พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก

'พิมพา คำพับ’ ดีไซน์เนอร์ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ Pimpapais สาวไทยคนแรกและคนเดียวที่จบหลักสูตรการตัดเย็บชั้นสูง Haute Couture จากฝรั่งเศส และเป็นผู้ส่งผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย ออกไปเฉิดฉายบนรันเวย์ Fashion Week

‘แหม่ม - พิมพา คำพับ’ คือดีไซน์เนอร์ เจ้าของ Pimpapais แบรนด์เสื้อผ้าที่หวังจะเห็นความเป็นไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เธอไม่ใช่แค่คิดแต่เลือกที่จะลงมือทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่อายุ 24 ปี เริ่มจากการยื่นใบสมัครเข้าเรียนที่ Haute Couture โรงเรียนแฟชั่นที่ติด 1 ใน 10 ของโลก และได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนแทบทันทีหลังจากเธอตอบคำถามสัมภาษณ์ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า ว่าจะนำศาสตร์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียน กลับไปพัฒนาประเทศ ช่วยชุมชน และบ้านเกิด ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทัดเทียมคนในเมืองกรุง

เธอคือสาวเหนือ เกิดและโตที่จังหวัดเชียงราย ซึมซาบความงดงามของธรรมชาติมาอย่างเต็มเปี่ยม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกถ้อยคำที่เธอกล่าวออกมา จะอัดแน่นไปด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง การตอบคำถามสัมภาษณ์รอบนั้นจึงไม่ใช่ถ้อยคำที่กล่าวอย่างเลื่อนลอย เธอพูดจริง ทำจริง ไม่เคยมีวันไหนที่พิมพาจะไม่นึกถึงบ้านเกิด คิดเพียงแค่ว่าตลอดระยะเวลาที่ศึกษา ณ สถานที่แห่งนี้ เธอจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้เข้าใจโลกของแฟชั่นได้อย่างลึกซึ้ง

เพราะเธอไม่ใช่เด็กเกิดมาในบ้านที่มีฐานะร่ำรวย แต่เป็นโชคชะตาฟ้าลิขิต ทำให้ได้เจอครอบครัวอุปถัมภ์ที่พร้อมจะรับและเลี้ยงดูพิมพา จูงมือเด็กสาวคนนี้ให้ไปลองใช้ชีวิต ณ ต่างแดน ร่ำเรียนจนจบหลักสูตรการตัดเย็บชั้นสูง Haute Couture (โอร์กูตู) สถาบันออกแบบระดับโลก ประเทศฝรั่งเศส (Chambre Syndicate de la Couture Parisienne) กลายเป็นสาวไทยคนแรกและคนเดียวที่จบหลักสูตรอันเลอค่าเช่นนี้ได้สำเร็จ

รู้ตัวอีกทีพิมพาก็ได้รับเชิญไปแสดงในโชว์รูมที่เทศกาลแฟชั่นระดับโลกอย่าง Fashion Week ทั้งที่ลอนดอน นิวยอร์ก และปารีส ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นโอกาสที่เธอเลือกจะคว้าเอาไว้ และโอกาสครั้งนี้ก็ทำให้เธอภาคภูมิใจยิ่งกว่าครั้งไหน

นอกจากจะเป็นเจ้าของแบรนด์ที่นำชื่อของเธอมาสอดผสานคู่กับมหานครแห่งแฟชั่นอย่างปารีสแล้ว พิมพายังรับบทบาทเป็นอาจารย์มอบความรู้ด้านแฟชั่นให้แก่นิสิตและนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และธรรมศาสตร์ แถมยังเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปจนถึงกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดเชียงราย

นี่แค่ฉากชีวิตที่พิมพาเผยออกมาสั้น ๆ แต่เบื้องหลังกว่าจะเป็นสาวไทยเพียงหนึ่งเดียวที่เรียนจบจากหลักสูตรตัดเย็บชั้นสูงแล้ว เธอต้องปาดน้ำตามานับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะเป็นพิมพา คำพับอย่างในทุกวันนี้

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก

พิมพากับดอกไม้ในวันวาเลนไทน์

ความชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ และรักสิ่งที่ทำอยู่อย่างถอนตัวไม่ขึ้น คงเป็นเรื่องที่หาเจอไม่ได้ง่าย ๆ แต่สำหรับพิมพา เธอเจอสิ่งนั้นมาตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ หลังจากทดลองพับดอกกุหลาบขายในวันวาเลนไทน์ ราคาดอกละ 1 บาท เพื่อหวังจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่บ้านได้สักเล็กน้อย ปรากฎว่าดอกกุหลาบของเธอขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่นาน นี่คือประกายไฟเล็ก ๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในตัวสาวน้อยคนนี้

หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มลองตัดชุดให้แม่ใส่ เพราะเห็นแล้วว่าเสื้อผ้าของท่านเริ่มเก่าแล้ว เธออยากลองรื้อทรงกระโปรงมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ผู้หญิงที่เธอรักมีชุดสวย ๆ ใส่ไปข้างนอกได้อย่างไม่เคอะเขิน

“ตอนนั้นที่บ้านเราไม่มีสตางค์ซื้อผ้า ก็ขอแม่บอกว่าจะเอาผ้าถุงมารื้อทำใหม่ได้ไหม แม่ก็ให้มาตัวหนึ่ง เราก็เอามาเย็บใหม่หมดเลยเอามาทำเป็นเสื้อแขนพอง ๆ”

“สมัยก่อนการทำเสื้อแขนพองเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีใครทำ แต่เราเอามาเย็บส่งครู เพื่อน ๆ ในห้องเขาทำไม่ได้นะ จุดนี้แหละที่เข้ามาจุดประกายเรา ก็เริ่มเย็บตัวละ 5 บาท 10 บาท”

ความสามารถของพิมพาเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโรงเรียน แม้ว่าเธอไม่รู้ว่านี่คือพรสวรรค์ แต่คุณครูที่มีประสบการณ์การสอนมาเป็นเวลานานเห็นแววของลูกศิษย์คนนี้เข้าอย่างจัง จึงชักชวนให้เธอลงแข่งประกวดดอกไม้ประดิษฐ์ ช่วงแรกพิมพายอมรับว่าเธอคิดแค่อยากจะเล่นกระโดดยางกับเพื่อนไปวัน ๆ ไม่ได้คิดว่าจะเดินสายประกวดแต่อย่างใด

“อาจารย์เห็นว่าเราทำงานฝีมือได้ เราก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก จำได้เลยว่ายังเล่นกระโดดยางกับเพื่อนอยู่เลย ตอนที่อาจารย์ชวนเราไปลงประกวดทำดอกไม้ประดิษฐ์ แต่ปรากฎว่าวันนั้นเพื่อนไม่สบายเราเลยต้องไปแทน เพราะบ้านเราอยู่ใกล้บ้านอาจารย์ด้วย เขาก็มีเวลาสอนวันเดียว คืนเดียว วันรุ่งขึ้นก็ไปประกวด สิ่งที่เซอร์ไพร์สคือเราได้ที่ 1 ของจังหวัด”

แต่ใช่ว่าที่บ้านจะเห็นดีเห็นงามกับความชอบของเธอไปเสียหมด เพราะชีวิตที่ต่างจังหวัดมักมองว่าอาชีพที่มั่นคงคือข้าราชการ การที่พิมพาบอกว่าโตไปจะเป็นดีไซเนอร์คงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายไม่น้อย

“เขาไม่เห็นด้วย แต่ด้วยความที่เราชอบอะไรก็จะเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นก็มีเรื่องประหลาดอีกอย่าง นอกจากงานศิลปะที่เราชอบแล้ว อีกมุมหนึ่งเราก็เป็นนักกีฬาเช่นกัน” พิมพาเล่าด้วยสีหน้ายิ้ม ๆ ก่อนจะเสริมว่าความประหลาดของสิ่งที่เธอชอบนั้น ทำให้เธอเป็นเธออย่างในทุกวันนี้

พิมพาเป็นนักวิ่งมาราธอนของโรงเรียน ติดโครงการช้างเผือกภูธร

พิมพาเป็นนักประดิษฐ์มือหนึ่งของจังหวัด

พิมพาสามารถหาเงินจากทั้งสองสิ่งนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

และสิ่งเหล่านี้ทำให้ที่บ้านของพิมพาเริ่มมองความฝันของลูกสาวเปลี่ยนไปทีละน้อย

“การเป็นนักวิ่งมาราธอนกับการทำงานศิลปะเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันมาก แต่กลายเป็นว่าเราสามารถหาเงินจากการแข่งกีฬาได้ ตอนอยู่ชั้น ม. 2 เราเป็นนักวิ่งของเขต 5 ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตลกมาก เราวิ่งได้ที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าได้ จำได้แค่ว่าหิวเลยรีบวิ่งจะได้ไปกินขนมหน้าโรงเรียนเท่านั้นเอง”

