วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 โค้งสุดท้าย (ตอน 1) กลุ่มอนุรักษนิยม พรรคไหนเจ๋งกว่ากัน

วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 โค้งสุดท้าย (ตอน 1) กลุ่มอนุรักษนิยม พรรคไหนเจ๋งกว่ากัน

การเลือกตั้ง 2566 เข้มข้นไม่แพ้ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บทเพลงรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ล้วนมีความหมายมากกว่าบทเพลง และถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการให้ความสำคัญกับบทเพลงเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

  • เพลงหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 2566 มีความหมายและสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ มากไปกว่าแค่บทเพลง 
  • บทเพลงจากแกนนำพรรครัฐบาลอนุรักษนิยมอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ มีสุนทรียภาพที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการบรรลุเป้าหมายเข้าถึงใจคนที่เพลงจากแต่ละพรรคก็ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันด้วย

นักประวัติศาสตร์การเมืองชาวอังกฤษ เควิน เจมส์ แคมป์เบลล์ เคยนำเสนอว่า บทเพลงและดนตรีช่วยสร้างผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กระตือรือร้น มุ่งมั่น และสนุกสนาน คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงไปเลย ถ้าโฟกัสหรือเพ่งความสนใจไปสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ของไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้

เพลงฮิตที่สุดที่ทำหน้าที่ได้ตามเป้าประสงค์มากที่สุดสำหรับเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (Campaign Song) ของแต่ละพรรคการเมืองในครั้งนี้ หากมองที่ข้อเท็จจริงและกระแสที่เกิดขึ้นของการรับรู้ในผู้คนทั่วไป ต้องยอมรับโดยไม่มีอคติว่า บทเพลง ‘ลุงตู่อยู่ไหน?’ มีท่อนฮุคที่ติดหูติดปากมากที่สุดมากกว่าเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองอื่น ๆ

เลือกตั้ง ‘66 บทเพลงหาเสียงดูเหมือนจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยมีความพยายามทำให้ร่วมสมัยมากกว่าเพลงประกอบกิจกรรมทางการเมืองที่อิงกับเพลงที่ใช้ดนตรีจังหวะมาร์ชปลุกใจเป็นหลักอย่างในอดีต หรือเพลงลูกทุ่งจังหวะเร็วสนุก แม้ท้ายสุดในรอบ 2 ทศวรรษหลังนี้ ความยอดนิยมเพลงหาเสียงได้มารวมอยู่ที่บทเพลงสามช่าพาโจ๊ะแนวแอ๊ด คาราบาว

ปัจจุบันนี้ ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา เพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ข้ามพ้นสกุลเพลงสามช่าพาโจ๊ะแบบแอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมและพรรคการเมืองต่าง ๆ ของไทยมักใช้บริการจากนักร้อง-นักแต่งเพลงของคณะดนตรีเพื่อชีวิตอันดับ 1 ของไทย คือ คาราบาว มายาวนาน และค่อย ๆ จางหายไป แต่ก็ยังมีใช้บริการกันอยู่ประปรายตามสายสัมพันธ์ที่เอื้อกัน

สิ่งที่สามารถรับรู้ได้คือ พรรคการเมืองแต่ละพรรคพยายามสร้างทำเพลงที่แสดงถึงเอกลักษณ์และความคิดของพรรค รวมถึงตัวบุคคลของพรรคให้เป็นภาพจำในการรับรู้ผ่านเพลง ไม่ขีดวงกว้างดังสมัยก่อนที่เป็นเพลงครอบจักรวาลพูดถึงนโยบายแบบกลอนพาไปเป็นหลัก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังของเสียงเพลงและดนตรีที่จะโน้มนำให้คนหันมาสนใจตัวผู้สมัครเลือกตั้งแลพะพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่เท่าไหร่นัก

เมื่อมองลงไปถึงองค์ประกอบของเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง นอกจากการปลดแอกซาวด์สามช่าพาโจ๊ะที่คุ้นชินกันแล้ว ในปี 2566 นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานหรือเพลงที่แต่งขึ้นเองซึ่งแสดงข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับการหาเสียงหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยปกติจะดึงดูดความรักชาติ การมองโลกในแง่ดี หรือการอ้างอิงในลักษณะที่ดีต่อนโยบายของพรรคและคุณสมบัติของผู้นำพรรคและแกนนำ

