58 ฝนของ ‘เสือ ธนพล’ ช่างสี สู่ศิลปิน-ผู้บริหาร เคยสังกัดทั้ง RS-Grammy เพชรแท้ของวงการ

58 ฝนของ ‘เสือ ธนพล’ ช่างสี สู่ศิลปิน-ผู้บริหาร เคยสังกัดทั้ง RS-Grammy เพชรแท้ของวงการ

‘เสือ ธนพล’ อีกหนึ่งศิลปินมากความสามารถที่เคยสังกัดทั้งค่ายอาร์เอส และแกรมมี่ เขาเริ่มต้นงานจากเป็นช่างสี ทำฉากมิวสิกวิดีโอ ขยับมาเขียนสปอตวิทยุ ออกแบบปก แต่งเพลง มาถึงโปรดิวเซอร์ ศิลปิน และผู้บริหารที่มีผลงานเพลงฮิตมากมาย

“เพราะว่าเธอและเขา ถ่านไฟเก่ายังร้อนรอวันรื้อฟื้น

แล้วคนมาทีหลังต้องทนต้องฝืน อย่างฉันคนนี้ เธอต้องบอกวิธีให้ทำใจ

เมื่อถ่านไฟเก่าของเธอยังมีไฟ อย่าได้ปล่อยฉันตายในกองไฟ”

คอเพลงวงกว้างจำได้แม่นยำว่า นี่คือเพลงที่พี่เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์เป็นผู้ขับร้อง ส่วนแฟนพันธุ์แท้ ‘เสือ’ รู้กันดี ว่า ‘ถ่านไฟเก่า’ เพลงนี้ เป็นผลงานการประพันธ์ของ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’

ตอนที่ ‘เสือ’ แต่งเพลง ‘ถ่านไฟเก่า’ เขาทำงานอยู่ค่าย ‘แกรมมี่’ หลังจากเคยอยู่ค่าย ‘อาร์เอส’ คู่แข่งตลอดกาลของ ‘แกรมมี่’ มาร่วม 10 ปี และปัจจุบัน ‘เสือ’ เป็น ‘ศิลปินอิสระ’ ไม่สังกัดค่าย หลังจากอยู่ ‘แกรมมี่’ มาร่วม 10 ปีเช่นกัน

เป็น ‘ศิลปินอิสระ’ ที่รับงานแสดงคอนเสิร์ตเอง เพราะไม่สังกัดค่าย แต่เขาขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ร้องได้ทั้งเพลง ‘อาร์เอส’ และ ‘แกรมมี่’ ที่เขาแต่ง ร้องด้วยความภาคภูมิใจในผลงานที่เขารัก และร้องด้วยความรักที่เขามีให้กับทั้งสองค่ายเพลง

จาก ‘ศิลปิน’ สู่บทบาท ‘นักบริหาร’

มีคำเปรียบเปรยที่อาจได้ยินบ่อยครั้ง ว่า ‘ศิลปิน’ อยู่คนละโลกกับ ‘นักบริหาร’ ซึ่งหมายถึงความถนัดที่แตกต่างกัน เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ว่า ‘ศิลปิน’ นั้น ถนัดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ขณะที่ ‘นักบริหาร’ จะถนัดด้านการจัดการองค์กร

แต่หาก ‘นักบริหาร’ ใช้ ‘ศิลปะ’ ในการจัดการองค์กร และหาก ‘นักบริหาร’ ท่านนั้นเป็น ‘ศิลปิน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากองค์กรนั้นทำธุรกิจ ‘พาณิชย์ศิลป์’ นั่นคือสุดยอดความลงตัว และเป็นความโชคดีขององค์กร ที่ได้ ‘ศิลปิน’ ท่านนั้นมาบริหาร

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ‘แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์’ กับการบริหารค่ายเพลง ‘อินเทอร์นอล’ หรือ ‘เอก - ธเนศ วรากุลนุเคราะห์’ กับการบริหารค่ายเพลง ‘มิวสิกบั๊ก’ และ ‘เสือ - ธนพล อินทฤทธิ์’ กับการบริหารค่ายเพลง ‘เมกเกอร์เฮด’ ในเครือ ‘แกรมมี่’

