19 เม.ย. 2566 | 12:25 น.
- หากเปรียบเทียบระหว่างเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด กับเพลงแหล่แล้ว ดูเหมือนว่าเพลงแหล่จะใกล้เคียงการถือกำเนิดของ ‘แรปไทย’ มากที่สุด
- แม้จะไม่ยึดโยงกับเพลงพื้นบ้านภาคกลางอันเป็นต้นทางของ ‘แรปไทย’ ในยุคปัจจุบัน แต่ต้องถือว่า ‘เพลงพูด’ ของ ‘เพลิน พรหมแดน’ มีส่วนวางรากฐาน เป็นหนึ่งในเสาเข็มของ ‘ฮิปฮอป’ และ ‘แรปไทย’ อย่างปฏิเสธไม่ได้
ปรากฏการณ์ YOUNGOHM และ THATTONG SOUND หรือ ‘ธาตุทอง (ซาวด์)’ และ ‘อีกี้’ ที่กำลังกระหึ่มเมือง ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจวงการ ‘แรปสยาม’ และ ‘ฮิปฮอปไทย’
ที่แม้จะใช้กรอบพื้นฐานดนตรีตะวันตก ทว่า ความพิเศษของเราคือรากฐานทางวัฒนธรรม อันหมายถึงดนตรีพื้นบ้านไทยที่มีความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น เพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงแหล่
เพราะนอกจากโครงสร้างดนตรี ‘แรป’ และ ‘ฮิปฮอป’ แบบฉบับสากลแล้ว ในส่วนของเนื้อร้องหรือการ ‘ด้นสด’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘การแรป’ นั้น ทั้งเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด หรือเพลงแหล่ ถือเป็นต้นแบบที่ดี
ด้วยปฏิภาณไหวพริบของพ่อเพลงแม่เพลงชาวไทยที่นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนแล้ว ความสนุกสนาน ความทะลึ่งตึงตัง กระทั่ง ‘ความแรง’ ของถ้อยคำเสียดสีการบ้านการเมือง ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของ ‘แรปไทย’ ในวันนี้
เพลงพื้นบ้านภาคกลาง แหล่งอารยธรรม ‘ด้นสด’
การ ‘ด้นสด’ นอกจากการขับขานเนื้อเพลงที่ไม่ได้เขียนมาล่วงหน้าแล้ว ยังกินความถึงฉากและเวทีที่แทบไม่มีการตระเตรียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดนตรีน้อยชิ้นของเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด และเพลงแหล่ รวมถึงเพลงพวงมาลัย เพลงเรือ กระทั่งเพลงขอทาน ล้วนเป็นจุดเด่นของเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ปทุมธานี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ไปจนถึงนครสวรรค์ และอุทัยธานี อันเป็นอู่ข่าวอู่น้ำ หรือที่ราบลุ่มทำนาปลูกข้าว และมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านหลายสาย
การไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฉาก เวที และเครื่องดนตรี สื่อนัยถึงการเน้นไปที่ลีลาการแสดง และการร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ ‘ด้นสด’ หรือ Improvise ที่เป็นจุดเด่นของการละเล่นภาคกลาง
การใช้คำที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ปราศจากการปรุงแต่ง แต่เต็มไปด้วยความคมคายและสนุกสนานในที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นคำสองแง่สองง่ามที่สร้างความตลกขบขัน และมักมีถ้อยคำเสียดสีสังคมแบบ Satire ทุกข์ชาวบ้านปะปนเข้ามาในปริมาณพอเหมาะพอเจาะ เพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด และเพลงแหล่ จึงสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากปากสู่ปาก หรือที่เรียกว่า ‘มุขปาฐะ’