จุดน่าสังเกตที่สำคัญสำหรับเพลงหาเสียงเลือกตั้งของไทยโดยส่วนใหญ่จะไม่มีการโจมตีผู้สมัครหรือพรรคที่เป็นปฏิปักษ์ และมักจะสำรวจประเด็นสำคัญมากกว่าการเยาะเย้ยเสียดสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของไทย โดยมากจะเน้นปัจจัยที่แท้จริงในการดึงดูดความสนใจของผู้เลือกตั้งคือ นโยบายที่ให้สิทธิและผลประโยชน์โดยตรงกับประชาชน โดยเน้นประเด็นการโฆษณาชวนเชื่อแบบประชานิยมมากกว่าพัฒนาในเชิงนโยบายตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามอุดมคติ การประยุกต์ใช้อุดมการณ์ของเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจึงมีค่อนข้างน้อยในบทเพลงหาเสียงเลือกตั้งของไทยเท่าที่ผ่านมาและในปี 2566 นี้

การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชาติให้กับพลเมืองด้วยบทเพลงเพื่อแสดงอารมณ์ร่วมรณรงค์ต่อตัวตนของพลเมืองไทย บทเพลงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองในไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญและถูกใช้เป็นพิธีกรรมทางศิลปะเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของพรรคการเมืองและผู้สมัครที่มีความหวังกับประชาชนทั่วไป

สิ่งที่แน่นนอนไปกว่านั้น เพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองในไทยไม่สามารถเป็นเป็นสื่อปลุกใจเหมือนในอดีตยุคสงครามเย็นได้อีกแล้วเช่นกัน

มองด้วยเลนส์ของ ‘การตลาดการเมือง’ บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็อยู่ในขอบข่ายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานวิจัยเรื่อง ‘กระบวนการทางการตลาดและการสื่อสารการเมืองของพรรคการเมืองไทย: ศึกษาการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่28 ของประเทศไทย (วันที่ 24 มีนาคม 2562)’ ของ อริน เจียจันทร์พงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจําคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการทางการตลาดและการสื่อสารการเมืองของพรรคการเมือง ใช้แนวคิดการตลาดทางการเมือง มาเป็นฐาน เพราะมีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ‘66 อย่างที่สุด แม้มีรายละเอียดเรื่องเงื่อนเวลาที่เพิ่มมา 4 ปีก็ตาม

พรรคการเมืองมีการใช้แนวทางการตลาดการเมืองอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่า ยุทธวิธีการได้มาซึ่งความนิยมในพรรคและคะแนนเสียงอยู่ใน 4 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 คือ พรรคที่มีลักษณะของสถาบันการเมืองสูง และใช้ชื่อเสียงในอดีตมาเป็นจุดขายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเมือง

รูปแบบที่ 2 คือพรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่ใช้ฐานคติการตั้งพรรคและการดําเนินงานแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นอํานาจรัฐ สายสัมพันธ์ เครือข่ายเชิงอุปถัมภ์และบารมี เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

รูปแบบที่ 3 เป็นกลุ่มพรรคการเมืองใหม่ แต่ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบสร้างอนาคตร่วมกัน และการสร้างตลาดเฉพาะ ซึ่งประสบความสําเร็จในระดับที่หลากหลาย

รูปแบบที่ 4 พรรคการเมืองรูปแบบสุดท้าย คือพรรคการเมืองที่พยายามใช้โอกาสทางการเมืองในการสร้างความสนใจในทุกรูปแบบ กลุ่มนี้จะประสบผลสําเร็จน้อยที่สุด

การพัฒนาพรรคการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษหลังนี้เนื่องจากสภาพการทํางานทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากพัฒนาการของสื่อเทคโนโลยีและการเข้าถึงผู้บริโภค และมีการนําแนวคิดด้านการตลาดมาใช้กับการทํางานทางการเมืองมากขึ้น