นั่นคือเหตุการณ์ตอนที่ ‘เสือ’ ออกจากค่าย ‘อาร์เอส’ หลังจากที่เขาอยู่ที่นั่นร่วม 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างสูง ในฐานะ ‘ศิลปิน’ ‘โปรดิวเซอร์’ ‘นักแต่งเพลง’ ‘คนออกแบบปก’ ‘คนเขียนสปอตวิทยุ’ ‘ช่างสี ทำฉากมิวสิกวิดีโอ’

ก้าวสู่บทบาท ‘นักบริหาร’ ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่ ‘แกรมมี่’ พร้อมออกอัลบั้มชุดที่ 2 ของชีวิต ‘ใจดีสู้เสือ’ แต่ช่วงที่อยู่ ‘แกรมมี่’ นั้น ‘เสือ’ กลับแทบไม่รับคอนเสิร์ต เพราะคิดเสมอว่า หมวกใบใหญ่กว่าคือ ‘นักบริหาร’ ไม่ควรเอาเวลาบริหารไปเล่นคอนเสิร์ต

ช่วงเวลาที่ ‘เสือ’ บริหารค่าย ‘เมกเกอร์เฮด’ เขาได้ปั้นคนรุ่นใหม่เอาไว้เกือบ 30 ศิลปิน มีทั้งศิลปินเดี่ยว และวงดนตรี ที่โด่งดังก็เช่น Y Not 7, เอนโดรฟิน, ไบรโอนี่, เป๊ก ผลิตโชค, ไอซ์ ศรัณยู, แมทธิว ดีน, นาวิน ต้าร์, เอ๊กซ์ เซอร์ราวด์, บางแก้ว

ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งเงินและกล่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน 5 ชุดของ ‘เสือ’  แบ่งเป็น 2 อัลบั้มกับ ‘เมกเกอร์เฮด’ คือ ‘ใจดีสู้เสือ’ และ ‘คนใช้ชีวิต’ สังกัด ‘มิวสิกอาร์มี่’ 2 ชุดคือ ‘ช่องว่างในหัวใจ’ กับ ‘รักคนไทย’ และอัลบั้ม ‘ทวีคูณ’ สังกัด ‘อัพ-จี’

 

‘นักแต่งเพลงมือทอง’ ของ ‘อาร์เอส’

การงานที่ ‘อาร์เอส’ นั้น ‘เสือ’ เริ่มต้นจากการเป็น ‘ช่างสี ทำฉากมิวสิกวิดีโอ’ ด้วยดีกรี ‘เด็กสถาปัตย์’ จาก ‘เทคโนโคราช’ ก่อนขยับมา ‘เขียนสปอตวิทยุ คุมอัด และตัดสปอต’ ‘คนออกแบบปก’ ‘นักแต่งเพลง’ ‘โปรดิวเซอร์’ และ ‘ศิลปิน’

บทบาท ‘ช่างสี’ ที่ ‘อาร์เอส’ เกิดจากการชักชวนของ ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ พี่รหัสของ ‘เสือ’ ที่ ‘เทคโนโคราช’ ซึ่งขณะนั้นเป็นครีเอทีฟอยู่ที่ ‘อาร์เอส’ ได้ให้ ‘เสือ’ มาช่วยทาสีฉากในมิวสิกวิดีโอของวง ‘เรนโบว์’ ซึ่งกำลังโด่งดังในขณะนั้น

จาก ‘ช่างทาสี’ เลื่อนมาเป็น ‘คนเขียนสปอตวิทยุ’ และ ‘คนออกแบบปก’ หรือ ‘ฝ่ายศิลป์’ โดยปกแผ่นเสียงชิ้นแรกที่ ‘เสือ’ ออกแบบคือผลงานของวง ‘ปุยฝ้าย’ ตามด้วยวง ‘ฟรุตตี้’ วง ‘โฮป’ และ ‘อิทธิ พลางกูร’

