25 มี.ค. 2567 | 13:30 น.
‘เจี๊ยบ-พิจิตตรา สิริเวชชะพันธ์’ บอกกับเราก่อนเริ่มพูดคุยอย่างจริงจัง เราสัมผัสได้ถึงความประหม่าของนักแสดงสาวที่อยู่ในวงการบันเทิงมานานกว่าสองทศวรรษ คุ้นชินกับแสงไฟสปอร์ตไลท์ที่สาดส่องเข้ามาหาเธอไม่หยุดหย่อน แต่ความเขินอายก็ยังปรากฎชัดบนใบหน้าเธอ
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอจึงได้รับฉายา ‘นางฟ้าของคนกอง’ แถมยังไม่เคยมีข่าวคราวเสียหายหลุดออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เราจะเห็นแต่ความโก๊ะของเธอที่ได้คู่ชีวิตอย่าง ‘บอย พีชเมกเกอร์’ ถ่ายทอดออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดก็เพิ่งแกล้งเธอโดยการเปลี่ยนชื่อเพจเฟซบุ๊กเป็น ‘เจี๊ยบ พิจิตตรา ของแทร่’ เล่นเอาคนที่พบเห็นหลุดขำออกมาตาม ๆ กัน
เอาเข้าจริงคำว่านางฟ้า ไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ไม่ใช่เพราะหน้าตาที่งดงามจนทำให้เกือบลืมหายใจ หากแต่เป็นบุคลิก ท่าทาง และคำพูดคำจาชวนฟัง ทุกองค์ประกอบที่หล่อหลอมให้เธอเป็นเธอ ยิ่งทำให้เวลาที่เราใช้ร่วมกันกับเธอราวสองชั่วโมง นับว่าเป็นอีกหนึ่งห้วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ เราได้เห็นทั้งความเข้มแข็ง อ่อนแอ และเปราะบาง ทว่ากลับเต็มไปด้วยความเข้าใจโลก โลกที่เธอพยายามใช้ชีวิต โลกที่เธออยากจะเห็นทุกคนมีความสุข แม้จะเป็นโลกใบเดียวกันที่ทำให้ชีวิตของเธอถล่มทลายลงก็ตาม
และนี่คือเรื่องราวของเธอ ‘นางฟ้า’ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับบททดสอบจากสวรรค์จนใจแหลกสลาย
The People : อยากรู้มากเลยว่าคุณในตอนเด็ก ๆ มีบุคลิกแบบนี้มาโดยตลอดหรือเปล่า
พิจิตตรา : คือบุคลิกอย่างแบบนี้หมายถึงแบบพลาด ๆ อะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ คือพี่ไม่ค่อยรู้ตัวเอง แต่รู้แค่ว่าตอนเด็ก ๆ อยู่โรงเรียนราชินีค่ะ เป็นโรงเรียนประจำ ก็จะอยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงเยอะ แล้วก็จะมีแบบเพื่อนจะชอบแซวชอบแกล้งชอบแบบแหย่อะไรอย่างนี้ตั้งแต่แบบเด็ก ๆ แล้ว แต่ไม่ใช่เป็นตัวแบบตัวที่โดนแกล้งนะคะ
แต่หมายถึงว่าเพื่อนจะแบบ สมมติกินข้าวอย่างนี้ค่ะหันไปแบบ อ้าว ไปแล้ว แต่ว่าเป็นความแบบน่ารักวัยเด็กมากกว่าอะไรอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่าเคยย้อนคิด ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ หรือเราเป็นมุมมีมุมที่จะน่าแกล้งแบบนี้หรือเปล่าอะไรอย่างนี้
ซึ่งพี่อยู่ตั้งแต่ ม.1 แต่ว่าด้วยหลาย ๆ อย่างแล้วคือแต่ก่อนยังไม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ เป็นเด็กกาญจนบุรี เวลาอยู่โรงเรียนอะไรก็ตามเนี่ย ที่บ้านก็จะเลือกที่เป็นโรงเรียนประจำ จะได้ไม่ต้องคอยรับส่งไปกลับ
The People : คุณคิดว่าการที่เราเป็นเด็กประจำตั้งแต่เด็กมันหล่อหลอมตัวตนเราในแง่ไหนบ้างไหม
พิจิตตรา : น่าจะค่ะ หลาย ๆ คนบอกว่าน่าจะเป็นเรื่องความเป็นระเบียบ แล้วก็ความมีความรับผิดชอบในส่วนตัวนะคะรู้สึกว่าตัวเองได้ตรงนี้มาจากการที่เราต้องรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เด็ก ตื่นมาทำอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ นะคะเก็บผ้าห่มเอง ทำที่นอนเอง แม้กระทั่งเลือกผ้าบางอย่างก็ต้องซักเอง ณ ตอนนั้น ก็คือต้องทำเองหมด แล้วก็จัดตู้จัดเตียงอะไรอย่างนี้ค่ะ เลยรู้สึกว่าเรามีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนั้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้พอโตขึ้นเนี่ยก็รู้สึกว่าเราทำเองโดยอัตโนมัติหรือเป็นมันเป็นไปเองค่ะว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วประมาณนี้ค่ะ แล้วก็การเป็นเวลาของการตื่นการกินอาหารการอะไรอย่างนี้ค่ะ ใช่
คือพอเริ่มโตขึ้นได้ทำงานค่ะความเป๊ะในเรื่องของมื้ออาหารมันลดลงอยู่แล้วแหละ ทุกอย่างมันต้องขึ้นอยู่กับการทำงาน แต่ว่าตื่นมาแบบจัดที่นอนหรืออะไรอย่างนี้ก็จะเป็นติดมาตั้งแต่เด็ก ๆ
The People : ถ้าเกิดว่าให้ย้อนไปถึงความทรงจำวัยเด็ก ความทรงจำไหนที่คุณรู้สึกว่ามีความสุขมากเลยหากนึกถึงสิ่งนี้
พิจิตตรา : จริง ๆ ถ้าพูดถึงวัยเด็ก สมมติเราโตแล้วเราย้อนกลับไปวัยเด็ก เรารู้สึกว่าทุกความทรงจำมันมีความสุขหมดเลย เพราะว่าตอนเด็กมันไม่ต้องมีอะไรต้องเครียดเลย ภาระไม่ต้องมี ไม่ต้องมีต้องทำงาน ตื่นมาต้องรับผิดชอบอะไรเยอะขนาดนี้ จริง ๆ ถ้าถามถึงความทรงจำมันก็เยอะมากค่ะถ้าวัยเด็ก ถ้าเลือกมาน่าจะเป็นการที่แบบได้ไปเที่ยวกับครอบครัวต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้ค่ะมากกว่า พี่จะเป็นคนที่โฟกัสแบบเวลาอยู่กับครอบครัวตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะว่าเราเป็นเหมือนแบบครอบครัวใหญ่
