Now And Then การฟื้นคืนอีกครั้ง ก่อนจากไปตลอดกาลของ The Beatles

Now And Then การฟื้นคืนอีกครั้ง ก่อนจากไปตลอดกาลของ The Beatles

เรื่องราวของ ‘Now And Then’ เพลงสุดท้ายของสี่เต่าทอง ‘The Beatles’ ที่ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ก่อนจากไปตลอดกาล

  • วันหนึ่งในปี 1977 ที่อาคารดาโกต้า, นิวยอร์ก ‘จอห์น เลนนอน’ บันทึกเสียงเดโมเพลง Now And Then ด้วยเสียงร้องของเขาและเปียโน ผ่านเครื่องเล่นเทปกระเป๋าหิ้วที่ไม่ได้มีคุณภาพอะไรพิเศษนัก
  • Now And Then เป็นแทร็กที่สามเต่าทองหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะต้องนำมาทำเป็น single สำหรับ Anthology 3 แต่หลังจากพยายามกันมาพักหนึ่ง ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ ก็เลิกล้มความตั้งใจ เพราะคุณภาพเสียงของเพลงนี้ในเทปมันย่ำแย่เกินไป …

คำถามสำหรับแฟนพันธุ์แท้ The Beatles: เพลงใดคือเพลงสุดท้ายของพวกเขา?

บางคนอาจยกมือตอบอย่างมั่นใจว่า ‘The End’ ไง เพราะมันคือเพลงสุดท้ายในอัลบั้มสุดท้าย (Abbey Road) ที่พวกเขาสร้างงานร่วมกัน 

แต่แน่ใจหรือ? มันอาจเป็น ‘Her Majesty’ ที่เป็น hidden track ยาว 23 วินาทีที่เหน็บไว้ต่อจาก ‘The End’ ก็ได้นะ

หรือบางคนอาจแย้งว่ามันควรเป็น ‘Get Back’ มากกว่า เพราะมันเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มสุดท้าย (Let It Be) ที่พวกเขาวางขายในปี 1970 ก่อนแตกวง แถมยังเป็นเพลงสุดท้ายที่พวกเขาเล่นดนตรีร่วมกันบนชั้นดาดฟ้าของตึก Apple ด้วย

ไม่สิ บางคนเถียงว่า มันต้องเป็น ‘I Want You (She’s So Heavy)’ อันเป็นเพลงที่ทั้งสี่บันทึกเสียงร่วมกันสด ๆ ในสตูดิโอเป็นครั้งสุดท้าย 

หรืออาจเป็น I Me Mine, Free As A Bird, Real Love...

แฟน ๆ อาจอ้างเหตุผลนู่นนี่นั่นถกเถียงกันได้เป็นวัน ๆ ถ้าคำถามนี้ถูกยกขึ้นมาก่อนปี 2023 แต่ถ้าเป็นในปีนี้ ‘The Last Beatles Song’ จะเป็นเพลงอื่นใดไปอีกไม่ได้ นอกจาก ‘Now And Then’

ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ และ ‘ริงโก้ สตาร์’ บอกเราว่า ‘มันเป็น’ และพวกเขาจะทำให้มันเป็น และเราก็เชื่อว่าเต่าทองทั้งสองคนคงไม่ทำเพลงใหม่ของเดอะ บีเทิลส์ ออกมาอีกแล้ว ด้วยอายุอันมากโขของทั้งคู่ และคงไม่มี material อะไรที่ดีพอหลงเหลือมาจากคลังของ ‘จอห์น เลนนอน’ มาให้พวกเขาทำต่ออีก

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “Never say never.” (อย่าได้พูดว่าไม่มีทาง)

แต่ที่แน่ ๆ สโลแกน ‘Last Beatles Song’ มันส่งผลทางการตลาดอย่างรุนแรงมากกว่า ‘Another New Beatles Song’ แน่นอน

