02 เม.ย. 2568 | 07:30 น.
การจากไปของพระเอกตลอดกาล ‘มิตร ชัยบัญชา’ ในเย็นวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ไม่เพียงนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาแฟนภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก แต่ยังนำมาซึ่งความโกลาหลของบรรดา ผู้อำนวยการสร้าง/ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่กำลังใช้บริการ มิตร ชัยบัญชา เป็นดารานำหรือพระเอกชูโรงของภาพยนตร์อยู่ในขณะนั้น
มิตร ชัยบัญชา คือหนึ่งในพระเอกตลอดกาลของวงการภาพยนตร์ไทยอย่างมิต้องสงสัย ก่อนการจากลาลับโลกวงการบันเทิงไทย เล่ากันว่า มิตร ชัยบัญชา มีคิวถ่ายภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 20 เรื่องต่อเดือน บางเดือนก็เคยพุ่งสูงถึง 30 เรื่อง โดยจากบทความของ ‘โรม บุนนาค’ (โรม ดารา) เล่าว่า ในวันที่มิตรหล่นจากบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์ ‘อินทรีทอง’ ที่พัทยา มิตร ชัยบัญชา มีภาพยนตร์ที่ถ่ายค้างไว้มากถึง 21 เรื่อง ในขณะที่บทความจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเขียนขึ้นภายหลังการจากไปของมิตรไม่นาน ได้บันทึกว่ามีภาพยนตร์ไทยจำนวนมากถึง 40 เรื่อง ที่เซ็นสัญญากับมิตรเอาไว้
“การตายของ มิตร ชัยบัญชา เมื่อวันที่ 8 เดือนนี้ ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนสะท้อนออกไปหลายประการด้วยกัน นับแต่ความเศร้าเสียใจในหมู่ญาติพี่น้องใกล้ชิด จนกระทั่งถึงผู้หลงใหลในบทบาทของเขาซึ่งมีอยู่ทุกทั่วหัวระแหง จากในเมืองที่มีตึกสูงระหง กระทั่งตามท้องไร่ท้องนาที่ข้าวแตกรวงเหลืองอร่าม และที่แน่นอนที่สุดก็คือเจ้าของหนังไทยประมาณ 40 เรื่อง ที่มิตรเซ็นสัญญาร่วมแสดงนำให้ด้วย จะทำอย่างไรดี...”
โรม บุนนาค เล่าว่า การหายไปอย่างกระทันหันของ ‘พระเอกตลอดกาล’ มิตร ชัยบัญชา ส่งผลทำให้ผู้อำนวยการสร้างหรือเจ้าของภาพยนตร์ไทยที่เพิ่งถ่ายทำไปเพียงไม่กี่ฉากหรือถ่ายแล้วไปประมาณครึ่งเรื่อง จำใจต้องตัดฉากของมิตรทิ้งไป แล้วเปลี่ยนพระเอกใหม่เป็น ‘สมบัติ เมทะนี’ หรือ ‘ไชยา สุริยัน’ แทนที่
การหายไปตลอดกาลของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ส่งผลทำให้วงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างพระเอกขึ้นมาทดแทน เพื่อรองรับความคาดหวังจากแฟนภาพยนตร์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่กำลังเจริญเติบโต ในงานศึกษาของ ชวนะ ภวกานันท์ วิเคราะห์ว่า ในช่วงเวลานั้นยากเหลือเกินที่จะหาพระเอกที่มีบารมีทัดเทียมเท่า มิตร ชัยบัญชา จะมีก็แต่เพียง ‘พระเอกตัวจริง’ สมบัติ เมทะนี ซึ่งในขณะนั้นกำลังก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกอนาคตไกล “แต่ช่วงมิตรเสียชีวิตใหม่ ๆ ก็ยังไม่สามารถเป็นตัวแทน มิตร ชัยบัญชา ได้ทันที”
เมื่อมิตรหายไป ภารกิจตามหา ‘มิตร 2’ จึงบังเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย มีนักแสดงหลายท่านได้รับการคาดหมายกันว่าจะก้าวขึ้นมาแทนที่มิตร อาทิ ‘ขวัญชัย สุริยา’ ซึ่งว่ากันว่ามีลักษณะท่าทางบุคลิกละม้ายคล้ายกับมิตร เช่นเดียวกับ ‘ชัช ชัยบัญชา’ พระเอกน้องใหม่ที่มีศักดิ์เป็นญาติ (น้อง) ของมิตร รวมไปถึง ‘ครรชิต ขวัญประชา’ พระเอกใหม่มาแรงแห่งวงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้น แต่ทว่า เมื่อผลงานการแสดงปรากฏแก่สายตาแฟน ๆ ภาพยนตร์ไทย ผลงานกลับยังมิสามารถครองใจแฟน ๆ ได้ในแบบเดียวกับที่มิตรเคยทำไว้
เมื่อภารกิจตามหา ‘มิตร 2’ ไม่ประสบความสำเร็จนัก วงการภาพยนตร์ไทยก็จำเป็นต้องสร้าง ‘พระเอกคนใหม่’ ก้าวขึ้นมาทดแทนประดับวงการ ดังคำบอกเล่าของพระเอกคนใหม่ในขณะนั้นอย่าง ‘กรุง ศรีวิไล’ ที่เล่าว่า ตนเองได้เข้ามาเป็นพระเอกในวงการภาพยนตร์ไทยก็ด้วยเพราะปัจจัยการจากไปของพระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา
“ตอนนั้น พี่เชษฐ์ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต...เหลือพี่แอ๊ด สมบัติ ท่านเดียว เขา (ผู้อำนวยการสร้างบริษัทต่าง ๆ - ผู้เขียน) ก็ปั้นพระเอกขึ้นมา ช่วงนั้นก็มีประมาณ 7 คน ก็มีผม (กรุง ศรีวิไล), มีไพโรจน์ (ใจสิงห์), มีสรพงษ์ (ชาตรี), มียอดชาย (เมฆสุวรรณ), มีนาถ ภูวนัย...ขึ้นมา”
สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ ‘พี่เอก’ สรพงษ์ ชาตรี ที่เริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากบทบาทนักแสดงสมทบ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกอย่างเต็มตัวด้วยการสนับสนุนจาก ‘หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล’ ในนาม บริษัท ละโว้ภาพยนตร์ จำกัด โดย สรพงษ์ เล่าว่า ตนเองได้ก้าวขึ้นมาเป็น ‘พระเอก’ ก็ด้วยปัจจัยวิกฤตวงการบันเทิงที่ขาดแคลนพระเอกหลังการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘พระเอก 7 คน 7 บริษัท’ ขึ้นมาในวงการภาพยนตร์ไทย
“ก็บังเอิญ มิตร ชัยบัญชา ตกเครื่องบินตาย แล้วก็ มิตร ถ่ายหนังไว้เยอะ ครรชิต (ขวัญประชา) ก็ต้องไปแทนมิตรที่เล่นไว้ครึ่งเรื่อง สมบัติ (เมทะนี) ก็ไม่แทน ไม่ได้ ก็ปรากฏว่า ประเทศไทยไม่มีพระเอกหนัง มี สมบัติ เมทะนี คนเดียว พระเอกบู๊ไม่มีแล้ว เหลือพี่แอ๊ดคนเดียว 30 วัน 30 คืน หนังมันมีเป็นหลายร้อยเรื่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเลยเขาบอก ไม่ได้แล้ว บริษัทใหญ่ ๆ เนี่ยต้องรับผิดชอบ หาพระเอกขึ้นมาประดับวงการ ‘พระเอก 7 คน 7 บริษัท’
พอดี ท่านมุ้ย จะทำเรื่อง ‘มันมากับความมืด’ ผม คู่กับ นัยนา ชีวานันท์
ทางคุณาวุฒิ ก็ทำ ‘แม่ศรีไพร’ เอา เพชรา มาอุ้ม นาท ภูวนัย
ประมินทร์ จารุจารีต ก็เอา เพชรา มาอุ้ม กรุง ศรีวิไล
ทางพี่ อัมพร ประทีปเสน ก็น้ำใจพ่อค้า เอา ยอดชาย มา
ไพโรจน์ ใจสิงห์ คู่ วนิดา จากเรื่องดวง
สันติ คราประยูร คู่ ลักษมี เพ็ญแสงเดือน
แล้วก็น้อง มิตร ชัยบัญชา ชื่อ ชัช ชัยบัญชา แสดงเรื่อง ‘มนต์รักจากใจ’
ไปเปิดตัวด้วยกัน 7 คู่”
จากคำสัมภาษณ์ของ สรพงษ์ ชาตรี จึงทำให้ทราบว่า การหายไปตลอดกาลของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ได้ส่งผลทำให้วงการภาพยนตร์ไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคพระเอกไทยหลัง มิตร ชัยบัญชา’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 2514 ดังปรากฏการณ์ ‘พระเอก 7 คน 7 บริษัท’ ได้แก่
เมื่อ ‘พระเอกตลอดกาล’ ไม่หวนคืนกลับสู่จอภาพยนตร์ เหล่า ‘พระเอกดวงใหม่’ แห่งวงการภาพยนตร์ไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย ให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
ท่ามกลาง ‘พระเอกคนใหม่’ ที่กำเนิดเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยช่วงราวปี พ.ศ. 2514 ก็มีสุภาพบุรุษคนหนึ่งเดินทางจากบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ มุ่งหน้าเข้ามาเมืองกรุงเพื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทยในบทบาทการเป็น ‘พระเอก’ ภาพยนตร์ ทดแทนการหายไปของพระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา
บุรุษท่านนี้ มิได้เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ไทยเพื่อมาเป็น ‘มิตร 2’ หรือ ‘พระเอกคนใหม่’ ดังที่วงการภาพยนตร์ไทยกำลังค้นหา หากแต่เขา เข้ามาเพื่อเป็น ‘พระเอก (ตัวปลอม) ตลอดกาล’ แทน มิตร ชัยบัญชา
ในงานเขียนของ โรม บุนนาค เล่าถึงประวัติเรื่องนี้ไว้อย่างน่าติดตามว่า ในวันที่ มิตร ชัยบัญชา จากไป ภาพยนตร์เรื่อง ‘คนึงหา’ โดย อมรินทร์ฤทธิศิลป์ภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเหลือการถ่ายทำอีกเพียง 3 ฉากสุดท้ายเท่านั้นก็จะปิดกล้อง อีกทั้งได้วางกำหนดเข้าฉายไว้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2514 อย่างพร้อมเสร็จสรรพแล้ว
มีข้อมูลว่า ตามกำหนดการเดิม วันที่ 7 – 8 ตุลาคม พ.ศ.2513 มิตร ชัยบัญชา ได้วางคิวถ่ายภาพยนตร์เรื่อง คนึงหา ไว้ แต่ต่อมามีการขอแลกคิวเป็นภาพยนตร์ อินทรีทอง ซึ่งก็อยู่ในช่วงถ่ายปิดกล้องภาพยนตร์เช่นเดียวกัน จึงทำให้กำหนดการ 3 คิวสุดท้ายเพื่อถ่ายปิดกล้องภาพยนตร์เรื่อง คนึงหา ของมิตร ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10 – 11 ตุลาคม พ.ศ. 2513
การจากไปอย่างกะทันหันของมิตรในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ในขณะที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ในตอนท้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาพยนตร์เรื่อง คนึงหา ที่กำลังจะปิดกล้องด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อทีมผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง คนึงหา นำโดย ‘คุณนายแดง - จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร’ พิจารณาด้วยเหตุและปัจจัยที่ว่า หากจะทำการเปลี่ยนแปลงพระเอกใหม่ก็เท่ากับต้องถ่ายทำภาพยนตร์ใหม่เกือบทั้งเรื่อง หรือหากจะรวบรัดให้เนื้อเรื่องจบเพียงเท่านั้นก็อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชม ในที่สุดทีมผู้สร้างและผู้กำกับ จึงหาทางออกด้วยวิธีการประกาศข่าวตามหาคนหน้าตาคล้ายกับ มิตร ชัยบัญชา เพื่อมาเป็นนักแสดงถ่ายทำภาพยนตร์ใน 3 ฉากที่เหลือให้ทันกำหนดการเข้าฉายในช่วงต้นปี พ.ศ. 2514
ข่าวภารกิจ ‘ตามหา มิตร (ตัวปลอม)’ ได้ส่งไปถึงบรรดา ‘แมวมอง’ ในวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งแม้จะมีสุภาพบุรุษหลายคนได้รับการเรียกมาดูตัวและถ่ายรูปเข้ากล้องเพื่อพิจารณา ทว่า ก็ยังไม่พบเจอผู้ที่หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมิตร ชัยบัญชา ในระดับที่ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์พอใจ
“ต่อมาได้ข่าวว่า มีคนขับรถของเทศบาลจังหวัดชัยภูมิ มีหน้าตาคล้ายมิตรมาก ชาวบ้านบางคนถึงกับทักว่าเป็นมิตร ผู้สร้าง คนึงหา จึงสั่งล่าตัวเอามาดูที่กรุงเทพฯ เมื่อเห็นตัวและทดสอบหน้ากล้องแล้ว ก็ลงมติกันว่ามีความละม้ายคล้ายมิตร ชัยบัญชามาก โดยเฉพาะเมื่อใส่แว่นดำตามบทในเรื่อง ‘มิตรปลอม’ จึงถูกนำเข้ากล้องถ่ายทำใน 3 ฉากสุดท้ายของ คนึงหา และตั้งชื่อให้ว่า ‘ชาติ ชัยภูมิ’ แต่คนทั่วไปกลับเรียกกันว่า “มิตร ชัยภูมิ”
โรม บุนนาค เล่าว่า บทบาทการแสดงของ ชาติ ชัยภูมิ มิใช่การกระทำแบบหลอกคนดู หากแต่มีการออกข่าวประชาสัมพันธ์อย่างครึกโครมว่าได้หาผู้ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายมิตร ชัยบัญชา มาถ่ายปิดกล้องการแสดง รวมทั้ง ในตอนออกฉายภาพยนตร์ เมื่อถึง 3 ฉากสุดท้าย โรงหนังก็จะหยุดฉายและเปิดไฟเพื่อเชิญชวนผู้ชมลุกขึ้นยืนไว้อาลัยแก่ มิตร ชัยบัญชา เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นก็มีเสียงประกาศให้ผู้ชมเฝ้าคอยรับชมบุคคลที่จะมาแสดงแทนมิตรใน 3 ฉากสุดท้าย
และเมื่อ ‘มิตร ชัยภูมิ’ ปรากฏภาพในจอ ผู้ชมคนดูก็ฮือฮากันทั้งโรงภาพยนตร์และยอมรับว่า ‘ชาติ ชัยภูมิ’ ในฐานะ ‘พระเอก (ตัวปลอม)’ มีหน้าตาและลักษณะใกล้เคียงกับพระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา เป็นอย่างมาก
ด้วยกระแสข่าวการจากไปของมิตรซึ่งแฟนภาพยนตร์ไทยหลายคนยังคงคิดถึง อีกทั้งบางคนยังต้องการเข้าไปชม ‘มิตรปลอม’ จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘คนึงหา’ ประสบรายได้ความสำเร็จอย่างพอสมควร
ที่สำคัญ แนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการนำเอา ‘พระเอก (ตัวปลอม)’ ชาติ ชัยภูมิ มาถ่ายปิดกล้องภาพยนตร์ในฉากที่เหลือ ยังเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง ‘อัศวินดาบกายสิทธิ์’ ภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายในต่างประเทศเรื่องแรกที่มิตร ชัยบัญชา ร่วมแสดง ซึ่งมิตรได้เดินทางไปถ่ายทำที่ฮ่องกงจนเกือบแล้วเสร็จ และมีคิวจะต้องเดินทางไปถ่ายปิดกล้องที่ฮ่องกงในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (ต่อจากคิวเรื่อง คนึงหา) ทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ จึงติดต่อขอความอนุเคราะห์จาก คุณนายแดง - จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร ช่วยนำตัว ชาติ ชัยภูมิ ไปถ่ายปิดกล้องภาพยนตร์ให้แก่ภาพยนตร์ เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ จนแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง จอมดาบพิชัยยุทธ ภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายในอีกเรื่องที่ มิตร ชัยบัญชา ได้เซ็นสัญญาแสดงไว้ต่อเนื่องจากเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ ซึ่งได้ถ่ายทำไปแล้วบางส่วน ผลปรากฏว่า ทางทีมผู้สร้างคงได้มีการปรับบทด้วยการนำเอาพระเอก ‘ลือชัย นฤนาท’ มาแสดงนำต่อ และปรับบทบาทในส่วนของมิตร ชัยบัญชา ลงไป โดยนำเอา ชาติ ชัยภูมิ มาแสดงแทนต่อจนจบ เพราะจากหลักฐานร่วมสมัยได้ปรากฏชื่อของ ชาติ ชัยภูมิ บนใบปิดโฆษณาเคียงคู่กับชื่อของ มิตร ชัยบัญชา และ ลือชัย นฤนาท
จากข้อมูลที่มีอยู่ ตลอดชีวิตการแสดงของ พระเอก (ตัวปลอม) ตลอดกาล ชาติ ชัยภูมิ ได้ปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ‘คนึงหา’ ‘อัศวินดาบกายสิทธิ์’ และ ‘จอมดาบพิชัยยุทธ’ ซึ่งทั้งหมดออกฉายในปี พ.ศ. 2514
โรม บุนนาค เล่าว่า เมื่อ พระเอก (ตัวปลอม) ตลอดกาล ชาติ ชัยภูมิ สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้สร้างหนังไทยและหนังฮ่องกงได้สำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว ก็กลับไปขับรถให้เทศบาลชัยภูมิตามเคย ไม่ปรากฏผู้สร้างรายใดสนใจที่จะนำไปแสดงแทนมิตรหรือแสดงในฐานะบทบาทของตัวเองแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีความเป็นได้ด้วยว่า ‘ชาติ ชัยภูมิ’ ไม่ปรารถนาจะมีอาชีพโลดเล่นบนวงการภาพยนตร์ไทย จึงขอกลับไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถเช่นเดิม
ดังนั้น บนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอาจจะเคยมีทั้ง พระเอกตลอดกาล พระเอกตัวจริง และพระเอกต่าง ๆ อีกมากมายหลายสิบคน แม้กาลเวลาจะทำให้เราหลงลืมอะไรบางอย่างไปบ้าง แต่ก็ควรนำกลับมาบันทึกไว้อีกครั้งว่า ในครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยนั้นเคยมี
‘พระเอก (ตัวปลอม) ตลอดกาล’ นาม ‘ชาติ ชัยภูมิ’.