การตลาดการเมืองไม่ได้เป็นเพียงการจัดการโฆษณา แต่รวมไปถึงการสื่อสารทางการเมือง การหาเสียงเลือกตั้งและการมียุทธศาสตร์ที่มีหัวใจอยู่ที่ผู้บริโภคทางการเมือง ซึ่งก็คือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาด และการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียง อันเป็นหัวใจของการเมืองระบอบประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ของพรรคการเมืองต่าง ๆ จึงมีความหมายมากกว่าบทเพลง และถือเป็นพลวัตก้าวย่างสำคัญทีเดียวในการให้ความสำคัญกับบทเพลงเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการปลดแอกจากบทเพลงแบบสามช่าพาโจ๊ะที่ครอบงำอยู่ถึง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ในบทความที่จะนำเสนอเป็นชุดนี้จะแยกบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ออกเป็น 3 ส่วน แยกเป็น 3 ตอน คือ

1) บทเพลงจากแกนนำพรรครัฐบาล(ที่พยายามสืบทอดอำนาจ)

2) บทเพลงจากพรรคเสรีนิยมหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ (คลิกอ่านตอน 2 ที่นี่)

3) บทเพลงจากพรรคการเมืองเก่าและอื่น ๆ

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อ 1

บทเพลงจากแกนนำพรรครัฐบาลอนุรักษนิยม(ที่พยายามสืบทอดอำนาจ) [กรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พรรคพลังประชารัฐ]

พรรครวมไทยสร้างชาติ (United Thai Nation Party) เป็นพรรคการเมืองใหม่เพื่อเป็นฐานให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะมีกระแสเลือกตั้ง ในเดือนสิงหาคม 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ปล่อยบทเพลงประจำพรรครวมไทยสร้างชาติออกมา โดยยืนยันในแนวทางเพลงป็อปปลุกใจตามแนวทางของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขียนเพลงออกมาตั้งแต่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีเพลงออกมาเรื่อย ๆ ประมาณ 10 เพลง บทเพลงนี้จึงเปรียบเสมือนการตอกย้ำภาพลักษณ์และลายเซ็นเพลงแบบลุงตู่

ว่าไปแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นอย่างมาก เพราะในเว็บไซต์ของพรรคและสื่อโซเชียลมีเดียได้อัปโหลดบทเพลงต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ‘66 อย่างมีกลยุทธ์ที่แสดงถึงการดึงดูดความสนใจของผู้คน รวมถึงมียุทธศาสตร์การปล่อยเพลงไล่ออกมาเรื่อย ๆ

จากต้นปี 2566 ซึ่งใช้วันเด็กนำร่อง นั่นคือบทเพลง ‘ลุงตู่’ ซึ่งใช้แนวเพลงเด็กแบบเพลงนิทานเพื่อเบิกทางให้ลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีภาพลักษณ์ขวัญใจเด็กให้มองลุงเป็นฮีโร่ หรือวีรบุรุษของชาติ ลดทอนความแข็งกร้าวของภาพทหารที่เป็นอยู่ในหลาย ๆ วาระ เพื่อเปิดทางไปหาบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง

เพราะฉะนั้น บทเพลงของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงวางรากฐานในการชูพลเอกประยุทธ์ในนาม ‘ลุงตู่’ ให้ดูมีความอ่อนโยนจริงใจขวัญใจเด็ก ๆ และวัยรุ่น โดยพยายามสร้างภาพจำให้กับคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ แล้วค่อยเติมความสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติและหมายเลขพรรค

บทเพลงต่อมาก็คือ ‘รวมไทยใจสู้’ ซึ่งยังใช้สูตรการเขียนเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแบบเก่า 2.0 ตามธรรมเนียมที่ผ่านมา เป็นเพลงมาร์ชปลุกใจที่ร่ายถึงอุดมการณ์ของพรรคการเมืองและชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญกับหัวหน้าพรรคคือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค โดยมีเสียงร้องที่ละม้ายคล้าย ‘แอ๊ด คาราบาว’ หรือ ยืนยง โอภากุล ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดของคนเขียนเนื้อร้อง - ทำนอง และขับร้อง ไว้แต่อย่างใด บทเพลงนี้จึงเป็นการสืบทอดขนบเก่าของเพลงรณรงค์หาเสียงยุคเก่าก่อนไว้อย่างเต็มที่

