เลสลีย์ เพเตอร์สัน: แชมป์ไตรกีฬาผันตัวเขียนบท All Quiet on the Western Front จนได้ชิงออสการ์

เลสลีย์ เพเตอร์สัน: แชมป์ไตรกีฬาผันตัวเขียนบท All Quiet on the Western Front จนได้ชิงออสการ์

เมื่อแชมป์ไตรกีฬากำลังเข้าชิงออสการ์… รู้จัก ‘เลสลีย์ เพเตอร์สัน’ (Lesley Paterson) มือเขียนบท All Quiet on the Western Front (2022) สาวแกร่งดีกรีแชมป์โลกไตรกีฬา (Triathlon) ที่มุ่งหน้าลงแข่งเพื่อหาเงินสร้างหนังตามฝันจนได้ชิงออสการ์

All Quiet on the Western Front (2022) หรือในชื่อไทย แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ภาพยนตร์ (ต้าน) สงครามที่ถูกดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ เอริช มาเรีย เรอมาร์ค (Erich Maria Remarque) นับเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาเล่าอีกครั้ง หลังจากที่เวอร์ชันภาพยนตร์จากปี 1930 ถูกวางไว้บนหิ้งในฐานะหนังดีที่ชนะรางวัล Best Picture

เกือบหนึ่งศตวรรษถัดมา ก็ได้มีกลุ่มนักเขียนบท ด้วยปณิธานเดียวกัน รวมเงินกันซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องดังกล่าวเพื่อที่จะมาผลิตเป็นภาพยนตร์ จนตอนนี้ได้รับคำชื่นชมและมีชื่อเข้าชิงรางวัลด้านภาพยนตร์มากมาย รวมถึงรางวัลออสการ์ด้วย แต่กว่าจะสร้างหนังเรื่องนี้เสร็จ… ไม่ง่าย

เลสลีย์ เพเตอร์สัน’ (Lesley Paterson) มือเขียนบทคนหนึ่งผู้ตัวตั้งตัวตีและแรงขับเคลื่อนที่อยากเอานวนิยายเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้งคนนี้มีวิธีหาทุนมาทำหนังที่น่ามหัศจรรย์เอามาก ๆ เพราะเธอ ‘ลงแข่งไตรกีฬา (Triathlon)’ — ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัด — เพื่อหาทุนมาสร้างหนังที่เธอเขียนบทเอง… แต่จะบอกว่าถนัดเฉย ๆ ก็คงไม่ถูกเสียทีเดียวนัก เพราะเธอถึงขั้นคว้า ‘แชมป์โลก’ ในการแข่งไตรกีฬาไปถึง 5 สมัย 
 

ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับ เลสลีย์ เพเตอร์สัน มือเขียนบทผู้อยู่เบื้องหลังความน่าหดหู่ฉบับภาพยนตร์ของนวนิยายเรื่อง All Quiet on the Western Front ฉบับใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่บน Netflix เพราะเบื้องหลังการหาทุนมาสร้างหนังเรื่องนี้มาจากหยาดเหงื่อของเธอจริง ๆ (Literally หยาดเหงื่อเลยล่ะ) ถึงขั้นว่าประสบอุบัติเหตุจนไหล่หักเธอก็ยังยืนหยัดที่จะแข่ง

 

เต้นบัลเลต์กับโคลนที่เต็มเข่า

เลสลีย์ เพเตอร์สัน เติบโตขึ้นมาในเมือง ๆ หนึ่งในประเทศสก็อตแลนด์ที่ชื่อว่าสเตอร์ลิง (Sterling) เธอเป็นหนึ่งในพี่น้องสี่คนที่มีแม่เป็นผู้จัดการโรงแรมและพ่อที่เข้มงวดและสนใจด้านกีฬา ด้วยเหตุนี้อาจจะแทบไม่ต้องเดาเลยว่าเธอคนนี้ได้เลือดความรักในกีฬามาจากไหน

ตารางชีวิตประจำวันของเธออัดแน่นไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนที่เธอายุเพียง 7 ขวบ ในช่วงวันเสาร์ ตอนเช้าเพเตอร์สันจะต้องไปเล่นรักบี้ และสลับไปเต้นบัลเลต์ในช่วงบ่าย แต่เห็นว่าเธอตารางแน่นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเธอถูกบังคับโดยพ่อเลยแม้แต่น้อย กลับเป็นเธอเองต่างหากที่ยกมือขอลงสนามไปเล่น

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เอาไว้ว่าย้อนกลับไปในตอนนั้น เธอได้เดินจูงมือพ่อไปดูพี่ชายของเธอเล่นรักบี้ในสนาม แล้วเธอก็กระซิบบอกพ่อว่าอยากลองเล่นดูบ้าง มันดูน่าสนุก มีทั้งโคลน เด็กผู้ชายเต็มไปหมด เธอจะเอาชนะพวกนั้นให้หมดเลย… แม้จะเป็นน้องสาวคนสุดท้อง แต่ความหาญกล้าของเธอไม่แพ้พี่คนไหนเลยแม้แต่น้อย
 