“ไม่มีใครจำเราได้เลย เราวิ่งแซงหน้านักวิ่งของโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแค่นักเรียนธรรมดา แต่สุดท้ายก็มีคนจำเราได้”

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก เดิมพันทั้งชีวิตเพื่อการเป็นดีไซเนอร์

“ทั้งชีวิตของเราเหมือนการเดิมพันของเวลา ซึ่งการเดิมพันชีวิตเหมือนกับการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง เราไม่มีคู่แข่ง แต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เพราะทุกอย่างเราต้องใช้ชื่อเสียง-นามสกุล ทุกสิ่งทุกอย่างคือการเดิมพัน”   

วันนี้การเดิมพันของพิมพาเริ่มผลิดอกออกผล เพราะทันทีที่เธอเลือกเดิมพันชีวิตกับการเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสในวัย 24 ปี กงล้อแห่งโชคชะตาก็เริ่มทำหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงแท้และมั่นคง

พิมพาเก็บกระเป๋าเตรียมตัวออกเดินทาง หอบหิ้วข้าวไทย กับเสื้อผ้าไม่กี่ชุด เพื่อไปใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมืองโดยไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส รู้จักแค่คำว่า Merci (แมคซี) ขอบคุณคำเดียวเท่านั้น วันแรกที่ไปเยือนฝรั่งเศสเธอยังจำได้ติดตาว่ามีคนเหยียบเท้าบนรถไฟฟ้า ด้วยความที่ไม่รู้ภาษาเธอจึงกล่าวขอบคุณไปเสียอย่างนั้น แถมพอไปถึงก็ต้องขวนขวายเองทุกอย่าง วิชาความรู้ด้านแฟชั่นเท่ากับศูนย์ จนพี่คนไทยและเพื่อนอีกหลายประเทศต่างรุมกันให้คำแนะนำว่าให้เธอลองเรียนวาดรูปดู อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านนี้ให้ขยับขึ้นอีกนิด

“มันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเลย” เธอย้อนความหลัง

“ไม่มีใครไกด์ให้เราได้ เพราะไม่มีใครรู้เรื่องนี้” เธอย้ำก่อนจะบอกว่าประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอเติบโตขึ้นมาก และโชคดีอีกครั้งคือเธอเจอครอบครัวอุปถัมภ์ที่เห็นแววบางอย่างในตัวเธอ ช่วยส่งเสียค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตรการศึกษา

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก “เขาถามเราว่าพ่อเธอส่งให้เท่าไหร่ เธอไปบอกพ่อแม่เธอเลยนะว่าไม่ต้องส่งแล้ว ต่อไปนี้เราจะรับผิดชอบเธอเอง เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงอยากจะรับเราเป็นลูกเลี้ยง แต่เขาบอกว่าเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา ซึ่งมันคล้าย ๆ กับสิ่งที่เขาทำอยู่ เขาทำงานด้านแฟชั่นด้วย เราเหมือนเป็ดที่อยู่ในเล้า”

“สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเขาจะบอกว่าทำงานเป็นเป็ด ทำทุกอย่าง แต่ไม่ได้ดีเลย แต่ฝรั่งเขามองว่าเป็ดสามารถที่จะอยู่ได้ในทุก ๆ สถานการณ์ ปรับเปลี่ยนตัวได้ เดินได้ บินได้ ว่ายน้ำได้ ดำน้ำได้ ซึ่งต่างจากไก่ เขาก็เลยบอกเราว่า ยูพยายาม เรียนทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเอามาผสานกันให้ได้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรียน เราต้องเรียนตัดเย็บ เรียนงานปะ เรียนแต่งหน้า เรียนทำผม เรียนตัดเสื้อผ้า แม้กระทั่งเรียนทำขนม เราก็ต้องเรียน”

ชีวิตของพิมพากับการเรียนรู้คือสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน เธอรักการเรียนรู้ และเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยให้เข้าใจความหมายของทุกสิ่ง เธอจึงทุ่มเวลาไปกับการเรียนเป็นส่วนใหญ่

“16 ปี อยู่ที่ฝรั่งเศส ชีวิตเราคือเรียนหนักมาก จากตอนแรกน้ำหนัก 44 แล้วก็น้ำหนักขึ้นมาเป็น 58 จาก 58 ลดเหลือ 48”

