพนด้า ก็ดูเป็นเรื่องฮาๆ กันไปเท่านั้น เอาจริงหมีแพนด้าจะมาแทนที่ช้างในสังคมวัฒนธรรมแบบไทยได้อย่างไร ตั้งแต่ชื่อยันรูปลาย  ต่างก็เป็นช้าง ต้องมีช้าง ไปแบบเกือบจะเบ็ดเสร็จสัมบูรณ์ 

ส่วนใครบอกว่ากางเกงแบบนี้ไม่เกี่ยวรูปช้าง เพราะเป็นกางเกงมีคุณสมบัติพิเศษเบาสบาย  หรือกระทั่งบอกว่าเป็นสไตล์การแต่งกายที่แหวกขนบ แอนตี้แฟชั่น หรือ “หย่าขาด” จากกฎระเบียบ  คงต้องทบทวนใหม่  เนื่องจากเป็นกางเกงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องสวมใส่ถึงจะสามารถเข้าเยี่ยมชมบางสถานที่ของไทยได้  สถานที่มีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดการสวมใส่  นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนไม่ได้เลือกที่จะใส่ด้วยตนเอง 

ด้านหนึ่งสังคมไทยต้องการให้การท่องเที่ยวบูม มีชาวต่างด้าวท้าวต่างแดนเข้ามากันเยอะ ๆ แต่อีกด้านก็มีความหวั่นกลัวว่าวัฒนธรรมภายนอกจะเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป  สังคมไทยจึงมักออกแบบวิธีการคัดสรรชาวต่างชาติหรือสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาต้องแสดงความเคารพต่อสถานที่เฉกเช่นเดียวกับคนไทยหรือมากกว่าคนไทยในบางกรณีด้วยซ้ำ 

ถามว่า “ทำไมถึงต้องเป็นรูปช้าง?” เป็นรูปอื่นไม่ได้  แม้แต่แมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมสูงสุดในยุคปัจจุบัน  แมวก็ไม่อาจจะไปแทนที่ช้างได้อย่างที่มันอยู่บนลายกางเกงของนักท่องเที่ยว  เพราะแมวเป็นสากลเกินไป  แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชาวต่างชาติอาจจะรู้จักและเลี้ยงไว้ในบ้าน  ไม่แพ้คนไทยหรือชาติใดในโลก  ไม่เหมือนช้าง  ที่ไม่มีอยู่ในบ้านเมืองของพวกเขา  บางประเทศเช่นในอินเดีย หรือแอฟริกา ถึงจะมีช้าง  แต่ช้างที่นั่นก็ไม่ได้มีความสำคัญในระดับเดียวกับที่มีในสังคมประเทศไทย 

แถมในไทย ช้างยังถูกประดิษฐ์ให้เป็นตัวแทนความเป็นไทยผ่านมุมมองประวัติศาสตร์  แมวเลยไม่สื่อถึงความเป็นไทยมากเท่าช้าง ที่จังหวัดนครราชสี เอาแมวมาแทนช้างใน “กางเกงช้าง” เลยดูเป็นของแปลกและเป็นเรื่องเฉพาะถิ่นมาก มีบางมิติที่แมวไม่สามารถจะแทนที่ช้างได้จริงนั่นแหล่ะ เพราะเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชาติที่ช้างได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย    

“ช้าง” กับ “ความเป็นไทย”     

ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทย หัวข้อเรื่องสำคัญระดับไคลแมกซ์ หนีไม่พ้นเรื่องการชนช้างของสมเด็จพระนเรศวร ช้างมีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่วีรกษัตริย์เคยใช้กอบกู้บ้านเมือง 

ถ้าสิ่งมีชีวิตที่สมเด็จพระนเรศวรทรงขี่หลังไปรบกับพม่าในครั้งนั้นคือ “แมว” วันนี้เราอาจจะเห็นแมวมีอนุสาวรีย์คู่เคียงกับสมเด็จพระนเรศวร แต่นั่นเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีความเป็นไปได้ที่ราชสำนักสมัยสมเด็จพระนเรศวรจะมีแมวเดินไปเดินมาอยู่ก็ตาม 

ยุทธหัตถีครั้งสมเด็จพระนเรศวรจะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ใช้อะไรเป็นอาวุธก็ตาม  แต่ทว่าใน “มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป” ที่เล่าเรื่องยุทธหัตถีแรกและเป็นต้นเค้าคติยุทธหัตถีให้แก่อุษาคเนย์นั้น  การสู้รบตัวต่อตัวบนหลังช้างเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ชัยชนะของฝ่ายพุทธเหนือฝ่ายพราหมณ์ในลังกาทวีป 

