04 ก.ค. 2566 | 08:05 น.
ภาพยนตร์ West Side Story เปิดตัวต่อหน้าสาธารณชนในปี 1961 พร้อม ๆ กับหนังสือ The Death and Life of Great American Cities โดยผิวเผิน สองอย่างนี้แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย นอกจากฉากหลังที่เป็นเกาะแมนฮัตตัน
West Side Story ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่องดัง ภายใต้การกำกับ คิดเรื่อง และออกแบบท่าเต้นโดย เจโรม รอบบินส์ ว่ากันว่าแฟนหนุ่มของรอบบินส์ต้องรับบทโรเมโอในละครเชกสเปียร์ เขานึกภาพไม่ออกว่าตัวเองจะเล่นเป็นหนุ่มนักเลงแห่งเมืองเวโรนาได้อย่างไร
รอบบินส์เปิดหนังสือพิมพ์ให้อีกฝ่ายดูข่าวความรุนแรง วัยรุ่นชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ถ้าคิดไม่ออกว่ามาเฟียอิตาลีในศตวรรษที่ 16 รู้สึกอย่างไร ก็ลองจินตนาการว่าตัวเองคือนักเลงบนท้องถนนของเกาะแมนฮัตตันดูก็ได้
ทันใดนั้น รอบบินส์ตระหนักว่า ไอเดียนี้ไม่เลว ทำไมเขาไม่ดัดแปลงมันเป็นละครเต็มรูปแบบเสียเอง เรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มชาวยิว และสาวชาวอิตาลี ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้อพยพ ต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งวัยรุ่นที่สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คน รอบบินส์เองเป็นยิว และเป็นชายรักชาย ฝุ่นจากสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่จางหาย
รอบบินส์รู้ดีว่าการถูกเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศสภาพเป็นอย่างไร บทละครเชกสเปียร์ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มสาวที่ถูกขัดขวาง เพราะความแค้นแต่หนหลังของสองตระกูล มันคือเรื่องราวยอดนิยมที่ถูกนำมาเล่นใหม่ ตีความใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รอบบินส์มั่นใจว่า ถ้าเอาเนื้อเรื่องคลาสสิกนี้มาเปลี่ยนฉากหลังเป็นเมืองนิวยอร์ก เขาจะสามารถเล่าปัญหาของผู้อพยพ และการเหยียดเชื้อชาติได้
อเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองคือดินแดนแห่งโอกาส ผู้คนอพยพจากประเทศบ้านเกิด มาสร้างเนื้อสร้างตัวในประเทศของผู้ชนะสงคราม แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น ภาษาที่แตกต่างกัน การโดนดูถูกดูแคลน ความเปลี่ยวเหงา ผลักไสให้ผู้อพยพเกาะกลุ่มกัน พวกเขาทั้งต้องการพื้นที่ปลอดภัย มีแต่ผู้คนที่พูดภาษาเดียวกัน พื้นเพเดียวกัน แต่พวกเขาก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใหม่นี้ด้วย ความรู้สึกยิ่งรุนแรงในหมู่วัยรุ่น ที่ทั้งต้องรับมือกับฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน ทั้งยังปรารถนาพื้นที่ปลอดภัยยิ่งกว่าผู้ใหญ่
รอบบินส์เชื่อว่านี่แหละคือสาเหตุความรุนแรงบนท้องถนน เด็กหนุ่มแต่ละเชื้อชาติปกป้องย่านของตัวเอง ขับไล่ทำร้ายใครที่มาละเมิดขอบเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอีกฝ่ายเป็นวัยรุ่นจากย่านอื่นแก๊งอื่น
ชื่อเดิมของโปรเจกต์ที่รอบบินส์คิดขึ้นมาคือ East Side Story ฝั่งตะวันออกของแมนฮัตตัน เป็นย่านของผู้อพยพชาวยิว อย่างไรก็ดี พอถึงปลายทศวรรษที่ห้าสิบ (1950) คนยิวย้ายออกไปนอกเมือง ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ยกระดับฐานะตัวเองได้ พ่อแม่ของรอบบินส์เองก็เช่นกัน ถ้าอยากให้ละครออกมาจริงและร่วมสมัย ก็ต้องเปลี่ยนปูมหลังของตัวละคร รอบบินส์เปลี่ยนจากสาวอิตาลี มาเป็นสาวเปอร์โตริกัน เปลี่ยนจากหนุ่มชาวยิว มาเป็นหนุ่มคนขาว เปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นโทนีกับมาเรีย และย้ายฉากหลังของละครไปเกิดฝั่งตะวันตกของแมนฮัตตันแทน
ละคร West Side Story ออกมาในปี 1957 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นักวิจารณ์หลายคนลงความเห็นว่ามันเปิดศักราชใหม่ของละครอเมริกัน เป็นต้นแบบให้ละครเพลงเรื่องอื่น ๆ ดนตรีผสมผสานระหว่างโอเปร่า แจ๊ส และป็อป เด็กหนุ่มเต้นระบำ ทั้งบัลเลต์และโมเดิร์น กวัดแกว่งมีดดาบไปมา ช่วงชิงพื้นที่จากข้าศึก ไอเดียที่ฟังดูน่าขบขัน ชวนหัวร่อ พอเป็นฝีมือของนักออกแบบท่าเต้นอย่างรอบบินส์ กลับสามารถตรึงให้คนดูคล้อยตามได้
จุดแข็งที่สุดของ West Side Story คือการเต้นรำ ชั่วขณะหนึ่ง ผู้ชมถูกทำให้เชื่อว่า บนเวทีคือสถานที่แห่งหนึ่งบนเกาะแมนฮัตตัน แต่เพียงนักแสดงขยับมือไม้แขนขา พวกเขาก็สามารถพาผู้ชมไปยังสถานที่อีกแห่งได้ ไปยังทุกสถานที่ที่มีการแย่งชิงต่อสู้ การร่ายรำอย่างองอาจคือการประกาศสิทธิเหนือพื้นที่ คือการแสดงความปรารถนาในความรัก คือการสะสางความขัดแย้งอย่างอึกทึกครึกโครม คือความโหดร้ายของอคติที่บดบังตาผู้คน ละครเริ่มต้นที่ระบำของความเกลียดชัง จบลงด้วยการเดินขบวนในงานศพ การเต้นรำคือกระดูกสันหลังที่ร้อยเรียงทุกอย่างเข้าหากัน
สี่ปีหลังจากนั้น ฉบับภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน มันได้ชิงรางวัลออสการ์ถึง 11 สาขา และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ข้อดีของ West Side Story ฉบับภาพยนตร์คือ สามารถเอาไปฉายให้คนดูในต่างประเทศได้ง่ายกว่า เสียงตอบรับดีในแทบทุกที่ที่มันได้ฉาย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิสราเอล รวมถึงอินเดีย และญี่ปุ่นด้วย คนดูชอบที่มันเป็นอเมริกันมาก ๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็วิพากษ์สังคมอเมริกันอย่างหนักหน่วงเช่นกัน
West Side Story กลายมาเป็นมาตรฐานความบันเทิงแบบอเมริกัน ที่ทั้งเชิดชูและวิจารณ์ตัวเอง ตามหลักเสรีภาพประชาธิปไตย มาตรฐานเช่นนี้ยังดำเนินมาจนปัจจุบัน ในหนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Marvel เลยด้วย