‘จับมือรวมใจ’ เป็นอีกเพลงที่ใช้บริการเสียงร้องที่ละม้ายคล้าย ‘แอ๊ด คาราบาว’ หรือ ยืนยง โอภากุล และใช้ดนตรีท่วงทำนองแนวเพลงสามช่าพาโจ๊ะเพื่อชีวิตแบบคาราบาว ซึ่งเป็นวิถีของบทเพลงขนบนิยมแบบอนุรักษนิยมไว้ครบถ้วน

การตลาดการเมืองผ่านบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่าน่าสนใจในการกลับลำกลางคันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ประเมินว่า บทเพลงป็อปปลุกใจแบบพลเอกประยุทธ์ บทเพลงมาร์ชปลุกใจและบทเพลงสามช่าพาโจ๊ะ ไม่สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ได้อีกต่อไป จะรีแบรนด์พลเอกประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่ทันเวลาแล้ว

เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ก่อนเลือกตั้งประมาณเดือนกว่า ๆ พรรครวมไทยสร้างชาติจึงปล่อยไม้เด็ดไม้ตายสุดท้ายคือ บทเพลง ‘ลุงตู่อยู่รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งมีความยาว 1.42 นาที อัดท่อนฮุคย้ำวนแบบเพลงเชียร์กีฬา พร้อมกรูฟฮิปฮอปที่สาธยายผลงานของลุงตู่ในฐานะนายกฯ เลือกตั้งก็คือเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ

ไม่หยุดอยู่แค่นั้น บทเพลง ‘ลุงตู่อยู่รวมไทยสร้างชาติ’ ได้แตกแขนงเป็นเพลง ‘ลุงตู่อยู่รวมไทยสร้างชาติ (เบอร์ 22)’ หรือมีชื่อสั้น ๆ ว่า ‘ลุงตู่อยู่ไหน’ เพื่อย้ำความเป็นลุงตู่พรรค และเบอร์อย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นที่จดจำ

นอกจากนี้ ยังปล่อยเวอร์ชันภาคต่าง ๆ ออกมาเพื่อเจาะกลุ่มคนในแต่ละภูมิภาค โดยเป็นท่อนฮุคสั้น ๆ เพียง 39 วินาที นั่นคือ ‘ลุงตู่อยู่ไส’ (เวอร์ชันภาษาอีสาน) / ‘ลุงตู่อยู่ไน๊’ (เวอร์ชันภาษาใต้) / ลุงตู่มีไหน เวอร์ชัน ภาษาเหนือ รวมถึงตัดเป็นเวอร์ชันท่อนแรปที่ย้ำผลงานของลุงตู่เพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ และก็มีท่อนฮุค ‘ลุงตู่เบอร์ 22’ ตัดออกมาเพื่อสะกดจิตคนฟังด้วย

ยังไม่หมดแค่นี้ ขนบเก่าของเพลงมาร์ชปลุกใจ ยังมีบทเพลง ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ แบบฉบับหรือเวอร์ชัน เทพไท เสนพงศ์ แกนนำของพรรคเป็นผู้แต่งออกมาอีกเพลงหนึ่งด้วย

บทสรุปของบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่ามาแบบจัดเต็มและพยายามพลิกแพลงจัดกลยุทธ์อย่างเข้มข้นรวดเร็วเพื่อปรับกระแสให้เข้ากับรสนิยมของผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คาดเดาว่าน่าจะเป็นทีมที่ดูแลพลเอกประยุทธ์มาตลอด ซึ่งยังคงใช้แนวทางชูลุงตู่ไปสู่เส้นชัย

พรรคพลังประชารัฐ (People's State Power Party) เป็นแกนนำของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเดิมอยู่แล้ว ในปลายปี 2561 พรรคพลังประชารัฐ ได้ปล่อยเพลงมา 2 เพลง เพื่อปลุกกระแสการเลือกตั้งในปี 2562 นั่นคือ ‘เธอและฉันก็มีเหตุผลไม่ใช่คนใจร้าย’ มีแนวทางของเพลงป็อปแบบแกรมมีซาวด์เลียนอย่าง เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์

อีกเพลงคือ ‘มาสร้างสรรค์ร่วมทำให้เป็นหนึ่งเดียว’ ซึ่งเป็นบทเพลงป็อปร็อกพาวเวอร์ริฟฟ์แบบหรั่ง ร๊อคเคสตรา หรือ ชัชชัย สุขาวดี ทั้งเสียงร้องและดนตรี ธีมรวมของบทเพลงก็คือรวมใจไทยเป็นหนึ่งสานพลังมุ่งไปข้างหน้า

