บารัน โบ โอดาร์ & ยันท์เย ฟรีเซอ: คู่รักผู้สรรค์ DARK สู่ซีรีส์ปริศนาพหุภาษา ‘1899’

บารัน โบ โอดาร์ & ยันท์เย ฟรีเซอ: คู่รักผู้สรรค์ DARK สู่ซีรีส์ปริศนาพหุภาษา ‘1899’

‘บารัน โบ โอดาร์’ (Baran bo Odar) และ ‘ยันท์เย ฟรีเซอ’ (Jantje Friese) คู่หูคู่รัก ผู้สร้างซีรีส์สุดซับซ้อนอย่าง 'DARK' มีผลงานซีรีส์ใหม่ชื่อ '1899' ว่าด้วยปริศนาบนเรือที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความพิศวงรอคอยคำตอบ

อะไรจะเกิดขึ้น?

เมื่อเรือขนผู้อพยพที่ประกอบไปด้วยคนจากหลากหลายเชื้อชาติกำลังมุ่งหน้าจากลอนดอนไปสู่นิวยอร์ค ได้รับสัญญาณจากเรือลำหนึ่งที่สูญหายไปพักใหญ่ และมันจะนำพาพวกเขาไปเผชิญเรื่องปริศนาและปมสยองขวัญ ในขณะเดียวกัน อดีต ปูมหลัง และปมชีวิตที่ผู้โดยสารแต่ละคนกำลังวิ่งหนีก็กลับหวนคืนกลับมาอีกครั้ง ความระทึกหฤหรรษ์ของความขัดแย้งที่ผสมปนเปท่ามกลางมหาสมุทรจึงปะทุขึ้นในปี ‘1899’

ถือเป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งจาก Netflix ที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อยสำหรับ 1899 ไม่เพียงแค่ตัวอย่างของซีรีส์เรื่องนี้ได้นำบทเพลงอมตะ ‘All Along the Watchtower’ ที่บรรเลงโดยเทพกีตาร์ ‘จิมี เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) มาประกอบเร้าอารมณ์เชิญให้สงสัยในความพิศวงอย่างน่าสนใจ แต่ปมปริศนาจากซีรีส์ชวนระทึกเรื่องนี้ก็ได้ถูกการันตีคุณภาพด้วยชื่อของคนสองคน ‘บารัน โบ โอดาร์’ (Baran bo Odar) และ ‘ยันท์เย ฟรีเซอ’ (Jantje Friese) เจ้าของผลงานซีรีส์ภาษาเยอรมันที่ผูกปมซับซ้อนเสียอย่างกับหลงในเขาวงกตอย่าง ‘DARK

ในบทความนี้เราจึงจะนำเสนอที่มีของคอนเซปต์และเกร็ดเบื้องหลังที่น่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ โดยปราศจากการเปิดเผยเนื้อหาในเรื่อง ดังนั้นผู้อ่านสามารถอ่านได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนสปอยล์

ภาพที่จุดประกายให้เกิด ‘1899’

ยันท์เย ฟรีเซอ หัวหน้าทีมเขียนบท ได้เผยว่าไอเดียตั้งต้นของโปรเจค 1899 นั้นถือกำเนิดมาจากภาพ ๆ หนึ่งที่เขาบังเอิญไปพบระหว่างรีเสิร์ชถึงเรื่อง ๆ หนึ่งที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับซีรีส์เรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ภาพที่ว่าก็คือภาพของชายคนหนึ่งที่สวมเสื้อสีขาวเปรอะไปด้วยเลือดโดยที่มือข้างหนึ่งถือค้อน ในขณะที่ทำหน้าตาสุดประหลาดและยืนอยู่บนเรือเก่าลำหนึ่ง

ภาพเหล่านั้นทำให้เกิดการตั้งคำถามในทันทีว่า ‘เขาทำอะไรกับค้อนนั่น?’ ‘เขามาจากที่ไหน?’ เขาจะไปไหน?’ ‘นี่มันเรื่องอะไรกันแน่?!’