The People : แต่เราก็ต้องแยกกับครอบครัวตั้งแต่เด็ก เพื่อมาเรียนที่โรงเรียนประจำ สิ่งนี้ทำให้คุณรู้สึกยังไงบ้าง
พิจิตตรา : ตอนแรก ๆ ก็โอเคนะคะ ตอนแรก ๆ แบบโอเคเลย แบบทำได้ แต่พออยู่ไปสักพักนึงเริ่มแบบคิดถึงบ้าน แล้วก็มีเพื่อนบางคนที่อยู่ไปกลับ เราก็จะแบบฝากจดหมายกลับบ้านให้หน่อยอะไรอย่างนี้ พูดถึง พูดแบบเหมือนไม่ได้กลับบ้านเนาะ แต่จริง ๆ แล้วกว่าจดหมายจะไปถึงเราก็ได้กลับบ้านวันศุกร์นึกออกป่ะ ฝากเพื่อนวันอังคาร พอมาถึงวันจันทร์วันอังคารฝาก แล้วก็จดหมายกว่าจะไปถึงที่บ้านก็คือวันศุกร์เราก็กลับพอดีอะไร
ตอนนั้นจำได้ตอนเด็ก ๆ เป็นอะไรที่เพิ่งเริ่มเขียนจดหมายครั้งแรกด้วยค่ะ ก็แค่เหมือนรายงานคุณแม่บอกว่ารายงานว่าเช้าตื่นมาทำอะไร ซักผ้า วันนี้กินอะไรอะไรประมาณนี้ค่ะ เพราะว่าแต่ก่อนไม่มีโทรศัพท์ แล้วก็ไม่สามารถที่จะคุยรายละเอียดต่าง ๆ ได้ ก็คือเหมือนเล่ากิจวัตรประจำวันมากกว่าเขียนไดอารี่แล้วก็ส่งไปให้ที่บ้านว่าสุดท้ายก็เหมือนแบบคิดถึง แต่ว่าแบบอยู่ได้นะ ก็ยังมีความแบบมั่นใจอยู่ว่าแต่อยู่ได้ แต่ก็เหมือนเขียนกิจวัตรประจำวันว่าวันนี้ทำอันนี้ด้วยวันนี้เจออันนี้ประมาณนี้ค่ะ
ก็จะมีความแบบแรก ๆ เหมือนแบบโอเค หลัง ๆ มีความคิดถึงบ้านเยอะ แล้วพอปรับตัวได้ก็เริ่มแบบเข้ากับเพื่อนเริ่มแบบกลับบ้านก็ได้ไม่กลับบ้านก็ได้อะไรอย่างนี้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องมารับทุกอาทิตย์
The People : เคยทำวีรกรรมอะไรแสบ ๆ ไหม
พิจิตตรา : วีรกรรมแสบเหรอ กลุ่มพี่เนิร์ดมากถ้าจะว่าไปแล้ว พอมาย้อนกลับมาดูเพื่อนทุกวันนี้คือคนนี้เป็นหมอฟัน คนนี้เป็นหมอผ่าตัดสมอง คนนี้เป็น คือจะว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนเก่งนะคะ แต่ว่าแบบค่อนข้างเรียบร้อยค่ะ พอย้อนกลับไปแล้ว เออ แก๊งเราก็เรียบร้อยจริง ๆ มันก็มีแต่เพื่อนแบบนี้ก็เลยแบบวีรกรรมไม่แน่ใจ คือแสบสุดก็น่าจะเหมือนแอบกินขนมที่ห้อง แอบกินขนมเวลานอนห้ามพกขนมไปที่หอนอน เราก็พกไปอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าเรียกว่าแสบมั้ย เล่าไปอาจจะแบบดูเฉย ๆ มาก แต่น่าจะเป็นประมาณนั้นถ้าเรื่องแบบโดนอาจารย์จับได้อะไรอย่างนี้ค่ะ
The People : น่ารักมาก ๆ
พิจิตตรา : ดูแบบไม่ต้องเล่าก็ได้ใช่ไหมคะ (หัวเราะ)
The People : ความฝันวัยเด็กของคุณคืออะไร
พิจิตตรา : คือเราเติบโตมากับการครอบครัวคุณพ่อกับคุณแม่ค้าขาย เราก็เลยรู้สึกว่าการค้าขายเราได้เห็นเงินทุกวัน ก็เลยรู้สึกว่า เออ การค้าขายมันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ แต่ว่าคุณยายเจี๊ยบค่ะเป็นคุณครู เรารู้สึกว่าการเป็นครูมันมีเขาเรียกว่าอะไรมันมีคุณค่ามาก เพราะว่าลูกศิษย์คุณยายจะมาหาคุณยายบ่อยมาก แล้วรู้สึกว่ามีความผูกพันมาก ๆ ค่ะ สมมุติว่าครูคนนึงมีลูกศิษย์แบบเป็นร้อยเป็นพันเลย แล้ว ณ ทุกวันนี้ก็ยังมีมาหาอยู่ก่อนที่คุณยายจะเสียค่ะก็ยังมีลูกศิษย์ต่าง ๆ นานามา เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นโลกที่เหวี่ยงมาเจอกันแล้วเป็นความผูกพันที่มันไม่ขาดเหมือนพี่น้อง เป็น อาชีพครูก็เป็นอาชีพนึงที่รู้สึกว่า เออ มันดีแล้วมันก็ได้สอนคนได้
พอโตขึ้นก็รู้สึกว่า เออ ไม่เป็นดีแล้ว ไม่น่าจะได้เพราะว่าการถ่ายทอดสำคัญมากค่ะการเป็นครู แล้วก็การรู้หลาย ๆ อย่างในทุก ๆ มิติก็สำคัญมาก แล้วพอไปเปรียบเทียบสิ่งที่คุณยายเป็นกับสิ่งที่เราเป็นเนี่ยมันก็ค่อนข้างห่างไกลเหมือนกันค่ะ
The People : จำวันแรกที่ตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงได้ไหม ช่วงตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง ทำไมถึงตัดสินใจว่าจะอยู่ในวงการบันเทิงแล้ว
พิจิตตรา : เริ่มจากการที่ตอนนั้นเราไปเรียนพิเศษค่ะ แล้วสมัยก่อนนะคะโมเดลลิ่งก็ตามหานายแบบนางแบบผ่านโรงเรียนพิเศษต่าง ๆ ก็มีคนมายืนรอข้างหน้าว่าแบบสนใจจะไปแคสต์งานนี้ไหม ๆ ตอนแรกเราก็แบบไม่สนแบบไม่สนใจ คุณแม่ก็ลูกไม่น่าจะเอาอะไรอย่างนี้ค่ะ ทีนี้พอเขาบอกในโทรศัพท์ว่าเราได้ค่าตัวเท่านี้ เราก็ โอ้โห ถ้าอย่างนั้นลองเทสดูแล้วกัน ทีนี้พอแคสต์ดูแล้วก็ได้โฆษณาเล็ก ๆ มาตลอดค่ะ แล้วพอวันนึงทางช่อง 7 ค่ะก็เห็นเราผ่านโฆษณา ก็ติดต่อผ่านโมเดลลิ่งให้เรามาแคสต์งาน การตัดสินใจของเรายอมรับว่าเป็นเรื่องเงินเป็นหลักเลย รู้สึกว่า เอ้ย ถ้าเราเริ่มมีเงินตั้งแต่ช่วงอายุเท่านี้ก็ดีนะก็เป็นสิ่งที่มันไม่ได้เสียหายอะไร ก็เลยลองดูค่ะ