นับตั้งแต่นั้นเธอก็เล่นรักบี้มาโดยตลอด แม้จะเป็นกีฬาที่ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับการเต้นบัลเลต์ (เธอเล่าว่าทุกครั้งเวลาโผล่ไปซ้อมเต้นบัลเลต์ เข่าของเธอจะเต็มไปด้วยโคลนจากสนามรักบี้) หลังจากเห็นว่าลูกสาวชอบด้านนี้จริง ๆ จัง ๆ พ่อของเพเตอร์สันก็ฝึกให้อย่างจริงจัง จนเธอได้ไปอยู่ในทีมที่ได้ไปแข่งจริง ๆ และเธอก็เป็นผู้หญิงคนเดียวในทีม แถมยังเป็นกัปตันทีมอีกด้วย!

แต่ท้ายที่สุดเมื่อได้อายุ 12 ปี เพเตอร์สันก็จำต้องเลิกเล่นรักบี้ไป เพราะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางกายภาพ ด้วยความที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ในกีฬารักบี้เป็นผู้ชายตัวใหญ่และมีการปะทะอยู่มาก หากเธอยังเล่นต่ออาจจะเสี่ยงต่อร่างกายของเธอได้ และแน่นอนว่าเธอเซ็งเอามาก ๆ พ่อของเธอจึงหากีฬาอื่นที่น่าจะคล้าย ๆ กันให้เธอเล่น เช่นการวิ่งบนเนินเขา (Fell Running) 

และเธอก็หลงรักกับกีฬาใหม่นี้เอามาก ๆ มันได้ลุย ได้เหนื่อยแทบจะไม่ต่างกับการเล่นรักบี้เลย แถมเธอยังได้มีโอกาสวิ่งไปพร้อม ๆ กับพ่อของเธออีกด้วย แต่เธอก็อาจจะเหงา ๆ หน่อย หากเทียบกับเพื่อน ๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกัน  เพราะคงมีไม่กี่คนนักที่จะชอบวิ่ง (หรือวิ่งเยอะเท่าเธอ) 

แต่เพเตอร์สันก็ไม่ได้คิดว่านั่นเป็นปัญหา เธอให้สัมภาษณ์ว่าเวลาเธอวิ่ง ธรรมชาติและสถานที่รอบกายมันได้ประธานความรู้สึกดี ๆ ให้กับเธอ ผืนดินและเนินเขามันช่วยปลอบประโลมเธอทุก ๆ ครั้งที่เธอก้าวขาไปข้างหน้า นอกจากนั้นเธอก็ยังบอกอีกว่าเธอไม่ใช่วัยรุ่นสายเที่ยว ชอบดื่มเหล้า หรือช็อปปิ้งเสียเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุนี้ชีวิตของเธอจึงดำเนินควบคู่มากับกีฬาอย่างต่อเนื่อง

 

พบรักกับไตรกีฬาและภาพยนตร์

แม่งโคตรเจ๋งเลย

คือคำอธิบายของเธอหลังจากที่พ่อของเธอพาเข้าไปสมัครสมาคมไตรกีฬาท้องถิ่นตอนอายุ 13 ปี และดูเหมือนว่ายิ่งลุย เธอจะยิ่งชอบ นั่นจึงทำให้เธอหลงรักไตรกีฬาเข้าในทันที ด้วยความที่เธอเป็นคนชอบชน เป็นคนขี้เอาชนะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการแข่งขันไตรกีฬาก็เต็มไปด้วยอุปสรรคนานาแบบ จึงไม่แปลกที่เธอจะมุ่งมั่นด้านนี้และพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพียงอายุ 15 ปี เธอก็ได้เป็นตัวแทนสก็อตแลนด์และตามด้วยสหราชอาณาจักรไปแข่ง (เธอแข่งชนะผู้ชายมากมายหลายคนเลยทีเดียว)

แวะเรื่องเสียเหงื่อกันสักครู่… นอกจากจะหลงรักในด้านกีฬาและการออกกำลังกายแล้ว เมื่อเธอได้เรียนจบตอนอายุ 21 ปี ในด้านการละคร เธอก็ค้นพบกับตัวเองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เธอรักและสนใจอยากจะทำเอามาก ๆ ก็คือการเขียนบทและสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาสักเรื่อง และหากจะเลือกเรื่องสักเรื่องมาสร้างก็หนีไม่พ้นนิยายเรื่องโปรดประจำใจของเธออย่าง All Quiet on the Western Front

เพเตอร์สันจึงได้ไปลากเพื่อนของเธอที่ชอบนวนิยายเรื่องนี้เหมือน ๆ กันมาร่วมขบวนเขียนบทด้วยกัน เธอเล่าว่าสาเหตุที่นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องโปรดของเธอก็เพราะว่าเธอชอบแนวคิดที่ถูกสอดแทรกไว้ในหนังเกี่ยวกับการที่เยาวชนของชาติถูกหักหลัง / หลอกใช้เพื่อผลประโยชน์ของใครสักคน นอกจากนั้นแล้ว เธอก็เป็นคนหัวขบถเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอจึงเล่าต่อว่าเธอเห็นถึงศักยภาพของเรื่องราวนี้ และหากจะสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง เธอก็อยากจะหยิบมันมาเล่าให้ดีที่สุด

