The Times They Are a-Changin’ เพลงของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่ขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน

The Times They Are a-Changin’ เพลงของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่ขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน

เพลง The Times They Are a-Changin’ ของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่เชื้อเชิญให้คนฟัง ‘ยอมรับ’ ว่า ชีวิตกับความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มิอาจแยกจากกัน และขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง จงอย่าปิดกั้นหนทาง

  • แม้ The Times They Are a – Changin’ จะถูกเรียกว่าเป็น ‘เพลงประท้วง’ ทว่าหากพิจารณาจากเนื้อเพลงแล้ว ดีแลนเพียงแต่เชื้อเชิญให้ผู้คนมองไปรอบ ๆ ตัว และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน เขาขอให้ผู้คน “เปิดใจ” และ “ยอมรับ” ต่อสิ่งเหล่านั้น
  • วันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘จอห์น เอฟ เคนเนดี’ ถูกลอบสังหาร คืนถัดมาดีแลนตัดสินใจใช้เพลง The Times They Are a – Changin’ ร้องเปิดคอนเสิร์ต
  • แม้จะไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเพลงนี้มีแรงบันดาลใจจากอะไร แต่ The Times They Are a – Changin’ ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและไร้กาลเวลา

หากคุณเข้าใจสัจธรรม “The only thing constant in life is change” (สิ่งเดียวที่แน่นอนที่สุดในชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง) คุณน่าจะดื่มด่ำไปกับเพลง The Times They Are a-Changin’ ของ ‘บ็อบ ดีแลน’ 

‘บ็อบ ดีแลน’ ได้สร้างผลงานคลาสสิกที่ยืนหยัดผ่านการทดสอบของกาลเวลา ทั้งในด้านเนื้อหาและความนิยม เอาไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือเพลง The Times They Are a – Changin’ ที่แตะถึง ‘จุดกลมกล่อม’ (sweet spot) ระหว่าง ‘การประท้วงอย่างเดือดดาล’ เพื่อนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง กับ ‘การยอมรับอย่างนิ่งสงบ’ ว่าบางสิ่งถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแปลง 

ดีแลน เขียนและบันทึกเพลง The Times They Are a – Changin’ ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม 1963 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยาวชนในสหรัฐฯลุกขึ้นมายืนหยัดต่อต้านสงคราม ความเกลียดชัง ความแตกแยก และความอยุติธรรม เช่น การเหยียดผิว ไอคอนในยุคนี้ล้วนเป็นกลุ่มคนดื้อรั้นและเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา หากพวกเขาพบว่าเรื่องใดไม่ถูกต้อง พวกเขาจะออกมาประท้วงเรียกร้อง เพื่อแก้ไขสิ่งที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำผิดพลาดเอาไว้

ดีแลนนำเพลงนี้ไปแสดงครั้งแรกที่คอนเสิร์ตในคาร์เนกี้ฮอลล์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปีเดียวกัน ต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นซิงเกิลในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อเดียวกันกับเพลงนี้ในปี 1964 ตามหลังซิงเกิลดังอย่าง ‘Blowin’ in the Wind’ ซึ่งเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของดีแลน

The Times They Are a-Changin’ เพลงของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่ขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน

The Times They Are a – Changin’ ถูกนำไปคัฟเวอร์หลายต่อหลายครั้ง และยังติดอันดับที่ 59 ในลิสต์ The 500 Greatest Songs of All Time ปี 2018 รวมถึงขึ้นอันดับ 9 ใน UK Singles Chart ปี 1965

ที่สำคัญเพลง The Times They Are a – Changin’ ยังได้กลายเป็นเพลงสะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังกับกรอบหรือบรรทัดฐานทางสังคม หลายคนเชื่อว่าเพลงนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ

ขณะที่ดีแลนกล่าวถึง The Times They Are a – Changin’ ว่า “ผมอยากจะเขียนเพลงที่ทรงพลัง เพลงที่เขียนขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้วยบทกลอนที่สั้น กระชับ ซึ่งเมื่อนำมาซ้อนทับกันแล้วสามารถสะกดคนฟังได้ มันเป็นเพลงที่แต่งมาโดยมีจุดประสงค์อย่างแน่นอน ผมรู้ว่าผมอยากจะพูดอะไร และอยากจะพูดกับใคร” 

