‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ ครึ่งหนึ่งของ ‘โฮป’ ที่จากไป...

‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’  ครึ่งหนึ่งของ ‘โฮป’ ที่จากไป...

เรื่องราวของ ‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ แห่งคณะดนตรีโฟล์คร็อกระดับตำนาน ‘โฮป’ (HOPE) ที่พยายามหาสมดุลให้มากที่สุด ระหว่างธุรกิจและอุดมการณ์ รวมไปถึงไม่ทิ้งอุดมคติที่ดีงามทั้งตัวงานและชีวิตส่วนตัว

  • สุเทพ เป็นเด็กวัดอยู่หลายปี ประมาณอายุ 12 ปี เข้าไปเป็นเด็กวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องธรรมะจาก พระมหาแจ่ม ซึ่งเป็นนักเขียนกลอนที่เก่งท่านหนึ่ง ตรงนี้จึงทำให้ได้ธรรมะต่าง ๆ มาไม่น้อยจากการเล่านิทานให้ฟังของพระมหาแจ่ม
  • ในความเป็นจริง โฮปไม่ใช่คณะดนตรีเพื่อชีวิตที่อยู่ในสถานะนักร้อง - นักเขียนเพลง (Singer - Songwriter) อย่างเต็มตัว บทเพลงของโฮปน่าจะเป็นตัวแทนที่ผ่องถ่ายเสียงจากคนเขียนเพลงที่ชื่อ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ซึ่งเป็นนายตำรวจที่เป็นนักแต่งเพลงด้วย

คลื่นเพลงเพื่อชีวิตยุคแรกสุด หลังจากที่เปลี่ยนจากสถานะบทเพลงประท้วงในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ หลังยุค 14 ตุลาคม 2516 มีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างสูงต่อคนหนุ่มสาวรุ่นนั้น

รวมถึงมีนักร้องและคณะดนตรีที่ถูกบัญญัติศัพท์ต่อมาว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ได้เกิดขึ้นตามมามากมาย โดยเฉพาะในรั้วการศึกษา และมีการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างคึกคัก ก่อนกลายเป็นเพลงต้องห้าม หลัง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพลงเพื่อชีวิตก็กลายเป็นบทเพลงป่าเพื่อการปฏิวัติ

ความเข้มข้นของบทเพลงเพื่อชีวิตได้หวนกลับมาในยุคทศวรรษ 2520 ของไทย นักเพลงเพื่อชีวิตหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาในยุค 14 ตุลา ที่ไม่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สานต่อดนตรีและบทเพลงเพื่อชีวิตคู่กันไปกับธุรกิจเพลงแบบนายห้างที่เป็นเจ้าของค่ายเพลงและผลิตเทปคาสเซ็ทอย่าง ออนป้า เลปโส้ อโซนา โรสซาวด์ รวมถึงมีนักธุรกิจจากแขนงอื่น ๆ เข้ามาในธุรกิจเพลง พร้อมกับความเจริญทางเทคโนโลยีด้านกระจายเสียงและภาพผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูกลง

‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ แห่งคณะดนตรีโฟล์คร็อกระดับตำนานของคลื่นเพลงเพื่อชีวิตรุ่นแรกของไทย  ‘โฮป’ (HOPE) ที่อยู่ในแรงคลื่นถาโถมของบทเพลงเพื่อชีวิตรุ่นบุกเบิกอีกสายทางหนึ่งที่ต่อสู้จากอุดมการณ์อุดมคติของคนหนุ่มสาวก้าวมาสู่บทเพลงเพื่อชีวิตเชิงพาณิชย์ศิลป์ และพยายามหาสมดุลให้มากที่สุดระหว่างธุรกิจและอุดมการณ์ รวมไปถึงไม่ทิ้งอุดมคติที่ดีงามทั้งตัวงานและชีวิตส่วนตัว

‘คู่ชีวิต’ 2 รวมเป็น 1 ผ่านดนตรีโฟล์คและป็อปร็อกเพื่อชีวิต ในนาม ‘โฮป’ (HOPE)

สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล แห่งคณะดนตรีโฮป เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2492 เป็นหัวหน้าคณะดนตรีโฮป เคยมีความเกี่ยวข้องกับคณะดนตรีคาราบาว (ปัจจุบันเป็นคณะดนตรีเพื่อชีวิตอันดับ 1 ของไทยที่ครองตำแหน่งยาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 4 ทศวรรษ) ในด้านการบันทึกเสียงกีตาร์ ผลงานชุดแรกของคาราบาว ชุด ‘ลุงขี้เมา’ 2524 และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนด่านเกวียน ที่ไปเป็นผู้ควบคุมการผลิต หรือโปรดิวเซอร์ (Producer) เรียบเรียงดนตรี บันทึกเสียง ชุดเด็กปั๊ม 2527

สุเทพ เติบโตมาจากชุมชนย่านบางลำพู เป็นเด็กวัดอยู่หลายปี ประมาณอายุ 12 ปี เข้าไปเป็นเด็กวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องธรรมะจาก พระมหาแจ่ม ซึ่งเป็นนักเขียนกลอนที่เก่งท่านหนึ่ง ตรงนี้จึงทำให้ได้ธรรมะต่าง ๆ มาไม่น้อยจากการเล่านิทานให้ฟังของพระมหาแจ่ม

รากเหง้าต้นทางของคณะดนตรีโฮป เป็นคณะดนตรีเพื่อชีวิต ก่อตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 โดยสามีภรรยา ‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ กับ ‘แดง - บุษปรัชต์ พันธุ์กระวี’ ซึ่งเป็นหลานสาวของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม โดยมีน้องชายคนเล็กของบุษปรัชต์ ซึ่งป่วยเป็นโปลิโอร่วมด้วย มีแนวคิดใช้บทเพลงเป็นสื่อสร้างความดีและสร้างประโยชน์แก่สังคม 

ที่มาของการใช้ชื่อคณะดนตรีว่า โฮป โดยที่ ‘โฮป’ ในความหมายของสุเทพคือ ความหวังที่อยากจะเห็นอาชีพนักดนตรี เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วน ‘โฮป’ ในความหมายของบุษปรัชต์ คือความหวังที่อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น 

อีกหลายสิบปีต่อมาถึงปัจจุบัน จากคณะดนตรีดูโอคู่ชีวิตแนวเพื่อชีวิตโฟล์คร็อก ด้วยบทเพลงและทัศนคติต่อสังคมที่ตรงกัน ทำให้ลูกสาวทั้งสองคนเข้ามาร่วมคณะกลายเป็นครอบครัวดนตรี และเปลี่ยนชื่อจากคณะดนตรี ‘โฮป’ (Hope) มาเป็น ‘โฮป แฟมิลี’ (Hope family)

‘โฮป’ หนึ่งในคณะดนตรีบุกเบิกความรุ่งโรจน์ของบทเพลงเพื่อชีวิตในอุตสาหกรรมดนตรียุคใหม่

กลางยุคทศวรรษ 2520 จากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือคำสั่งที่ 66/(25)23 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 

คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็งที่ดำเนินมาแต่รัฐบาลฝ่ายขวา ธานินทร์ กรัยวิเชียร (ครองอำนาจ 2519 ถึง 2520) มาสู่สายกลางมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญมาตรการทางการเมืองเหนือการปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการ 

คำสั่งนี้กำหนดให้มีการจัดการความอยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้กับรัฐบาล ได้รับการนิรโทษกรรมในคดีการเมือง 

นักดนตรีและคณะดนตรีซึ่งมีสมาชิกเข้าป่าต่อสู้ในนามการปฏิวัติที่เติบโตมาพร้อมบทเพลงประท้วงและศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ก็ได้ออกมาสมทบกับกลุ่มนักร้องนักดนตรีและคณะดนตรีเพื่อชีวิตที่อยู่ในกระแสพาณิชย์ศิลป์ของอุตสาหกรรมดนตรีที่เจริญเติบโต 

