10 พ.ค. 2566 | 15:39 น.
เพลงหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 2566 มีความหมายและสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ มากไปกว่าแค่บทเพลง
เพลงหาเสียงจากพรรคกลุ่มเสรีนิยมที่โดดเด่นอย่าง พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย น่าสนใจว่าเพลงของพรรคก้าวไกลกลับยังใช้กลยุทธ์ที่ยังไม่พ้นจากวังวนเก่า ขณะที่เพลงของพรรคเพื่อไทยกลับชัดเจนในกลุ่มแฟนของพรรคและประชาชนทั่วไปอย่างเข้มข้นกว่า
การเลือกตั้ง 2566 เข้มข้นไม่แพ้ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บทเพลงรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ล้วนมีความหมายมากกว่าบทเพลง และถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการให้ความสำคัญกับบทเพลงเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในบทความที่จะนำเสนอเป็นชุดนี้จะแยกบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ออกเป็น 3 ส่วน แยกเป็น 3 ตอน คือ
1) บทเพลงจากแกนนำพรรครัฐบาล(ที่พยายามสืบทอดอำนาจ) [คลิกอ่านบทความตอน 1 ที่นี่]
2) บทเพลงจากพรรคเสรีนิยมหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่
3) บทเพลงจากพรรคการเมืองเก่าและอื่น ๆ
ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อ 2
บทเพลงจากพรรคเสรีนิยมหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ (พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย)
พรรคก้าวไกล (Move Forward Party) มาว่ากันถึงบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยและเป็นที่รวมตัวของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด พรรคได้ชูเพลง ‘ต้องก้าวไกล’ โดยมีมอตโต หรือนิยามสั้น ๆ ในเพลงนี้ว่า ‘ต้องก้าวไกล ชีวิตก้าวหน้ารอเราอยู่ไม่ไกล!’ ที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก เมื่อมาเทียบกับภาพลักษณ์ของพรรค ซึ่งน่าจะดิสรัปต์หรือกวาดชุดความคิดของเพลงรณรงค์หาเสียงการเมืองแบบพิมพ์นิยมตามขนบแนวดนตรีสามช่าพาโจ๊ะได้แล้ว
เนื้อหาของเพลงติดกับดักชุดความคิดที่แซะฝ่ายตรงกันข้ามที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนถ้าเป็นเพลงม็อบหรือชุมนุมต่อต้านหรือประท้วงทางการเมืองก็น่าจะดูดีพอถูไถไปได้ แต่เมื่อนำมาใส่เป็นเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ทำให้ดูไม่พริ้งแพรวพราวในฐานะสายหัวก้าวหน้าที่มีอุดมการณ์การเมืองที่มุ่งหลุดจากวังวนเก่า ๆ เพียงแค่สร้างเพลงนี้ขึ้นมาโดยตั้งใจจะให้เหมาะเปิดรถแห่ ร้านคาราโอเกะ และเวทีปราศรัยทั่วประเทศไทยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้เพียงเท่านั้น
ซึ่งน่าเสียดายมากจากการไปติดกับดักของมีมที่ทำเพลง ‘วิโรจน์ก้าวไก่’ จากบทเพลงรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชื่อ ‘วิโรจน์ ก้าวไกล’ แล้วถูกสร้างเป็นมีมขึ้นมา ทำให้เกิดอุปทานว่า ทำนองเพลงหาเสียงแบบสามช่าพาโจ๊ะผสมเมกะแดนซ์อย่างนี้มีประสิทธิภาพจับใจคน โดยลืมว่าสนามเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ ภาพลักษณ์ของพรรคที่ต้องทะลุเพดานเคียงคู่กับบทเพลงรณรงค์หาเสียงนั้นสำคัญมาก
อีกบทเพลงคือ ‘เลือกก้าวไกล’ ก็เป็นกรูฟเดิมสามช่าพาโจ๊ะกลิ่นลูกทุ่งเมกะแดนซ์ ซึ่งมีเนื้อหาครอบจักรวาลพูดถึงระดับนโยบายทั่วไปแบบพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมอื่นอย่างไม่แตกต่าง น่าผิดหวังไปอีกเพลง