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องจุดประสงค์ของเพลง เพราะต้องการปล่อยให้คนฟังตีความกันเอง หลังจากได้ฟังเพลงที่เขาใช้เครื่องดนตรีเพียงกีตาร์อะคูสติกและออร์แกน

The Times They Are a-Changin’ เพลงของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่ขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน

เพลง The Times They Are a – Changin’ ของดีแลน เป็นเพลงโฟล์คที่มักถูกมองว่าเป็นเพลงบัลลาด ในเพลงนี้มีการใช้วลีอย่าง Come gather’ round people ซึ่งชวนให้นึกถึงเพลงบัลลาด 2 เพลงอย่าง Come All Ye Bold Highway Men และ Come All Ye Tender Hearted Maidens ขณะที่ตัว a ในชื่อเพลงและเนื้อเพลง ถูกนำมาใช้เพื่อขับเน้นคำว่า change 

แรงบันดาลใจและอิทธิพลของ The Times They Are a – Changin’

แม้ดีแลนจะเปิดกว้างสำหรับการตีความเพลงนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 1985 ‘คาเมรอน โครว์’ นักเขียนที่ทำงานคลุกคลีกับดีแลนเล่าว่า ดีแลนแต่งเพลงนี้เพื่อให้เชื่อมโยงกับขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองและขบวนการดนตรีโฟล์คที่ค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมกันในเวลานั้น

เพลงนี้ถูกบันทึกในช่วงที่ ‘สงครามเวียดนาม’ (ปี 1954 – 1975) กำลังทวีความรุนแรงขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นสงครามที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘หนึ่งในสงครามที่นำไปสู่ความสูญเสียและเปล่าประโยชน์ที่สุดในประวัติศาสตร์’ พลเรือนกว่า 2 ล้านคนของทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงทหารเวียดนามราว 2.5 แสนนาย และบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯกว่า 5.8 หมื่นนาย เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯถูกกดดันเรื่องการแสดงจุดยืนทางการเมืองในประเด็นระดับโลก

วันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘จอห์น เอฟ เคนเนดี’ ถูกลอบสังหาร คืนถัดมาดีแลนตัดสินใจใช้เพลง The Times They Are a – Changin’ ร้องเปิดคอนเสิร์ต แม้ตอนแรกเขาจะไม่ค่อยมั่นใจว่าประชาชนจะมีฟีดแบคต่อเพลงนี้ในห้วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่านอย่างไร แต่คอนเสิร์ตก็ผ่านไปด้วยดี ดีแลนเล่าความรู้สึกในคืนนั้นว่า “แม้จะมีเรื่องโกลาหลในประเทศ แต่พวกเขาก็ปรบมือให้กับเพลงนี้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงปรบมือ หรือทำไมผมถึงเขียนเพลงนี้ ผมไม่เข้าใจอะไรเลย สำหรับผม นี่มันบ้าไปแล้ว” 

แม้ว่าจะไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเพลงนี้มีแรงบันดาลใจจากอะไร แต่ The Times They Are a – Changin’ ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและไร้กาลเวลา อาจเป็นเพราะว่า โลกต้องการการมีส่วนร่วมทางสังคมเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หรือไม่ก็เป็นเพราะ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ 

ความหมายของ The Times They Are a – Changin’

หลังจากดีแลนเรียกทุกคนบนโลกมารวมกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่แห่งหนตำบลไหนก็ตาม ท่อนต่อไปเขาร้องว่า

And admit that the waters around you have grown
And accept it that soon you’ll be drenched to the bone