จากจุดนี้ ช้างเลยเป็นอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ตามมามากมายในโลกพุทธศาสนา  กระทั่งในการสร้างวัดก็มีคติ “หัตถีปราการ” พบตั้งแต่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, พระบรมธาตุสวี ชุมพร, วัดมเหยงคณ์ อยุธยา, วัดช้างรอบ กำแพงเพชร, วัดช้างค้ำ น่าน, วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย, วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ ที่เชียงใหม่ เป็นต้น 

นอกจากการศึกสงคราม ในคติพุทธศาสนา สิ่งที่พระนางสิริมหามายามีสุบินนิมิตถึงในคืนวันก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงประสูติก็คือ “ช้างเผือก” นั่นคือช้างเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญบารมีสูงสุดคือพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว   

ของสำคัญที่พระมหากษัตริย์ระดับชั้น “พญาจักรพรรดิราช” จะต้องมีไว้ในครอบครอง อันหนึ่งเลยก็คือ “ช้างเผือก” ซึ่งเป็นคติต่อเนื่องจากเมื่อช้างพิเศษอย่างช้างเผือก เป็นเครื่องแสดงออกถึงบุญบารมี พระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกเลี้ยงไว้ในพระราชฐาน ย่อมจะได้ชื่อเป็นผู้มีบุญบารมีเนื่องจากเป็นผู้อุปถัมภ์ช้างนั้นไปด้วย 

อย่าลืมนะครับว่า ครั้งหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่ากับไทยเคยรบพุ่งพัวพันกันจนเสียบ้านเสียเมือง ก็เพราะช้างเผือกเป็นตัวการอยู่ด้วย 

นอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา  ช้างยังเป็นทั้งพาหนะในการเดินทาง  และเป็นสินค้าออกสำคัญสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ชนชั้นนำ  บางรัชกาลเช่นสมเด็จพระนารายณ์  มีหลักฐานระบุว่าทรงส่งออกช้างปีละตั้ง 300 เชือก      

ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่งไปในขณะเดียวกัน  เมื่อขุนนางได้เลื่อนยศตำแหน่งหรือมีราชทินนาม ก็ต้องได้ช้างพาหนะใหม่ จึงเป็นสำนวน “ได้เป็นพญาขี่ช้าง”  อาจจะทำนองรถหรูในปัจจุบัน  เพราะการเข้ามาของรถยนต์ในประวัติศาสตร์ไทย  ก็เข้ามาแทนที่ช้าง  ทั้งในการคมนาคมและเกียรติยศ     

นอกจากนี้แล้ว ช้างยังเคยมีบทบาททางการทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ  สิ่งที่รัชกาลที่ 4 จัดส่งไปให้อับราฮัม ลินคอล์น ก็คือ “ช้าง” (อีกนั่นแหล่ะ) 

แม้ว่าลินคอล์นจะส่งกลับมาด้วยเหตุผลเรื่องภูมิอากาศและการขนส่งของอเมริกาที่มีรถไฟใช้แล้วนั้นมีประสิทธิภาพกว่า ช้างสยามก็ยังคงถูกส่งต่อไปยังฝรั่งเศส เพื่อทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีอีกเช่นเคย แต่ท้ายสุดช้างสยามก็ไปจบที่ร้านสตูในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 

โลกอดีตนั้นมีคติถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ต่างก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ ทั้งหลาย ในแง่นี้มนุษย์กับสัตว์จึงมีความเท่าเทียมกัน แม้ว่ามนุษย์อาจใช้สัตว์เป็นแรงงานหรือเป็นอะไรต่อมิอะไรให้แก่ตนก็ตาม แถมสัตว์ยังเป็นสิ่งที่มีสายใยผูกพันกับมนุษย์ เพราะมีความเชื่อว่า ไม่ว่ากิ้งกือไส้เดือน หรือสัตว์อื่นใด  ก็ล้วนอาจเป็นวิญญาณบรรพชนผู้ล่วงลับของตน สัตว์ใหญ่อย่างช้างจึงได้รับการนับถือมาก     

“ลูกช้าง” กับ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” 

สังคมไทยเช่นเดียวกับสังคมอื่นที่มีความเชื่อเรื่องความแนบแน่นกันระหว่างสัตว์กับธรรมชาติ สัญญาณความวิปริตแปรปรวนของธรรมชาติ ฝนที่กำลังจะตก พายุที่จะเข้า รุนแรงหรือเบาแค่ไหน คลื่นลมทะเลจะแรงจะเบาอย่างไร ล้วนสังเกตดูได้จากฝูงนก 

กัปตันเรือที่เก่งๆ จะอนุญาตให้มีแมวเดินไปเดินมาบนเรือ  เพื่ออาศัยสัญชาตญาณระวังภัยของมัน วันไหนแมวเดินเล่นสบายใจ วันนั้นจะปกติการเดินทางราบรื่น  แต่หากแมวมีอาการตัวสั่น ขนพอง หางชี้ฟู หรือแอบไปหลบอยู่ในที่แคบ แสดงว่าวันนั้นจะต้องระวัง คลื่นลมทะเลอาจจะรุนแรง หรือแม้กระทั่งอาจมีเรือโจรสลัดกำลังแล่นเข้ามาใกล้    