หากกลับไปดูหรือฟังบทเพลงในช่วงก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง ‘ก้าวไกล’ เมื่อปี 2563 เป็นบทเพลงแบบเฮฟวีร็อก กลิ่นอายแฮร์เมทัล พาวเวอร์ร็อกที่สร้างความฮึกเหิมและมีกลิ่นอายของเพลงม็อบสมัยใหม่ที่สร้างแรงกระตุ้นให้มีพลังใจยังทำหน้าที่ได้ดีกว่าทั้งเนื้อหาคมกล้าแบบมาร์ชปลุกใจและดนตรีที่ดูมีศักยภาพและเอกลักษณ์ของพรรคการเมืองที่หนักแน่นและเกรี้ยวกราด
ซึ่งต่อมาก็มาก็คือบทเพลง ‘ก้าวไกลก้าวหน้า’ ที่ได้ธีมของคณะดนตรีสามัญชนซึ่งสร้างบทเพลงและดนตรีม็อบยุคใหม่ที่มีชื่อว่า ‘เราคือเพื่อนกัน’ มาขยายแนวคิดและดนตรีสู่เพลงรณรงค์พรรคการเมือง ซึ่งว่าไปแล้วก็แสดงถึงความมุทะลุดุดันแบบพรรคก้าวไกลได้ดีในระดับหนึ่ง แม้จะมีคราบไคลของเพลงม็อบอยู่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดเป็นรากเดียวกันในการต่อสู้ทางการเมือง และเป็นเอกลักษณ์หลักของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
เมื่อมองย้อนกลับไปเก่ากว่านั้น สมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ (Future Forward) มีบทเพลงที่แสดงถึงเอกลักษณ์ในแบบเฮฟวีเมทัลที่หนักแน่นก็คือ ‘The Future of Our Country’ โดย กริษณุภูมิ นิลลามะ ในปี 2561 ซึ่งเป็นบทเพลงที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดบทเพลงเพื่อพรรคอนาคตใหม่
อีกบทเพลงก็คือ ‘ทุ่งฝันวันใหม่’ ของคณะดนตรีอุษาคเนย์ ที่ได้รับคัดเลือกจากกิจกรรม ‘ร่วมสร้างอนาคตใหม่ผ่านเสียงดนตรี’ ซึ่งออกในแนวโฟล์คเพื่อชีวิตโรแมนติกแนวทางของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
จาก 2 บทเพลงในยุคพรรคอนาคตใหม่ก็จะเห็นรากทางความคิดและสุนทรียะทางดนตรีว่า พรรคอนาคตใหม่มีฐานมาจากดนตรีฮาร์ดร็อก และเฮฟวีเมทัล รวมถึงสายเพื่อชีวิตโรแมนติก พอก้าวสู่ยุคพรรคก้าวไกลก็นำดนตรีและบทเพลงจากฐานม็อบก็คือคณะดนตรีสามัญชนมาสร้างเพลงมาร์ชเฮฟวีเมทัลปลุกใจ ก่อนที่จะหันมาสู่ลูกทุ่งสามช่าพาโจ๊ะหลังวิโรจน์ ก้าวไกล ลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ และใช้ต่อเนื่องมาสู่เลือกตั้ง ‘66
เมื่อมองให้ลึกลงไปถึงบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล สิ่งที่สะท้อนถึงมุมมองที่ก้าวหน้าจากศูนย์ของพรรคที่เป็นศูนย์กลางก็คือ ผู้สมัครที่ทำเพลงเองเพื่อใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นออกไปจากพรรค
บทเพลงที่โดดเด่นมากก็คือ ‘ฉัตร เห็น ชัด’ โดย JB.Lovehate X ต่อฉัตร สุภัทรวณิชย์ ที่ลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 บทเพลงที่มีดนตรีฮิปฮอปแนวดริลล์ (Drill) ซึ่งเป็นที่นิยมแตกแขนมาฮิปฮอปแนวแทรป อันเป็นสายยอดนิยมของฮิปฮอปกระแสหลักในสหรัฐอเมริกายุคปัจจุบัน เน้นบีตจากไฮแฮทเป็นการผสมผสานระหว่างฉาบและแป้นเหยียบ 2 อันของกลองสังเคราะห์
ถ้าต้นแบบในเมืองไทยก็ละม้ายหรือเลียนอย่าง tangbadvoice แต่การเขียนเนื้อร้องและวางพาร์ตหรือสัดส่วนของเพลงนี้ทีเด็ดมาก นี่คือบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่มีความก้าวหน้าและก้าวไกลอบย่างแท้จริง ถือว่าดีที่สุดในการเลือกตั้ง ‘66 ในครั้งนี้
