สตีวี เรย์ วอห์น : ฝันร้ายครั้งสุดท้ายสู่โศกนาฏกรรมของมือกีตาร์ผู้ลาลับ

สตีวี เรย์ วอห์น : ฝันร้ายครั้งสุดท้ายสู่โศกนาฏกรรมของมือกีตาร์ผู้ลาลับ

ฝันร้ายครั้งสุดท้าย ‘สตีวี เรย์ วอห์น’ (Stevie Ray Vaughan) ลางร้ายที่จะนำไปสู่โศกนาฏกรรมการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรี

KEY

POINTS

  • Family Style’ อัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของสตีวี ที่ทำร่วมกับพี่ชายสุดที่รักของตนเอง
  • ลางบอกเหตุที่เตือนสตีวีที่มาในคราบฝันร้าย
  • มรดกที่ทิ้งไว้ให้กับวงการดนตรีจนทำให้วันที่ 3 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี เป็น ‘วันสตีวี เรย์ วอห์น’ เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันเกิดของเขา 

ผมฝันว่าตัวเองกำลังอยู่ในงานศพงานหนึ่ง

มีผู้คนจำนวนนับพันอยู่ในงานนั้น

บรรยากาศมันเต็มไปด้วยความเศร้าเสียใจ

แต่งานนั้น…

มันเป็นงานศพของผม

 

เขาคือชายผู้สวมหมวกทรงคาวบอย เขาสะพายกีตาร์คู่ใจทรง ‘Stratocaster’ เขาคือหนึ่งในมือกีตาร์บลูส์ ผู้ทรงอิทธิพลของโลก เขามีชื่อย่อของเขาติดไว้ตรงตัวกีตาร์ เขามีสำเนียงการเล่นที่ดุดันแต่ก็แฝงไปด้วยความนุ่มนวล เย้ายวน ชวนให้หลงใหลในกลิ่นอายของบลูส์ เขามีนามว่า ‘สตีวี เรย์ วอห์น’ (Stevie Ray Vaughan) 

สตีวีเป็นผู้ที่ปลุกดนตรีบลูส์ในรัฐเท็กซัส ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มันได้ซบเซาและถูกบดบังด้วยดนตรีแนวอื่น ด้วยการเอาดนตรีบลูส์ในยุคเก่ามาผสมผสานและปรุงแต่งให้มีรสชาติที่สดใหม่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป จนถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลแห่งโลกดนตรี

แต่เป็นที่น่าเศร้าใจ ที่โลกของเราได้รู้จักชายผู้นี้เพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ  หลังจากที่เขาจากไปเพราะโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด เว้นแต่ลางสังหรณ์บางอย่างที่เตือนเขาไว้ก่อนแล้ว

แต่ใครเล่าจะคิดว่าลางสังหรณ์ที่ว่ามันจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริง...

อัลบั้มกับพี่ชายและการทัวร์สุดท้าย

ในปี 1990 ชื่อเสียงที่เพิ่มมากขึ้นของ สตีวี ทำให้เขามีงานดนตรีและการทัวร์ที่มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังได้มีโอกาสทำอัลบั้มร่วมกับพี่ชายสุดที่รักของตนอย่าง ‘จิมมี่ วอห์น’ (Jimmie Vaughan) หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ส่งต่ออิทธิพลทางดนตรีให้กับสตีวีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สตีวีมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีอัลบั้มที่ทำร่วมกับพี่ชาย และฝันนั้นมันก็เป็นจริงเสียที

ในอัลบั้มที่ทั้งสองได้ทำร่วมกัน มีชื่อว่า ‘Family Style’ สตีวีกล่าวว่า อัลบั้มชิ้นนี้ เป็นอัลบั้มที่เขาภูมิใจที่สุดในชีวิต และในอัลบั้มนี้ยังมีการนำเอฟเฟกต์ที่จิมมี่ได้มาโดยบังเอิญอย่าง  ‘Vox V846 Wah-Wah’ มาใช้บันทึกเสียงอีกด้วย

สตีวี เรย์ วอห์น : ฝันร้ายครั้งสุดท้ายสู่โศกนาฏกรรมของมือกีตาร์ผู้ลาลับ

ในอดีตเอฟเฟกต์ตัวนี้เคยผ่านการใช้งานจากมือกีตาร์ระดับตำนานอย่าง ‘จิมี เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) นอกจากนั้น เจ้าเอฟเฟกต์ชิ้นนี้ยังเคยถูกนำมาใช้บนเวทีคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่าง ‘Woodstock 1969