ฉ่อยเป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่เก่าแก่ที่สุด ด้วยเนื้อร้องง่าย ๆ เป็นการต่อกลอนแบบสั้น ๆ ที่มาพร้อมเสียงปรบมือให้จังหวะแบบสบาย ๆ
ส่วนอีแซวจะดัดแปลงจังหวะจากเพลงฉ่อยโดยเร่งให้เร็วขึ้น แต่เพลงที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นลำตัด ที่เริ่มมีเครื่องเคราประกอบมากชิ้นขึ้น และเพิ่มท่อนสร้อยร้องซ้ำ แม้ลีลาโดยภาพรวมจะไม่ต่างจากเพลงฉ่อยหรืออีแซวมากนัก ทว่า เนื้อหาของลำตัดเข้มข้นกว่า และตลกโปกฮามากกว่า
ส่วนเพลงแหล่ค่อนข้างจะไม่เข้าพวกนัก ซึ่งนอกจากจะเน้น ‘ด้นสด’ มากกว่าแล้ว ท่วงทำนองยังคล้ายกับ ‘แรปไทย’ สมัยใหม่อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบสถานการณ์มาแหล่ เช่น งานบุญ งานบวช ทำให้โชว์แต่ละครั้งจะมีเนื้อหาที่ต่างกัน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเป็นการแหล่แบบ ‘ด้นสด’
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตลักษณ์ของ ‘แหล่’ คือการไม่ใช้โครงสร้างดนตรีที่ซับซ้อน หรือวางอยู่บนมาตรฐานทางทฤษฎีแบบดนตรีตะวันตก แต่เพลง ‘แรปไทย’ แตกต่างจาก ‘แหล่’ ตรงการเน้นดนตรีมากกว่า
ทว่า สิ่งที่เหมือนกันคือเนื้อหาคำร้องที่คล้องจองลงตัวระหว่างวรรณยุกต์ สระ อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ แต่หลายเพลงก็ไม่เน้นสัมผัสแบบกลอน เช่นเดียวกับแร็ปต้นตำรับตะวันตกจำนวนมาก
จาก ‘เพลิน พรหมแดน’ ถึง ‘หมูแข้งทอง’ สู่ ‘ตู้ ดิเรก’ ผู้สถาปนา ‘แรป’ ไทย
การเปรียบเปรยเพลงพื้นบ้านภาคกลางกับ ‘แรปไทย’ เป็นอะไรที่ไม่เกินเลย หากเราใช้หลักพิจารณาที่การ ‘ด้นสด’ ซึ่งหลายคนยกย่องว่าเป็น ‘ศิลปะชั้นสูงทางดนตรี’ เพราะการ ‘ด้นสด’ คือการชิงไหวชิงพริบ การประชันปฏิภาณ และทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยภูมิหลังทางภาษา และความคิดสร้างสรรค์
เราจึงพบการใช้ถ้อยคำแพรวพราวที่เปี่ยมไปด้วยความหมายลึกซึ้ง ต้องตีความคำสองนัยที่มีชั้นเชิงทางศิลปะ นี่คือเสน่ห์ของการ ‘ด้นสด’ ที่กระตุกความคิดผู้ฟังอย่างฉับพลัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แรปไทย’ และ ‘เพลงพื้นบ้าน’ ใช้ ‘กลอนหัวเดียว’ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการร้องที่ลงท้ายด้วยสระเสียงเดียวกัน เช่น สระอา สระไอ สระอี ที่ครูเพลงเรียกว่า กลอนลา กลอนไล กลอนลี หรือความชำนาญในการเลือกใช้ฉันทลักษณ์สัมผัสที่พ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน และ ‘แรปเตอร์ไทย’ ต่างมีความช่ำชองไม่แพ้กัน
อีกทั้งเนื้อหาในเชิงสองแง่สองง่ามในเพลงพื้นบ้านภาคกลาง มาสู่การใช้คำตรงไปตรงมาเพื่อบอกเล่าความจริง และสะท้อนสังคมที่ไม่ต่างกัน
หากเปรียบเทียบระหว่างเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด กับเพลงแหล่แล้ว ดูเหมือนว่าเพลงแหล่จะใกล้เคียงการถือกำเนิดของ ‘แรปไทย’ มากที่สุด แม้เพลงแหล่ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการศาสนา เช่นพระสงฆ์ที่มักจะใช้ลีลาแหล่ในการเทศน์มหาชาติ รวมถึงการประยุกต์เอาเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของชาดกมาแหล่เพื่อเจริญพรญาติโยม
ในส่วนของฆราวาสที่มีชื่อเสียงด้านการแหล่ก็ล้วนแล้วแต่มีลูกล่อลูกชน และลูกเล่นที่แพรวพราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคทองของไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ชินกร ไกรลาส, ทศพล หิมพานต์ หรือ ศรีไพร ไทยแท้
จากเพลงพื้นบ้านภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เพลงแหล่’ การมาถึงของ ‘เพลิน พรหมแดน’ เป็นการเปิด ‘พรมแดนใหม่’ ให้กับเพลงแหล่ และเพลงลูกทุ่งภาคกลาง เพราะความแตกต่างของ ‘เพลิน พรหมแดน’ ที่ไม่เหมือนศิลปินลูกทุ่งภาคกลางคนอื่นก็คือ ‘เพลิน พรหมแดน’ เป็นเจ้าของฉายา ‘ราชาเพลงพูด’
ปรากฏการณ์ ‘อาตี๋สักมังกร’ ที่โด่งดัง รวมถึง ‘เพลงพูด’ นับร้อยเพลงของเขา ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ผสมผสานระหว่างการร้องสลับกับการพูด เป็นความล้ำหน้าที่ ‘เพลิน พรหมแดน’ สร้างสรรค์ขึ้น เป็น ‘เพลงพูด’ ที่มาก่อนกาล
แม้จะไม่ยึดโยงกับเพลงพื้นบ้านภาคกลางอันเป็นต้นทางของ ‘แรปไทย’ ในยุคปัจจุบัน แต่ต้องถือว่า ‘เพลงพูด’ ของ ‘เพลิน พรหมแดน’ มีส่วนวางรากฐาน เป็นหนึ่งในเสาเข็มของ ‘ฮิปฮอป’ และ ‘แรปไทย’ อย่างปฏิเสธไม่ได้
และแม้จะไม่ถูกนับว่าเป็น ‘เพลงแรป’ แต่ ‘เพลงพูด’ ของ ‘เพลิน พรหมแดน’ ได้ถูกต่อยอดหลังจากหายไปจากหน้าปัดวิทยุและแผงเทปนับสิบปี
พลันเมื่อบทเพลง ‘หมูแข้งทอง’ ของ ‘ปรัชญา ศรีธัญรัตน์’ หรือ ‘Mr. แตงโม’ ปรากฏตัวขึ้นพร้อมเสียงพูดของ ‘ผุดผาดน้อย วรวุฒิ’ หรือ ‘หมู’ นักมวยไทยชื่อก้องที่ไปโด่งดังในฝรั่งเศสจากบทบาทครูมวย ที่ ‘Mr. แตงโม’ ได้แต่งเพลงชีวประวัติของ ‘ผุดผาดน้อย วรวุฒิ’ เจ้าของฉายา ‘หมูแข้งทอง’ ขึ้นในปี พ.ศ. 2528
เพลง ‘หมูแข้งทอง’ บรรจุอยู่ในอัลบั้ม My Lover ออกวางจำหน่ายภายในสังกัด EMI ประเทศไทย เป็นดนตรีแนวแร็ป ผสมฟังกี้ และอิเล็กทรอนิกส์ ผลงานชุดนี้ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย แต่ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศสครบรอบ 333 ปี ในปี พ.ศ. 2562
นอกจากนี้ ‘หมูแข้งทอง’ ยังได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เพลงแรปเพลงแรกของประเทศไทย’ ต่อจากเพลง ‘สาวบางโพ’ และ ‘เด็กวัด’ ของ ‘ตู้ - ดิเรก อมาตยกุล’ ที่แม้จะออกไปในทางฟังกี้มากกว่า ทว่า ก็ได้รับการเอ่ยถึงหากมีการค้นหาว่าใครคือ ‘ต้นตำรับแรปไทย’ ต้องมีเพลง ‘เด็กวัด’ ของ ‘ตู้ ดิเรก’ ติดมาด้วยเสมอ จากลีลาการร้องกึ่งบ่น ซึ่งต่างจากเพลงป๊อปไทยกระแสหลักในช่วงเวลานั้น
จาก TKO ถึง JOEY BOY ‘ไทยเท’ สู่ ‘ดาจิม’ และ ‘ก้านคอคลับ’ ผู้ยกระดับ ‘แรป - ฮิปฮอป’ ไทย
ไล่กับเพลง ‘หมูแข้งทอง’ ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2528 และในปีเดียวกัน วงการเพลงไทยได้สัมผัสกับกลิ่นใหม่ในทางดนตรีกับอัลบั้ม ‘แดนศิวิไลซ์’ ของ ‘ธเนศ วรากุลนุเคราะห์’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง ‘เบื่อคนบ่น’ ได้รับการยกย่องเป็น ‘เพลงแรปไทย’ ที่ยอดเยี่ยมเพลงหนึ่ง
อีก 2 ปีถัดมาก็มี ‘ดิ้นกันมั้ยลุง’ ของ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ ที่เป็นเพลง ‘มาก่อนกาล’ เช่นเดียวกับ ‘ธเนศ’ รวมถึง ‘มันแปลกดีนะ’ ของ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’
แต่วงที่เปิดศักราช ‘แรปไทย’ แบบ ‘เต็มอัลบั้ม’ หรือพูดอีกแบบก็คือ เป็นผู้เปิดพรมแดน ‘แรปไทย’ อย่างจริงจัง นำไปสู่แนวเพลง ‘แรป - ฮิปฮอป’ ที่เป็นแนวเพลงหลักของวงการเพลงไทยในยุคนี้ วงนั้นมีชื่อว่า TKO สังกัด KITA ในยุคใกล้ก่อกำเนิดของ Bakery Music กับ Joey Boy เพราะทีมงานเบื้องหลัง TKO คือบุคลากร Bakery Music ไม่ว่าจะเป็น สุกี้ บอย พราย
โดยอัลบั้ม Original Thai Rap ของ TKO เป็น ‘อัลบั้มแรปภาษาไทย’ 10 เพลงชุดแรกของไทยในปี พ.ศ. 2536
แม้ก่อนหน้านั้น ‘เจ - เจตริน วรรธนะสิน’ จะมีเพลง ‘ยุ่งน่า’ ‘สมน้ำหน้า’ และ ‘ประมาณนี้หรือเปล่า’ รวมถึงบางเพลงของ ‘ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง’ ที่เข้าข่าย ‘แรปไทย’ แต่ที่ได้รับการยกย่องจริง ๆ คงต้องยกให้ TKO ดังได้กล่าวไป
ส่วนกลุ่ม ‘แรปเปอร์ไทย’ ที่เป็นตำนานอย่างแท้จริงคือ AA Crew ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย ขันเงิน, เดย์, เวย์ และ อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หรือ Joey Boy ซึ่งในภายหลัง ขันเงิน - เดย์ - เวย์ ได้ตั้งวง ‘ไทยเทเนี่ยม’ ส่วน Joey Boy เป็นศิลปินเดี่ยว และสร้างกลุ่ม ‘ก้านคอคลับ’ ซึ่งเป็น ‘แรปเปอร์’ รุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
Joey Boy มีผลงานกับค่าย Bakery Music สร้างปรากฏการณ์มากมาย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ Grammy และให้กำเนิดกลุ่ม ‘ก้านคอคลับ’ ประกอบด้วย สิงห์เหนือเสือใต้ (ฟักกลิ้งฮีโร่--สิงห์เหนือ และบีซี่--เสือใต้) Spydamonkee ส้ม อมรา Buddha Bless Q’ty
ขณะที่ฝั่ง ‘ไทยเทเนี่ยม’ ก็โด่งดังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยในช่วงนั้น วงการแรปไทยเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก มีวงแร็ปใต้ดินเกิดขึ้นมากมาย ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ‘ดาจิม’ ที่ ‘ใต้ดิน’ จนถูกตำรวจจับเนื่องจากเพลงมีเนื้อหาที่ทางการชี้ว่าเข้าข่ายหยาบคาย และลามกอนาจาร
นอกจาก ‘ดาจิม’ แร็ปใต้ดินยังมีอีกหลายศิลปิน อาทิ Illislick, Southside, Snoopking, J$R, Chitswift, ปู่จ๋าน ลองไมค์, CPสมิง, RAD (Rap Against Dictatorship) ที่มากับผลงานสะท้านทุกวงการ คือเพลง ‘ประเทศกูมี’ รวมถึง Liberate p, Jacoboi, Dif kid, Nil lhohitz, Hockhacker, ET, K.aglet และ G-bear
เปิดศักราช ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ หวังไกล โกอินเตอร์
ปัจจุบัน วงการ ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ เดินทางมาไกล เกินกว่าจะเอ่ยถึงตำนานเพลงพื้นบ้านภาคกลางอย่างเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด และเพลงแหล่ มาไกลเกินกว่า ‘เพลิน พรหมแดน’ เจ้าของฉายา ‘ราชาเพลงพูด’ มาไกลเกินกว่า ‘หมูแข้งทอง’ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘เพลงแรปไทยเพลงแรก’
มาไกลกว่า ‘ตู้ - ดิเรก อมาตยกุล’ ‘ธเนศ วรากุลนุเคราะห์’ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ กระทั่ง ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ มาไกลกว่า TKO และ AA Crew ที่ถือเป็นต้นธาร ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ มาไกลกว่า ‘ดาจิม’ ที่ถูกตำรวจดำเนินคดีข้อหาแต่งเพลงล่อแหลม มาไกลกว่า Joey Boy และ ‘ไทยเทเนี่ยม’
เพราะศิลปิน ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ อย่างน้อย 2 คน นั่นคือ Wonderframe และ D Gerrard ได้เซ็นสัญญากับค่าย Wayfer Records ภายใต้สังกัด Warner Music ซึ่ง Wayfer ก่อตั้งโดย ‘ดาโน่ - ดนัย ธงสินธุศักดิ์’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลุกปั้นศิลปินไทยรุ่นใหม่ให้ไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ
ควบคู่กับการเปิดค่าย Wayfer Records สถานีโทรทัศน์ได้ให้ความสนใจวงการ ‘แรปไทย’ โดยเปิดรายการแข่งขันร้องเพลงสไตล์แร็ปขึ้นมากมาย นับเป็นการสร้างศิลปิน ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ หน้าใหม่ให้ขึ้นไปประดับวงการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ความเฟื่องฟูของการขายเทป CD แผ่นเสียง ได้เปลี่ยนผ่านมาสู่การวัดความนิยมด้วยยอดวิวบน YouTube ยิ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์แฟนเพลง ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ที่มักติดตามฟังเพลงจากช่องทาง YouTube เป็นหลัก
ในช่วงที่ผ่านมา รายการแข่งขัน ‘ประชันแรป’ หรือ Rap Battle เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น SEA Hiphop Audio Battle, Rap Is Now, Rythm Fight, The Rapper โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Show Me The Money Thailand ที่ทุกรายการสปอนเซอร์ และคนดูล้นหลาม เป็นดัชนีชี้วัดให้เห็นถึงการเปิดกว้างของสังคมต่อแนวเพลง ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ ในปัจจุบัน
ที่บางครั้ง อาจพาเราย้อนกลับไปสู่รากเหง้าเก่าแก่ของวงการเพลงไทย คือเพลงพื้นบ้านภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่คนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าแสดงออก ไม่ต่างจากพ่อเพลงแม่เพลงในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลีลาการ ‘ด้นสด’ ที่ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก
แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย จัดเต็มคาราเบล
อาจเป็นภาพที่ Contrast กัน เพราะเดิมสาว ๆ เป็นเพียงตัวประกอบอดทนบนเวที ‘แรป’ คือเป็นแดนเซอร์ หรือไม่ก็นางเอกมิวสิกวิดีโอ แต่มีสาวไทยที่พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศิลปินแร็ปหญิงแถวหน้าหลายต่อหลายคน แหกด่านความเชื่อที่ว่า ‘แร็ปเปอร์’ จะต้องมีแต่เพศชายเท่านั้น
ตำนาน แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย ที่จัดเต็มคาราเบลในฐานะผู้มาก่อน ต้องเอ่ยนาม ‘ส้ม อมรา’ ที่ถือเป็น ‘ตัวแม่’ แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย ในยุคเฟื่องฟูของ ‘ก้านคอคลับ’ ก่อนที่ Wonderframe จะปรากฏตัวขึ้นในฐานะ แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย มาแรงแซงทางโค้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาถึงของ MILLI ที่สั่นสะเทือนไปทุกวงการ
ชี้ให้เห็นว่า แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย ไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงา แรป - ฮิปฮอป ชายไทยอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือกำเนิดของ Bitchersweet นำโดย อุ้ย ICE Maiden แรปเปอร์สาวสุดแกร่ง ที่รวมทีม แร็ป - ฮิปฮอป หญิงไทยรุ่นใหม่ นำโดย MILLI ตามด้วย Minymynx, Peem, Mulan, Jmine, Trippytung, Flamingam และ Seedaa Thevillain
ยังไม่นับ แรป - ฮิปฮอป หญิงไทย ที่ดังเงียบ ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Nana ปุ๊บปั๊บ Fealling เป็นต้น
จาก ‘แหล่’ ถึง ‘แรป’ และปรากฏการณ์ YOUNGOHM
รายการแข่งขันร้องเพลงแรป หรือ Rap Battle เป็นการประชันปฏิภาณไหวพริบในการเรียบเรียงเนื้อร้องแบบ ‘ด้นสด’ เพื่อโต้ตอบกันให้ตรงกับจังหวะดนตรี
ไม่ว่าจะเป็น SEA Hiphop Audio Battle, Rap Is Now, Rhythm Fight, The Rapper, Show Me The Money Thailand เป็นการส่งเสริม ‘แร็ป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ให้มีเวทีแสดงออก ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทักษะเชิงกาพย์กลอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภาษาแรป’ ที่ต้องสรรสร้างประโยคพูด ‘ด้นสด’ แบบฉับพลันทันทีเพื่อโต้ตอบคู่แข่ง
เป็นการ ‘ประชันแรป’ ระดับประเทศ ที่ยิ่งใหญ่กว่าการโต้วาที เพราะมันเป็นการปะทะคารมที่ต้องใช้สมาธิอย่างมากในการแต่งกลอน ขณะที่สมองต้องนึกถึงรูปแบบเพลง และเรียบเรียงภาษาให้ออกมาเป็นท่อนแรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องประดิษฐ์เนื้อร้องแบบ ‘ด้นสด’ ให้ตรงกับจังหวะดนตรี
ซึ่งไม่ต่างจากพ่อเพลงแม่เพลงยุคอดีตไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด เพลงแหล่ ที่ต่างก็ต้องใช้วิธี ‘ด้นสด’ ณ หน้าเวทีการแสดง เช่นเดียวกับ ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ในวันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรากฏขึ้นของ YOUNGOHM ‘แรปเปอร์’ รุ่นใหม่ไฟแรงจาก Rap Is Now
หลังจากปล่อยเพลง ‘ไม่ต้องมารักกู’ และตามด้วยปรากฏการณ์ Single ‘เฉยเมย’ ที่มียอดวิวเกิน 190 ล้านวิว ส่งให้ YOUNGOHM กลายเป็นศิลปิน ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ หน้าใหม่ ‘หมายเลขหนึ่ง’ อย่างเป็นทางการ พร้อมเพื่อน ๆ ‘แรป - ฮิปฮอปไทย’ รุ่นใหม่ ที่ยกระดับขึ้นชั้นกันมาพรึ่บเต็มแผง
ไม่ว่าจะเป็น Fiixd, Doper Doper, NICECNX, P-Hot, Wonderframe, D Gerrard, Gavin D, UrboyTJ, Og-Anic, Lazyloxy, TM303, J$R, Thaiboy Digital, Younggu
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง YOUNGOHM ที่กำลังโด่งดังกับปรากฏการณ์ THATTONG SOUND หรือ ‘วัดธาตุทอง (ซาวด์)’ ที่สร้างความฮือฮากระหึ่มเมือง ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจ ‘แรป’ และ ‘ฮิปฮอป’ บ้านเรา
จาก Soft Power ของ YOUNGOHM ที่จะกลายเป็น Hard Power แบบจัดหนักจัดเต็มคาราเบล สร้างกระแสเทรนด์ ‘อีกี้’ Y2K ระบาดเป็นไวรัลไปทั่ว Social Media ตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์มาจนถึงทุกวันนี้