27 ก.พ. 2566 | 17:00 น.
/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ /
‘อวสานวัยเด็ก’
คำนี้ไม่เกินจริง… กับภาพยนตร์สยองทุนต่ำกำไรสูงที่นำเอาเพื่อนซี้วัยเด็กของใครหลายคนอย่าง ‘หมีพูห์’ มาดัดแปลงเป็นฆาตกรโรคจิตที่สามารถไปร่วมทีมกับ ไมเคิล ไมเยอร์ส ได้อย่างง่ายดาย กับ Winnie the Pooh: Blood and Honey (2023) หรือในชื่อไทยว่า ‘โหด เห็น หมี’ หนังทุนต่ำ ที่คว้าคะแนน Rotten Tomatoes จากนักวิชาการไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องโค้งคำนับผู้สร้างว่าไอเดียไม่เลว แถมยัง ‘หัวไว’ เห็นโอกาสทองและไม่ปล่อยมันให้หลุดมือ
เพราะคงไม่บ่อยครั้งนักที่วัตถุดิบชั้นเลิศที่ผู้คนทั่วโลกหลงรักแบบนี้ จะ ‘ว่าง’ ไร้ใครเป็นเจ้าของและสามารถหยิบไปปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้จนกลายเกิดเป็นภาพยนตร์สยองขวัญทุนต่ำที่มีตัวชูโรงเป็น ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ (Winnie-the-Pooh) แต่ถึงกระนั้นการหยิบพูห์มาใช้ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้ดี ไม่อย่างนั้นผู้สร้างอาจจะซวยได้
ในบทความนี้เราจะพาไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดเหล่านั้นว่าถ้าจะเอาพูห์มาใช้ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง และถ้าหากใครที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วก็คงเกิดคำถามขึ้นว่า อีกตัวละครสำคัญอย่างทิกเกอร์หายไปไหน ในบทความนี้เราจะพาไปหาคำตอบเช่นเดียวกัน
ก่อนอื่นเรามารีแค็ปกันถึงเรื่องราวเบื้องต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้กันก่อนว่ามันเกี่ยวกับอะไร Winnie the Pooh: Blood and Honey (2023) เป็นเรื่องราวของ คริสโตเฟอร์ โรบิน กับเหล่าผองเพื่อนที่อยู่ใน ป่าร้อยเอเคอร์ (Hundred Acre Wood) ไม่ใช่เรื่องราวสุขสันต์เหมือนตอนที่เขายังเด็ก แต่เป็นเรื่องราวของวันที่โรบินได้ทอดทิ้งเพื่อน ๆ ทั้งหลายของเขาเพื่อเดินหน้าต่อกับชีวิต จนสัตว์ทั้งหลายแปรเปลี่ยนจากเพื่อนซี้ที่น่ารักเป็นนักฆ่ากระหายเลือดที่นับวันรอคิดบัญชีกับอดีตเพื่อนซี้ของเขา…
ใครจะคิดว่า…เมื่อเวลาผ่านไป 95 ปี จากหมีสีเหลืองน่ากอดและสุดแสนจะเป็นมิตร แถมยังเป็น หมีที่เข้าใจชีวิตและเป็นภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า จะเปลี่ยนของโปรดจาก ‘น้ำผึ้ง’ (Honey) เป็น ‘โลหิต’ (Blood) บางคนอาจจะสงสัยว่าผู้สร้างไปเอาลิขสิทธิ์ของพูห์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สยองขวัญสุดแสนจะทุนต่ำแบบนี้ได้อย่างไร ยิ่งเป็นทุนต่ำด้วย คงเป็นเรื่องที่เหนือจินตนาการที่จะควักเงินทุนไปซื้อลิขสิทธิ์มาสร้าง (และถึงควักจริง ๆ เจ้าของลิขสิทธิ์ก็คงไม่น่าจะยอม)
Winnie-the-Pooh
Winnie-the-Pooh (1926) by A. A. Milne
แต่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ หากอ้างอิงตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา งานประพันธ์ใด ๆ หากอายุครบ 95 ปีหลังจากการเผยแพร่ครั้งแรก ตามกฎหมายจะถือว่างานชิ้นนั้นเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ หรือที่หลายคนน่าจะคุ้นชินกับคำว่า ‘Public Domain’ หมายความว่าสินทรัพย์ทางปัญญาชิ้นนั้นเป็นของสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของทางกฎหมายอีกต่อไป และทุกคนสามารถนำมาดัดแปลง ผลิตซ้ำได้ไม่ว่าจะในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม
และในหัวข้อนี้แหละที่เราจะมาตอบคำถามที่ว่า ‘ทิกเกอร์’ และตัวละครอื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนของพูห์หายไปไหน? และเพราะอะไร ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยมีองค์ประกอบของพูห์ฉบับการ์ตูนที่เราเคยได้ดูได้ชมเลย เป็นเพราะผู้กำกับปล่อยปละละเลยหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเหตุผลใดกันแน่?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า พูห์ฉบับที่อายุครบ 95 ปี และกลายเป็นสาธารณสมบัติคืองานประพันธ์หนังสือการ์ตูนเด็กของ เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne) และวาดโดย อี. เอช. เชพเพิร์ด (E. H. Shepard) ที่ชื่อว่า ‘Winnie-the-Pooh’ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1926 ซึ่งภายในนิทานเรื่องดังกล่าวก็มีตัวละครที่เราคุ้นเคยเหมือนกับที่เราคุ้นเคยเลย ตั้งแต่ พูห์ (Pooh), พิกเล็ต (Piglet), อียอร์ (Eeyore), แร็บบิต (Rabbit) และเด็กชายผู้ดำเนินเรื่องอย่าง คริสโตเฟอร์ โรบิน (Christopher Robin)
เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne)
Winnie-the-Pooh (ซ้าย) and Christopher Robin (ขวา)
แล้วทิกเกอร์ไปไหน?
เอ่ยถึงตัวละครมาแทบทั้งหมดแล้ว ลืมอีกตัวละครสำคัญอย่างเสือที่มีชื่อว่า ทิกเกอร์ (Tigger) ไปได้อย่างไร หากใครที่ได้ชม Winnie the Pooh: Blood and Honey (2023) เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็น่าจะมีคำถามเดียวกัน เพราะเสือตัวดังกล่าวไม่ได้มีการปรากฏตัวในเรื่องเลยแม้แต่ครั้งเดียว (อย่างน้อย แม้จะไม่ได้โผล่มาแบบเป็น อียอร์ก็ยังโผล่มาแบบหลุมศพ) ผมจะช่วยคลายความสงสัยให้
Winnie the Pooh and Tigger Too (1974)
หนังสือ Winnie-the-Pooh เล่มแรกที่เผยแพร่ปี 1926 ตัวละครที่มีชื่อว่า ทิกเกอร์ ‘ยังไม่ปรากฏตัว’ เพราะทิกเกอร์จะมาในเล่มถัดไปที่ตีพิมพ์ในปี 1928 ที่มีชื่อว่า ‘The House at Pooh Corner’ ดังนั้นถ้าอยากเห็นทิกเกอร์ก็คงต้องไปรอลุ้นเอาที่ภาคหน้า เพราะผู้สร้างก็ได้ออกมาประกาศเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ‘โหด เห็น หมี’ ภาคสองกำลังจะมา และราว ๆ ปีหน้า The House at Pooh Corner ก็จะอายุครบ 95 ปีพอดิบพอดี…ไม่แน่เราอาจจะเห็นฆาตกรเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตัวก็เป็นได้…
เมื่อพูห์พบทิกเกอร์เป็นครั้งแรก จากหนังสือ The House at Pooh Corner (1928)
สำหรับคำถามต่อมาว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยเหมือนกับพูห์ในความทรงจำเราเสียเท่าไรเลย… แน่ละ ก็มันเป็นพูห์ฉบับอำมหิตไล่ฆ่าคนเสมือนว่าถูก เจสัน วอร์ฮีส์ (Jason Voorhees) เข้าสิงร่าง แต่ความเหมือนในที่นี้ ผมกำลังหมายถึงทำไมมันถึงไม่ค่อยมีองค์ประกอบของพูห์ฉบับการ์ตูนดิสนีย์ที่ถือเป็นเวอร์ชันที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นชินกันเลย เช่นบ้านต้นไม้หรือเสียงพูห์อันเป็นเอกลัษณ์ อะไรทำนองนั้น
.
