12 ก.พ. 2566 | 20:00 น.
“อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เป็นกษัตรย์ตอนที่เขาอายุ 20 ปี ยกทัพตีเมืองไปทั่วดินแดนตะวันออกกลาง ครองจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ลากยาวจากกรีกจรดอินเดียในตอนที่เขาอายุเพียง 30 ปี…
“ฉันเลยอยากรู้ว่าเขาไว้ผมทรงอะไร?”
น่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนถูกถามก็น่าจะรู้สึก ‘เอ้า…’ ไปตาม ๆ กัน เกริ่นมาตั้งนาน นึกว่าจะถามว่าความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมาซิโดเนียเปลี่ยนโลกทั้งใบไปอย่างไรบ้าง หรือลักษณะนิสัยของผู้นำอย่างอเล็กเดอร์มหาราชที่บันดาลให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สไตล์ทรงผมกลับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไปเสียอย่างนั้น
หากมีคำถามทำนองนี้ผุดขึ้นมา ถ้าใครที่เคยได้ผ่านภาพยนตร์หรือซีรีส์แนวสารคดีที่เนื้อหาถูกแต่งขึ้นมา (Mockumentary) ใครหลายคนก็น่าจะพอจินตนาการออกได้ว่าใครน่าจะเป็นคนถามคำถามทำนองนี้ หากจะหยิบชื่อที่เวิร์ดไวด์หน่อยก็หนีไม่พ้น โบรัท (Borat) นักข่าวชาวคาซัคสถานที่เป็นตัวละครสมมุติที่สวมบทบาท (อย่างแนบเนียน) โดย ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen) หรือถ้าอยากจะให้เปรียบเทียบกับนักถามคำถามช็อตไมค์ทำนองนี้ที่อาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยยุคนี้หน่อยก็ต้องยกให้ ป๋าตึ้บ จากรายการ ป๋าตึ้บทอล์ก
แต่ในแวดวงนี้ก็มีอีกชื่อหนึ่งที่มาแรงเอามาก ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ผลงานเรื่องใหม่ของเธอได้ถูกนำมาสตรีมผ่านเน็ตฟลิกซ์ จนคำถามแต่ละคำถามหรือคำพูดแต่ละคำของเธอก็ได้กลายเป็นวรรคทองที่พาตัวเธอไวรัลกันอย่างไม่หยุดหย่อน และหารู้ไม่ว่าเห็นเธอกำลังมาแรงในแวดวงนี้ (แวดวงตัวละครนักข่าวสายเสียดสีล้อเลียนที่พร้อมยิงคำถามสุดช็อตฟีลอย่างหน้าตายทุกเมื่อ) เธออยู่ภายใต้สังกัด BBC สำนักข่าวชื่อดังที่เป็นที่น่าเชื่อถือของคนหมู่มาก…
เธอมีนามว่า ฟิโลมีนา คังค์ (Philomena Cunk)
ลองจินตนาการดูว่าหากมีใครสักคนหนึ่งเชิญคุณไปออกรายการเพื่อพูดคุยดำลึกไปถึงประเด็นที่คุณเชี่ยวชาญ แต่เขาได้ยิงคำถามแนว ๆ นี้ออกมา แน่นอนว่าใครหลายคนก็คงติดสตันท์กันจนบางทีอาจจะไปไม่เป็นเลยทีเดียว แน่นอนว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น เพราะเธอก็ได้ไปตะลุยพูดคุยกับนักวิชาการมากมายหลายคน ซึ่งต่างก็พากัน ‘ช็อตไมค์’ กันทั้งนั้น
ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักเธอคนนี้ให้มากขึ้น เพราะเธอก็ไม่ใช่ตัวละครที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นจากภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องใหม่ล่าสุดจาก Cunk on Earth เพราะย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เธอก็มีชื่อจาก Cunk on … อื่น ๆ เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น แม้ว่าคำถามต่าง ๆ หรือรูปแบบรายการที่เธออยู่จะเป็นแนวเสียดสีล้อเลียนที่มองเผิน ๆ ใครหลายคนอาจจะคิดว่า ‘ไร้สาระ’ แต่แท้จริงแล้วหากมองลึกลงไป คังค์ก็ได้สอดแทรกความน่าสนใจบางอย่างไว้กับคำถามสุดช็อคไมค์กับคำบรรยายสุดช็อตฟีลของเธอ… ต้องมีคนบนโลกใบนี้ที่อยากรู้เรื่องทรงผมของอเล็กซานเดอร์มหาราชบ้างแหละ
ใครคือ ‘คังค์’