โฮป ก็เป็นหนึ่งในกระแสคลื่นที่บุกเบิกบทเพลงเพื่อชีวิตยุคหลังเพลงประท้วงในธุรกิจดนตรี อยู่แถวหน้าเคียงคู่มากับ แฮมเมอร์ / คาราบาว / เสกสรร ทองวัฒนา / คนด่านเกวียน ฯลฯ

โฮป ถือว่าเป็นคณะดนตรีที่ทันสมัยหัวก้าวหน้าในสายทางเพลงเพื่อชีวิตที่มีอัตลักษณ์เฉพาะด้วยการรับอิทธิพลดนตรีโฟล์คร็อกแนวประสานเสียงชายหญิงจากยุคทศวรรษ 1960 จากอเมริกา มาสร้างทำดนตรีของพวกเขาเอง รวมถึงดนตรีร็อกแบบเข้มข้นที่แสดงถึงความคิดก้าวหน้าเชิงดนตรีที่มีคุณภาพเหนือกว่าคณะดนตรีเพื่อชีวิตในรุ่นเดียวกัน แต่ในเรื่องความยอดนิยมหรือเพลงฮิต บทเพลงของโฮปไม่ได้เป็นจุดสูงสุดที่ขึ้นเป็นตัวแทนของยุคสมัย

ในปี 2525 โฮปเริ่มเดบิวต์เปิดตัวสตูดิโออัลบั้ม ‘สวรรค์บ้านนอก’ ‎กับผู้ผลิตเทปคาสเซ็ทและผู้จัดจำหน่ายหรือดิสบิวเตอร์ เลปโส้ (Lepso) จนเป็นที่รู้จักกันดีจากบทเพลงนำอัลบั้มฝีมือของ ‘วิสา คัญทัพ’ กวีเพื่อชีวิตผู้เป็นหมุดหมายหนึ่งของ 14 ตุลา ในฐานะขบถนิสิตนักศึกษา

แล้วมาเปิดยุคของดนตรีเพื่อชีวิตเชิงพาณิชย์ศิลป์อย่างแท้จริงกับค่ายเสียงทอง (GS - Golden Sound) ซึ่งมีห้องบันทึกเสียงระดับคุณภาพ ห้องอัดเสียงทอง และดำเนินธุรกิจค่ายเพลงด้วย 

โดยค่ายเพลงนี้ก่อตั้งโดย ‘ประกิต อภิสารธนรักษ์’ ผู้บริหารบริษัทเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง ‘ประกิต แอดเวอร์ไทซิ่ง’ และหุ้นส่วนอีกจำนวนหนึ่งท่าน โดยค่ายเพลงเสียงทองมีนักร้องและคณะดนตรีที่อยู่ในสังกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แซม - ยุรนันท์ ภมรมนตรี, สาธิยา ศิลาเกษ, เกษรา สุดประเสริฐ, เศรษฐา ศิระฉายา, วง เดอะ ฮอทเปปเปอร์ ซิงเกอร์ส, วง เดอะ เบลส์ ที่มี อิทธิ พลางกูร เป็นสมาชิก

แม้กระทั่งราชาโฟล์คซองคำเมืองผู้ล่วงลับ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ขบวนศิลปินเพื่อชีวิตอย่าง โฮป, คนด่านเกวียน, เจ้าพ่อเพลงแปลง บุญธรรม พระประโทน และการเริ่มต้นของวงดนตรีฮาร์ดร็อกแห่งตำนาน ดิ โอฬาร โปรเจ็กต์ เป็นต้น