ด้วยความกำกวมของภาพที่ทิ้งแต่ปริศนาและข้อสงสัยให้ผู้ที่ได้พบเห็น ภาพนั้นก็ได้จุดประกายให้เธอและคู่หูคู่ใจของเธอ บารัน โบ โอดาร์ ริเริ่มโปรดจคนี้ขึ้นมา ผ่านคำถามต่าง ๆ นา ๆ ที่กระตุ้นให้จินตนาการของพวกเขาทำงานและพร้อมจะสร้างปมมาสับขาหลอกคนดูอีกครั้งจนกลายมาเป็นซีรีส์ 1899

โลกใหม่ ปะทะ โลกเก่า

หากผู้อ่านคนใดที่เคยได้มีประสบการณ์การเล่นเกมหรือทราบถึงเรื่องราวของ ‘Red Dead Redemption 2’ (RDR2) มาก่อนก็คงจะทราบดีว่าปี ‘1899’ คือปีแห่งความเปลี่ยนแปลง คือปีแห่งการก้าวข้ามผ่านจากยุคสมัยเดิมหรือ ‘โลกเก่า’ ไปสู่ ‘โลกใหม่’ ในศตวรรษถัดไป 

ในเรื่องราวของ RDR2 ปีดังกล่าวคือปีที่ยุคสมัยของอาชญากรและคาวบอยกำลังจะหมดลง โลกใหม่ได้นำพากฎหมายและระเบียบใหม่มาสู่สังคม คำถามที่ตามมาคือ แล้วผู้ที่ดำเนินชีวิตตามครรลองของโลกใบเดิมจะปรับตัวตามวิถีของโลกใบใหม่ได้ทันหรือเปล่า?

การที่ผู้คนกำลังก้าวข้ามผ่านไปสู่ศตวรรษใหม่ แน่นอนมันเต็มไปด้วยความหวัง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เต็มไปด้วยความหวาดกลัว… โดยเฉพาะการที่โลกใบเก่ากับโลกใบใหม่โคจรมาชนกัน เราจะเห็นว่ามีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่าง ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ศาสนา’ อยู่บ่อยครั้ง

เฉกเช่นเดียวกับซีรีส์ 1899 ดังที่ โบ โอดาร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Hollywood Reporter การหยิบยกช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาแห่งจุดเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเทคโนโลยีหรือแนวคิดของผู้คนในสังคม ในขณะที่มีสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมายที่จะมาทำให้ชีวิตของมนุษย์ดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็มีโศกนาฏกรรมอีกมากมายดักรอพวกเขาอยู่ ส่วนความขัดแย้งรูปแบบใดจะรอเราอยู่บ้าง ก็คงต้องไปหาคำตอบกันเอาในซีรีส์ 8 ตอนเรื่องนี้

นอกจากนั้น โบ โอดาร์ ก็ยังเผยเกร็ดเล็ก ๆ ของชื่อให้ฟังอีกว่า ความเจ๋งของ 1899 ก็คือ ถ้าลองเอาเลขสองตัวหน้ามาบวกกัน ซึ่งก็คือ 1 และ 8 ผลลัพธ์ที่เราจะได้ก็คือ 9 และเมื่อนำเอาเลขนั้นไปประกบกับอีกสองตัวหลัง เราก็จะได้เป็น ‘999’ และถ้าหากเรานำมันมากลับหัว เราก็จะได้เป็น ‘666

ซึ่งมันก็คือเลขของปีศาจ ผมว่ามันเจ๋งดีนะ

เราได้กล่าวถึงคอนเซปต์ที่เราได้เห็นกัน ณ ฉากหน้าไปแล้ว แต่ความที่โลกเก่า-โลกใหม่มาปะทะกันก็ได้หยุดแค่นั้นไม่ เพราะหากเรามองลึกไปถึงเบื้องหลัง เราก็จะได้เห็นการที่ทีมงานได้นำเอาเทคนิคสุดล้ำมาใช้ในการยกระดับให้คุณภาพของ CGI สมจริงไปมากกว่าเดิม