กลับมาเรื่องของกีฬา หลังจากที่เล่นไตรกีฬาไปได้สักพักหนึ่ง เธอก็วางมือ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอว่ายน้ำไม่เก่ง และสำหรับไตรกีฬาที่เธอแข่ง ณ ตอนนั้น ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันอยากจะมีสิทธิ์ชนะ พวกเขาต้องว่ายน้ำแข็งเป็นอย่างมาก และด้วยความที่เธอไม่ถนัดว่ายน้ำ เธอจึงได้วางมือ (ชั่วคราว) จากไตรกีฬาไป

จนกระทั่งเธอได้มาพบไตรกีฬารูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องว่ายน้ำ ซึ่งจะมีเพียงแค่การวิ่งเทรลและปั่นจักรยานเสือภูเขาบนเส้นทางวิบาก ซึ่งก็เรียกว่าเข้าทางผู้ที่กระหายการแข่งขันอย่างเธอเป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้กลับขึ้นสังเวียน เธอก็สำเร็จรัว ๆ จนได้คว้าแชมป์โลกแรกของเธอในปี 2011 ด้วยวัย 31 ปี 

หลังจากนั้นเธอก็มุ่งแข่งขันด้านไตรกีฬามาเรื่อย ๆ ด้วยความรักเป็นทุนเดิม ผสานกับเหตุผลทางด้านเงินทุนที่เธอกำลังมุ่งหาเงินไปสมทบในโปรเจกต์ที่อยากจะดัดแปลงนวนิยายเรื่องโปรดมาเป็นภาพยนตร์ ถึงขั้นว่ามีวันหนึ่งในปี 2016 ที่เธอประสบอุบัติเหตุจนไหล่เคลื่อนก่อนที่จะแข่งในวันถัดไป เธอก็ยังยืนหยัดที่จะแข่งจนได้…

 

เก็บหอมรอมริบจนได้ All Quiet on the Western Front

แทบทุก ๆ รายได้จากการบากบั่นแข่งไตรกีฬา เธอได้เจียดเงินรางวัลมาเข้า Sliding Down Rainbows Entertainment Inc บริษัทผลิตภาพยนตร์ที่เธอกับเพื่อนของเธอร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาด้วยความหวังที่จะผลิตภาพยนตร์อย่างจริงจัง กลายเป็นว่าสองสิ่งอย่าง — ไตรกีฬาและการเขียนบทภาพยนตร์ — ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน กลับหมุนเวียนโคจรรอบตัวเพเตอร์สันอย่างราบรื่น

ไม่เพียงแค่เธอนำเอาผลประโยชน์จากการแข่งกีฬามาสมทบในปณิธานการสร้างภาพยนตร์ เธอยังนำเอาแรงฮึดที่จะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จมาใช้กับการปั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาอีกด้วย การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เธออยากลุกออกไปวิ่ง พอวิ่งเสร็จเธอก็อยากรีบกลับมาเห็นโปรเจกต์นี้เติบโตไปไกลกว่าเดิม

ในส่วนของตัวหนัง ในคราวแรกเธอและผู้ร่วมเขียนบทวางแผนว่าจะสร้างภาพยนตร์ในภาษาอังกฤษ แต่ประเด็นคือพวกเขากำลังจะเล่าเรื่องราวจะฝั่งเยอรมนี หากเล่าในภาษาอังกฤษคงไมสมเหตุสมผลเสียเท่าไหร่นัก โชคดีที่ Netflix ทำให้ภาพยนตร์ต่างภาษามีที่ยืนมากขึ้น จนทำให้โปรเจกต์นี้มีที่ทางในการเกิดขึ้นได้

ท้ายที่สุดหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายทาง Netflix ก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จนถึงขั้นว่าคว้ารางวัล BAFTAs ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมเป็นที่เรียบร้อย นอกจากตอนนี้เธอก็ยังได้มีสิทธิ์ไปลุ้นรางวัลออสการ์อีกด้วย เรื่องราวของเลสลีย์ เพเตอร์สันนับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมุ่งมั่นบากบั่นวิ่งชนอุปสรรคจนสำเร็จมาได้… เพราะคงมีจำนวนคนไม่เยอะนักที่เป็นแชมป์โลกด้านกีฬาแล้วได้ไปลุ้นรางวัลจากเวทีบันเทิงระดับโลกอย่างออสการ์ 

 

ภาพ
Kevin C. Cox / Staff - Getty Images
IMDb

อ้างอิง:
‘Obsessive? This is who I am!’ How Lesley Paterson funded her 16-year Oscar dream – by winning triathlons - The Guardian
How a world champion triathlete earned an Oscar nomination - CNN
Who is Lesley Paterson? The life of the champion triathlete turned screenwriter tipped for Oscar glory - Evening Standard