การออกแบบปกอัลบั้มแรกให้ ‘อิทธิ พลางกูร’ นี่เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะนอกจากออกแบบปกแล้ว ‘เสือ’ ยังคุมงานถ่ายปกด้วยตัวเอง ทำให้ได้รู้จักกับ ‘อิทธิ’ ได้พูดคุยกันจึงทราบว่าอัลบั้มแรก ‘ให้มันแล้วไป’ ของ ‘อิทธิ’ ทำเสร็จแล้ว 9 เพลง ยังขาดอีก 1 เพลง

‘เสือ’ จึงอาสา ‘อิทธิ’ ที่แต่งทำนองเอาไว้แล้ว ยังขาดเนื้อเพลง เมื่อ ‘เสือ’ อาสาแต่งเนื้อเพลงเพื่อให้อัลบั้มครบ 10 เพลงได้ทันตารางการทำงาน ‘อิทธิ’ ตอบตกลง จึงเป็นที่มาของตำนานเพลงอมตะ ‘เก็บตะวัน’ ที่ขึ้นชั้นคลาสสิก

จากนั้น กลายเป็นว่า ‘เสือ’ ได้ระเบิดฟอร์มการเป็น ‘นักแต่งเพลงมือทอง’ ของ ‘อาร์เอส’ ผลงานเพลงดังหลั่งไหลออกจากปลายปากกาของเขานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ของ ‘ฉัตรชัย เปล่งพานิช’ ‘หัวใจไม่เสริมใยเหล็ก’ ของ ‘สรพงษ์ ชาตรี’ ‘คนละคนเดียวกัน’ ของ ‘วงทู’ ‘เท้าไฟ’ ของ ‘ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง’ ‘ไม่ต่างกัน’ ของ ‘พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร’ ‘กระจกร้าว’ และอีกหลายเพลงฮิตของ ‘ไฮ-ร็อก’

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คำว่าเพื่อน’ ของ ‘วงแร็พเตอร์’ ที่นอกจากบทบาทนักแต่งเพลงแล้ว ‘เสือ’ ยังก้าวขึ้นแท่นเป็น ‘โปรดิวเซอร์’ เป็นครั้งแรกอีกด้วย

 

ปรากฏการณ์ ‘ทีของเสือ’

จากบทบาท ‘นักแต่งเพลงมือทอง’ สู่การเป็น ‘โปรดิวเซอร์’ ให้ ‘วงแร็พเตอร์’ หลังจากนั้น ‘เสือ’ ได้โอกาสจาก ‘เฮียฮ้อ - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ นายใหญ่ ‘อาร์เอส’ ให้ออกอัลบั้ม โดยให้นำเพลงมาให้ ‘เฮีย’ ดู

‘เสือ’ จึงไปเอาเพลงเก่าที่แต่งไว้มาปัดฝุ่น เพื่อเสนอ ‘เฮีย’ ไม่ว่าจะเป็น ‘รักคงยังไม่พอ’, ‘กระดาษห่อไฟ’, ‘18 ฝน’, ‘ชีวิตหนี้’, ‘เรือลำหนึ่ง’ ฯลฯ

‘เฮีย’ ได้ฟังแล้ว ‘เคาะ’ ทันที จึงกลายเป็น ‘ทีของเสือ’ อัลบั้มระดับปรากฏการณ์ของวงการเพลงไทยที่โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน กับยอดขายเทปเกิน 1,000,000 ตลับ ทัวร์คอนเสิร์ต ออกวิทยุ ทีวี ขึ้นปกหนังสือ ฯลฯ

ปรากฏการณ์ ‘ทีของเสือ’ หาใช่การไต่เต้าจาก ‘ช่างสี ทำฉากมิวสิกวิดีโอ’ ‘คนเขียนสปอตวิทยุ’ ‘คนออกแบบปก’ ‘นักแต่งเพลง’ ‘โปรดิวเซอร์’ และ ‘ศิลปิน’

แต่เป็นการสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรี ตั้งแต่ ป. 7 หัดเล่นกีตาร์ แล้วพัฒนามาสู่วง ตระเวนเล่นตามที่ต่าง ๆ ในกาฬสินธุ์ เริ่มมีรายได้จากการเล่นในคาเฟ่ และรับจ้างเล่นในงานเลี้ยง

เดินสายประกวดทุกเวที จนได้รับรางวัลชนะเลิศ และกลายเป็นวงประจำจังหวัดชื่อดัง จนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ตั้งวงดนตรีอย่างเป็นทางการ ชื่อวง ‘เฉียงเหนือ’

ตระเวนเล่นไปทั่วอีสาน และยกระดับอย่างรวดเร็วเมื่อ ‘สีเผือก คนด่านเกวียน’ เห็นฝีมือ และชื่นชอบ จึงชวนให้เดินสายไปด้วยกัน โดยมอบให้ ‘เฉียงเหนือ’ เป็น ‘วงเปิด’ ให้ ‘คนด่านเกวียน’

ไม่เพียงตะเวนไปด้วยกัน แต่ ‘คนด่านเกวียน’ เป็น ‘ไอดอล’ ของ ‘เสือ’ เช่นเดียวกับ ‘บังคลาเทศแบนด์’ ‘คาราบาว’ ‘อัสนี-วสันต์’ ‘พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ’ ‘อินโดจีน’

เช่นเดียวกับ The Eagles, Pink Floyd, The Alan Parsons Project, King Crimson, Nirvana

ไลน์ดนตรีใน ‘ทีของเสือ’ จึงมีทั้ง ‘คันทรี่’ ‘โฟล์ค’ ‘ร็อค’ ‘ป็อป’ ไปจนถึง ‘โปรเกสซีฟ’ ขณะที่เนื้อหามีทั้ง ‘เพลงรัก’ ‘ปรัชญา’ และแน่นอน ‘เพื่อชีวิต’

 

มาจากยุค 70s

สไตล์ดนตรี และเนื้อหาเพลงยุคทศวรรษ 1970s มีส่วนหล่อหลอมให้กลายเป็น ‘ทีของเสือ’ และตัวตนของ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ ไม่น้อย

การสอบได้ที่ ‘เทคโนโคราช’ (ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้มีส่วนสร้างโลกทัศน์ทางดนตรีให้กับ ‘เสือ’ เพราะที่นั่นคราคร่ำไปด้วยศิลปินเพลงระดับตำนาน

ไม่ว่าจะเป็น ‘บังคลาเทศแบนด์’ ‘พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ’ ‘อินโดจีน’ ‘ติ๊ก ชิโร่’ กอปรกับการหล่อหลอมของเพลงสากลที่อบอวลในบรรยากาศ ‘โฟล์ก’ ‘ร็อก’ ‘ฮิปปี้’ และ ‘ไซคีเดลิค’ ประกอบด้วย The Alan Parsons Project, King Crimson, Pink Floyd, The Eagles

การที่วง ‘เฉียงเหนือ’ ออนทัวร์ไปทั่วอีสานกับ ‘คนด่านเกวียน’ ผ่านการเล่นเป็นวงเปิดนานนับปีจนจบทัวร์ ทำให้ ‘เสือ’ และเพื่อน ๆ ฝันอยากเป็นศิลปินเหมือน ‘บังคลาเทศแบนด์’ ‘คนด่านเกวียน’ ‘คาราบาว’ ‘อัสนี-วสันต์’ ‘พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ’ ‘อินโดจีน’

‘เสือ’ เริ่มแต่งเมโลดี้ เขียนเนื้อเพลง และเพื่อน ๆ ก็นัดกันมาซ้อม เมื่อเวทีว่างก็ทยอยอัดเดโมทีละเพลงในคาเฟ่ที่ ‘เฉียงเหนือ’ เล่นประจำอยู่ ระหว่างที่ยังไม่มีใครมา พวกเขารีบอัดรีบเล่นรอบเดียวก็อัดเดโมได้ครบ 10 เพลง เก็บไว้ในลิ้นชัก ตั้งใจไว้ว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าคงจะมีโอกาสนำเสนอ แต่ท้ายที่สุด ‘เฉียงเหนือ’ กลับไม่มีโอกาสนำเสนอผลงานให้กับค่ายใดเลย ทั้งที่พวกเขารู้จัก และใกล้ชิดกับศิลปินระดับประเทศมากมาย อาจเพราะใจยังไม่กล้าแกร่งพอ หรือยังไม่มั่นใจในฝีมือของตนเองในช่วงเวลานั้น