ในยุคเสียงทอง โฮปมีอัลบั้ม ‘หัวโขน’ (2528) / ‘ตุ๊ก ตุ๊ก’ (2529) / ‘หัวกะทิ’ ‎(2530) ในยุคนี้โฮปสร้างสรรค์ดนตรีโฟล์คร็อกที่เข้มข้นคมคายทั้งภาคเนื้อร้องและดนตรี ถือได้ว่าเป็นคณะดนตรีเพื่อชีวิตพันธุ์แท้ที่เป็นหนึ่งในหลักหมายของยุคสมัยอย่างแท้จริง

หลังจากภูมิทัศน์ทางดนตรี ธุรกิจเพลงเปลี่ยนจากระบบนายห้างมาสู่อุตสาหกรรมดนตรีแบบครบวงจรเสียงทองที่อยู่ยุคเปลี่ยนผ่านเก่าใหม่ของยุคสมัยได้เฟดออกและปิดไลน์ธุรกิจนี้ไป โฮปคล้ายกับเดินอยู่ในวังวนของการหาสมดุลการทำเพลงกับธุรกิจดนตรีที่เบ่งบานมีมูลค่าสูงสุดขีดในยุคทศวรรษ 2530 อันเป็นยุคทองของบทเพลงแนวเพื่อชีวิต

โฮปคล้ายถูกดันไปอยู่ชายขอบของสนามธุรกิจเพลงยุคใหม่ อัลบั้ม ‘เพื่อนแท้’ (2332) อยู่กับอาร์เอส โปรโมชัน ย้ายมาอยู่กับเอ็มจีเอดิสบิวเตอร์หรือผู้จัดจำหน่ายในเครือแกรมมีกับอัลบั้ม ‘มันมันดี’ (2533)

แล้วมาเปิดยุคใหม่ดนตรีเพื่อชีวิตกับค่ายเพลงรถไฟดนตรี (Music Train) ของ ‘ระย้า - ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร’ มีอัลบั้ม ‘ดอกไม้แห่งกาลเวลา’ (ปี 2534) ‘จำได้เสมอ’ (2536) ก่อนจะไปเข้าค่ายใหม่เอ็มทูว์ เอนเตอร์เทนเมนต์ กับอัลบั้ม ‘ฉันจะรักเธอ’ (2539) แล้วกลับมาออกรวมเพลง ‘จากวันนั้นถึงวันนี้’ กับค่ายรถไฟดนตรีอีกครั้ง

จุดที่น่าสังเกต ทำไมโฮปจึงถอยหลังหายไปจากซีนดนตรีหรือบทเพลงเพื่อชีวิตรุ่งโรจน์เรืองรองสุดขีดขึ้นเป็นกระแสหลักของคนฟังเพลงในยุคทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา น่าจะเป็นด้วยวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากนักร้อง - นักดนตรีและคณะดนตรีเพื่อชีวิตอื่น ๆ ที่เข้าใจตลาดเพลงและโอนอ่อนผ่อนตามไปได้มากกว่า นั่นคือการโปรโมตทางวิทยุและโทรทัศน์ การเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต การเล่นกลางคืนตามผับเพื่อชีวิตและร้านเหล้าแนวนี้ที่กำลังเฟื่องฟูมากมาย

แดง - บุษปรัชต์ อีกครึ่งหนึ่งของโฮป ที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวของนักการทูตที่รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เธอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนิสิตนักศึกษา นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“โลกข้างนอกมันเป็นโลกที่เหมือนกับว่าเราต้องไปทำตัวเสแสร้ง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนที่ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่เราต้องเสแสร้งเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เราไม่ชอบสังคมแบบนั้น เราอยากอยู่ของเราอย่างนี้ดีกว่า เวลาเราทำงาน ต้องเดินสายเล่นดนตรี ในช่วงที่เริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว เรายังหอบหิ้วเอาลูกไปเลยนะ เราไม่อยากจะปล่อยให้เขาอยู่ลำพัง หรือต้องไปฝากญาติพี่น้อง ถ้าจำเป็นที่จะต้องลาโรงเรียน เราก็ให้เขาลาสักวันสองวัน สุดท้ายเราก็มาตัดสินใจกันว่า ถ้าเราไม่เลือกที่จะเล่นในร้านเหล้า แต่เราเลือกครอบครัว เลือกที่จะทำงานเพื่อสังคม เราควรจะใช้ชีวิตนักดนตรีไปในเส้นทางแบบไหน...”

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่โฮปต้องการที่จะหาสมดุลของชีวิตและครอบครัวตามอุดมคติและอุดมการณ์ของคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ ที่หล่อมหลอมมาแต่อดีต

โฮปจึงเสมือนคณะดนตรีเพื่อชีวิตที่อยู่ชายขอบของความสำเร็จทั้งเงินทองและเกียรติยศในอุตสาหกรรมดนตรีพาณิชย์ศิลป์กระแสหลัก ทั้งที่เป็นคณะหนึ่งที่เบิกแผ้วทางสายนี้มาตั้งแต่ยุคแรก

สายสัมพันธ์ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ‘โฮป’ ผู้ผ่องถ่ายความคิดบนเสียงเพลง

ในความเป็นจริง โฮปไม่ใช่คณะดนตรีเพื่อชีวิตที่อยู่ในสถานะนักร้อง - นักเขียนเพลง (Singer - Songwriter) อย่างเต็มตัว ดั่งนักร้องและนักเพลงเพื่อชีวิตที่โด่งดังซึ่งเกือบทั้งหมดสามารถเขียนเพลงที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวออกมาอย่างเฉียบคมเด่นชัด

บทเพลงของโฮป น่าจะเป็นตัวแทนที่ผ่องถ่ายเสียงจากคนเขียนเพลงที่ชื่อ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ (ยศท้ายสุด) ซึ่งเป็นนายตำรวจที่เป็นนักแต่งเพลงด้วย เพลงลูกทุ่งที่โด่งดังมากที่สุดคือ ‘หล่อลากดิน’ ขับร้องโดย สุริยัน ส่องแสง

ในสายทางเพลงเพื่อชีวิต พล.ต.ต.สุรศักดิ์ เปรียบเสมือนนักแต่งเพลงคู่บุญของคณะโฮปในยุคแรก ค่ายเพลงเสียงทอง ซึ่งมีเพลงฮิตที่ติดยุคสมัยมาอย่าง ‘อีสานแล้ง’ / ‘จันทร์เจ้าขา’ ฯลฯ และอีกมากมายที่อยู่ในความทรงจำผ่านเสียงและดนตรีของคณะโฮป

เมื่อกลับไปดูพื้นฐานปูมหลัง พล.ต.ต.สุรศักดิ์ จบนายร้อยตำรวจตั้งแต่ปี 2513 เริ่มงานด้านการปราบปราม สืบสวน สอบสวน และมาจับงานด้านเด็กตอนอยู่กองปราบปรามปี 2526 ได้สัมผัสกับโสเภณีเด็กชาย แรงงานเด็ก เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กกำพร้า เด็กพิการ เด็กถูกทุบตี ทำงานคลุกคลีกับเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ และร่วมมือกับมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็กในมูลนิธิเด็ก 

พล.ต.ต.สุรศักดิ์ได้เขียนบทเพลงออกมาในช่วงนี้มากที่สุด เช่น ‘นกเขาน้อย’ / ‘โรยไม่รู้บาน’ /  ‘น้องชาย’ / ‘สาวส่งออก’ / ‘ปัจจุบันมนุษย์’ / ‘พ่อ’ / ‘ปรารถนา’ / ‘สอดคล้องและสมดุล’ / ‘ผู้เฒ่ากับไม้ผุ’ / ‘คำถาม’ / ‘ลูกหมา-ลูกคน’ / ‘บ้านของเรา’ ฯลฯ ซึ่งเกือบทั้งหมด โฮปจะนำไปทำเป็นบทเพลงเพื่อชีวิตในนามของคณะ

