ผ่า ‘เพลงที่เก่าแก่สุดในโลก’ และการตีความปริศนาในท่วงทำนอง สู่เวอร์ชั่นของวง ‘Heilung’

ผ่า ‘เพลงที่เก่าแก่สุดในโลก’ และการตีความปริศนาในท่วงทำนอง สู่เวอร์ชั่นของวง ‘Heilung’

เรื่องราวของ ‘บทเพลงเก่าแก่ที่สุดในโลก’ ซึ่งยังเป็นปริศนา ตีความเป็นทำนองกันไปต่าง ๆ นานา มาสู่เวอร์ชันของ ‘Heilung’ วงที่ผสมดนตรีชาติพันธุ์เก่าแก่กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ และประเด็นสืบเนื่องจากกระแสนิยมวัฒนธรรมไวกิ้งของคนยุโรป

  • บทเพลงที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจากหลักฐานทางโบราณคดี ถูกเรียกในชื่อหนึ่งว่า Hymn to Nikkal 
  • ทำนองของเพลงในจารึกเก่าแก่ยังมีปริศนาทางดนตรีว่า จะตีความ และเล่นเป็นทำนองออกมาแบบไหน  
  • วง Heilung เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ตีความบทเพลงนี้ออกมาตามแนวทางของตัวเอง 

Heilung คือวงดนตรีแนวผสมผสานกลิ่นอายของเสียง(เพลง)ชาติพันธุ์เก่าแก่ที่ไม่ปรากฏในโลกปัจจุบันเข้ากับเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ วงมีสมาชิกหลัก 3 คน จาก 3 สัญชาติในแถบดินแดนภาคพื้นทวีปยุโรปทางตอนเหนือที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ร่วมกัน ประกอบด้วย Kal Uwe Faust ศิลปินช่างสักชาวเยอรมันที่มีความเชี่ยวชาญการลงลายอักขระ Norse หรือ Nordic สมัยโบราณ Christopher Juul นักทำเพลงจากเดนมาร์กกับเพื่อนสาวคู่รักของเขา Maria Franz นักร้องและนักดนตรีชาวนอร์เวย์

พวกเขาใช้ชื่อวงเป็นภาษาเยอรมันที่อ่านออกเสียงว่า ‘ฮายลุง’ (Heilung) เป็นคำนามเพศหญิง มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า Healing ที่หมายถึงการบำบัดหรือรักษาเยียวยา [1] พวกเขามีปณิธานที่จะผลิตเพลงจากการผสมผสานเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นจากโลกในยุคก่อนที่ศาสนาคริสต์จะเข้ามามีอำนาจนำในสังคมยุโรป 

พวกเขาพยายามพาคนฟังย้อนกลับไปหาเสียงแห่งความหลากหลายจากทุกดินแดนที่มีเก่าก่อนหน้านั้น พวกเขาอธิบายว่า พันธกิจหลักของวงเป็นการต่อขยาย(เสียง)ประวัติศาสตร์ (amplified history) [2] ที่ใช้ความสามารถทางดนตรีของพวกเขาเชื่อมต่อมนุษยชาติกับสังคมสมัยใหม่ผ่านเสียงดนตรี 

ผลงานใหม่ล่าสุดของพวกเขาคืออัลบั้มชื่อว่า Drif เป็นคำที่หมายถึงการรวมตัวกัน (gathering) คล้ายกับเปลวไฟที่พวยพุ่งขึ้นมาสร้างสรรค์ร่วมกัน เป็นภาพสะท้อนของสิ่งต่าง ๆ เข้ามารวมตัวกัน โดยชื่อผลงานชุดใหม่นี้ได้มาจากการทำเพลงในช่วงเวลาแห่งความมืดหม่นท่ามกลางการ lockdown จากผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผลงานชุดนี้จึงเปรียบเสมือนการเกิดใหม่และการผสมกลมกลืนกันภายใต้ความเคารพที่มีต่อธรรมชาติของโลกนี้ [3]

 

พัฒนาการของดนตรีท่ามกลางประวัติศาสตร์

ในแง่มุมทางดนตรีแล้ว พัฒนาการสำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลสำคัญต่อมนุษย์ ส่วนหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงของกล่องเสียงในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาล ความเปลี่ยนแปลงของกล่องเสียงส่งผลให้มนุษย์เปล่งเสียงที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น กระทั่งสามารถ ‘พูดจา’ ได้ ตามมาด้วยทักษะทางภาษา และแน่นอนว่า ‘การขับร้อง’ ด้วย