The Death and Life of Great American Cities ไม่ใช่หนังสือที่โด่งดังหรือมีอิทธิพลเท่ากับ West Side Story ผู้เขียน เจน ยาคอบส์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ เธอบรรยายประสบการณ์ในฐานะชาวเมืองแมนฮัตตัน ระหว่างปี 1947 - 1960 แมนฮัตตันมีตึกระฟ้าสร้างใหม่กว่า 500 ตึก ในจำนวนนั้นเป็นออฟฟิศ 100 ตึก ที่เหลือคืออาคารห้องพัก อยู่ดี ๆ รอบสวนสาธารณะ กลางเมืองก็มีหน้าผาสูงชันของหน้าต่าง ก้อนอิฐ และเสาคอนกรีตตั้งตระหง่านขึ้นมา สำหรับยาคอบส์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีตึก ปัญหาอยู่ที่ กว่าจะมีตึกขึ้นมาได้ อะไรบ้างที่สูญหายไป
สิบปีก่อนหน้านี้ นิวยอร์กมีแผนก่อสร้างทางด่วน พาดผ่านที่จอดรถจัตุรัสวอชิงตัน คนอเมริกันเข้าถึงรถยนต์ราคาถูกได้ นักการเมืองเชื่อว่า ในอนาคตผู้คนจะย้ายไปอยู่ในชนบท ย้ายไปอยู่นอกเมือง แล้วค่อยขับรถมาทำงานในเมือง การขยายเมืองออกไปจึงต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างถนน และการสร้างทางด่วน
ยาคอบส์ไม่เห็นด้วย ชาวเมืองไม่ควรจะต้องย้ายออกไปไหนทั้งนั้น พื้นที่สาธารณะอย่างจัตุรัสวอชิงตันต่างหาก ที่ช่วยให้ชีวิตในเมืองรื่นรมย์ ยาคอบส์และแอคติวิสต์กลุ่มหนึ่งร่วมผลักดันการรักษาจัตุรัสวอชิงตัน ไม่ใช่แค่นั้น พวกเขาจะเปลี่ยนมันจากที่จอดรถ ให้กลายเป็นลานน้ำพุด้วย สุดท้ายพวกเขาทำสำเร็จ ปัจจุบันสวนหย่อมจัตุรัสวอชิงตันก็ยังตั้งอยู่ และเป็นหนึ่งในสถานพักผ่อนหย่อนใจที่ชาวแมนฮัตตันรักที่สุด ประสบการณ์และความเชื่อของยาคอบส์กลายมาเป็นหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ที่เปิดตัวพร้อมกับภาพยนตร์ West Side Story
โดยผิวเผินทั้งในหนังสือและภาพยนตร์ไม่มีตัวร้าย ใน West Side Story ตัวร้ายคือความเกลียดชังระหว่างกลุ่มวัยรุ่น แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป คนดูจะเห็นว่าความเหยียดสีผิวในตัวนายตำรวจ เขาไม่ชอบวัยรุ่นทั้งสองกลุ่ม แต่ถ้าต้องเลือกจริง ๆ ขอเข้าข้างคนขาว ใช้อีกฝ่ายเป็นเครื่องมือ ขับไล่ชาวเปอร์โตริกัน ส่วนผู้ร้ายของ เจน ยาคอบส์ คือ โรเบิร์ต โมเสส ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการรื้อ ทุบ ถอน สร้างต่าง ๆ รวมไปถึงทางด่วนเหนือจัตุรัสวอชิงตันด้วย แค่ปี 1955 ปีเดียว โมเสสประกาศว่า ย่านที่อยู่อาศัย และร้านรวงขนาดหนึ่งในห้าตารางกิโลเมตรใจกลางเมืองคือย่านเสื่อมโทรม ต้องถูกทำลาย และสร้างตึกใหม่
ปรัชญาของยาคอบส์ตรงข้ามกับโมเสสโดยสิ้นเชิง โมเสสเชื่อว่าความหนาแน่นของเมืองคือปีศาจร้าย วัยรุ่นก่อความไม่สงบเพราะพวกเขาอยู่รวมตัวกันในที่แคบ ๆ ไล่คนพวกนี้ไปชานเมือง ธรรมชาติจะกล่อมเกลาพวกเขาให้กลายเป็นประชากรคุณภาพ เมืองคือพื้นที่สำหรับออฟฟิศ สถานที่ทำงาน และตึกสวย ๆ ถ้าจะอยู่อาศัยในเมืองได้ ก็ต้องเป็นเศรษฐีเท่านั้น
สำหรับยาคอบส์ ยิ่งเอางานเอาบ้านออกไปจากเมือง เมืองก็ยิ่งไม่น่าอยู่ แก๊งวัยรุ่นของโทนีและมาเรียห้ำหั่นกันเพราะพวกเขามีพื้นที่จำกัด พื้นที่หมายถึงห้องพัก ที่อยู่อาศัย และร้านรวงที่จะรับคนแบบพวกเขาเข้าทำงาน พวกเขาแก่งแย่งชิงเศษเหลือจากทรัพยากรที่ถูกคนอย่างโมเสสช่วงชิงไป ยาคอบส์ไม่ได้ปฏิเสธว่าความรุนแรงบนท้องถนนไม่มีจริง ผู้คนถูกฆ่าตายจริง รวมไปถึงคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่โดนลูกหลง แต่เธอเชื่อว่า การเอาคนสองคนที่ธรรมดาไม่มีทางรู้จักกัน มาพบปะสังสรรค์ จะก่อเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ เฉกเช่นความรักข้ามพรมแดนระหว่างโทนีและมาเรีย
ถ้าเรามองเห็นแต่การต่อสู้บนท้องถนน เราก็อาจเชื่อเหมือนโมเสส แต่ถ้าเรามองความรักของโทนีและมาเรีย เราก็สามารถเชื่ออย่างยาคอบส์ได้
สงครามระหว่างแก๊ง อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย (เป็นเรื่องไกลตัวแม้แต่กับคนอเมริกันในศตวรรษที่ 21) แต่การทุบทำลายเขตเมืองเก่า เพื่อสร้างคอนโดฯ ห้าง และออฟฟิศไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ขณะนี้มันกำลังเกิดขึ้นทั่วไปหมดในกรุงเทพฯ (สำหรับผู้สนใจประเด็นนี้จริง ๆ อยากแนะนำสารคดี The Last Breath of SAM YAN)
เดือนตุลาคมนี้ จะมีการนำเอาละครเวที West Side Story มาแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ความพิเศษในครั้งนี้คือใช้ท่าเต้นฉบับดั้งเดิมของรอบบินส์ ทีมงานคนสำคัญ ได้แก่ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลเอมมี ลอนนี ไพรซ์ และนักออกแบบท่าเต้น Julio Monge ที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์ให้กับเวอร์ชันภาพยนตร์ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก อีกด้วย
ส่วนเพลงประกอบจะได้ Royal Bangkok Symphony Orchestra มาเล่นให้ โดยการแสดงนี้จะมีเพียง 6 รอบเท่านั้น คือ วันที่ 5 - 8 ตุลาคม เวลา 19.00 น. (วันที่ 7 และ 8 ตุลาคม เพิ่มรอบ 14.30 น.)
จะเห็นว่า West Side Story คือตัวอย่างของละครบรอดเวย์ที่เป็นมากกว่า entertainment เพราะเป็นละครเวทีที่รวมที่สุดของทุกศาสตร์เข้าไว้อย่างลงตัว เป็นการแสดงที่มีเนื้อหาหรือมุมให้สำหรับทุกคน ไม่ว่าความบันเทิง สาระเบื้องลึกที่หนักหน่วง พ่อแม่ได้รำลึกความหลัง และรุ่นลูกได้สัมผัสความวินเทจร่วมสมัย ลูกเล็กก็สนุกกับเนื้อหา แม้กระทั่งสำหรับนักเต้นสายเกา หรือเด็กเรียนการละครก็เข้ามาศึกษาความเป็นระดับโลกได้ที่นี่ West Side Story เลยเป็นโชว์ที่มีทุกอย่างเพื่อทุกคนอย่างลงตัว อยากแนะนำให้ไปดูกันครับ
ติดตามรายละเอียดการเข้าชมการแสดงของ West Side Story เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.thaiticketmajor.com/performance/west-side-stroy-the-broadway-classic-2023.html