โดยเทคนิคในการสร้างภาพเสมือนจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีฉากเป็นจอ LED ที่เรนเดอร์ภาพเสมือนเหล่านั้นโดยใช้กลไกเหมือนวิดีโอเกม ที่จะขยับเขยื้อนเปลี่ยนมุมมองตามการเคลื่อนไหวของกล้อง ทำให้ภาพพื้นหลังนั้นดูสมจริงกว่าฉากเขียวดังที่เคยใช้กันตามปกติ

 

พหุภาษา ผสมวัฒธรรม ผสานปมขัดแย้ง

คนหลาย ๆ คนจะจัดการกับสถานการณ์ที่พวกเขาไม่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันได้อย่างไร? อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเมื่อปูมหลังทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มาอยู่ในพื้นที่แบบนี้?

ยันท์เยเล่าว่าการสรรค์สร้างบทของภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่ามันเปรียบเสมือนว่าเขากำลังทำการทดลองในห้องแล็ปไม่มีผิด เพราะการสร้างสถานการณ์ในยเรื่องเป็นการนำตัวละครที่มีปูมหลังที่แตกต่างกันมาชนกัน เป็นการนำเหล่าคนที่ใช้ภาษาที่แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วจับพวกเขาทุกคนให้ไปเผชิญกับปริศนาที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้จะดูยุ่งเหยิง แต่การนำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เข้ากันจับมาอยู่ด้วยกันแบบนี้ก็ทำให้เกิดเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจและมีมิติที่ไม่เหมือนใคร แถมยังเปิดช่องให้โบและยันท์เยร์สามารถผูกปมได้อย่างน่าติดตาม

โบกับยันท์เยเขาอยากได้นักแสดงที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ และทั้งคู่ก็อยากให้นักแสดงพูดภาษาของตัวเอง จนท้ายที่สุดเราก็ได้คัดนักแสดงมาจากอังกฤษ เยอรมนี นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง สเปน โปแลนด์ โปรตุเกส และเดนมาร์ก

ในสารคดีเบื้องหลังการสร้างซีรีส์ ‘Making 1899’ ยันท์เยเล่าว่าการทำงานการถ่ายทำโปรเจคนี้มีความซับซ้อนเชิงภาษาที่สูงมาก ๆ เพราะด้วยความที่นักแสดงในเรื่อง ไม่เพียงแค่รับบทเป็นตัวละครที่มาจากนานาเชื้อชาติ แต่พวกเขาเป็นนักแสดงจากหลากหลายประเทศจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ในการที่จะสื่อสารและทำงานโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังก็ต้องเป็นคนที่สามารถสื่อสารในภาษานั้น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

บางวันผมก็ต้องฟังแต่ภาษาจีนกวางตุ้งทั้งวัน ซึ่งผมไม่เข้าใจเลยสักคำเดียว แต่ผมดูออกนะว่าเขาพูดอะไรกันด้วยการซ้อมบ่อย ๆ และไว้ใจเวลานักแสดงบอกผมว่า ‘นี่เป็นคำบอกรักแบบดุ ๆ ในภาษากวางตุ้ง’ เพราะสำหรับเรา ภาษากวางตุ้งมันฟังดูดุอยู่แล้ว

ในแง่หนึ่งความหลากหลายที่เห็นนี้อาจดูเป็นอุปสรรค แต่อีกแง่หนึ่งมันก็เป็นรูปแบบการทำงานที่ท้าทายและสนุกสนานไปอีกแบบ ไม่เพียงแค่ทีมงานจะได้มีโอกาสซึมซับวัฒนธรรมแบบอื่น ๆ แต่การใช้นักแสดงจากประเทศนั้น ๆ จริง ๆ ทำให้ผู้สร้างสามารถดึงความเป็นชาตินั้น ๆ ออกมาได้จริง ๆ เป็นวิธีการพูด เป็นวัฒนธรรมของแท้จากชนชาตินั้น ๆ และเป็นเสน่ห์ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างอีกรูปแบบหนึ่ง

