15 มี.ค. 2566 | 18:00 น.
‘แดเนียลส์’ (The Daniels) สองผู้กำกับคู่ซี้ชื่อเดียวกัน ‘แดเนียล กวัน’ (Daniel Kwan) และ ‘แดเนียล ไชเนิร์ท’ (Daniel Scheinert) มันสมองผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once (2022) ที่กวาดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ไปกว่า 7 สาขา
‘แดเนียลส์’ (The Daniels) สองคู่ซี้ผู้กำกับชื่อเหมือนกัน มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง Everything Everywhere All at Once (2022) คว้าทั้งรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม จนถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับผู้กำกับทั้งสองเพราะท่ามกลางผู้เข้าชิงคนอื่น ๆ รวมถึง ‘สตีเวน สปีลเบิร์ก’ (Steven Spielberg) พ่อมดแห่งฮอลลีวูดที่ตีแผ่เรื่องราวในวัยเด็กของตนเอง แดเนียลส์คือผู้ที่คว้ารางวัลดังกล่าวมาครองกับผลงานการกำกับ Everything Everywhere All at Once ไปได้สำเร็จ
ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับสองคู่ซี้ ผู้กำกับคู่ฮา แดเนียลกับแดเนียล กับเส้นทางชีวิตที่ก่อนจะผสานรวมกันเป็นหนึ่ง ที่อดีตเคยไม่ค่อยชอบหน้ากันมาก่อน และพาไปดูว่าเพราะเหตุใดเขาทั้งคู่เคยได้ฉายาว่าเป็น ‘ผู้กำกับศพตด’
แดเนียล + แดเนียล = แดเนียลส์
ก่อนจะกลายมาเป็น ‘แดเนียลส์’ (Daniels) ดูโอ้ผู้กำกับเจ้าของวิสัยทัศน์ที่พาซือเจ๊ไปทะลุมิติกับภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once (2022) ที่พาทั้งตัวเอง ทีมงาน และรวมถึงนักแสดงกวาดรางวัลออสการ์กันติดไม้ติดมือไปกว่า 7 รางวัลในค่ำคืนการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 พวกเขาทั้งสองเคยเป็น ‘แดเนียล’ (Daniel) กับ ‘แดเนียล’ (Daniel) แบบไม่ต้องมี ‘เอส’ (s) ต่อท้ายกันมาก่อน
แดเนียลทั้งสองที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ประกอบไปด้วย ‘แดเนียล กวัน’ (Daniel Kwan) และ ‘แดเนียล ไชเนิร์ท’ (Daniel Scheinert) แหงล่ะ ว่าทั้งคู่ไม่ได้ติดกันเป็นปาท่องโก๋เหมือนภาพจำที่เราเห็นทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในสมัยเรียน กวันและไชเนิร์ทเจอกันในวิชาอนิเมชั่น 3 มิติขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิเมอร์สัน (Emerson College)
แม้จะเรียนที่เดียวกันก็ใช่ว่าทั้งคู่จะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เริ่ม กลับกันเลยเสียด้วยซ้ำ ในช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่ได้รู้จักกันจริง ๆ จัง ๆ ทั้งคู่กลับรู้สึกว่าไม่ค่อยถูกชะตากันเสียเท่าไหร่ ทั้งคู่แชร์ความรู้สึกและความทรงจำที่มีต่อกันในสมัยเรียนว่า ไชเนิร์ทจะเป็นเด็กหน้าห้อง ยกมือตอบแทบจะทุกคำถาม จนบางทีก็ค่อนข้างน่ารำคาญสำหรับบางคนเลยทีเดียว ส่วนกวันก็ตรงกันข้าม เขาเงียบขรึม ไม่ได้ยกมือตอบเหมือนแดเนียลอีกคน
“เรื่องของพวกเรานี่คล้ายกับหนัง รอม-คอม เลยนะ”
กวันกล่าวอธิบาย ก่อนที่ไชเนิร์ทจะเสริมต่อว่า
“ผมอะเคยดูหนังเกี่ยวคู่กับสามี-ภรรยาที่ต้องแก้ไขปัญหาดด้วยกันทั้งคู่ แล้วผมก็รู้สึกแบบ ‘เฮ้อออ ทำไมกูเก็ทฟีลวะ’”
ตรงตามทีททั้งคู่กล่าว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้นละม้ายคล้ายคลึงกับภาพยนตร์รักปนตลก ไม่ใช่เพราะพวกเขาลงเอยด้วยกันในเชิงโรแมนติคในตอนจบ แต่มิตรภาพของทั้งคู่เริ่มต้นขึ้นด้วยการไม่ชอบขี้หน้ากัน ก่อนที่ทั้งคู่จะบังเอิญได้ไปพูดคุยกันตอนที่กวันไปสอนไชเนิร์ทใช้โปรแกรม After Effects นและก็ได้เข้าใจทีหลังว่า ‘ไอนี่มันก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดนี่หว่า’
