เตนอช เวร์ตา นักแสดงผู้สวมบท ‘เนมอร์’ จาก Black Panther ภาคต่อ ผู้เคยไม่ชอบชื่อของตัวเอง

เตนอช เวร์ตา นักแสดงผู้สวมบท ‘เนมอร์’ จาก Black Panther ภาคต่อ ผู้เคยไม่ชอบชื่อของตัวเอง

เรื่องราวของ 'เตนอช เวร์ตา' (Tenoch Huerta) นักแสดงชาวเม็กซิกันกับการสวมบทบาทวีรบุรุษใต้น้ำอย่าง 'เนมอร์' (Namor) ใน Black Panther: Wakanda Forever ผู้ที่อดีตเคยไม่ชอบชื่อตัวเองและปัจจุบันกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ

ภายหลังจากที่ ‘Black Panther: Wakanda Forever’ ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ที่เล่าเรื่องราวของอาณาจักรเสือดำแห่งจักรวาล MCU (Marvel Cinematic Universe) เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แม้คราวนี้บัลลังก์เดิมที่เคยเป็นที่ของ ทีชัลลา (T’Challa) อดีตราชาแบล็ค แพนเธอร์ จะว่างเปล่าจากการจากไปของนักแสดงผู้สวมบทบาทอย่าง แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) แต่เรื่องราวของอาณาจักรวาคานดา (Wakanda) ก็ยังดำเนินต่อไปได้อย่างน่าสนใจในหลายแง่มุม

ในภาคนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ภาพยนตร์ Black Panther มีตัวร้ายที่ครองใจผู้ชมจนมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางไม่แพ้ตัวเอก และคราวนี้ก็ถึงขั้นว่ามีผู้ชมหลายคนเรียกร้องให้มีการสร้างภาคแยกให้ตัวร้ายตัวนี้ไปเลย ซึ่งตัวละครที่เราเอ่ยถึงอยู่ก็คือ ‘เนมอร์’ (Namor) ที่รับบทบาทโดยนักแสดงเชื้อสายเม็กซิกันนามว่า ‘เตนอช เวร์ตา’ (Tenoch Huerta)

ไม่เพียงแต่บทบาทที่เขาได้รับนั้นเปี่ยมไปด้วยความน่าสนใจในเชิงเนื้อเรื่อง แต่การที่เตนอชก้าวขึ้นมารับบทบาทในจักรวาลมาร์เวลเป็นครั้งแรกในการเป็นเนมอร์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ผู้ชมหลายคนเอ่ยปากชมว่าเป็นการขยายพื้นที่ให้ความแตกต่างทางสีผิวบนจอภาพยนตร์ให้กว้างขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง 

เพราะในอดีต ไม่บ่อยครั้งนักที่ชาวลาตินหรือเนทีฟอเมริกันจะได้รับบทบาทเด่นบนจอฮอลลีวูด แต่จากการที่ เตนอช เวร์ตา ได้สำแดงความสามารถผ่านผลงานชิ้นแรกในจักรวาลมาร์เวลกับ Black Panther: Wakanda Forever ก็เปรียบได้ดั่งคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์โอบรับความแตกต่างมากขึ้น

ความน่าสนใจของเตนอชไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ เพราะหากพลิกดูอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่าชายคนนี้ก็มีเรื่องราวน่าสนใจอีกหลายประการ

 

เด็กชายผู้(ไม่)ชอบชื่อตัวเอง

เตนอช’ ชื่นชอบชื่อของตัวเองเอามาก ๆ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะชอบมันตั้งแต่ได้ยินมันในตอนแรก วันเวลาที่เติบโตขึ้นมา เตนอชมักถูกล้อเกี่ยวกับชื่อของเขา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจของเขาในการที่จะยอมรับและภูมิใจในชื่อของตัวเอง

