30 ต.ค. 2567 | 16:30 น.
KEY
POINTS
เมื่อภาพของ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugène Delacroix) ปรากฏขึ้นเป็นปกอัลบั้ม Viva la Vida ของวง โคลด์เพลย์ (Coldplay) ในปี 2008 มันไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำศิลปะคลาสสิกมาสร้างความโดดเด่นให้กับงานดนตรี แต่มันเป็นการสะท้อนถึงจิตวิญญาณของการลุกฮือ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ การเลือกใช้ภาพ "Liberty Leading the People" ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นการจับคู่ระหว่าง 2 รูปแบบศิลปะที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ภาพของหญิงสาวที่ก้าวขึ้นเหนือกองศพ ยกธงชาติฝรั่งเศสที่พลิ้วไหวเหนือท้องฟ้าที่มืดมน สื่อถึงความกล้าหาญและความหวังท่ามกลางความวุ่นวายของการปฏิวัติ ในปี 1830 เดอลาครัวซ์ ได้สร้างสรรค์ภาพนี้ขึ้น จากการเฝ้าดูเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส แต่สิ่งที่เขาใส่ลงไปในภาพ ไม่ได้เป็นเพียงการบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น หากต้องการสื่อสารถึง “อุดมการณ์” และ “ความมุ่งมั่นในเสรีภาพ” ของมนุษยชาติ
เดอลาครัวซ์ เกิดในปี 1798 ในครอบครัวที่เต็มไปด้วยเสรีทางความคิด เขาเป็นผลผลิตที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างชนชั้น การเติบโตขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรป ทำให้ เดอลาครัวซ์ เข้าใจลึกซึ้งถึง “พลังของประชาชน”
ตั้งแต่วัยหนุ่ม เขามีความลุ่มใหลในศิลปะ โดยได้เข้าเรียนที่ Lycée Imperial ในปารีส และต่อมาอายุ 17 ปี ได้รับการฝึกฝนจาก ปิแอร์-นาร์ซิส เกแฮง (Pierre-Narcisse Guérin) ซึ่งเป็นศิลปินนีโอคลาสสิกที่มีชื่อเสียง สไตล์การวาดของ เดอลาครัวซ์ จัดอยู่ในกลุ่ม Rubenists ที่เน้นการใช้สีมากกว่าเส้น ต่างจากกลุ่ม Poussinists ที่เน้นการวาดเส้น
ทว่า เดอลาครัวซ์ ไม่ได้หยุดอยู่ที่แนวทางการวาดแบบคลาสสิก เขามองหาสิ่งที่ลึกซึ้งและท้าทายกว่านั้น นั่นคือ “การแสดงอารมณ์และความหลงใหลที่ไม่ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์” เขาก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้ที่นำขบวนการ “โรแมนติก” ด้วยความเชื่อว่าศิลปะสามารถแสดงออกถึงจิตวิญญาณและอารมณ์ในแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุด
เดอลาครัวซ์ กล่าวว่า
"ศิลปะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของความสมบูรณ์แบบทางเทคนิค แต่มันต้องสะท้อนความจริงของอารมณ์และชีวิต" ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อของเขาที่ว่าศิลปะเป็นมากกว่าวัตถุ แต่เป็นหน้าต่างที่สะท้อนถึงจิตใจของมนุษย์
แม้ว่า เดอลาครัวซ์ จะไม่ได้ร่วมต่อสู้ในการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ปี 1830 โดยตรง แต่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากการเป็น "ผู้สังเกตการณ์" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จิตรกรจึงตัดสินใจลงมือวาดภาพนี้ภายหลังเหตุการณ์ไม่กี่วัน เพื่อแสดงออกถึง “พลังและจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ”
ปัจจุบัน ภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ "Liberty Leading the People" บนผืนผ้าใบขนาด 2.60 x 3.25 เมตร จัดแสดงอย่างสง่างาม ณ ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นการถ่ายทอดจินตภาพอันทรงพลังของการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม 1830 ผ่านฝีแปรงอันเปี่ยมด้วยพลังและอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโรแมนติก
ด้วยเทคนิคสีน้ำมันที่เป็นเอกลักษณ์ของ เดอลาครัวซ์ ได้สร้างสรรค์งานที่ผสมผสานความสมจริงและอุดมคติเข้าด้วยกัน ฝีแปรงที่ฉับไวและการเกลี่ยสีที่อิสระ สร้างความรู้สึกเคลื่อนไหวและพลังงานให้แก่ภาพ โดยเฉพาะในส่วนของควันไฟจากการต่อสู้ และผืนผ้าที่พลิ้วไหว ขณะที่การใช้แสงเงาและการไล่น้ำหนักสีอย่างประณีต ช่วยสร้างมิติและอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง
บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เดอลาครัวซ์ ได้สร้างสรรค์องค์ประกอบที่ผสานความวุ่นวายและความเป็นระเบียบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ณ จุดศูนย์กลางของภาพ เราเห็นรูปสตรีผู้งดงามดุจเทพีกรีกโบราณ ครึ่งกายเปลือยเปล่า สวมหมวก Phrygian สีแดงสด - สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพที่สืบทอดมาแต่โบราณ ในมือขวาชูธงไตรรงค์สูงเด่นเหนือศีรษะ ส่วนมือซ้ายกำปืนที่ติดดาบปลายกระบอก เธอคือ "เสรีภาพ" (Liberty) ที่นำพาประชาชนไปสู่ชัยชนะ
