วงฝรั่งชื่อ ‘เครื่องบิน’ ผสมดนตรีหมอลำ-World Music กับอัลบั้มเด็ดที่ผสมแอฟริกันบลูส์ด้วย

วงฝรั่งชื่อ ‘เครื่องบิน’ ผสมดนตรีหมอลำ-World Music กับอัลบั้มเด็ดที่ผสมแอฟริกันบลูส์ด้วย

วงดนตรีจากสหรัฐฯ ชื่อวงเป็นคำภาษาไทยว่า ‘เครื่องบิน’ (Khruangbin) ผสมดนตรีหมอลำในไทย รวมกับดนตรีจากภูมิภาคอื่น และ World Music ผลงานอัลบั้มเมื่อปี 2022 ยังผสมแอฟริกันบลูส์ ออกมาเป็นอัลบั้มแหวกแนวที่ฟังง่ายและน่าสนใจ

  • วง ‘เครื่องบิน’ (Khruangbin) วงทริโอจากสหรัฐฯ สร้างชื่อและฐานแฟนเพลงตามลำดับจากงานดนตรีที่ผสมอิทธิพลของดนตรีท้องถิ่นในไทย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งเอเชีย แอฟริกา และตะวันออก 
  • อัลบั้มเมื่อปี 2022 วง ‘เครื่องบิน’ ร่วมงานกับ วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูห์เร (Vieux Farka Touré) แห่งสาธารณรัฐมาลี (Mali) บุตรชายของศิลปินระดับตำนานดนตรีโลกผู้ล่วงลับอย่าง อาลี ฟาร์ก้า ทูห์เร (Ali Farka Touré) ออกมาเป็น ‘ดนตรีโลก’ ที่น่าสนใจ

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าหากจะกล่าวถึงดนตรีประเภท World Music ที่เกิดขึ้นมาอย่างรุ่มรวยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แม้ว่าจะถูกนิยามในโลกตะวันตกอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Global หรือ Earth Music นั้น หากนิยามในภาษาไทยนั้นคงมีเพียงความหมายเดียวนั้นหมายถึง ‘ดนตรีโลก’ ซึ่งทั้ง 3 คำ World-Global-Earth ต่างสะท้อนถึงพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่มของคำว่า World Music นั่นคือการสร้างความหมายผ่านตลาดการฟังเพลงที่มุ่งเน้นการนำเข้าดนตรีนอกวัฒนธรรมตะวันตกเข้าผสมกับดนตรีตะวันตก

และสิ่งซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญในมิติทางการตลาดของธุรกิจดนตรี คือการปรากฏตัวของการจัดลำดับเพลงของสถาบันสำคัญอย่าง ‘บิลบอร์ด’ (Billboard) ที่ได้แยกแนวทางดนตรีโลกเอาไว้ในช่วงทศวรรษที่ 1990 มาสู่การเรียกเชิงต่อต้านกับคำเดิมโดยไม่ใช่นิยามแบบพ่อค้าทางดนตรีที่เลือกหยิบนำวัตถุดิบเสียงนอกโลกตะวันตกมาใช้ เพียงเพื่อสร้างสรรค์เสียงดนตรีข้ามวัฒนธรรมใหม่ที่ต้องปรับให้เข้ากับโลกตะวันตกเท่านั้น อย่าง Global Music ที่ต้องการนิยามดนตรีนอกวัฒนธรรมตะวันตกว่ามีอำนาจอธิปไตย (autonomy) เป็นของตนเอง

จนกระทั่งการเกิดนิยาม Earth Music ในปัจจุบันที่สะท้อนว่า เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 นับจากดวงอาทิตย์ เป็นคำนิยามในมุมมองที่ว่าไม่มีใครสำคัญกว่าใคร เราต่างเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพากัน โดยที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเราต่างมีอธิปไตยได้ด้วยตัวของเราเอง ซึ่งเป็นการต่อสู้ผ่านความหมายหรือการสร้างวาทกรรม เพื่อสะท้อนถึงรูปแบบของระบบความคิดหรือกรอบคิดที่มีลักษณะเป็นสถาบันและการสืบทอดที่แตกต่างกัน

ทว่าในโลกปัจจุบันดนตรีโลกยังคงมีพลวัตที่ไม่หยุดนิ่ง ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือกันทำผลงานเพลงชุดใหม่ที่เพิ่งออกเมื่อปี 2022 ระหว่างวงดนตรีชื่อไทยแต่กลับเป็นชาวอเมริกันจากเท็กซัส ในนามวง ‘เครื่องบิน’ (​Khruangbin) กับ วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูห์เร (Vieux Farka Touré) แห่งสาธารณรัฐมาลี (Mali) บุตรชายของศิลปินระดับตำนานดนตรีโลกผู้ล่วงลับอย่าง อาลี ฟาร์ก้า ทูห์เร (Ali Farka Touré) ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘African desert blues’ เขาเคยถูกเปรียบเทียบว่าเป็นจอห์น ลี ฮุคเกอร์ (John Lee Hooker) แห่งทะเลทรายซาฮาร่า

วงเครื่องบินเป็นใคร?...ทำไม ‘วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูหร์เร’ จึงเลือกพวกเขามาร่วมงานด้วย?

สมาชิกวงเครื่องบินประกอบด้วย มาร์ก สเปียร์ (Mark Speer) เป็นมือกีตาร์และร้อง, ลอร่า ลี โอชาว์ (Laura Lee Ochoa) มือเบส และโดนัลด์ จอห์นสัน (Donald Ray “DJ” Johnson) มือกลอง

พวกเขาเริ่มต้นจากสเปียร์และจอห์นสันที่มีภูมิหลังทางดนตรีจากการเล่นดนตรีทุกวันอาทิตย์ในคริสตจักร St.John’s Downtown นิกาย Methodist ซึ่งเป็นโบสถ์เดียวกันกับครอบครัว Knowles เป็นสมาชิก หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปอย่าง บียอนเซ่ (Beyoncé) ได้เติบโตทางความเชื่อขึ้นมาจากที่แห่งนี้

ลอร่า ลี คือผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและทำงานในพิพิธภัณฑ์ วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานของเขาชวนมาพบปะสังสรรค์กับชุมชนโบสถ์ในวันอังคาร และพบว่าสเปียร์ กำลังนั่งดูสารคดีดนตรีอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความสนใจเดียวกันกับเธอที่เรียนศิลปะมา และหลังจากการซ้อมดนตรีสำหรับเล่นในโบสถ์ในคืนวันวันอังคารกว่าสามปีทำให้พวกเขารู้จักและสนิทสนมกันมา

ในขณะที่อิทธิพลทางดนตรีของวงนั้นมาจากการฟังเพลงจากกลุ่มดีเจที่นำเสนอบทเพลงไทยในยุค 60-70s ผ่านโลกออนไลน์ซึ่งเพลงที่พวกเขาฟังมีทั้งรูปแบบดนตรีลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงแบบวง The Shadow ซึ่งมีกลิ่นอายของดนตรี Funk, Soul, Psychedelic ยุค 60-70s อย่างเข้มข้น และพวกเขาเปิดเพลงเหล่านั้นระหว่างทางไปซ้อมเพื่อบันทึกเสียง ณ สตูดิโอในโรงนา โดยพยายามน้อมนำรับดนตรีต่าง ๆ ซึมซับไปอยู่ในจิตใต้สำนึกสำหรับนำมาประยุกต์ในการสร้างงานดนตรีของตัวเอง

หากกล่าวโดยสรุป สมการของวงเครื่องบิน คือกลุ่มคนที่ประกอบกันขึ้นมาจาก โดนัลด์ จอห์นสัน ที่เติบโตมาในดนตรีโบสถ์ในแบบ R&B และ Gospel ลี ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่สามารถเล่นเบสได้อย่างเชียวชาญและแต่งตัวโฉบเฉี่ยวทุกครั้งที่ทำการแสดง (เธอใส่เสื้อผ้าไม่เคยซ้ำกัน และยังใช้บริการนักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังหลายคน เช่น Alberta Ferretti, Christopher Kane, Mary Katrantzou) และสเปียร์ที่มีความสนใจในดนตรีจากทั่วทุกมุมโลกและทำหน้าที่ส่งผ่านและแบ่งปันรสนิยมส่วนตัวให้เพื่อน ๆ ในวง ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางดนตรีที่น่าสนใจ ชวนค้นหาในเสียงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักแต่กลับมีความเชื่อมโยงกับรสนิยมของผู้คนในปัจจุบันได้อย่างลงตัว

ผลงานของพวกเขาผสมผสานดนตรีที่ได้อิทธิพลจากงานเพลงในไทย, เม็กซิโก และแอฟริกาตะวันตก ออกมาได้น่าสนใจและขยายฐานแฟนเพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

แน่นอนว่าผลงานเพลงในอัลบั้มพิเศษเมื่อปี 2022 เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำของตำนานอย่าง อาลี ฟาร์ก้า ทูห์เร ดังจะเห็นได้จากชื่อของอัลบั้มที่ชื่อว่า ‘Ali’ โดยมีบุตรชายของเขาสืบทอดตำนานเสียงผ่านฝีมือและสายเลือด ที่แม้ว่าบิดาของเขาเองจะไม่ค่อยอยากให้เขาเป็นนักดนตรีเท่าไหร่นัก แต่อาจกล่าวได้ว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว เขาได้ปลุกซุ่มเสียงจากทะเลทรายซาฮาร่ากลับมามีชีวิตใหม่ ร่วมกับวงเครื่องบินที่ขับเน้นดนตรีแนวย้อนยุคชวนหวนรำลึกสู่กลิ่นอายของเสียงดนตรีในช่วงตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960 จากดนตรี Funk, Classic Soul และ Psychedelia ที่เคยเกิดขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยที่สะท้อนผ่านชื่อวงและกลิ่นอายในดนตรีของพวกเขา

พวกเขาเคยร่วมบรรเลงเวทีเดียวกันที่กรุงลอน ณ Roundhouse ตั้งแต่ปี 2018 จนทำให้ วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูห์ เกิดความประทับใจในรูปแบบดนตรีที่วงเครื่องบินนำเสนอ จนในปีต่อมาผู้จัดการของ วีฟิวอฺ นำเสนอให้วงเครื่องบินคู่ควรที่จะทำอัลบั้มที่จะนำเพลงของพ่อเขามาเล่าใหม่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวงเครื่องบินกำลังทำอัลบั้ม Mordechai และเพลงเดี่ยวอย่าง Texas Sun (เพลงที่ได้ร่วมงานกับศิลปิน Neo Soul คนสำคัญอย่าง ลีออน บริดจ์ (Leon Bridges) มียอดฟังในสตรีมมิ่งกว่า 160 ล้านครั้ง)

พวกเขาทำงานกันที่ห้องบันทึกเสียงเมือง Houston ในเดือนมิถุนายน ปี 2019 ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงที่วงเครื่องบินเป็นผู้ตามรอยเสียงในบทเพลงที่ วีฟิวอฺ นำเสนอ โดยไม่มีการตระเตรียมล่วงหน้าเหมือนกับกระบวนการปกติของการสร้างสรรค์บทเพลงที่ต้องมีการวางโครงสร้างหรือเรื่องราวในการนำเสนอให้เห็นเค้าโครงก่อน ถือเป็นการบันทึกเสียงที่เกิดขึ้นจากกระบวนร่วมกันบรรเลงคีตปฏิภาณ (improvisation) หรือตีความจากบริบทที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าฉับพลัน เพียงแค่ วีฟิวอฺ สั่งว่า ‘ไป’ บทเพลงก็เกิดขึ้นและดำเนินอย่างลื่นไหล

วีฟิวอฺ กล่าวชื่นชมวง ‘เครื่องบิน’ ที่สามารถเข้าใจและลื่นไหลไปกับบทเพลงที่แม้พวกเขาไม่รู้จัก แต่สามารถประกอบร่างเป็นดนตรีใหม่ที่เขารู้สึกถึงความผ่อนคลายและมีสันติสุข โดยที่พวกเขานั่งร่วมกันบรรเลง 4 คน เพื่อที่จะเล่นบทเพลงของพ่อเขาที่วงเครื่องบินไม่รู้จัก

โดนัลด์ จอห์นสัน มือกลองแห่งวงเครื่องบินเล่าว่า เป็นการทำงานที่แทบจะไม่มีกรอบ ซึ่งโดยปกติแล้ววงพวกเขาจะมีการเตรียมตัวล่วงหน้าหรือมี roadmap ก่อนที่จะทำการบันทึกเสียงที่จะล่วงรู้ได้ว่าเมื่อถึงจุดไหนต้องทำอย่างไรบ้าง

เขาเปรียบว่าการทำงานครั้งนี้เหมือนกับมองไม่เห็นหนทางข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร และสำหรับเขาถือว่ามีความคุ้นเคยกับเพลงของวีฟิวอฺ น้อยสุดเมื่อเทียบกับสมาชิกวงอย่าง สเปียร์ (Mark Speer) มือกีตาร์ และลอร่า ลี โอชาว์ (Laura Lee Ochoa) มือเบส ที่น่าจะคุ้นชินกับเสียงเพลงของอาลีมากกว่าเขา

อย่างไรก็ตาม เขาต้องใช้สัญชาตญาณในการเลือกเฟ้นเสียงที่เหมาะสมผ่านการตีให้ได้มากที่สุดผ่านหูที่รับข้อมูลและตีความสภาพบรรยากาศ-เหตุการณ์ในเวลานั้น

และความกังวลนี้ก็เกิดขึ้นกับมือกีตาร์อย่างสเปียร์ ด้วยเช่นกัน เพราะเขากลัวว่าเสียงที่เล่นจะไปกีดขวางวิถีการบรรเลงของวีฟิวอฺ แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดีเมื่อพวกเขาเริ่มบรรเลงร่วมกัน และใช้เวลาบันทึกเสียงในแต่ละแทร็กไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยครั้งแรกเป็นการเรียนรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในการจะใส่เสียงแต่ละเครื่องมือลงไปไม่ว่าจะเป็นกลอง กีตาร์ เบส และครั้งที่สองคือการเอาจริง ซึ่งไม่เป็นปัญหาแม้ว่าจะมีไวยกรณ์ทางดนตรีที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายร่วมกันคือการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์แบบเพื่อนฝูงมานั่งคุยกัน และสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพของพวกเขายังเกิดขึ้นจากการใช้เวลาร่วมกันนอกงานคือการกินปลาเกือบทุกมื้อในการบันทึกเสียง

การทำงานอัลบั้มดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงด้วยเงื่อนไขของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วง 2020 ที่ไม่สามารถมานั่งร่วมตัวกันเพื่อบันทึกเสียงได้ จนกระทั่งพวกเขาจบงานได้ในช่วง 2021 ที่สมาชิกวงเครื่องบินทั้งสามคนสามารถกลับมานั่งทำงานตัดต่อปรุงแต่งเสียงให้สมบูรณ์ เพื่อให้คนฟังได้ฟังเสียงที่รู้สึกเหมือนกับที่พวกเขารู้สึกเมื่อครั้งได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งบางส่วนของเสียงที่ได้ปรุงแต่งไปคือการขับเน้นให้ผู้ฟังรู้สึกถึงกลิ่นดินกลิ่นฝุ่นที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเพลง ‘Mahine Me’ ที่สะท้อนความปรารถนาที่จะให้ผู้ฟังสัมผัสบรรยากาศของเสียงได้เป็นอย่างดี

‘Mahine Me’ คือบทเพลงที่มีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าของวีฟิวอฺ บรรเลงนำ และตามด้วยท่อนร้องร่วมกันซ้ำไปมาเพียง 4 วลี ที่ร้องว่า Ma hine ni me Ma hine thie Ma hine ni mes Ma hine ni thie ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับส่วนธีมหรือส่วนหัวของบทเพลงที่เป็นแกนหลักให้จดจำที่พบเจอได้โดยทั่วไปในธรรมเนียมของการบรรเลงบทเพลงแจซ และตามด้วยการบรรเลงคีตปฏิภาณของเสียงกีตาร์ วีฟิวอฺ โดยทางวงเครื่องบินทำหน้าที่บรรเลงสนับสนุน ด้วยการบรรเลงกลองในรูปแบบจังหวะ Blues Shuffle และเบสกระตุกท่วงทำนองที่คล้ายกับทางเดินเบสแบบดนตรีเร็กเก้ เพิ่มเติมเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ เข้าไปประกอบ ซึ่งชวนให้นึกถึงท่วงทำนองของเพลงอีสานบ้านเราที่มีเสียงโหวดและแคนบรรเลงเป็นทำนองสอดประสาน

การรวมตัวกันของคนดนตรีโลกนามอุโฆษในโลกตะวันตกชวนให้ตั้งคำถามกับพลวัตของสิ่งซึ่งสะท้อนถึงคำถามการส่งออกหรือการแสดงออกแบบข้ามวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยกลไกใด จิตสำนึกของการนำเสียงต่าง ๆ ในแต่ละมุมโลกมาใช้เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนในงานดนตรีโลกนั้น ยังคงอยู่ต่อไปในแบบที่ผลิตซ้ำกลไกแนวคิด World Music หรือไม่

แม้ว่าเราจะมาถึงจุดที่เรียกได้ว่า ดนตรีแบบนี้ในโลกตะวันตก ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า Global หรือ Earth ก็ตาม แต่กลไกใดจะเป็นตัวขับเคลื่อนท้องถิ่นไปสู่สากลโลกได้ ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบ และพอให้เห็นเค้าลางว่า แม้แต่ศิลปินนามอุโฆษที่เป็นบุตรชายแท้ ๆ ของอาลี อย่าง วีฟิวอฺ ที่ยังต้องร่วมงานกับศิลปินที่มาจากโลกตะวันตกและมีชื่อเสียงในการขุดและหยิบยืมหรือสะสมสำเนียงเสียงต่าง ๆ ในโลกมาผสมผสานบนพื้นฐานดนตรีอเมริกันสมัยใหม่ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงเต้นรำแบบกลุ่มคนมีฐานะ มากกว่าจะเป็นเพลงเต้นรำที่เกิดขึ้นจากคนท้องถิ่นจริง ๆ

โดยจะเห็นได้ว่า แม้พลังของความเป็นบุตรชายอาลี จะส่องแสงได้ประมาณหนึ่งแต่ยังคงต้องอาศัยแสงจากเจ้าอาณานิคมใหม่อย่างอเมริกาผสมโรงเพื่อเพิ่มพลังและอำนาจของเสียงดนตรีโลกให้ยังคงอยู่ในเวที ซึ่งหากเปรียบเปรย คงไม่ต่างอะไรจากการที่วีฟิวอฺ เลือกใช้เครื่องขยายที่มีกำลังขับดังกว่าและทันสมัยกว่า เพื่อใช้ผลิตซ้ำสิ่งที่บิดาได้เคยทำสำเร็จไว้จนกลายเป็นตำนาน

หากย้อนกลับมามองวงที่สามารถกล่าวได้ว่ากำลังทำสิ่งที่เรียกว่าดนตรีโลกในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้นแผ่นเสียงเพลงไทยช่วงสงครามเย็นที่มีกลิ่นอายของการผสมผสานดนตรีอเมริกันให้กลับมาอย่างดีเจ Maft Sai ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันวงอย่าง The Paradise Bangkok Molam ให้มีชื่อเสียงในโลกของดนตรีโลก และวงอย่าง Asia7 ที่สร้างสรรค์ดนตรีโลกด้วยภาษาดนตรีของยุคสมัยปัจจุบัน ผ่านหัวหอกอย่าง ต้น - ต้นตระกูล แก้วหย่อง

พวกเขาคือส่วนหนึ่งของกลุ่มคนสามารถสร้างสรรค์ดนตรีโลกได้เป็นอย่างดี แต่ยังขาดเครื่องขยายเสียงให้ขจรขจายให้เป็นส่วนหนึ่งของฉากทางดนตรีโลกที่ควรเป็นที่จดจำได้มากกว่านี้ กระบวนการร่วมมือกันของ วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูห์เร กับ วงเครื่องบิน อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการขยายเสียงของดนตรีโลกให้ไปไกลกว่าที่เคยเป็นก็เป็นได้

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ภาพ: (ซ้าย) วงเครื่องบิน (ขวา) วีฟิวอฺ ฟาร์ก้า ทูห์เร ไฟล์จาก Getty Images