 

คู่รักคู่สรรค์

ไม่เพียงแค่บารัน โบ โอดาร์ และ ยันท์เย ฟรีเซอ เป็นคู่หูในการสร้างซีรีส์ที่มีวิสัยทัศน์เข้ากันได้ แต่ทั้งคู่ก็เป็นคู่รักกันอีกด้วย ซึ่งครั้งหนึ่ง โบ โอดาร์ก็เคยได้ให้สัมภาษณ์กับ Netflix Queue ถึงการทำงานสร้างสรรค์ซีรีส์ด้วยกันกับคู่รักว่ามันทำให้เขาเข้าใจกัน รู้ใจกัน และมีอะไรก็สามารถคุยและบอกกันตรง ๆ ได้ 

สมมุติบางทีมีคนหนึ่งเสนอว่าอยากจะถ่ายฉากนี้ด้วยเฮลิคอปเตอร์หรือว่าอยากจะใส่กวียาวสองหน้าเข้าไปในฉาก ซึ่งถ้ามันไม่เวิร์คคุณก็สามารถบอกไปได้ตรง ๆ เลยว่า ‘นี่ ฉันว่าเธอก็แค่อยากขึ้นเฮลิคอปเตอร์เฉย ๆ นั่นแหละ’ หรือว่า 
 ฉันก็ว่ากวีนี้มันสวยงามเหมือนกัน แต่ถ้ามันยาวถึงสองหน้ากระดาษ คนดูจะเบื่อก่อนรึเปล่าคือเราสามารถพูดตรง ๆ กันได้เลย ผมเลยว่ามันเป็นข้อดีที่ได้รับจากการที่เราเป็นคู่รักกัน

ถือเป็นการที่หยิบยกเอาข้อดีของความเป็นคู่รักที่มีให้กันมาใช้ในบริบทของงานได้น่าสนใจ ในบางกรณี บางคนก็อาจจะเห็นว่าการทำงานกับแฟนอาจจะนำไปสู่การทะเลาะกัน แต่ในกรณีของโบและยันท์เยก็ชี้ให้เราเห็นว่า คุณลักษณะของความเป็นคู่รักก็อาจจะถูกใช้มาเติมเต็มให้การทำงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนกัน

การคิดปมซ้อนเรื่องที่มีความโยงใยและเต็มไปด้วยปริศนาดูจะเป็นเรื่องยากมาก ๆ ของผู้สร้างสรรค์ที่จะเห็นตรงกัน แต่กับ บารัน โบ โอดาร์ และ ยันท์เย ฟรีเซอ วิสัยทัศน์ของทั้งคู่กลับดำเนินคู่กันไปได้สวย แถมซีรีส์เรื่อง 1899 ก็สร้างความน่าสนใจได้และแสดงให้เห็นถึงมุมมองการเล่าเรื่องของทั้งคู่ได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในผลงานต่อ ๆ ไป ผู้ชมก็รอคอยให้คู่รักคนนี้มาสับขาหลอก กระตุ้นความคิดในการแก้ไขปมอย่างแน่นอน

 

ภาพ: 

Gareth Cattermole / Staff

ซีรีส์ 1899 - Netflix

 

อ้างอิง:

Jantje Friese & Baran bo Odar Time Travel - Netflix Queue

‘1899’ First Interviews: Netflix & The Creators Of ‘Dark’ Talk Building Europe’s Largest Virtual Production Stage To Shoot Ambitious Multilingual Series - DEADLINE

The Creators of ‘1899’ Reveal (Some of) the Secrets Behind the New Netflix Mystery Series - The Hollywood Reporter 

1899 | Official Trailer | Netflix - Youtube

Making 1899 - Netflix