เพราะความเชื่อเรื่องความใกล้ชิดกันระหว่างสัตว์กับธรรมชาติ และโดยที่ธรรมชาติกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เคยถูกมองเป็นสิ่งเดียวกัน เพิ่งจะมาแยกก็ในยุคสมัยใหม่แล้ว 

ดังนั้น เมื่อมนุษย์อุษาคเนย์ (ทั้งไทย พม่า ลาว เขมร) ต่างมีประเพณีที่เมื่อจะขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์  มนุษย์ผู้นั้นจะต้องปวารณาตัวเป็น “ลูกช้าง” เสียก่อน  จะบนบานศาลกล่าวสิ่งใดถึงจะสมหวัง 

“ลูกช้าง” คือการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ  และเป็นการปลดเปลื้องตนเองออกจาก “ความเป็นมนุษย์” ชั่วขณะ 

ในแง่นี้แล้ว  สิ่งอันจะนำพาบุคคลใดก็ตาม เข้าไปสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น  ก็ต้องเป็นช้าง  แล้วอย่างนี้จะบอกว่า “ช้าง” ไม่สำคัญได้อย่างไร  ช้างเป็นรหัสวัฒนธรรมตั้งแต่แรกแล้วล่ะ!!! 

อำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่มีมิติประวัติศาสตร์         

ระบบราชการไทยนิยมใช้ตราครุฑเพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อว่า พวกตนเป็นอย่างเดียวกับพาหนะของพระผู้อวตารมาปราบยุคเข็ญ 

มหาดไทยก็ใช้ตราสิงห์  แรกเริ่มเดิมทีเป็นคติที่สืบเนื่องมาจากแมคเคีย เวลลี บิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ที่เสนอว่า ผู้ปกครองควรมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างสิงโตกับสุนัขจิ้งจอก  แต่ไทยรับได้แค่สิงโตและแปลงเป็น “สิงห์”

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเหตุให้นักรัฐศาสตร์การปกครองตามสถาบันต่างๆ เรียกขานตนเองเป็น “สิงห์” เช่น “สิงห์ดำ” หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “สิงห์แดง” หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “สิงห์ทอง” หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, “สิงห์ขาว” หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น      

ครุฑกับสิงห์ล้วนเป็นสัญลักษณ์แบบลอยๆ  แต่ช้างไม่ใช่แบบนั้น  ช้างในประวัติศาสตร์ไทยเป็นสัตว์ที่มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับบทบาทพระมหากษัตริย์โดยตรง  จึงไม่แปลกที่ครั้งหนึ่งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2-6 ช้างเคยอยู่ในธงชาติสยามมาก่อนหน้าจะมีธงไตรรงค์ 

 ถึงแม้จะเป็นสัตว์ชั้นสูง  แต่ในขณะเดียวกันช้างก็มีมิติที่สามารถหยิบเอาไปแปลงเป็นวัฒนธรรมอย่างอื่น  ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ตายตัวในที่ใดที่หนึ่งหรือสังกัดอยู่แต่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนอย่างสิงห์กับครุฑ หรือแม้แต่พระยานาคก็ตาม  เพราะสิงห์ ครุฑ นาค นอกจากมีอยู่แต่ในจินตนาการแล้ว  ยังเป็นของสูงส่งเป็นผู้มีบุญบารมีในตัวเอง  แต่ช้างไม่ใช่ ช้างมีอยู่ทั้งในชีวิตจริงและอุดมคติ  ทั้งโลกสามัญประจำวันและโลกศักดิ์สิทธิ์      

“เครื่องแบบ” กับรหัสวัฒนธรรมในพื้นที่แบบไทยๆ

ถึงแม้ว่าเราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า  ผู้ออกแบบกางเกงช้างจะได้ตระหนักถึงความเป็นสัญลักษณ์ของช้างในสังคมวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด  แต่เมื่อช้างไปปรากฏอยู่บนลายกางเกงควบคู่กับลายไทยอย่างหยาบๆ ทำให้กางเกงชนิดนี้มีฟังก์ชั่นที่นอกเหนือไปกว่าความเป็นกางเกงขายาวที่สถานที่สำคัญจะอนุญาตให้ผู้สวมใส่ได้เข้าไปเยี่ยมชม 

พูดง่ายๆ คือ “กางเกงช้าง” ถูกใช้เป็น “รหัสวัฒนธรรม” (Cultural code) ที่ผู้มาเยือนจากต่างวัฒนธรรมจะเข้าใจได้โดยทันที  ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว!!!

ปกตินักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เวลามาไทยจะชอบใส่กางเกงขาสั้น มันสะดวกสบาย เหมาะกับสภาพอากาศ ยิ่งเหมาะและรู้สึกสบายมากขึ้น ถ้าเป็นคนมาจากประเทศเขตหนาว แต่ขาสั้นแบบนั้นพี่ไทยมองว่าไม่เหมาะไม่ควรจะสวมใส่ไปเดินตามวัดตามวัง ซึ่งมีอีกไอเดียกำกับอยู่คือความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างวัดพระแก้วกับพระบรมมหาราชวัง จะกวดขันกันเป็นพิเศษ หนักเข้าลามไปถึงวัดโพธิ์ วัดอรุณ และที่อื่นๆ

พอไปถึงหน้าประตู  ถ้าใส่ขาสั้นมา ทหารยามจะไม่ให้เข้า บอกแต่งกายไม่สุภาพ จะสุภาพต้องเป็นกางเกงขายาว ถ้ายังอยากจะเข้าไปจะทำยังไง “พี่ตะหาน” ก็จะชี้ไปยังฝั่งตรงข้ามที่มีร้านขายเสื้อผ้าโหลๆ อยู่ ถ้าเป็นวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังฝั่งสนามหลวง ที่ที่ “พี่ตะหาน” ชี้แนะไปนั้นมักจะคือฝั่งท่าพระ ข้างมหาวิทยาลัยศิลปากร  ราคาตัวละเป็นร้อย  ซึ่งก็มีให้เลือกแต่กางเกงช้างนี่แหล่ะ หลายคนก็จำต้องไปเข้าแถวซื้อมาใส่เพื่อจะได้เข้าไปชมวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง 

ดังนั้น พอ “กางเกงช้าง” มันมีฟังก์ชั่นแบบเป็น "ตั๋วของแทร่" ในการเข้าชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของสยามประเทศแบบนั้น  มันเลยเป็นสัญลักษณ์ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ได้มาเยือนประเทศนี้แล้วจริงๆ ทำนองว่าได้มาถึงและสัมผัสสังคมวัฒนธรรมไทยแล้ว

นั่นคือ “กางเกงช้าง” กำลังมีบทบาทคล้ายข้าวมันไก่ที่สิงคโปร์ กิมจิของเกาหลี ภูเขาไฟฟูจิของญี่ปุ่น สะพานโกลเดนเกตที่สหรัฐอเมริกา หอไอเฟลที่ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่ของต่างประเทศเขา  ถ้าไม่อาหารก็เป็นสถานที่  ไม่ใช่เครื่องแต่งกายหรือเครื่องแบบใดๆ แบบเมื่อมาประเทศไทย 

บวกกับเป็นยุคมีโซเชียลมีเดีย  ผู้คนเห็นภาพต่างๆ แพร่หลายจากที่ต่างๆ ทั่วโลกได้เพียงจากมือถือของตน ของมันก็เลยเกิดฮิตเป็นที่นิยมกันขึ้น  จนแม้แต่จีนซึ่งถนัดทำของเลียนแบบออกมาขาย  ก็มีการทำกางเกงชนิดนี้ออกมาด้วย   

จะเห็นได้ว่า  “กางเกงช้าง” ที่มาฮอตฮิตกัน ณ เวลานี้นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าการแต่งกาย  หากแต่เป็นการใช้อำนาจทางสัญลักษณ์แบบหนึ่งที่ต้องการเห็นผู้มาเยือนได้เข้ารหัสวัฒนธรรม ตลอดจนการยอมรับสถานะสูงส่งของสถานที่ (ที่จะเข้าไปเยี่ยมชมนั้น) เหนืออื่นใด โดยเฉพาะตัวตนของผู้สวมใส่หรือผู้มาเยือน 

กล่าวคือ พื้นที่เป็นตัวกำหนดว่าใครควรจะสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์แบบใด ไม่ใช่เจตจำนงของบุคคลที่จะคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามกับเรือนร่างเฉพาะของแต่ละคน วาระโอกาสที่เหมาะสม หรือกระแสแฟชั่นอื่นใดทั้งหมด           

เมื่อต้องเป็นไทย ถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่สำคัญของไทยได้  อำนาจนิยมแบบไทยๆ ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติเมื่อมาเยือนประเทศไทย จะได้สัมผัสและเข้าถึงอยู่ตราบนั้นต่อไป 

บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่บางสถานที่ซึ่งหมดฟังก์ชั่นดั้งเดิมในโลกอดีตไปนานแล้ว ควรจะได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเข้าสู่โหมด “พื้นที่สาธารณะ” อย่างแท้จริง ไม่ใช่เอะอะ อะไรๆ ก็เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ไปหมด