จริง ๆ คำตอบก็อยู่ในคำอธิบายในย่อหน้าที่แล้วเรียบร้อยแล้วนะครับ ก็เป็นเพราะว่าพูห์และผองเพื่อนในความทรงจำของเรา (คนที่มีภาพจำพูห์เป็น วินนี-เดอะ-พูห์ ฉบับนิทานดั้งเดิมคงมีไม่มากนัก) นั่นเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) นั่นเอง เดิมทีดิสนีย์เป็นผลงานการประพันธ์ของ เอ. เอ. มิลน์ และการวาดของ อี. เอช. เชพเพิร์ด ดังที่เราได้กล่าวไป แต่ดิสนีย์ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ Winnie-the-Pooh ไปในปี 1961 และเปลี่ยนชื่อมันโดยการนำเอาขีดแดชระหว่างคำออก เป็น Winnie The Pooh และสร้างสรรค์การ์ตูนออกมามากมายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัยเด็กที่สวยงามของใครหลายคน
Winnie the Pooh and the Honey Tree (1966)
ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับอย่าง รายส์ เฟรค-วอเตอร์ฟิลด์ (Rhys Frake-Waterfield) จึงต้องระวังเป็นอย่างมาก ไม่ให้การสร้างสรรค์ของเขาล้ำเส้นไปเอาพูห์ของดิสนีย์มาแปลงกายเป็นอสุรกายยักษ์ เพราะไม่อย่างนั้นจากหนังทุนต่ำจะกลายเป็นหนังทุนสูงแทน (สูงเพราะโดนฟ้องนี่แหละครับ)
โดยวอเตอร์ฟิลด์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ Alternative Press เกี่ยวกับรายละเอียดที่ต้องระวังตอนสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ว่า
“ผมว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งหมดที่มีพูห์อยู่ในความทรงจำ พูห์เหล่านั้นต้องเป็นพูห์ฉบับของดิสนีย์อย่างแน่นอน แล้วนั่น (พูห์ฉบับดิสนีย์) คือสิ่งที่ผมอยากเอาตัวออกห่างที่สุดตอนผมเขียนบทหรือออกแบบตัวละครเลยละ… ผมไม่ดูพูห์ฉบับของดิสนีย์แม้แต่ตอนหรือเรื่องเดียวเลย เพราะผมไม่อยากให้ไอเดียของผมได้อิทธิพลจากมัน แม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม… ”
เนื้อหาส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่อง Winnie the Pooh: Blood and Honey (2023) จึงเป็นการดัดแปลงเนื้อหาจาก Winnie-the-Pooh (1926) ฉบับดั้งเดิมอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนั่นเป็นขอบเขตเดียวที่สิทธิ์ของการเป็นสาธารณสมบัติครอบคลุมถึง หากเผลอไปก้าวขาโดนทิกเกอร์ที่อยู่ในหนังสือภาคต่อจากปี 1928 หรือจากฉบับของดิสนีย์ก็น่าจะมีปัญหาในด้านลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน
วอเตอร์ฟิลด์เล่าต่ออีกว่า ระหว่างการพัฒนาหรือการทำเขาไม่ได้เปิดพูห์ฉบับดิสนีย์ดูเลย กว่าจะมาเปิดเวอร์ชันของดิสนีย์ดูก็ตอนที่เขียนบทและออกแบบตัวละครเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะเช็กอีกทีว่าพูห์เวอร์ชันสยองของเขาได้ก้าวข้ามเส้นไปโดนของดิสนีย์บ้างหรือเปล่า
“ก็ด้วยเหตุผลนี้แหละที่ทิกเกอร์ไม่ได้อยู่ในหนังด้วย เห็นไหม ถ้าคุณไม่ทำการบ้านดี ๆ แล้วเอาเจ้าเสือนี่ไปใส่ด้วยก็คงเป็นเรื่องใหญ่แน่”
แม้ว่าการนำเอาพูห์มาใช้นั้นมีขอบเขตที่ละเอียดและต้องระวังเป็นอย่างมาก และในขณะเดียวกันมันก็ถือเป็นโอกาสทองที่จะนำเอาตัวละครที่คนทั้งโลกรู้จักมาสร้างเป็นภาพยนตร์สยองทุนต่ำที่น่าจะมีจำนวนคนทั้งโลกให้ความสนใจไม่ยาก และด้วยทุนสร้างสุดแสนจะต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่าง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้ทำรายได้ไปกว่า 3,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภาคต่อก็กำลังจะมา!
เรามาลุ้นกันดีกว่าว่าภาคหน้าเราจะได้เห็นทิกเกอร์ในเวอร์ชันกระหายเลือดเหมือนพูห์ในภาคนี้หรือเปล่า…
Winnie-the-Pooh (ซ้าย) and Piglet (ขวา)
ภาพ :
ภาพยนตร์ Winnie the Pooh: Blood and Honey (2023)
ปกหนังสือ Winnie-the-Pooh (1926)
IMDb
อ้างอิง :
How filmmaker Rhys Frake-Waterfield turned a children’s character into a killing machine in Winnie the Pooh: Blood and Honey - Alternative Press
Public Domain -Britannica