ซึ่งจิมมี่ได้เอฟเฟกต์ชิ้นนี้มาตอนที่เขามีโอกาสเล่นเป็นวงเปิดให้กับจิมี เฮนดริกซ์ ในปี 1969 ที่เมืองฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส และขอยืมใช้ชั่วคราว แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่เฮนดริกซ์ขึ้นเล่นดนตรี เขาได้ทำลายมันทิ้ง เพื่อเป็นการจบโชว์ดนตรีตามสไตล์ของตนเอง

เมื่อจบโชว์ เฮนดริกซ์จึงนำเศษซากเอฟเฟกต์นั้นมอบให้กับจิมมี่ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่เขา จนกระทั่งมันได้ถูกนำไปซ่อมแซมให้นำกลับมาใช้งานได้ และสตีวีได้นำมันมาใช้บันทึกในอัลบั้มชิ้นนี้ ซึ่งเราจะได้ยินเสียงของมันในเพลง ‘Telephone Song’ 

ในช่วงเวลานั้นเอง สตีวีมีการออกทัวร์ดนตรีร่วมกับศิลปินรุ่นพี่ในวงการ อย่าง ‘บัดดี้ กาย’ (Buddy Guy) , ‘เอริก แคลปตัน’ (Eric Clapton) , ‘โรเบิร์ต เครย์’ (Robert Cray) ในชื่อทัวร์ว่า ‘In Step Tour’ ซึ่งระยะเวลาในการทัวร์จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ของปี 1989 ยาวไปจนถึงเดือนกันยายน 1990 

ในระหว่างที่สองพี่น้อง สตีวี, จิมมี่ และรุ่นพี่ในวงการได้ร่วมเดินทางเพื่อมอบเสียงดนตรีให้กับแฟนเพลง ซึ่งอีกแค่  1 เดือนก็จะสิ้นสุดการทัวร์อย่างเป็นทางการ ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งมันคือเหตุการณ์ที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้เป็นความจริง

 

ฝันร้ายกลายเป็นจริง

ตลอดระยะเวลาการทัวร์ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งในค่ำคืนของวันที่ 26 สิงหาคม 1990 ที่พวกเขาต้องเล่นดนตรีที่โรงละครเพลงอัลไพน์แวลลีย์ ณ เมืองอีสต์ทรอย

ในช่วงเวลาก่อนที่จะขึ้นเล่นดนตรีตามปกติ กลับมีสิ่งที่แปลกไปจากเดิม สตีวีผู้ที่มักจะยิ้มและหัวเราะ ในค่ำคืนนี้ กลับมีสีหน้าที่เต็มไปด้วยความกังวลและเศร้าหมอง เขาเดินมาพูดกับทีมงานและเพื่อนนักดนตรีทุกคน 

 

เพื่อน ๆ ผมฝันอะไรแปลก ๆ

ผมฝันว่าตัวเองกำลังอยู่ในงานศพงานหนึ่ง

มีผู้คนนับพันร่วมไว้อาลัยอยู่ในงานนั้น

ทุกคนต่างเศร้าเสียใจและร้องไห้

แต่เมื่อดูดี ๆ

งานนั้นมันคืองานศพของผมเอง

 

ทุกคนที่ได้ยินเรื่องเล่าของสตีวี ต่างก็งุนงง แต่ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะคิดว่าเป็นเพียงแค่ฝันร้ายที่เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไป พร้อมกับปลอบให้สตีวีสงบสติอารมณ์  แต่สตีวีก็ยังคงกังวลกับฝันร้ายนั้น

หลังจากที่พวกเขาเล่นดนตรีเสร็จ ทุกคนต่างเดินลงเวทีมาพร้อมกับความเหนื่อย แต่สตีวีเดินมาพร้อมกับความเศร้าและสีหน้าที่กังวลใจไม่ต่างไปจากเดิม เขาเดินเข้ามากอดเพื่อน ๆ ทุกคน พร้อมกับบอกลา ราวกับว่าวันนี้มันคือวันสุดท้ายของตัวเอง ทุกคนต่างแปลกใจกับพฤติกรรมที่แปลกไปของสตีวี พวกเขาเข้ามาปลอบใจ เพราะคิดว่าสตีวียังคงกังวลกับความฝันแปลก ๆ นั้นอยู่ จากนั้นทุกคนเริ่มแยกย้ายไปที่เครื่องบินเพื่อกลับไปยังที่พักของตนเอง

ในช่วงเวลาที่ทุกคนเดินทางกลับ มีเฮลิคอปเตอร์เพื่อทำหน้าที่ในการส่งดนตรีและคนอื่น ๆ กลับไปยังที่พัก ซึ่งมีทั้งหมด 4 ลำ แต่เมื่อสตีวีและจิมมี่กำลังจะขึ้นไปนั่งเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ลำนั้นกลับมีที่ว่างเพียงแค่ 1 ที่ ซึ่งที่เหลือเป็นทีมงานของ เอริก แคลปตันทั้งหมด

