วิเคราะห์อัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ มาสเตอร์พีซที่สร้างให้ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ เป็นตำนาน

วิเคราะห์อัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ มาสเตอร์พีซที่สร้างให้ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ เป็นตำนาน

วิเคราะห์อัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ เหตุใดจึงเป็นตำนานของยุคสมัยที่มันถือกำเนิดขึ้นมา และสร้างให้ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ เป็นตำนาน

  • ผลงานเพลงของเสือนั้น มีกลิ่นอายเพลงในแนวที่รู้จักกันมาก่อนหน้านั้นว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’  เพราะมีเนื้อหาพูดถึงชีวิตของผู้คนที่ต้องผจญปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทว่าปริศนาที่ยังค้างคาใจหลายคนอยู่เท่าทุกวันนี้ก็คือ เพราะเหตุใด ทำไม เพลงของเสือถึงไม่ถูกยอมรับในฐานะเพลงเพื่อชีวิต?  
  • ดูเหมือนว่าเสือเองก็โนสน โนแคร์ การไม่ถูกขึ้นป้ายแบบนั้น ไม่มีผลอะไรต่อผลงานเพลงของเขา เพราะเป็นช่วงที่กระแสเพลงเพื่อชีวิตดรอปลงไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าพฤษภา’35  อีกทั้งการไม่ถูกขึ้นป้ายเพื่อชีวิตกลับเป็นผลดีต่อเสือ  เมื่อเพลงเพื่อชีวิตรุ่นก่อนหน้านั้นเคยถูกแขวนป้ายเป็น ‘เพลงการเมือง’ อยู่ด้วย  
  • ที่จริงอัลบั้มที่ 2 ของเสือ คือชุด ‘ใจดีสู้เสือ’ ยังคงพบกลิ่นอายในแบบของเสือที่เคยปรากฏอยู่ในชุด ‘ทีของเสือ’ แบบจัดหนักจัดเต็มกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่อาจเป็นตำนานเทียบเท่า ‘ทีของเสือ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องตัวบทเนื้อหาของเพลง

ปรากฏการณ์ ‘ทีของเสือ’ ในยุค 90s

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2537 วงการเพลงไทยสากลได้จารึกนาม ‘เสือ - ธนพล อินทฤทธิ์’ ศิลปินนักร้องในสังกัดค่ายอาร์เอส เป็นวันแรกที่เทปเพลงอัลบั้มชุด ‘ทีของเสือ’ ได้วางแผงทั่วประเทศ  

หลังจากนั้นไม่นาน เพลงในอัลบั้มนี้ ไม่ว่าจะเป็น 18 ฝน, ชีวิตหนี้, รักคงยังไม่พอ, กระดาษห่อไฟ, อยากกลับบ้าน, คิดมากไปหรือเปล่า, เรือลำหนึ่ง, เก็บไว้นาน...นาน, ยังได้อยู่, ขวางโลก, เพี้ยน, ดอกไม้ริมทาง  ล้วนแต่เป็นเพลงได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ โดยเฉพาะเพลง 18 ฝน เรียกได้ว่าเป็น ‘เพลงชาติของวัยรุ่นยุค 90s’ กันเลยทีเดียว  

เมื่อหลายคนคิดถึงยุค 90s นอกจากมีความหมายเท่ากับการโหยหาอดีต โดยคิดถึงช่วงยุคสมัยก่อนมีโซเชียลมีเดีย สิ่งที่มาพร้อมกันอย่างเกือบจะโดยทันทีจากภาวะโหยหาอดีตนี้ก็คือยุคของ ‘เทปคาสเซ็ท’ ยุคเดียวกับการแข่งขันกันระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ คือ ‘อาร์เอส’ กับ ‘แกรมมี่’ คนรุ่นก่อนหน้ายุค 90s อาจจะเคยรู้จักมักคุ้นกับประวัติศาสตร์แบบไทยรบพม่า หรืออย่างความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประเทศโลกเสรีกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น แต่คนรุ่น 90s เมื่อพูดถึงความขัดแย้งระดับชาติกันแล้ว จำนวนไม่น้อยเป็นต้องเล่นมุก อาร์เอส vs แกรมมี่  

โดยที่การแข่งขันกันระหว่างสองค่ายยักษ์ใหญ่แห่งวงการเพลงไทยสากลของยุคนั้น อาจไม่มีอะไรเทียบได้จริงกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่าหรืออย่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียตในอดีต เพราะสองค่ายยักษ์ใหญ่นั้นแข่งขันกันสร้างผลงานเพลงเพื่อตอบสนองรสนิยมการเสพเพลงของคนในยุคที่สังคมไทยกำลังพัฒนา ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เรียกกันว่า ‘ยุคนิกส์อุตสาหกรรม’

มีกลิ่นอายเพื่อชีวิต แต่ทำไมไม่ถูกกล่าวขานในนาม ‘เพลงเพื่อชีวิต’?  