‘อีสานแล้ง’ เป็นบทเพลงหมุดหมายของยุคสมัยอีกเพลงในปลายยุคทศวรรษ 2520 ฝีมือการเขียนเพลงของ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ที่ได้อ่านเรื่องสั้นชื่อ ‘เขียดขาคำ’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ‘ฟ้าบ่กั้น’ ของ ลาวคำหอม จึงจุดประกายกลายเป็นเพลงนี้ขึ้นมา

ส่วน ‘จันทร์เจ้าขา’ เพลงดังคู่คณะโฮปในปี 2526 ได้รับแรงบันดาลใจจากการไปชมนิทรรศการศิลปะของ ‘ประเทือง เอมเจริญ’

จากบทเพลงโดยส่วนใหญ่ฝีมือของ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ โดยมีโฮปเป็นผู้ผ่องถ่ายสู่บทเพลงที่มีบุคลิกถึงเด็ก เยาวชน และผู้หญิงที่ถูกกดขี่ข่มเหงและทำร้าย จนเป็นทางเพลงที่มีเนื้อหาเฉพาะตัวอันโดดเด่น สื่อสะท้อนภาพเล่าเรื่องที่แฝงด้วยความจริง ความฝัน และความหวัง

‘เพื่อชีวิต’ ที่แท้จริงไม่มีวันตาย

‘โฮป แฟมิลี’ เป็นการคลี่คลายสู่ยุคสุดท้ายซึ่งเป็นยุคปัจจุบันของโฮป ที่ได้ลูกสาว 2 คน คือ ‘ปริตอนงค์’ และ ‘วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ เข้ามาเป็นสมาชิกของคณะอย่างสมบูรณ์

การปรากฏตัวทั้งครอบครัวที่เห็นต่อสาธารณชนต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่เครือข่ายกลุ่มราษฎร นำโดย ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ทำกิจกรรมเดินทะลุฟ้า เคลื่อนขบวนมาถึงจุดสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง มีการตั้งเวทีและผลัดขึ้นปราศรัย คณะดนตรีโฮป แฟมิลี ได้ขึ้นแสดงบนเวทีนี้ด้วย

สุเทพ โฮป ได้กล่าวถึงกิจกรรมเดินทะลุฟ้าจากจังหวัดนครราชสีมา เป็นสิ่งที่สวยงาม ครอบครัวเขาขอแสดงความชื่นชม นับถือผู้ทำกิจกรรมในครั้งนี้ แม้ไม่ได้ร่วมเดินด้วย แต่มีเพลงมามอบให้ จากนั้นเป็นการเล่นดนตรี ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางในก้าวย่างของชีวิตหนุ่มสาว ต่อมาเล่นเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เชื่อว่า ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ เจ้าของเพลงนี้ต้องภาคภูมิใจในการต่อสู้ของ ‘ราษฎร’

สุเทพ และโฮป แฟมิลี ยังยืนหยัดอุดมการณ์และอุดมคติของเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน โดยเฉพาะเพื่อเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวเสมอมาจากยุค 14 ตุลา ถึงปัจจุบัน ดังคำกล่าวที่ ‘สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมมองว่าชีวิตคนเราไม่แน่นอน สรรพสิ่งในโลกก็ย่อมเปลี่ยนแปลง มีเกิด มีแก่ แล้วสูญสลายไป ผมคิดว่าน่าจะเป็นสัจธรรมของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ แม้แต่ก้อนหินเราจะวางลงไว้ วันหนึ่งก้อนหินก้อนนั้นก็จะต้องสลายไปตามกาลเวลา” 

“ถึงแม้จะเป็นอำนาจใดก็ตามที่มีอยู่ เมื่อมีอำนาจวันหนึ่งก็ต้องสูญอำนาจแล้วก็สลายไปในที่สุด คนเราเกิดมาแล้วพยายามที่จะสะสมวัตถุจนไม่รู้จักพอ ไม่ว่าจะเท่าไรก็ตาม สุดท้ายก็เอาไปไม่ได้ ในที่สุดก็ตายไปเหลือแต่ความว่างเปล่า”

 

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Suthep Hope