สตีวีจึงคิดว่าที่ว่างตรงนั้นอาจจะเป็นของแคลปตัน แต่เมื่อรอไปสักพัก ก็ไร้วี่แววของแคลปตันมาปรากฏให้เห็น สตีวีจึงตัดสินใจขอนั่งที่ว่างตรงนั้นแทน เพราะในตอนนี้ เขาอยากจะรีบกลับไปพักผ่อนที่ชิคาโกเต็มที ทางจิมมี่ที่เห็นทีท่าของน้องชายที่เหนื่อยล้าและแปลกไป จึงเสียสละที่นั่ง และเดินไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลำอื่นแทน 

เมื่อเวลาเริ่มผ่านไปจนถึง 01.00 น. ของวันที่ 27 สิงหาคม เฮลิคอปเตอร์ก็เริ่มบินขึ้นเพื่อส่งผู้คนให้ถึงที่หมาย ในช่วงเวลานั้นเอง สภาพอากาศกลับไม่เป็นใจ ท้องฟ้ามืดหม่น มีหมอกหนาทึบ เช่นเดียวกับใบหน้าของสตีวีที่เต็มไปด้วยความกังวล 

หลังจากที่เฮลิคอปเตอร์ทุกลำถึงที่หมาย พร้อมกับติดต่อและรายงานให้ทราบว่าถึงจุดหมายโดยปลอดภัย แต่มีอยู่ลำหนึ่งที่สัญญาณได้ขาดหายไป และไม่มีการติดต่อกลับมา ซึ่งนั่นคือเฮลิคอปเตอร์ที่สตีวีได้ขึ้นไปนั่ง

ทุกคนต่างเฝ้ารอให้มีสัญญาณตอบกลับมา จนเมื่อเวลา 07.00 น. ก็ได้มีการรายงานตอบกลับมาจริง ๆ  แต่เป็นการรายงานที่ไม่มีใครอยากจะได้ยิน
 

เราพบซากเครื่องบินตกอยู่ใกล้ ๆ กับเนินเขา

 

ซากเครื่องบินที่ว่านั้น ก็คือเฮลิคอปเตอร์ลำเดียวกับที่สตีวีนั่ง มันพังยับเยินและตกอยู่ใกล้ ๆ กับเนินเขาที่เป็นลานสกี ผู้โดยสารทุกคนเสียชีวิตคาที่ 

หลังจากที่จิมมี่และเอริก แคลปตัน รับรู้ถึงเหตุการณ์อันน่าสลดนี้ ทั้งสองจึงรีบมุ่งหน้าไปที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มันไม่เป็นความจริง

หลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางมาถึง เห็นร่างที่ถูกเผาไหม้จากเครื่องบินตกอยู่ 4 - 5 ร่าง ซึ่งถ้าหากดูแบบผิวเผินก็คงจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองจำได้เป็นอย่างดี คือเครื่องประดับที่สตีวีชอบสวมใส่ มันส่องระยิบระยับและสะดุดตา 

เมื่อทั้งสองได้เหลือบไปเห็นร่างหนึ่งที่สวมใส่สร้อยคอและกำไลข้อมือพวกนั้น พวกเขาจำได้และมั่นใจในทันทีว่านั่นคือสตีวี ณ จุดนั้นเองที่ทำให้ความหวังของทั้งสองดับสลายลง ภาพตรงหน้าได้ตอกย้ำว่า สตีวี เรย์ วอห์น ได้จากโลกนี้ไปแล้วจริง ๆ 

และช่วงบ่ายในวันเดียวกันนั้น มีการรายงานทางวิทยุและโทรทัศน์ยืนยันว่า สตีวี เรย์ วอห์น ได้เสียชีวิตขณะที่อยู่บนเครื่องบิน ซึ่งมีผู้ขับคือ ‘เจฟฟี่ วิลเลียม บราวน์’ (Jeffrey William Brown) ระหว่างที่กำลังเดินทางกลับไปยังที่พัก สภาพอากาศในช่วงเวลานั้นมีหมอกหนาทึบ ทำให้บดบังทัศนวิสัยไม่เห็นทางข้างหน้า และเครื่องบินที่บินในระดับความสูงที่ต่ำกว่าลำอื่น ๆ ทำให้โดนลมพัดไปอย่างแรง จนเครื่องบินได้ไปชนเข้ากับเนินเขาที่เป็นลานสกี จากนั้นเครื่องบินตกทำให้ไฟลุกไหม้ และแน่นอนว่าเครื่องบินลำนี้ ไม่มีผู้รอดชีวิต