อีกบทเพลงที่อิงอยู่กับดนตรีกระแสสมัยนิยมก็คือเพลง ‘ก้าวไกลไปกับพุฒิพงศ์’ ของ พุฒิพงศ์ ลุ่ยจิ๋ว ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 7 นครศรีธรรมราช ซึ่งสร้างเพลงใหม่ในแบบป็อปร็อกภูธรสายใต้ที่มีสำเนียงการร้องแบบนักร้องใต้และเล่าเรื่องนโยบายของพรรคอย่างรอบด้านเน้นความเป็นท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่แพ้พวกสายนักร้องใต้อาชีพเลยทีเดียว สามารถเข้าถึงคนท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับพรรคก้าวไกลก็คือการสร้างคอนเทนต์เพลงรณรงค์หาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะใน YouTube และ TikTok ของเหล่าผู้สนับสนุนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ เพลง ‘กาก้าวไกลครับ’ ของ Hp blingz ที่เป็นฮิปฮอปที่มีความเป็นป็อป – แรปฟังง่าย พ่นพล่ามเนื้อหาได้จัดจ้านมาก
รวมถึงการนำเพลงป็อปร็อกยอดนิยมที่อยู่กระแสยอดนิยมอยู่แล้วมาสร้างมิวสิควิดีโอรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล อย่างบทเพลง ‘ไม่เป็นรอง’ ของคณะดนตรีร็อกค็อกเทล ก็ถูกนำมาใช้สร้างเอ็มวีเวอร์ชัน ก้าวไกล ของพี่หมีพูดได้_BEAR CAN TALK YOUTUBE
กระแสในโซเชียลมีเดียเหล่านี้ พรรคพลังประชารัฐก็นำมาใช้ ในเพลง ‘ไม่รู้ ไม่รู้’ จากเพจเรารักลุงป้อม ฮิต นำมาโพสต์ใน TikTok โดยเน้นภาพวัยรุ่นที่แห่เต้นเพลงนี้สุดน่ารักสดใส
พรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party) ถือเป็นพรรคฝ่ายค้านที่อยู่ขั้วตรงข้ามของรัฐบาล และเคยเป็นแกนนำรัฐบาลก่อนเหตการณ์รัฐประหาร 2557 เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยที่แพ้การเลือกตั้งปี 2562 จึงมุ่งมาดหมายมั่นปั้นมือที่จะเป็นพรรคเสียงข้างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้ง ‘66 นี้อย่างเต็มที่
ยุทธศาสตร์ ‘เพื่อไทยแลนด์ไสลด์’ ที่คาดหวังว่าจะกวาดคะแนนแบบถล่มทลายจึงเป็นเป้าหมายหลักและนำมาสู่บทเพลงรณรงค์เลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ก็คือ บทเพลง ‘เพื่อไทยแลนด์สไลด์’ ซึ่งแสดงเจตจำนงอย่างเต็มที่ผ่านบทเพลง
การใช้ท่วงทำนองลูกทุ่งสามช่ามีกลิ่นอายของเมกะแดนซ์และไทยเดิมประเพณีนิยมเป็นลูกเล่นในตัวดนตรีอันเป็นที่นิยมของตลาดเพลงภูธรอย่างเต็มที่ เนื้อหาของเพลงก็พุ่งเป้าเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการปลุกใจให้คนมาเลือกเพื่อไทยโดยขยายความชูนโยบายในบทเพลงที่จะทำให้คนมาเลือกพรรคเพื่อไทยในการแก้ปัญหาและก้าวเข้าสู่อนาคต
จุดสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในฐานะของนักยุทธศาสตร์และผู้นำทางการตลาดการเมืองที่เคยสร้างมิติใหม่ในฐานะพรรคการเมืองก่อนยุคดิจิทัลคือ ไทยรักไทย ยังคงใช้สูตรนั้นที่มาจากบริษัทโฆษณาเข้ามาจับสู่บทเพลง
อีกบทเพลงที่วางความขรึมขลังในแง่ทางการที่ประกาศนโยบายชัดเจนผ่านบทเพลงคือ เพลง ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ และเป็นเพลงเปิดตัวในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ซึ่งใช้แนวดนตรีแนวลูกทุ่งผสมสตริงเมกะแดนซ์แฝงจังหวะไทยสนุกสนานสร้างความคึกคักในอารมณ์เพลง โดยยังมีเนื้อหาครอบจักรวาลที่แสดงถึงเป้าหมายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมคำสัญญาที่จะทำหากชนะเลือกตั้ง
วิธีคิดแบบวางยุทธศาสตร์เห็นได้เด่นชัดในบทเพลงที่สอดประสานวางไว้ให้ทำหน้าที่ส่งสารและความรับรู้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้ได้รับสารนั่นคือ เพลง ‘เพื่อไทยคือคำตอบ’ ที่ส่งปูพื้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2565 เป็นบทเพลงที่สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นและพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
ความแตกต่างของบทเพลงนี้คือพุ่งเป้าไปที่ตลาดคนเมืองและชนชั้นกลางด้วยดนตรีในแนวอีดีเอ็ม หรืออิเล็คทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิก ที่ทันสมัยและจัดจ้าน พร้อมกับเสียงขับร้องที่เป็นนักร้องเพลงป็อปสมัยใหม่ พร้อมท่อนแรปที่แซะบอกเล่าปัญหาสื่อสารกับวัยรุ่นคนหนุ่มสาวในสังคมที่มีเพลงฮิปฮอปเป็นกระแสหลักในตลาดเพลงร่วมสมัย ถือว่าพยายามตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ผ่านบทเพลงนี้
อีกบทเพลงที่พยายามสร้างอารมณ์ความรู้สึกดรามาติก (Dramatic) หรือความรู้สึกดราม่าเชิงภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ให้เกิดอารมณ์ร่วมผ่านบทเพลงที่สะท้อนถึงชีวิตของคนไทยที่ลำบากยากเย็นในปัจจุบัน และจะก้าวไปสู่ความฝัน ความหวังสู่ชีวิตที่แสนงดงามผ่านพรรคเพื่อไทย ในบทเพลง ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ ซึ่งใช้แนวดนตรีป็อป ไลต์ออร์เคสตรา ซึ่งใช้การขับร้องทั้งนักร้องหญิงและชายที่ขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกดราม่าออกมาอย่างสอดประสานกับดนตรีที่ผ่านการเรียบเรียงด้วยออร์เคสเตรชันให้อลังการซับซ้อนแต่อิงอยู่กับพื้นฐานเพลงป็อป
ว่าไปแล้ว พรรคเพื่อไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ดีและขยายกลุ่มคนฟังในทุกกลุ่ม ซึ่งผ่านกระบวนการคิดแบบนักทำโฆษณาอยู่พอควรในการแบ่งตลาดที่เป็นแฟนการเมืองของพรรคในแต่ละกลุ่ม แต่อย่างที่ว่าจุดอ่อนก็คือ เพลงไม่สามารถก้าวผ่านภาพลักษณ์เก่าสู่มิติใหม่ของพรรคคนรุ่นใหม่ได้ ยังติดกรอบของพรรคการเมืองแบบกลางเก่ากลางใหม่อยู่เต็มขั้น
แต่หากเปรียบเทียบกับบทเพลง ‘พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ’ ที่ออกมาในปี 2651 ที่สนับสนุนรณรงค์หาเสียงให้พรรคในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งมีแนวดนตรีแบบลูกทุ่งสตริงที่อิงไปทางป็อปร็อกแบบอัสนี-วสันต์ โชติกุล และมีเนื้อหาพูดถึงนโยบายภาพรวมแบบหลวม ๆ บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยชัดเจนในกลุ่มแฟนของพรรคและประชาชนทั่วไปอย่างเข้มข้นกว่า
ในกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านในรัฐบาลที่แล้ว และถือเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าคือ พรรคก้าวไกล ที่มีภาพหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ยังไม่สามารถพาพลังของของรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคไปสู่สิ่งใหม่หรือมิติใหม่ได้อย่างหมดจด ยังอิงกับรสนิยมลูกทุ่งสามช่าพาโจ๊ะ แต่มีทีเด็ดอยู่ที่ระดับปัจเจกของผู้สมัครเลือกตั้งที่สร้างสรรค์เพลงหาเสียงของตัวเองได้โดดเด่นและรู้จักใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่อย่างเข้าใจคนยุคดิจิทัล
ส่วนพรรคเพื่อไทยแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพของพรรคการเมืองที่มียุทธศาสตร์วิเคราะห์การตลาดทางการเมืองซึ่งเข้าใจคนที่นิยมชื่นชอบพรรคอย่างเต็มที่ ผลิตบทเพลงในลักษณะที่กลาง ๆ และหลากหลายเพื่อตอบสนองในแต่ละอารมณ์ความรู้สึกที่รอบด้านของกลุ่มคนอยู่พอสมควรในการใช้งาน แม้ว่ายุทธวิธีแบบนี้ไม่ใหม่หรือสร้างอิมแพคที่พุ่งไปข้างหน้ามากนัก แต่จับต้องได้อย่างอยู่มือมั่นใจ