‘ศรีดาวเรือง’ เจ้าของฉายา ‘กรรมกรนักเขียน’ ที่ชีวิตจริง ยิ่งกว่านิยาย

‘ศรีดาวเรือง’ เจ้าของฉายา ‘กรรมกรนักเขียน’ ที่ชีวิตจริง ยิ่งกว่านิยาย

‘ศรีดาวเรือง’ เจ้าของฉายา ‘กรรมกรนักเขียน’ ชีวิตจริง...ยิ่งกว่านิยาย เด็กบ้านนอกที่ตกระกำลำบากร่อนเร่พเนจร ก่อนจะพบเส้นทางเกียรติยศในวงวรรณกรรม

KEY

POINTS

  • ฉายา ‘กรรมกรนักเขียน’ มีที่มาจากปูมหลังทางอาชีพของ ‘ศรีดาวเรือง’ ก่อนจะมาเป็นนักเขียน ไม่ว่าจะเป็น พี่เลี้ยงเด็ก ลูกจ้างร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านซักรีด เย็บเสื้อโหล กุลีบ้านฝรั่ง เด็กล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมกรโรงงาน
  • เส้นทางนักเขียนของเธอสัมพันธ์กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการได้พบกับ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ บรรณาธิการชื่อดังของวงวรรณกรรมไทย

“...การเดินทางไกลออกไปจากถิ่นเกิด ชีวิตผ่านสารทุกข์สุกดิบไปตามวิถี มีทั้งราบเรียบและหลุมบ่อ บางครั้งถึงกับงมโข่งเพราะปัญญามืดมน

เมื่อหันหลังกลับไปมองคราใด ก็มักเห็นตัวเองเป็นดังคนขี่จักรยาน ที่ฝ่าไปทั้งป่าเขา ป่าคอนกรีต และหุบเหว สองข้างทางบางแห่งหยุดพัก...ชั่วคราว บางแห่งได้แต่ปรายตามองดูด้วยความรู้สึกต่ำต้อย

ความทรงจำเก่า ๆ แวบไปแวบมา วันนี้เกิดจำขึ้นมาได้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีวันว่าง ช่วงใช้ชีวิตในเมืองหลวงรอบหลัง ๆ ฉันเลือกใช้เวลานั้นนั่งรถเมล์ สายไหนไม่สำคัญ

นั่งมองดูบ้านเมือง รถรา ผู้คน ไปจนสุดสาย แล้วก็นั่งกลับมาที่เดิม

แต่ขณะที่นั่งเหม่อมองออกนอกหน้าต่างรถ ใจจิตก็คิดไปว่า ถ้าถูกหวยมีตังค์เยอะ ๆ จะกลับไปสร้างไปเสริมโรงเรียน โรงพยาบาล และวัดที่บ้านให้เจริญขึ้น

แล้วความคิดก็ขัดแย้งออกมาว่า...ตัวเองเคยซื้อหวยมั่งหรือยังล่ะ

เมื่อตอบไม่ได้ก็ต้องล้มกระดาน และสร้างวิมานเมฆขึ้นใหม่...” (ศรีดาวเรือง, วรรณาคดี: อัตชีวประวัติวรรณา ทรรปนานนท์, สำนักพิมพ์อ่าน, 2567)

กรรมกรนักเขียน

นาม ‘ศรีดาวเรือง’ สร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงวรรณกรรมเสมอมา

เมื่อแรกปรากฏนามปากกาในบรรณพิภพ พร้อมเรื่องสั้นเรื่องแรก ก็เป็นที่ถามหาว่านักเขียนคนนี้เป็นใคร

“...ฉันส่งเรื่องสั้นไปตามนิตยสารต่าง ๆ ผลลัพธ์คือหายต๋อม แต่พอเขียนเรื่อง ‘แก้วหยดเดียว’ โดยย้อนกลับไปขุดคุ้ยประสบการณ์สมัยเป็นกรรมกรโรงงานทำแก้ว คราวนี้เมื่อคุณสุชาติได้ดูต้นฉบับ เขาบอกว่า ชิ้นนี้ขอเอาไปลงในสังคมศาสตร์ปริทัศน์

นั่นเป็นการเริ่มต้นที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่นักอยากเขียนเป็นอย่างมาก

และเราเห็นพ้องกันว่า ยังไม่ควรเปิดเผยตัวตน เพราะอาจถูกมองในแง่ไม่ดีได้ เช่น ได้พิมพ์เพราะอยู่กับบรรณาธิการ หรือแม้แต่ส่งไปให้นิตยสารอื่นก็อาจได้ลงเพราะเกรงใจสุชาติ เรารอจนมีผลงานตีพิมพ์ในหลายที่หลายเรื่องแล้ว จึงค่อย ๆ แย้มออกมา หลังจากมีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา บ้างว่าน่าจะเป็นสุชาติเขียนเอง บ้างก็ว่าน่าจะเป็นรัศมี เผ่าเหลืองทอง และมีแม้แต่คิดว่าเป็นนายผี...” (วรรณาคดี, อ้างแล้ว)

ฉายา ‘กรรมกรนักเขียน’ มีที่มาจากปูมหลังทางอาชีพของ ‘ศรีดาวเรือง’ ก่อนจะมาเป็นนักเขียน ไม่ว่าจะเป็น พี่เลี้ยงเด็ก ลูกจ้างร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านซักรีด เย็บเสื้อโหล กุลีบ้านฝรั่ง เด็กล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมกรโรงงาน

เส้นทางนักเขียนของเธอสัมพันธ์กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการได้พบกับ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ บรรณาธิการชื่อดังของวงวรรณกรรมไทย

นับจากเรื่องสั้นเรื่องแรก ‘แก้วหยดเดียว’ ปรากฏขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 จนถึงปี พ.ศ. 2567 ที่ไม่มีใครสงสัย หรือถามหาว่านามปากกา ‘ศรีดาวเรือง’ คือใครอีกแล้ว เธอมีเรื่องสั้นกว่า 100 เรื่อง รวมเรื่องสั้น 8 เล่ม นวนิยาย 7 เล่ม รวมบทความ 7 เล่ม และบทความที่ยังไม่ได้รวมเล่ม 13 เรื่อง กวีนิพนธ์ 35 ชิ้น และบทเพลงอีก 31 เพลง สารคดี 1 เล่ม บทละคร 1 เรื่อง

วรรณกรรมของศรีดาวเรืองได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสั้นมากถึง 60 เรื่อง ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน เดนมาร์ก อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส มาเลเซีย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรีดาวเรืองสร้างความประหลาดใจเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเธอตีพิมพ์ผลงานแปลจากภาษาอังกฤษมากถึง 11 เล่ม ยังไม่นับหนังสือทำมือที่เธอพิมพ์เองอีก 10 เล่ม

และนี่ก็คืออีกฉายาหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงพอสมควร

‘นักแปล ป.4’

นักแปล ป.4

ไม่น่าเชื่อว่า ศรีดาวเรืองจะมีความสามารถแปลหนังสือ นอกเหนือไปจากบทบาทนักเขียนที่ปรากฏนามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 

ฉายานักแปล ป.4 มิใช่ได้มาเพราะโชคช่วย ไม่เพียงการศึกษาในระบบที่เธอจบเพียงชั้น ป.4 เท่านั้น ทว่าเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของเธอที่เพิ่งเปิดเผยในอัตชีวประวัติ ‘วรรณาคดี’ นั้น ยิ่งห่างไกลจากสถานะนักแปล

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงอีกฉายาหนึ่ง นั่นคือ ‘ทูตวรรณกรรม’

ไม่ว่าคำว่า ทูตวรรณกรรม จะหมายความถึง ‘ตัวแทน’ ในลักษณะ ‘สะพานเชื่อม’ ที่นำเอาวรรณกรรมท้องถิ่น ไปสู่แวดวงหนังสือสากล หรือจะเป็นการนำเอาวรรณกรรมของสากลกลับสู่ท้องถิ่นก็ตาม

‘ส.ศิวรักษ์’ เคยเขียนถึง ‘ศรีดาวเรือง’ เอาไว้ว่า “...นอกจากจะเป็นการสะท้อนความทุกข์ยากในวิถีชีวิตคนทำงานจากประสบการณ์ตรงแล้ว งานเขียนของศรีดาวเรือง ยังส่องให้เห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับแบบแผนคุณค่าทางจริยธรรม ศาสนธรรม ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างเป็นการตรงกันข้ามกันของ ไพร่กับกระฎุมพี ชนบทกับเมืองหลวง เกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม ถือเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงสายตาอันแหลมคมของเธอ ที่สามารถแทงทะลุทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น หรือไม่เพียงแต่บอกเล่าถึงความทุกข์ชั้นผิว ๆ ของราษฎรผู้เสียเปรียบในสังคมเท่านั้น เพราะแม้แต่การกดขี่ทางเพศสภาพที่กัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นจิตวิญญาณ ก็ถูกเธอนำมาตีแผ่ไว้อย่างน่าสะเทือนใจ...” (ราษฎรดำเนิน, รวมเรื่องสั้น 2 ภาษา, สำนักพิมพ์ทางเลือก, 2547)

ชีวิตจริง...ยิ่งกว่านิยาย

หากนึกถึงนิยายไทย ‘ดาวพระศุกร์’ หรือ ‘บ้านทรายทอง’ ไปจนถึงนิยายต่างประเทศอย่าง ‘ซินเดอเรลลา’ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละคร และแอนิเมชันซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายรอบ

ไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตจริงของศรีดาวเรืองก็มีเส้นเรื่องที่ถอดแบบมาจากนิยายเหล่านั้นไม่ต่างกันเลย

สถานะเด็กบ้านนอกฐานะยากจน ต้องระหกระเหินมาทำงานในบ้านคนมีเงิน ถูกรังแกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตกระกำลำบากร่อนเร่พเนจร กว่าจะได้พบเส้นทางเกียรติยศในวงวรรณกรรม กับสถานะนักเขียน ก็เกือบจะสายเกินไป

ยังไม่นับเรื่องราวแต่หนหลัง ที่เพิ่งเปิดเผยต่อสาธารณะและวงวรรณกรรม ที่รับรู้ตลอดมาว่าเธอมีบุตรชายคนเดียวคือ ‘โมน สวัสดิ์ศรี’ หากแต่เรื่องราวในอดีตที่ศรีดาวเรืองเล่าไว้ในหนังสือ ‘วรรณาคดี’ ว่าเธอมีบุตรก่อนหน้านั้น 4 คน นับเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากฉายา กรรมกรนักเขียน และนักแปล ป.4

นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกับลีลาการเล่าเรื่องของเธอในวรรณาคดี ที่ใช้ลีลาดุจนิยาย แต่เป็นเนื้อหาจากเรื่องจริงในชีวิตของเธอ แม้ว่าจะไม่ต่างจากลีลาเล่าเรื่องในนิยายหนัก ๆ ที่เธอเคยเขียน ทว่า เรื่องราวในชีวิตจริงหนักหนามากกว่านั้นหลายต่อหลายเท่า

การได้รู้จักกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ต่อมาได้สร้างครอบครัวร่วมกันหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับนามปากกา ศรีดาวเรือง และบุตรชายคนสุดท้อง โมน สวัสดิ์ศรี เป็น ‘ครอบครัวนักเขียน’ ที่ได้รับการยกย่องจากวงวรรณกรรมไทย 

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของศรีดาวเรือง ที่ไม่เพียงขีดเขียนสรรสร้างวรรณกรรมประดับบรรณพิภพไทยมากว่า 40 ปี หากเธอยังได้รับการยกย่องจากวงวรรณกรรมไทยและต่างประเทศ ประกาศเกียรติ และมอบรางวัลล้ำค่าให้เธอมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นรางวัล ว. ณ ประมวญมารค ช่อการะเกด กลุ่มวรรณกรรมพินิจ หนึ่งในนักเขียนในวาระ 100 ปีนักเขียนเรื่องสั้นไทยของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รางวัลสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ หนังสือทำมือเกียรติยศ รางวัลปีติศิลป์-สันติภาพ รางวัลศรีบูรพา รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์

สมาคมไทยศึกษาแห่งสวีเดน สมาคมสวีดิช-ไทย พิพิธภัณฑ์บูรพา พิพิธภัณฑ์ชาติวงศ์วรรณา สมาพันธ์นักเขียนแห่งสวีเดน บัณฑิตยสภาสวีเดน ได้รับเชิญร่วมประชุมนักเขียนเอเชีย-แอฟริกา และได้รับการบันทึกใน Dictionary of Literature Biography: Southeast Asian Writers

“...หากเอ่ยนาม วรรณา ทรรปนานนท์ แม้ย้อนกลับไปบ้านเกิด ก็คงจะหาคนคุ้นเคยได้น้อยแล้ว เหตุเพราะจากมานานหลายสิบปี ส่วนนามศรีดาวเรือง ซึ่งกำเนิดมาทีหลัง ในหลายจังหวัดคงจะยังพอมีคนรู้จักบ้าง เพราะเท่าที่รู้สึกได้ มีนักอ่าน นักเขียน นักแปล นักวิชาการ ผู้คนในแวดวงหนังสือ ให้ความเมตตา ให้กำลังใจตลอดเวลา 40 - 50 ปีที่ผ่านมา

ครั้นอายุเหยียบย่างเข้าวัยชรา ความทรงจำเลือนหลง ศรีดาวเรืองจำต้องยุติงานเขียนไปโดยปริยาย

แต่ก่อนจากกัน ก็น่าจะมีประวัติชีวิตบันทึกไว้ก่อนจากลา

ผู้คนในแวดวงอาจคิดว่า ประวัติศรีดาวเรืองมีปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรอีก

แต่...มีอีกไม่น้อย...ที่คนรู้จักศรีดาวเรือง แต่ไม่รู้ความเป็นมา

เพราะเป็นเรื่องราวของวรรณา ก่อนจะลาจากลูก 4 คนมาเป็นศรีดาวเรือง...” (วรรณาคดี, อ้างแล้ว)

 

เรื่อง : จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ ‘ศรีดาวเรือง’ ปี พ.ศ. 2567 ถ่ายโดย ‘โมน สวัสดิ์ศรี’