โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

‘โดม สุขวงศ์’ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม เริ่มจากความชอบก่อกำเนิดจนกลายมาเป็น 'หอภาพยนตร์แห่งชาติ' ได้สำเร็จเมื่อปี 1984

ข้อมูลสมัยใหม่ยุคนี้ถูกเก็บอยู่ในคลาวด์ ถอยหลังกลับไปหน่อยถูกเก็บอยู่ในฮาร์ดไดรฟ์ ย้อนไปอีกอาจถูกเก็บอยู่ในลิ้นชัก แล้วภาพยนตร์เก่า ๆ ล่ะ…ถูกเก็บอยู่ที่ไหน? 

ถ้าย้อนไปมากพอเรามักพบว่ามันถูกเก็บอยู่ในรูปแบบ ‘ฟิล์ม’ นวัตกรรมแห่งอดีตที่คนรุ่นใหม่อาจต้องใช้จินตนาการเล็กน้อยว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร 

คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ แล้ว ‘ใคร’ ล่ะทำหน้าที่เป็นคนเก็บและต้องดูแลบริหารจัดการงานเยอะแยะทั้งหมดนี้? ‘โดม สุขวงศ์’ คือชายคนนั้น เขาคือนักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม!

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

หลงรักหนังแต่เด็ก

โดม สุขวงศ์ เกิดที่ภูเก็ตเมื่อปี 1951 แต่มาเติบโตที่กรุงเทพ เขามีความสนใจโลกของหนังภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก มันทำให้เด็กธรรมดาแบบเขาได้เปิดโลกบ้านเมือง เรื่องราวต่างแดนที่หาในบ้านเกิดไม่มี ฉุกคิด ครุ่นคิด ตั้งคำถาม 

เรียกได้ว่าภาพยนตร์…ซึ่งสมัยก่อนฉายผ่าน ‘ฟิล์ม’ เป็นเชื้อเพลิงอันดีในการสร้างแรงบันดาลใจและหลากหลายอารมณ์ในตัวเขา

เขาตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่แล้วความผิดหวังแรกในรั้วมหาลัยก็บังเกิด เขาเข้าคณะนี้เพื่อหวังเรียนรู้โลกของภาพยนตร์โดยตรง แต่เนื้อหาการเรียนในตอนนั้นเอนโฟกัสไปที่สื่อด้านวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ซะมากกว่า

เฉกเช่นเส้นทางเดินของชีวิตคน ๆ หนึ่งที่ต้องลองผิดลองถูก ความสนใจของคุณโดมในวงการภาพยนตร์มีหลากหลาย เขาทดลองทำหลายด้านในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ทำวารสารวิชาการ วิจารณ์หนัง เขียนหนังสือ แปลหนังสือ ก่อนไปลองเขียนบทหนังโดยโฟกัสที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย 

ระหว่างหมกมุ่นดำดิ่งศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกเพื่อมาทำบทหนัง เขาต้องการหาฟิล์มหนังเก่า ๆ ภาพเคลื่อนไหวเพื่อประกอบข้อมูลด้วย แต่กลับหาไม่เจอ เมื่อสืบค้นปรากฏว่าเพราะไม่มีใคร ‘เก็บ’ ไว้เลย

โลกของการเก็บรักษา

เขายังมีวินัยทำตามสิ่งที่ชอบตั้งแต่เด็ก มีงานอดิเรกคือการ ‘ออกไปดูหนัง’ แทบทุกวันเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย แม้บางช่วงจะไม่ค่อยมีโอกาส เขาก็จะสร้างโอกาสนั้นขึ้นมาเอง 

ยุคนั้นไม่มีสตรีมมิ่งที่กดดูได้เพียงปลายนิ้วจากที่บ้าน แต่โดมต้องตระเวนเดินทางไปดูหนังตามที่ต่าง ๆ ทั้งโรงหนังที่ยังมีอยู่น้อยนิดสมัยนั้น หนังกลางแจ้ง ที่สำคัญ ยังรวมถึงตามสถาบันวัฒนธรรมของต่างประเทศที่ตั้งในกรุงเทพ เช่น