The People : ปกติคุณชอบการแสดงอยู่แล้วไหม
พิจิตตรา : ไม่เลยค่ะ เป็นคนแบบ เป็นคนนิ่ง ๆ ค่ะ รู้ตัวเองว่าเป็นคนนิ่ง ๆ แล้วก็เป็นคนที่ถ้าใครเจอครั้งแรกก็จะไม่ค่อยกล้าเข้ามาคุย เขาว่าอะไรไม่รู้ค่ะ เป็นแบบหน้าดุหรือเปล่าหรืออะไรหรือเปล่าไม่แน่ใจ เป็นคนไม่ได้แสดงออกสักเท่าไหร่ค่ะ
คือตัวเจี๊ยบถ้าเป็นในบทละคร เราก็เป็นอีกคนนึงอยู่แล้ว เราไม่สามารถเป็นตัวเราเองได้อยู่แล้วค่ะ แต่ว่าการที่วางตัวในอยู่วงการบันเทิงกับชีวิตจริง คือสำหรับตัวเจี๊ยบ เจี๊ยบไม่แน่ใจ เจี๊ยบก็เป็นของเจี๊ยบแบบนี้ค่ะอยู่แล้ว แล้วก็เป็นคนที่ทำงานเสร็จกลับบ้าน จะไม่ได้แบบไม่ค่อยได้เจอใครนอกเหนือ เพราะว่าถ้าคนที่เคยทำงานกับเจี๊ยบก็จะรู้เลยว่า โอเค เสร็จแล้วก็คือจะไม่ได้ไปต่อ 1-2-3-4-5
เจี๊ยบก็คือทำงานเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าส่วนไหนของชีวิตจะหายไป มันชินกับการทำงานแบบนี้ไปแล้วมั้งคะ มันชินกับการเติบโตในกองถ่าย แล้วก็เสร็จแล้วก็กลับบ้านอะไรประมาณนี้ มันมาถึงช่วงนึงถึงจะแบบหยุดแล้วไปทำธุรกิจมากกว่าค่ะ
อาจจะเป็นแบบมีเพื่อนในวงการน้อยด้วยซ้ำอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้อง keep เพื่อที่จะไม่มีข่าวเสียหายหรืออะไร แต่ว่าเป็นคนเป็นแบบนี้อยู่แล้ว
The People : อยากจะทราบว่าเวลาเลือกรับบทละคร การที่จะเลือกรับบทบาทไหนสักบทบาทหนึ่ง พี่เจี๊ยบเลือกจากอะไร
พิจิตตรา : อย่างถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ หรือว่าเริ่มเข้าวงการ แทบจะไม่ได้เลือกเองค่ะ ต้องยอมรับว่าไม่ได้เลือกเองเพราะว่าเรามีสังกัด มีคนดูแล ซึ่งเขาจะเป็นคนเลือกให้ เจี๊ยบมาเลือกบทบาทเองช่วงหลัง ๆ นี่เองค่ะ ช่วงแรก ๆ ก็คือเหมือนเจี๊ยบว่ามันก็น่าจะเหมือนเด็ก ๆ หลาย ๆ คนที่เข้ามาในวงการก็จะมีช่องดูแล มีสังกัดดูแล เขาก็จะเลือกให้เราค่ะ แล้วพอมาวันนึงเราก็รู้สึกว่ามันเริ่มแบบมันเริ่มอิ่มตัวแล้วสำหรับการที่จะเล่นประมาณนี้ บทแบบนี้ ก็เลยแบบ fade ออกมาด้วยตัวเองสักพักค่ะ
บทส่วนใหญ่ก็คือเรียบร้อย พูดน้อย ยอมคน ซึ่งเล่นแบบนี้มาแบบตั้งแต่เข้าวงการค่ะมาตลอด แบบพูดน้อย โดนว่าร้องไห้ ยอมคน แล้วก็บางทีก็เป็นพี่สาว ตอนเด็กจะเป็นน้อง น้องคนสุดท้อง หรือเป็นเพื่อนหรืออะไรอย่างนี้ค่ะ ที่เจี๊ยบก็เข้าใจผู้จัดว่าเขาก็คงต้องการอะไรที่มันใกล้ตัวเราอะไรอย่างนี้ไม่ห่างไกลมาก ถ้าเป็นนางเอกก็เป็นนางเอกที่แบบเรียบร้อย ไม่สู้คน ไม่ทันคน ไม่เหมือนสมัยนี้ จะไม่ได้สวนมาสวนกลับแบบสมัยนี้ค่ะ
คือต้องบอกว่าจริง ๆ แต่ละเรื่องค่ะ เราไม่สามารถเป็นตัวเองได้อยู่แล้ว ถึงเป็นคนเรียบร้อย ก็เราก็ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อยซะขนาดในละครคือแบบแม่หญิงเป็นอะไรขนาดนั้น ไม่ค่ะ เจี๊ยบอยู่กับเพื่อนเจี๊ยบก็มี feel แบบกับเพื่อนเฮฮา แต่ว่าในละครคือบางคนก็คือเรียบร้อยแบบมองโลกในแง่บวกดีมาก ซึ่งตรงนั้นก็ไม่ใช่เราอยู่แล้ว แต่ถามว่าการสูญเสียความเป็นตัวเองมันไม่น่าจะอยู่ในบทละครน่ะค่ะ สมมุติถ้าจะคิดนะคะ อาจจะคิดในเวลาที่อยู่ข้างนอกมากกว่า เวลาละครออนแอร์แล้วคนเจอเรา แล้วเรา มาถ่ายรูปกับเราหรือว่าอะไรต่าง ๆ แต่เจี๊ยบไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการสูญเสียความเป็นส่วนตัวเลย เจี๊ยบรู้สึกว่ามันดีซะอีกแสดงว่าเขาดูผลงานเรา แล้วก็การแบ่งเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนดูละครหรือคนที่ติดตามเรามันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราที่เราจะได้แบบทำให้ความรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลตัวเขามากสำหรับนักแสดงในวงการมากกว่าค่ะ
The People : วินาทีที่ตัดสินใจว่านอกจากงานในวงการบันเทิง จะเปลี่ยนอีกบทบาทหนึ่งเป็นนักธุรกิจเกิดจากอะไร
พิจิตตรา : ก็ช่วงนั้น ช่วงแรก ๆ อยู่ในวงการเราก็รู้สึกแล้วว่าเราอาจจะไม่ได้เหมาะกับตรงนี้ 100% ด้วยหลาย ๆ อย่างคือด้วยการทำงานที่อยู่ในวงการมันค่อนข้างเหนื่อยค่ะ ตื่นตี 5 เลิกกอง 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม หรือบางทีก็เลิกกองตี 2 แล้วก็มา standby 6 โมงคือมันเป็นอะไรที่แบบเป็นวิถีที่จริง ๆ แล้วการพักผ่อนของร่างกายมันก็ไม่พออยู่แล้ว แล้วเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันมีอายุ เราเองเราก็คงไม่ได้อยู่แบบไปตลอด แล้วความใฝ่ฝันของเราคือจริง ๆ เราชอบค้าขาย เราชอบมีธุรกิจ แล้วพอได้คุยกับคุณบอย (อนุวัฒน์ สงวนศักดิ์ภักดี) ได้คบกัน แล้วได้แบบระยะยาวได้คุยกันอยู่แล้วเรื่องพวกนี้ค่ะ ก็เลยเริ่มเลยแล้วกัน เพราะว่าถ้ามัวแต่พูดไม่ได้ทำมันก็คือไม่ได้เริ่มสักทีก็เอาเลยแล้วกัน มันจะไปเจออะไรก็เดี๋ยวค่อยไปดูกันอีกทีนึงค่ะ