แต่พวกเขาก็ไม่ได้เริ่มทำหนังในตอนที่เริ่มสนิทกันในทันที แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการผนวกรวมที่แปรเปลี่ยนจาก แดเนียล และ แดเนียล เป็น ‘แดเนียลส์’
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: หากมีคนชื่อซ้ำกัน ในประเทศไทยเราก็คงเรียกเป็นฉายาแทนชื่อ หรือไม่ก็เติมคำวิเศษณ์ (หรือพิเศษ) เพิ่มไปข้างหลัง แต่ในกรณีนี้ ทั้งสองแดเนียลไม่ได้ถูกเรียกเป็นฉายา เติมคำข้างหลัง หรือว่าเรียกเป็นแดเนียลทั้งคู่ แต่ไชเนิร์ทจะถูกเรียกว่า ‘แดเนียล’ ส่วนกวันจะถูกเรียกว่า ‘แดน’ ฃ
คู่หูผู้กำกับ ‘ศพตด’
หลังจากที่ผสานรวมเป็นหนึ่งจนได้ฉายา ‘แดเนียลส์’ ก็ถึงเวลาที่ต้องเล่าเรื่องราวบทต่อไปว่าพวกเขาเริ่มสร้างภาพยนตร์กันได้อย่างไร
หนังสั้นเรื่องแรกของทั้งคู่เกิดขึ้นในปี 2009 ชื่อว่า Swingers ซึ่งพวกเขาตัดสินใจเริ่มทำหนังเรื่องนี้เพราะ หลังจากที่พวกเขาเรียนจบกันไปแล้ว แดเนียลส์ก็ได้ไปเป็นทีมงานให้ค่ายที่เปิดรับนักเรียน-นักศึกษาเข้ามาทำกิจกรรม และพอทั้งคู่ได้เห็นเหล่ารุ่นน้องได้ทำหนังกัน พวกเขาเลยเกิดความรู้สึกดังที่กวันได้อธิบายเอาไว้ว่า
“พวกเราอิจฉายพวกเด็ก ๆ กันมากเลย ได้ทำหนังกันทั้งวัน… แต่เราไม่ได้!”
ภายหลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้ขยับมาทำงานด้านการกำกับ Music Video และมีผลงานชิ้นหนึ่งเป็นเพลงที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นหูกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นสายเต้นหรือปาร์ตี้ เพราะแดเนียลส์ได้ไปกำกับ MV เพลง Turn Down for What ด้วยวิสัยทัศน์และสไตล์สุดแปลก
แต่ถ้าหากว่านั่นแปลกแล้วก็คงไม่เท่าภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของพวกเขานามว่า Swiss Army Man (2016)
“ตอนผมกำลังเรียนภาพยนตร์ มีคนบอกผมว่าถ้า ‘นายอยากประสบความสำเร็จ มันมีอยู่สองทาง คุณต้องเป็นที่หนึ่งหรือคุณต้องเป็นคนแรกที่ทำสิ่งนั้น’ แม้ผมจะอายุแค่ 19 ปีในตอนนั้น แต่ผมแม่งก็รู้ว่าผมเป็นที่หนึ่งไม่ได้แน่ ๆ … งั้นผมต้องเป็นคนแรกให้ได้”
ดูเหมือนว่ากวันจะยึดถือคำนี้จริง ๆ เพราะไม่ว่าไอเดียจะแปลกหลุดโลกเพียงไหน ทั้งคู่ก็ไม่ได้ลังเลที่จะตัดสินใจทำ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สร้างภาพจำของวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจของทั้งคู่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้พวกเขาต้องกุมขมับเหมือนกัน แถมยังทำให้พวกเขาทั้งคู่ได้ฉายาว่า ‘ผู้กำกับศพตด’ (Farting Corpse Directors) อีกด้วย
เราอาจจะพอรู้จัก Swiss Army Knife หรือ มีดสารพัดประโยชน์ ที่น่าจะพาให้คุณอยู่รอดได้โดยง่ายถ้าต้องเอาชีวิตรอดในป่าหรือสถานที่ใด ๆ แต่แน่นอนว่าถ้าคุณจะทำหนังเกี่ยวกับมัน คุณคงไม่ใช่คนแรกเป็นแน่ ดังนั้น เขาทั้งคู่จึงยกระดับจาก ‘มีด’ ให้กลายเป็น ‘คน’ เสียเลย จึงกลายเป็น ‘Swiss Army Man’ หรือ ‘คนสารพัดประโยชน์’
แต่แน่นอนว่าถ้าไปทำคนที่มีคสามสามารถหลากหลายมันจะไปต่างอะไรกับเหล่าภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ พวกเขาจึงเปลี่ยนจาก ‘คน’ ให้เป็น ‘ศพ’ เสียเลย จึงได้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘แฮงค์’ (Hank) (รับบทโดย พอล ดาโน) ชายที่ติดอยู่ในเกาะร้าง หมดสิ้นศรัทธาที่จะมีชีวิตต่อ และตัดสินใจที่จะแขวนคอตัวเอง แต่ในวินาทีนั้นเองเขาก็ได้เห็นร่าง ของคน ๆ หนึ่งลอยมาที่ฝั่ง ปรากฎว่ามันคือศพ แต่มันเป็น ‘ศพที่ตดได้’ แถมตดแรงจนพาเขาล่องทะเลไปดั่งเจ็ทสกีเลยทีเดียว เขาเลยพาศพนั้นตะลุยหาทางกลับบ้านไปพร้อม ๆ กับเขา และตั้งชื่อมันว่า ‘แมนนี’ (Manny) (รับบทโดย แดเนียล แรดคลิฟฟ์)
ผู้อ่านคงขมวดคิ้วและงงกับสิ่งที่ผมเขียนแน่ ๆ แต่ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างกันเมื่อได้ชมกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก แต่ในขณะเดียวกันมันก็บ้า แปลก แหวก จนเรียกเสียงหัวเราะได้ไม่หยุด (แถมยังเรียกน้ำตาได้อีกด้วย) แต่ไว้เราจะมากล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้แบบเจาะลึกกันวันหลัง
แต่แม้ว่าผมเองจะชอบ แต่ตอนฉายที่เทศกาล Sundance ผู้คนหลายคนไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะได้มีผู้ชมทะยอยเดินออกกันอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่หนังฉายจนแดเนียลส์ก็ถึงพากันกุมขมับ เพราะตอนแรกทั้งคู่คิดว่าน่าจะมีค่ายหนังมาประมูลเรื่องนี้แข่งกันอย่างดุเดือด แต่มันกลับตรงกันข้าม แต่ถถึงกระนั้นมันก็สร้างภาพจำให้กับทั้งคู่ในฐานะผู้กำกับชื่อเหมือนที่มาพร้อมกับวิสัยทัศน์สุดบ้า แต่บ้างก็เรียกเขาว่าผู้กำกับหนังศพตด…
แดเนียลส์คว้ารางวัล(ส์)
แต่แม้จะได้เสียงตอบรับไม่ได้ดีขนาดนั้นกับภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า แต่กับภาพยนตร์เรื่องต่อมาของพวกเขา Everything Everywhere All at Once ภาพยนตร์ที่ชื่อยาวแต่ผู้คนทั่วทั้งโลกก็ต่างพากันจำได้ แถมยังเหมารางวัลจากเวทีต่าง ๆ ไปจนไม่แบ่งให้หนังเรื่องอื่น ๆ ก็เปลี่ยนภาพจำของพวกเขาให้หลายเป็นคู่ดูโอ้ผู้กำกับที่มีผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลยก็ว่าได้
‘ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส’ คือชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่าตัวละครหลักที่สวมบทบาทโดย มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) คือเอเวอลีน แต่แท้จริงแล้ว หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นจริง ๆ แดเนียลส์วางแผนไว้ว่าจะให้ตัวละคร เวย์มอน ที่รับบทโดย คี ฮุย ควน (Ke Huy Quan) เป็นพระเอกนำเรื่อง โดยจะให้ ‘เฉินหลง’ (Jackie Chan) มาเป็นนักแสดงหลักที่รับบทนั้น… แต่ท้ายที่สุดก็ถูกปฏิเสธไป โหย่วจึงกลายเป็นเป้าหมายถัดไป และทำให้ตัวละครหลักของเรื่องเปลี่ยนไปด้วย
“เอาจริง ๆ นะ ถ้า มิเชล โหย่ว เซย์โนกับบทของเรา ผมจะตัดงบหนังเรื่องนี้ให้เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด แล้วจ้างแม่ผมมาเล่นไปเลย!”
กวันกล่าว แต่นับเป็นเรื่องดีที่ มิเชล โหย่ว เห็นความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ แถมเธอยังชอบมันเอาเสียมาก ๆ อีกด้วย เหตุเพราะนภาพยนตร์หรือเรื่องราวส่วนใหญ่ เธอจะเห็นแต่พ่อตะลุยอุปสรรคไปช่วยลูก แล้วเธอก็ได้แต่สงสัยอยู่ลึก ๆ ว่าฉันทำไม่ได้บ้างเหรอ พอได้มีอกาสมารับบทนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เธอได้ลองอะไรใหม่ ๆ และตอบคำถามภายในใจของเธออีกด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยแสดงให้โลกเห็นว่าแม้จะเป็นผู้หญิงเอเชียที่ลี้ภัยมาทำงานในสหรัฐอเมริกาก็สามารถตะลุยมิติไปช่วยโลกได้ แม้จะเป็นนักแสดงชาวเอเชียที่อายุย่างเข้า 61 ปี ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ และแม้จะเป็นผู้กำกับที่วิสัยทัศน์ประหลาดและมีเรื่องเล่าแปลก ๆ อย่าง แดเนียลส์ ก็สามารถเหมาออสการ์ 7 สาขากลับบ้านได้
ภาพ:
Getty Images
IMDb
อ้างอิง:
Insider
The Hollywood Reporter