21 ส.ค. 2566 | 16:56 น.
- 21 สิงหาคม 2566 มีข่าวประกาศว่า นิโซ ยามาโมโตะ เสียชีวิตจากโรคกระเพาะอาหาร
- นิโซคือนักวาดฉากมากฝีมือของสตูดิโอจิบลิที่ยังคงเชื่อในความงามตามแบบฉบับตัวเอง
- ถึงแม้วันนี้เขาจะไม่อยู่แล้ว แต่ทุกผลงานจะยังอยู่ในความทรงจำของเรา
ภาพยนตร์แอนิเมชันจากสตูดิโอจิบลิ คือ การ์ตูนวัยเด็กที่อยู่ในใจใครหลายคน ด้วยบท ความน่ารักของตัวละคร โทนสีแสนอบอุ่น และฉากที่ดูสมจริง
หนึ่งในนักวาดที่หลายคนอาจรู้จัก คือ ‘นิโซ ยามาโมโตะ’ (Nizo Yamamoto) หรือนักวาดฉายา ‘ก้อนเมฆของนิโซ’ ก้อนเมฆทรงตั้งสูงที่ตัดกับท้องฟ้าฤดูร้อน
นิโซ เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 1953 เป็นคนจังหวัดโคโต ประเทศญี่ปุ่น เขาคือเด็กชายที่หลงใหลในธรรมชาติจนมาจับแปรงวาดภาพฉาก นั่งแท่นผู้กำกับศิลป์ให้กับสตูดิโอจิบลิ
แต่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ทวิตเตอร์แอ็กเคานต์ kaieisha_nizo_y ทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาประกาศว่า นิโซจากโลกนี้ไปแล้วในวัย 70 ปีด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
The People ชวนดูเส้นทางของเขาที่ทุกผลงาน คือ การถ่ายทอดความงามผ่านปลายพู่กัน
เด็กสถาปัตย์สู่นักวาดฉากสตูดิโอจิบลิ
“ผมรักการวาดภาพ ผมมีโอกาสทำงานในสตูดิโอแอนิเมชันตั้งแต่เด็ก แล้วตั้งแต่วันนั้น ผมก็รู้สึกว่าผมยังอยู่ในโลกของแอนิเมชัน” นิโซให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 6 ปีก่อน
ก่อนเป็นนักวาด นิโซเคยเป็นเด็กคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาก่อน
แล้วเขาก็เข้าสู่วงการอนิเมะครั้งแรกในฐานะนักวาดภาพประกอบฉากของ ‘Future Boy Conan’ ซีรีส์อนิเมะแนววิทยาศาสตร์ความยาว 24 ตอนที่ออกอากาศในปี 1999 - 2000 เล่าเรื่องการปกป้องโลกหลังวันสิ้นโลกของญี่ปุ่น
หลังจากนั้น เขาก็ถูกชวนให้เข้ามาทำงานในสตูดิโอจิบลิ ผลงานเรื่องแรกของเขา คือ ปราสาทที่โดดเด่นตามชื่อเรื่อง ‘Castle in the Sky’ ต่อด้วยเรื่อง ‘Princess Mononoke’ ที่เขาสามารถสร้างบรรยากาศให้ป่าดูสงบ แต่ก็เต็มไปด้วยความน่ากลัว
พอโปรเจกต์ Spirited Away จบลง นิโซตัดสินใจลาออกแล้วมาเป็นนักวาดอิสระและโดนจ้างให้เป็นผู้กำกับศิลป์ผลงานเรื่อง ‘The Girl Who Leapt Through Time’ ที่มีโจทย์หลักคือการสร้างก้อนเมฆปุยที่ตัดกับท้องฟ้าในฤดูร้อน ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวแอนิเมเตอร์เรียกว่า ‘เมฆลาปุตะ’ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ก้อนเมฆของนิโซ’ (Nizo Clouds) แทน เพราะก้อนเมฆของนิโซเหมือนจริงและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย
ไม่ใช่แค่วาด แต่ทุกเส้นมีความหมายในสไตล์ของนิโซ
จริง ๆ แล้ว อุปกรณ์การทำงานของนิโซไม่ได้มีอะไรมากมาย เขามีเพียงพู่กันกับสี
แต่เทคนิคที่ซ่อนอยู่ในภาพของเขานั้น แตกต่างตามอารมณ์ เรื่องราว และความรู้สึกของตัวละครแต่ละเรื่อง
ยกตัวอย่างเช่น The Girl Who Leapt Through Time เขาใช้เทคนิค 2 รูปแบบเพื่อให้อารมณ์ของภาพแตกต่างกัน อย่างแรก ‘dry brush’ คือ การใช้พู่กันแห้งสะบัดน้ำลงไปในงาน แล้วค่อยใช้ปลายพู่กันขนาดใหญ่ปาดลงให้มีความเบลอของสีมากขึ้น วิธีการที่ 2 ใช้เทคนิคการวาดภาพแบบดั้งเดิมสำหรับฉากพระอาทิตย์ตก
รวมถึงผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด เรื่อง ‘Weathering With You’ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ก้อนเมฆของนิโซ และยังมีภาพเทพมังกรในศาลเจ้าญี่ปุ่นที่ดูใจดีมากกว่าโกรธ นิโซลงสีด้วยสีอะคริลิกสีขาวและเพิ่มสีดำตรงดวงตาเพื่อให้ตรงกับคาแรกเตอร์ของตัวละครมากขึ้น
“พอดูผ่านกล้อง ภาพของผมเหมือนภาพดิจิทัล ผมคิดว่านั่นช่วยภาพของผมกลมกลืนไปกับหนังทั้งเรื่อง” นิโซอธิบายผลงานของตัวเองไว้แบบนั้น
ศิลปินที่อยากวาดภาพต่อไปเรื่อยๆ
ในบทสัมภาษณ์พิเศษของ han-note นิโซบอกว่า ในอนาคตเขาก็ยังอยากวาดภาพต่อไป
“ผมอยากเขียนมังงะเกี่ยวกับตำนาน ‘คันจิกาโจ’ ของโจรสลัดญี่ปุ่นแห่งเกาะโกโตะให้เสร็จ ผมยังอยากไปไต้หวันที่ตรอกซอกซอยแคบและต้นไทรมากมาย”
และสำหรับนิโซ การวาดภาพฉากไม่ใช่แค่งานจ้าง แต่มันคือความทรงจำในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาอยากถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชม
นิโซบอกกับสำนักข่าว The Stateman ว่า “ถ้าภาพประกอบสวยก็ถือเป็นเรื่องปกติ ผู้ชมสามารถมองผ่านมันไปได้และดื่มด่ำกับโลกภาพยนตร์ แต่ถ้ามันแย่ก็ช่วยไม่ได้ที่เขาจะเห็นและเสียสมาธิไปบ้าง
“เวลาที่เราจดจำช่วงเวลาดีๆ เราก็จะจำภาพฉากหลังที่สวยงาม แม้ตอนนั้นเราจะไม่ได้สนใจมันมากก็ตาม ผมอยากจะถ่ายทอดความที่ดูสมจริงแบบนั้น”
นิโซ ยามาโมโตะ คือ นักวาดที่ตั้งใจให้ทุกเส้นและทุกปลายพู่กันของเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวแสนสนุกของแอนิเมชัน
ถึงวันนี้การเดินทางบนสายแอนิเมชันของนิโซจะจบลงในวันที่เขาอายุ 70 ปี แต่ฉายาก้อนเมฆของนิโซและทุกผลงานก็จะยังอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป
อย่างน้อยก็วันที่เราเปิดแอนิเมชันวัยเด็กของเราดูอีกครั้ง
เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ภาพ : Nippon Animation, ทวิตเตอร์ kaieisha_nizo_y
อ้างอิง :