การจัดวางองค์ประกอบแบบสามเหลี่ยม (pyramidal composition) ที่มีรูปเสรีภาพเป็นจุดสูงสุด ช่วยสร้างความมั่นคงและสมดุลให้กับภาพ ท่ามกลางความวุ่นวายของการต่อสู้ โทนสีที่ศิลปินเลือกใช้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ - สีของธงชาติฝรั่งเศสที่โดดเด่น สีแดงของหมวกเสรีภาพ และการไล่โทนสีควันและท้องฟ้าที่สร้างบรรยากาศแห่งการต่อสู้
รายล้อมรูปเสรีภาพ คือผู้ร่วมต่อสู้จากทุกชนชั้นในสังคม - กรรมกรในชุดทำงานและผ้ากันเปื้อน ชายชนชั้นกลางในเสื้อโค้ทดำและหมวกสูง เด็กนักเรียนผู้กล้าหาญกับปืนพกสองกระบอก พวกเขาทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เดียวกัน บนพื้นเต็มไปด้วยร่างของผู้บาดเจ็บล้มตาย ทั้งทหารในเครื่องแบบและพลเรือน สะท้อนความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติ
แบ็คกราวด์ของภาพ ปรากฏหอคอยวิหารนอเตรอดาม (Notre Dame) ทะมึนตระหง่านท่ามกลางควันจากการสู้รบ ราวกับเป็นพยานเงียบต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศส การที่ เดอลาครัวซ์ เลือกให้วิหารเป็นฉากหลังเพียงสิ่งเดียวในภาพ แสดงถึงความตั้งใจที่จะเน้นย้ำบริบททางประวัติศาสตร์และความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในใจกลางกรุงปารีส
นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปิน “กล้า” ใช้รูปแบบของการวาดภาพประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่กับ “เหตุการณ์ร่วมสมัย” ซึ่งแต่เดิมภาพขนาดใหญ่มักถูกสงวนไว้สำหรับการวาดภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หรือศาสนาเท่านั้น
ขบวนการโรแมนติก (Romanticism) ที่ เดอลาครัวซ์ เป็นผู้นำ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อ ขบวนการนีโอคลาสสิก (Neo-Classicism) ที่เน้นเหตุผลและความสมบูรณ์แบบ โดย ขบวนการโรแมนติก เลือกเน้นไปที่ “อารมณ์และความรู้สึก” และเชื่อว่าศิลปะควรสะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความกลัว ความหวัง หรือความกล้าหาญ
เดอลาครัวซ์ เป็นตัวแทนของแนวคิดนี้ ด้วยความเชื่อว่า ศิลปะควรจะมีอิสรภาพและไม่ควรถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ใด ๆ เขาเชื่อว่าศิลปินต้องสำรวจโลกผ่านความรู้สึกและความเป็นตัวตนที่แท้จริง ดังที่เราเห็นในผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น "The Death of Sardanapalus" หรือ "Massacre at Chios" ที่เต็มไปด้วยความโกลาหล ความงามที่ผสมผสานกับความรุนแรง และอารมณ์ที่ถูกปลดปล่อยออกมา
ในขณะที่ศิลปะโรแมนติกเน้นการแสดงอารมณ์ผ่านภาพ จิตรกรชาวฝรั่งเศสท่านนี้ยังได้แสดงออกถึงความเชื่อใน “อิสรภาพ” ของมนุษย์ ความหวังของการปลดปล่อยจากการกดขี่ ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือสังคม การปฏิวัติทางศิลปะของ เดอลาครัวซ์ จึงเป็นมากกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงทางเทคนิค แต่เป็น “การสร้างวิถีใหม่ของการแสดงออก” ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและประสบการณ์ของมนุษย์
แม้ว่า "Liberty Leading the People" จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แต่ความหมายของภาพนี้ ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับสังคมปัจจุบัน สัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงในยุคสมัยใหม่
การเลือกใช้ภาพนี้โดยวงโคลด์เพลย์ บนปกอัลบั้มของพวกเขา เป็นตัวอย่างของการที่ศิลปะสามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่าง “ประวัติศาสตร์และปัจจุบัน” พวกเขาใช้ภาพนี้เพื่อให้สอดคล้องกับธีมของอัลบั้ม ที่สะท้อนถึงการลุกขึ้นสู้ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่ไม่สิ้นสุด และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับส่วนบุคคลและสังคม ภาพนี้ยังคงปรากฏบนปกอัลบั้มของศิลปินแจ๊สยุโรป ในงานศิลปะกราฟิตี โปสเตอร์ประท้วง และถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
สัญลักษณ์ของเสรีภาพที่นำพาประชาชนไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพจากอดีต แต่ยังเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผลงานของ เดอลาครัวซ์ จึงเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในอิสรภาพและศักยภาพของมนุษย์
ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ภาพจิตรกรรมระดับมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ ยังคงสื่อถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ไม่มีวันสิ้นสุด และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและประชาชนทั่วโลกในทุกยุคทุกสมัย
ที่มา:
- Alston, Isabella. Eugène Delacroix. TAJ Book. 20214.
- https://www.britannica.com/topic/Liberty-Leading-the-People
-https://smarthistory.org/delacroix-liberty-leading-the-people/
- https://louvreguide.com/our-stories/f/liberty-leading-the-people-the-most-important-french-painting