31 ต.ค. 2567 | 08:37 น.
KEY
POINTS
จุนจิ อิโต้ เจ้าพ่อการ์ตูนสยองขวัญครองใจผู้อ่านมาหลายสิบปีด้วยเนื้อเรื่องที่แปลกประหลาดและลายเส้นขาวดำละเอียดพิถีพิถันกึ่งสมจริง
ปัจจุบัน จุนจิ อิโต้ เขียนมังงะมาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ยังคงมีแฟน ๆ ที่หลงใหลและรอคอยเรื่องเล่าสยองขวัญใหม่ ๆ ที่แปลกประหลาดพร้อมด้วยลายเส้นของเขาอยู่เสมอ อย่างเรื่อง ‘Mimi's Tales of Terror’ ที่เพิ่งตีพิมพ์ไปในเดือนตุลาคม ปี 2023 ที่ผ่านมากีมีแฟนคลับรอกดพรีออเดอร์อยู่เช่นเคย
นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ ‘Junji Ito Exhibition: Enchantment’ ในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน 2024 ซึ่งถือเป็นงานนิทรรศการใหญ่ที่มีการแสดงผลงานของจุนจิ อิโต้ ทั้งฉากที่โด่งดังและงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์ รวมไปถึงโมเดล 3 มิติของฉากต่าง ๆ ที่เสมือนหลุดออกมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
เพราะความนิยมของจุนจิ อิโต้ ทำให้ผลงานของเขามักถูกนำไปรีเมกเป็นแอนิเมชั่นและภาพยนตร์ รวมถึง ‘ก้นหอยมรณะ’ หรือ ‘Uzumaki’ มังงะเรื่องล่าสุดของเขาที่เพิ่งถูกนำมาสร้างเป็นแอนิเมชั่นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2024 ออกอากาศผ่านทาง Adult Swim และ HBO Max อีกทั้งกำลังจะเข้าฉายใน Netflix ภายในปีนี้
“มังงะเรื่องแรกที่ผมอ่านเป็นแนวสยองขวัญ และระหว่างที่อ่านผมก็อยากจะทำเรื่องของผมเอง”
คือ ประกายไฟแรกที่ทำให้จุนจิ อิโต้เลือกจับดินสอ แต่งเรื่องราวแนวสยองขวัญตั้งแต่วัยเยาว์ โดยคนที่จุดประกายการเป็นนักวาดการ์ตูนให้กับของจุนจิ อิโต้ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นพี่สาวของเขาทั้งสองคนที่ส่งต่อมังงะแนวสยองขวัญเรื่อง ‘Mummy Teacher (1967)’ ของ ‘อุเมซุ คาซึโอะ’ นักเขียนการ์ตูนผู้บุกเบิกวงการสยองขวัญของญี่ปุ่นมาให้เขาอ่าน
“สมดุลของความขัดแย้งระหว่างความสวยงามและความสยดสยองในเรื่องนี้ มันตราตรึงใจผมจริง ๆ"
นี่คือความรู้สึกของอาจารย์จุนจิต่อมังงะเรื่อง ‘Mummy Teacher’ การ์ตูนเรื่องแรกที่เขาอ่าน ซึ่งมีตัวละครหญิงที่สวยสง่าตอนเป็นมนุษย์ แต่กลับน่าเกลียดน่ากลัวหลังจากกลายเป็นมัมมี่ ความขัดแย้งในเรื่องรูปลักษณ์ของตัวละครนั้นช่วยขับความอัปลักษณ์และความสยองของสัตว์ประหลาดมาได้มากขึ้น
แล้วเราก็เห็นวิธีการเล่าเรื่องรูปแบบนี้อยู่ในงานของจุน จิ อิโต้ อย่างเรื่อง ‘โทมิเอะ’ ที่โทมิเอะมีหน้าตาสะสวย แต่เมื่อโดนถ่ายรูป ใบหน้าของเธอกลับมีเนื้องอกออกมาจากหน้าพร้อมทั้งทำหน้าตาโหดอำมหิตใส่กล้อง
อีกหนึ่งเรื่องที่จุนจิ อิโต้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์อุเมซุ ก็คือ ลายเส้นละเอียดกึ่งสมจริงที่ทำให้ผู้อ่านเห็นหน้าตาของสัตว์ประหลาดหรือสิ่งสยองดูน่าเกลียดและแปลกประหลาดมากกว่าเดิม
อย่างเรื่อง ‘ลูกโป่งหัวมนุษย์’ ที่หากวาดด้วยลายเส้นการ์ตูนทั่วไป อาจดูเป็นเรื่องตลบขบขัน แต่เมื่อเป็นลายเส้นของอาจารย์จุนจิที่ละเอียดและพิถีพิถัน ประกอบกับสีหน้าของลูกโป่งที่เป็นหัวมนุษย์เสมือนจริงแล้ว กลับทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ดูสมจริง
นอกจากนี้ จุนจิ อิโต้มักจะให้ตัวละครแสดงสีหน้าเกินจริงเพื่อสื่อถึงอารมณ์แบบสุดโต่ง อย่างเช่นแก้มผอมตอบ ตาปูดโปน หรืออ้าปากกว้างผิดปกติ ถึงจะดูแปลกตาไปบ้าง แต่นี่คือสิ่งที่เขาตั้งใจถ่ายทอดให้อารมณ์กลัวและสิ้นหวังของตัวละครเด่นชัด