ดังที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้า ว่า Cunk on Earth ไม่ใช่ผลงานแรกของเธอ เพราะก่อนจะมาบรรยายประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้และมนุษยชาติ คังค์ก็ได้พาผู้คนไปสำรวจประเด็นต่าง ๆ ด้วยสไตล์ของเธอตั้งแต่ Cunk on Earth, Cunk on Britain และ Cunk on Shakespeare ที่ทั้งหมดถูกผลิตโดย BBC
และแม้ว่ามีรายการออกมาอย่างต่อเนื่อง, BBC เป็นผู้ผลิตรายการ, รวมถึงได้ตะลุยไปคุยกับนักวิชาการมากแขนง แต่ฟิโลมีนา คังค์คือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น และสวมบทบาทโดย ไดแอน มอร์แกน (Diane Morgan) นักแสดงชาวอังกฤษ สายฮาหน้าตาย (ถ้าใครเคยดู Death to 2020 และ Death to 2021 แล้วคุ้นหน้าเธอก็คงไม่แปลกเท่าไรนัก เพราะบทบาท Gemma Nerrick เธอก็โดดเด่นอยู่ไม่น้อยในภาพยนตร์สารคดีล้อเลียนทั้งสองเรื่องนั้น)
เดิมทีคังค์เป็นหนึ่งในตัวละครจาก Charlie Brooker’s Weekly Wipe ซีรีส์ตลกแนวเสียดสีล้อเลียนที่สร้างสรรค์โดยผู้สร้าง Black Mirror นามว่า ชาร์ลี บรูคเกอร์ (Charlie Brooker) ซึ่งซีรีส์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2013 และคังค์ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในโชว์ดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าความนิยมของเธอจะดีเกินคาด คังค์เลยได้ออกมาฉายเดี่ยวทำรายการของตัวเองซะเลย จนเราได้เห็นรายการต่าง ๆ ที่จะพาผู้ชมไปเล่าเรื่องราวต่าง จากมุมมองของเธอ
มองโลกผ่าน ‘คังค์’
“ทำไมสมัยก่อนนี่มันดูอันตรายนักที่จะถ่ายทอดสดเอลวิสให้เห็นครึ่งล่างด้วย คือช่วงล่างเขาโป๊หรอ เหมือนพวกที่ชอบทำตอนประชุมผ่านซูมน่ะ”
หากพูดถึงมุมมองของเธอ คังค์เป็นตัวละครสมมุติแนวเสียดสี เธอถูกสร้างขึ้นมาให้มีบุคลิกแนว ๆ คนที่ไม่ค่อยรู้อะไรมาก แถมยังเข้าใจอะไรผิดแปลกไปเสียหมด ไม่เพียงแค่เธอมีข้อมูลดั้งเดิมในหัวที่บิดเบี้ยวไปหมด (ยกกตัวอย่างเช่น การคิดว่ายุคเรเนซองส์คือยุคเรเน ‘ซอส’ ซึ่งเกี่ยวโยงกับซอสไม่ใช่ยุคที่มีการฟื้นฟูศิลปะวิทยา) แต่นอกจากนั้นเธอยังมีการตีความคำตอบได้ผิดที่ผิดทางผิดความหมายไปอีกด้วย
“เคยมีใครเอาภาพเขียนบนผนังถ้ำยุคโบราณไปทำหนังหรือยัง (ก่อนหน้านี้เธอบอกว่าภาพเขียนเหล่านั้นนับเป็นความบันเทิงอย่างมากหากย้อนไปนยุคสมัยนั้น บันเทิงเท่า ๆ กับฟาสเจ็ดในสมัยนี้เลยทีเดียว) แต่ก็คงยากใช่ไหม เพราะคงไม่มีใครขอลิขสิทธิ์ได้”
กลายเป็นว่าแทนที่ประเด็นมันจะไปอยู่ที่จุดที่ควรจะเป็น เธอกลับดำดิ่งออกทะเลไปประเด็นอื่นอย่างสุดขั้วและดิ่งลึกจนเรียกเสียงฮาได้อย่างมาก เพราะหลังจากหลุดประเด็นไปแล้ว เธอก็ยังถามต่อ เจาะประเด็นเดิมจนนักวิชาการหลายคน (ที่พยายามจะตอบอย่างจริงจังที่สุด) ถึงกับต้องกุมขมับ (แต่บางคนก็ถึงกับหลุดขำออกมา)
พูดถึงเรื่องคำตอบของนักวิชาการ แม้ว่าคังค์จะเป็นตัวละครที่สมมุติ แต่นักวิชาการเหล่านั้นคือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง และพวกเขาก็ถูกเชิญมาออกเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวที่ตนเองถนัด โดยคำเชิญจะเป็นการเชิญมาออกรายการสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จาก BBC และแน่นอนว่าด้วยเหตุนั้น ทุกคนก็พกความรู้และความจริงจังมาปะทะกับคังค์โดยหารู้เลยไม่ว่าเธอก็เตรียมคำถามสุดช็อตไมค์มาเต็มประเป๋าเช่นเดียวกัน