จริง ๆ ดูกันไว้นานแล้วค่ะว่าจะเลือกเป็นอะไรก็หลายปีเหมือนกันค่ะ จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเราทำตัวนี้ตัวเดียวแล้วมันรอด ไม่ใช่ว่าทำร้านชาบูนี้แล้วมันเป็นสิ่งแรกที่เราทำนะคะ ก่อนหน้านี้เจี๊ยบก็ทำนู่นทำนี่ทำนี่ทำนั่น ซึ่งมันก็ล้ม ๆ ลุก ๆ อะไรมาตลอด แต่ว่าพอดีว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่พอไปได้ตอนแรก แล้วก็เรารู้สึกว่าเราทุ่มเทแบบเต็มที่ เราอยากให้มันโตขึ้นจริง ๆ เราได้เจอแล้วว่า เออ สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราจะเลี้ยงเขาจน เราอยากเห็นการเติบโตของธุรกิจที่เราสร้างมากกว่าค่ะ
The People : สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจกับคนรักคืออะไร
พิจิตตรา : น่าจะเป็นเรื่องของการใช้ความเขาเรียกหลายคนบอกว่าเวลาเป็นแฟนกันอย่าทำธุรกิจกันจะทะเลาะกันอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ของเจี๊ยบกับคุณบอยถามว่ามีมุมมองที่ทะเลาะกันไหม มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าอันนั้นมันจะเกิดจากการที่เราไม่ชัดเจนเรื่องหน้าที่มากกว่า แต่ถามว่าช่วยกันคิดไหม ช่วยกันคิด แล้วก็เราได้แชร์ประสบการณ์มุมมองของเขาที่เขามี ซึ่งเราก็เพิ่งรู้เลยว่าเขาแบบเก่งเรื่องการออกแบบมาก เรื่อง คือเขาเป๊ะมากค่ะสมมุติว่าอยู่ในห้องนี้เขาสามารถบอกได้เลยว่าห้องนี้มันกว้างเท่าไหร่ ใช้กระเบื้องเท่าไหร่… ซึ่งเจี๊ยบไม่รู้เลย แล้วกลายเป็นว่าพอเวลามีการสร้างร้านหรือทำอะไรขึ้นมาค่ะ เขาจะเป็นคนดูแลตรงนี้ทั้งหมด เราก็ได้เห็นอีกมุมมองของเขาอีกในแง่หนึ่งของเขา แล้วก็เขาเองเขาก็ได้แลกเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างกับเรามันก็เลยแบบไปด้วยกันได้ค่ะ
The People : คำว่าชีวิตคู่กับคู่ชีวิต คุณมีความเห็นต่อ 2 คำนี้อย่างไร
พิจิตตรา : เจี๊ยบว่ามันควบคู่กันได้นะคะสำหรับเจี๊ยบ หลาย ๆ คนถามว่านิยาม ถาม โดนถามมาตลอดว่านิยามยังไง คือเจี๊ยบก็มองว่าคำว่าเพื่อนมันก็มันสำคัญสำหรับการมีชีวิตคู่มาก ๆ เพราะว่าเราจะอยู่กับเขาในฐานะที่เราเป็นแฟนเป็นคู่รักตลอดไม่ได้ เราจะถือธงอันนี้ตลอดเวลาไม่ได้ 24 ชั่วโมงไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางเวลาเราต้องเป็นเพื่อนให้เขาด้วยที่เขาจะสามารถระบายได้ เป็น Safe Zone ให้เขาได้ บางเวลาเราโอเคเป็นแฟนเป็นคู่รักได้ เราสามารถวางแผนชีวิต บางอย่างเรานำหน้า บางอย่างเขานำหน้า แต่ว่าถ้าถามเจี๊ยบเนี่ยมันเป็นเรื่องของการแชร์มากกว่า แชร์ความรู้สึกมันไม่ใช่แชร์เรื่องแบบอื่น ๆ แชร์ความรู้สึก แชร์โมเมนต์ต่าง ๆ ด้วยกัน แล้วก็แชร์ประสบการณ์ด้วยกัน เพราะว่าเหมือนเจี๊ยบกับคุณบอยคือมันเริ่มมาจากเพื่อนด้วยค่ะ แล้วก็หลาย ๆ อย่างเราได้คุยกันเกือบทุกเรื่อง ก็เลย มันก็เลยเหมือนแบบเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแฟนในเวลาเดียวกันค่ะ
The People : วินาทีไหนที่คุณรู้แล้วว่าคุณบอย พีชเมกเกอร์จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตด้วยกันจนนาทีสุดท้าย
พิจิตตรา : ช่วงแรก ๆ ก็ยังก็เหมือนเป็นผู้หญิงทั่วไปค่ะก็ยังดู ๆ กันอยู่ ดูกันเรื่อย ๆ แล้วด้วยความที่ตอนแรกที่บ้านก็จะไม่ค่อยโอเคกับการที่เราคบคนในวงการ เพราะว่าสมัยก่อนนะคะมันก็การนำเสนอก็จะมีคนนั้นเจ้าชู้คนนี้เจ้าชู้คนนี้อะไรอย่างนี้ค่ะ เขาก็คงกลัวว่าแบบเดี๋ยวเราจะตามไม่ทันหรืออะไรประมาณนี้ แต่ว่าคุณบอยต้องบอก ต้องบอกว่าคุณบอยเขาค่อนข้างรอแล้วก็เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น คุยโทรศัพท์อย่างเดียวนะ ยังไม่เจอนะ ยังไม่ไปกินข้าวกันนะ ยังอะไรอย่างนี้ คือเขาก็เข้าใจในส่วนของที่บ้านเรา แล้วเราก็รู้สึกว่าพอเราได้เจอเขา ให้เขาได้เจอกับที่บ้านเรา เขาก็เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายจนถึงทุกวันนี้ค่ะ ใช่ มันก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนแบบความคิดช่วง 3 ปี 4 ปีที่คบกัน ก็เลยรู้สึกว่าเขาไม่เปลี่ยนเลย แล้วเขาก็ดูแลครอบครัวเขา แล้วก็ดูแลเราดีมาตลอดค่ะ
The People : สิ่งสำคัญที่สุดที่จะประคองชีวิตคู่ด้วยกันคืออะไร
พิจิตตรา : เจี๊ยบว่าความเข้าใจค่ะ ไม่เคยคิดว่าทุกวันนี้อยู่ด้วยกันด้วยการประคอง ก็อยู่ด้วยกันเพราะว่าเราเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วก็การให้เกียรติในสิ่งที่เขาทำและที่เราทำก็สำคัญ แล้วก็อย่างที่บอกก็คือการแชร์ เข้าบ้านไปจะไม่ถาโถมเรื่องของตัวเองในวันนี้ที่หนักไปให้เขา เขาเองก็ไม่ได้แบบเล่าแบบว่าเจออะไรมาบ้างอะไรให้เราฟัง คือเป็นการแชร์กันวันนี้เจออันนี้เนาะแก้ไขยังไงดี เขาก็จะเล่าในส่วนของเขาว่าจะแก้ไขยังไงได้บ้างอะไรประมาณนี้ค่ะ แล้วก็เวลาทุกข์ก็แชร์กัน เวลาสุขก็แชร์กันมากกว่า ก็จะเน้นในเรื่องของการแชร์แล้วก็ความเข้าใจค่ะ
The People : มีเรื่องไหนที่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาแล้วเราหาทางออกร่วมกันไม่ได้บ้างไหม
พิจิตตรา : หาทางออกร่วมกันไม่ได้ คือจะว่าไปแล้วเจี๊ยบเชื่อว่าเวลาคุยกันน่ะค่ะ มันจะมีจุดที่หาทางออกได้ ไม่เคยรู้สึกว่าการคุยหรือว่าการปรึกษากันไม่มีทางออกทุกเรื่องเลยไม่ว่าจะใหญ่จะเล็ก เพียงแต่ว่าทุกครั้งก็จะคุย สมมุติว่าเรามีเกิดการผิดพลาดเราก็จะบอกกับตัวเองว่าเราต้องให้โอกาสตัวเองได้ล้มบ้าง เพื่อที่จะแบบ 1-2-3-4-5 ต่อ แต่ถ้าเกิดเรา โห ดันทุรังแบบสู้ต่อโดยที่เราไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้างมันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คุยกันก็จะเป็นมุมมองว่า เอ้ย ไม่เป็นไร อันนี้แบบยอมไปก่อน อันนี้อดทนไปก่อน อันนี้ เอ้ย อันนี้มาถูกทางแล้วอันนี้อะไรอย่างนี้ค่ะ เจี๊ยบเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็จะต้องมีเส้นทางในชีวิตมันก็ประมาณนี้ค่ะ
The People : มีช่วงเวลาไหนบ้างไหมที่นึกย้อนอยากกลับไปแก้ไขเรื่องราวอะไรบางอย่างที่คุณรู้สึกเสียใจกับมัน อยากจะแก้มันให้ดีขึ้น
พิจิตตรา : ถ้าเป็นเรื่องของการทำงานมันก็มีหลายอย่างเหมือนกันที่เรารู้สึกเรายังทำดีไม่พอ ถ้ากลับไปได้เราก็อยากทำแบบให้มันดีกว่านี้อีกอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เรารู้สึกว่า เออ เรายังดูแลคุณพ่อยังไม่ดีเลย ยังไม่ดีแบบยังไม่- ตอนนั้นเรายังไม่พร้อมที่จะดูแลคุณพ่อได้เต็มที่ ท่านก็ไม่- ไปซะแล้ว แบบท่านก็เสียซะแล้วอะไรอย่างนี้ค่ะ มันเหมือนกับว่าเจี๊ยบว่าทุกคนเป็นเมื่อจะมีคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเสีย เราจะรู้สึกว่า เออ เราน่าจะทำอันนั้นได้ดีกว่านี้ อันนี้ได้ดีกว่านี้ ก็มันมีหลายจุดของชีวิตเหมือนกันค่ะ แต่ถ้ามองไปข้างหน้าเรารู้สึกว่า เอ้ย เราก็ทำดีที่สุดแล้วในทุก ๆ วันที่เราทำ เพราะเจี๊ยบเชื่อว่าเป็นคนที่ค่อนข้างที่คิดละเอียดพอสมควรในการที่จะทำอะไร หรือว่าในการที่ตัดสินใจอะไร เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าถามว่าย้อนกลับไปอยากแก้ไขอะไรมันเยอะมาก แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำไปแล้วเนี่ยมันเราให้กี่เปอร์เซ็นต์สำหรับเรา เราเชื่อว่าเราเกิน 90 ทุกเรื่องแล้วค่ะ
The People : เพราะฉะนั้นก็เหมือนไม่ได้มีตราบาปอะไรฝังอยู่กับเรา
พิจิตตรา : ใช่ คืออย่างที่บอกค่ะหลาย ๆ อย่างมันผิดพลาดแหละ แต่เราต้องให้ตัวเองได้เรียนรู้การแบบแพ้บ้าง แล้วเราค่อยมาชนะวันอื่นก็ได้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องชนะไปทุกเรื่อง มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าการที่เราแพ้การที่เราล้มมันทำให้เราได้เรียนรู้ต่อไปว่าชีวิตต้องเป็นยังไงมากกว่าค่ะ ใช่
The People : มีเหตุการณ์ไหนไหมที่คุณสัมผัสกับความพ่ายแพ้ครั้งแรกในชีวิต
พิจิตตรา : พ่ายแพ้ใช่ไหมคะไม่ใช่เสียใจ น่าจะเป็นเรื่องที่ตอนนั้นร้านไฟไหม้มากกว่า ตอนนั้นคือมันไม่ได้เป็นความพ่ายแพ้ มันเป็นความรู้สึกว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้น ชีวิตแบบถล่มทลายแล้วเหรออะไรอย่างนี้ คือมันเป็นการ เป็นอีกก้าวนึงของชีวิตที่เหมือนการเริ่มต้นใหม่เหมือนกันค่ะ ถ้าย้อนกลับไปถ้าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่มีคุณพ่อเสียคุณยายเสีย เรื่องธุรกิจอันนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกแบบเขาเรียกว่าดาวน์สุดเหมือนกัน อันนั้นก็ถือว่าแบบค่อนข้างหนักอยู่ค่ะ ใช่
The People : ก้าวข้ามมาได้อย่างไร
พิจิตตรา : ตอนแรกคิดว่าจะเป็นเยอะมาก ถามว่าเป็นเยอะไหม ก็หนักหนากันอยู่ แต่จับมือแล้วก็ตั้งสติมาก แล้วก็อย่างที่บอกไปค่ะว่าพอรู้แล้วว่าตัวเองเนี่ยเรียนรู้ที่จะล้มแล้ว บทเรียนการล้มเนี่ยมีแล้ว ทีนี้เราอยากได้สัมผัสถึงบทเรียนที่เอาชนะมันให้ได้ มันเลยเป็นแบบความฮึดโดยที่เจี๊ยบกับคุณบอยก็คุยกันเหมือนกันว่าแบบก็ไม่รู้เอาแรงมาจากไหน แต่ตอนนั้นคือแบบทุกวินาทีแบบมีค่ามากค่ะในการที่จะแบบ fight ในการที่จะมีร้านต่อหาเงินมาต่าง ๆ นานา ใช่ค่ะ
The People : เหมือนกับโลกถล่มลงตรงหน้าเลยไหม
พิจิตตรา : ใช่ ก็คือถล่มเลยค่ะ แบบก็ถ้าถามย้อนไปก็คือเป็นสิ่งที่หนักที่สุดอยู่ดี มันก็หลายครั้งที่จะบอกกับรายการว่าหลายรายการบอกว่าขอไม่พูดนะคะเรื่องนี้ แต่สุดท้ายถ้ามีคำถามเกี่ยวกับอะไรที่มันหนักที่สุดในชีวิต ก็คงจะเป็นเรื่องนี้ค่ะ แต่ถ้าถามว่าอะไรที่มันแฮปปี้ที่สุดในชีวิตก็คือเรื่องนี้เหมือนกันที่แบบผ่านมาได้ แล้วเราก็จากที่มันติดลบ 50 เราก็ทำให้มันบวกขึ้นมาได้ด้วยแบบ 2 คน มันก็เลยแบบ เออ มันก็ต้องเล่าแหละ มันก็ไม่มีเรื่องอื่นที่จะทำให้เราได้ลบขนาดนั้นค่ะ
The People : มาถึงวิมานสีทอง ทำไมคุณถึงตัดสินใจรับบททาทอง ซึ่งเป็นตัวละครที่ค่อนข้างต่างจากคุณอย่างสิ้นเชิง
พิจิตตรา : ถ้าพูดกันตรง ๆ เลยคือตอนแรกทางช่อง one ติดต่อมาที่ผู้จัดการ เราก็ยังไม่รู้ว่ามันเป็นละครแนวไหน คือรู้ว่ามันเป็นละครแบบ 3 พี่น้อง เราด้วยตัวเองเราก็แบบยังไม่ได้รู้เรื่องบทมาก ก็คือแค่เขาติดต่อมาเราก็ดีใจแล้วว่า เออ นึกถึงเรา เพราะว่า เออ ก็อยากร่วมงานละครยาวกับที่นี่ พอรู้ทีหลังว่าแบบมันเป็นบทที่ดราม่ามาก ทาทองก็คือไกลตัวจากเรามาก ๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ แต่เราก็อยากทำให้เต็มที่ให้สมกับที่เขาตั้งใจที่จะให้มอบหมายหน้าที่นี้ให้กับเรา ก็ต้องบอกว่าทาทองเป็นอะไรที่ท้าทายในชีวิตมากค่ะ ตั้งแต่ก้าวเดิน ตั้งแต่การพูด ตั้งแต่ท่าทางสายตา ก็คือไม่ต้องเป็นเจี๊ยบแล้วล่ะ ก็ต้องเป็นแบบทาทองให้ได้ค่ะ
The People : อย่างทาทองเป็นพี่คนโต คุณก็เป็นพี่คนโต มันมีความเชื่อมโยงอะไรไหม
พิจิตตรา : ก็ได้แค่เป็นพี่นั่นแหละ เพราะอยู่บ้านก็จะเป็นอีกแบบนึงมากค่ะ ทาทองคือเขามีความมั่นใจตัวเองสูง เพราะว่าเขาเป็นคนที่ถ้าพูดตรง ๆ คือเสียสละที่สุดที่จะแบกรับทุกอย่างไว้ตั้งแต่คุณพ่อเสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ เรื่องดูแลคนในบ้าน เขาไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าเขาชอบอะไร เพราะว่าสิ่งที่เขาทำทุกวันคือสิ่งที่เขาต้องทำ การดูแลธุรกิจต่าง ๆ การดูแลน้อง การดูแลทุกคนในบ้านให้แบบอยู่ดีมีสุขอะไรประมาณนี้ แล้วก็ตอนแรก ๆ ที่เล่นน่ะค่ะ เจี๊ยบก็รู้สึกเหมือนกันว่าเจี๊ยบไม่ชอบทาทองเลย แบบรู้สึกรำคาญที่เขาเป็นแบบนี้ ไม่เข้าใจเท่าไหร่ ช่วง 10 คิวแรกค่ะ เจี๊ยบก็จะคุยกับผู้กำกับตลอดว่าไม่มีเหตุผลเลยสำหรับคนนี้ แบบทำไมเขาต้องเป็นคนที่มีบุคลิกแบบนี้ด้วยอะไรอย่างนี้ค่ะ
แต่พอถ่ายไปเรื่อย ๆ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราสงสารเขา แล้วเราก็รู้สึกว่าเราแบบจะเป็นเขาให้ดีที่สุด เพราะว่าจริง ๆ แล้วตัวทาทองแบบอย่างที่บอกคือด้วยความที่เขาเป็นคนที่เสียสละที่สุดในการดูแลครอบครัว ในการที่ทำทุกอย่างให้ทุกคนมีความสุข เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาชอบอะไร มีสิทธิ์ที่จะมี ทั้ง ๆ ที่เขามีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นแต่ว่าก็ไม่มี น้อง ๆ ยังมีงานอดิเรก คนเล็กได้ทำอาหาร คนกลางได้ไปเดินเขา แต่ของเขาไม่มี เพราะฉะนั้นวันนึงเมื่อเขาเจอพระเอกเขาก็เลยแบบมันคือสิ่งเดียวที่เขาชอบในชีวิต และรู้ตัวว่าชอบ มันก็เลยเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นค่ะ แล้วก็เลยพอเล่นไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกสงสารแล้วก็เข้าใจทาทองมากขึ้นว่าคนในชีวิตจริง ๆ บนโลกนี้มีคนบุคลิกแบบนี้เยอะมาก แล้วก็มีคนที่เป็นแบบนี้เยอะมากค่ะ ใช่
The People : ในฐานะที่คุณเป็นพี่สาวคนโต มีเหตุการณ์ไหนที่เรารู้สึกว่าเราต้องเสียสละ เพราะความเป็นพี่คนโตของหลาย ๆ บ้านมันก็จะต้องแบกรับทุกอย่างมากกว่าน้อง ๆ ตัวคุณเป็นอย่างนั้นด้วยไหม
พิจิตตรา : คือเจี๊ยบอาจจะโชคดีที่ในครอบครัว ถามว่าเป็นพี่ที่เสียสละไหมเจี๊ยบเชื่อว่าทุกคนมันมีความเสียสละในตัวเองอยู่แล้ว อย่างเจี๊ยบบางอย่างอาจจะเป็นเรื่อง detail เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการแบบช่วยเหลือในครอบครัวมากกว่า แต่โชคดีอย่างที่บอกก็คือบ้านเจี๊ยบจะเป็นลักษณะที่แชร์ความรู้สึกกันตั้งแต่เล็กค่ะ จะไม่ คือน้อง ๆ เจี๊ยบเองก็จะไม่ยอมให้พี่สาวแบกรับทุกอย่างคนเดียว คือมันเป็นครอบครัวที่แบบเดี๋ยวช่วยกัน ๆๆ เราจะไม่ได้แบบมีอมทุกข์คนเดียวอะไรอย่างนี้ ไม่เคย จะ ก็เลยจะไม่เหมือนทาทองเลยค่ะ บางความรู้สึกเราก็เลยยังแบบเหมือนไม่ค่อยเข้าใจทาทองเท่าไหร่ แต่ว่าพออย่างที่บอกถ่ายไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเข้าใจ และเริ่มเป็นทาทองให้แบบเยอะที่สุดค่ะ
เชื่อไหมว่าแบบไม่ค่อยทะเลาะกันเลยค่ะ โชคดีมากที่ตั้งแต่เด็ก ๆ กับน้อง ๆ ก็น้อยมาก หรือเขาโกรธเจี๊ยบ เจี๊ยบไม่รู้ก็ไม่รู้นะ คือแต่ว่าเป็นครอบครัวที่แบบไม่ค่อยทะเลาะ ทะเลาะกันน้อย ทะเลาะกันเรื่องแบบเล็กน้อยมากค่ะ เรื่องแบบไร้สาระมาก แต่ว่าเรื่องใหญ่ ๆ ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เครียด หรือว่าอะไรทะเลาะกันเหมือนแบบเวลาดูละครหรือเหมือนบ้านอื่นน่ะไม่ค่อยเลยค่ะ จะเป็นบ้านที่ลักษณะที่แบบเราก็ไม่ยอมให้น้องเจ็บ เราก็จะแชร์ น้องก็ไม่ยอมให้เราแบบเสียใจ หรือมีปัญหาเขาก็จะช่วยมากกว่าค่ะ อาจจะโชคดีตรงนี้ ก็เลยแบบบางทีพอรับบทเป็นทาทองแล้วก็รู้สึก โอ มันหนักหนามาก มันเหนื่อยมากค่ะ
The People : ผลตอบรับที่ได้จากแฟน ๆ เป็นยังไงบ้าง
พิจิตตรา : ก็มีคนก็ตกใจเยอะนะคะ คนที่บ้านก็งงเยอะเหมือนกันว่าแบบ อ้าว เธอพูดเร็วหนิ เธอทำอะไรเร็วได้ แล้วก็ถ้าเป็นแฟน ๆ ก็วันที่ไปดูที่โรงค่ะ ก็จะมีในโรงให้ดูรอบ EP แรก ทุกคนก็จะแบบ โอ้โห มันเป็นอีกคาแรคเตอร์นึงเลย สมมุติถ้าจะดูพี่เจี๊ยบแบบนี้ต้องมาดูละครเรื่องนี้อะไรประมาณนี้ค่ะ ส่วนใหญ่คนก็จะคาดไม่ถึง มันเป็นเหตุการณ์แบบคาดไม่ถึงมากกว่าค่ะ
The People : คุณเคยมีประสบการณ์เข้าใกล้ความตายบ้างไหม
พิจิตตรา : เคยรู้สึก แต่ว่าไม่ได้คิดว่าจะใช่ไหม คือตอนนั้นปวดท้อง แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คุณบอยก็พาไปหาคุณหมอ คุณหมอตอนกลางคืนเขาเรียกว่าอะไรคุณหมอเวรก็บอกไม่เป็นไรจุกเสียดธรรมดา ก็ฉีดยาแล้วกลับบ้าน แต่ว่ากลับบ้านมาก็คือไม่หาย ยังไงก็ไม่หาย เราก็ปวดท้องแล้วรู้สึกกับคุณบอยว่า เฮ้ย ทำไมท้องแบบคุณใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แบบมันใหญ่ขึ้นมาแบบแปลกมากแล้วก็แข็งมาก คุณบอยก็เลยมือเย็นมากช้อนขึ้นรถแล้วก็ไปโรงพยาบาลอีกรอบในตอนเช้า คุณหมอตอนเช้าก็บอกว่าตอนนี้เลือดเต็มท้องแล้วนะ ก็คือช็อกโกแลตซีสต์แตก แล้วก็มีน้ำใน มีเลือดในท้องกี่ซีซีเจี๊ยบไม่แน่ใจ คือตอนนั้นเรารู้ได้ยินแค่นั้นน่ะค่ะ
แล้วคือเขาก็คงวางยาสลบเราไปเลย แต่ในระหว่างที่แบบวางยาสลบเจี๊ยบแค่รู้สึกว่าเราไม่แน่ใจว่าเรารอดไหม เราแบบจะได้ตื่นมาไหม อันนั้นก็คือเป็นเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่ามันใกล้มาก เพราะตอนนั้นก่อนที่จะเหมือนเป็นลมหรือวางยาสลบไม่แน่ใจ คือมันเหมือนเลือดมันออกไปเยอะมากจนเราไม่มีแรง เราได้ยินแค่ว่าคุณหมอบอกว่ามันไม่ทันแล้ว … ได้ยินอะไรแบบเหมือนในหนังเลยค่ะ เราก็สลบไปเลย แล้วก็ตื่นมาก็คือผ่าเรียบร้อยแล้ว แล้วคุณหมอก็บอกว่ายังโชคดีที่แบบมาทันนะ ยังต้องสังแบบ ต้องสังเกตตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้นค่ะ
The People : ช่วงนั้นอายุเท่าไหร่
พิจิตตรา : ช่วงนั้นเข้าวงการแล้วค่ะเข้าวงการแล้ว ถ่ายละครเรื่องสามีตีตราอยู่ค่ะ น่าจะเป็นช่วงไม่ไกลจากช่วงนี้มากน่าจะ 10 ปีประมาณนี้ค่ะ
The People : คุณหมอบอกไหมว่าเกิดจากอะไร
พิจิตตรา : คือผู้หญิงเป็นช็อกโกแลตซีสต์กันเยอะมากค่ะ แต่เจี๊ยบตรวจสุขภาพแต่ไม่เคยตรวจช่องท้องเลย ก็คือเราคิดว่าเราปกติ ร่างกายแข็งแรงปกติ แต่จริง ๆ แล้วคือช็อกโกแลตชีสต์คือมันสะสมในร่างกายแบบนานแล้วจนแบบใหญ่ ใหญ่แล้ววันนึงเขาก็แตกของเขาเองค่ะมันเป็นช่วงระยะเวลา แต่ว่าผู้หญิงหลายคนเป็นโรคนี้ค่ะ
The People : พอคุณผ่าตัดเสร็จอะไรเรียบร้อย คุณบอยเขาเป็นยังไงบ้าง
พิจิตตรา : เขาก็ใจไม่ดี เขาก็แบบ เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เร็วมาก แล้วเขาก็ไม่รู้มาก่อนว่ามันมีอาการแบบนี้ ต้องสังเกตแบบนี้ คือเขาก็งงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็เขาก็ถ้าพูดที่เราคุยกันก็คือขอบคุณพระเจ้าที่แบบทำให้มันผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ ทุกวินาทีคือมันเฉียดมาก แต่ว่าพอมาถึงมือคุณหมอแล้วก็คือทันค่ะ
หลังจากนั้นปีนึงเป็นอีกข้างนึงค่ะ แต่เรารู้ตัว เราตรวจ ก็คือเป็นทั้งซ้ายทั้งขวาค่ะช็อกโกแลตซีสต์ก็คือคุณหมอบอกว่าถ้าจะหายได้ต้องมีลูกถึงจะหายแบบถึงจะดีขึ้นค่ะ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่พร้อมที่จะมี ก็คือกลายเป็นว่ารู้เรื่องนี้ดีเลย สมมติมีใครมาถามเรื่องโรคช็อกโกแลตซีสต์ก็คือรู้ค่ะ