ไม่เพียงเท่านั้น จุนจิมักใช้รูปภาพขาวดำสร้างบรรยากาศให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนนั่งดูหนังผีโทนสีซีด ๆ รู้สึกสิ้นหวัง และด้วยความไร้สีบนหน้ากระดาษ มังงะของจุนจิ อิโต้ก็สามารถทำให้เขาออกแบบการเล่าเรื่องด้วยการแสงและเงา ขับรอยเลือดหรือรอยแผลเหวอะหวะให้ดูโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม
ตอนแรก จุนจิ อิโต้ เป็นช่างทันตกรรม และใช้ช่วงเวลาว่างที่เขามีเขียนมังงะเป็นงานอดิเรก และหนึ่งในเรื่องที่เขาเขียน คือเรื่องสั้น ชื่อ ‘โทมิเอะ’ ที่ลงประกวดกับนิตยสาร ‘Gekkan Halloween’ ซึ่งมี อาจารย์อุเมซุ คาซึโอะ เป็นกรรมการ และคว้ารางวัลชมเชยมาได้สำเร็จในปี 1987
หลังจากนั้น ‘โทมิเอะ’ ก็ได้รับการตีพิมพ์และถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ขนาดยาว ชีวิตที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ ก็มีความเหนื่อยล้าซ่อนอยู่ เพราะการเป็นช่างทันตกรรมและงานวาดรูปมังงะต่างต้องใช้พลังงานและเวลามาก เขาจึงตัดสินใจที่จะเลิกทำงานประจำ แล้วมาเป็นนักเขียนมังงะเต็มตัว
“คนเรามีชีวิตอยู่แค่ครั้งเดียว ผมเลยตัดสินใจที่จะทุ่มเทตัวเองให้กับมังงะทั้งหมด”
หลังจากลาออกจากงาน จุนจิ อิโต้ก็มีเวลาคิดเรื่องเล่าและวาดมังงะสยองขวัญมากขึ้น หลังจากนั้น เขาก็เริ่มเขียน ‘ก้นหอยมรณะ’ และ ‘ปลามรณะ’ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมและโด่งดังในญี่ปุ่น จากลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และสื่อถึงอารมณ์บรรยากาศอันตึงเครียดและน่ากลัวในเรื่อง รวมถึงเนื้อหาที่ดูน่ากลัว หดหู่ และแปลกแหวกแนวไปจากเรื่องอื่นในท้องตลาด เพราะเรื่องของเขามักจะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คนทั่วไปรู้จักและคุ้นเคยอย่างภูติ ผี ปีศาจ ในนิทานพื้นบ้าน แต่เป็นเรื่องสยองขวัญที่ไร้การอธิบายที่มาที่ไปแทน
ตามประสามังงะที่ได้รับความนิยม มังงะของจุนจิ อิโต้ก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ (Live Action) หรือแอนิเมชั่น เช่น ‘โทมิเอะ’ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ‘Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre’ ที่เป็นการรวมเรื่องสั้นของจุนจิ อิโต้มานำเสนอเป็นการ์ตูน 12 ตอน ใน Netflix รวมถึง ‘ก้นหอยมรณะ’ ที่เพิ่งถูกนำมาทำเป็นแอนิเมชั่นในปลายเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา
ทว่ากระแสตอบรับในรูปแบบของ แอนิเมชั่นหรือภาพยนตร์ กลับไม่ได้ดีเท่าที่แฟน ๆ มังงะหลายคนรอคอย ชาวเน็ตบางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ผลงานของจุนจิ อิโต้ ในเวอร์ชั่นที่ถูกนำมารีเมกรู้สึกน่ากลัวน้อยกว่าฉบับมังงะและขาด ‘เสน่ห์’ ของจุนจิ อิโต้ไป
แล้วเหตุใดผู้คนบางส่วนจึงคิดว่าภาพขาวดำที่ขยับไม่ได้ จึงดูน่ากลัวกว่าภาพเคลื่อนไหว ทั้ง ๆ ที่แอนิเมชั่นและหนังสามารถเพิ่มรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งไม่มีในต้นฉบับเข้าไปได้ ไม่ว่าจะเป็นฉากสะดุ้ง (Jumpscare) เพื่อสร้างความตกใจ ใช้เสียงประกอบเสริมบรรยากาศ หรือภาพสีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
