22 พ.ย. 2566 | 20:08 น.
- เอดูอารด์ หลุยส์ นักเขียนรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศสที่มีงานเขียนและบทบาททางสังคมจนถูกพูดถึงมากขึ้นในวงวิชาการและวรรณกรรมตะวันตก
- ผลงานของเขาตีแผ่และสะท้อนเบื้องหลังสังคมฝรั่งเศสซึ่งเปลือกนอกมีภาพโรแมนติก ก้าวหน้า และหรูหรา ในความทรงจำของคนทั่วไป แต่อีกด้านก็มีผู้ใช้แรงงานที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
ชื่อเสียงของ ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ (Édouard Louis) เริ่มถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการและวรรณกรรมฝั่งโลกตะวันตก เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนฝ่ายซ้ายแถวหน้าของฝรั่งเศสผู้มีส่วนร่วมในการปลุกกระแสการชุมนุมประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงสองสามปีมานี้
ผลงานวรรณกรรมอัตชีวประวัติของเขาบอกเล่าเรื่องของตัวเองตอนเป็น ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เด็ก’ ที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ แต่เรื่องส่วนบุคคลนี้กลับสะเทือนทั้งโลกตะวันตก ดึงเอาหัวข้อถกเถียงพื้นฐานอันว่าด้วยเรื่องเพศและชนชั้นทางสังคมกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งหลังถูกละเลยไปหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เพื่อที่จะเข้าถึงตัวตนและความคิดของ ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ เราขอแนะนำผลงานชิ้นแรกของเขา ‘En Finir avec Eddy Bellegueule’ หรือฉบับแปลภาษาไทย ‘อวสานเอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ หนังสือที่เปล่งเสียงตะโกนจากเบื้องล่างหรือชายขอบ บอกกับโลกว่าอคติทางเพศยังคงเป็นเรื่องฉุกเฉินที่เราต้องช่วยกันแก้ไข และเบื้องหลังของประเทศฝรั่งเศสที่สุดแสนจะโรแมนติก หรูหรา และก้าวหน้า คือชีวิตตายทั้งเป็นของเหล่ากรรมกรผู้ใช้แรงงาน
ชีวิตวัยเด็ก
‘เอดูอารด์ หลุยส์’ เกิดและเติบโตที่เมืองซอมม์ ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ชื่อ ’เอดูอารด์ หลุยส์’ ไม่ใช่ชื่อโดยกำเนิดที่พ่อและแม่ของเขาตั้งให้ แต่เป็น ‘เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ (Eddy Bellegueule) นามที่เป็นมากกว่าชื่อเรียกของบุคคล แต่สะท้อนถึงอุดมคติทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ตัวเขาถูกยัดเยียดให้ต้องแบกรับตั้งแต่เกิด หรืออาจจะพูดได้ว่าก่อนจะเกิดเสียด้วยซ้ำ
“ที่หมู่บ้านไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่ว่าเคยเป็นผู้ชายห่าม ๆ มาก่อน แต่ต้องรู้จักทำให้ลูกชายของตนเป็นผู้ชายห่าม ๆ ให้ได้ ผู้เป็นพ่อจะเสริมอัตลักษณ์ความเป็นชายของตนด้วยการมีลูกชายที่ตัวเขาจะเป็นผู้ถ่ายทอดคุณค่าความเป็นชายให้ พ่อของฉันก็ทำเช่นนั้น เขาจะต้องทำให้ฉันเป็นผู้ชายห่าม ๆ ให้ได้ ซึ่งนั่นเดิมพันด้วยศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย พ่อตัดสินใจเรียกฉันว่าเอ็ดดี้ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในซีรีส์อเมริกันที่เขาดูจากโทรทัศน์ (โทรทัศน์อีกตามเคย) ตามด้วยนามสกุล ‘แบลล์เกิล’ ที่เขาส่งต่อให้ รวมถึงเรื่องราวในอดีตทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนามสกุลนี้ ฉันจึงชื่อ เอ็ดดี้ แบลล์เกิล ชื่อของชายห่าม ๆ”
คำบรรยายถึงที่มาของชื่อ ‘เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศวิถีและชนชั้นทางสังคมอันไม่อาจแยกออกจากได้ เอดูอารด์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “คุณไม่มีทางเข้าใจเรื่องเพศ ถ้าคุณไม่เข้าใจเรื่องชนชั้น” ฉะนั้น เอ็ดดี้จึงไม่ได้ถูกบีบให้เป็นแค่ ‘ผู้ชาย’ แต่ต้องเป็น ‘ชายห่าม’ ตามอุดมคติของชนชั้นแรงงานให้ได้ด้วย
ช่วงวัยเด็กของเขาหมดไปกับความหมกมุ่นที่จะเป็นแบบที่พ่อและสังคมคาดหวังให้เขาเป็น และนี่คือส่วนหนึ่งของความพยายาม
“ฉันต้องเลิกประพฤติตัวแบบเดิมที่เคยทำและทำมาตลอดจนถึงตอนนั้นระวังอากัปกิริยาของตัวเองขณะพูดจาเรียนรู้ที่จะพูดให้เสียงเข้มขึ้น กระโจนเข้าใส่กิจกรรมเฉพาะสำหรับผู้ชาย เตะฟุตบอลให้บ่อยขึ้น เลิกดูรายการโทรทัศน์เดิมๆ ที่เคยดู เลิกฟังแผ่นเสียงเดิมๆ ที่เคยฟัง ทุก ๆ เช้าขณะที่เข้าห้องน้ำเตรียมตัวเองให้เรียบร้อย ฉันจะย้ำประโยคนี้กับตัวเองไปเรื่อย ๆ หลายครั้งเสียจนมันหมดความหมายในท้ายที่สุด เป็นเพียงคำและเสียงที่ไล่เรียงกันมาเสียมากกว่า ฉันหยุดและพูดใหม่ วันนี้ฉันจะเป็นลูกผู้ชาย ฉันจำมันได้เพราะฉันย้ำประโยคนั้นอย่างแม่นยำกับตัวเอง เหมือนกับว่าการอธิษฐานขอพรด้วยคำเหล่านั้น และจะให้ชัด ๆ ก็คือคำนี้ วันนี้ฉันจะเป็นลูกผู้ชาย (และฉันก็ร้องไห้เพราะพบว่าประโยคนั้นมันช่างโง่เง่าและอุบาทว์ ประโยคที่ติดอยู่ในใจฉันนานหลายปี และฉันไม่ได้คิดว่าตัวเองพูดเกินเลย ที่จะบอกว่ามันเคยอยู่ตรงใจกลางชีวิตฉัน)”
ความล้มเหลวก่อกำเนิดความเหินห่าง ทั้งจากเพื่อนฝูงที่หมู่บ้านและโรงเรียน หรือแม้แต่คนที่คนในครอบครัว ความแตกต่างไม่เพียงแต่สร้างความรู้สึกแปลกแยก แต่กลับเป็นใบอนุญาตของสายตาเหยียดหยาม คำบริภาษด่าทอ และความรุนแรงทางกายภาพ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดโดยรุ่นพี่ที่โรงเรียน
“มันไม่ได้ถ่มเสลดใส่หน้าฉัน (...) พวกมันหัวเราะ ฉันมองเสลดที่ติดหนึบอยู่บนเสื้อคลุม พลางคิดว่าพวกมันคงละเว้นฉัน ถ่มใส่ตรงนั้นไม่ถ่มใส่หน้า หลังจากนั้น ไอ้โย่งหัวแดงก็พูดกับฉัน แดกเข้าไปดิไอ้ตุ๊ด (...) มันพูดซ้ำ แดกเข้าไปสิ ไอ้ตุ๊ด เร็วๆ ฉันปฏิเสธ – ไม่ทำเหมือนเช่นเคย ฉันแทบจะไม่เคยทำแบบนั้นเลย แต่ฉันก็ไม่ได้อยากกินเสลดพวกนั้น ถ้ากินคงจะอ้วก ฉันบอกไปว่าก็ฉันไม่อยากกิน ไอ้ตัวหนึ่งเลยล็อกแขนฉัน อีกตัวล็อกหัว พวกมันกดหน้าฉันลงไปที่คราบเสลดพวกนั้นและออกคำสั่ง เลียสิ! ไอ้ตุ๊ด! เลีย! ฉันค่อยๆ แลบลิ้นออกมาและเลียคราบเสลดพวกนั้น กลิ่นของมันคละคลุ้งทั่วปากของฉัน ทุกครั้งที่ตวัดลิ้นเลีย พวกมันจะกระตุ้นฉันด้วยเสียงที่แผ่วเบา อบอุ่น (มือของพวกมันกดหัวฉันอย่างแรง) ดี! ต่อสิ! เอาเลย! ดี! ฉันเลียเสื้อคลุมต่อไป ในขณะที่พวกมันเองก็สั่งให้ฉันทำแบบนั้น จนคราบเสมดหมด พวกมันจากไป”
ฉากเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเพียงสองหรือสามครั้ง แต่มันเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เอ็ดดี้ต้องไปโถงทางเดินของอาคารเรียนหลังเลิกเรียนเพื่อไปถูกต่อย กระทืบ จิกหัว เอาหัวไปโขกกับผนังอาคาร ถ่มเสลดใส่หน้า
คุณคงเริ่มมีคำถามในใจว่าเหตุใดเอ็ดดี้ถึงต้องยอม ทำไมไม่ไปฟ้องครู พ่อแม่ พี่ชาย หรืออย่างน้อย ๆ ไม่ไปที่นั่น ไปอยู่ที่อื่น หนีไป เพียงเท่านั้นก็น่าจะสิ้นเรื่อง แต่สำหรับเอ็ดดี้ เรื่องมันซับซ้อนเกินกว่าจะจัดการกับมันได้โดยง่ายดาย เขาอธิบายว่า
“ฉันคิดแค่: คงไม่มีใครเห็นพวกเรา คงไม่มีใครรู้ ฉันต้องเลี่ยงไม่ให้ไปถูกรุมรังแกที่อื่น ในสนาม ต่อหน้าต่อตาคนอื่นๆ เลี่ยงไม่ให้เด็กคนอื่น ๆ มองฉันเป็นผู้ถูกรุมรังแก พวกเขาอาจจะยืนยันข้อสงสัยของตัวเองได้: ไอ้แบลล์เกิลเป็นตุ๊ดเพราะมันรุมรังแก”
เพราะการถูกรังแกเท่ากับการเป็นตุ๊ด ผนวกกับพูดเรื่องนี้กับใครไม่ได้สักคน เขาจึงต้องทำให้มันลับที่สุด เงียบที่สุด กลายเป็นเหยื่อที่ต้องยอมถูกกระทำหรือผู้สมรู้ร่วมคิดในความรุนแรงนั้นเสียเอง
ประสบการณ์นั้นทำเขาจิตตก หลอน มีอาการทางประสาท จนแม่ต้องตามหมอมาดูอาการ เขาต้องกินยาระงับอาการสั่นจากความวิตกที่มักจะเกิดขึ้นในยามเช้า ไม่มีใครถามถึงที่มาของความผิดปกตินั้น ไม่มีใครอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา มิหนำซ้ำ พ่อยังหัวเราะเยาะความผิดปกตินั้นของลูกตัวเอง
ความหนักหน่วงของการล่วงละเมิดจากทุกทิศทางทำให้เขาทนต่อไปไม่ไหว แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น เขาหนีไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในกับดักแห่งชนชั้นที่กำหนดออนาคตของเขาไว้
“วันหนึ่งแม่ทำให้ฉันตาสว่าง ฉันเคยสงสัยและถามเธอตอนสักสี่หรือห้าขวบ ด้วยความใสซื่อในคำถามของเด็ก ๆ ความโหดร้ายนี้ผลักดันให้พวกผู้ใหญ่รื้อฟื้นคำถามจำพวกนั้นที่เคยดูเหมือนว่าจะไร้สาระที่สุด เพราะตอนนี้มันสำคัญที่สุด
แม่ ตอนกลางคืนโรงงานหยุดทำงานด้วยไหม มันได้หลับบ้างรึป่าว
ไม่ โรงงานไม่ได้นอน มันไม่เคยนอนหลับ บางคืน พ่อกับปู่ของเอ็งก็เลยต้องไปที่โรงงานเพื่อไม่ให้มันหยุดทำงาน
แล้วผมด้วยรึป่าว โตขึ้นผมต้องไปที่นั่นตอนกลางดึกด้วยรึป่าว ที่โรงงานนั้น
ก็เออสิ”
ความฝันเพื่อออกจากวังวน
บทสนทนานี้ไม่ใช่เพียงความคาดหวังของแม่ที่มีต่ออนาคตลูกโดยมีปัจจัยเรื่องฐานะทางครอบครัวเป็นตัวตั้ง แต่มันยังสะท้อนถึงวงจรชีวิตอันเป็น ‘ปกติ’ ของผู้ชายในโลกทัศน์ของคนชนชั้นกรรมาชีพ นั่นคือ เรียนจบ (การศึกษาภาคบังคับ) และกลายเป็นแรงงานในโรงงานใกล้บ้าน ภาพจินตนาการถึงชีวิตแบบอื่น ๆ เป็นเพียงความปรารถนาที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงสำหรับพวกเขา
ความหวังเดียวในชีวิตเอ็ดดี้ที่จะหลุดพ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่ คือต้องเรียนให้จบ รีบทำงาน หาเลี้ยงตัวเอง จะได้ไม่ต้องอยู่บ้านหลังนี้ในฐานะคนบ้าสติฟั่นเฟือน หรือหมดหน้าที่ที่ต้องไปที่โถงทางเดินเพื่อเป็นเครื่องระบายอารมณ์ของรุ่นพี่
แต่แล้วเอ็ดดี้ก็ค้นพบทางรอดอื่น เขาไม่ได้หามันเจอด้วยตัวเอง แต่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนที่เล็งเห็นความสามารถในการแสดงละครเวทีของเขา เธอแนะนำให้เอ็ดดี้ลองสอบเข้าม. ปลาย ที่โรงเรียนใหญ่ประจำเมืองอาเมียงส์ แต่พ่อและแม่ของเขาคัดค้านและมองว่าเรื่องไร้สาระ เพราะครอบครัวคงไม่มีปัญญาส่งเขาเรียน
แต่ในที่สุด พ่อแม่ก็ยอมให้เขาลองไปสอบ การสอบครั้งนี้เป็นเดิมพันที่มากกว่าจะได้เข้าเรียนหรือไม่ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือเขาจะรอดพ้นจากที่นี่เพื่อมีชีวิตใหม่ที่อาจดีกว่านี้ได้หรือไม่ และนี่คือบรรยากาศขณะที่เอ็ดดี้รู้ผลสอบ
“ฉันคว้าจดหมายนั้น นายแบลล์เกิล ทางโรงเรียนมาดแลน – มีเชอลีส์ มีความยินดีที่จะแจ้งให้คุณทราบว่า
ฉันวิ่งออกไปทันที แว่บหนึ่งที่ได้ยินแม่พูด เอ็งเกิดเป็นบ้าอะไรขึ้นมาเนี่ย
ฉันไม่อยากอยู่ใกล้พวกเขา ฉันปฏิเสธไม่ใช้เวลาแห่งความสุขนี้กับพวกเขา ฉันอยู่ไกลแล้ว ฉันไม่อยู่ในโลกเดียวกับพวกเขาอีกต่อไป จดหมายบอกกับฉันแบบนั้น ฉันไปที่ทุ่งหญ้า และฉันเดินเกือบทั้งคืน ความสดชื่นของภาคเหนือ ถนนดิน กลิ่นคาโนลาที่โชยฟุ้งในช่วงเวลานั้นของปี
ตลอดทั้งคืนนั้นอุทิศให้แก่การก่อร่างสร้างชีวิตใหม่อันไกลห่างจากที่นี่”
คนปกติธรรมดาที่มีพ่อแม่ยืนอยู่ข้าง ๆ และพร้อมปรบมือให้ความสำเร็จไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กหรือใหญ่ คงไม่มีทางเข้าใจความโดดเดี่ยวนี้ มันโหดร้ายแค่ไหนที่เด็กสักคนเลือกที่จะวิ่งออกไปนอกบ้านเพื่อยินดีกับตัวเองในห้วงขณะหนึ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต แทนที่จะวิ่งไปกอดพ่อและแม่ของเขา
หลังจากเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เอดูอารด์ก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปิการ์ดี ภาควิชาประวัติศาสตร์ ในปี 2010 ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับ ‘ดิดิเย่ เออริบง’ (Didier Eribon) อาจารย์และนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังผู้เห็นถึงศักยภาพของเอดูอารด์และสนับสนุนให้เขาย้ายไปเรียนที่ ‘École normale supérieure’ สถาบันการศึกษาชั้นสูงของฝรั่งเศสในปีถัดมา
จากนั้น เขาศึกษาต่อที่ ‘École des hautes études des sciences sociales’ (School for Advanced Studies in Social Sciences) จนจบปริญญาโทในปี 2013 กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีสังคมวิทยาของ ‘ปิแยร์ บูรดิเออ’ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส เขาตีพิมพ์หนังสือทฤษฎีของบูรดิเออที่มีชื่อว่า ‘Insoumission en Héritage’ ร่วมกับนักคิดนักเขียนชื่อดังคนอื่น ๆ
งานเขียนและผลกระทบต่อครอบครัว
ความเชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเขาไม่ใช่เพียงผลงานอัตชีวประวัติ แต่มีลักษณะของ ‘อัตชีวิตประวัติเชิงสังคมวิทยา’ (auto-socio-biography) เฉกเช่นเดียวกับงานวรรณกรรมของเดียวกับ ‘อานนี แอร์โนซ์’ (Annie Ernaux) นักเขียนหญิงจากฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด ผู้เล่าเรื่องราวในอดีตของชีวิตตัวเองพร้อมกับวิเคราะห์ด้วยมุมมองเชิงสังคมวิทยา
ปี 2013 เอดูอารด์ตีพิมพ์นิยายเล่มแรก ‘En Finir avec Eddy Bellegueule’ หรือฉบับแปลภาษาไทย ‘อวสานเอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ บอกเรื่องราวในชีวิตวัยเด็กของเขาตามที่บทความนี้ได้ยกมาเล่าในข้างต้น ซึ่งนอกจากตัวบทที่ยกมาให้อ่านแล้ว ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ลุ่มลึก และชวนให้ถกเถียง
ท่ามกลางความสำเร็จและเสียงชื่นชมต่องานวรรณกรรมชิ้นแรกในชีวิต เอดูอารด์ต้องเผชิญหน้ากับคำถามถึงเรื่องส่วนตัวของเขาที่เขาได้บอกเล่าในหนังสือ สื่อและสาธารณชนสนใจใคร่รู้ว่าพ่อเขาเป็นใคร แม่เขาเป็นใคร พี่น้องเขาเป็นใคร เพื่อนที่รังแกเขาเป็นใคร สภาพบ้านหรือชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
สื่อบางสื่อไปถ่ายทำบ้านเก่าของเขาที่เมืองซอมม์ สัมภาษณ์เพื่อนบ้าน น้องชาย และแม่ของเขาผู้กล่าวหาว่าเขาเอาคนทั้งบ้านไปประจาน พร้อมยืนยันว่าครอบครัวไม่ได้ยากจนขนาดนั้น และงานเขียนของเอดูอารด์เป็นเรื่องลวงโลก
ความขัดแย้งนี้สร้างรอยร้าวระหว่างเขากับครอบครัวไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเขารู้อยู่แล้วว่านี่คือราคาที่ต้องจ่ายหากนำชีวิตจริงมาเขียนหนังสือ
ก่อนจะตีพิมพ์เผยแพร่ เขาก็มีอารมณ์หวาดหวั่นบ้างถึงผลลัพธ์ในทางลบที่อาจเกิดขึ้นตามมา แต่สุดท้าย เขาก็แข็งแกร่งพอที่จะยืนยันเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ นั่นคือการชำแหละกลไกของอำนาจทุนนิยมในสังคมชนชั้นแรงงานและสร้างความตระหนักรู้ว่า ชีวิตกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเพราะอยากจะแก้ไขครอบครัวหรือคนที่เคยทำร้ายเขาในอดีต
เขาขับเน้นเจตนารมณ์เดิมของเขาในนิยายเรื่องต่อ ๆ มา เช่น ‘คนที่ฆ่าพ่อฉัน’ (Qui a tué mon père) ปี 2018 และ ‘การต่อสู้และการเปลี่ยนสถานะของผู้หญิงคนหนึ่ง’ (Combats et Métamorphoses d’une Femme) ปี 2021 เขาพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐมีผลมากขนาดไหนกับคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเขา
ปัจจุบัน เอดูอารด์ยังคงผลิตงานเขียนออกมาเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจจากสาธารณชนอยู่เสมอ งานเขียนของเขาได้รับการแปลไปหลายภาษา
ผู้ที่ได้อ่าน ‘อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเรื่องเล่าของเอดูอารด์ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้เขียน แต่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนทุกคนที่ถูกแปะป้ายว่าผิดแผกแตกต่าง
เนื่องในโอกาสเดือน Pride ปีนี้ หลายคนคงกำลังตื่นเต้นกับพาเหรดและธงสีรุ้งที่กำลังจะปรากฏให้เห็นไปทั่วทุกที่ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องที่แสดงถึงการมีสิทธิมีเสียงในสังคม ฉันอยากใช้เรื่องราวของเอ็ดดี้ใน ‘อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ เป็นอีกเสียงที่ตะโกนสู่สังคมว่า พอกันทีกับอคติทางเพศ ประสบการณ์ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ได้คู่ควรแก่ใครเลยสักคนในโลกใบนี้ และคนเราไม่จำเป็นต้องสูญเสียวัยเด็กหรือชีวิตทั้งชีวิตเพียงเพื่อจะเป็นตัวของตัวเอง
Happy Pride!
เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ: เอดูอารด์ หลุยส์ โดย Mariusz Kubik สิทธิการใช้งาน CC BY 4.0