22 ก.ค. 2566 | 14:45 น.
- ตัวละครจากปลายปากกาของเกรต้ามักจะถูกสร้างให้มีจุดบกพร่องไม่มากก็น้อยมันยิ่งทำให้ภาพยนตร์ของเธอซ้อนทับกับโลกความเป็นจริงได้พอดิบพอดี และสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ชมอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะผู้ชมที่เป็นผู้หญิง
- เกรต้า เกอร์วิก เคยคิดว่าภาพยนตร์ Barbie อาจเป็นจุดจบในอาชีพของเธอ แต่หลังจากได้เขียนบท เธอรู้สึกทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้คนอื่นมากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอจึงเลือกเป็นผู้กำกับเสียเอง
ถ้าพูดถึงการ์ตูนที่ได้รับความนิยมล้นหลาม สร้างความสนุก และความประทับใจในวัยเด็กก็คงขาดเรื่องราวของ ‘บาร์บี้’ สาวผมบลอนด์ที่มีคาแรคเตอร์สดใสและกล้าหาญไปไม่ได้ และในปีนี้บาร์บี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงตัวการ์ตูนหรือตุ๊กตาของเล่นอีกต่อไป เพราะเธอจะกลายมาเป็น ‘คน’ ในโลกจริง บนจอภาพยนตร์
ภาพยนตร์ ‘Barbie’ ฉบับคนแสดง เป็นโปรเจกต์ของ ‘มาร์โกต์ ร็อบบี้’ ร่วมกับบริษัท Warner Bros. และ Mattel เจ้าของลิขสิทธิ์ตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งได้รังสรรค์เรื่องราวการผจญภัยครั้งใหม่ของสาวน้อยบาร์บี้ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ร็อบบี้เผยว่า ความท้าทายของโปรเจกต์ Barbie คือการหานักเขียนบทที่ยินดีอ้าแขนรับตัวบทที่มีความซับซ้อนนี้ได้ และร็อบบี้ก็เลือกให้ ‘เกรต้า เกอร์วิก’ มาเป็นผู้เขียนบทและกำกับโปรเจกต์ Barbie ของเธอ
“เธอเป็นคนที่เก่งมาก คุณสามารถสัมผัสได้จากวิธีการสร้างภาพยนตร์ของเธอ รวมถึงการสร้างเรื่องราวและตัวละครต่าง ๆ” ร็อบบี้พูดถึงเหตุผลที่เกรต้า เกอร์วิก เหมาะที่จะเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอยังบอกอีกว่าเกรต้ามีสิ่งที่ภาพยนตร์ Barbie ต้องการ นั่นคือ “การให้เกียรติ และเชื่อมโยงมันเข้ากับสังคมปัจจุบัน”
แน่นอนว่าแฟนคลับบาร์บี้รอคอยภาพยนตร์ Barbie เวอร์ชั่นคนแสดงอย่างใจจดใจจ่อ มีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อเห็นชื่อ เกรต้า เกอร์วิก ในฐานะผู้เขียนบทและผู้กำกับ แฟนคลับบาร์บี้ยิ่งเซอร์ไพรส์ และรู้ทันทีเลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ใช่แนวคอมเมดี้-แฟนตาซี ธรรมดาแน่ ๆ
สำหรับคอภาพยนตร์คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้จักชื่อผู้กำกับเกรตาร์ เกอร์วิก หรือถ้าใครยังไม่รู้จักก็คงจะคุ้นเคยผลงานของเธออย่าง ‘Lady Bird’ ภาพยนตร์แนว Coming of age ที่ได้รับคะแนนจาก Rotten Tomatoes สูงถึง 99% และ ‘Little Women’ ภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมชื่อดัง ทั้ง 2 เรื่องล้วนได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างกว้างขวาง และได้รับเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากกว่า 5 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้เกรต้ายังได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Lady Bird ด้วย ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงฝีมือการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ที่โดดเด่นของเกรต้า และการันตีผลงานในอนาคตของเธอด้วย
แรกเริ่มเดิมทีเกรต้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะนักแสดง เธอโลดแล่นบนจอภาพยนตร์มัมเบิลคอร์ (Mumblecore) หรือที่เรียกกันว่าภาพยนตร์ ‘อินดี้นอกกระแส’ เป็นเวลาหลายปี และหลังจากได้มีโอกาสร่วมงานกับ ‘โนอาห์ เบาม์แบก’ โดยเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘Greenberg’ ที่เขากำกับ เกรต้าก็ได้ก้าวขาเข้าสู่ดินแดนของผู้เขียนบทภาพยนตร์
บทภาพยนตร์แห่งโลกความเป็นจริงจากผู้กำกับเฟมินิสต์
จากผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเกรต้า จะเห็นได้ชัดถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างการร้อยเรียงเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกสมจริง แสดงให้เห็นการดิ้นรนในสังคมขณะที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มิตรภาพและความขัดแย้งระหว่างตัวละคร บทสนทนาที่ถอดมาจากชีวิตจริง และการดำเนินเรื่องแบบวันต่อวัน
“ฉันไม่ได้สนใจแค่มิตรภาพของผู้หญิง แต่สนใจทุกองค์ประกอบของความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน เพื่อนกับเพื่อน คนที่โตกว่ากับคนที่เด็กกว่า แม่กับลูกสาว พี่น้อง และกลุ่มของผู้หญิง”