หนึ่งในสาเหตุ ก็คือ ลายเส้นที่ละเอียดพิถีพิถันอันเป็นเอกลักษณ์ของจุนจิ อิโต้ ไม่เหมาะกับแอนิเมชั่นที่จำเป็นต้องวาดหลาย ๆ เฟรม เนื่องจากต้องลดทอนรายละเอียดบางอย่างลง เช่น เส้นผมของตัวละครที่โดนวาดอย่างละเอียดเป็นช่อเล็ก ๆ หลาย ๆ ช่อ ในมังงะ กลับเหลือเพียงเส้นบาง ๆ ไม่กี่เส้นที่ไร้การเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการผลิต
คำถามคือทำไมต้องละเอียดขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นหรือวิธีการเล่าเรื่อง
คำตอบของจุนจิ คือ “ผมอยากให้คนอ่านรู้สึกพิศวงขนหัวลุกมากกว่าที่จะตื่นตกใจกลัว”
นอกจากลายเส้นและสี วิธีการเล่าเรื่องของจุนจิ อิโต้ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกพิศวงขนลุกได้ตามที่เขาบอก เพราะเขาจะใช้ความเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความแปลกประหลาดปูเรื่อง จึงทำให้ผู้อ่านคอยรู้สึกกังวลใจว่าสิ่งนั้นคืออะไรและสิ่งใดจะเกิดขึ้นต่อไป แต่ในฉบับแอนิเมชั่นกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ตัวอย่างที่ดูจะเห็นชัดมากที่สุด ก็คือ มังงะต้นฉบับของ ‘ก้นหอยมรณะ’ ซึ่งแต่ละตอนจะโฟกัสแค่เรื่องเดียว แต่เมื่อถูกนำมาเล่าเรื่องเป็นภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นว่ามีวิธีการเล่าที่ต่างออกไปเป็นการนำเนื้อหามังงะหลาย ๆ ตอนมาจัดเรียงไทม์ไลน์ของเรื่องใหม่
อย่างตอนที่ 1 แทนที่จะเล่าเพียงความหลงใหลเรื่องก้นหอยของพ่อพระเอกเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีเพื่อนของนางเอกที่มีรอยแผลเป็นซึ่งดึงดูดเพศตรงข้ามซึ่งปรากฏตัวในตอนที่ 3 มารวมอยู่ด้วย
เพราะเอาเข้าจริง จุนจิ อิโต้ต้องการที่จะค่อย ๆ เผยเรื่องราวสยองขวัญเพราะต้องการให้คนอ่านตกผลึกว่าพวกเขาเห็นอะไรขณะกำลังดูรูปภาพของสัตว์ประหลาดหรือเหตุการณ์ขนหัวลุกเหล่านั้น
“ผมอยากให้คนอ่านได้ซึมซับความรู้สึกแปลก ๆ ตอนที่พวกเขาเห็นรูป ๆ นั้นเป็นครั้งแรก”
เมื่อมาดูรายละเอียดให้ลึกขึ้น ในเรื่องก้นหอยมรณะ จุนจิ อิโต้ใช้สองหน้ากระดาษเล่าฉากที่พ่อพระเอกที่ขดตัวบิดเบี้ยวเป็นก้นหอยในอ่างไม้ทรงกลม หลังจากที่พระเอกและแม่กำลังพยายามหาตัวอยู่ เพื่อให้เห็นสีหน้าตื่นตกใจกลัวของพระเอกและแม่ ดวงตาที่เบิกโพลงของพ่อ หรือ ลิ้นที่ตวัดและม้วนเป็นก้นหอย แต่ในแอนิเมชั่น ผู้ชมเห็นฉากนี้ได้ราว ๆ 9 วินาที และไม่สามารถที่จะสังเกตรายละเอียดทั้งหมดได้ก่อนที่เรื่องจะดำเนินฉากต่อไป
จุนจิ อิโต้ เป็นนักวาดการ์ตูนผ่านสายตาคนทำมังงะจริง ๆ ใช้ประโยชน์จากสื่อการ์ตูนขาวดำ เล่นแสง สีผ่านการ์ตูนสองสี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้งานของเขาดูน่ากลัว และยังทำให้ให้ผู้อ่านซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครตามจังหวะการพลิกหน้ากระดาษของผู้อ่านเอง
แล้วคุณล่ะ? ชอบผลงานชิ้นไหนของจุนจิ อิโต้ และมีความเห็นอย่างไรกับผลงานของเขาที่ถูกนำมาเล่าผ่านภาพเคลื่อนไหว
ทุกคนต่างมีคำตอบในใจ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็คงพูดได้เต็มปากว่า จุนจิ อิโต้ คือ ปรมาจารย์การเขียนการ์ตูนที่กาลเวลาไม่สามารถทลายลายเส้นแสนละเอียดของเขาได้
อ้างอิง
The Grotesque Tales of Junji Ito — Part 1: Shiver (& An Introduction) / Daniel Mayfair
A Talk with Junji Ito | Creator Interview | VIZ / vizmedia
Junji Ito Talks New Uzumaki Anime | Interview / Crunchyroll: Inside Anime