สีสันอันเด่นชัดของคังค์ที่นับเป็นรสชาติเด่นก็คือการตอบรับของนักวิชาการต่อคำถามต่าง ๆ ของคังค์ แม้ว่าคำถามจะออกนอกทะเลและไม่ตรงกับประเด็นมากน้อยแค่ไหน พวกเขาก็จะพยายามตอบอย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้ได้สาระมากที่สุด
สำหรับเรื่องสาระของซีรีส์จากคังค์ แม้ว่าคำถามหลาย ๆ คำถามจะเต็ทไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ บางทีเกริ่นมาเป็นนาที ๆ นึกว่าจะมีสาระ ก็กลับไปถามเรื่องทรงผม แต่หลาย ๆ คำถามของคังค์ก็เป็นคำถามที่อาจฝังลึกอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน และถูกนำออกมานำเสนอ นอกจากนั้นก็ยังเสียดสีพฤติกรรมหรือแนวคิดของคนจริง ๆ บนโลกใบนี้ที่ทำให้เราเห็นว่ามันไร้เหตุผลแค่ไหน นอกจากนั้นเธอยังเป็นภาพแทนของการเล่าประวัติศาสตร์มุมต่างที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เธออาจจะไม่ได้ให้สาระของเรามากเท่าสารคดีประวัติศาสตร์เรื่องอื่น ๆ แต่ด้วยความถามแปลก ๆ ที่คนไม่ถามแต่ตรงใจหลายคนของเธอ ก็ทำให้ประโยคคำบรรยายหรือคำถามมากมายของเธอกลายเป็นคำคมไวรัลไปโดยปริยาย และมีคำคมหนึ่งของเธอที่ใครหลายคนน่าจะโดนใจใครหลายคนอยู่ไม่น้อย
“มนุษย์สมัยก่อนเลี้ยงหมาเอาไว้เป็นเพื่อน… แต่เลี้ยงแมวไว้ทำไมก็ไม่อาจทราบได้”
ภายหลังจากที่พาผู้ชมไปสำรวจโลกผ่านมุมมองที่แปลกใหม่และคำถามที่ตรงไปตรงมา (หรือไม่ก็หลุดออกนอกประเด็นไปเสียไกล) คังค์ก็กลับมาอีกครั้ง กับภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ล่าสุด ‘Cunk on Life’ ที่เราพาไปสำรวจมิติต่าง ๆ ของการมีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการ พระเจ้า ศาสนา ปรัชญา วรรณกรรม ศิลปะ ไปจนถึงควันตัมฟิสิกส์ ดังที่เธอได้เอ่ยถามกับ ศาสตราจารย์ ‘ดักลาส เฮ็ดลีย์’ (Douglas Hedley) แห่งวิชาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
“ทำไมพวกเราถึงมาอยู่ตรงนี้คะ?”
“หมายถึงว่าทำไมมนุษย์ถึงมีอยู่เหรอ”
“ไม่ค่ะ หมายถึงทำไมเรานั่งกันอยู่ตรงนี้ มันใกล้บ้านคุณรึเปล่า”
เฉกเช่นเดียวกับประเด็นอื่น ๆ ที่คังค์ชวนไปสำรวจตั้งแต่เชคสเปียร์ คริสมาส โลกใบนี้ มาจนถึงมิติต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ แม้ว่าคังค์จะเดินหน้าพูดคุยกับนักวิชาการชั้นยอดมากมายหลายคน เราอาจไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกจากสารคดีของเธอเสียเท่าไหร่นัก (เพราะมันมักจะบิดไปประเด็นอื่นเสียก่อนตลอด) แต่ก็ใช่ว่าคำถามชวนช็อตไมค์ของเธอจะไร้สาระเสมอไป เพราะบางคำถามของเธอก็แฝงไปด้วยแนวคิดที่เสียดสีและตีแผ่สังคมปัจจุบันไปพร้อม ๆ กัน
อาทิเช่น ตอนที่เธอบอกว่าพระเจ้าย่อมสามารถสร้างโลกนี้ได้ภายในเจ็ดวันเพราะไม่มีแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดียมากวนใจ, ภาพวาดของไมเคิลแองเจโลในโบสถ์น้อยซิสทีนว่าถ้าต้องชูมือวาดบนผนัง แขนของเขาคงเต็มไปด้วยมัดกล้าม หรือแม้แต่การตั้งคำถามต่อแนวคิดแบบสุญนิยมและแมว
ด้วยเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า ๆ คังค์ได้พาเราไปแตะมิติต่าง ๆ รอบตัวเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ผืนดินถึงท้องฟ้า แต่ในระดับแตะนิดนี่หน่อย แต่จะเน้นไปที่คำถามแปลก ๆ ชวนคิด และปฏิกิริยาของนักวิชาการที่พยายามจะตอบคำถามเหล่านั้นมากกว่า
ภาพ: Cunk on Earth - Netflix
อ้างอิง:
https://www.netflix.com/tudum/articles/what-is-cunk-on-earth-explained
https://thecinemaholic.com/is-cunk-on-earth-scripted-or-real/