ผลงานเพลงของเสือนั้น มีกลิ่นอายเพลงในแนวที่รู้จักกันมาก่อนหน้านั้นว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ เพราะมีเนื้อหาพูดถึงชีวิตของผู้คนที่ต้องผจญปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มีเพลงออกแนวรัก ๆ ใคร่ ๆ อยู่บ้าง ก็กลับมีเนื้อหาอัดแน่น ไม่ใช่ความรักแบบที่รักปานจะกลืนกิน ไม่มีมิติอื่นเกี่ยวข้อง แต่ทว่าปริศนาที่ยังค้างคาใจหลายคนอยู่เท่าทุกวันนี้ก็คือ เพราะเหตุใด ทำไม เพลงของเสือถึงไม่ถูกยอมรับในฐานะเพลงเพื่อชีวิต? จะตอบง่าย ๆ แค่ว่าเพราะเวลานั้นเขาสังกัดค่ายเพลงไทยสากลอย่างอาร์เอสโปรโมชั่น แค่นั้นก็ไม่ได้ ไม่จบ  

ข้อเสนอสำหรับในที่นี้ ก็คือเราต้องพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของกระแสแนวเพลงเพื่อชีวิตกับเพลงไทยสากลแบบร็อก ซึ่งต่างมีเส้นทางเฉพาะที่มาบรรจบกันในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535    

ย้อนกลับมาที่คำถามแรก ทำไมเสือจึงไม่ถูกขึ้นป้ายเพื่อชีวิต? และดูเหมือนว่าเสือเองก็โนสน โนแคร์ การไม่ถูกขึ้นป้ายแบบนั้น ไม่มีผลอะไรต่อผลงานเพลงของเขา เพราะเป็นช่วงที่กระแสเพลงเพื่อชีวิตดรอปลงไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าพฤษภา’35  อีกทั้งการไม่ถูกขึ้นป้ายเพื่อชีวิตกลับเป็นผลดีต่อเสือ  เมื่อเพลงเพื่อชีวิตรุ่นก่อนหน้านั้นเคยถูกแขวนป้ายเป็น ‘เพลงการเมือง’ อยู่ด้วย  

ผลงานเพลงอัลบั้มชุด ‘ทีของเสือ’ จะพบว่าเสือได้ข้ามพ้นเส้นแบ่งระหว่างเพื่อชีวิตกับร็อก จนเกิดแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ยิ่งเมื่อเพลง ‘เก็บตะวัน’ ที่เขาแต่งให้ ‘อิทธิ พลางกูร’ นำเอาไปร้องในอัลบั้ม ‘ให้มันแล้วไป’ ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำชนะเลิศสาขา ‘มิวสิกวิดีโอดีเด่น’ เสือจึงมีความมั่นใจในแนวทางนี้อยู่ก่อนที่จะออกอัลบั้มทีของเสือ  

ก่อนหน้ายุคอาร์เอส - แกรมมี่ เพลงที่มีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คน ย่อมไม่พ้นที่จะถูกจัดประเภทเป็นเพื่อชีวิต แต่นอกจากความเข้า - ไม่เข้ากับยุคสมัยแล้ว ยังมีประเด็นอื่นให้ต้องพิจารณาอีกดังนี้ 

(1) นิยามความหมายของ ‘เพื่อชีวิต’

ต้นทางของการนิยามความหมายของเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รับรู้กันดีว่าเกี่ยวเนื่องย้อนกลับไปจนถึงนิยามของ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต - ศิลปะเพื่อประชาชน’ เป็นแนวคิดว่าด้วยการสร้างสรรค์ทางศิลปะของขบวนการฝ่ายซ้าย มีนายผี (อัศนี พลจันทร), สมชาย ปรีชาเจริญ (จิตร ภูมิศักดิ์), บรรจง บรรเจิดศิลป์ (อุดม สีสุวรรณ) เป็นต้นทางแนวคิดการรังสรรค์ผลงานแขนงนี้ จนแตกยอดออกมาเป็น ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ และ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ในเวลาต่อมา  

ความหมายของ ‘เพื่อชีวิต’ เดิม พ่วงมากับคำว่า ‘เพื่อประชาชน’ นั่นหมายความว่าเพลงประเภทนี้มีเนื้อหาที่ต้องปลุกเร้าการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนอยู่ด้วยในตัว บางครั้งก็นิยามเรียกกันตรง ๆ ว่า ‘เพลงปฏิวัติ’ หรือ ‘เพลงเพื่อการปฏิวัติ’ จากนิยามข้างต้นนี้ ศิลปินเพลงในรุ่นหลังถึงจะ ‘เพื่อชีวิต’ แต่ไม่ ‘เพื่อประชาชน’ ก็จะถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์    

(2) เพื่อชีวิตโดยเครือข่ายสายสัมพันธ์หรือสังกัด 

แม้ว่าจะขาดตกบกพร่องหรือไม่เข้าเกณฑ์ตามข้อ (1) แต่เราก็จะพบว่าศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างผลงานเพลงยึดโยงกับความเป็นเพื่อชีวิต ก็ยังถือเป็นเพื่อชีวิตได้อยู่เช่นกัน เช่น ‘วงคาราบาว’ หรืออย่าง ‘ปู - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ แต่ทั้งสองก็มีลักษณะร่วมอยู่ตรงที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นก่อนอย่างเช่นวงคาราวาน  

แต่ทว่าการยึดโยงอันนี้ไม่ได้ตกทอดไปถึงรุ่นที่ 3 ที่ไม่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับศิลปินเพลงปฏิวัติ ถึงแม้เสือจะมีสายสัมพันธ์กับ ‘เทียรี่ เมฆวัฒนา’ สมาชิกคนหนึ่งของวงคาราบาว หรือเคยเล่นเป็นวงเปิดให้กับ ‘วงคนด่านเกวียน’ เมื่อครั้งก่อนที่เสือจะเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานให้กับอาร์เอส ก็จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามนิยามแบบข้อ 2 นี้อีก  

(3) เพื่อชีวิตโดยการนิยามตนเอง 

ในบรรดาศิลปินรุ่นที่ไม่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ และผลงานเพลงไม่ได้ยึดโยงกับการนิยามจากปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในอดีต บางวงก็แขวนป้ายเพื่อชีวิตได้ด้วยตนเอง คือนิยามตนเองว่า ‘เพื่อชีวิต’ ด้วยตนเองไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าอยากจะนิยามเช่นนั้น โดยที่ศิลปินรุ่นก่อนก็ไม่มีใครมาบอกวงโน้นวงนี้ ใช่ - ไม่ใช่ เพื่อชีวิต - ไม่ชีวิต แต่อย่างใด  

วงดนตรีตามนิยามข้อ 3 นี้ ตัวอย่างเช่น ‘มาลีฮวนน่า’ ที่มาพร้อมสำเนียงปักษ์ใต้ เป็นต้น ในส่วนนี้ก็อย่างที่บอก เสือเองไม่ได้สนใจที่จะนิยามตนเองกับเพื่อชีวิต  และเรื่องนี้ก็ไม่มีผลอะไรกับเขา แม้ว่าเพลงของเขาจะมีกลิ่นอายที่หลายคนสัมผัสได้ว่าคลับคล้ายคลับคลาเพื่อชีวิต   

‘เพื่อชีวิตโดยเนื้อหา’ แบบหลังพฤษภา’35  

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากวงดนตรีอย่าง ‘คาราวาน’ ที่เกิดจากการรวมกันของวง ‘ท.เสนและสัญจร’ กับ ‘บังคลาเทศแบนด์’ เมื่อ พ.ศ. 2517 ถือเป็นจุดกำเนิดของเพลงเพื่อชีวิตตามกระแส 14 ตุลาคม 2516 ‘คาราบาว’ ซึ่งก่อตั้งวงเมื่อ พ.ศ. 2523 แต่มาโด่งดังจริง ๆ ใน พ.ศ. 2525 เมื่อเกิดเหตุการณ์กรณี ‘ป่าแตก’ แล้ว  ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของเพลงเพื่อชีวิตในกระแสแบบหลังป่าแตก หรือยุค ‘คืนรัง’   

ในระหว่าง 10 ปีหลังนั้น (พ.ศ. 2525 - 2535) นิยามของเพลงเพื่อชีวิตได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงความเป็นบทเพลงเพื่อการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว จากการ ‘รับใช้ประชาชน’ ก็มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วย ‘เพื่อปัจเจกชน’ มากขึ้นเรื่อย ๆ ความรักโรแมนติกที่เคยถูกมองอย่างเหยียด ๆ ว่าเป็นเรื่องของพวก ‘สายลมแสงแดด’ ก็เริ่มปรากฏในเพลงของศิลปินเพื่อชีวิต แม้แต่ในบางอัลบั้มของ ‘หงา คาราวาน’ เองก็ด้วย  

ผับเพื่อชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็มีปรับเปลี่ยนเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดคือสัดส่วนระหว่างการเล่นเพลงตลาดกับเพลงเพื่อชีวิตนั้น เพลงเพื่อชีวิตค่อย ๆ ลดจำนวนเพลงลง และเพิ่มเพลงตลาดมากขึ้น ถึงอัตราส่วน 2 - 3 ส่วนต่อ 10 (ใน 10 เพลง จะเล่นเพลงเพื่อชีวิตเพียง 2 - 3 เพลงเท่านั้น ที่เหลือเป็นเพลงตลาด)  

สิ่งที่ยังเหลือคล้ายกับเป็นจริยธรรม (Ethical) ของผับเพื่อชีวิต คือการงดเล่นเพลงเกี่ยวกับการเป็นชู้หรือการนอกใจ ส่วนเพลงตลาดที่ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นต้องได้ยินได้ฟังทุกครั้งที่เข้าผับเพื่อชีวิต กลับเป็นเพลง ‘ใจนักเลง’ ฉบับเดิมขับร้องโดย ‘พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง’ 

“เมื่อเธอเลือกอยู่กับเขา ตัวฉันคุกเข่าสั่นไหว ใจนักเลงที่ปวดร้าวเจียนตาย ปล่อยเธอไป ตามใจเธอต้องการ จะยอมให้สั่งและตัดสิน ว่าฉันต้องถูกทอดทิ้ง เรานั้นมันไม่อาจฝืนความจริง ได้แต่ยิ้มอวยพรให้ไปดี ให้เธอได้กับเขา และจงโชคดี อย่ามีอะไรให้เสียใจ ส่วนตัวฉันจะลืมว่าเคยร้องไห้ ลืมว่าเคยต้องเป็นใคร ที่เธอไม่เอา” 

เนื้อร้องของเพลง ช่างเข้ากันได้กับบรรยากาศที่ศิลปินแนวเพื่อชีวิตต้องการบอก (แต่ไม่บอกกันตรง ๆ) อย่างการที่ผู้คนละทิ้งความนิยมในแนวเพลงของตนไปสู่อีกแนวทางหนึ่งได้ดีอะไรเช่นนั้น และนี่คือบรรยากาศที่ไม่ใช่แค่เรื่องความตกต่ำของกระแสเพลงเพื่อชีวิต หากแต่คือความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังป่าแตกเป็นต้นมา  
.
เสือ ธนพล มีภูมิหลังเป็น ‘คนอีสาน’ บ้านเกิดอยู่ที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เสือเกิดเมื่อ พ.ศ. 2507 ยุคที่การต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธระหว่าง พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กับรัฐบาลเผด็จการทหาร ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นที่ดินแดนอีสานนั้นเอง เป็นเหตุการณ์ใหญ่หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย ที่เรียกว่า ‘เสียงปืนแตก’ ซึ่งจะอีรุงตุงนังเกี่ยวพันกับเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายในสังคมไทยหลังจากนั้นจนถึงปลายทศวรรษ 2520 และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เพลงที่ดังกระหึ่มในป่าเขาและในเมือง ย่อมหนีไม่พ้นเพลงเพื่อชีวิต - เพื่อประชาชน สิ่งนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานเพลงในยุคถัดมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

แต่ในช่วงหลังจากป่าแตกเรื่อยมาจนถึงพฤษภา’35 ได้เกิดอีกกระแสหนึ่งแทรกปนอยู่กับกระแสเพื่อชีวิตเดิม ทำให้นิยามความหมายของเพลงเพื่อชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่เป็นเพลงมุ่งถ่ายทอดเนื้อหาแนวคิด ‘สัจนิยมแบบสังคมนิยม’ (Socialism) มาเป็น ‘สัจนิยมแบบทุนนิยม’ (Capitalism) เจือปนด้วยกลิ่นอายผสมกันระหว่างรสนิยมพื้นถิ่นกับสังคมเมือง  

และเมื่อเหตุการณ์พฤษภา’35 ชนชั้นกลางใหม่ได้ปรากฏบทบาทขึ้นในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่คาดหวังกันที่ชนชั้นแรงงาน กรรมกร ชาวนา ก็เปลี่ยนมาเป็น ‘ชนชั้นกลางในเมือง’ จากสัญลักษณ์ค้อนเคียวเปลี่ยนมาสู่มือถือ และสมญา ‘ม็อบมือถือ’ ก็ไม่ได้มาลอย ๆ เพราะผู้ชุมชนประท้วงในเหตุการณ์พฤษภา’35 ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสาร  ภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อจะพบผู้ชุมชนเหน็บกระเป๋ากางเกงหลังด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องโต ๆ ด้วยกันทั้งนั้น  

ชนชั้นกลางใหม่ที่เป็นความหวังเหล่านี้มีหัวเสรีนิยมในทางการเมือง ปัจเจกชนนิยม มีมุมมองเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และเทคโนโลยีสื่อสาร (มือถือ) สิ่งนี้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน เฉพาะมากขึ้นจากมือถือรับส่งสัญญาณแบบโทรเข้า - โทรออก มาเป็นมือถือในแง่การใช้โซเชียลมีเดีย ถ้าม็อบพฤษภา’35 คือ ‘ม็อบมือถือ’ การชุมนุมต่อต้านหลังรัฐประหาร 2549 อาจจะอนุมานนิยามเรียกว่า ‘ม็อบโซเชียลฯ’ ได้เช่นกัน

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ‘ทีของเสือ’ เป็นอัลบั้มเพลงที่ออกมาหลังเหตุการณ์พฤษภา’35 ผ่านไปไม่ถึง 2 ปีเต็ม รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นผลงานสืบเนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งจะแล้วเสร็จ และประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2540 (การที่ม็อบเสื้อแดงช่วงพีค ๆ นั้นเรียกร้องให้นำ รธน. ฉบับนี้กลับมาใช้ใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดเลย) 

และนี่คือบรรยากาศทางสังคมที่เอื้อให้แก่อัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ หากเป็นช่วงก่อนหน้านั้นที่เพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมยังคงเป็นกระแสที่นิยม เชื่อได้ว่า ‘ทีของเสือ’ คงยากจะโด่งดังจนกระทั่งกลายเป็นตำนานในแบบที่เรารู้จักเป็นแน่  

นอกจากนี้ภายใต้วัฒนธรรมชนชั้นกลางใหม่นี้ ยังมีอีกกลุ่มวัฒนธรรมที่แทรกซ้อนเข้ามาและจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางเพลง โดยเฉพาะเพลงตลาดหลังจากนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือกลุ่มวัฒนธรรมแบบวัยรุ่น ช่วงอายุ 12 - 18 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นกลุ่มนี้ยังถูกนิยามตามความรู้อดีตว่า เป็น ‘วัยเด็ก’  แต่เมื่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่จัดจำแนกช่วงอายุ 12 - 18 ปีออกมาต่างหากแล้ว ก็ยังอยู่ในขนบที่ไม่ถือเป็นช่วง ‘วัยผู้ใหญ่’ หรือบรรลุนิติภาวะ  

คนกลุ่มนี้จะเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมหลังยุคนิกส์อุตสาหกรรมทั้งในชนบทและในเมือง พวกเขามีรสนิยมที่เฉพาะ ต้องการเพลงตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกในแบบของตน แตกต่างไปจากกลุ่มอื่น ๆ ในท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ เสือ ธนพล เป็นศิลปินที่มองเห็นพลังที่แฝงอยู่ในคนกลุ่มใหม่เหล่านี้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘วัยรุ่น’ นั่นเอง  

ในขณะที่รุ่นก่อน ถ้าไม่เป็นเพลงของชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นคนวัยผู้ใหญ่ทำงานแล้วแบบ ‘ลูกทุ่ง’ ก็เป็นเพลงของคนวัยผู้ใหญ่ในเมืองแบบ ‘ลูกกรุง’ ซึ่งเพลงสตริงหรือไทยสากลมารับช่วงต่อ เมื่อเป็นเพลงยุคแรกเริ่มของการทำเพลงเพื่อตอบสนองต่อวัยรุ่น ก็ไม่มีปัญหาเลยที่เพลงอย่าง ‘18 ฝน’ จะกลายมาเป็น ‘เพลงชาติของวัยรุ่นไทย’

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดียวกันนั้น ไม่ได้มีแต่เสือ ธนพล หรือศิลปินเพลงเท่านั้น ที่มองเห็นพลังของกลุ่มวัยรุ่น คนวงการอื่นแม้แต่กระทั่งแวดวงการเมือง จากเดิมที่ถือกันว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว การเมืองไทยในช่วงนั้นก็เริ่มเปิดเริ่มเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่วัยรุ่น เพราะเห็นว่าวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่สัมผัสได้และเข้าใจดีพอสมควรแล้วถึงประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ (ทั้งจากครอบครัวและสถานศึกษา) จึงมีการให้สิทธิเลือกตั้ง 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน แก่วัยรุ่นที่อายุ 18 ปีนับแต่นั้นมา   

กล่าวโดยสรุป ถ้าจะเทียบเคียงความเป็นเพื่อชีวิต คาราวาน เป็นวงดนตรีที่เกิดหลัง 14 ตุลาคม 2516, คาราบาว เป็นวงเพื่อชีวิตแบบหลังป่าแตก 2525  ส่วน เสือ ธนพล และ ‘ทีของเสือ’ มาในบริบทเพื่อชีวิตแบบหลังพฤษภา’35 เป็น ‘เพื่อชีวิตโดยเนื้อหา’ ที่ตอบโจทย์แก่คนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาได้ช่วงเวลาหนึ่งแล้ว นับแต่หลังป่าแตกจนถึง พ.ศ. 2535 เป็นเพื่อชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการนิยามจากเพื่อชีวิตรุ่นก่อน เพราะมีความแตกต่างโดยเนื้อหาและตอบโจทย์รสนิยมกลุ่มคนฟังเพลงรุ่นใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของช่วงทศวรรษ 2530 หรือที่เรานิยามเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ยุค 90s นั่นเอง                

ตัวบทของเพลงชุด ‘ทีของเสือ’

เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งประเภทตัวบทของเพลงของเสือ ธนพล แม้จะแค่อัลบั้มเดียวก็ตาม แต่ผู้เขียนจะทดลองดู อย่างคร่าว ๆ ตัวบทของเพลงในชุด ‘ทีของเสือ’ น่าจะแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักคือ 1) เพลงสะท้อนความแปลกแยกของผู้คนต่อเมืองใหญ่  2) ธรรมชาตินิยม คือเพลงที่ใช้ความเปรียบธรรมชาติ  3) เพลงให้กำลังใจคนสู้ชีวิต สะท้อนเรื่องการดิ้นรนกระเสือกกระสนภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  4) ความรักมั่นคง ใจเดียว ผัวเดียวเมียเดียว ชายเป็นใหญ่ (พ่อ, แก้วตาดวงใจ และดาวดวงน้อย)   

ตัวบทประเภทที่ 1 (เพลงสะท้อนความแปลกแยกของผู้คนต่อเมืองใหญ่) เช่น: 

“อยู่ในเมืองวุ่นวายเบื่อหน่ายชีวิต หลับตาถอนใจอยากจะหนีไกล ให้พ้นเหมือนคนหมดไฟ” (อยากกลับบ้าน)

“อันคนเรานั้นความจริงเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่ง  ทำไมเราถึงวุ่นวายขนาดนั้น” (คิดมากไปหรือเปล่า)

“บ้านที่มีบางทีก็เหมือนไม่มี มันคือนรกดีดีบางทีฉันก็ปวดร้าว เฝ้าอิจฉาดูใครเขาพร้อมครอบครัว ทำไมฉันมีแต่ตัว หวาดกลัวไม่รู้เรื่องราว” (18 ฝน)  

“บนหนทางที่วกวน รอนแรมผ่านพ้นคืนวัน  เคยพบคนหมื่นแสนพัน ผ่านประสบการณ์หลากหลาย บางครั้งมันเหนื่อยเหลือเกิน  อยากจะจอดพักหัวใจ พักที่ใครสักคน ที่มีรักและเข้าใจ” (ดอกไม้ข้างทาง) 

ตัวบทประเภทที่ 2 (ธรรมชาตินิยมคือเพลงที่ใช้ความเปรียบธรรมชาติ) เช่น: 
“หากชีวิตเปรียบดังทะเล ฉันคงคล้ายเป็นเรือล่องไป ให้ลมพาพัดไป” (เรือลำหนึ่ง) 

“เราคงเป็นดั่งเรือน้อยลำหนึ่ง ในทะเลแห่งชีวิตกว้างใหญ่ ฟ้าคลื่นลมพัดมา ก็หวั่นไหว ในใจมีแต่จุดหมายคือฝั่ง มันจะไกลสักเพียงไหน ต้องไป” (เรือลำหนึ่ง)  

“ฉันคงเป็นแค่เพียง ผงฝุ่นในสายลม ไม่มีความหมายใด” (เรือลำหนึ่ง) 

“เธอคือสายลม ยามฉันร้อนใจ เธอคือแสงไฟ ยามฉันสิ้นทาง” (เก็บไว้นานนาน) 

“ชีวิตเหมือนทิศตะวันตก มีเพียงปัญญาแบกภาระอันหนักไว้ ใครทำให้โง่” (ยังได้อยู่) 

“เป็นเพียงคนหนึ่งคน ยืนสู้บนแนวทางแห่งใจ  มันจะผิดมากไหม เห็นไม่ตรงกับคนมากมาย  ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ กระแสน้ำไม่เคยพลาดไป” (ขวางโลก) 

ตัวบทประเภทนี้ ยังรวมถึงเพลง ‘เก็บตะวัน’ ที่แต่งให้อิทธิ พลางกูร นำไปร้องในยุค 90s ด้วย   

ตัวบทประเภทที่ 3 (เพลงให้กำลังใจคนสู้ชีวิต สะท้อนเรื่องการดิ้นรนกระเสือกกระสนภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม) เช่น:   

“ทำยังไงได้ก็ไม่ได้เกิดมาบนกองทอง พ่อแม่พี่น้องทุกคนก็ประชาชนเดินดิน หากชีวิตนี้ไม่สิ้น  ก็ดิ้นกันไป” (ชีวิตหนี้) 

“ไม่ใช่เศรษฐี นามสกุลไม่เป็นข่าว แค่คนเดินเท้า คนอย่างเราก็ต้องทน” (ชีวิตหนี้)

“ดังเรือใบ ล่องหาทิศทาง แบกภาระ สุมจนเต็มลำ ติดตามไป คงไม่ถึงฝั่ง” (รักคงยังไม่พอ)

“บ่นไป เบื่อไป ก็เท่านั้น กัดฟัน สู้ไป ยังได้อยู่  จะดี จะเลว มันรู้ สู้ไปอย่างนี้” (ยังได้อยู่) 

“ทางเดิน ชีวิตเรา ใครก็คงขีดเอาไม่ได้ จะดีเลวอย่างไร หัวใจก็ยังได้อยู่” (ยังได้อยู่) 

ตัวบทประเภทที่ 4 (ความรักมั่นคง ใจเดียว ผัวเดียวเมียเดียว ชายเป็นใหญ่) เช่น: 

“ก็เธอไม่เหมือนคนทั่วไป ไม่ทำตัวเลิศเลอ  ไม่เด่นเหนือใคร ๆ แต่เธอชนะเราด้วยใจ  เธอมีใจที่งดงาม” (เพี้ยน)

“ถึงใครจะมองว่าเพี้ยน ไม่สนใจรักเธอต่อไป  ถึงใครจะว่ายังไง รักเธอไม่เปลี่ยนไป รักเธอที่หัวใจ” (เพี้ยน) 

ขอให้สังเกตว่า เมื่อเทียบกับศิลปินแนวเพลงไทยสากลท่านอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับเพลงในอัลบั้มอื่น ๆ ของเสือ ที่ออกเผยแพร่หลังจาก ‘ทีของเสือ’ ผ่านไปกว่า 10 ปี ตัวบทที่มีเป็นจำนวนมาก คือตัวบทประเภทที่ 2 ซึ่งจะสัมพันธ์แนบแน่นกับตัวบทประเภทที่ 1 กับ 3 อย่างใกล้ชิด ขณะที่ตัวบทประเภทที่ 4 มีน้อย และดูจะหลุดฉีกออกไปจากอีก 3 ประเภทข้างต้น  

อย่างไรก็ตาม ตัวบทประเภทที่ 4 นี้ เสือจะเน้นหนักในช่วงหลัง อย่างเช่นเพลง ‘ดูโง่โง่’ ดูเหมือนจะเป็นภาค 2 ของ ‘รักคงยังไม่พอ’ ได้ แต่อย่างเพลง ‘แก้วตาดวงใจ’ กับ ‘ดาวดวงน้อย’ ก็ดูแตกต่างฉีกแนวไปอีก เพราะ ‘เธอผู้เป็นที่รัก’ ในสองเพลงดังกล่าวนี้ เสือไม่ได้อุปมาหมายถึงหญิงที่เป็นภรรยา หากแต่เป็นลูก  เป็นเพลงสื่อถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก ซึ่ง ‘ความเป็นพ่อ’ จะเท่ากับ ‘ความเป็นชาย’ ในแบบหนึ่ง ที่อยู่ในขนบเดียวกับตัวบทประเภทที่ 4 นี้ด้วย  

เมื่อ ‘ตัวบท’ (Text) ขาด ‘บริบท’ (Context) หลังยุค ‘ทีของเสือ’ กับตำนานแห่งยุค 90s ที่เปลี่ยนไป  

แม้ว่าเสือ ธนพล จะย้ายค่ายจากอาร์เอสไปแกรมมี่ และสร้างผลงานเพลงออกมาอีกหลายอัลบั้ม แต่หลายคนก็ยังคงยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ของเสือที่เกี่ยวเนื่องกับอัลบั้มทีของเสือ พูดง่าย ๆ คือหลายคนมองว่าไม่มีอัลบั้มไหนจะเป็นตำนานมากเท่าอัลบั้มแรก ซึ่งที่จริงศิลปินหลายคนหลายวงก็หนีไม่พ้นภาพความยึดติดของผู้คนที่มีต่ออัลบั้มแรก และมองอัลบั้มหลังในแง่ที่ไม่อาจเทียบได้กับอัลบั้มแรก อาจจะเรียกว่าเป็น ‘อาถรรพ์ชุดแรก’ ก็ได้   

แต่ที่จริงอัลบั้มที่ 2 ของเสือ คือชุด ‘ใจดีสู้เสือ’ ยังคงพบกลิ่นอายในแบบของเสือที่เคยปรากฏอยู่ในชุด ‘ทีของเสือ’ แบบจัดหนักจัดเต็มกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่อาจเป็นตำนานเทียบเท่า ‘ทีของเสือ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องตัวบทเนื้อหาของเพลง  ผู้เขียนคิดว่าคือเรื่องที่ตัวบทแบบเพลงของเสือนี้ในช่วงหลังขาด ‘บริบท’ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่มาเป็นซับพล็อตโดยอ้อมแบบที่ ‘ทีของเสือ’ มีต่างหาก