ท่ามกลางการก่อตัวของ ‘ดนตรี’ ภายหลังจากพัฒนาการทางกายภาพของมนุษย์ เรายังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของดนตรีโดยมนุษย์ย้อนหลังกลับไปไม่นานนักท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนานมหาศาล 

ขณะที่เหล่านักโบราณคดีต่างพยายามขุดค้นเสียงดนตรีโบราณขึ้นมาใหม่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เช่น การค้นพบเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในปี ค.ศ.1995 จากแหล่งโบราณคดียุคหินเก่า ณ Divje Babe ในเขตแดนสโลเวเนีย โดยพบกระดูกจากชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายขลุ่ย (Divje Babe flute) ของชาว Neanderthal มนุษย์โบราณราว 43,000 ปีก่อนที่เคยอาศัยอยู่ในแถบยูเรเชีย ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าอาจไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ชิ้นแรก จากที่เดิมทีเคยสันนิษฐานว่ามันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญแง่การใช้เครื่องมือหินเจาะรูที่กระดูกหมี ในเวลาต่อมากลับพบว่า เป็นเพียงร่องรอยการกัดของสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไฮยีน่าที่ประทับไว้บนกระดูก จนดูคล้ายกับเป็นความตั้งในการผลิตเครื่องดนตรีที่มีรูบนกระดูกสัตว์ของเหล่าบรรพบุรุษมนุษย์ [4]

สำหรับวง Heilung พวกเขาก็ใช้ข้อมูลโบราณคดีสำคัญนำมาขับเคลื่อนผลงานของวง พวกเขานำข้อมูลจากสิ่งที่เชื่อว่าเป็น ‘บทประพันธ์เพลงแรกของโลก’ ซึ่งพบว่าถูกจารึกไว้บนแผ่นดินเหนียว (Clay tablet) เมื่อ 3,400 ปีก่อน โดยนักโบราณคดีในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ขุดค้นพบหลักฐานทั้งการแต่งเพลงและกำหนดทิศทางการตั้งเสียงของพิณโบราณ (บันทึก)งานประพันธ์ถูกเรียกขานกันในชื่อ Hymn to Nikkal หรือ Hurrian Hymn หมายเลข 6 


เพลงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในชื่อ Hymn to Nikkal 

หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 โดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส Emmanuel Laroche ถูกตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1955 และ 1968 และมีความพยายามที่จะบันทึกเสียงบทประพันธ์ผ่านการตีความจากข้อมูลของศาสตราจารย์ Anne Kilmer และ ศาสตราจารย์ Theo Krispijn ซึ่งทั้งสองคนเป็นนักโบราณคดีและนักภาษาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเก่าแก่สมัยเมโสโปเตเมีย บันทึกเสียง ณ Tiger Shade Studio ประเทศอังกฤษ เรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่โดย Declann Flynn (Al-pha-X) และขับร้องโดย Ali Eve Cudby [5] 

แม้จะมีข้อมูลจากแผ่นดินเหนียวที่ถือว่าเป็นหลักฐานการประพันธ์เพลงของมนุษยชาติชิ้นแรกของโลกที่ค้นพบได้ยุคร่วมสมัย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะตีความบันทึกชิ้นนี้และเล่นถ่ายทอดมันออกมาอย่างไรกันแน่ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่วงทำนองที่ถูกจารึกนั้นเป็นรูปแบบภาษา Hurrian ซึ่งยังคงเป็นปริศนา ในปัจจุบันได้มีการตีความออกมาให้ฟังอย่างหลากหลาย บ่อยครั้งที่ฟังแล้วจะได้ยินแต่ละเวอร์ชันมีทำนองแตกต่างกันไป หนึ่งในเวอร์ชันเหล่านั้นก็เป็นวง Heilung ที่พยายามตีความเสียงเพลงโบราณจากจารึกปริศนาขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเชิงวิชาการมีการตีความและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นั่นเป็นหนึ่งในความท้าทายที่กระตุ้นและขับเคลื่อนให้วง Heilung ที่มาจากกลุ่มคน Germanic-Nordic ผลิตผลงานมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานของ Heilung

อัลบั้มชุด Drif เป็นผลงานชุดล่าสุดของพวกเขา นับตั้งแต่การปรากฏผลงานครั้งแรกในปี 2015 ชุด “Ofnir” (2015) ที่ยังไม่เป็นรู้จักมากนัก จนกระทั่งปี 2017 พวกเขามีการแสดงสดครั้งแรก ณ เทศกาลดนตรี Castlefest ที่สร้างภาพจำในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างออกไปจากวงดนตรีทั่วไป

เวลาต่อมา พวกเขาปล่อยผลงานชุดที่ 2 ชื่อ Lifa (2018) ตามมาด้วย Futha (2019) ที่เคยขึ้นชาร์ตจัดอันดับเพลงจากสถาบันใหญ่อย่าง Billboard [6] ความสนใจข้อมูลเชิงวิชาการของสมาชิกนำมาสู่การทำดนตรีเชิงทดลองที่ใช้เสียงจากแนวดนตรีพื้นบ้านหลายแหล่ง ขณะที่รูปแบบการแสดงสดของพวกเขาก็คล้ายคลึงกับพิธีกรรมที่ชวนให้ผู้คนหลงใหล ดังปรากฏให้เห็นจากการแต่งตัวของสมาชิกชายออกมาคล้ายกับนักรบไวกิ้ง (Viking) โบราณ และใช้เสียงในการนำเสนอบทเพลงที่ประกอบสร้างให้สัมผัสถึง ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ให้เกิดขึ้นในการแสดงสด

Heilung พยายามนำลักษณะของความดั้งเดิมและสรรพเสียงแบบยุคสำริด ยุคโลหะ ยุค Viking โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่เสียงที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของศาสนาคริสต์เข้ามาใช้สร้างสรรค์บทเพลง ตั้งแต่การใช้เสียงกระพรวน เสียงระฆังในพิธีกรรม สู่การใช้กระดูก และการร้องออกเสียงด้วยเทคนิคการผลิตเสียงจากลำคอ (throat singing) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทางดนตรีแถบมองโกเลีย ผสมผสานกับการใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สร้างบรรยากาศที่นำภูมิทัศน์เสียง (soundscape) จากแหล่งต่าง ๆ มาผนวกรวมกันเป็นชั้นของเสียงที่เกิดขึ้นในบทเพลง และพบการใช้เทคนิคการค้างเสียงใดเสียงหนึ่งให้ลากยาวในลักษณะที่เรียกในรูปแบบ Drone ดังที่ปรากฏในโลกตะวันตกอย่างในดนตรี Minimalism ที่ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีอินเดีย และยังปรากฏคุณลักษณะดังกล่าวในรูปแบบดนตรีพื้นเมืองหลายแหล่งทั่วโลก

ในผลงานชุดล่าสุดของพวกเขาที่ทำหน้าที่ขยายเสียงของประวัติศาสตร์โบราณกว่า 3,400 ปี จากข้อความแผ่นดินสลัก ดังปรากฏจากบทเพลงลำดับที่ 8 ของอัลบั้มนี้ในชื่อบทเพลง Nikkal ความยาวกว่า 3 นาที 

บทเพลงนำเนื้อหา 4 บทที่นำมาจากเนื้อหาของ Hymn to Nikkal หมายเลข 6 อันเป็นบทประพันธ์เพลงที่ถือเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมสำคัญชิ้นหนึ่งของโลก เกิดขึ้น ณ อาณาจักร Ugarit ที่มีอายุราว 1,400 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งในปัจจุบันแผ่นสลักข้อความจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซีเรีย ณ กรุง ดามัสกัส (Damascus) 

บทเพลงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งไม่สามารถมีบุตรได้ เมื่อตกกลางคืน เธอจึงอธิษฐานอ้อนวอนขอพรจากเทพยดานามว่า Nikkal เป็นเทพีแห่งพระจันทร์และให้พรด้านการเจริญพันธุ์ หญิงสาวคนนี้ได้ถวายเมล็ดงาต่อเทพยดาเป็นการขอให้เธอมีบุตร 

เรื่องราวที่ปรากฏเป็นความพยายามถอดความของเหล่านักโบราณคดีและนักภาษาศาสตร์ที่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดว่าท่วงทำนองของเนื้อหาที่ปรากฏมีรูปแบบที่ชัดเจนอย่างไร 

การตีความทางดนตรีของ Heilung

ขณะที่ Heilung ตีความท่วงทำนอง Hymn to Nikkal ใหม่ โดยเลือกใช้บันไดเสียง E Phrygian ที่มีระยะห่าง 1-b2-b3-4-5-b6-b7 หากอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น Mode ดังกล่าวมีกลไกการเริ่มต้นโน้ตของบันไดจากลำดับที่ 3 จากบันไดเสียง C Major ที่ประกอบไปด้วยระยะห่างของโน้ต C D E F G A B C 

หากเริ่มจากลำดับที่ 3 ขั้นไปจะได้บันไดเสียงตามโครงสร้าง Phrygian คือ E F G A B C D E เป็นการเริ่มจุดเริ่มต้นและจุดปลายของบันไดเสียงที่โน้ตลำดับที่ 3 ที่เป็นโน้ต E ถือเป็นแก่นแกนของการตีความท่วงทำนองของบทเพลง Nikkal อีกทั้งยังพบการประสานเสียงคู่ 3 ในบางจุด และการวางแนวเสียงต่ำกับเสียงสูงสุดเป็นคู่ 8 เพื่อให้ครอบคลุมทุกย่านความถี่ตั้งแต่ต่ำจนสูงตามเสียงที่ปรากฏในบทเพลง 

โดยตั้งแต่เริ่มต้น บทเพลงคล้ายกับมีภูมิทัศน์เสียงที่อาจเกิดขึ้นจากเสียงจริงและเสียงสังเคราะห์ ประกอบเสียงคล้ายกับระฆังดังขึ้นเป็นระยะเพื่อเป็นการบอกจุดเริ่มของแต่ท่อน หากฟังแนวทำนองจะคล้ายกับเสียงบทสวดในยุคกลางที่มีเนื้อหาทางภาษากำหนดจังหวะการร้องและแนวทำนองที่เคลื่อนที่ไม่หวือหวานัก แต่มีการซ้ำโน้ตสำคัญในบทเพลงที่รู้สึกคล้ายกับ Hook คือการใช้โน้ต C ซึ่งเป็นลำดับที่ b6 พบได้ในช่วงท้ายของบทเพลง Nikkal เป็นความพยายามที่นำกลุ่มเสียงหลุดไปเสียงที่สูงขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกหลุดออกจากกลุ่มเสียงที่วิ่งอยู่ในช่วงเสียงเดิมที่แคบและรู้สึกได้ถึงความบทสวดจากกกลไกดังกล่าว

 

ความย้อนแย้งในตัวงาน

แม้ว่าพวกเขาจะตีความท่วงทำนอง บทเนื้อความ และภาษาดั้งเดิม หากแต่ระบบและกลไกที่เกิดขึ้นกลับอยู่บนหลักการของดนตรีที่อยู่ในช่วงของคริสต์ศาสนาครอบงำ กล่าวคือ ประการแรก พวกเขาใช้รูปแบบ Mode ซึ่งเป็นรูปแบบที่เข้าใจโดยทั่วไปในโลกของการศึกษาดนตรีตะวันตกว่าเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากระบบการใช้กำหนดกรอบของท่วงทำนองร้องในคริสต์ศาสนา

แม้ว่าจะมีการกล่าวว่า Mode นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณดังที่ Plato อธิบายใน The Republic ที่พูดถึงการจัดระเบียบของในแต่ละบันไดเสียงว่ามีความเหมาะสมให้กับผู้คนในสังคมว่าใครควรฟัง Mode แบบไหน แต่เสียงที่ปรากฏในบทเพลง Nikkal ยากที่จะปฏิเสธว่ามีส่วนที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงเพลงสวดที่ใช้ร้องในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ในยุคกลาง 

ประการต่อมา ระบบเสียงที่ Heilung ใช้ ยังคงอยู่บนฐานของระบบ 12 เสียงเฉลี่ยเท่า (12 equal temperament) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ดนตรีตะวันตกมีหลักการเฉลี่ยโน้ต 12 เสียงเท่ากัน เพื่อทำให้เครื่องดนตรีต่าง ๆ สามารถเล่นได้ 12 บันไดเสียง โดยไม่ต้องปรับระยะเสียงใหม่เมื่อเปลี่ยนบันไดเสียง 

แน่นอนว่าระบบเสียงดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายทั่วไปในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นมาหลังยุคสมัยที่พวกเขาต้องการขยายเสียงหรือธำรงรักษาเสียงเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ที่หมายถึงก่อนคริสต์ศาสนาเรืองอำนาจ แม้ว่ามีข้อบกพร่องต่อแนวคิดในระดับภววิทยาของเสียงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค แต่อย่างน้อยพวกเขาพยายามถึงที่สุดแล้วในการ ‘ขยายเสียงประวัติศาสตร์’ ตามจินตนาการของพวกเขาที่ยังอยู่บนข้อจำกัดของเครื่องมือดนตรีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในชุด Drif พวกเขายังอ้างอิงหลักคิดนักปรัชญาชาวกรีกโบราณอย่าง Pythagoras ที่มองว่า 3 เป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ ที่หมายถึง ความกลมกลืน (harmony) ความรอบรู้ (wisdom) และความเข้าใจ (understanding) พวกเขามองว่าหลักการดังกล่าวสามารถมองทุกอย่างเป็น 3 สิ่งได้ เช่น อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต, การเกิด-การใช้ชีวิต-ความตาย, จุดเริ่ม-จุดกลาง (ระหว่างทาง)-จุดจบ โดยพยายามรัดเอาสิ่งที่กล่าว ผสมผสานออกมาเป็นงานศิลปะที่เชื่อมร้อยเอาจุดเริ่มต้นของอารยธรรมกับโลกสมัยใหม่ในปัจจุบันโดยไม่ได้มีนัยทางการเมืองหรือศาสนาที่แฝงเร้นไว้ [7]

นอกจากนี้ วง Heilung นำเสนอวัฒนธรรม Viking ที่มีภาษา runes เป็นส่วนสำคัญในการใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบของการสร้างสรรค์บทเพลง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมชุดเดียวกันกับกลุ่มขวาจัดอย่าง Neo-Nazi ใช้เป็นแก่นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์มาก่อน 

แต่ทว่าพวกเขาขับเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์ผ่านการอ่านบทกวีภาษา runes เพียง 1 วรรค ที่พูดถึงมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ หิน และลม หมายถึงทุกสรรพสิ่งต่างดำรงอยู่ร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากการนำไปใช้ของกลุ่มขวาจัดอย่างสิ้นเชิงที่นำวัฒนธรรมเดียวกันไปใช้ตีความเข้าข้างอุดมการณ์เชื้อชาติเดียวเป็นสำคัญ 

 

กระแสไวกิ้ง

เหตุผลที่กระแส Viking เป็นที่พูดถึงขึ้นมาอีกครั้ง ตามข้อมูลคำให้สัมภาษณ์ของ Runa Strindin ผู้ก่อตั้งเทศกาลดนตรี Midgardsblot ได้พูดถึงการตื่นตัวต่อกระแสหวนระลึกวัฒนธรรม Viking ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในแถบยุโรปทางตอนเหนือ จากกระแสรายการทีวี Vikings และภาพยนตร์อย่าง The Northman รวมถึงการกล่าวถึงเทพเจ้าแห่งตำนานนอร์ส (Norse) ในภาพยนตร์ของค่ายมาร์เวล (Marvel) เป็นส่วนสำคัญที่ปลุกกระแสความตื่นตัวในวัฒนธรรม Viking ขึ้นมา [8]

สำหรับชาวสแกนดิเนเวียนอย่าง Strindin เธอได้เล่าประสบการณ์ความสนใจภาษา Runes ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เอาไว้ว่า เธอถูกครอบครัวและครูพยายามทำให้ความสนใจของเธอสูญเปล่า เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มขวาจัด แต่สำหรับเธอ วง Heilung ได้ช่วยช่วงชิงความหมายต่อการนำภาษานี้กลับมาใช้ใหม่ โดยให้ระบบสัญลักษณ์ดั้งเดิมกลับมามีความหมายผ่านการตีความใหม่ที่นำกลับไปสู่ความหมายที่แท้จริงทั้งทางจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ดั้งเดิมให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ดังจะเห็นได้ว่าสมาชิกวง Heilung มีจุดร่วมที่สามารถทำให้พบเจอกันด้วยความสนใจที่จะรื้อฟื้นวัฒนธรรม Viking ตั้งแต่การแต่งตัว ประวัติศาสตร์ และวัตรปฏิบัติตามประเพณีของชาว Viking อย่างเช่นการเรียนรู้เรื่องการฟันดาบและการทำอาหารด้วยการก่อไฟกลางแจ้ง สอดคล้องกับจริตของผู้คนในปัจจุบันแสวงหาตัวตนเพื่อที่จะค้นหาหรือเข้าใกล้สิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตโลกสมัยใหม่ที่พวกเขาดำรงอยู่ และพวกเขาก็เลือกที่จะให้ความสนใจต่อตำนาน Norse เพราะง่ายที่จะเข้าถึงและเหมาะเจาะกับรสนิยมผู้คนที่กำลังแสวงหาสิ่งเหล่านี้

Faust สมาชิกหลักของวง Heilung  กล่าวว่า พวกเขามองดนตรีในฐานะที่เป็นภาชนะบรรจุความหมาย โดยตัวภาชนะเองอาจมีความงาม อย่างไรก็ตาม ภาชนะเป็นเพียงสิ่งที่บรรจุความหมายเพื่อขับเคลื่อนหรือส่งผ่านวัตถุที่บรรจุอยู่ภายในซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อหาที่อยู่ในนั้น ดังนั้น พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับย่านความถี่เสียง รวมถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการนำเสนอผ่านบทเพลง [9]

 

สรุป

โดยสรุป ปรากฏการณ์ของวง Heilung เป็นความพยายามที่จะสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ที่ดำรงท่ามกลางสรรพสิ่งที่หลากหลาย การสร้างสรรค์บทเพลงและการแสดงจากสรรพเสียงและวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ก่อนความเชื่อกระแสหลักในโลกตะวันตกปัจจุบันอย่างศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นคัดสรรชิ้นส่วนของเสียงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแต่ละวัฒนธรรมนำมารวบรวมและจัดแสดงใหม่ในรูปแบบผสมผสานวัฒนธรรมกระแสรองกับเสียงดนตรีสมัยใหม่อย่างอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสร้างภาพแทนอารยธรรมดั้งเดิมที่นำมาประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นทางเลือกหนึ่งท่ามกลางผู้คนที่พยายามแสวงหาตัวตนใหม่ในอัตราเร่งของสังคมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

พวกเขานับว่าเป็นนวัตกรทางดนตรีที่สำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่หยิบฉวยเอาทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่อยู่มากมายนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ เป็นเหมือนทั้งภาพสะท้อนวิธีคิดและทางเลือกใหม่ทางดนตรีให้กับผู้คนในโลกปัจจุบัน ทั้งที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเสียงจริง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในอดีตหรือไม่ 

หากแต่เป็นความพยายามที่จะสร้างสรรค์จากจินตนาการที่มีต่ออดีตให้ปรากฏขึ้นจริงในโลกสมัยใหม่ ดังปณิธานที่พวกเขาต้องการขยายเสียงของประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการนำเสนอของพวกเขายังสอดคล้องกับแนวคิดของนักปรัชญาอัตถิภาวนิยม (existentialism) อย่าง Martin Heidegger ที่อธิบายว่า มนุษย์เป็นภาวะที่ดำรงอยู่ในโลก (being in the world) ที่มีความสามารถในการตระหนักและตีความถึงสภาวะที่มีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกผ่านวิถีชีวิตและการเลือกจากข้อจำกัดที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งแตกต่างกับความเชื่อที่ว่า มนุษย์ถูกกำหนดเหตุการณ์เอาไว้ล่วงหน้า หากแต่มนุษย์มีแก่นแกนสำคัญคือ ความพยายามที่จะทำให้ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่ยังไม่ปรากฏ เป็นจริงขึ้นมาได้

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ภาพ: สมาชิกวง Heilung แสดงในงาน Admiralspalast เมื่อต.ค. 2019 ภาพจาก Frank Hoensch/Redferns ประกอบกับฉากหลังเป็นจารึกจากแผ่นดินเหนียวที่ปรากฏบทประพันธ์ Hymn to Nikkal 

เชิงอรรถ:

[1] collinsdictionary.com

[2] theguardian.com

[3] theneweuropean.co.uk

[4] nationalgeographic.com

[5] heritageforpeace.org

[6] season-of-mist.com

[7] www.season-of-mist.com

[8] nytimes.com

[9] nytimes.com