แต่พวกเขาก็อุ่นใจที่มีเพลงของตัวเอง ตั้งวงพูดคุย เพ้อฝันอยู่กับมันนานนับปี ขอเพียงมีความสุขกับการได้คลุกคลีกินนอนกับเพื่อน ๆ ที่รักดนตรี และลุยมาด้วยกันก็เพียงพอแล้ว

‘เฉียงเหนือ’ และ ‘เสือ’ แต่งเพลงเพราะอยากแต่ง อัดเดโมเพราะอยากอัด ทำเพราะอยากทำ

ทำเพราะอยากรู้ศักยภาพของตนเอง ว่าจะทำได้ไหม และทำได้แค่ไหน

 

58 ฝน ‘เสือ ธนพล’ เพชรแท้ อยู่ที่ไหนก็เปล่งประกาย

‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ คือนิยามที่ใช้ได้กับทุกคนที่เข้าใจสัจธรรม 10 ปีที่ ‘อาร์เอส’ และ 10 ปีที่ ‘แกรมมี่’ กลายเป็นอดีต เมื่อ ‘เสือ’ เดินออกมา เพื่อเริ่มต้นเส้นทางใหม่ของตนเอง

ปัจจุบัน ‘เสือ’ ยังคงเดินสาย และรับงานคอนเสิร์ตเองโดยไม่สังกัดค่าย แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ เขาสามารถนำเพลงในอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ สังกัด ‘อาร์เอส’ และอัลบั้มของเขาใต้ชายคา ‘แกรมมี่’ ขึ้นเวทีเดียวกัน

จากเด็ก ป. 7 หัดเล่นกีตาร์ สู่สถานะนักดนตรีแถวหน้าของฟ้าเมืองไทย และผู้บริหารค่ายเพลง จากเงินเดือน 0 บาท สู่กว่า 200,000 บาท และกลับสู่ 0 บาทอีกครั้งเมื่อเขาอำลาค่ายเพลง

จาก พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2566 เป็น 58 ฝน (ย่าง 59) ‘เสือ ธนพล’ เป็น ‘เพชรแท้’ ซึ่ง ‘อยู่ที่ไหน’ ก็ ‘เปล่งประกายแสง’ ได้ด้วยตัวเอง

เพราะไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ อดทน ฝึกฝน ซึมซับ ผสานความรู้ ประสบการณ์ และทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานดนตรีที่สร้างตัวตนให้กับเขา

ไม่ว่าจะเป็น ‘ช่างสี ทำฉากมิวสิกวิดีโอ’ ‘คนเขียนสปอตวิทยุ’ ‘คนออกแบบปก’ ‘นักแต่งเพลง’ ‘โปรดิวเซอร์’ หรือ ‘ศิลปิน’ และ ‘ผู้บริหาร’ ขอให้เป็นทุกอย่างให้ดีที่สุด

ไม่ว่าจะอยู่เวทีไหน กาฬสินธุ์ กรุงเทพฯ หรือจังหวัดไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ภาคอีสาน หรือภาคไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไทย หรือประเทศไหนก็ตาม

ไม่ว่าจะอยู่ ‘อาร์เอส’ หรือ ‘แกรมมี่’ หรือไม่สังกัดค่ายใด ๆ เลย

58 ฝน ‘เสือ ธนพล’ ยังคงเป็น ‘เพชรแท้’ ซึ่ง ‘อยู่ที่ไหน’ ก็สามารถ ‘เปล่งประกายแสง’ ได้ด้วยตัวเอง!