วันหนึ่งในปี 1977 ที่อาคารดาโกต้า, นิวยอร์ก จอห์น เลนนอน บันทึกเสียงเดโมเพลงนี้ ด้วยเสียงร้องของเขาและเปียโน ผ่านเครื่องเล่นเทปกระเป๋าหิ้วที่ไม่ได้มีคุณภาพอะไรพิเศษนัก จอห์นคงไม่ได้มีเจตจำนงว่าเทปม้วนนี้จะต้องถูกนำไปต่อยอดสร้างงานสำคัญอะไร นอกเหนือจากการเป็นบันทึกอ้างอิงในการแต่งเพลงของเขาเท่านั้น 

แต่โชคดีที่จอห์น เลนนอน เป็นคนไม่เคยร้องเพลงแบบไม่ตั้งใจ แม้จะเป็นเดโมที่ทำเล่น ๆ แบบนี้ จอห์นก็ยังร้องไว้อย่างประณีตและน่าฟัง

Now And Then เป็นหนึ่งในสี่เพลงที่อยู่ในเทปคาสเซ็ทที่ ‘โยโกะ โอโนะ’ ภรรยาหม้ายของจอห์น มอบให้พอล แม็กคาร์ตนีย์ ในปี 1994 ด้วยหวังว่า บีเทิลส์ที่เหลือทั้งสามที่กำลังทำงาน Anthology กันอยู่ จะนำเสียงจอห์นในเทปนี้ไปต่อยอดสร้าง ‘เพลงใหม่’ ของเดอะ บีเทิลส์ กันได้

ในบรรดา 4 เพลงนี้ จอห์น, ผู้เสียชีวิตไปในปี 1980 ทำไว้แค่เดโมเท่านั้น ยังไม่เคยเอาไปทำอะไรต่อ

อีก 3 เพลงที่เหลือในเทปม้วนนั้น (มาเปิดเผยกันภายหลังว่ามันเป็นเทปที่อัดต่อกันมาถึง 3 เจเนอเรชั่น) คือ Free As A Bird, Real Love และ Grow Old With Me 

2 เพลงแรก ‘The Threetles’ (ชื่อเล่นที่เรียกสามเต่าทอง - พอล, จอร์จ และริงโก้) นำไปต่อยอดเป็น single สำหรับอัลบั้ม Anthology 1 และ 2 ตามลำดับ โดย Grow Old With Me เคยอยู่ในอัลบั้มที่ออกมาหลังจากจอห์นเสียชีวิต (Milk and Honey) แล้ว จึงไม่ถูกพิจารณานำมาทำอะไรต่อ (แต่มันก็ไปโผล่ใน box set Lennon Anthology ในรูปแบบแบ็กอัพด้วยวงเครื่องสาย)

และเมื่อมีบีเทิลส์คนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับโปรเจกต์ใด ๆ ก็เป็นประเพณีของพวกเขา ที่จะล้มเลิกโปรเจกต์นั้น Now And Then จึงถูกเก็บพับไป และ Anthology 3 ก็ไม่มี single เหมือนสองชุดแรก 

แต่โปรดสังเกตว่า จอร์จ แฮร์ริสัน ไม่เคยบอกว่าเพลงนี้ไม่ดี เขาแค่รับไม่ได้กับคุณภาพเสียงเท่านั้น และการ ‘รับไม่ได้’ ในครั้งนั้นของจอร์จก็ส่งผลให้เราได้มี Now And Then แบบที่เราได้ฟังในวันนี้

มันเป็นอะไรที่คาใจพอล แม็กคาร์ตนีย์ เสมอมา หลายปีหลังจากนั้น พอลออกมาพูดหลายครั้งว่าอยากทำเพลงนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้จอร์จ แฮร์ริสัน จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2001 แต่ ‘โอลิเวีย’ และ ‘ธานี’ ภรรยาและบุตรชายของจอร์จ คงไม่ปล่อยให้พอลนำเพลงนี้ไปทำต่อในนาม เดอะ บีเทิลส์ แน่ เว้นแต่จะมีอะไรบางอย่าง หรือ ใครบางคน แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพเสียงของเดโมเทปม้วนนั้นได้

อะไรบางอย่างนั่นก็คือ ‘AI’ (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำในสิ่งที่เคยคิดกันไว้ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เป็นไปได้’ มันคือ ‘MAL’ (ย่อมาจาก Machine-assisted Learning, ชื่อนี้ยังเป็นการ tribute ให้ Mal Evans ผู้ช่วยคู่บุญของบีเทิลส์ และยังล้อไปกับชื่อ HAL, คอมพิวเตอร์อัจฉริยะในภาพยนตร์เรื่อง 2001: Space Odyssey อีกด้วย) 

เจ้า AI software ของ WingNut Films ของ ‘ปีเตอร์ แจ็คสัน’ สามารถแยกเสียงร้องและเครื่องดนตรีหรือเสียงอื่น ๆ ออกมาได้ ด้วยการ ‘เรียนรู้’ ว่าเสียงใดมีคาแรกเตอร์เสียงอย่างไร MAL ได้โชว์ความสามารถนี้ครั้งแรกในสารคดี Get Back เมื่อปี 2021 ที่แจ็คสันกำกับ ต่อมา ‘ไจล์ส มาร์ติน’ ก็นำมันไปใช้ในอัลบั้ม ‘Revolver’ ฉบับรีมิกซ์ของ เดอะ บีเทิลส์ และทำให้เสียงของอัลบั้มสุดคลาสสิกนั้นดูดีขึ้นผิดหูผิดตา

บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่ามีการใช้ AI เพื่อสร้างเสียงจอห์นขึ้นมาใหม่ ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น AI มีหน้าที่แค่แยกเสียงจอห์นออกมาเท่านั้น เสียงของเลนนอนที่เราได้ยินใน Now And Then คือเสียงของเขาเอง 100% และการทำงานกับเสียงจอห์นคราวนี้ ใช้ digital copy จาก master tape ของจอห์น ที่ ‘ฌอน เลนนอน’ ลูกชายของเขา นำมามอบให้ทีมงาน การเริ่มต้นจึงน่าจะดีกว่าเทปที่อัดต่อกันมา 3 ต่อที่พวกเขาใช้ในปี 1995 หลายเท่า

ดังนั้นการทำงานของบีเทิลส์ใน Now And Then จึงต่างจาก Free As A Bird หรือ Real Love สองเพลงนั้น เหมือนพอล, จอร์จ และ ริงโก้ เล่นดนตรีทับลงไปในเทปของจอห์น แต่ใน Now And Then เสียงจอห์นถูกแยกออกมา กลายเป็นแทร็กหนึ่งในการบันทึกเสียงร่วมกับพอล, ริงโก้ และเสียงดนตรีที่จอร์จเล่นไว้ตั้งแต่ปี 1995

พอลและริงโก้เข้าสตูดิโอบันทึกเสียงเพลงนี้ร่วมกับโปรดิวเซอร์ ไจล์ส มาร์ติน ในปี 2022 บีเทิลส์ทั้งสองเพิ่มเสียงร้องใหม่ลงไปร่วมกับจอห์น, ริงโก้ตีกลองใหม่, พอลเล่นเปียโนในแบบที่จอห์นเล่นในเดโม และแน่นอน...เบสกีตาร์ พอลยังเล่นฮาร์ปซีคอร์ดไฟฟ้าและสไลด์กีตาร์อีกด้วย 

เป็นเรื่องเหมาะสมถูกทำนองคลองธรรมแล้ว ที่พวกเขาวางแผนจะนำ Now And Then ไปใส่ไว้ในอัลบั้ม 1967 - 1970 ที่ได้รับการขยายความใหม่และออกขายในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพราะมันมีฟีลของเดอะ บีเทิลส์ ในยุค 1967 - 1968 เต็มเปี่ยม ยิ่งได้เสียงเครื่องสายที่เรียบเรียงโดย ไจล์ส มาร์ติน, พอล และ เบน ฟอสเตอร์ เข้ามาอีก ยิ่งทำให้คิดถึงผลงานของ ‘เซอร์ จอร์จ มาร์ติน’ ที่ทำเอาไว้ ไจล์สยังนำเสียงต่าง ๆ จากเพลง Here, There And Everywhere, Eleanor Rigby และ Because มาสอดแทรกลงไปอีก แบบที่เขาเคยทำในอัลบั้ม Love ด้วย

ใกล้สามทุ่ม วันพฤหัสที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลาประเทศไทย ข้าพเจ้าก็ไม่ต่างจากแฟน เดอะ บีเทิลส์ที่เหลือทั้งโลก ที่ไม่เป็นอันทำอะไร นอกจากนั่งจ่อมรออยู่หน้าโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อรอคอยการเปิดออกอากาศครั้งแรกอย่างเป็นทางการของ ‘เพลงสุดท้ายสี่เต่าทอง’ Now And Then ที่พวกเรารอคอยมานานแสนนาน

และมันก็มาตามนัดในเวลาสามทุ่มเป๊ะ บทเพลงยาว 4 นาทีกว่า ๆ เริ่มต้นด้วยเสียงนับ count in 1 - 2 ของพอล แม็กคาร์ตนีย์ บทเพลงท่วงทำนองอ้อยสร้อยแต่หนักแน่น เสียงร้องของจอห์น เลนนอน แม้จะไม่ถึงกับ 100% แต่ก็แจ่มกระจ่างชัดกว่าที่เราเคยได้ยินใน Free As A Bird หรือ Real Love หลายเท่าตัว 

เห็นได้ชัดว่าพอลไม่คิดจะขโมยซีนแต่อย่างใด เขาปล่อยให้จอห์นเป็นพระเอกเต็มที่ในเพลงนี้ ท่อนแยกที่เราอาจจะเคยได้ฟังในเดโมของจอห์นถูกตัดไป ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีใครทราบ แต่อาจเป็นเพื่อความกระชับและเนื้อหาที่ไม่เจาะจงเกินไป

ริงโก้ยังคงเป็นริงโก้ เขาควบคุมจังหวะหนักแน่นอย่างมีรสนิยมไม่มีแตกแถว จอร์จ แฮร์ริสัน อาจจะมีบทบาทไม่มาก เราได้ยินเพียงเสียงกีตาร์ของเขาและเสียงร้องประสาน

และมันจะเป็นเพลงบีเทิลส์สุดอลังการไปไม่ได้ถ้าขาดเสียงแบ็กอัพจากวงออร์เคสตรา

ท้ายเพลงพอล ‘ทริบิวต์’ ให้จอร์จด้วยการ solo slide guitar ที่เป็นของโปรดของจอร์จ แต่พอลเล่นในลีลาของเขาเองที่แตกต่างจากสไตล์ของจอร์จ โดยพอลใช้การสไลด์ในแบบยิ่งใหญ่เวิ้งว้าง

ความรู้สึกโดยรวมในการฟังเพลงนี้คือ นี่คือเพลงที่จะปิดม่านความยิ่งใหญ่ของเดอะ บีเทิลส์ อย่างแท้จริง พอลและริงโก้ได้แต่งองค์ทรงเครื่องเพลงรักเหงาเล็ก ๆ ของจอห์นให้กลายเป็นอภิมหาดนตรีระดับ IMAX 

ข้าพเจ้าเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า พอล และริงโก้ คงไม่ทำเพลงต่อไปของเดอะ บีเทิลส์ออกมาอีกแล้ว wikipedia ให้คำจำกัดความว่าเพลงนี้เป็นเพลงในแนว ‘ไซคีดีลิกบัลลาด’ (psychedelic ballad) ซึ่งดูเป็นแนวดนตรีที่เท่ดีไม่หยอก แม้หลายคนอาจจะกังขาว่ามันไซคีดีลิกขนาดนั้นเลยหรือ?