มาถึงเลือกตั้ง ‘66 ครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐยังเปลี่ยนไปใช้บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งไปเมื่อ 13 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานั่นคือเพลง ‘พลังประชารัฐ’ เป็นเพลงแนวลูกทุ่งสามช่าขนบนิยมเดิมเอาใจชาวภูธร

ก่อนหน้านั้น ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 พรรคพลังประชารัฐได้ปล่อยเพลงที่มีเนื้อหาแสดงถึงจุดยืนของพรรคเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งในชาติ ซึ่งเเต่งโดย ดี้ - นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง หนึ่งในทีมทำเพลงที่สถาปนาบทเพลงและดนตรีป็อปแบบแกรมมีซาวด์ให้กลายเป็นกระแสหลักในวงการเพลงไทยได้ โดยยังใช้สูตรเพลงป็อปสามช่าแกรมมีเลียนอย่างแนวทางเพลงของอัสนี-วสันต์ โชติกุล ผสมผสานเบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์

ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พรรคพลังประชารัฐก็ปล่อยเพลง ‘ลุงป้อม700’ แนวลูกทุ่งผสมผสานสตริงสนุกสนานกลิ่นอายทศวรรษที่ 2520 โดยใช้เสียงนักร้องสาวที่เป็นลูกทุ่งจ๋า นอกจากตัวเพลงและดนตรีที่เชยแล้ว ต่อมา บทเพลงนี้ทำเอาเสียรังวัดในเรื่องนโยบายอย่างแรง ด้วยการถูกบลัฟจากพรรคเพื่อไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติที่ใช้นโยบายประชานิยมแจกมากกว่า เลยกลายเป็นจุดอ่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่าไปแล้วพรรคพลังประชารัฐ ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญและกลยุทธ์ในการปล่อยเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 อยู่ในระดับสูง ดูได้จากการเปิดตัวบทเพลงนี้ที่เป็นอีเวนต์ใหญ่มาก โดยเฉพาะการได้ทีมแต่งเพลงป็อปในระดับมืออาชีพแถวหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีมาเขียนเพลงให้

แต่อย่างที่ว่า บทเพลงหาเสียงโดยจริตหรือธรรมชาตินั้นแตกต่างจากเพลงป็อปยอดนิยมทั่วไป เพราะลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่เป็นจุดอ่อน เพราะในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาก็มีการใช้เพลงป็อปยอดนิยมของนักร้องหรือคณะดนตรีระดับโลกมาเป็นเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เพราะฉะนั้น หากกล่าวโดยสรุป บทเพลงที่ใช้สูตรการแต่งเพลงป็อปยอดนิยมมาเขียนถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง รวมใจด้วยรักและศรัทธา พาฝ่าข้ามความยากจน เป็นการพูดในลักษณะที่กว้างและไม่ได้เจาะจงถึงตัวผู้นำหรือพรรคมากนักแบบฮาร์ดเซล จึงเป็นจุดอ่อนอยู่พอสมควร

แม้ทิศทางและลีลาของบทเพลงลื่นไหลและน่าฟังแบบเพลงสมัยนิยมก็ตาม แต่พลังที่ต้องตอบโจทย์การตลาดการเมืองสื่อสารกับผู้คนไม่ควบแน่นและมีน้ำหนักในสถานการณ์เฉพาะหน้าเฉพาะกิจในการโน้มนำให้คนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและกระตือรือร้นกับพรรคได้อย่างเต็มที่

หากวัดกันแบบปอนด์ต่อปอนด์กับเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติที่อยู่ขั้วเดียวกัน ลีลาเพลงของพรรคพลังประชารัฐในแง่สุนทรียภาพของเพลงร่วมสมัยดีกว่า แต่วัดกันที่เป้าหมายเข้าสู่ใจผู้คนพรรครวมใจไทยที่ชูลุงตู่ทำงานได้เข้มแข็งข้นคลั่กกว่าในระดับหนึ่ง มีมิติที่พุ่งตรงไปสู่เป้าหมายมากกว่าในตัวบุคคลและพรรค

 

โปรดติดตามตอน 2 และ 3 ในวันต่อไป

เรื่อง: พอล เฮง

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO