22 ม.ค. 2562 | 16:43 น.
มีใครรู้บ้างว่า ตลอดชีวิตของ ยืนยง โอภากุล เจ้าตัวร้องเพลง “บัวลอย” ไปแล้วกี่ครั้ง
ไม่มีใครจดบันทึกไว้หรอก อย่าแม้กระทั่งไปถาม แอ๊ด คาราบาว เพราะเขาก็คงอดนับนิ้วไม่ได้ แต่เราสามารถอนุมานได้จากความถี่ในการแสดงสด เพราะอย่างน้อยๆ ทุกคอนเสิร์ตนับจากปลายปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา วงคาราบาวต้องร้องบรรเลงเพลง “บัวลอย” เสมอ เพราะนี่คือหนึ่งในรายชื่อเพลงยอดนิยมที่จะขาดเสียไม่ได้ ไม่อย่างนั้น ก็เหมือนคอนเสิร์ตยังไม่จบลงโดยสมบูรณ์ หรือไม่สะเด็ดน้ำนั่นเอง
“บัวลอย” เป็นเพลงปิดท้ายในอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” ซึ่งเริ่มออกวางขายเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2527 ในยุคที่ชื่อเสียงของวงกำลังเริ่มขยับสถานะขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ จากการเป็น“ศิลปินหน้าใหม่” (Developing Artist) มาสู่การเป็น “ศิลปินเต็มตัว” (Established Artist) โดยที่ก่อนหน้านั้น พวกเขามีเพลงที่สร้างความฮือฮาให้แก่สังคมไทยมาแล้ว ด้วยเพลงอย่าง “ท.ทหารอดทน” ซึ่งถูกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ในขณะนั้น สั่งห้ามออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ
(สังเกตบ้างไหมว่า เป็นเพราะภาครัฐนั่นแหละ ที่มีส่วนทำให้เพลงๆ หนึ่งได้รับความสนใจหรือความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลามมากยิ่งขึ้น)
ความนิยมที่มีต่ออัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” เกิดขึ้นในยุคที่แผงเทปกำลังเฟื่องฟูสุดขีด สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ แอ๊ด คาราบาว พยายามตอกย้ำถึงยอดขายที่แท้จริงเสมอ แม้จะไม่สอดคล้องกับรายงานยอดขายของค่ายแกรมมี่ก็ตาม
ด้วยระยะเวลา 32 ปี กับการแสดงที่ไม่น้อยกว่า 240 โชว์ในแต่ละปี (เฉลี่ยเดือนละ 20 โชว์) ในฐานะวงดนตรีที่มีคิวแสดงต่อเนื่องตลอดเวลา จนแทบไม่มีวันหยุด พอจะคำนวณได้ว่า แอ๊ด คาราบาว ร้องเพลง “บัวลอย” ไปแล้วหลายพันครั้ง
สมการง่าย ๆ มีดังนี้ = จำนวนปี x จำนวนการแสดงเฉลี่ยในแต่ละปี
= 32 ปี x 240 รอบ
= คำตอบคือ 7,680 ครั้ง !
ไม่เพียงเพลง “บัวลอย” เท่านั้น ในการแสดงสดแต่ละครั้งของวงดนตรี คาราบาว ไม่ว่าจะเป็นเวทีคอนเสิร์ตขนาดยักษ์ ไปจนถึงร้านเหล้าเพื่อชีวิตเล็กๆ ตามต่างจังหวัด พวกเขามีรายชื่อเพลง (song list) ที่ “ต้องเล่น” จากยุคคลาสสิกอีกนับสิบเพลงด้วยกัน อาทิ “วณิพก” “ราชาเงินผ่อน” “หำเทียม” “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” “เจ้าตาก” ฯลฯ เป็นต้น
ด้วยความถี่เช่นนี้ จึงน่าจินตนาการต่อว่า แล้วส่วนตัวของแอ๊ด คาราบาว รู้สึกอย่างไร กับการร้องเพลงเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นจำนวนนับพันนับหมื่นครั้ง เขาเปลี่ยนแปลงความซ้ำซากจำเจเหล่านั้น ให้กลายมาเป็นพลังของความสดใหม่ได้อย่างไร?
เพราะอย่างที่พบเห็น พลันที่เสียงกีตาร์ โซโล่ท่อนอินโทร. เพลงของคาราบาวดังขึ้นเมื่อใด เวทมนตร์ของเพลงได้สร้างความฮึกเหิมให้แก่มิตรรักแฟนเพลงทันที พวกเขามีอาการดีดดิ้น มีชีวิตชีวา ส่ายตัวไปมา บนจังหวะสามช่าแทบทุกครั้ง
หากจะตอบเรื่องนี้แบบมืออาชีพ ที่ผ่านมา มีคำอธิบายจากศิลปินนักร้องทั้งไทยและต่างประเทศให้เรารับรู้ก่อนหน้านี้บ้างแล้ว เพราะนอกจาก “บัวลอย” โลกนี้ก็ยังมีเพลงอีกไม่น้อย ที่กลายมาเป็นบทเพลงประจำตัวของนักร้องคนนั้นๆ เพียงแต่ความถี่ในการร้องบรรเลง อาจจะไม่ถล่มทลาย เมื่อเทียบเท่ากับกรณีของคาราบาวที่เดินสายออกต่างจังหวัดเป็นกิจวัตร
นักร้อง/นักกีตาร์ อย่าง เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) มาพร้อมกับเพลง Wonderful Tonight ที่ยกย่องกันว่า เป็นเสมือน “เพลงชาติผับ” ซึ่งร้องขับขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ หรือจะเป็นเพลง Hotel California ของ ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) ซึ่งร้องโดย ดอน เฮนลีย์ (Don Henley) ก็สร้างความฮอตฮิตไม่แพ้กัน เพียงแต่หลัง “วงแตก” ดิ อีเกิลส์ ก็รวมกันแบบเฉพาะกิจเท่านั้น
ป๊อด ธนชัย อุชชิน เป็นนักร้องคนหนึ่งที่มีเพลงฮิตในนาม “โมเดิร์นด็อก” และมีประสบการณ์ร้องเพลงซ้ำมานับไม่ถ้วน (ก่อน, บุษบา, หมดเวลา) ทว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ป๊อดตั้งใจไปฟังการแสดงสดจากศิลปินร็อกคนโปรดในเทศกาลฟูจิร็อก โดยหวังจะได้ฟังเพลงๆ หนึ่งอย่างมาก ณ ห้วงเวลานั้น ป๊อดก็ค้นพบด้วยตัวเองโดยบังเอิญว่า
“เหตุที่เราต้องร้องเพลงๆ นั้น ซ้ำๆ นับครั้งไม่ถ้วน ก็เพราะมีแฟนเพลงอีกนับไม่ถ้วน ที่อยากฟังเสียงร้องสดๆ ของเรานั่นเอง”
ดูเหมือนว่า แอ๊ด คาราบาว ไม่มีปัญหากับการร้องเพลงเดิมซ้ำ ๆ แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเดินสายทัวร์อย่างต่อเนื่อง ราวกันไม่มีวันเหนื่อยล้า แม้จะมีสัญญาณหลายครั้งที่บ่งบอกว่า เขาพยายามไปให้ไกลกว่าเพดานบินแบบเดิมๆ ด้วยการทำอะไรที่แปลกแหวกแนวออกไป อาจจะเป็นการทำโปรเจกต์ส่วนตัว หรือทดลองอะไรบางอย่างที่แตกต่าง
เพราะการอยู่กับสมาชิกหน้าเดิม ๆ ของวงคาราบาว พอนานวันเข้า ก็พลอยจะทำให้ทุกอย่างเป็นแบบแผนเดิมๆ (routine) ที่ไม่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์เท่าใดนัก (ฮา)
พูดถึงความคิดสร้างสรรค์ที่บรรเจิดออกมาในช่วงหลัง ต้องนับว่า ปี พ.ศ.2555-57 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ดีอีกช่วงหนึ่งของ แอ๊ด คาราบาว เห็นได้จากการที่เขามีไฟในการทำงานดนตรีอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการคลอดอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองถึง 2 ชุด กับค่ายเพลงวอร์นเนอร์ นั่นคือ “กันชนหมา” และ “วันวานไม่มีเขา... วันนี้ไม่มีเรา” พร้อม ๆ กับทดลองเล่นดนตรีกับเพื่อนนักดนตรีคนอื่นๆ นอกเหนือจากสมาชิกวงคาราบาว
นักดนตรีในกลุ่มนี้ อาทิ หรั่ง อิสระ สุวรรณณัฐวิภา (เปียโน) เอ็ดดี้ สุเทพ ปานอำพัน (เบส) อ๊อด อ่างทอง (คีย์บอร์ด/เพอร์คัสชั่น) เพชร พชรพรรณ สุทธนนท์ (ร้องประสาน) และ หมี ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (กีตาร์) ซึ่งคงสร้างความกระชุ่มกระชวยให้แก่เจ้าตัวอยู่ไม่น้อย
นอกจากนี้ ในวงการภาพยนตร์ ยังมีการนำเรื่องราวของวงคาราบาว ไปสร้างเป็นหนังเรื่อง “ยังบาว” (โดยที่สมาชิกวงคาราบาวเคยแสดงหนังเรื่อง “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” เมื่อปี พ.ศ. 2528 ซึ่งสอดรับกับกระแสนิยมจากอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” ในช่วงนั้น) ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ. 2556 แอ๊ด คาราบาว ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามด้วยการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล)
โดยภาพรวม นับเป็นช่วงเวลาดีๆ ในความทรงจำของชีวิตลูกผู้ชายที่ชื่อ ยืนยง โอภากุล
หลังการรัฐประหารของ คสช. เป็นต้นมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมของ แอ๊ด คาราบาว ที่ดูจะห่างหายและขาดช่วงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกับ คาราบาว ซึ่งไม่มีความเคลื่อนไหวทางดนตรีใหม่ๆ เท่าใดนัก นอกเหนือจากคอนเสิร์ตครบรอบ 35 ปี ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2559
ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับคาราบาว ตามที่ปรากฏแก่สาธารณะในระยะหลัง หนีไม่พ้นการรุกของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งกำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง อย่าง “คาราบาวคัพ” ในลีกคัพของอังกฤษ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2561
แต่ไม่ว่าจะห่างหายไปนานเพียงใด ทุกครั้งที่ก้าวขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นสนามเล็กหรือใหญ่ สำหรับ แอ๊ด คาราบาว แล้ว เพลง “บัวลอย” จะต้องเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ต้องบรรเลงเสมอ
“ไม่เล่น ก็ไม่ได้ เดี๋ยวคนดูจะว่าเอา เหมือนกับว่าคนมาดูคาราบาวแล้วไม่ได้เหงื่อกลับบ้านก็จะไม่สนุก” แอ๊ด คาราบาว เคยปรารภกับผมไว้อย่างนั้น
ภาพ: วอร์นเนอร์ มิวสิค ประเทศไทย