แต่ Now And Then แม้จะยอดเยี่ยมแค่ไหน มันก็ยังไม่ถึงกับคลาสสิกสมบูรณ์แบบอย่างเพลงชั้นเลิศของบีเทิลส์ในอดีต ถ้าจอห์นยังมีชีวิตและมาร่วมงานด้วยจริง ๆ เขาคงจะต้องแก้ไขแต่งเติมอะไรอีกมาก การมิกซ์เสียงยังฟังดูเบียดเสียดเกินไปในบางช่วง และเสียงร้องประสานของพอลและริงโก้ก็ไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนพวกเขาในวัยหนุ่มอีกแล้ว กระนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นความจงใจของพวกเขาที่จะให้มันออกมาแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่การ de-age เสียงร้องมันก็ไม่ได้ยากอะไรเลย

แฟนเพลงช่างจินตนาการบางคนหล่นความเห็นว่า จากเนื้อเพลงเพลงนี้ที่จอห์นเขียน มันไม่น่าจะเป็นการเขียนเพลงรักถึงโยโกะ อาจจะเป็น ‘เมย์ แปง’ มากกว่า และ ‘Now And Then’ ก็คือการดอดไปพบกับกิ๊กเก่าเป็นครั้งคราวของจอห์น…

แน่นอนว่าไม่มีแฟนบีเทิลส์คนไหนฟัง Now And Then เพียงรอบเดียวในคืนนั้น แต่อย่าลืมว่าในซิงเกิลเสมือนจริงนี้ ยังมีอีก 1 เพลงที่ติดมาด้วย และมันช่างเหมาะสมไร้ที่ติ ที่เพลงสุดท้ายของพวกเขาจะมาจับคู่กับ ‘Love Me Do’ ฉบับซิงเกิลที่ตีกลองโดยริงโก้ 

เดิมทีเพลงนี้มีแต่ในแบบโมโนเวอร์ชัน และมันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง MAL ที่จะแยกเสียงร้องและเครื่องดนตรีต่าง ๆ ออกมาจากโมโนมาสเตอร์ แล้วนำมันมามิกซ์ใหม่ในแบบสเตอริโอ ซึ่งทำออกมาได้เป็นธรรมชาติกำลังดีมาก ๆ ดีงามที่สุดคือเสียงร้องนำของจอห์นและพอลที่กลมกล่อมและแยกจากกันชัดเจนจนน่าขนลุก นี่คือการประกาศต่อวงการดนตรีว่า ต่อไปเราน่าจะได้ฟัง stereo version ดี ๆ จากเพลงในยุค mono ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของบีเทิลส์เองหรือศิลปินอื่น ๆ

ช่างคิดเหลือเกินที่นำสองเพลงนี้มาประกบกันในซิงเกิลนี้ เพลงสุดท้าย และเพลงแรกสุด ประหนึ่งปรารถนาจะกล่าวกับแฟนเพลงว่า….

“Now and then, love me do.”

และก็เป็นการวางแผนการตลาดอันแยบยลอีกที่พวกเขาไม่ได้ปล่อยมิวสิกวิดีโอออกมาในวันเดียวกัน แต่ทิ้งช่วงประมาณเกือบ 1 วัน ให้โอกาสแฟนเพลงฟังจนขึ้นใจ และโหยหาอีกสักนิด เอ็มวี Now And Then ปีเตอร์ แจ็คสัน ลงมือกำกับเอง เขาเป็นแฟนเดนตายของเดอะ บีเทิลส์ แต่ไม่เคยกำกับเอ็มวีของศิลปินใดเลยสักครั้ง และเขาก็ไม่ได้อยากทำแต่แรก เพราะมันกดดันสุด ๆ

ปีเตอร์อ้างกับ Apple ไปว่า ถ้าจะทำเอ็มวีให้ Now And Then ก็คงต้องมี footage หายากที่ไม่เคยมีใครเห็นกันมาก่อน รวมทั้งภาพที่พอล, จอร์จ และริงโก้ ลองเล่นเพลงนี้กันในปี 1995 

ปีเตอร์คิดว่า Apple คงไม่มีทางหาสิ่งพวกนั้นมาให้เขาได้ แต่หารู้ไม่ว่าการอ้างแบบนั้นทำให้เขาถูกลากเข้าไปร่วมทีมทันที เพราะ Apple หาสิ่งที่ปีเตอร์ต้องการมาได้ทั้งหมด แถมด้วยภาพเคลื่อนไหวของ เดอะ บีเทิลส์ ในชุดแจ็กเก็ตความยาว 2 - 3 วินาที ที่เป็นฟิล์มเก่าที่สุดของพวกเขาเท่าที่เคยมีมา และยังไม่เคยนำออกแสดงที่ไหนมาก่อนด้วย (ผู้ที่นำมามอบให้คือ ‘พีท เบสต์’)

ปีเตอร์กำกับเอ็มวีนี้เหมือนคนไม่เคยกำกับเอ็มวีมาก่อน (ก็ใช่น่ะสิ!) มันเต็มไปด้วยความ ‘ดูเหมือน’ เป็นมือสมัครเล่น ทั้งการตัดต่อและสตอรี่ แต่พอจะจับผิดก็เจอแต่ความเนี้ยบ และถ้าคุณหวังว่ามันจะเป็นเอ็มวีเคล้าน้ำตา, คุณคิดผิด เพราะตลอดรายการ มีแต่เรื่องโบ๊ะบ๊ะ ปล่อยมุก โดยเฉพาะการนำ footage เก่าของจอห์นและจอร์จมาแปะใส่ในรูปแบบของเลนนอนและแฮร์ริสัน เชิญยิ้ม (บางคนอาจถึงกับสงสัยว่านี่มัน official MV แน่หรือจ๊ะ) 

กระนั้น เมื่อคุณกลับมากดดูมันอีกรอบ และอีกรอบ คุณจะพบว่าภายใต้ความตลกลิงหลอกเจ้านั้น มันแฝงความทรงจำและความโศกเศร้ามากมายอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เอ็มวีนี้ฉายภาพของสี่เต่าทองย้อนไปมาจากทุกยุคทุกสมัย ปีเตอร์เคยบอกไว้ว่า เขาไม่ต้องการให้เอ็มวีนี้มันออกมาซึมเศร้าเกินไป อยากให้มีความสมดุลระหว่างความซาบซึ้งและเฮฮา (ดูเหมือนแกจะหนักมือไปทางอันหลังไปหน่อย)

แต่ท้ายที่สุด, ไม่แปลกอะไร ที่คุณจะเสียน้ำตาอยู่ดี เมื่อแสงไฟนีออนที่เป็นชื่อ THE BEATLES ดับวูบลง ไม่กี่วินาทีหลังจากพวกเขาโค้งคำนับคารวะ และสลายหายไปจากจอ

หลังจากจอห์น เลนนอน เสียชีวิตไป ก็ยังคงมีข่าวลือถึงการ reunion ของบีเทิลส์ที่เหลือมาเป็นระยะ ๆ และครั้งหนึ่ง จอร์จ แฮร์ริสัน เคยตอบไปว่า “ยังไม่มีการรวมวงอะไรทั้งนั้น ตราบใดที่จอห์นยังตายอยู่แบบนี้” บัดนี้พวกเขาเหลือกันแค่ 2 คน แต่ใน 4 นาทีกว่า ๆ ของเพลง Now And Then นี้ เรา, ผู้ฟัง อยากจะเชื่อว่า นี่คือสุ้มเสียงที่ใกล้เคียงที่สุดกับคำว่าการฟื้นคืนชีพของเดอะ บีเทิลส์ คืนมาเพื่อจะกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้าย

 

ภาพ : Getty Images