เราจะเห็นได้ว่าชิฮิโระก็พยายามจะทวงคืนชื่อของตัวเองกลับมา แม้ว่าเธออาจจะได้ชื่ออื่นมา แต่ว่าท้ายที่สุด เธอก็ต้องพยายามทวงคืนการถูกเรียกว่าชิฮิโระให้กลับมาอีกครั้ง…

เตนอชเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนภาพสะท้อนสิ่งที่เขาเผชิญเป็นอย่างมากก็คือ ‘Spirited Away’แอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่นขึ้นหิ้งจากสตูดิโอจิบลิ (Ghibli Studio) ที่สรรสร้างโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) กับการที่ตัวละครเอกในเรื่องนามว่า ‘ชิฮิโระ’ (Chihiro) ที่บังเอิญหลงไปอีกแดนหนึ่งจนถูกตั้งชื่อใหม่และต้องตรากตรำทำงาน พร้อมทั้งพยายามรักษาชื่อดั้งเดิมของตนเองไปพร้อม ๆ กัน

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นเส้นขนานระหว่างเรื่องราวของเตนอชกับชิฮิโระที่ทำให้เจ้าตัวเห็นว่าไม่ได้มีเขาเพียงคนเดียวที่ต้องอยู่ในภาวะการดิ้นรนเพื่อที่จะครอบครองชื่อของตัวเอง

ผมใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตพยายามพิชิตชื่อของตัวผมเอง แล้วท้ายที่สุดผมก็ชอบมันเอาเสียมาก ๆ เลย

อาจจะมีบางคนสงสัยว่าเตนอชนั้นมีความหมายว่าอะไร ไม่ต้องกังวลไป เพราะเจ้าตัวเองก็สงสัยเช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูล เขาก็พบคำตอบว่าแท้จริงแล้วคำว่า ‘เตนอช’ ก็คือชื่อที่ใช้เรียก ‘มะรุ่ง’ (Stone Prickly Pear) ซึ่งก็คือผลของต้นกระบองเพชรพันธุ์ที่เติบโตออกมาจากหินนั่นเอง แต่จริง ๆ แล้วก็มีความหมายลึกไปกว่านั้น เพราะว่ามะรุ่งหินก็คือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของ ‘หัวใจมนุษย์’ อีกด้วย

เนมอร์ฉบับใหม่

นับเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นก้าวสำคัญของพื้นที่แห่งความแตกต่างบนจอภาพยนตร์เมื่อ เตนอช เวร์ตา ถูกแคสต์ไปเป็นส่วนหนึ่งในบทบาทสำคัญของภาพยนตร์ Black Panther: Wakanda Forever เพราะไม่เพียงแค่เตนอชเป็นนักแสดงชาวลาตินอเมริกา แต่เจ้าตัวยังสืบเชื้อสายของอเมริกันพื้นเมืองมาอีกด้วย 

ในประเทศลาตินอเมริกา โดยเฉพาะเม็กซิโก เราไม่ค่อยมีตัวแทนแห่งความแตกต่างเลย คุณลองไปเปิดโทรทัศน์ในเม็กซิโกดูนะ ดูไปดูมานึกว่าตัวเองอยู่สแกนดิเนเวียเลยละ ในจอโทรทัศน์มีแต่คนขาว ไม่ว่าจะรายการหรือโฆษณาใด ๆ

ด้วยเหตุนี้ การที่เตนอชก้าวขึ้นไปรับบทบาทเนมอร์ก็เปรียบเสมือนการเปิดประตูให้ชาวลาตินอเมริกาและชาวอเมริกันพื้นเมืองมีพื้นที่ในป็อปคัลเจอร์และสื่อรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นกว่าก่อน และสนับสนุนให้ยอมรับความแตกต่าง และมองว่าความแตกต่าง - ไม่ว่าจะสีผิวเฉดไหน ๆ ก็เหมือนกัน