แนวคิดในการศึกษา ‘ตัวบท’ (Text) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาตัวบทวรรณกรรมนั้น มักจะมองความสำคัญของตัวบทในกรอบที่เลยพ้นไปกว่า ‘บริบท’ (Context) แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการสืบเนื่องภายในของตัวบทเอง หรือที่เรียกว่า ‘สัมพันธบท’ (Intertextuality) แต่สำหรับการมองตัวบทของเพลงของเสือ ธนพล ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นต่างในแง่ว่า บริบทยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ส่งให้เพลงของเสือในอัลบั้มชุดทีของเสือนั้น เป็นตำนานของยุคสมัยที่มันถือกำเนิดขึ้นมา     

ควบคู่กับกระแสการพัฒนามุ่งไปในแนวทางเศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมอย่างเต็มขั้น นำมาซึ่งอีกด้านที่เป็นการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ชุมชนดั้งเดิม และสังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสังคมเมือง ต่อเนื่องตามติดมาด้วยการเกิด ‘ยุคนิกส์อุตสาหกรรมทางดนตรี’ ซึ่งก็ส่งผลกระทบอีกด้านต่อการเกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘วัยรุ่น’ แทรกกลางขึ้นมาในชนชั้นกลางใหม่ของทศวรรษ 2530 - 2540 คนกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการปัญญาชนแบบที่ขบวนการฝ่ายซ้ายเคยมี พวกเขาต้องการศิลปินเพลงที่สะท้อนเสียงที่คนวัยอื่นไม่ได้ยินมากกว่า

ความแปลกแยกแบบใหม่ (New Alienated) ที่วัยรุ่นเหล่านี้เผชิญนั้นแตกต่างจากความแปลกแยกของชนชั้นกรรมาชีพต่อระบบทุนนิยม มันเป็นความเศร้าแต่ชีวิตก็ต้องเดินต่อ เพลงที่ฟังก็มีเนื้อหาเศร้าอยู่ในที แต่ก็ไม่ได้รันทดจนเกินไป ยังเจือปนด้วยความหวัง ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะก็รู้กันอยู่ว่านั่นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

เพลงของเสือนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่การสร้างสัญลักษณ์ความเปรียบออกไปในทาง ‘ธรรมชาตินิยม’ (Naturalism) ทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ป่าเขา ทะเล ท้องฟ้า พระอาทิตย์ ดวงดาว ในลักษณะที่เป็นแบบเดียวกับชีวิตคน ผสมผสานกับแนวคิดที่เน้น ‘ปัจเจกชนนิยมแบบอัตถิภาวะ’ (Existential Individualism) ถ่ายทอดความรู้สึกเหงาเดียวดาย ความรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวและเมืองใหญ่  

ในท่ามกลางยุคสมัยที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว การที่ผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดภาวะโหยหาอดีตโดยหันกลับไปมองยุค 90s ว่าเป็นยุคที่คนมีความจริงใจให้กันมากกว่ายุคหลังมานี้ แต่แท้ที่จริงยุค 90s เองที่เป็นแบบนั้น  สร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะบทเพลงออกมาได้แบบนั้น ก็เพราะยุคนั้นเองก็มีปัญหาสังคมในแบบของยุคนั้นที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ในแบบที่เป็นตำนานนั้นออกมา...    

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง
จักรกฤษณ์ สิริริน. “58 ฝนของ ‘เสือ ธนพล’ ช่างสี สู่ศิลปิน-ผู้บริหาร เคยสังกัดทั้ง RS-Grammy เพชรแท้ของวงการ” https://www.thepeople.co/culture/music/51466 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566).  

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. “ผับเพื่อชีวิต: กระบวนการแปรรูปเพลงเพื่อชีวิตในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม” วารสารไทยคดีศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2554-มีนาคม 2555), หน้า 137-176. 

ณัฎฐณิชา นันตา. “วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (พ.ศ. 2525-2550)” วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.  

นภิศรา นาทะพันธุ์. “พฤติกรรมการแข่งขันของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย : กรณีศึกษา บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)” วิทยานิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. 

พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ และ ณัฐพิษฐุ์ วงษ์สง่า. ถอดรหัสอาร์เอส 25 ปี ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551. 

สุทธาสินี เกียรติไพบูลย์. “วิวัฒนาการจากเพลงเฉพาะกลุ่มมาสู่เพลงสมัยนิยมของเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516-2531)” วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.  

สุพลธัช เตชะบูรณะ. “จาก ‘โรสซาวด์ มิวสิค’ สู่ ‘บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)’ พ.ศ. 2525-2552: การศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจ” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559. 

อติภพ ภัทรเดชไพศาล. เสียงเพลง/วัฒนธรรม/อำนาจ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556. 

อุไรรัตน์ วิตตานนท์. “กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ และบุคลิกภาพของนักร้องยอดนิยมในสังกัดบริษัท อาร์เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด” วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.