แม้ The Times They Are a – Changin’ จะถูกเรียกว่าเป็น ‘เพลงประท้วง’ ทว่าหากพิจารณาจากเนื้อเพลงแล้ว ในท่อนนี้ดีแลนเพียงแต่เชื้อเชิญให้ผู้คนมองไปรอบ ๆ ตัว และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน เขาขอให้ผู้คน “เปิดใจ” และ “ยอมรับ” ต่อสิ่งเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่เขาเลือกใช้ได้กระตุ้นให้เรารีบตัดสินใจในยามที่น้ำเริ่มไหลบ่า เพราะคงไม่มีใครอยากตัวเปียกหนาวสั่นไปจนถึงกระดูก เปรียบเหมือนกับเวลาที่เราเผชิญความเปลี่ยนแปลง ทางเลือกในเวลานั้นอาจมีไม่มาก จะยอมรับมันอย่างสิ้นหวัง หรือลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เพื่อให้ผลมันออกมาตรงตามที่ใจต้องการ?

If your time to you is worth saving
Then you better start swimmin’ or you’ll sink like a stone

เนื้อเพลงท่อนนี้แนะนำให้เราเริ่มว่ายน้ำหรืออย่างน้อยก็เริ่มเรียนว่ายน้ำ บ่งบอกถึงความจำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

ฟังเพียงเท่านี้เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า เมื่อโลกหมุนไป เราคงทำอะไรไม่ได้นอกจากหมุนตัวเองไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับตอนที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง หลังจากนั้นโลกก็กลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ขึ้นด้วยการอ้าแขนรับความหลากหลาย 

For the times, they are a-changin’

ในหลายสถานการณ์ เราได้เห็นแล้วว่าเมื่อผู้คนร่วมแรงร่วมใจกัน จะทำให้เกิดพลังมากพอที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงใหม่มาสู่โลกใบนี้ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ทุกคนมีหน้าที่เพียง ‘ปรับตัว’ และ ‘ปรับตัว’ ส่วนใครที่ไม่ยอมปรับตัวก็ต้อง ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’

ความรู้สึกทำนองนี้เกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษก่อนที่เพลงนี้จะถูกเขียนขึ้น ต่อเนื่องมาจนถึงตอนเกิดเพลงนี้ขึ้นมาแล้ว และคาดว่าความรู้สึกจะมีต่อเนื่องไปในอีกหลายศตวรรษข้างหน้า นี่คือสาเหตุที่เพลงอย่าง The Times They Are a-Changin’ มีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างเหนือกาลเวลา

ในท่อนต่อไป ดีแลนเรียกสมัครพรรคพวกของเขา ทั้งนักเขียนและนักวิจารณ์

Come writers and critics who prophesize with your pen
And keep your eyes wide, the chance won’t come again

นั่นเป็นเพราะงานเขียนได้ปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มันอาจอยู่ในรูปแบบของข่าว บทความ หนังสือ สุนทรพจน์ เพลง บทกวี และอื่น ๆ ดีแลนจึงได้ส่งเสียงบอกให้พรรคพวกของเขา เบิกตาให้กว้าง และรีบจดบันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน เพราะหากคนเหล่านี้เอาแต่เมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โอกาสของการเปลี่ยนแปลงอาจหลุดมือไป และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

For the loser now will be later to win

ทุกสิ่งเปลี่ยนไป และทุกอย่างมีเวลาของตัวเอง เช่น ชาวแอฟริกันจำนวนมากที่ถูกกดขี่และถูกปฏิบัติไม่ต่างจากฝุ่นธุลีมานานหลายปี เมื่อสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดผ่าน เวลาของพวกเขาก็มาถึง 

ในส่วนที่สามของเพลงนี้ ดีแลนได้เรียกร้องความสนใจจากผู้มีอำนาจตัดสินใจของสังคม

Don’t stand in the doorway, don’t block up the hall

ดีแลนขอให้นักการเมืองอย่าทำหูหนวกตาบอดต่อการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนนำมา นักวิจารณ์บางคนมองว่าท่อนที่ร้องว่า “standing in the doorway” เป็นการพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่ ‘จอร์จ วอลเลซ’ ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา ยืนขวางอยู่หน้าประตูหอประชุมฟอสเตอร์ของมหาวิทยาลัยแอละบามา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการขัดขวางนักเรียนผิวดำ 2 คน ไม่ให้ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1963 แต่ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีเคนเนดี ก็ได้เข้าแทรกแซงเรื่องนี้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่เดือนก่อนที่ดีแลนจะเขียนเพลง The Times They Are a-Changin’

ดีแลนเคยกล่าวไว้ว่า คนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นคนแรกที่ค่อย ๆ เหี่ยวเฉา วันหนึ่งคนเหล่านี้จะตื่นมาพบว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ในโลกใบเดิมอีกต่อไป และจะมีชีวิตรอดได้ยากในสภาวการณ์ใหม่  

The Times They Are a-Changin’ เพลงของ ‘บ็อบ ดีแลน’ ที่ขอให้นักการเมืองฟังเสียงมวลชน

ตั้งแต่เหตุการณ์เด็กผิวดำ 2 คน ถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในปี 1963 จนถึงตอนที่ ‘บารัก โอบามา’ กลายเป็นประธานาธิบดีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรกของสหรัฐฯ ในปี 2009 สภาวการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และดีแลนได้มีโอกาสร้องเพลง The Times They Are a-Changin' ที่ทำเนียบขาว ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2010 ซึ่งเป็นช่วงสมัยของประธานาธิบดีโอบามา 

ในช่วงที่ 4 ของเพลง ดีแลนสนทนากับบรรดาพ่อแม่ทุกคนบนโลกผ่านบทเพลง เขาบอกคนเหล่านี้ว่า ลูก ๆ กำลังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นมากต่อโลก ขอให้พ่อแม่อย่ายืนขวางทางลูกเลย

And don’t criticize what you can’t understand

บ่อยครั้งที่รุ่นเก่าได้สร้างช่องว่างขนาดใหญ่โดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าตัวเองเก่ง ฉลาด และมีประสบการณ์มากกว่า แต่ความจริงแล้วเป็นคนรุ่นใหม่ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดชะตากรรมโลกใบนี้ โดยในช่วงเวลาที่ดีแลนเขียนเพลงนี้ขึ้น เป็นช่วงที่มีคติสำหรับคนรุ่นใหม่ว่า “อย่าไว้ใจคนที่อายุเกิน 30 ปี”

Your old road is rapidly aging
Please get out of the new one if you can’t lend your hand

เนื้อเพลงท่อนนี้ดีแลนเปรียบถนนกับวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ๆ ความจริงแล้วมันอาจไม่ใช่ถนนเส้นที่ดีที่สุด แต่พวกเขาอาจไม่รู้ว่ามันจะมีถนนเส้นใหม่ที่ดีกว่านี้ ดีแลนจึงได้ขอให้ผู้ปกครองถอยห่างจากถนนใหม่ที่กำลังสร้าง หากพวกเขาไม่สามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือได้

ในช่วงสุดท้ายของเพลง ดีแลนทำให้พวกเรารู้ว่า สุดท้ายแล้วความเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะพัดผ่านไปกลายเป็นวันวาน

As the present now will later be past
The order is rapidly fading

เวลายังคงเดินต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทุกเสี้ยววินาทีที่เรามีชีวิตอยู่และหายใจ จะกลายเป็นอดีตในอีกวินาทีต่อมา เราเองก็ไม่ใช่คนเดิมเมื่อวินาทีที่แล้ว ทั้งหมดคือข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า “ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” เช่นเดียวกับ ‘ระเบียบ’ ต่าง ๆ ในสังคม ที่ครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในไม่ช้าก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ผิด จนต้องถูกรื้อถอนเพื่อสร้างระเบียบใหม่ที่ดีกว่าเดิม

เพลงนี้เป็นเพลงที่เหมาะจะนำไปใช้ในการประท้วงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเพลงที่เรียกร้องให้คนยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคุณจะคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงแบบใด สุดท้ายต้องยอมรับว่า เพลง The Times They Are a-Changin' ได้สะท้อนอุดมคติที่ดีแลนยืนหยัด และกระตุ้นให้เราได้เห็นสัจธรรมในชีวิต 

ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำไมเราไม่หัดเรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วนำไปปรับใช้เพื่อให้ชีวิตในวันข้างหน้าดีขึ้น 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

songfacts

justrandomthings

lyricinterpretations