  • สถาบันเกอเธ่ ของเยอรมัน
  • บริติช เคานซิล ของอังกฤษ
  • สำนักข่าวสารอเมริกัน ของสหรัฐอเมริกา
  • สำนักข่าวสารญี่ปุ่น ของญี่ปุ่น

โดมได้สัมผัสหนังฟิล์มต่างประเทศเก่าแก่ แต่การที่มีหนังเหล่านี้มาให้ฉาย ต้องเกิดจากการเก็บรักษาหนังเหล่านี้ไว้ก่อนด้วย จุดนี้ทำให้คุณโดมเริ่มรู้จักกับคำว่า ’หอภาพยนตร์’ (Film archive) สถาบันที่ทำหน้าที่เก็บรักษาหนังภาพยนตร์เก่า ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งชาติได้เลยทีเดียว

ในสายวิชาการ มีหลากหลายเส้นทางให้เราเดินไปอย่างถึงที่ บางคนเลือกที่จะสรรค์สร้าง บางคนเลือกวิเคราะห์วิจารณ์ บางคนเลือกที่จะ ‘เก็บรักษา’ จากความหลงใหลที่พบเจอทำให้โดมเลือกเป็นคนกลุ่มหลังนี้

ไม่เกินจริงนักหากเราจะกล่าวว่า...เมื่อเราละเลยภาพยนตร์เก่า นั่นเท่ากับ เราละทิ้งประวัติศาสตร์

ในเมื่อยังมีการอนุรักษ์ป่าไม้สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พันธุ์สปีชีส์สัตว์ป่า หรือแม้แต่อนุรักษ์ความเป็นไทย แล้วการอนุรักษ์หนังเก่าล่ะอยู่ตรงไหน?

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

ฟิล์มประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 7 

นับตั้งแต่ปี 1980 โดมเริ่มเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาพยนตร์ในประเทศไทย ก่อนจะเป็นหัวหอกในการต่อสู้เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานสถาบันที่ทำเรื่องอนุรักษ์ภาพยนตร์แบบเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ซึ่งเมืองไทยในตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานดังกล่าว 

ดังเช่นความโชคดีที่จู่ ๆ ก็มาเคาะประตูแห่งชีวิต ระหว่างที่โดมกำลังรีเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จะเรียกว่าบังเอิญก็ว่าได้เพราะเขาไปค้นพบกรุฟิล์มเก่ากว่า 500 ม้วน! ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ถูกเก็บลืมอย่างเดียวดายอยู่ในตู้ที่อาคารเก่าโรงพิมพ์รถไฟ 

ทำไมกรุฟิล์มเก่านี้ถึงสำคัญ? เพราะหนึ่งในนั้น คือฟิล์มบันทึกเรื่องราว ‘การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือในปี 1926 ของรัชกาลที่ 7!’ ซึ่งถือเป็นคุณูปการทางประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญและจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้

ฟิล์มเก่านี้ได้จุดไฟเล็ก ๆ ถึงการเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความชอบธรรมที่นำมาสู่หอภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม การจะสร้างหอภาพยนตร์แห่งชาติขึ้นมาเพื่อเก็บฟิล์มเรื่องราวภาพยนตร์เก่า ๆ แบบครบทุกด้าน กรุฟิล์มนี้ยังไม่พอ และเขาเองก็ไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้…

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

กระดาษ 3 แผ่น ที่มอบชีวิต

หลังจากนั้น จะเกิดเหตุการณ์การประสานงานความช่วยเหลือของคนในวงการที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ห่วงโซ่ความช่วยเหลือนานาชาติ แรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ที่ถูกต่อไปยังเครือข่ายนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ทั่วโลก

  1. โดม ‘เขียนจดหมาย’ ทางการเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาไทย จำนวน 3 แผ่น
  2. ก่อนจะนำไปให้บาทหลวงชาวอินเดียที่สนิทสนม ‘แปลเป็นภาษาอังกฤษ’ อย่างสละสลวย
  3. บาทหลวงท่านนี้ นำไปส่งต่อให้ ‘ผู้อำนวยการภาพยนตร์สถานของบราซิล’ ซึ่งมีบทบาทต่อวงการอนุรักษ์ภาพยนตร์นานาชาติ
  4. ผอ.จากบราซิลนี้ ส่งต่อให้ ‘ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์สวีเดน’ ซึ่งกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่ประจำปีของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างประเทศ (International Federation of Film Archives) ในปีหน้าอยู่พอดี!

ผอ.สวีเดนท่านนี้ ได้ติดต่อเชิญโดมในฐานะคนไทยคนแรกให้ไปร่วมงานที่กรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน แม้แต่เขาเองก็ไม่คาดฝันว่าจดหมาย 3 หน้านี้จะเป็นเสมือนพาสปอร์ตที่พาเขาเดินทางข้ามโลกไปเยือนสวีเดน

เอาเข้าจริงแล้ว การอนุรักษ์เป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องมีความรู้ ต้องเป็นมืออาชีพ โดมใช้โอกาสนี้ในการเข้ารับการอบรมเทรนนิ่งตามมาตรฐานสากลที่สวีเดนด้วยเช่นกัน

  • อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการเก็บภาพยนตร์เก่า
  • ความรู้ด้านเคมีสำหรับรักษาแผ่นฟิล์ม
  • การควบคุมอุณหภูมิภายในห้องเก็บ
  • การเลือกโลเคชั่นของสถานเก็บรักษา

ที่สำคัญ เขาไปค้นพบภาพฟิล์มเก่าที่สะท้อนความสัมพันธ์ของสองประเทศ นั่นคือ ภาพยนตร์ ‘ร.5 เสด็จเยือนกรุงสต็อกโฮล์ม’

โดมต้องใช้หลักคิดโน้มน้าวใจ บางครั้งการที่คนเราไม่ได้ตระหนักถึงการอยากเก็บ ไม่ใช่เพราะสิ่งนั้นไม่สำคัญ แต่เพราะตัวเขาอาจยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่หรือไม่รู้ว่ามันสำคัญต่างหาก 

เขาขอทำก๊อปปี้สำเนาและนำมาใช้สร้างกระแสอนุรักษ์ภาพยนตร์ให้เกิดขึ้นเมืองไทย จนจุดติดและนำมาสู่การก่อตั้ง ‘หอภาพยนตร์แห่งชาติ’ ได้สำเร็จเมื่อปี 1984!

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

เรื่องราวอดีตที่ถูกส่งต่อไปยังอนาคต

กาลเวลาล่วงเลยมากว่า 40 ปีแล้วนับจากวันแรกที่หอภาพยนตร์แห่งชาติต้อนรับแขกทุกคน เขายังจะต้องผ่านการต่อสู้เรียกร้องและพัฒนาอีกหลายเรื่อง ทั้งตามทันเทคโนโลยีการเก็บรักษา ไปมีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติ กลยุทธ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้สนใจ หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบริหารเพื่อให้การทำงาน…ทั้งหมดเพื่อให้มีวันนี้

สำหรับโดมแล้ว ภาพยนตร์ถ่ายทอดจินตนาการของโฮโมเซเปียนส์ เรื่องราวแฟนตาชีที่โลดแล่นในหัว ความทะเยอทะยาน ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ ความรักของมนุษย์ และอะไรต่อมิอะไรที่มี ‘คุณค่า’ เหลือเกินในแบบตัวเอง

ชีวิตของเขาอุทิศให้กับการค้นหาและเก็บรักษามรดกอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ เขาเพียงอยากฟื้นคืนชีพภาพยนตร์เก่าให้ยังคงโลดแล่นต่อไป

แม้จะมีภาพลักษณ์เป็นคนคอนเซอเวทีฟ แต่โดมสามารถปรับตัวรับทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ก้าวไปข้างหน้าในอัตราเร่งได้เช่นกัน ตั้งแต่ตั้งแต่ฟิล์ม ฮาร์ดดิสก์ ฮาร์ดไดรฟ์ และพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษารูปแบบดิจิตอล รวมถึงกลยุทธ์การเผยแพร่แก่สาธารณชนที่โดนใจ 

นอกจากนี้ หลังจากดูแลปลุกปั้นมากว่า 40 ปี สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการ ‘ส่งไม้ต่อแก่คนรุ่นใหม่’ ถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการดูแลรักษา แชร์ประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้คนรุ่นหลังรักษาไว้และสานต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป

โดม สุขวงศ์ นักเก็บหนังเก่า ผู้ไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ต้องถูกลืม

อ้างอิง