ตัวละครจากปลายปากกาของเกรต้ามักจะถูกสร้างให้มีจุดบกพร่องไม่มากก็น้อย ไม่ใช่ตัวละครที่มีฐานะร่ำรวยหรือเก่งกาจไปเสียทุกเรื่อง มีความธรรมดาขั้นสุด เรียกได้ว่าไม่เข้าใกล้คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ เลยสักนิด ซึ่งยิ่งทำให้ภาพยนตร์ของเธอซ้อนทับกับโลกความเป็นจริงได้พอดิบพอดี และสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ชมอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะผู้ชมที่เป็นผู้หญิง
เมื่อเรื่องราวดำเนินไปโดยตัวละครหญิงที่นำเสนอผ่านมุมมองของผู้กำกับหญิง (Female Gaze) ผู้ชมจึงได้เห็นตัวตนของผู้หญิงในแบบที่ควรจะเป็น และยังได้เห็นการเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในสังคม และการก้าวผ่านความยากลำบากเหล่านั้นของผู้หญิงด้วย ภาพยนตร์ของเกรต้ายังสร้างบรรยากาศที่หาได้ยาก (หรือแทบไม่มี) จากผู้กำกับชาย ซึ่งก็คือ ‘ความสบายใจ’ ขณะรับชมฉากที่มีตัวละครหญิงปรากฏตัว
เหตุผลข้างต้นนำไปสู่ความคาดหวังในภาพยนตร์ Barbie โดยหลายคนคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีความเป็นสตรีนิยม (Feminism) และพวกเขาจะได้เห็นอีกตัวตนของบาร์บี้ที่ต่างจากในการ์ตูนตามแบบฉบับของเกรต้า เกอร์วิก
Barbie ที่สร้างโดยเกรต้า เกอร์วิก
เกรต้าเขียนบทภาพยนตร์ Barbie ร่วมกับโนอาห์ เบาม์แบก พาร์ตเนอร์ของเธอ ตอนที่เริ่มเขียนบท เกรต้าไม่รู้ว่าเรื่องราวควรเริ่มจากตรงไหนและจะดำเนินไปอย่างไร เธอกลัวว่านี่อาจจะเป็นจุดจบในอาชีพของเธอด้วยซ้ำ
สิ่งที่ทำให้เกรต้ารู้สึกกลัวคือมันไม่มีเรื่องราวมาก่อน ซึ่งอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมากมายในตอนที่เขียน แต่เธอก็คิดว่า “เพราะมันน่ากลัว มันจึงน่าตื่นเต้น” หลังจากได้เขียนบทเกรต้าก็เกิดความรู้สึกทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้คนอื่นมากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ดังนั้นเธอจึงเลือกเป็นผู้กำกับเสียเอง
“แน่นอนที่สุดว่านี่เป็นภาพยนตร์เฟมินิสต์”
เกรต้าใส่ความเป็น ‘อนาธิปไตย’ ลงไปในโลกของบาร์บี้ เธอสร้างโลกของตุ๊กตาบาร์บี้ที่ไร้กฎเกณฑ์ อยู่คนละด้านความเป็นจริง เต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน เป็นโลกที่เหล่าบาร์บี้ล้วนมีความสุขกับความสมบูรณ์แบบที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไป
แต่จุดเปลี่ยนของโลกสีชมพูที่สมบูรณ์แบบก็เกิดขึ้นเมื่อบาร์บี้โพล่งถามกลางงานปาร์ตี้ว่า “พวกเธอเคยคิดเรื่องความตายไหม” และได้พบความไม่สมบูรณ์แบบในการใช้ชีวิตของเธอที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหลังจากนั้นบาร์บี้ก็ถูกบังคับให้เข้าไปค้นหาตัวเองใน ‘โลกความเป็นจริง’
ภาพยนตร์ Barbie สอดแทรกแนวคิดการค้นหาตัวเองของเด็กสาววัยรุ่นที่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘คุณค่าและตัวตน’ ของตัวเอง ซึ่งจะแสดงให้เราเห็นการเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน บาร์บี้จะได้รู้จักกับโลกที่แตกต่างจากโลกของเธอคนละขั้ว และเธอก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ
เกรต้าและร็อบบี้สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจและเติมเต็มโลกแฟนซีด้วยการสร้างปรากฏการณ์ ‘สีชมพู’ ของบาร์บี้ เนรมิตทุกสิ่งให้เป็นสีชมพูจนกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล
ภาพยนตร์ Barbie ได้รับเรตติ้งก่อนภาพยนตร์ออกฉายจาก Rotten Tomatoes ถึง 89% และยังมีการคาดการณ์ว่าในสุดสัปดาห์นี้จะสามารถทำรายได้สูงถึง 95-110 ล้านเหรียญสหรัฐจากโรงภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือ ยิ่งทำให้มีคนตั้งตารอและคาดหวังในภาพยนตร์เรื่องนี้กันมากขึ้น
ไม่ผิดคาดเท่าไหร่นัก หลังจากออกฉาย ภาพยนตร์ Barbie ได้รับยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์เฟมินิสต์ที่ดีที่สุด สอนเฟมินิสต์ได้เข้าใจง่ายและไม่ต้องตีความให้เวียนหัว แถมยัง จิกกัด ‘ปิตาธิปไตย’ ในสังคมได้ตรงจุด เรียกได้ว่าได้รับกระแสชื่นชมถล่มทลายทั้งตัวภาพยตร์ นักแสดง รวมไปถึงชื่อของเกรต้า เกอร์วิก ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอีกครั้ง
ภาพ: Getty Images และ Trailer ภาพยนตร์ Barbie
เรื่อง: ณัฐณิชา ศรีงาม (The People Junior)
อ้างอิง