ในการชันสูตรพลิกศพ ผู้โดยสารและผู้ขับเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย แม้ผู้ขับเป็นนักบินมากประสบการณ์ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ได้

จนกระทั่งข่าวสลดใจนี้ได้เริ่มแพร่กระจายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนในวงของสตีวีที่ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์นี้ พวกเขาภาวนาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ความฝัน เพื่อน ๆ ในวงเดินเข้าไปที่ห้องพักของสตีวี เพราะหวังว่าจะได้เห็นชายคาบบุหรี่ สวมหมวกอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับนั่งบรรเลงเพลงกับกีตาร์คู่ใจของเขาอยู่

แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไป กลับพบว่าห้องนั้นมีแค่เพียงความว่างเปล่า หลงเหลือเพียงแค่เสียงจากเพลง ‘Peaceful Easy Feeling’ ของ ‘Eagles’ ที่กำลังบรรเลงด้วยความเศร้าอยู่ พร้อมกับท่อนร้องที่ว่า “I may never see you again.” ซึ่งมันได้ตอกย้ำพวกเขาว่า สตีวี เรย์ วอห์น ได้จากไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

3 วันหลังจากเกิดเหตุ ได้มีการจัดงานศพของสตีวีขึ้น ภายในงานมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คน บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความโศกเศร้าของผู้คน พร้อมกับเพื่อนนักดนตรีที่ไว้อาลัยถึงการจากไปของเขา ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันตรงตามความฝันของสตีวีทุกอย่าง… 

และสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่สตีวีเสียชีวิต เป็นวันเดียวกับวันที่ ‘จิมมี่ ลี วอห์น’ (Jimmie Lee Vaughan) ผู้เป็นพ่อของเขาเสียชีวิตเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้

 

มรดกที่ทิ้งไว้ให้กับวงการดนตรี

แม้ว่าไฟที่ลุกไหม้จะนำเอาร่างของชายผู้นี้ไป แต่เขาได้ทิ้งมรดกอันงดงามไว้อย่างมากมายและเป็นที่น่าจดจำให้กับวงการดนตรี หนึ่งปีหลังจากที่สตีวีเสียชีวิต รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสตีวี ได้ประกาศว่า วันที่ 3 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี จัดให้เป็น ‘วันสตีวี เรย์ วอห์น’ เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันเกิดของเขา 

สตีวี ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของรัฐ ที่ชุบชีวิตดนตรีบลูส์ให้มันสามารถกลับมาโลดแล่นในวงการเพลงได้อีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้รับความนิยมมาแสนนาน รวมถึงทำให้รัฐเท็กซัส ได้มีพื้นที่ว่างให้กับดนตรีบลูส์มากขึ้น

และเมืองออสติน ซึ่งเป็นเมืองที่สตีวีเติบโต ได้มีการหล่อรูปปั้นสตีวีขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับเมือง จนในภายหลังรูปปั้นนี้ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของเมืองออสติน 

และเมืองนี้เอง ยังมีการสนับสนุนเด็กในด้านดนตรีทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนด้วยเช่นกัน เพื่อหวังว่าเด็กในเมืองจะสามารถเติบโตเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลและส่งต่อแรงบันดาลใจอันแรงกล้าให้กับผู้คนอีกมากมาย เช่นเดียวกับที่ สตีวี เรย์ วอห์น ได้เคยทำเอาไว้

โศกนาฏกรรมการจากไปของสตีวี เรย์ วอห์น ถือเป็นเหตุการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ผลงานที่ชายผู้นี้ได้รังสรรค์ออกมา และได้ทิ้งมรดกอันดีงามไว้ให้แก่วงการดนตรี ล้วนเป็นผลงานชั้นเลิศที่จะถูกยกย่องต่อไปอีกนานแสนนาน

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง

The "In Step" Tour Introduction | SRV Archive

 

The Death of Stevie Ray | SRV Archive

Jeffrey W. Brown | This Day In Aviation

Jimi Hendrix’s Vox V846 Wah Pedal (Woodstock) | Ground Guitar

Double Trouble's Chris Layton, Tommy Shannon on Stevie Ray Vaughan | Music Radar

The Story Behind the Stevie Statue | Michael Corcoran's Overserved

Stevie Ray Vaughan’s Vox Wah | Ground Guitar

The loss of Stevie Ray Vaughan | Youtube

The TERRIFYING Last Minutes Of Stevie Ray Vaughan | Youtube