แม้จะเพิ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกใน Black Panther: Wakanda Forever ที่เข้าฉายปลายปี 2022 แต่เนมอร์ถือเป็นตัวละครตัวหนึ่งของมาร์เวลที่เก่าแก่ที่สุด เพราะถ้านับตั้งแต่ที่ตัวละครนี้ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในมาร์เวลคอมิกส์จากการสร้างสรรค์โดย ‘บิล เอเวอเร็ตต์’ (Bill Everett) ก็ปาเข้าไป 83 ปีมาแล้ว 

แต่เนมอร์ในเวอร์ชันของเตนอชอาจจะไม่ได้เหมือนกับเนมอร์ตามคอมิกส์เสียทีเดียว เพราะมีลักษณะหลายประการที่แตกต่างออกไปจากเวอร์ชันดั้งเดิม

ในเวอร์ชันดั้งเดิม อาณาจักรใต้น้ำของเนมอร์จะมีนามว่า ‘แอตแลนติส’ (Atlantis) แต่ในภาพยนตร์ อาณาจักรนั้นจะมีนามว่า ‘ทาโลคัน’ (Talokan) ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler) ได้ออกมาเผยว่าชื่อดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมของ มีโซอเมริกัน (Mesoamerican) โดยเฉพาะจากยูกาตัง (Yucatan) และอารยธรรมมายา (Maya Civilization) 

นอกจากนั้นในส่วนของตัวละคร เดิมเนมอร์จะมีลักษณะเป็นคนผิวขาว แต่ในเวอร์ชันนี้เราจะเห็นได้ว่า เตนอช เวร์ตาเป็นชาวลาตินอเมริกาที่สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองอเมริกันด้วย 

เราจะเห็นได้ว่าการสรรค์สร้างเนมอร์ครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นการใส่ลักษณะที่แตกต่างออกไปให้กับตัวละคร และเพิ่มมิติความน่าสนใจ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนความแตกต่างได้อย่างดีเยี่ยม แถมตัวเตนอชเองก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างมาก

 

เขียนหนังสือตีแผ่ปัญหาการเหยียดในประเทศ

ไม่เพียงแค่เปิดตัวด้วยความปังใน Black Panther: Wakanda Forever เท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือผลงานชิ้นล่าสุดของ เตนอช เวร์ตา กับหนังสือเล่มใหม่ที่เขาเขียนด้วยตัวเองในชื่อ ‘Orgullo Prieto’ 

เนื้อหาในหนังสือจะพาไปสำรวจปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและการแบ่งแยกชนชั้นในประเทศเม็กซิโก - บ้านเกิดของเขาเอง - ซึ่งจะเป็นการตีแผ่ สำรวจ และนำเสนอสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เขาเติบโตขึ้นมา

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจุดประสงค์ของหนังสือจะมุ่งโจมตีปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เตนอชได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือของเขาว่า เขามุ่งหวังให้หนังสือเล่มนี้ทำให้คนผิวสี - ไม่ว่าจะดำ น้ำตาล ขาว หรือสีไหน ๆ เตนอชระบุ - อีกหลาย ๆ คน ภูมิใจในเฉดสีของผิวตัวเอง 

Orgullo Prieto จะเผยแพร่และวางขายในวันที่ 13 ธันวาคม 2022 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะผู้เขียนได้ลงมือปั้นมันขึ้นมาด้วยแพสชันและประสบการณ์ตรง

 

อ้างอิง:
https://remezcla.com/film/tenoch-huerta-rolling-stone-mexico-cover-name-meaning-history/

https://www.nytimes.com/2019/08/27/arts/sub-mariner-marvel-namor.html

https://www.nytimes.com/2022/11/11/movies/namor-tenoch-huerta-black-panther-wakanda-forever.html

https://www.nbcnews.com/news/latino/tenoch-huerta-namor-black-panther-wakanda-forever-movie-got-right-rcna56577

https://remezcla.com/culture/tenoch-huerta-releasing-new-book-titled-orgullo-prieto-colorism