“เหมือนว่าทุกอย่างต้องคิดต้องทำ เราต้องแข่งกับเวลาตลอด ทำให้เราไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม ไปไหนก็ไปคนเดียว มีคนบอกเราว่าวงการนี้ถ้าอยากเป็นดีไซเนอร์ ต้องชินกับการกินข้าวคนเดียวให้ได้ เพราะเวลาทำงานของเรายากที่จะตรงกับคนอื่น”

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก ผ้าไทย - ความงามที่ปราศจากข้อกังขา

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ คือ สิ่งที่เธอได้เรียนรู้ระหว่างเป็นดีไซเนอร์ เธอเห็นแล้วว่าโลกใบนี้มีอะไรที่พิเศษซ่อนอยู่อีกมาก และความพิเศษเหล่านี้คือสิ่งที่เธออยากจะนำมาชูโรง ทำให้คนต่างชาติเห็นความวิจิตรของผ้าไทย

สิ่งที่เธอวาดฝันถูกถักทอเป็นรูปเป็นร่างผ่านผ้าไทยจำนวน 6 ชุด ที่ถูกนำขึ้นไปโชว์ในงาน Fashion Week แม้จะต้องเร่งทำกันจนหัวหมุน มีเวลาเตรียมตัวแค่สองสัปดาห์ แถมยังไม่เข้าใจว่าแต่ละชาติพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เธอไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่ออกแบบทุกอย่างตามแต่ใจคิด เธอลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ศึกษาอย่างจริงจัง และซึมซับทุกอย่างจนสามารถพาผ้าไทยไปอวดโฉมบนรันเวย์ระดับโลกได้อย่างงดงาม

“ตอนนั้นเราทำงานอยู่แม่ฮ่องสอนพอดี เลยคุยกับทางแม่ ๆ ที่แม่ฮ่องสอนว่ามีอะไรที่สามารถนำมาตัดเย็บได้บ้าง ตอนแรกเราไม่เข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ เลยศึกษาทุกอย่าง เรียนรู้กับแม่ ๆ จนสามารถส่งชุดไปทันเที่ยวบินในวันนั้นพอดี”

“ทุกอย่างมีความพิเศษเฉพาะตัวของมัน เราทำงานกับภาครัฐมาประมาณ 5 ปี ทำให้เห็นถึงความหลากหลาย และความหลากหลายทำให้มองย้อนกลับมาว่า ถ้าสมมติว่าเราไม่ทำชาวบ้านจะเริ่มต้นตัดเย็บคอลเลคชั่นของตัวเองได้ยาก เพราะการที่จะพาผ้าไทยโกอินเตอร์เราต้องใช้โปรไฟล์”

พิมพา คำพับ: ดีไซเนอร์ผู้นำ ‘ผ้าไทย’ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ไปไกลถึงเทศกาลแฟชั่นระดับโลก “ตอนแรกเราอยากผลักดันเรื่องผ้าไทยมากเลย แต่สุดท้ายมันไม่ได้ไปไกลตามที่หวัง ถ้าถามว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้ยังไงก็ต้องบอกว่าเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์มานานมาก”

“เพราะเรามีฝัน ฝันที่เราอยากจะเป็น เราเลยไม่หยุดที่จะออกไปหาโอกาส”

พิมพาบอกว่าความฝันของเธออาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยิ่งฝันใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกสนุกที่จะใช้ชีวิตมากขึ้นเท่านั้น

“จริง ๆ เราฝันใหญ่มาก ฝันว่าอยากเป็นดีไซเนอร์ระดับโลกเลย” เธอขยับตัวเล็กน้อย ยิ้มอย่างอารมณ์ดีระหว่างเล่าถึงความฝัน ก่อนจะย้อนกลับมาพูดถึงผ้าไทยอีกครั้ง ราวกับจะสื่อว่าทุกอย่างที่หลอมรวมมาเป็นเธอในวันนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเส้นใยเหล่านั้น

“เรามีสิ่งที่สวยงาม เรามีวัสดุที่หลากหลาย เรามีผ้าไทยที่สวย ประณีต แต่กลับกลายเป็นว่าช่างทอผ้าเขาไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับผลงานที่เขาทำ ต่างจากยุโรปที่เขามีเทคนิคอะไรคล้าย ๆ กัน แต่ค่าตอบแทนเขาได้รับเยอะกว่า”

“จุดนี้คือสิ่งที่เราอยากจะกลับมาพัฒนา อยากทำให้ประเทศดีขึ้น เราเลยเข้าไปช่วยชาวบ้าน เพราะสิ่งที่เราถ่ายทอดออกไปไม่มีใครมาแย่งไปได้ มันคือสิ่งที่จะอยู่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต”