อองตวน ลาวัวซิเอ ผู้ปฏิวัติวงการเคมี ตายเพราะปฏิวัติฝรั่งเศส

อองตวน ลาวัวซิเอ ผู้ปฏิวัติวงการเคมี ตายเพราะปฏิวัติฝรั่งเศส
"การตัดหัวเขาใช้เวลาเพียงพริบตา แต่จากนี้อีกร้อยปีจะสร้างคนอย่างเขาขึ้นมาอีกสักคนก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่"  โฌแซ็ฟ-หลุยส์ ลากร็องฌ์ (Joseph-Louis Lagrange) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ กล่าวถึงการจากไปของ อองตวน ลาวัวซิเอ (Antoine Lavoisier) นักเคมีผู้ไขปริศนาการทำปฏิกิริยาของออกซิเจน เนื่องจากถูกประหารโดยศาลของคณะปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1794  แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวถึงสาเหตุของการประหารลาวัวซิเอ โดยตัดถ้อยคำตอนหนึ่งของตุลาการมาอ้างว่า เป็นเพราะ “สาธารณรัฐของเราไม่ต้องการนักปราชญ์” ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างโดยผิดบริบท บิดเบือนความเลวร้ายให้แย่ลงไปอีกโดยไม่จำเป็น เพราะไม่ว่าอย่างไร การตายของลาวัวซิเอก็แสดงถึงความไม่เป็นธรรมของคณะปฏิวัติอยู่แล้ว แต่การเป็นนักปราชญ์ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เขาถูกฆ่าแต่อย่างใด จากข้อมูลของ Britannica ลาวัวซิเอเกิดเมื่อ 26 สิงหาคม 1743 เป็นลูกชายคนแรกและคนเดียวของครอบครัวกระฎุมพีฐานะดีในปารีส ได้เข้าเรียนด้านกฎหมายที่สถาบันชั้นนำของฝรั่งเศส Collège Mazarin ระหว่างนั้นเขาก็ไปเรียนด้านเคมีและฟิสิกส์ควบคู่ไปด้วย จบกฎหมายแล้วเขาก็ได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตเช่นเดียวกับพ่อ และตา แต่เขาไม่คิดจะเอาดีด้านกฎหมาย กลับไปมุ่งศึกษาด้านเคมีแทน ในศตวรรษที่ 18 ทฤษฎีเรื่องการเผาไหม้ที่ได้รับการยอมรับคือ สารที่ติดไฟได้จะต้องมี “โฟลจิสตัน” (phlogiston) ธาตุที่มีลักษณะเหมือนเปลวไฟเป็นองค์ประกอบด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อกันมานับร้อยปี จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์รายหนึ่งค้นพบ “ออกซิเจน” ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ต้องรื้อถอนทฤษฎีว่าด้วยเรื่องการติดไฟกันขึ้นใหม่ นักวิทยาศาสตร์คนดังกล่าวก็คือ โจเซฟ พรีสลีย์ นักวิทยาศาสตร์จากฝั่งอังกฤษ (ซึ่งเป็นนักบวชด้วยอีกวิชาชีพหนึ่ง) แต่ถึงแม้พลีสลีย์จะเป็นผู้ค้นพบออกซิเจน แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในทฤษฎีโฟลจิสตันเช่นเดิม และเรียกมันว่า “dephlogisticated air” หรืออากาศที่ไม่มีโฟลจิสตัน ทั้งนี้ ตามทฤษฎีโฟลจิสตัน (phlogiston theory) สารที่ติดไฟได้จะมีสองส่วน คือส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “โฟลจิสตัน” (phlogiston) ซึ่งจะหายไปเมื่อธาตุนั้นติดไฟ กับส่วนที่ไม่มีโฟลจิสตัน (หรือ dephogisticated) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อแท้ของสารนั้น ๆ เช่น “ถ่าน” ก็คือส่วนที่ถูกเอาโฟลจิสตันออกไปแล้วของ “ไม้” ซึ่งถือเป็นเนื้อแท้ของไม้ ส่วนเหตุที่เขาเรียกออกซิเจนว่าเป็น dephlogisticated air ก็เนื่องจากตามทฤษฎีโฟลจิสตัน เมื่อมีการเผาไหม้โฟลจิสตันก็จะถูกปล่อยออกมา ถ้าอากาศถูกเติมด้วยโฟลจิสตันจนอิ่มตัวก็จะเกิดการเผาไหม้ต่อไม่ได้ ในขณะที่ก๊าซออกซิเจนเป็นก๊าซที่สามารถช่วยการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี เขาจึงเชื่อว่ามันเป็นก๊าซที่ไม่มีโฟลจิสตันอยู่เลย จึงสามารถดึงโฟลจิสตันจากสารตัวอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “โจเซฟ พรีสลีย์ นักเทศน์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบออกซิเจน”) ฝ่ายลาวัวซิเอนั้นเป็นผู้ที่เชื่อในทฤษฎีที่ว่า “สสารไม่หายไปไหน” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเคมียุคนั้นรับฟังไม่น้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์รู้ได้ยาก ถึงอย่างนั้นเขาก็ทุ่มเททรัพยากรเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ จนคนฝรั่งเศสเรียกหลักการนี้ติดปากว่าเป็น “กฎของลาวัวซิเอ”  สมัยนั้นสิ่งหนึ่งที่สร้างความพิศวงให้กับนักวิทยาศาสตร์ก็คือ การทำปฏิกิริยาของโลหะกับออกซิเจน เนื่องจากสมัยนั้นพวกเขาไม่รู้จักออกซิเจนและกลไกของมัน และทฤษฎีโฟลจิสตันก็ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ เนื่องจากการเผาโลหะจนแตกตัวเป็นเถ้า (calcination) ขี้เถ้าโลหะกลับมีน้ำหนักรวมมากกว่าน้ำหนักเดิมของโลหะ ซึ่งถ้าหากทฤษฎีโฟลจิสตันเป็นจริง กรณีนี้น้ำหนักมันควรจะลดลง ลาวัวซิเอจึงเชื่อว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการ “รวมตัว” และ “ปลดปล่อย” ของอากาศบางอย่างตามหลักสสารไม่หายไปไหน มากกว่าการเผาเอาโฟลจิสตันที่อยู่ในธาตุต่าง ๆ ออกไป เมื่อมีการค้นพบออกซิเจน ลาวัวซิเอจึงทำการทดลองอย่างเข้มข้นจนมั่นใจว่าทฤษฎีของเขาถูกต้อง และเป็นผู้ที่ตั้งชื่อก๊าซชนิดนี้ว่า “ออกซิเจน” (มาจากรากภาษากรีกหมายถึงตัวการทำให้เกิดกรด เนื่องจากสมัยนั้นเข้าใจกันว่ากรดล้วนมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ) ในประวัติศาสตร์เคมี ลาวัวซิเอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำการปฏิวัติวงการเคมีในศตวรรษที่ 18 และเป็นหนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานวิชาเคมีสมัยใหม่ เขาเป็นนักพิสูจน์ที่เก่งกาจ การทดลองของเขาเน้นการพิสูจน์เชิงปริมาณ และเขาก็พยายามยกระดับให้วิชาเคมีเป็นศาสตร์ที่มีความเข้มงวดผ่านการพิสูจน์ทดลองที่ถูกต้องและแม่นยำ ขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง ถึงขั้นเย่อหยิ่ง ทำให้กลุ่มนักเคมีหัวเก่าเห็นว่าเขาไม่มีมารยาทพาลไม่ชอบหน้าและไม่รับฟังทฤษฎีของเขาไปด้วย โชคดีที่ทฤษฎีของเขาเริ่มได้รับการยอมรับตั้งแต่ทศวรรษ 1780s ทำให้เขาไม่ถูกขัดขวางด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในทศวรรษต่อมา และเขาก็ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด “ถึงตาย”  ลาวัวซิเอเป็นผู้มีอันจะกิน การที่เขาสามารถลงทุนไปกับการทดลองทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่ผลตอบแทนเป็นตัวเงินแทบไม่มีก็เป็นเพราะการที่เขาเป็นเจ้าภาษีนายอากรให้กับราชสำนัก ซึ่งทำหน้าที่เก็บภาษีจากประชาชนแทนราชสำนัก แล้วตัวเองกินส่วนต่างไป ซึ่งเป็นอาชีพที่ประชาชนคนชั้นล่างของฝรั่งเศสสมัยนั้นโกรธแค้นมากพอ ๆ กับราชสำนักที่พวกเขาล้มล้าง  ก่อนเกิดการปฏิวัติ สังคมฝรั่งเศสอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับภาวะอดอยากอย่างรุนแรงซึ่งกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้คนออกมาประท้วงล้มล้างการปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ ความวุ่นวายกินระยะเวลาหลายปี ความแค้นเคืองของประชาชนไม่ได้ถูกจำกัดไว้ที่ความล้มเหลวของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่ลามไปถึงชนชั้นนายทุนและผู้มีอันจะกินที่ได้รับผลประโยชน์จากระบอบเดิม ในขณะที่พวกเขาถูกกดขี่ทารุณ  ช่วงต้นของการปฏิวัติ ลาวัวซิเอยังมองโลกในแง่บวกเชื่อในพลังแห่งเหตุผล สนับสนุนการปฏิรูปสังคม การศึกษาตามแนวทางใหม่ และอยู่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและกิจการอื่น ๆ ให้กับกลุ่มอำนาจใหม่ต่อไปแทนที่จะลี้ภัยไปต่างแดน แต่การปลุกเร้าความแค้นเคืองในหมู่ประชาชนยิ่งนานยิ่งลุกลาม ลาวัวซิเอในฐานะเจ้าภาษีที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจึงตกเป็นเป้าของความแค้นไปด้วย  ในวันที่ 24 ธันวาคม 1793 อดีตเจ้าภาษีนายอากรทั้งหลายถูกจับกุม ลาวัวซิเอก็เช่นกัน เขาถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงประเทศชาติ แต่คำกล่าวหาส่วนใหญ่ไร้หลักฐานยืนยัน ถึงอย่างนั้นคำตัดสินก็ร่างขึ้นล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนการไต่สวนซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วันอยู่แล้ว ลูกศิษย์ลูกหาของเขาพยายามยื่นฎีกาขอให้ละเว้นโทษตายกับอัจฉริยะเช่นเขา แต่คณะตุลาการไม่รับฟัง ลาวัวซิเอจึงถูกตัดหัวด้วยกิโยตินในวันที่ 8 พฤษภาคม 1794 พร้อมกับเจ้าภาษีอีกหลายรายเซ่นความแค้นเคืองของประชาชนที่มีต่อระบอบเก่าด้วยโทษทัณฑ์ที่ไม่อาจถอนคืนได้ และถือเป็นรอยด่างประการหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศส