ทำไมคนไทยอินกับเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’? โย่ และนี่คือเรื่องราวของ ‘อีกี้’ กับดนตรีแบบรีมิกซ์

ทำไมคนไทยอินกับเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’? โย่ และนี่คือเรื่องราวของ ‘อีกี้’ กับดนตรีแบบรีมิกซ์

เพลง ‘ธาตุทองซาวด์’ ของ ‘ยังโอม’ (YOUNGOHM) เป็นไวรัลประจำปี โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ จนมีคำถามว่า ทำไมคนไทยอินกับเพลงนี้ ที่มีองค์ประกอบเด่นอย่าง ‘อีกี้’ และ ‘ดนตรีแบบรีมิกซ์’ อิเล็กทรอนิกส์สไตล์ไทย ๆ

  • ‘ยังโอม’ (YOUNGOHM) แรปเปอร์รุ่นใหม่ทำเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’ เป็นไวรัลในช่วงก่อนและหลังเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนพูดถึงเรื่องดนตรี และเนื้อหาโดยเฉพาะ ‘อีกี้’ และวัฒนธรรมความเร็ว
  • ‘ธาตุทองซาวด์’ มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่ชาวไทยคุ้นเคย

ทำไมเราถึงอินกับเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’ ได้อย่างง่ายดาย? หลายคนอาจจะรู้สึกถึงความคุ้นชิ้นเหมือนเคยสดับรับฟังสำเนียงเสียงเหล่านี้มาก่อนราวกับว่ามันมีอายุมายาวนานกว่าการปรากฏตัวขึ้นมาในเวลาปัจจุบันของมัน

หรืออาจเป็นเพราะภาพจาก MV ที่ปรากฏกับเนื้อหาที่นำเสนอออกมา สะท้อนถึงห้วงเวลาหนึ่งของความทรงจำในช่วงชีวิตของผู้ฟังปัจจุบัน ได้สอดประสานไปพร้อมกับเนื้อหาของบทเพลงที่กล่าวถึงสุภาพสตรีนามอุโฆษอย่าง ‘อีกี้’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อน ๆ ของตัวละครหลักในบทเพลง ดังปรากฏซ้ำจนก่อให้เกิดความทรงจำที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์แห่งยุคสมัยหนึ่งที่ได้ล่วงเลยผ่านมาหลายปีแล้ว และเชื้อเชิญให้มิตรสหายหลายท่านพร้อมที่จะขุดค้นความทรงจำครั้งเก่าก่อน ที่สลักเอาไว้ในพื้นที่ออนไลน์ครั้งเก่า นำขึ้นฟื้นคืนกลับมาให้ได้เห็นกันในสังคมออนไลน์ปัจจุบัน

แน่นอนบทเพลงนี้เป็นเพลง rap บนรูปแบบจังหวะเต้นรำหรือ beat ที่พวกเราน่าจะรู้จักกันดี ในฐานะเพลงตื้ดหรือเพลงรถบั๊ม ที่ผสานทั้งกลิ่นอายของดนตรีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน เสียงกีตาร์ร็อคที่เกิดขึ้นเพียงชั่ววูบภายใต้ขอบเขตของพื้นที่ทางดนตรีที่มีหน่วยวัดเรียกว่า 4 ห้องเพลง กับการใช้เสียงสังเคราะห์ดังปรากฏให้เห็นเสียงเครื่องเป่าอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่ทั้งคอร์ดและใช้เป็นเสียงที่เกิดขึ้นเป็นวลีสั้น ๆ รวมถึงเสียงเบสที่หล่อเลี้ยงเชื่อมโยงให้บทเพลงมีเอกภาพ

บทความนี้จะชวนทุกท่านสำรวจปรากฏการณ์ ‘ธาตุทองซาวด์’ ผ่านการทำความเข้าใจเชิงโครงสร้างของเสียงดนตรีที่ขับเคลื่อนให้บทเพลงนี้ชวนให้ผู้คนหลงใหลและรำลึกถึงความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่งผู้คนที่เคยมีช่วงชีวิตในลานรถบั๊ม จวบจนงานบ้านงานบุญในย่านพุทธาวาสและสังฆาวาส กับกลิ่นอายของความทรงจำเหล่านั้นที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายในบทเพลงความยาวกว่า 3:55 นาที

 

โย่! และนี่คือเสียงจากเด็กวัด

Sampling (นำเสียงอื่นมาผสมในเพลง) ของเสียงระฆังที่ดังขึ้นมาหลังคำว่า “เสียงจากเด็กวัด” และก่อนจะกล่าวว่า “แข็งแรงเหมือนกับมึงเอาเหล็กงัด” เป็นชิ้นส่วนเสียงที่เชื่อมโยงบริบทของบทเพลงและเป็นการเปิดฉากครั้งสำคัญที่เริ่มต้นมาพร้อมกับจังหวะ 3 ช่า อิเล็กทรอนิกส์ สอดประสานกับเสียงคอร์ด อันเกิดขึ้นมาจากการสังเคราะห์เสียงที่คุ้นชินในบทเพลงแบบ 3 ช่า remix

หรือกล่าวได้ว่าเป็นเสียงที่เป็นภาพแทนที่เรามักจะรู้จักและจดจำในความหมายของเพลงแดนซ์ยกล้อ แดนซ์มัน แนวรถบั๊ม สายย่อหรือสายตื้ด ดังปรากฏในเนื้อหาของบทเพลงที่กล่าวถึง “สายตื้ด ตื้ดเลยไม่ต้องยื้อ” และแน่นอนว่าด้วยจังหวะเพลงในอัตราเร่ง 135 ครั้งต่อนาที (BPM) กับย่านเสียงต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระเดื่องของกลองและเสียงเบสได้ผ่านกระบวนการขยายและขับเน้นย่านความถี่ให้เสียงออกมายิ่งใหญ่สะเทือนเรือนร่างจนชวนให้ต้องลุกขึ้นมาให้ผู้คนต้องเต้นรำ

เมื่อย้อนกลับไปตั้งคำถามกับบทเพลงนี้ว่า อะไรคือเสียงดนตรีที่ถูกใช้แทนความหมายวิถีชีวิตหรือปริมณฑลของเสียงของเด็กวัดตามที่ ‘ยังโอม’ (YOUNGOHM) ได้พยายามนำเสนอ หากพิจารณาเบื้องต้นจากเนื้อหาของบทเพลงก็จะพบความหมายที่ตรงตัว มากไปกว่านั้นหากพิจารณาจากสุ้มเสียงทางดนตรีที่ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าเป็นเพลงแบบยกล้อ รถบั๊ม สายย่อ สายตื้ด หรือแม้กระทั่งรถแห่ที่ปรากฏอยู่ในเพลงผ่านเส้นสายลายเสียงพิณอีสานที่ปรากฏอยู่ในบทเพลง ล้วนเป็นภาพแทนอย่างหนึ่งที่ศิลปินคัดเลือกหยิบยกและนำเสนอความเป็นเด็กวัดออกมาผ่านรูปแบบทางดนตรีที่ปรากฏ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ธรรมดาของโครงสร้างทางดนตรีที่เป็นการรื้อถอนวิถีการผลิตของศิลปินทั่วไปในรูปแบบนี้ โดยเป็นการตั้งใจจัดวางโครงสร้างทางดนตรีให้มีลักษณะแทบเหมือนเพลง remix จากตัวศิลปินต้นขั้วเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว ประเพณีการ remix หรือหากกล่าวด้วยภาษาสายตื้ดที่อาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ยำเพลง’ นั้น มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากศิลปินต้นแบบได้ผลิตผลงานออกมาแล้ว

ในจุดนี้ หากพิจารณาจากเพียงเนื้อหาของบทเพลงก็อาจไม่เข้าใจถึงความตั้งใจในการออกแบบโครงสร้างที่ต้องการให้รู้สึกถึงความหลากหลายและยั่วเย้าให้ผู้ฟังเกิดความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา

จากโครงสร้างโดยทั่วไปของเพลง rap มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ 2 ส่วนคือ

1.) ส่วนที่เป็นท่วงทำนองหรือประโยคที่ผู้ฟังสามารถจดจำและร้องตามได้ง่าย ที่มักจะเรียกกันว่าท่อน Hook/Chorus เช่น “เพื่อน ๆ ล่ะกูรถแรงสัส” กับ “อีกี้มันเป็นสก้อย”

2.) ส่วนของการร้อง rap เพื่อแสดงศักยภาพผ่านการเขียน rhymes (คำคล้องจอง) ที่มักอยู่ในจุดที่เรียกกันตามโครงสร้างเพลงทั่วไปว่าท่อน Verse ของบทเพลง และยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ใช้เสริมความแข็งแรงตามวัตถุประสงค์การนำเสนอที่แตกต่างกันไปของผู้ประพันธ์ เช่น การเพิ่มโครงสร้างดนตรีแบบ Build up หรือ Pre Hook เช่น “และนี่คือธาตุทองซาวด์” กับ “This is a sound from Thailand” และการมีท่อนเชื่อมหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าท่อน Bridge ดังปรากฏในท่อนที่มีคำร้องว่า “เกิดบนดินไม่ใช่ดาว” ซึ่งโดยปกติแล้วความสามารถในการรู้จำของผู้ฟังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการรับรู้ผ่านโครงสร้างทางดนตรีที่รองรับเนื้อหาในส่วนที่เป็นคำร้องหรือทำนองอีกด้วย

แม้บทเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’ ในส่วนของคำร้องหรือเนื้อหาที่แสดงออกผ่านภาษานั้น เข้าข่ายความปกติในรูปแบบเพลงสมัยนิยมทั่วไปในรูปแบบ rap ทว่ายังมีเนื้อหาทางดนตรีที่ปรากฏคู่ขนานเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการดำเนินของท่อนที่เปรียบเสมือนกับฉากการเปลี่ยนแปลงในบนเพลงนั้น ที่ถือเป็นความพิเศษและแตกต่างจากเพลงทั่วไปคือลักษณะของบทเพลงที่มีการยำ ซึ่งทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนฟังดนตรีที่ผ่านการ remix อยู่ตลอดทั้งบทเพลงได้ แต่ยังคงมีเอกภาพที่จับต้องได้ผ่านทำนอง จังหวะ และคำร้องซึ่งเป็นภาษาที่สามารถทำให้ผู้ฟังจำแนกได้ว่าอะไรคือส่วนไหนของบทเพลง แต่หากพิจารณารายละเอียดทางดนตรีอย่างลึกซึ้งแล้ว บทเพลงนี้ไม่ธรรมดาและท้าทายขนบของการสร้างสรรค์บทเพลงที่เคยผ่านมาในฐานะศิลปินต้นแบบเป็นอย่างมาก

 

อะไรคือตรรกะของเพลงเต้นรำแบบ Remix ที่ปรากฏเป็นแก่นแกนของโครงสร้างในบทเพลงเพลงนี้?

แน่นอน โครงสร้างที่ปรากฏนั้นประกอบอยู่บนพื้นฐานเพลงเต้นรำที่ต้องมีท่อน Break/intro (00:00) ไปสู่ Build up 00:15 และ Drop 00:30 ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ 00:00-00:52 เป็นการเดินเกมที่รวดเร็วผ่านการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Drop มหานิยมของผู้ฟังที่ร้องกันว่า “อีกี้” นั้น ถ้าพิจารณาในห้วงเวลา 00:58 นั้นจะพบว่าในช่วงท่อน Bridge ที่ร้องว่า “เกิดบนดินไม่ใช่ดาว” มีทั้งความเป็นดนตรีร็อคกับดนตรีหมอลำอีสานของมาสวมใส่ตั้งแต่เริ่มสิ้นประโยคว่า “Make it loud”

กล่าวได้ว่า ณ จุดนี้ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านยกแรกของบทเพลง รวมถึงการปรากฏตัวของเสียงดนตรีอีสานใน Hook ช่วง 2:17 เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายของผู้ฟังเป็นอย่างมาก หรืออย่างการนำเสียงดนตรีท่อน “อีกี้” ท่อนแรกมาสวมใส่ท่อน “เพื่อน ๆ” ที่ปรากฏเป็นครั้งที่ 2 ถือเป็นการยกสถานะให้ท่อนนี้เป็นท่อน Drop/Hook ของเพลงที่เทียบเท่ากับ “อีกี้” เป็นการสร้างกลไกการรู้จำที่สามารถทำให้ผู้ฟังตระหนักได้ถึงความสำคัญของท่อนนี้ในฐานะท่อน Hook ของบทเพลง

และในท่อน Outro ยังใส่กลิ่นอายของดนตรีที่มีสุ้มเสียงที่เรามักได้ยินจากเหล่าวงดนตรีรถแห่เข้าไป ซึ่งเป็นลีลาที่แตกต่างจากบทเพลงก่อนหน้านี้ของ YOUNGOHM อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากโครงสร้างทางดนตรีที่มีลีลาสุดเฟี้ยวชวนให้อยากโยกสะบัดท่วงท่าไปตามเสียงเด็กวัดแล้ว ลักษณะสำคัญอีกประการของบทเพลงที่ก่อให้เกิดอาการติดหู (Earworm) คือลีลาการ rap ของ SONOFO ที่ลีลาแบบ old school ดังปรากฏในท่อนร้อง “ส้มโอ” ที่กระเดื่องของเสียงกลองเหยียบจังหวะแบบสามช่าประกอบกับลีลาการร้อง rap แบบไม่รีบสับรีบซอยแต่มาเป็นต่อน ๆ สามารถฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย กับ YONGOHM ที่มีลีลาการร้องแบบสับซอยและรวดเร็ว เป็นการแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจนที่ให้ผู้ฟังสามารถเห็นสีสันที่แตกต่างและสามารถเข้าใจความหมายของบทเพลงได้อย่างรวดเร็ว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งวรรคตอน การออกแบบลีลาการขับขานท่อน hook สำคัญของบทเพลงอย่างท่อน ‘อีกี้’ และ ‘เพื่อน ๆ’ เป็นลีลาที่พบได้ในเพลงสมัยนิยม (บางครั้งพบได้ในเพลงที่ค่อนไปทางลูกทุ่ง) ตัวอย่างหนึ่งคือเพลง ‘คุณลำใย’ (สะกดตามต้นฉบับ) เพลงไวรัลยุค 2000s ดังปรากฏในท่อนกึ่งร้องกึ่งพูด (recitative) ที่ร้องว่า

“น้องกิ๊ฟ เชอร์รี่ น้องวาย มีตั้งมากมาย ไม่ยอมเรียกกัน”

หรือจะสืบย้อนวงศ์วานในท่วงท่าและลีลาการ rap ที่ได้เรียกได้ว่ามีความ Old School ดังปรากฏในยุคแรกเริ่มของวงการ Hip Hop อย่างวง Grandmaster Flash ที่เป็นการ rap เป็นวลีที่ไม่ยาวไม่เร็วมาก เน้นความชัดถ้อยชัดคำชวนให้ติดตาม สอดคล้องไปตามกลไกของท่อน Hook โดยไม่เน้นแสดงความเร็วเหนือแสงหรือปล่อยพลังออกมา

ซึ่งแตกต่างจากท่อน Verse ในบทเพลงนี้ (ธาตุทองซาวด์) ที่เป็นการออกแบบพื้นให้ศิลปินได้แสดงศักยภาพการ rap ภายใต้ขอบเขต 16 ห้องเพลง และยังแถมให้ YOUNGOHM เปลี่ยนเนื้อหาบนพื้นที่ตามโครงสร้างของท่อนเพลงเต้นรำได้แสดงศักยภาพการ rap ด้วยเนื้อหาใหม่ที่ไม่ซ้ำกับท่อนเดิมที่เกิดขึ้นก่อนอีกด้วย

 

สรุป

โดยภาพรวม สรรพเสียงที่ปรากฏขึ้นในแต่ละท่วงทำนองของแต่ละท่อนนั้น ต่างใช้ชิ้นส่วนเสียงที่ประกอบสร้างขึ้นจากเสียงที่เกิดขึ้นในดนตรีแบบสายตื้ดสายย่อ ผู้สร้างสรรค์สามารถนำมาประกอบร่างใหม่เป็นบทเพลง rap ที่แทนภาพของเสียงในบริบทเด็กวัดได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในตัวอย่างที่ยกขึ้นมาประกอบให้เห็นภาพโครงสร้างที่ซับซ้อนแต่ลื่นไหลของบทเพลง ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดดังกล่าวนั้นถือเป็นส่วนสำคัญที่เรียกว่าเป็นการ ‘ยำ’ บทเพลงด้วยตัวศิลปินต้นฉบับเอง

การ Remix ที่เกิดขึ้นในบทเพลงนี้อาจเปรียบเทียบได้กับการใช้เทคนิคตัดต่อภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการ Jump Cut เพื่อตัดอาการเบื่อหรือการทิ้งช่องว่างเว้นไว้โดยไปเพิ่มรอยต่อของภาพ ไม่รอให้ผู้ติดตามเบื่อก่อนที่จะกรอภาพหรือเพลงเพื่อข้ามไปฟังเฉพาะจุดที่พวกเขาสนใจ ซึ่งในขนบทางดนตรีแบบดั้งเดิมนั้นไม่นิยมตัดข้ามชิ้นส่วนทางดนตรีดังปรากฏในบทเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’

หากตีความผ่านโครงสร้างของบทเพลงที่ไม่เพียงสะท้อนภาพแทนเสียงของเด็กวัด หากแต่เป็นการนำเสนอความไม่ราบรื่นต่อเนื่องที่คล้ายกับชีวิตของพวกเขา ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางสภาวะและบริบทที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เขาสามารถภูมิใจและพอใจที่เขาได้เติบโตมา เหมือนดังเนื้อเพลงที่ว่า “จำเอาไว้ให้ดี มันไม่สำคัญว่ามึงจะเกิดที่ไหน จงเป็นให้เหมือนต้นไม้ ที่พร้อมจะเกิดในศพที่ตายซาก” ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่สะท้อนผ่านโครงสร้างทางดนตรีที่เคยมีเงื่อนไขกำกับอนุญาตให้กระทำบางสิ่งหรือไม่ควรทำบางสิ่งได้

และแน่นอนว่าพวกเขาได้ปักหมุดหมายใหม่ของวงการ rap อีกครั้ง จากการใช้เสียงที่สะท้อนถึงรสนิยมในวงกว้างของบทเพลงเต้นรำในแบบที่เขาเลือกมานำเสนอ ดังที่ปรากฏในท่อนเพลงที่ว่า “This is a sound from Thailand” ซึ่งยากที่จะปฏิเสธว่าเสียงเหล่านี้ที่ปรากฏในบทเพลงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว

ภาพ: MV เพลง ธาตุทองซาวด์ จาก YOUNGOHM/YouTube