The People : ตอนนี้วางแผนจะมีลูกแล้วหรือเปล่า
พิจิตตรา : ตอนนี้จริง ๆ แล้วด้วยอายุด้วยค่ะ คิดว่าถ้าผ่านปีนี้ไปหรือปีหน้า ถ้าไม่ได้มาโดยธรรมชาติก็ไม่มีค่ะ ก็อยู่กันตายายแบบนี้ก็ดีค่ะ
The People : ถ้าเกิดว่าคุณจะเขียนบันทึกหรือเขียนไดอารี่ถึงตัวเอง ก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไปคุณอยากจะเขียนอะไร
พิจิตตรา : ถ้าเป็นเจี๊ยบ เจี๊ยบก็คงน่าจะเป็นมุมสิ่งที่ตัวเองเจอมามากกว่าว่าจริง ๆ โลกนี้มัน คือสำหรับเจี๊ยบค่ะ เจี๊ยบไม่เคยมองว่าโลกมันโหดร้าย หรือมันแย่ หรือมันอะไรอย่างนี้ เพียงแต่ว่าอย่างที่บอกก็คือเราต้องรู้จักตัวเอง แล้วก็รู้จักให้อภัยตัวเอง ให้ตัวเองได้เติบโตตามช่วงเวลา ตามช่วงอายุ หรือว่าตามสถานการณ์ต่าง ๆ เจี๊ยบเชื่อว่าทุกคนมีดอกไม้ในตัวเองที่มันถึงเวลามันผลิบานเองไม่ต้องไปเร่งปุ๋ยเร่งอะไรมัน ถึงเวลามันจะเติบโตของมันเอง ถ้าเป็นเจี๊ยบ เจี๊ยบก็คงจะเขียนประมาณนั้นว่าการคาดหวังในชีวิตมันไม่ผิด แต่ว่าสุดท้ายแล้วให้ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติชีวิตก็จะสวยงามจริง ๆ เมื่อวันที่มันเหมาะสมกับเราค่ะ น่าจะเป็นประมาณนั้นมากกว่าค่ะ
The People : ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันเป็นจุดที่ตัวเองคิดไหมว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม
พิจิตตรา : ไม่เคยว่าไม่ เจี๊ยบไม่เคยมีขีดให้ตัวเองค่ะว่าแบบนี้เรียกว่าสมบูรณ์หรือเปล่า แต่เจี๊ยบแค่รู้สึกว่าเราทำทุกวันให้มีความสุข เราทำให้คนรอบข้างเรามีความสุข ตัวเราเองมีความสุขมากกว่า อันนี้คือความสุขที่แท้จริงของเจี๊ยบ เจี๊ยบไม่เคยรู้สึกว่าเจี๊ยบจะต้องมีเงินร้อยล้าน หรือว่าจะต้องมีธุรกิจแบบต้องมีร้านอาหาร 10 สาขาหรืออะไรยัง ไม่เลยค่ะ หลายคนถามว่าทำไมเปิดสาขาน้อยมาก ทำไมมันไม่อย่างนั้นอย่างนี้แบบสิ่งคำพูดพวกนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่าบางคนอาจจะมองแค่ภายนอกว่าแบบการมี 20 สาขามันคือหน้าตา การมีแบบสาขาเยอะ ๆ มันคือแบบการประสบความสำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วสำหรับเจี๊ยบ เจี๊ยบรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขมากกว่าคือการที่เราประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต บางทีมีร้านอาหารร้านเดียวก็มีความสุขได้ ก็คือประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นเนี่ยเจี๊ยบก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขมันคือสิ่งที่เราประสบความสำเร็จมากกว่าค่ะ
ต้องบอกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่ะก็คิดแบบนึง แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 เนี่ยก็คิดอีกแบบนึง คือแต่ก่อนอาจจะแบบรู้สึกว่าการที่เรามีกินมีใช้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนในบ้านมันก็มีความสุขแล้ว แต่พอ ณ เวลาที่เราเคยไม่มีช่วงที่ไฟไหม้ หรือช่วงที่เราติดลบเนี่ย การที่เราได้มีโอกาสในชีวิตมันคือสิ่งสำคัญ เจี๊ยบเชื่อว่าคำว่าโอกาสมันเชื่อมโยงกับทุก ๆ สถานการณ์ในชีวิตของเราและคนอื่นเลย ก็เลยรู้สึกว่าโลกมันไม่ได้โหดร้ายหรอก แต่ว่าแต่ละคนมันจะมีโอกาสในชีวิตเหมือนกันไหมมากกว่า
ถ้าใครก็ตามได้มีโอกาสในชีวิตแม้กระทั่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเนี่ย เจี๊ยบว่าโลกทุกคนมันก็จะในความคิดมันก็น่าจะสวยงามขึ้นมาอีกได้ค่ะ ณ ตอนนั้นก็เลยพอแบบมีโอกาสได้ทำรถกับข้าว ก็เลยได้ทำแบบได้เห็นชีวิตคนอื่น ๆ อีก แล้วเราก็รู้สึกได้เลยว่าอีกด้านหนึ่งของชีวิตคนอื่นมันแย่กว่าเราก็เยอะ เพราะฉะนั้นน่ะอย่าไปคิดว่าแบบโลกไม่สวยงาม มันมีความคาดหวังในโลกแบบนี้ ๆ เจี๊ยบว่าอยู่แบบด้วยตัวเองที่มีความสุข ถ้ามีเหลือพอก็เผื่อแผ่ให้คนอื่น ให้คนอื่นได้รับโอกาสต่อจากเราบ้าง มันคือความสุขที่เราจะสร้างโลกให้มีความสุขได้มากกว่าค่ะ ประมาณนั้น
The People : ความสุขในทุกวันนี้ของคุณคืออะไร
พิจิตตรา : ความสุขทุกวันนี้คือการได้ทำงาน การได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสุข การที่ได้ดูแลธุรกิจ คือไม่ได้คิดว่าแบบความสุขจะใหญ่ ความสุขของเจี๊ยบคือเล็กมาก แต่ว่าแบบมันมีมิติที่มีความสุขที่อยู่รอบตัวเราค่ะ ได้เจอคนที่แบบอยู่กับเราแล้วมีความสุข ทำงานแล้วมีความสุขมากกว่าค่ะ
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย